กำแพงรักของครู


“อันว่าคนเรานั้นน่าจะได้รักกัน, เข้าใจกัน, มีความหวังดีต่อกัน แต่ความจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ ทั้งนี้ก็เพราะถูกกำแพงกั้นรักเสีย ซึ่งมีทั้งกำแพงนอกและกำแพงใน บทความเรื่องนี้ ความรักของครูที่พึงควรมีต่อศิษย์ของตนทุกชั้นทุกระดับ ไม่ว่าประถมมัธยม และอุดมศึกษา” นี่คือจุดหมายของ กำแพงรักของครู
รักคืออะไร


ความรักคืออะไรนั้นรู้สึกว่าจะหาคำตอบได้ไม่ง่ายนัก เท่าที่เราทราบกันดีก็คือ ทุกคนเคยรัก และถูกรักมาทั้งนั้น ชีวิตของมนุษย์จึงมีบทบาทอยู่กับความรักตั้งแต่เกิดจนตาย เด็กที่เกิดใหม่ ๆ ยังรักใครไม่เป็น แต่เขาก็ถูกความรักเข้าช่วยเหลือ โดยการถูกรักจากพ่อแม่และญาติพี่น้องจึงทำให้อยู่รอดเติบโตขึ้นมาได้ เหตุนี้เองจึงมีคำกล่าวว่า “ความรักนี้แหละที่ทำให้โลกหมุนอยู่ได้”
ตามหลักจิตวิทยา ความรักคืออารมณ์อย่างหนึ่ง อันหมายถึงความรู้สึกของคนเราที่มีอำนาจแรงพอทำให้คนแสดงจริตกริยาออกมา เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายให้เห็น ดังนั้นเมื่อคนเราเกิดมีความรักขึ้นแล้วก็จะแสดงจริตกริยาออกมา เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายให้เห็นดังนั้นเมื่อคนเราเกิดมีความรักขึ้นแล้วก็แสดงอาการรักออกมา อันยากแก่การปกปิดซ่อนเร้น ซึ่งเราคงทราบกันดี และเคยประสบกับตัวของเราเองกันมาแล้ว เช่น ความรักอันยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ที่มีต่อลูก จะเห็นว่าพ่อแม่แสดงอาการว่ารักลูกมากมาย ในการเลี้ยงดูเอาใจใส่ และเสียสละหรือความรักหนุ่มสาวก็เป็นกรณีที่เราเห็นอยู่เป็นประจำวันในสังคม ลงเขาได้รักกันเกิดความรักขึ้นมา ต่อให้มีอุปสรรคกีดขวางอย่างไรก็จะพยายามดิ้นรนไปสู่ความปรารถนาของอารมณ์รักจนได้
กล่าวตามธรรมดาแล้ว ความรัก หรือ รัก นี้ จัดเป็นอารมณ์ประเภทสุข เพราะเมื่อใครเกิดอารมณ์รักแล้ว เขาจะมีใจเบิกบานร่าเริงแจ่มใส เป็นความรู้สึกสุขใจที่ดี ฉะนั้นทุกคนจึงต่างแสวงหาที่จะรักคนอื่น และในขณะเดียวกันก็มีความต้องการให้ตนเองเป็นที่รักของคนอื่นด้วยหน้าที่ของครูในโรงเรียนนั้นเมื่อวกเข้ามาในเรื่องรักแล้ว ครูจะต้องพยายามทำตัวให้เป็นที่รักของเด็ก และคณะเดียวกันครูก็จะต้องรักเด็กทุก ๆ คนที่ครูสอน การสั่งสอนอบรมกันด้วยมีความรักเป็นทุนหนุนหลังอย่างนี้ จะช่วยให้การศึกษาสำเร็จด้วยดี
อธิบายได้ว่า ทุกคนจะรักในสิ่งที่ดี อะไรดีจะเป็นที่รักของคนทั้งสิ้น ดังนั้นทุกคนจึงอยากได้ของที่ดี ๆ มีของใช้ดี ๆ มีลูกดี ๆ มีของกินดี ๆ สิ่งที่เน่า ๆ เหม็น ๆ ทุกคนจึงไม่รัก ข้อที่ ๒ คือ เราจะรักในสิ่งที่งาม คำว่างามก็คือ สวย นี่เอง ฉะนั้นของที่งาม ๆ สวย ๆ จึงเป็นที่สบอารมณ์รักของเราเสมอ เช่น รักของใช้ที่สวยงาม มีลวดลายงดงาม รักในศิลปอ่อนช้อยรักในสิ่งประดิษฐ์มีสีสรร สรุปว่า อะไรที่สวยแล้วจะเป็นที่รักทั้งสิ้น ส่วนข้อสุดท้ายที่ว่า เรารักเพราะถูกใจ นั้น จัดเป็นความรักส่วนตัวเฉพาะคน เมื่อมีความถูกใจแล้วรักแน่ ๆ ของนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ดังนั้นบางคนก็ว่าสิ่งนั้นไม่ดี ไม่งาม ไม่น่ารัก แต่อีกคนหนึ่งรักก็เนื่องจากว่า สิ่งนั้นเป็นที่ถูกใจของเขา เหตุนี้เองคนรูปชั่วตัวดำ ซึ่งพูดกันธรรมดา ๆ แล้ว ย่อมไม่ดีไม่งาม แต่ก็ยังเป็นที่รักของคนบางคนอยู่จนได้ ด้วยเหตุผลข้อนี้เอง คือ เพราะถูกใจ เช่นกับว่า ถึงแม้จะดำก็ดำขำ ถึงปากจะแหว่งก็แหว่งอย่างมีเสน่ห์ เป็นต้น
ฉะนั้น ดี งาม ถูกใจ จึงนับได้ว่าเป็นต้นตอของความรักโดยแท้ ท่านลองสำรวจสิ่งที่ท่านรักเดี๋ยวนี้บ้างก็ได้ว่า ที่ท่านรักสิ่งนั้นเพราะอะไร ข้าพเจ้าคิดว่าคงไม่หนีจากรัก เพราะว่าดี ๑ รักเพราะว่า งาม ๑ และสุดท้าย รักเพราะถูกใจ ๑ เป็นแน่
รักมีกี่ชนิด ?


เรื่องรักว่าคนเรารักอะไรบ้างแล้ว เห็นจะไม่จบสิ้นอย่างแน่ ๆ เพราะว่ามีมากมายเหลือจะกล่าว แต่ถ้าจะลองพิจารณาเป็นหลักใหญ่ ๆ แล้วก็พอทำได้ ซึ่งข้าพเจ้าขอเสนอว่าความรักมีอยู่เพียง คือ
๑) รักในสิ่งที่มีชีวิต
๒) รักในสิ่งที่ไม่มีชีวิต
๓) รักในคุณธรรมความคิดนึก


รักประเภทที่ ๑ และ ๒ นั้น จัดรวมได้เป็นความรัก ชนิดมีตัวตน ส่วนความรัก ประเภทที่ ๓ เป็นความรักที่ เป็นนามธรรมไม่มีตัวตน จะเห็นว่าคนเราล้วนแต่รักวกเวียนอยู่ใน ๓ อย่างนี้ทั้งนั้น คือรักในสิ่งที่มีชีวิตก็มี รักคน รักสัตว์ รักพืช รักในสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็เช่นรักธรรมชาติขุนเขา, หินผา, แม่น้ำ, ลำธาร, น้ำตก, ทะเล, บ้านช่อง, เครื่องใช้ไม้สอย เป็นต้น ส่วนการรักในความคิดนั้น เป็นความรักชั้นสูงที่
ไม่มีตัวตน เป็นสิ่งของหรือวัตถุให้เห็น นอกจากเป็นนามธรรมที่เกิดจากจิตใจจะคิดนึก เช่น การรักใน
ความยุติธรรม รักในความระเบียบเรียบร้อย รักในความเคารพนอบน้อม รักในความเมตตาปรานี ฯลฯ เป็นต้น
จะเป็นรักประเภทไหนก็ตาม ข้าพเจ้าคิดว่า มีความสำคัญกับชีวิตทั้งนั้น จึงควรจะได้รักให้ถูกต้อง ทั้งรักคน, รักสัตว์, รักสิ่งของ, รักวัตถุ ที่คุณประโยชน์กับเราพร้อมด้วย รักที่จะคิดในทางที่ดี เพื่อส่งเสริมคุณธรรมทางใจของเราเองด้วยประกอบกัน จึงจะเป็นความรักที่สมบูรณ์
รักแสดงออกอย่างไร?


ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่า ทุกคนต้องมีความรัก และเมื่อเกิดรักแล้วบุคคลจะต้องแสดงออกให้เห็น ในตอนนี้ข้าพเจ้าจะลองเสนอรายการพฤติกรรมของอาการรักออกให้ท่านเห็นอย่างง่าย ๆ ว่า เมื่อเกิดรักขึ้นแล้วท่านแสดงจริตกริยาดังต่อไปนี้บ้างหรือไม่เพียงไร
หนทางที่แสดงออกว่ารัก อย่างน้อย ๆ มี ๑๒ ทางดังต่อไปนี้
๑) ใกล้ชิด คือ ชอบอยู่ใกล้กับสิ่งที่รักเสมอ พยายามใกล้ชิดกับของรัก
๒) สนิทสนม คือ แสดงความเป็นกันเอง เข้าใจกันดี, เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
๓) พูดคุย คนที่รักกันจะไม่นิ่ง ชอบสนทนาพูดคุยกันเสมอ ๆ
๔) เยี่ยมเยียน การไปมาหาสู่ระหว่างกัน ก็เป็นเรื่องของความรักอย่างหนึ่ง
๕) ช่วยเหลือ ความรักปรากฏออกในรูปของช่วยเหลือเผื่อแผ่แน่ ๆ
๖) เสียสละ เมื่อรักแล้วไม่เห็นแก่ตัว ยอมเสียสละยอมลำบากเพื่อความรักของตน
๗) ทนุถนอม เมื่อเรารักอะไร เราะจะพยายามให้ความทนุถนอม ไม่ทำลายให้สูญเสีย
๘) ระแวดระวัง รักแสดงออกด้วยความเอาใจใส่ หมั่นรักษาดูแล ระวังป้องกันภัยเสียหายและอันตรายเสมอ
๙) สงสาร นี่เห็นง่าย ๆ ทั่วไปว่า เมื่อรักแล้วเกิดความสงสารเมตตา กรุณาติดตามมาด้วย
๑๐) สรรเสริญ คนเราจะยอย่อง นิยมชมชอบและเยินยอในสิ่งที่ตนรัก จะเฉยเมยหรือทับถมสิ่งที่ตนไม่รัก
๑๑) คิดถึง ความรักแสดงออกด้วยการคิดถึง และห่วงใยเป็นกังวล ทุกคนคงทราบดี เพราะเคยคิดถึงกันมามาก ๆ แล้ว
๑๒) ชื่นชม การปิติปลื้มใจ เป็นการแสดงออกของความรักอย่างดี


จะเห็นว่า หัวข้อ ๑๒ ข้อนี้อยู่ในหนทางแสดงความรักของเราทั้งหมด แล้วแต่ว่าเราจะรักอะไร และแสดงทางไหนมากน้อยต่างกันอย่างไรเท่านั้น
กำแพงรัก
อุปสรรคที่กีดกันรักมิให้เกิดขึ้นนั้น ข้าพเจ้าขอเรียนว่า กำแพงรัก เพราะเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องกีดขวางหัวใจ ถ้าลงใครเกิดมีขึ้นแล้วก็อยากที่จะรักได้ กำแพงรักที่สำคัญ เช่น
๑) ความเห็นแก่ตัว เอแต่ใจตนเอง เอาเปรียบคนอื่น
๒) ความอิจฉาริษยา ไม่อยากเห็นคนอื่นได้ดี
๓) การไม่ยอมเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่รับฟังคนอื่นเลย
๔) ขาดความเมตตากรุณา คิดช่วยเหลือเอื้อเฟื้อต่อกัน
๕) ความอาฆาตเคียดแค้น อยากทำลาย ผูกพยาบาท
๖) การดูหมิ่นเหยียดหยาม วางท่า อวดเบ่งระหว่างกัน
๗) การนินทาว่าร้าย ใส่ความ ป้ายสีให้เดือดร้อน
๘) การไม่เคารพนับถือกัน คิดว่า คนอื่นไม่สำคัญ
๙) ความเหินห่างทอดทิ้ง เป็นการทำลายรักอย่างหนึ่งได้เหมือนกัน
๑๐) ความรังเกียจ รู้สึกไม่ชอบ นึกเกลียด ไม่ถูกใจ ข้อนี้เป็นกำแพงรักที่สูงยิ่ง
พังกำแพงรัก


เมื่อเราทราบกำแพงรักแล้ว การทำลายกำแพงรัก ก็ไม่เป็นการยากอะไร โดยการใช้มุมกลับ ดังนั้นวิธีทำลายหรือ พังกำแพงรัก ก็พอจะทำได้โดย
๑) ไม่มีความเห็นแก่ตัว หรือเห็นแก่ได้
๒) ไม่อิจฉาคนอื่น ถือเป็นหลักเป็นกลางและดีใจในความดีของคนอื่น
๓) พยายามเข้าใจคนอื่นตามสภาพความจริงของเขา
๔) ปลูกความหวังดี เมตตาต่อกัน
๕) ไม่คิดอาฆาต ผูกใจเจ็บ คิดอภัยได้ง่าย
๖) ปราศจากการดูถูกคนอื่น ไม่คิดว่าตนเองวิเศษเหนือคน
๗) ไม่นินทาคนอื่นอย่างเด็ดขาด เพราะเห็นการนินทาเป็นของชั่วร้าย
๘) คงให้ความเคารพนับถือในความดี และความสามารถของคนอื่น
๙) มีความใกล้ชิด ไปมาหาสู่ ไม่ทอดทิ้งเหินห่างต่อกัน
๑๐) ปลูกความชอบ สร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันเสมอ


ถ้าหากท่านจัดการกำแพงรัก โดยการปลูกสร้างอาคารรักจากหลักทั้ง ๑๐ นี้สำเร็จท่านจะมีใจรักกว้างขวางและสุขกายสบายใจด้วยดี
วิญญาณรักของครู
ครูเป็นผู้ที่หวังดีต่อเด็กในการอบรมสั่งสอนเสมอ วิญญาณครูเป็นวิญญาณที่ช่วยเด็กอย่างแท้จริง คือการช่วยให้เด็กเจริญงอกงาม เป็นผู้ฉลาด มีความรู้ความสามารถ เป็นคนดีครูต้องต่อสู้กับงานปลุกสร้างยกฐานะทางวิญญาณของเด็กอย่างมาก เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันอันเป็นสาเหตุให้เกิดกำแพงรักในใจครู ลักษณะของเด็กที่ทำให้เป็นอุปสรรคในความรักของครูในการเรียนการสอน เช่นเด็กที่มีสภาพเหล่านี้เช่น
๑) เด็กเรียนช้า ๑๑) เด็กขี้ขลาด กลัว
๒) เด็กซุกซน ๑๒) เด็กไม่ตรงต่อเวลา
๓) เด็กดื้อ ๑๓) เด็กไม่รับผิดชอบหน้าที่
๔) เด็กไม่เชื่อฟัง ๑๔) เด็กพูดไม่สุภาพ
๕) เด็กพูดปด ๑๕) เด็กแต่งตัวไม่เรียบร้อย
๖) เด็กคดโกง ๑๖) เด็กพูดคุยขณะเรียน
๗) เด็กเกียจคร้าน ๑๗) เด็กชอบทำลายของ
๘) เด็กซึมเซา - เหงาหงอย ๑๘) เด็กไม่ตั้งใจเรียน
๙) เด็กขี้อาย ๑๙) เด็กสกปรกเป็นโรค
๑๐) เด็กใจน้อย ขี้แย ๒๐) เด็กบกพร่อง พิการทางกาย
เช่น หูตึง ตาเหล่ ขาเก ฯลฯ


ตัวอย่างที่ยกมาให้ดูนี้เห็นว่า เป็นอุปสรรคในความรักของครูเพียงไร ความจริงวิญญาญาณครูนั้นก็มีความรักเด็กนักเรียนอยู่แล้ว แต่เมื่อต้องมาพบกับนักเรียนบางคน ที่มีลักษณะดังกล่าวข้างบนเข้า ก็จะทำให้ใจรักหดหายไปได้เหมือนกัน แต่ครั้นครูจะเลือกรักแต่เด็กที่ดีที่สอบที่เรียนเก่งที่เรียบร้อยเล่า ก็นับว่าผิดอุดมคติของครูอย่างยิ่ง ดังนั้น การที่ครูต้องใจกว้างในความรักจึงจำเป็นยิ่ง และเป็นเรื่องที่ครูควรปลูกฝังเอาไว้หัวข้อสุดท้ายต่อไปนี้ ข้าพเจ้าจะลองเสนอแนะแนวทางในการที่ครูควรใช้สำหรับเด็กให้มากขึ้น และเป็นเด็กพิเศษบางกรณี เป็นตัวอย่างสัก ๓-๔ ราย ให้เหมาะสมกับเรื่อง กำแพงรัก ของเรา
แนวทางเปิดใจรักของครู
ถ้าครูต้องพบกับเด็กเหล่านี้ คือ
๑) เด็กเรียน ๔) เด็กหูตึง
๒) เด็กซุกซน ๕) เด็กไม่ตรงต่อเวลา
๓) เด็กซึมเซา - เหงาหงอย
ครูจะทำอย่างไรดี? เป็นเรื่องที่น่าคิด จะตัดหางปล่อยวัดเห็นจะไม่ได้ ทางที่ดีครูต้อง เปิดใจรักเด็ก เหล่านี้ แล้วช่วยเหลือทันที หนทางที่ครูพอจะเปิดใจรัก ช่วยได้นั้นข้าพเจ้าจะยกให้เห็นแนวทางดังนี้
๑) เปิดใจรักเด็กที่เรียนช้า มีสมองไม่เฉียบแหลม ครูจัดการช่วยโดย
ก) จงให้ความสนใจเป็นพิเศษ
ข) ช่วยจัดสอนพิเศษนอกเวลาให้ตามสมควร
ค) จัดเป็นหมู่สอนตามความสามารถของเขา
ง) จงให้ความเป็นมิตร อย่าดูถูกเหยียดหยามเด็ก
จ) แนะนำกลวิธีเรียนที่ดี ๆ ให้เด็กเป็นพิเศษ
๒) เปิดใจรักเด็กซุกซน หนทางที่ครูพอทำได้นั้น เช่น
ก) อธิบายให้เห็นโทษของความซุกซน
ข) ให้อ่านหนังสือดี ๆ ว่าความเรียบร้อยมีคุณ ซุกซนมีโทษ
ค) จัดเป็นกิจกรรมพิเศษให้เด็กได้แสดงออก
ง) จัดหางานพิเศษให้เด็กช่วยครูทำ
๓) เปิดใจรับเด็กขี้เกียจ ครูอาจจะช่วยได้โดยวิธีเหล่านี้
ก) ใช้การแข่งขันเป็นแรงกระตุ้นใจ
ข) ให้รางวัล เมื่อเขาขยันขึ้น
ค) แนะนำให้เห็นโทษของความเกียจคร้าน
ง) ให้งานทำน้อย ๆ และหมั่นติดตามผลทุกระยะ เสร็จแล้วก็ให้งานใหม่อีก
จ) ถ้ามีเหตุบกพร่องทางกายจงปรึกษาแพทย์
๔) เปิดใจรักเด็กหูตึง
ก) ระวังอย่าให้เด็กรู้สึกมีปมด้อยจากความบกพร่องเกี่ยวกับเรื่องหูตึงของเขา
ข) จัดที่นั่งให้เด็กนั่งใกล้ ๆ ครูหน้าชั้น
ค) ติดตามสอนและเอาใจเป็นพิเศษ
ง)ช่วยติดต่อแพทย์เพื่อทำการบำบัดเท่าที่ทำได้
๕) เปิดใจรักเด็กไม่ตรงเวลา
ก) หมั่นอบรมชี้แจงแนะนำเรื่องโทษของความไม่ตรงเวลา
ข) ครูเอาใจใส่ติดตามอย่างใกล้ชิด
ค) มอบงานที่เหมาะสมให้ทำ แล้วให้เด็กส่งงานตามเวลานัดหมายเสมอ จนเกิดนิสัยรับผิดชอบ
ง) อาจให้รางวัลหรือลงโทษเมื่อจำเป็น
พอยกตัวอย่างให้ให้เห็นว่า ครูต้องเปิดใจรักเด็กอย่างไรบ้างสำหรับปัญหาอย่างอื่น ๆ ก็คงใช้หลักบางชนิดประกอบ ถ้าครูได้ทำลายกำแพงรักแล้วสอนนักเรียนด้วยความรักความสงสารความอยากช่วยเหลือให้สำเร็จก็นับว่าการสอนหรืองานของครูตรงกับ อุดมการณ์แห่งวิญญาณครูโดยแท้ ที่ต้องรักเด็กทุกคนไม่เลือกที่รักมักที่ชัง


สรุปบทความ
๑) ความรักเป็นอารมณ์อย่างหนึ่งที่ทุกคนมี
๒) ความรักมีอำนาจดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ได้
๓) เมื่อเกิดรักแล้วย่อมแสดงพฤติกรรมออกให้เห็น
๔) อุปสรรคแห่งความรักมีอยู่หลายอย่างควรเอาใจใส่ และแก้ไขให้ลดน้อยลง เพื่อรักได้ดีและ สะดวกขึ้น
๕) อุดมคติของครูคือต้องสอนนักเรียนด้วยความรักเสมอ โดยไม่ลำเอียง
๖)บางครั้งครูต้องเปิดใจรักเด็กเหมือนกัน แต่ก็เป็นงานสำคัญของครูที่ต้องพยายาม ช่วยเหลือเด็กเสมอ
กำแพงรัก ก็มาถึงจุดพอดี ด้วยความุ่งหมายที่จะส่งเสริมให้ผู้อ่านทุกท่านได้เห็นคุณค่าของความรัก และประพฤติตัวให้เป็นที่รักระหว่างกันในสังคม ทั้งในบ้าน ในโรงเรียน และในชุมชน ขณะใดรู้สึกว่า อารมณ์รักถูกกำแพงรักขวางกั้น จงรีบทำลายกำแพงรักนั้น ๆ เสีย โลกเราจะมั่นคง สงบเย็น และสันติสุข ก็ด้วย ความรักที่ทุกคนมีต่อเนื่องกันนี่เอง ขอให้ทุกท่านจงได้สมในความรัก และเป็นที่รักของคนอื่นดังปรารถนา และขอให้นักเรียนทั้งหลายจงเป็นที่รักของครูอย่างแท้จริงชั่วกาลนาน ?