พระธาตุแช่แห้ง
พระธาตุแช่แห้งประดิษฐานอยู่ ณ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ ๓ กิโลเมตร
องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ย ๆ เป็นสีทองสุกปลั่ง สามารถมองเห็นได้แต่ไกล เนื่องจากสูงถึง ๒ เส้น เป็นอนุสรณ์ของความรักและความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัย ในอดีต ที่เชิงเนินปูด้วยอิฐ ลาดขึ้นไปยังยอดเนิน กว้างประมาณ ๒๐ วา มีบันไดนาคขนาบทั้งสองข้าง องค์พระเจดีย์เป็นแบบลานนาไทย ฐานเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปจนสูง ใช้แผ่นทองเหลืองบุรอบฐาน แล้วลงรักปิดทอง
จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่ง แม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง
มีงานประจำปีฉลองพระธาตุ ในกลางเดือนหกฝ่ายเหนือ ซึ่งตรงกับเดือนสี่ฝ่ายใต้
พระธาตุช่อแฮ
พระธาตุช่อแฮประดิษฐานอยู่ ณ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ ๙ กิโลเมตร
องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ เช่นเดียวกับพระธาตุแช่แห้ง สำหรับชื่อที่เรียกนี้ บางท่านอธิบายว่า เดิมมาจากชื่อว่า ช่อแพร และเมืองแพร่ก็คือเมืองแพร่
ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ประทานพระเกศธาตุองค์หนึ่ง แก่พระอรหันต์ และพระเจ้าอโศกมหาราช ให้แก่ชาวลัวะ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์ได้นำพระธาตุส่วนข้อศอกด้านซ้าย มาประดิษฐานไว้ในพระสถูป ที่ดอยโกสัยชัคคบรรพต หรือดอยช่อแพร หรือช่อแฮแห่งนี้
ตามประวัติกล่าวว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าลิไท แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หัวหน้าชนชาวละว้าได้สร้างองค์พระธาตุสูง ๓๓ เมตร ฐานเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง กว้างด้านละสิบเมตร องค์พระธาตุ บุด้วยทองดอกบวบ เป็นศิลปแบบเชียงแสน ภายในบรรจุพระเกศธาตุ
การได้ชื่อว่าช่อแฮได้มาจากการที่ชาวบ้าน ได้นำแพรชั้นดีจากสิบสองปันนา มาผูกบูชาพระธาตุ ซึ่งได้ชื่อว่า ช่อแพร และได้กลายมาเป็นช่อแฮในปัจจุบัน
งานนมัสการพระธาตุประจำปี จะมีในวันขึ้น ๑๑ ถึง ๑๕ ค่ำเดือนสี่
พระบรมธาตุเมืองนคร
พระบรมธาตุเมืองนคร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่กลางใจเมือง
ตามตำนานกล่าวว่า องค์พระบรมธาตุเจดีย์ได้ก่อครอบพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งฝังไว้ ณ หาดทรายแก้วแห่งหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า นางเหมชาลากับเจ้าทนทกุมาร ผู้เป็นพระราชบุตรีและพระราชโอรสท้าวโกสีหราช แห่งเมืองทนทบุรี ได้นำพระทันตธาตุหนีไปลังกา เมื่อตอนที่ท้าวโกสีหราชเสียเมืองให้แก่ท้าวอังกุศราช แต่เรือแตกจึงได้พากันขึ้นบกที่หาดทรายแก้ว เอาพระทันตธาตุฝังไว้ที่หาดทราย แล้วจึงหลบหนีไป ต่อมา พระอรหันต์ชื่อพระมหาเถรพรหมเทพ มาโดยนภากาศ ได้เห็นรัศมีพระทันตธาตุโชติช่วงขึ้นมาจากที่ฝัง จึงได้ลงไปนมัสการและทำนายว่า ในอนาคตสถานที่นี้จะมีพระยาองค์หนึ่ง มาตั้งเป็นเมืองใหญ่
ในกาลต่อมา พระยาศรีธรรมาโศกราช ได้ทรงก่อพระมหาธาตุสูง ๓๗ วา ไว้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ. ๑๐๙๘ แล้วได้สร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น
ตามหลักฐานทางพงศาวดารและทางโบราณคดี พบว่าพระยาศรีธรรมาโศกราช เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปทุมวงศ์ ที่เป็นใหญ่อยู่ที่เมืองตามพรลิงค์ ได้ย้ายเมืองมาสร้างใหม่บนหาดทรายแก้ว เมื่อปี พ.ศ. ๑๖๒๐ พร้อมกับทรงสร้างพระบรมธาตุขึ้นไว้กลางเมือง พระองค์จึงได้เฉลิมพระนามใหม่ว่า พระยาศรีธรรมาโศกราช เพราะทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดุจดังพระเจ้าธรรมาโศกราชของอินเดีย
ตามที่กล่าวจารึกไว้ในศิลาจารึก หลักที่ ๒๔ ด้วยเหตุนี้ เมืองที่สร้างใหม่ ณ หาดทรายแก้วดังกล่าวจึงมีชื่อว่า นครศรีธรรมราช และเรียกกันในทางพระพุทธศาสนาว่าปาฏลีบุตรนคร จากศิลาจารึกบนเกาะลังกา มีความว่าในปี พ.ศ. ๑๗๙๐ พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช ทรงยกทัพเรือไปรบลังกา ได้ชัยชนะ พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช นี้คือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ ๕ เมื่อกลับจากลังกาแล้ว ก็ได้ให้ช่างก่อพระเจดีย์แบบลังกา สวมทับพระธาตุองค์เดิมที่เป็นแบบศรีวิชัย ทำให้พุทธศาสนาฝ่ายมหายานหมดไปจากนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๘๑๕ ขุนอินทาราได้รับแต่งตั้งจากกรุงอโยธยา ให้มากินเมืองนครศรีธรรมราช ขุนอินทาราได้ดำเนินการให้พระเถระเจ้าเมืองต่าง ๆ รวมทั้งคฤหบดีรับงานเสริมสร้างพระบรมธาตุ ที่ยังสร้างไม่เสร็จมาแต่เดิมจนเสร็จ มีพระระเบียงและกำแพงล้อมรอบ พระบรมธาตุเรียบร้อย ทางกรุงอโยธยาจึงเลื่อนขุนอินทาราขึ้นเป็น พระศรีมหาราชา
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในสาส์นสมเด็จว่า พระมหาธาตุองค์เดิม เหมือนกันกับพระมหาธาตุไชยา พระสถูปที่เป็นพระมหาธาตุปัจจุบัน พวกลังกามาสร้างครอบพระมหาธาตุเดิมในภายหลัง เมื่อมีการซ่อมวิหารพระม้า ได้ขุดพื้นลงไปพบบรรไดพระธาตุเดิมอยู่ใต้ดิน เป็นอีกองค์หนึ่งต่างหาก
งานประเพณีประจำปี
งานประเพณีแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ กระทำปีละสองครั้งคือ ในวันมาฆบูชา และวันวิสาขบูชา เริ่มด้วยการนำผ้าเป็นแถวยาวมาก แล้วพากันแห่ผ้านั้นไปยังวัดพระมหาธาตุ กระทำทักษิณาวรรตองค์พระธาตุเจดีย์สามรอบ แล้วจึงนำไปยังวิหารม้า ซึ่งจะมีบันไดขึ้นสู่ภายในกำแพงแก้วล้อมรอบพระบรมธาตุเจดีย์ แล้วนำผ้าไปโอบรอบพระบรมธาตุเจดีย์
ตามตำนานมีว่า ประมาณปี พ.ศ. ๑๗๗๓ พระเจ้าธรรมาศรีโศกราช และพระญาติ รวมสามองค์ กำลังจะสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบใหญ่และยาวผืนหนึ่ง ขึ้นมาที่ชายหาดปากพนัง บนผืนผ้ามีภาพเขียนเรื่องพระพุทธประวัติ เรียกว่า พระบต ชาวบ้านได้นำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ผ้าผืนดังกล่าวเป็นของพุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่ง จะเดินทางไปลังกา เพื่อนำไปบูชาพระเขี้ยวแก้วที่ลังกา แต่เรือโดนพายุล่มที่ชายฝั่งเมืองนคร พระองค์ได้นำผ้าผืนนั้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จึงเกิดเป็นประเพณี มาจนถึงทุกวันนี้
ประเพณีตักบาตรธูปเทียน กระทำในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปด เวลาบ่ายประมาณ ๑๔.๐๐ น. เป็นต้นไป พระภิกษุสงฆ์จากวัดต่าง ๆ มาพร้อมกันที่วัดพระมหาธาตุ ฯ ยืนเป็นแถวยาวที่หน้าวิหารทับเกษตร ชาวบ้านก็จะนำธูปเทียนใส่ในย่ามพระไปตามลำดับทุกรูป เสร็จแล้วก็ไปจุดเปรียง บริเวณหน้าพระพุทธรูปและฐานเจดีย์ทุกฐาน เพื่อเป็นพุทธบูชา
พระธาตุไชยา
พระธาตุไชยา ประดิษฐาน ณ วัดพระมหาธาตุ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร
องค์พระธาตุไชยา เป็นโบราณสถานฝีมือช่างสมัยศรีวิชัย ได้มีการบูรณะมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และได้มีการบูรณะอย่างจริงจังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าคุณชยาภิวัฒน์ เจ้าคณะวัดพุมเรียงเป็นผู้ควบคุม แต่เดิมวัดนี้ทั้งวัดจมดินและทรายที่ทับถมอยู่ เนื่องจากเป็นที่ลุ่ม หน้าน้ำ น้ำจะท่วมและพัดเอาดินโคลนมาทับถม จึงให้คุ้ยดินรอบองค์พระธาตุออก แล้วบูรณะฐานขึ้นใหม่ โดยใช้ปูนสอ ระดับดินปัจจุบันสูงกว่าฐานประมาณ ๑ เมตร ซึ่งเมื่อบูรณะแล้วจึงคล้ายกับมีคูน้ำล้อมรอบองค์พระธาตุ ตัวคูน้ำกว้างประมาณ ๖๐ เซนติเมตร
ฐานพระธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน องค์พระธาตุเป็นเจดีย์หลังคาเป็นชั้น ๆ ได้รับอิทธิพลจากชวาตอนปลาย ระหว่างมุมทุกมุมและด้านหน้าของซุ้มรูปเกือกม้า ที่เรียกว่า กุดุ ซึ่งประดับอยู่บนหลังคาพระธาตุ ภายในมีรูปคนหรือรูปหน้าคนประดับ มีปัญจรัม ซึ่งเป็นรูปย่อจำลองเจดีย์เป็นชั้น ๆ ขนาดเล็ก ประดับอยู่บนมุมหลังคาพระธาตุ หน้าบันสลักตราประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ใต้ปัญจรัม ระหว่างเหลี่ยมเจดีย์ เป็นรูปมกร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำขึ้นในสมัยหลัง ยอดเจดีย์เป็นรูปแปดเหลี่ยม มีบัวประกอบฐาน ซึ่งคงสร้างต่อเติมของเก่า
อิทธิพลของศิลปชวาที่เห็นได้ชัดคือ กุดุ ซึ่งชวาได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสมัยหลังคุปตะ มกรหรือกาล ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ได้รับการสลักบนทับหลังของศิลปชวาเสมอ ภายในองค์พระธาตุ มีพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีสององค์ ประทับยืนองค์หนึ่งและประทับนั่งองค์หนึ่ง ระเบียงรอบพระธาตุเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ทำด้วยศิลาแดงสมัยศรีวิชัย
|