การทหารของไทย

 



การทหารสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2394-2468)

การจัดการทหาร ตั้งแต่ พ.ศ. 2436-2453

จากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 หรือปี พ.ศ. 2436 ทำให้ประเทศไทย ต้องเสียดินแดนอาณาจักรลาว ให้กับฝรั่งเศษ จึงได้มีการปรับปรุงด้านการทหารในปีต่อมา โดยคณะเสนาบดีได้ทูลเกล้า ฯ ถวายความเห็น ให้จัดระเบียบราชการในกระทรวงกลาโหมใหม่ โดยให้รับผิดชอบทั้งด้านทหารบก และทหารเรือ จึงได้มีประกาศปันหน้าที่กระทรวงกลาโหม มหาดไทย โดยให้แยกราชการพลเรือน คือการบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ ไปขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย และจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมใหม่ โดยรวมการบังคับบัญชาทางการทหารมาไว้ที่ กระทรวงกลาโหม นอกจากนั้นในส่วนภูมิภาค ก็ได้จัดตั้งกรมบัญชาการทหารประจำมณฑลต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ป้องกันราชอาณาจักรได้ทันท่วงที
สำหรับเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ก็เปลี่ยนจากเจ้าพระยาพลเทพ มาเป็นกรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ และในปี พ.ศ. 2439 ก็ได้โอนกรมพระสุรัสวดี จากกระทรวงเมืองมาขึ้นกับกระทรวงกลาโหม เพื่อให้สะดวกในการเรียกพลเข้ารับราชการทหาร
ในปี พ.ศ. 2441 ได้จัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกขึ้น โดยมีพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ซึ่งสำเร็จการ ศึกษาวิชาทหารจากประเทศเดนมาร์ก เป็นเสนาธิการ หลังจากนั้นก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจการทหารของไทยเข้าสู่ระบบสากล และในปีเดียวกันนี้ ได้มีการจัดตั้งหน่วย ทหารบกตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วไป เพื่อสะดวกในการวางกำลังทหารไว้ ตามพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และมีการเปลี่ยนนามหน่วยเสียใหม่ ดังนี้คือ
กรมทหารล้อมวัง เป็น กรมทหารบกราบที่ 1
กรมทหารรักษาพระองค์ เป็น กรมทหารบกราบที่ 2
กรมทหารฝีพาย เป็น กรมทหารบกราบที่ 3
กรมทหารหน้า เป็น กรมทหารบกราบที่ 4
ในปี พ.ศ. 2444 เกิดกบฎผีบุญผีบ้าที่เมืองอุบลราชธานี และปีต่อมา เกิดกบฎเงี้ยวที่เมืองแพร่ จากการปราบปรามกบฎดังกล่าว ได้พบปัญหาและข้อบกพร่องในการปฏิบัติการบางส่วน มีหน่วยที่ต้องทำการปรับปรุงแก้ไข 7 หน่วยด้วยกัน และได้จัดให้มีการทหารประจำการอยู่ที่มณฑลอุดร มณฑลอีสาน และมณฑลพายัพ เพิ่มขึ้น
ในปี พ.ศ. 2447 ได้มีพระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหาร โดยแยกการเกณฑ์ทหาร ออกจากราชการพลเรือนอย่างเด็ดขาด
ในปี พ.ศ. 2446 มีการจัดกำลังเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 ประกอบด้วยหน่วยต่าง ๆ 16 หน่วย เป็นหน่วยในภูมิภาค 6 หน่วย คือที่ ราชบุรี นครราชสีมา นครสวรรค์ มณฑลพายับตะวันตก และมณฑลพายัพตะวันออก
ในปี พ.ศ. 2453 ได้มีการแบ่งส่วนราชการในกรมยุทธนาธิการ ออกเป็น 22 หน่วย เป็นหน่วยกองพล 10 กองพล คือ กองพลที่ 1 ถึงกองพลที่ 10 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เป็นมณฑลกรุงเทพ ฯ อีก 9 กองพล อยู่ในภูมิภาค คือ นครไชยศรี กรุงเก่า ราชบุรี นครราชสีมา นครสวรรค์ พิษณุโลก มณฑลพายัพ ปราจีณบุรี และมณฑลอีสานอุดร

การฝึกศึกษา

เริ่มตั้งแต่ โรงเรียนทหารมหาดเล็ก เมื่อปี พ.ศ. 2425 ต่อมาได้ตั้ง โรงเรียนคาเด็ตทหารหน้า ซึ่งได้จ้างครูชาวอิตาลีมาสอน 2 คน ต่อมาได้ตั้งโรงเรียนทำแผนที่ ขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก

ในปี พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ทรงส่งพระราชโอรสพระบรมวงศานุวงศ์ และบุตรผู้มีตระกูล ไปศึกษาวิชาทหารยังต่างประเทศ ในทวีปยุโรป ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศอังกฤษ เยอรมนี และเดนมาร์ก

ในปี พ.ศ. 2430 ตั้งโรงเรียนทหารสราญรมย์ โดยรวมโรงเรียนคาเด็ตทหารมหาดเล็ก และโรงเรียนคาเด็ตทหารหน้าเข้าด้วยกัน ระยะแรกเรียก คาเด็ตสกุล ในปี พ.ศ. 2440 ได้นำโรงเรียนนายสิบ เข้ามาสมทบด้วยแล้วให้ชื่อใหม่ว่า โรงเรียนสอนวิชาทหารบก ปี พ.ศ. 2446 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนนายร้อยทหารบก พ.ศ. 2450 ได้แบ่งออกเป็นโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม ที่วังสราญรมย์และโรงเรียนนายร้อยมัธยม อยู่ที่ถนนราชดำเนิน ซึ่งได้มีพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2452 และได้เปลี่ยนมาเป็น โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับพลทหาร ก็ได้มีหลักสูตรสำหรับพลทหาร เรียกว่า หลักสูตรพลทหาร รศ. 124 (พ.ศ. 2448) เพื่อฝึกกำลังพลให้ทำหน้าที่ทหารได้อย่างจริงจัง ทั้งร่างกายและจิตใจ

ด้านการศึกษาของทหารเรือ ในปี พ.ศ. 2441 ได้รับพระบรมราชานุญาติให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้น 4 โรงเรียนคือ โรงเรียนนายสิบ โรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายช่างกล โรงเรียนนายเรือ ได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2449 ที่พระราชวังเดิม
หลังจากปี พ.ศ. 2449 นายทหารเรือไทย ที่สำเร็จการศึกษาแผนใหม่จากโรงเรียนนายเรือ ก็สามารถ เข้าปฏิบัติหน้าที่แทนชาวต่างประเทศได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้การฝึกศึกษาของกำลังพล ที่ทำหน้าที่นายทหารชั้นประทวนและพลทหาร ก็ได้ดำเนินการมาโดยลำดับ

ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์

เนื่องจากประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตอาวุธสมัยใหม่ มาใช้ในกองทัพได้ จึงต้องจัดซื้อมาจากต่างประเทศซึ่งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการบริหารจัดการในเรื่องนี้มาโดยลำดับ แต่ก็ยังอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนมาก แม้แต่ในยามปกติที่ใช้ในการฝึกก็ยังขาดแคลน
การต่อเรือและอู่ต่อเรือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2431 ประเทศไทยเริ่มใช้เรือรบเหล็ก ดังที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ได้มีการสั่งซื้อเรือรบเหล็กจากประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป ได้จัดสร้างอู่หลวงขนาดใหญ่ที่โรงหล่อ เป็นอย่างแบบอู่ไม้ เปิดใช้การเมื่อปี พ.ศ. 2443 ต่อมาได้ขยายเป็นอู่คอนกรีต สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2449 มีขนาดยาว 90 เมตร กว้าง 1.20 เมตร สิ้นค่าก่อสร้าง 500,000 บาท ทำให้ซ่อมเรือขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ได้มีการขยายโรงงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น โรงงานดัดเหล็ก โรงต่อเรือ และโรงช่างไม้ เป็นต้น
อาวุธสำคัญของกองทัพเรือ ในสมัยที่ใช้เรือใบและเรือกลไฟนั้น อาวุธปืนใหญ่ที่ใช้ในเรือเป็นปืนใหญ่ บรรจุกระสุนทางปากกระบอกปืน รวมทั้งปืนใหญ่ประจำป้อมต่าง ๆ ด้วย ในปี พ.ศ. 2435 กองทัพเรือ จึงเริ่ม ใช้ปืนใหญ่ชนิดบรรจุลูกกระสุนทางท้ายลำกล้อง ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2441 เป็นต้นมา ทางราชการทหารเรือ ได้สั่งซื้อปืนยิงเร็วอาร์มสตรอง ขนาด 4.7 นิ้ว (120 มม.) และปืนยิงเร็วฮอทซกีส ขนาด 6 ปอนด์ (57 มม.) ขนาด 3 ปอนด์ (47 มม.) และขนาด 1 ปอนด์ (37 มม.) มาใช้ในราชการ โดยติดตั้งบนเรือรบหลายลำ นอกจากอาวุธปืนแล้ว ยังมีทุ่นระเบิดใต้น้ำ ที่บังคับการยิงจากสถานีบนฝั่ง อาวุธชนิดนี้ได้ใช้ป้องกันปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อครั้งกรณี ร.ศ. 112 สำหรับอาวุธตอร์ปิโด ได้นำมาใช้เมื่อปี พ.ศ. 2451

การสร้างป้อมปราการ ได้มีการสร้างป้อมอย่างทันสมัยที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลแหลมฟ้าฝ่า เสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2436 คือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า มีปืนประจำป้อมเป็นปืนใหญ่อาร์มสตรอง ขนาด 6 นิ้ว จำนวน 7 กระบอก เป็นปืนหลุมยกขึ้นด้วยแรงน้ำมัน ป้อมนี้เสร็จทันใช้ทำการรบกับฝรั่งเศษ ที่ปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อปี ร.ศ. 112 ป้องกันเอกราชและอธิปไตยของราชอาณาจักรไทยไว้ได้ นับเป็นเกียรติประวัติครั้งสำคัญของป้อมนี้

ภารกิจของกองทัพเรือในยามสงบ มีการยิงปืนเที่ยง ซึ่งเดิมเป็นหน้าที่ของทหารบก ครั้งแรกยิงที่เรือพระที่นั่งมหาจักรี ต่อมายิงที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ และหลังสุดยิงที่สนามหญ้าท่าราชวรดิษฐ์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พวกจีนและพวกญวน ได้ใช้เรือใบเป็นพาหนะ ปล้นสะดมเรือพาณิชย์ในทะเล จึงได้จัดให้มีสถานีทหารเรือขึ้นตามชายฝั่ง เมื่อปี พ.ศ. 2427 เพื่อทำการลาดตระเวณป้องกันโจรสลัดในน่านน้ำไทย