ไทยกับสงครามมหาเอเซียบูรพา


การประกาศสงคราม
เมื่อได้ลงนามในกติกาสัญญาพันธไมตรีกับญี่ปุ่นแล้ว คณะรัฐมนตรีก็ได้มอบหมายให้ นายเดือน บุนนาค ร่างคำประกาศสงครามพร้อมด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยชนชาติศัตรู และได้ตั้งคณะกรรมาธิการประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร นายวิจิตร วิจิตรวาทการ (หลวงวิจิตรวาทการ) และนายเดือน บุนนาค นำไปตรวจแก้ เตรียมการต่าง ๆ ไว้เรียบร้อย แต่ยังไม่ดำเนินการประกาศสงคราม

สรุปเหตุผลที่รัฐบาลไทยต้องประกาศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา พอประมวลได้ดังนี้
1. กองทัพญี่ปุ่นเปลี่ยนท่าทีจากเดิมที่ขอเดินทัพผ่านประเทศไทยเป็นลักษณะเข้ายึดครอง ได้เข้าควบคุมการเคลื่อนไหวทางทหาร และการคมนาคม
2. กองทัพญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงการบริหารของรัฐบาล ถึงกับเสนอขอเข้าฟังการประชุมของคณะรัฐมนตรี
๓. กองทัพญี่ปุ่นเตรียมเกณท์ยวดยานพาหนะ เครื่องอุปกรณ์ในการรบและแรงงาน
๔. กองทัพญี่ปุ่นห้ามการกระจายเสียง การโฆษณา ฉายภาพยนตร์ตลอดจนห้ามสอนภาษาอังกฤษ
๕. กองทัพญี่ปุ่นเริ่มพิมพ์ธนบัตรญี่ปุ่นขึ้นใช้ในประเทศไทย
6. กองทัพญี่ปุ่นเข้าสำรวจเตรียมยึดทรัพย์ของชนชาติอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฮอลันดา ตลอดจนสัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ ซึ่งต่อไปรัฐบาลไทยจะต้องชดใช้เป็นเงินจำนวนมหาศาล
7. กองทัพญี่ปุ่นให้ส่งมอบชนชาติอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฮอลันดา ในสถานที่กักกันของไทย ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาตร์ และการเมืองจำนวนหลายพันคน ไปเข้าค่ายเชลยญี่ปุ่นที่แม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี

การประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา เป็นความจำเป็นที่สุด และเป็นการช่วยตนเอง ให้พ้นจากความพินาศ เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ
อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่ได้ประกาศสงคราม จนกระทั้ง เมื่อกลางคืนของวันที่ 24 มกราคม 2485 พระนครถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ลูกระเบิดถูกมุขด้านเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคมพังลงมา เป็นการทิ้งระเบิดครั้งแรก พอวันรุ่งขึ้น 25 มกราคม 2485 ไทยก็ได้ประกาศสงคราม
การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา มีสาระดังนี้
"โดยที่ฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้กระทำการรุกรานประเทศไทยมาเป็นลำดับ โดยส่งทหารรุกล้ำเขตแดนเข้ามาบ้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ส่งเครื่องบินลอบเข้ามา ทิ้งระเบิดบ้านเรือนของราษฎร ผู้ประกอบการหาเลี้ยงชีพอย่างปกติ ทั้งระดมยิงราษฎรสามัญ
ผู้ไร้อาวุธอย่างทารุณผิดวิสัยของอารยชน ไม่กระทำการอย่างเปิดเผยตามประเพณีนิยมระหว่างชาติ นับได้ว่าเป็นการละเมิดต่อกฏหมายระหว่างประเทศ และมนุษยธรรม ประเทศไทยไม่สามารถที่จะทนดูต่อไปได้อีก

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ได้มีสถานะสงคราม ระหว่างประเทศไทยฝ่ายหนึ่ง กับบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกาอีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่เวลาเที่ยงวัน วันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นต้นไป
ฉะนั้น จึงให้ประชาชนชาวไทยทุกเพศทุกวัย ร่วมมือร่วมใจกับรัฐบาล ปฎิบัติกิจการเพื่อให้ประเทศไทย ประสบชัยชนะถึงที่สุด และพ้นจากการรุกรานอันไม่เป็นธรรมของฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ด้วยกระทำการสนับสนุนกิจการของรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียง และปฎิบัติตามคำสั่งของราชการอย่างเคร่งครัด ทั้งให้ประกอบอาชีพตามปกติของตนอย่างเต็มที่ให้ได้ผล เพื่อนำมาช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนร่วมชาติ และพันธมิตรของชาติอย่างมากที่สุด

ส่วนผู้อาศัยอยู่ในประเทศนี้ที่มิได้เป็นคนไทย และมิได้เป็นชนชาติศัตรู ให้ตั้งตนอยู่ในความสงบ และดำเนินอาชีพอย่างปกติ และให้กระทำกิจการให้สมกับที่ตนได้รับยกย่องว่า เป็นมิตรของประเทศไทย"
รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการประกาศสงครามให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ในวันที่ 25 มกราคม 2485 มีใจความว่า

ตั้งแต่แรกอังกฤษได้แผ่จักรภพมาทางด้านตะวันออก ประเทศไทยได้รับการเบียดเบียนบีบคั้นมาโดยตลอด อังกฤษได้บั่นทอนดินแดน และแบ่งแยกเชื้อชาติไทยให้กระจัดกระจาย กระทำการทุกอย่างให้ไทยอ่อนแอทางการคลัง และเศรษกิจ ส่วนทางสหรัฐอเมริกาก็ดำเนินนโยบาย เช่นเดียวกับอังกฤษ ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีน สหรัฐอเมริกาได้ขัดขวาง การดำเนินการของไทยทุกประการ ตลอดจนริบเครื่องบินและอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ไทยสั่งซื้อ และชำระเงินให้เสร็จแล้ว

ครั้นเมื่อสงครามได้เกิดขึ้นในบูรพทิศ ประเทศไทยได้รู้สึกผูกพันในหน้าที่ ที่เป็นชาวเอเซีย จึงได้ร่วมเมือทำสัญญาพันธไมตรีกับญี่ปุ่น แต่ไทยก็มิได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และมิได้ทำการประทุษร้ายรุกรานทั้งสองประเทศดังกล่าวแต่ประการใด ตรงกันข้ามอังกฤษและอเมริกา ได้กระทำประทุษร้ายไทยอย่างรุนแรง ในระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม ถึง 20 มกราคม ไทยได้ถูกโจมตีทางอากาศ 30 ครั้ง และโจมตีทางบกถึง 36 ครั้ง จังหวัดที่ถูกโจมตีมีจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี นครสวรรค์ พระนครและธนบุรี ประจวนคีรีขันธ์ ชุมพร สงขลา และยะลา ในบรรดานักบินที่จับได้ ก็มีนักบินที่เป็นคนชาติอเมริกันอยู่ด้วย การโจมตีทางอากาศก็มิได้ทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ คือมิได้โจมตีที่สำคัญทางทหาร แต่กลับโจมตีบ้านเรือนราษฎร และใช้ปืนกลยิงผู้คนพลเมืองอย่างปราศจากศีลธรรม ครั้นเมื่อคืนวันที่ 24 มกราคม เครื่องบินอังกฤษไก้มาโจมตีพระนครอีก
พฤติกรรมทั้งนี้ย่อมตกอยู่ในวิสัยอันไม่สามารถจะทนดูต่อไปได้ จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศสถานะสงครามระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกาในวันนี้ ตั้งแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป
การดำเนินการของฝ่ายสัมพันธมิตร

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2485 เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงลอนดอน ได้ปรารภกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ควรประกาศสงครามกับไทย เพราะจีนเชื่อว่าไทยถูกญี่ปุ่นบีบบังคับ การประกาศสงครามกับไทยเท่ากับเป็นการผลักดันให้ไทยเข้าข้างญี่ปุ่น แต่เมื่ออังกฤษได้ทราบการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการของไทยจากรัฐบาลสวิส อังกฤษจึงได้ประกาศสงครามกับไทยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2485 โดยให้ถือว่ามีสงครามกับไทย ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2485 และได้โทรเลขถึงข้าหลวงใหญ่อังกฤษ ประจำประเทศ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอัฟริกาใต้ แสดงความหวังว่า ประเทศในเครือจักรภพ จะได้ดำเนินการอย่างเดียวกัน

รัฐบาลแคนาดาไม่ได้ประกาศสงครามกับไทย แต่ถือว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะสงครามทางเศรษฐกิจ ทำนองเดียวกันกับประเทศบัลกาเรีย
รัฐบาลออสเตรเลียประกาศสถานะสงครามกับไทย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2485
รัฐบาลอัฟริกาใต้ประกาศสงครามกับไทย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2485 โดยถือว่ามีสถานะสงครามกับไทยตั้งแต่ วันที่ 25 มกราคม 2485
รัฐบาลนิวซีแลนด์ ประกาศสถานะสงครามกับไทย เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2485 โดยถือว่าสถานะสงครามกับไทยตั้งแต่ 25 มกราคม 2485
รัฐบาลไทยประกาศไม่รับรู้ประกาศทั้งสามคือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอัฟริกาใต้ เนื่องจากไม่มีเหตุอย่างใด ที่ก่อให้เกิดสถานะสงครามระหว่างกัน
สำหรับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แสดงท่าทีไม่รับรู้การประกาศสงครามของไทย โดยมิได้ประกาศสงครามตอบ และยังคงถือว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง เว้นเสียแต่ในกรณีที่กำลังทหารไทย จะเข้าร่วมในการปฏิบัติการทางทหารของญี่ปุ่นต่อกองกำลังของสหรัฐ ฯ รัฐบาลสหรัฐ ฯ จึงจะปฏิบัติต่อกำลังทหารไทยเสมือนหนึ่งศัตรู นโยบายเกี่ยวกับประเทศไทยของสหรัฐ ฯ กับอังกฤษจึงเริ่มแตกต่างกันตั้งแต่นั้นมา
การดำเนินสงคราม

ในการปฏิบัติตามสัญญาร่วมยุทธกับญี่ปุ่นตามที่กล่าวมาแล้วนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคน มีความเห็นพ้องต้องกันว่าญี่ปุ่นไม่สามารถจะชนะสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร อันมีสหรัฐฯ อังกฤษ จีน และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งขณะนั้นได้ตั้งวงล้อมญี่ปุ่นไว้อย่างหนาแน่น ดังนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมีแนวความคิดทางยุทธศาตร์ที่จะสงวนกำลังกองทัพไทยไว้ ไม่ให้ญี่ปุ่นปลดอาวุธและเข้ายึดครองประเทศไทยไว้ได้ เมื่อญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำแล้วค่อยใช้กำลังที่สงวนไว้นี้ทำการขับไล่ กองทัพญี่ปุ่นออกไปจากดินแดนไทย

จากแนวความคิดดังกล่าวจึงได้แยกกำลังกองทัพบก ให้อยู่ห่างออกไปจากเส้นทางเดินทัพของญี่ปุ่น โดยการโยกย้ายกำลังทางบกส่วนใหญ่ ไปไว้ทางพื้นที่ด้านเหนือของประเทศ เพื่อมิให้กองทัพญี่ปุ่นจู่โจมเข้าปลดอาวุธ เช่นเดียวกับกำลังทหารของอินโดจีนฝรั่งเศส

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นขอร้องให้รัฐบาลไทย ส่งทหารไปร่วมรบกับทหารญี่ปุ่นในประเทศพม่า โดยแบ่งมอบพื้นที่รับผิดชอบให้ฝ่ายไทย ส่งกำลังเข้ายึดพื้นที่รัฐฉานของพม่า เพื่อป้องกันปีกขวาของกองทัพญี่ปุ่นที่มุ่งเข้าสู่พม่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยินยอมตามข้อเสนอของญี่ปุ่น เพราะเป็นการสอดคล้องกับแนวความคิดของไทยที่จะนำกำลังทหารส่วนใหญ่ไปปฏิบัติการ ทางภาคภาคเหนือของประเทศ และยังทำให้สามารถติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรผ่านทางประเทศจีน ดังนั้น กองบัญชาการทหารสูงสุด จึงได้จัดตั้งกองทัพพายัพขึ้น เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2484 และมอบภารกิจให้เข้าไปปฏิบัติการในดินแดนสหรัฐไทยเดิมซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของไทย
การปฏิบัติการของกองทัพพายัพ

เมื่อเปิดฉากการสงครามในระยะแรก กองทัพญี่ปุ่นได้ชัยชนะอย่างรวดเร็ว อังกฤษจำเป็นต้องถอนกำลังออกไปจากพม่า และได้มอบภารกิจในการต้านทานกองทัพญี่ปุ่นในสหรัฐไทยเดิม ให้กับกองทัพจีนซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตร และเป็นประเทศคู่สงครามกับญี่ปุ่นมาก่อน กองทัพดังกล่าวเป็นกองทัพจีนฝ่าย ก๊กมินตั๋งภายใต้การบังคับบัญชาของ จอมพล เจียงไคเช็ค โดยมอบให้ กองพลที่ 93 เป็นหน่วยรับผิดชอบ ดังนั้น การรบในพื้นที่สหรัฐไทยเดิมในสงครามาหาเอเซียบูรพา จึงเป็นการรบระหว่างกองทัพพายัพของไทย กับกองพลที่ 93 ของจีนฝ่ายก๊กมินตั๋งโดยตรง

กองทัพฝ่ายจีนก๊กมินตั๋ง ที่รับผิดชอบในสหรัฐไทยเดิม คือกำลังของกองทัพที่ 6 ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ เมืองตองยี (Taunggyi) เมืองหลวงของสหรัฐไทยเดิม ประกอบด้วยกำลังรบ ๓ กองพลใหญ่ คือ

กองพลที่ 49 ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองพาน
กองพลที่ 55 ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองลอยก่อ
กองพลที่ 93 ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองเชียงตุง
กองพลที่ 49 และกองพลที่ 55 ได้ถอนตัวไปรักษาพื้นที่มณฑลยูนนานของจีน จึงเหลือเพียงกองพลที่ 93 อยู่รักษาพื้นที่ในสหรัฐไทยเดิม

กองพลที่ 93 ได้เคลื่อนที่จากเมืองเชียงรุ้ง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2484 ตามเส้นทางเมืองเชียงรุ้ง - เมืองลอง - เมืองยู้ - เมืองยอง ถึงเมืองยองเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2484 และได้ไปตั้งกองบัญชาการที่เมืองเชียงตุง
การจัดตั้งกองทัพพายัพ

กองทัพพายัพจัดตั้งขึ้นโดยการสนธิกำลังจากหน่วยต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีพลตรี จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เป็นแม่ทัพ ประกอบด้วย ๓ กองพลทหารราบ 1 กองพลทหารม้า 1 กรมทหารม้าอิสระ มีหน่วยขึ้นตรงสมทบ คือ 1 กองพลทหารราบ 2 กองพันปืนใหญ่ และ ๔ กองพันทหารช่าง กองทัพอากาศได้จัดบรรจุมอบกองบินน้อย ให้ขึ้นตรงกองทัพพายัพ นอกจากนี้กองบัญชาการทหารสูงสุด ยังได้จัดตั้งกองตำรวจสนามขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในด้านการปกครอง และรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ยึดครอง

กองทัพพายัพได้เคลื่อนที่เข้าสู่ดินแดนสหรัฐไทยเดิม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2485 ได้ปฎิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบสำเร็จลุล่วงไปตามลำดับ ด้วยความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากภูมิประเทศเป็นที่ทุรกันดาร ขาดเส้นทางคมนาคม และเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ
กองทัพพายัพได้เคลื่อนที่เข้าประชิดชายแดนพม่า - จีน ตั้งแต่เหนือสุดตามแนวทิศเหนือ และทิศตะวันออกของเมือง ป๊อก เมืองแผน เมืองยาง เมืองมะ เมืองลา เมืองปัน เมืองวะ เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองแฮะ เมืองนัม เมืองฮุน และเมืองกันไว้ได้โดยตลอด เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2485 หลังจากนั้น กองทัพพายับก็เริ่มถอนกำลังบางส่วน จากสหรัฐไทยเดิมกลับเข้าสู่ประเทศไทย รวมระยะเวลาที่กองทัพพายัพเข้าปฎิบัติการในพื้นที่สหรัฐไทยเดิม 8 เดือน 6 วัน
การปกครองสหรัฐไทยเดิม

เมื่อกองทัพพายัพยึดดินแดนสหรัฐไทยเดิมไว้ได้แล้ว กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้จัดรูปการปกครองสหรัฐไทยเดิม โดยมอบอำนาจการปกครองดินแดนให้กับกองทัพพายัพ ให้ปฏิบัติต่อราษฎรในสหรัฐไทยเดิมด้วยความยุติธรรม โดยถือว่าราษฎรเหล่านั้น เป็นคนเชื้อชาติเดียวกับชาวไทย ได้แต่งตั้งให้ พลตรี ผิน ชุณหะวัณ รองแม่ทัพกองทัพพายัพ เป็นข้าหลวงทหาร ประจำรัฐไทยใหญ่ ขึ้นตรงต่อแม่ทัพกองทัพพายัพ แม่ทัพบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตามลำดับ

ได้แบ่งเขตการปกครองดินแดนสหรัฐไทยเดิม และจัดตั้งศาลยุติธรรมในท้องถิ่นต่างๆ โดยตั้งศาลากลางสหรัฐไทยเดิมขึ้นที่เมืองเชียงตุง แบ่งท้องที่การปกครองออกเป็น 12 อำเภอ คือ อำเภอเมืองเชียงตุง อำเภอเมืองยอง อำเภอเมืองพยาค อำเภอเมืองยู้ อำเภอเมืองชิง อำเภอเมืองมะ อำเภอเมืองยาง อำเภอเมืองขาก อำเภอเมืองเลน อำเภอเมืองโก อำเภอเมืองสาด และอำเภอเมืองหาง พร้อมทั้งได้ตั้งศาลขึ้น ๓ แห่ง ที่เมืองเชียงตุง เมืองสาด และเมืองหาง
มีอำนาจในการพิจารณาอรรถคดีเช่นเดียวกับศาลจังหวัด ในราชอาณาจักรไทย เว้นแต่คำพิพากษาของศาลดังกล่าวถือเป็นเด็ดขาด ไม่มีการอุทธรณ์ หรือ ฎีกา