สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)

สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษด์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็นพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2365 ดำรงตำแหน่ง 20 พรรษาสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ. 2395 มีพระชนมายุได้ 81 พรรษา
พระประวัติในตอนต้นไม่พบรายละเอียด มีแต่เพียงว่าประสูติในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2304 ได้เป็นที่ พระเทพโมลี อยู่ที่วัดหงส์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฯ และได้เป็นที่ พระพรหมมุนี ในรัชสมัยสมเด็นพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นที่ พระพิมลธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2359 ต่อมาได้เลื่อนเป็น สมเด็จพระพนรัตน์ ในรัชกาลเดียวกัน ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์สุดท้ายที่สถิต ณ วัดมหาธาตุ
ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ซึ่งทรงผนวชเมื่อปี พ.ศ. 2367

ในช่วงปลายสมัยของสมเด็จพระสังฆราช ได้มีการชำระความพระสงฆ์ที่ประพฤติอนาจารครั้งใหญ่ ได้ตัวมาชำระสึกเสียจำนวนมาก ประมาณถึง 500 รูปเศษ ที่หนีไปก็มีจำนวนมาก และพระราชาคณะก็เป็น ปาราชิกหลายรูป นับเป็นการชำระสะสางอลัชชีในคณะสงฆ์ครั้งใหญ่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของคณะสงฆ์ในยุคนั้น และในขณะเดียวกัน ก็แสดงให้เห็นถึงความเอาพระทัยใส่ในการคณะสงฆ์ของพระมหากษัตริย์อย่างจริงจัง

สมเด็จพระสังฆราช (นาค)

สมเด็จพระสังฆราช (นาค) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดราชบูรณะราชวรวิหาร ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2386 ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 6 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2392 เมื่อพระชนมายุได้ 86 พรรษา
พระประวัติตอนต้นไม่พบรายละเอียด มีแต่เพียงว่าประสูติในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2301 เป็นพระราชาคณะที่ พระนิกรมุนี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฯ ได้เลื่อนเป็น พระพรหมมุนี เมื่อปี พ.ศ. 2359 ต่อมาเป็น พระธรรมอุดม และได้เลื่อนเป็น สมเด็จพระพนรัตน เมื่อปี พ.ศ. 2373 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องจากในระยะเวลาที่ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช วัดมหาธาตุกำลังอยู่ระหว่างการปฏิสังขรณ์ พระองค์จึงสถิต ณ วัดราชบูรณะตลอดมาจนสิ้นพระชนม์ ทำให้ธรรมเนียมการแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ เป็นอันเลิกไปตั้งแต่นั้นมา และสมเด็จพระสังฆราชเคยสถิตอยู่ ณ พระอารามใด เมื่อครั้งก่อน เป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็ยังคงสถิตอยู่ ณ พระอารามนับสืบต่อไป เป็นแบบธรรมเนียมมาจนถึงปัจจุบัน

ได้มีการส่งสมณทูตไปลังกาเป็นครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2387 โดยทางเรือและเดินทางกลับในปีเดียวกัน พร้อมกับ ได้ยืมหนังสือพระไตรปิฎกมาอีก 30 คัมภีร์ พร้อมทั้งมีภิกษุสามเณร และคฤหัสถ์ชาวลังกา ติดตามมาด้วยกว่า 40 คน การที่มีพระสงฆ์ชาวลังกาเดินทางเข้ามาประเทศไทยบ่อยครั้ง จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ขณะทรงผนวชและเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร รับภาระต้อนรับดูแลพระสงฆ์ชาวลังกา ดังนั้นวัดบวรนิเวศ ฯ จึงมีหมู่กุฎีไว้รับรองพระสงฆ์ลังกาโดยเฉพาะ เรียกว่า คณะลังกา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงเป็น พระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์แรก กับเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรก ที่ทรงได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ทรงสถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ดำรงสมณศักดิ์เมื่อปี พ.ศ. 2394 ถึงปี พ.ศ. 2396 รวม 2 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ 64 พรรษา
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2333 มีพระนามว่า พระองค์เจ้าวาสุกรี ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษา เมื่อปี พ.ศ. 2345 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อทรงผนวชแล้ว เสด็จไปประทับ ณ วัดพระเชตุพน ฯ ทรงศึกษาหนังสือไทย และภาษาบาลีตลอดทั้งวิชาอื่น ๆ จากสมเด็จพระพนรัตน์ จนทรงมีพระปรีชาสามารถ ทั้งทางคดีโลก และคดีธรรม มีผลงานอันเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ให้รวมวัดในแขวงกรุงเทพ ฯ ขึ้นเป็นคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกลาง แล้วได้สถาปนากรมหมื่นนุชิตชิโนรสให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอเจ้าคณะรอง และทรงตั้งเป็นเจ้าคณะกลาง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงสมณศักดิ์เป็นพระมหาสังฆปริณายก ทั่วพระราชอาณาเขต ให้จัดตั้ง พระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก ที่วัดพระเชตุพน ฯ มีทั้งพิธีสงฆ์ และพิธีพราหมณ์ คล้ายกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของคณะสงฆ์ไทย
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงมีพระอัจฉริยภาพหลายด้าน ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องพระปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก หรือร่ายยาวมหาชาติ ซึ่งนับเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกทางพระพุทธศาสนาในสมัยรัตนโกสินทร์
ในทางพระพุทธศิลป์ ได้ทรงคิดแบบพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ โดยทรงเลือกพระอิริยาบทต่าง ๆ จากพุทธประวัติเป็นจำนวน 37 ปาง เริ่มตั้งแต่ปางบำเพ็ญทุกขกิริยา จนถึงปางห้ามมาร พระพุทธรูปปางต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้มากเช่น ลิลิตตะเลงพ่าย พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เทศนาพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารค และชลมารค เป็นต้น
ในทางอักษรศาสตร์ ก็ได้นิพนธ์เรื่องฉันท์มาตราพฤติ และวรรณพฤติ ตำราโคลงกลบท คำกฤษฎี เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นิพนธ์บทกวีอีกเป็นจำนวนมาก ที่ล้วนมีคุณค่าเป็นเพชรน้ำเอกทางวรรณกรรมของไทยตลอดมา ในปี พ.ศ. 2533 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปี พ.ศ. 2533 นับเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ได้รับการถวายเกียรตินี้
เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็ว่างตลอดรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ อาจจะเนื่องจากไม่มีพระเถระรูปใด มีคุณสมบัติอยู่ในฐานะที่จะทรงสถาปนา ตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ ตามพระราชประเพณีนิยมที่มีมาแต่โบราณ พระเถระที่จะทรงตั้งเป็น สมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระราชาคณะ นั้น ก็เฉพาะผู้ทรงคุณสมบัติพิเศษ คือเป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นอาจารย์เป็นที่ทรงนับถือเหมือนอย่างพระอุปัชฌาย์ หรือพระอาจารย์ หรือเป็นผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า มีอายุแก่กว่าพระชนมพรรษา แม้ว่าจะว่างสมเด็จพระสังฆราช แต่การปกครองคณะสงฆ์ ก็สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี เนื่องจากแต่โบราณมา พระมหากษัตริย์ทรงถือเป็นพระราชภาระในการปกครองดูแลคณะสงฆ์ โดยมีเจ้านาย หรือขุนนางผู้ใหญ่ในตำแหน่ง เจ้ากรมสังฆการี เป็นผู้กำกับดูแลแทนพระองค์ สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยตรง ทรงดำรงฐานะปูชนียบุคคล การปกครองในลักษณะนี้ ได้มาเปลี่ยนแปลงไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับมหาสมณุตมาภิเษก เมื่อ ปี พ.ศ.2434 เมื่อพระชนมายุได้ 82 พรรษา เป็นพระมหาสมณเจ้า ฯ ได้ 10 เดือน ก็สิ้นพระชนมเมื่อปี พ.ศ. 2435 พระชมมายุได้ 83 พรรษา
เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรสสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใด ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช อีกจนตลอดรัชกาล เป็นเวลา 15 ปี ในระหว่างนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศ ฯ ทรงดำรงพระอิศริยยศ เป็น พระจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ทรงดำรงสมณฐานันดร เป็นที่สองรองจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ขึ้นครองราชย์ ก็ยังมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นระยะเวลาถึง 23 ปี จึงได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศฯ ขณะดำรงพระอิศริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระ เป็นสมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ประสูติปี พ.ศ. 2352 เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุ ฯ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ. 2372 ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ณ สำนักวัดมหาธาตุ ฯ ทรงแตกฉานในภาษาบาลี พระนิพนธ์ที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในภาษาบาลีคือ พระนิพนธ์เรื่อง สุคตวิทัตถิวิธาน ซึ่งทรงนิพนธ์เป็นภาษาบาลี นอกจากนี้ยังได้ทรงนิพนธ์เรื่องเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เป็นภาษาบาลีอีกหลายเรื่อง นับว่าพระองค์ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลี ที่สำคัญพระองค์หนึ่ง ทรงเป็นพระราชาคณะ มีสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะสามัญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ทรงสถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าฤกษ์ เป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ทรงอิศริยยศเป็นประธานาธิบดีแห่งพระสงฆ์ธรรมยุตินิกาย นับว่าทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติพระองค์แรก ทรงดำรงสมณฐานันดรเป็นที่สอง รองจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จ พระมหาสังฆปรินายก คือ สมเด็จพระสังฆราช
เมื่อปี พ.ศ. 2416 ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ซึ่งในปีเดียวกันนี้ ทรงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงเธอกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ การที่เลื่อนพระอิศริยยศครั้งนี้ แม้ว่าพระองค์จะไม่ทรงรับถวาย มหาสมณุตมาภิเษกในที่สมเด็จพระสังฆราช แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ก็ถวายพระเกียรติยศในทางสมณศักดิ์สูงสุด เท่ากับทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงรับถวายมหาสมณุตมาภิเษก ในปี พ.ศ. 2438 เมื่อพระชนมายุได้ 82 พรรษา ด้วยเหตุผลที่ว่า เจ้านายชั้นเดียวกันสิ้นพระชนม์แล้วทั้งสิ้น มีเจ้านายผู้ใหญ่เจริญพระชนมายุเหลืออยู่แต่พระองค์เพียงพระองค์เดียว

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ นอกจากจะเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลีแล้ว ยังทรงมีพระปรีชาสามารถ ในด้านต่าง ๆ พอประมวลได้ดังนี้ คือ
ด้านสถาปัตยกรรม ทรง ออกแบบพระปฐมเจดีย์ องค์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2396
ด้านโบราณคดี ทรงเป็นนักอ่านศิลาจารึกรุ่นแรกของไทยได้ศึกษาและรวบรวมจารึกต่าง ๆ ในประเทศไทยไว้มาก และได้ ทรงอ่านจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 ที่เป็นอักษรขอม เป็นพระองค์แรก
ด้านประวัติศาสตร์ ทรงนิพนธ์ลิลิตพงศาวดารเหนือ เรื่องพระปฐมเจดีย์ และพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เป็นต้น
ด้านดาราศาสตร์ ทรงพระนิพนธ์ ตำราปักขคณนา (คำนวนปฏิทินทางจันทรคติ) ไว้อย่างพิสดาร
ด้านวิทยาศาสตร์ ทรงบันทึกจำนวนฝนตกเป็นรายวัน ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 45 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2389 ถึงปี พ.ศ. 2433 เพื่อเป็นการเก็บสถิติน้ำฝนในประเทศไทย เรียกบันทึกนี้ว่า จดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน
ด้านกวี ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาบาลี ไว้เป็นจำนวนมาก ที่เป็นภาษาไทย ทรงนิพนธ์ไว้จำนวนมาก เช่น ได้ลงพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ กาพย์เสด็จนครศรีธรรมราช ลิลิตพงศาวดารเหนือ เป็นต้น
ทรงให้กำเนิดพระกริ่งในประเทศไทย ทรงสร้างพระกริ่งที่เรียกกันว่า พระกริ่งปวเรศ ซึ่งเป็นต้นแบบของพระกริ่ง ในยุคต่อมาของไทย
ด้านพระศาสนา ทรงเป็นองค์ประธานชำระและแปลพระไตรปิฎก พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ทรงกำหนดพระราชบัญญัติ และประกาศคณะสงฆ์ต่าง ๆ