กรุงสุโขทัย

วัดในพระพุทธศาสนา

วัดมหาธาตุ

เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ มีวัดที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กลางเมืองสุโขทัย ภายในมีเจดีย์รายแบบต่าง ๆ ซุ้มคูหา วิหาร โบสถ์ สระน้ำ และกำแพงแก้ว เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเช่นเดียวกับ วัดพระศรีสรรเพชญดาราม สมัยกรุงศรีอยุธยา หรือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตามศิลาจารึก หลักที่ 1 กล่าวไว้ว่า "กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารศ มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันงาม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันงาม" และถือเป็นจุดศูนย์รวมทั้งด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในสมัยสุโขทัย

เจดีย์มหาธาตุ มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือเจดีย์รูปดอกบัวตูม และเป็นเจดีย์ประธานของวัด รอบเจดีย์มีปรางค์ก่อด้วยศิลาแลง 4 ทิศ และเจดีย์แบบศรีวิชัยผสมลังกา ตรงมุมอีก 4 องค์ ฐานชั้นล่างมีรูปพระสาวกปูนปั้น เดินพนมมือประทักษิณ ด้านหน้ามีวิหารสูง ทิศตะวันออกมีวิหารใหญ่เสาเป็นศิลาแลงแท่งกลม แบ่งเป็นเสา 5 ห้อง 6 แถว 4 ห้อง 4 แถว และ 2 ห้อง 1 แถว ลดหลั่นกัน วิหารใหญ่นี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อสำริด คือ พระศรีศากยมุนี ซึ่งสร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท พ.ศ. 1905 จนกระทั่งในสมัย ร.1 ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม ส่วนทิศเหนือและทิศใต้ มีพระอัฎฐารศ สูง 9 เมตรเศษ

วัดตระพังทอง

ภายในกำแพงเมือง ด้านทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่แห่งหนึ่งเรียกว่า ตระพังทอง และตรงกลางเป็นเกาะ เป็นที่ตั้งของกลุ่มโบราณสถาน คือ วัดตระพังทอง มีเจดีย์เป็นรูปทรงกลมแบบลังกา ฐานก่อด้วยศิลาแลง องค์ระฆังก่อด้วยอิฐ มีโบสถ์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทศิลาสีเทาปนดำ ซึ่งเดิมได้ประดิษฐานอยู่ที่เขาสุมนกูฎ (เขาพระบาทใหญ่) ตามหลักฐานศิลาจารึกเขาสุมนกูฎ พุทธศักราช 1912 หลักที่ 8 ต่อมา พระราชประสิทธิคุณ วัดราชธานี จีงได้อัญเชิญลงมาประดิษฐานที่วัดตระพังทอง

วัดศรีสวาย

ตั้งอยู่ในกำแพงเมืองด้านทิศใต้วัดมหาธาตุ เดิมเป็นเทวสถาน สร้างก่อนสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ต่อมาภายหลังดัดแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนา เจดีย์ลักษณะเป็นพระปรางค์ 3 ยอด ฐานก่อด้วยศิลาแลง ตอนบนก่อด้วยอิฐ ด้านหน้าเป็นวิหารสองตอน มีกำแพงแก้ว ด้านหลังในกำแพงวัดมีคูน้ำ และมีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ว่า "เดิมวัดนี้คงเป็นเทวสถาน ร.6 ทรงสันนิษฐานไว้ว่า" เดิมคงเป็นโบสถ์พราหมณ์ ใช้ในพิธีโล้ชิงช้า (ตรียัมปวาย) และคูน้ำล้อมรอบด้านหลัง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "สระลอยบาป" นั้น ตามลัทธิพราหมณ์ถือว่า ทุกคนมีบาป และจะต้องทำพิธีล้างบาปกันครั้งหนึ่งในทุกปี และต่อมาเมื่อชาวไทยเข้าครองสุโขทัย จึงเปลี่ยนเป็นวัดทางพุทธศาสนา

วัดชนะสงคราม

เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดกลาง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ เป็นวัดที่มีเจดีย์ประธานเป็นลักษณะทรงกลมแบบลังกา ก่ออิฐ มีวิหาร โบสถ์ เจดีย์รายทรงวิมาน ปรากฏตามพระราชนิพนธ์ใน ร.6 เรื่อง "เที่ยวเมืองพระร่วง" เมื่อปีพุทธศักราช 2451 กล่าวถึง วัดชนะสงครามไว้ว่า "แต่ทางทิศเหนือ วัดมหาธาตุ วัดที่เรียกกันว่า วัดชนะสงคราม นั้น มีสถานอันหนึ่งซึ่งราษฎรเรียกว่า ศาลกลางเมือง"

วัดสระศรี

เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดกลาง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ บนเกาะกลางสระใหญ่กลางเมือง ที่เรียกว่า " ตระพัง ตระกวน" ลักษณะเจดีย์ประธานเป็นรูปทรงกลมแบบลังกา ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบด้วย วิหาร เจดีย์ขนาดเล็ก แบบศรีวิชัยผสมลังกา เจดีย์รายขนาดเล็ก โบสถ์ และสระน้ำขนาดใหญ่ โดยด้านหน้าเจดีย์มีพระวิหารขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ด้านหน้าวิหารเป็นพระอุโบสถ ตั้งอยู่กลางเกาะเล็ก ๆ ส่วนทางด้านทิศใต้ของเจดีย์ประธาน มีเจดีย์ทรงลังกาผสมศรีวิชัย

วัดสรศักดิ์

เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดเล็ก ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของวัดซ่อนข้าว เจดีย์ประธานเป็นรูปทรงกลมแบบลังกา ที่ฐานมีหัวช้างและสองขาหน้า รวม 25 เชือก โผล่ออกมาล้อมรอบฐานเจดีย์ ก่อด้วยอิฐและศิลาแลง ด้านหน้าเป็นวิหาร 5 ห้อง ก่อด้วยอิฐ ส่วนเสาวิหารทำด้วยหินทรายทั้งต้น นำมาโกลนเป็นเสาต่อกันเป็นท่อน ๆ ลักษณะเช่นนี้แตกต่างไปจากวัดอื่นที่นิยมใช้ศิลาแลงเป็นพื้น
ตามศิลาจารึกหลักที่ 9 ก มีข้อความกล่าวถึงวัดสรศักดิ์ว่า นายอินทร สรศักดิ์ มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ขอพระราชทานที่ดินเพื่อสร้างวัดนี้ จึงมีชื่อว่า วัดสรศักดิ์ "