ความเครียด
นพ.เกษม ตันติผลาชีวะ
ในปัจจุบันนี้คนไทยหันมาสนใจเรื่องของความเครียดกันอย่างกว้างขวาง นักจัดราการตามสถานีวิทยุ และโทรทัศน์ต่างพูดถึงความเครียดกันบ่อยครั้ง หลายคนเข้าใจว่า ความเครียดเป็นดรคอย่างหนึ่ง และบางที่ใช้คำว่า โรคเครียดซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
ความเครียดเป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่ไม่จำเพาะของร่างกายต่อสิ่งใดๆ ที่มาเรียกร้องต่อมัน (Stress is the now-specific response of the body to any demand made upon it) นั่นเป็นคำนิยามที่ Hans Selye ได้ให้ไว้
ในตอนแรกที่มีการศึกษาเรื่องของความเครียด ส่วนใหญ่จะเน้นปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกาย เช่น มีฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) เพิ่มขึ้นมีหารหลั่งสารอเดรนาลีน (adrenaline) ออกมามากขึ้น เป็นผลให้ระบบประสาทอิสระ (autonomic nervous system) ทำงานเพิ่มขึ้น จึงมีชีพจรเร็วขึ้น, ม่านตาขยาย, เหงื่อออกมากขึ้น, ความดันเลือดเพิ่มขึ้น, ถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น เป็นต้น
สิ่งที่มาเรียกร้องต่อร่างกายอาจเป็นทางชีววิทยา, ทางกายภาพหรือทางใจ อาจมาจากภายนอกหรือภายในร่างกาย เช่น ความร้อน, ความหนาว, ความอึกทึก, ความหิว, ความต้องการทางเพศ, ความอยากได้สิ่งต่างๆ และความโลภ เป็นต้น
เมื่อร่างกายเผชิญความ เครียดจะมีปฏิกิริยา ตอบสนอง ในด้านสรีรวิทยาและการเพิ่ม ขึ้นของฮอร์โมนและสารเคมีบาง อย่างซึ่งในระยะสั้นก็คือการ เตรียมพร้อมเพื่อการต่อสู้หรือ การหนีจากภยันตรายเป็นการ รักษาตัวเพื่อความอยู่รอด หากเผชิญความเครียดที่รุนแรง หรือยาวนานเกินไปก็กลาย เป็นโทษต่อร่างกาย
ปฏิกิริยาตอบสนอง ทางจิตใจต่อความเครียด เกิดขึ้นควบคู่ไปกับปฏิกิริยา
ทางกายในระยะสั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ เช่น วิตกกังวล, ตื่นเต้น, กลัว ฯลฯ หากเผชิญความเครียดอยู่นานๆ จะต้องมีการปรับตัวให้เข้าสู่สมดุล มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นความเจ็บป่วยไปได้
ความเครียดไม่ใช่โรคภัยโดยตัวของมันเอง แต่อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยได้มากมายหลายอย่าง ทั้งทางกายและทางจิต
โรคทางกายที่สัมพันธ์กับความเครียด มีหลายโรค เช่น หลอดเลือดหัวใจอุดตัน, ความดันเลือดสูง, แผลในกระเพาะอาหาร, แผลในลำไส้ใหญ่, ท้องร่วง, หอบหืด, คันตามผิวหนัง ฯลฯ
โรคทางจิตเวชหลายอย่าง มีความสัมพันธ์กับความเครียด เช่น โรควิตกกังวล, โรคย้ำคิดย้ำทำ, โรคกลัว, โรคซึมเศร้า, โรคจิต, โรคอารมณ์แปรปรวน ฯลฯ
การที่เราเห็นข่าวในสื่อมวลชนเกี่ยวกับคนฆ่าตัวตาย แล้วสรุปว่าเกิดจากความเครียด เรื่องการเรียน หรือคลั่งดารานั้นจึงไม่ค่อยถูกต้อง
คนที่ฆ่าตัวตายนั้นส่วนใหญ่แล้วสาเหตุเกิดเพราะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า บางรายอาจเกิดเพราะมีประสาทหลอนซึ่งเป็นอาการของโรคจิต ความเครียดจากสิ่งแวดล้อมที่มากระทบนั้นเป็นเพียงปัจจัยที่มากระตุ้นให้เกิดการกระทำเช่นนั้น
การป้องกันการฆ่าตัวตาย ต้องรีบค้นหาบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงให้ได้โดยเร็ว นั่นคือค้นหาบุคคลที่มีอาการซึมเศร้า หรือเป็นโรคจิตและมีปัจจัยเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง แล้วรีบทำการบำบัดรักษาโดยด่วน
การรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะเป็นโรคที่ต้องใช้ยาในการรักษาและบางครั้งอาจต้องใช้การรักษาด้วยไฟฟ้า
บางครั้งความเข้าใจผิดทำให้มีนำผู้ป่วยไปรักษาในทางที่ไม่ถูกต้อง บ่อยครั้งอาจได้รับคำแนะนำในทางที่ผิด เช่น ให้หยุดกินยา จนทำให้อาการทางจิตกำเริบ และฆ่าตัวตายในที่สุด
เมื่อผู้ป่วยได้รับการดูแลจนพ้นภาวะวิกฤตแล้ว จึงให้การรักษาทางจิตใจ หรือทำจิตบำบัดต่อไป เพื่อค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด และมีอาการเจ็บป่วยขึ้นมา
คำแนะนำที่ได้ยินบ่อยๆ คือ เวลาเครียดก็ให้ไปคลายเครียดโดยการออกกำลังกาย, เล่นกีฬา, ปลูกต้นไม้,ฟังดนตรีหรือไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ
สิ่งเหล่านี้อาจมีผลในการลดความเครียดได้ส่วนหนึ่ง แต่ยังเป็นการแก้ไขความเครียดที่ปลายเหตุ
หากเปรียบความเครียด กับการเป็นไข้ วิธีการคลายเครียดเหล่านั้น ก็เหมือนกับการลดไข้ โดยการเช็ดตัวหรือกินยาแก้ไขซึ่งถ้าเป็นไข้ที่ไม่รุนแรง ก็อาจหายได้ แต่ไข้เป็นเพียงอาการมิใช่โรค สาเหตุที่แท้จริงของ ไข้อาจเป็นไทฟอยด์, มาลาเรีย, สมองอักเสบ, วัณโรค, ไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ โรคเหล่านี้บางอย่าง ต้องการการรักษาที่สาเหตุ เช่นเดียวกับความเครียด
คนที่มีความเครียด ก็คือคนที่มีความทุกข์ จะใช้การนั่งสมาธิอย่างเดียว แล้วทำให้หลุดพ้น จากความทุกข์คงมิได้ ต้องมีการรักษาศีล ปฏิบัติธรรมและใช้ปัญญา ในการแก้ไขเหตุแห่งทุกข์ ด้วยจึจะครบถ้วนสมบูรณ์
การทำจิตบำบัดเป็นการช่วยผู้มีปัญหาทางจิตใจค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ทางใจ โดยการวิเคราะห์ถึงปมความขัดแย้ง และความต้องการต่างๆ ซึ่งอยู่ในจิตไร้สำนึก
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือและความตั้งใจจริงของผู้ป่วยจะทำให้คนที่ไม่สนใจ หรือชอบปฏิเสธความจริงย่อมไม่ได้ผล
เมื่อผู้ป่วยเกิดความเข้าใจถึงสิ่งที่อยู่ในจิตใจของตนเองอย่างถ่องแท้แล้ว จึงสามารถนำไปแก้ไขและพัฒนาตนเองได้ มีการใช้กลไกทางจิตที่มีประสิทธิภาพ, ปรับเปลี่ยนวิธีการมองโลกและมองตนเอง สร้างเสริมพื้นฐานทางจิตใจให้เข้มแข็งขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาทางจิตเพื่อให้ดำรงชีวิตได้โดยมีความทุกข์น้อยที่สุด
วิธีการนี้เป็นวิธีที่ต้องใช้เวลาและความตั้งใจมาก ผู้รักษาต้องมีใจรักและทุ่มเทอย่างเต็มที่ ผู้รับการรักษาต้องมีความสนใจและมีความสามารถที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตนเองได้ การรักษาจึงจะสัมฤทธิ์ผล
ความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิตเราทุกคน ไม่มีใครหลีกหนีความเครียดไปได้ เพราะภาวะที่ปราศจากความเครียดอย่างสมบูรณ์คือ ความตาย
ความเครียดเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนมีความกระตือรือร้น และทำให้โลกมีการพัฒนาต่อไป
บางครั้งคนแสวงหาความเครียดในรูปแบบของความบันเทิง, การกีฬา และการละเล่นต่างๆ ตราบใดที่มีความเครียดนั้นไม่ได้มีความรุนแรงมากหรือคงอยู่นานเกินไป ความเครียดนั้นก็ไม่เป็นอันตรายต่อเรา
เราคงต้องอยู่กับความเครียดต่อไป เหมือนอยู่กับแบคทีเรียที่อยู่รอบๆ ตัวเราและในตัวเรา ส่วนใหญ่แล้วมันไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยต่อเรา ยกเว้นบางครั้งบางคราที่เกิดการเสียสมดุลเท่านั้นเอง ที่ความเครียดทำให้เกิดโรคขึ้นมา
|