การทหารของไทย

 

การทหารของไทยก่อนสมัยกรุงสุโขทัย

การทหารของไทยก่อนสมัยกรุงสุโขทัยนั้น เท่าที่ปรากฏเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดและยังคงสภาพให้ศึกษาค้นคว้ากันต่อไปนั้น ได้แก่ ภาพจำหลัก ที่ระเบียงปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ซึ่งได้จำหลักไว้ในรัชสมัย พระเจ้าชัยวรมัน ที่ 7 (พ.ศ. 1724-1761) เป็นภาพขบวนพยุหยาตราของกองทัพ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1656-1695) ในภาพดังกล่าวมีกองทหารซึ่งอยู่ทางตอนหน้าของขบวนทัพ มีอักษรจารึกไว้ว่า เป็นหน่วยทหารเสียมกุก คือ กองทัพของชาวเสียม (สยาม) ตอนหนึ่ง และชาวละโว้ตอนหนึ่ง รูปชาวละโว้แต่งกายเหมือนกับพวกขอม แต่รูปชาวสยามนั้น แต่งกายแปลกออกไปอีกอย่างหนึ่ง


นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศษคณะหนึ่งกล่าวว่า หน่วยทหารของสยาม ในฐานะที่เป็นพันธมิตร ได้เป็นกองระวังหน้า ในกองทัพ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ที่ยกไปตีอาณาจักรจามปา เมื่อปี พ.ศ. 1688 และสามารถยึดเมืองวิชัยราชธานีของจามไว้ได้
นักโบราณคดีไทยบางท่านกล่าวว่า กองทัพชาวเสียมนั้น มาจากลุ่มแม่น้ำกก ซึ่งมี ขุนเจื๋อง (ท้าวฮุง) กษัตริย์แห่งอาณาจักรเงินยาง ซึ่งครองเมืองพะเยาอยู่ เป็นผู้รวบรวมกำลังชาวไทย (ลาว) และอาจมีชาวข่าร่วมด้วย ส่งกำลังดังกล่าวไปช่วยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 รบกับพวกจาม แต่มีบางท่านเห็นว่า ทหารเสียมจากภาพจำหลักที่นครวัด แต่งกายแปลกไปจากชาวไทยในถิ่นอื่นมาก ตรงที่ใส่ต่างหู และนุ่งผ้าแหวกข้างหน้า และยังประดับพู่ห้อยรอบเอว จึงน่าจะเป็นพวกชนเชื้อชาติมอญโบราณมากกว่า เพราะถ้าเอาพู่ที่ห้อยประดับรอบเอวออกแล้ว การแต่งกายภาพจำหลักนั้น ก็จะเหมือนกับภาพจำลองการแต่งกายของ ผู้ชายในภาคกลางของประเทศไทยในสมัยทวาราวดี เมื่อพุทธศตวรรษที่ 11-16


ภาพจำหลักกองทัพชาวเสียมนั้น เป็นทหารเดินเท้า แต่ละคนเกล้าผมทรงสูงไว้กลางกระหม่อม รวบผมรัดด้วยเกี้ยว 2 หรือ 3 ชั้น บนยอดสุดประดับพู่ เชิงผมถักเป็นหลอดทิ้งปลาย ให้ยาวลงมาประบ่าทั้งด้านข้างและด้านหลัง ใส่ต่างหู แขวนพวงดอกไม้ นุ่งผ้าทั้งผืนตั้งแต่เอวห่อพันมาบรรจบไว้ข้างหน้า ปล่อยชายล่างลงมาปิดเข่า รอบเอวมีพู่ห้อยด้วยสายเส้นเล็ก ๆ ปลายพู่เกือบถึงเข่า ถัดจากขอบเอวลงมามีเข็มขัดแผ่นโต

อาจทำด้วยทองหรือเงินจำหลักลายคาดอยู่หลวม ๆ สวมเสื้อรัดรูป แขนสั้นเพียงข้อศอก ผ่าอกตลอด มีกำไลประดับที่ต้นแขน บางคนมีกรองคอ มือขวากุมหอกด้ามยาว ปลายประดับพู่ มือซ้ายถือโล่ห์แบบกาบกล้วย โค้งยาวพอที่จะปิดศีรษะตลอดเท้าได้มิดในขณะยืน ผู้ที่เป็นายขี่ช้างโดยยืนอยู่บนสัปคับ มือถือธนูศร มีกลดด้ามยาวชูกันแดดและเป็นเครื่องประดับยศ ควาญหน้าถือหอก ปลายประดับพู่หลายชั้น ทั้งหมดไม่สวมรองเท้า


ภาพจำหลักดังกล่าวนี้ มีรายละเอียดให้เราได้ทราบถึง การจัดกองทัพของชาวเสียมในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ในหลายๆ ด้าน