อารมณ์เศร้าของวัยรุ่น

 
 
 

 

อารมณ์เศร้าของวัยรุ่น
พ.ญ.สุรางค์ เลิศคชาธาร

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะใด คงต้องเคยเจอวัยรุ่นเข้าบ้างเป็นแน่ คุณอาจจะเป็นพ่อแม่ที่มีลูก กำลังเข้าวัยรุ่น เป็นผู้ที่มีน้องกำลังเป็นวัยรุ่น เป็นครูที่มีลูกศิษย์เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว หรือตัวคุณเองก็กำลังอยู่ในระยะวัยรุ่นเหมือนกัน

เราคงพอทราบกันบ้างว่า วัยนี้เป็นวัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย ที่กำลังโตเป็นหนุ่มเป็นสาว อารมณ์ที่เปลี่ยนจากเด็กทุกคน ไม่สนใจอะไร กลายเป็นคนที่มีอารมณ์ช่างคิด ช่างฝัน แสนงอน ขี้น้อยใจ หรือใจร้อน โผงผาง นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เปลี่ยนจากเด็กที่ชอบอยู่กับบ้าน มีเรื่องอะไรก็คอยปรึกษาพ่อแม่ กลายมาเป็นคนที่ชอบออกนอกบ้าน คลุกคลีกับหมู่เพื่อน ชอบเตร็ดเตร่ตามสถานที่ชุมชนของเด็กวัยรุ่น มีปัญหาก็ชอบจะปรึกษาเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ มีความลับที่ไม่อยากเปิดเผยให้พ่อแม่ทราบ หรืออาจเริ่มมีจดหมาย ของฝากจากเพื่อนต่างเพศ ซึ่งเขาจะถือเป็นเรื่องส่วนตัวมาก ขนาดที่ใครไปแตะต้องไม่ได้ทีเดียว
ฟังดูแทบไม่น่าเชื่อ แต่ทุกคนก็ต้องผ่านระยะวัยรุ่นก่อนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ทั้งนั้นก่อนที่มนุษย์จะเจริญวัยและพัฒนาเต็มที่ จากเด็ก ไปเป็นผู้ใหญ่ ต้องผ่านระยะสำคัญนี้ ไปให้ได้เสียก่อน ก็คงพอจะนึกออกถึงความแตกต่าง ระว่างเด็กกับผู้ใหญ่ได้ว่า มีความแตกต่างอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อารมณ์ ความคิด ความอ่าน การสังคมติดต่อกับผู้อื่น

ระยะวัยรุ่นเป็นระยะที่เด็กเรียนรู้และพัฒนาความสามารถในการควบคุมตนเอง การพึ่งพาตนเอง เพื่อเป็นผู้ใหญ่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของง่ายเลย ช่างยุ่งยากซับซ้อน บางครั้งก็สับสน วัยนี้จึงมักเต็มไปด้วยคำถามซึ่งต้องการคำตอบที่เขาเข้าใจได้ จึงจะถูกใจเขา

ขณะย่างก้าวความยุ่งยากนี้ อารมณ์เศร้าในวัยรุ่นมักเกิดขึ้นได้ง่าย นักจิตวิเคราะห์หลายคน เชื่อว่า ความกลัดกลุ้มใจ ไม่สบายใจ ในวัยนี้เป็นสิ่งปกติในการพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ของวัยรุ่น แต่การเอาชนะความผิดหวังต่าง ๆ ต้องอาศัยกำลังใจที่เข้มแข็งจึงจะผ่านพ้นไปได้

วัยรุ่นที่กำลังใจไม่เข้มแข็งและขาดผู้ใหญ่ที่เข้าใจคอยช่วยเหลือสนับสนุนก็มีโอกาส ล้มเหลว ง่าย ความผิดหวังในวัยนี้ มีผลกระทบต่อความรู้สึกของเขาได้ง่าย เพราะเป็นระยะกำลังเริ่มต้น และยังขาดประสบการณ์ วัยรุ่นจะรับรู้ต่อความล้มเหลว ในเชิงหมดหวังได้ง่าย และตัดสินใจ แก้ปัญหา อย่างหุนหันพลันแล่นได้ง่าย เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ได้รับความ กระทบกระเทือนใจ อย่างรุนแรง และรู้สึกว่าไม่มีใครสามารถช่วยเหลือเขาได้อีกแล้ว

อารมณ์เศร้าในวัยรุ่นแสดงออกในลักษณะต่าง ๆ กัน
- มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์
- ตำหนิติเตียนตนเองอยู่เสมอ มองตนเองว่าไม่ดี ไม่เอาไหน ไม่มีความหมาย
- แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงต่าง ๆ
- ไม่อยากไปโรงเรียน ผลการเรียนตกต่ำลง เข้ากับเพื่อนและครูที่โรงเรียนไม่ได้
หนีโรงเรียน หนีออกจากบ้าน
- นอนไม่หลับ ฝันร้ายบ่อย ๆ หลับยาก หลับ ๆ ตื่น ๆ อยู่เสมอ
- แยกตัวไม่สุงสิงกับคนอื่น
- มีอาการไม่สบายทางกาย เช่น ปวดหัวบ่อย ๆ ปวดท้องอยู่เสมอ

 

ถ้าพ่อแม่พี่น้องพบลักษณะดังกล่าวในวัยรุ่นใกล้ตัวท่านลองดูว่าเขากำลัง มีอารมณ์เศร้า อยู่หรือไม่ และมีอะไรเป็นสาเหตุ ?

การเข้าใจอารมณ์ของเขา ยอมรับเขาและปลอบโยนให้กำลังใจช่วยชี้แนะทางที่เหมาะสม จะช่วยให้เขาหรือเธอไม่รู้สึกหมดหวังและลุกขึ้นจัดการสิ่งที่ล้มเหลวใหม่ได้ แม้ว่าสาเหตุแห่งอารมณ์เศร้านั้นจะแก้ไขไม่ได้เต็มที่นักก็ตาม

ระยะนี้กำลังเป็นระยะของการสอบ และการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยระบบการสอบใหม่ ก็เป็นช่วงที่เด็กจะรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง หรือล้มเหลวได้ง่าย ถ้าผลการสอบไม่ผ่าน ผู้ใหญ่หรือบุคคลใกล้ชิดจึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยเหลือให้เขาเอาชนะช่วงเวลาสำคัญนี้ ไปได้อย่างเข้มแข็ง

และกล้าที่จะก้าวไปข้างหน้าเผชิญกับสิ่งใหม่ พร้อมกับประสบการณ์ แห่งความผิดหวังที่ไม่น่ากลัวสำหรับเขาเลย

พ.ญ.สุรางค์ เลิศคชาธาร