กรณีพิพาท ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ.๑๑๒

กรณีพิพาท ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ.๑๑๒
เหตุการณ์ก่อน ร.ศ.๑๑๒

1 สิบสองพันนา
2 เชียงรุ้ง
3 จีน
4 สิบสองจุไท
5 แถง
6 ตังเกี๋ย
7 จีน
8 อ่าวตังเกี๋ย
9 เกาะไหหลำ
10 หัวพันทั้งห้าทั้งหก
11 วิญ
12 คำโล
13 เว้ 14 เขมราฐ
15 จำปาศักดิ์
16 โขง (สีทันดร)
17 สตึงเตรง (เชียงแตง)
18 ไซ่ง่อน
19 เขมร
20 พนมเปญ
21 เสม็ดนอก
22 แนวปิดอ่าว
23 แนวปิดอ่าว
24 เวียงจันทน์
25 เชียงขวาง
26 หลวงพระบาง

ลาวและเขมรเคยเป็นประเทศราชของไทย
ประเทศลาวและเขมรเคยเป็นประเทศราชของไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาตลอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ บางคราวในห้วงเวลาดังกล่าวเมื่อไทยอ่อนแอ พม่าซึ่งเป็นประเทศข้างเคียงทางทิศตะวันตกและญวนทางทิศตะวันออก มีกำลังและอำนาจมากขึ้น ลาวก็จะยอมตกไปอยู่ในอำนาจของพม่าบ้าง และของญวนบ้างตามสภาวะแวดล้อม ส่วนเขมรนั้นบางคราวก็ได้อาศัยกำลังหนุนจากญวน และตกอยู่ใต้อิทธิพลของญวน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ ฝรั่งเศสได้ส่งเมอซิเออร์ เดอมองติญี (Monsieur de Montigny) เป็นราชฑูตเข้ามาเจรจาทำสัญญาทางพระราชไมตรี และการค้ากับไทย โดยยึดถือแนวทางการทำสัญญาเช่นเดียวกับอังกฤษ ที่ได้ทำไว้กับไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ได้เริ่มมีกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ กงสุลฝรั่งเศสคนแรกคือ คองต์ เดอ คาสเตลโน (Conte de Castenau)

ในปี พ.ศ.๒๔๑๐ ไทยได้ส่งพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ไปทำสัญญากับฝรั่งเศสเรื่องเมืองเขมรกับฝรั่งเศสที่กรุงปารีส ตามสัญญาฉบับนี้ไทยยอมรับรู้ว่าเขมรอยู่ใต้ความคุ้มครองของฝรั่งเศส ส่วนเมืองพระตะบองและเสียมราฐนั้น ฝรั่งเศสยอมให้ไทยปกครองตามเดิม ต่อมาไทยกับฝรั่งเศสเริ่มแบ่งเขตแดนไทยกับเขมรบริเวณทะเลสาบกับแม่น้ำโขง ฝ่ายไทยต้องการเมืองจงกัล เมืองโซเตียน เมืองมโนไพร และเมืองท่าราชปริวัตรเป็นของไทย

ในปี พ.ศ.๒๔๑๓ ไทยได้ส่งพระยาราชวรากูล (บุญรอด กัลยาณมิตร) ไปเจรจากับฝรั่งเศสที่ไซ่ง่อน เกี่ยวกับปัญหาเขตแดนและการภาษีจับปลาในทะเลสาบ การเจรจาปัญหาเขตแดนไม่คืบหน้านัก เนื่องจากฝรั่งเศสเริ่มทำสงครามกับเยอรมนี

ในปี พ.ศ.๒๔๒๘ ไทยยกกำลังไปปราบฮ่อ โดยมีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพ ฝรั่งเศสได้กล่าวหาไทยว่าถือโอกาสรุกล้ำเข้าไปในดินแดนลาว ซึ่งอยู่ในอำนาจของญวน ซึ่งฝรั่งเศสกำลังจัดการปกครองเมืองญวนอยู่ ต่อมาไทยกับฝรั่งเศสได้ตกลงทำอนุสัญญาเมืองหลวงพระบาง โดยมี ม.ปาวี (Auguste Pavie) เป็นไวซ์กงสุล (Viee Consul) ประจำเมืองหลวงพระบาง เพื่อทำหน้าที่ดูแลความเคลื่อนไหวของไทยในดินแดนลาว และสำรวจการสร้างทางระหว่างตังเกี๋ยกับแม่น้ำโขง

ในปี พ.ศ.๒๔๓๐ ไทยกับฝรั่งเศสได้เจรจาเรื่องปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับญวน โดยตั้งกรรมการผสม โดยมี ม.ปาวี เป็นหัวหน้าคณะ ออกทำการสำรวจแผนที่และภูมิประเทศชายแดน และในปีต่อมาไทยกับฝรั่งเศสได้ตกลงกันว่า กองทหารไทยจะไม่เข้าไปในแคว้นสิบสองจุไทย ส่วนในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก และแคว้นพวน คงให้อยู่ในสถานะเดิมคือ ทหารฝ่ายใดตั้งอยู่ที่ใดก็ให้คงอยู่อย่างนั้น ห้ามรุกล้ำเขตซึ่งกันและกัน จนกว่าจะได้ทำความตกลงกันที่กรุงเทพ ฯ ส่วนทางด้านคำเกิด คำม่วน กองทหารไทยยกไปตั้งจนถึงเขตแดนญวน ม.ปาวี ก็ได้ทำความตกลงกับข้าหลวงเมืองหนองคาย ให้ต่างฝ่ายต่างรักษาสถานะเดิม คือให้ฝ่ายไทยอยู่ที่คำม่วน ฝรั่งเศสอยู่บ้านนาเป

ในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ม.ปาวี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นไวซ์กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ และได้เลื่อนฐานะเป็นราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๕

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๕ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสชื่อ ม.เดอลองดล์ ได้เสนอต่อรัฐสภาฝรั่งเศสให้รัฐบาลฝรั่งเศสใช้กำลังกับไทยในปัญหาดินแดน ซึ่งเคยเป็นของญวนและเขมร รัฐสภาฝรั่งเศสเห็นชอบ และให้รับดำเนินการต่อไป จากนั้นฝรั่งเศสได้ยกกำลังทหารเข้ามาประชิดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และส่งเรือปืนลูแตงเข้ามายังกรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการใช้กำลัง ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ใน ร.ศ.๑๑๒

การปราบฮ่อของไทย ระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๘ - ๒๔๓๑
พวกฮ่อคือพวกจีนที่ร่วมกับการกบฏไต้เผง (Taiping Rebellion) ที่มุ่งหมายจะให้จีนพ้นจากอำนาจของพวกแมนจู จนเกิดการรบพุ่งกันเป็นการใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๕ พวกไต้เผงแพ้ต้องหลบหนีไปซุ่มซ่อนตัวตามป่าเขาในมณฑลต่าง ๆ ของจีน ในมณฑล ยูนาน ฮกเกี้ยน กวางไส กวางตุ้ง เสฉวน และส่วนหนึ่งหนีมายังตังเกี๋ย ทางตั้งเกี๋ยจึงดำเนินการปราบปรามทำให้พวกฮ่อต้องหนีไปอยู่ที่เมืองซันเทียน ซึ่งตั้งอยู่ชายแดนสิบสองจุไท เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ และได้ประพฤติตนเป็นโจรเที่ยวปล้นบ้านเมืองในดินแดนสิบสองจุไท และเมืองพวน

ฝ่ายไทยเริ่มทำการปราบฮ่อในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะถือว่าพวกฮ่อเข้ามาก่อการกำเริบในราชอาณาจักรไทย

ในปี พ.ศ.๒๔๑๖ พวกฮ่อได้ยกกำลังมาตีจนถึงเมืองพวน เจ้าเมืองเชียงขวางได้ไปขอกำลังจากญวนมาช่วยแต่แพ้ฮ่อ ฮ่อยึดได้เมืองเชียงขวาง และได้ตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ทุ่งเชียงคำ และเตรียมการเข้าตีเมืองหลวงพระบาง และเมืองหนองคาย ต่อไป

ในปี พ.ศ.๒๔๑๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดส่งกองทัพจากกรุงเทพ ฯ ไปปราบฮ่อ ซึ่งได้ยกกำลังล่วงล้ำเข้ามาจนถึงเมืองเวียงจันทน์ การปราบปรามฮ่อของไทยดำเนินการอยู่จนถึงปี พ.ศ.๒๔๒๘ จึงได้ถอนกำลังจากทุ่งเชียงคำ กลับมายังเมืองหนองคาย เนื่องจากขาดเสบียงอาหาร และแม่ทัพคือ พระยาราชวรากูลถูกฮ่อยิงบาดเจ็บ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมทหารที่ได้รับการฝึกหัดตามแบบยุโรปขึ้นไปปราบฮ่อ โดยจัดเป็นสองกองทัพคือ กองทัพฝ่ายใต้ และกองทัพฝ่ายเหนือ

กองทัพฝ่ายใต้ มีนายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพ ยกไปปราบฮ่อในแคว้นเมืองพวน ยกกำลังออกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๘ ใช้เวลาเดินทางสามเดือนถึงเมืองหนองคาย และได้ตั้งกองบัญชาการกองทัพอยู่ที่เมืองหนองคาย แล้วให้พระอมรวิไสยสรเดช (โต บุนนาค) ยกทัพหน้าไปตีค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ พวกฮ่อได้หนีไปในเขตญวน กองทัพไทยจึงรื้อค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำเสีย

กองทัพฝ่ายเหนือ มีนายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสงชูโต) เป็นแม่ทัพ ยกไปปราบฮ่อในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก ยกกำลังออกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๘ ไปชุมนุมทัพที่เมืองพิชัย แล้วเดินทัพต่อไปยังเมืองน่าน แล้วยกกำลังไปถึงเมืองหลวงพระบาง เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๒๘ จากนั้นได้เคลื่อนกำลังเข้าสู่แคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก เมื่อปราบฮ่อในแคว้นนี้ได้แล้วจึงได้ยกกำลังไปปราบฮ่อในแคว้นสิบสองจุไท เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๙ สามารถปราบฮ่อได้ราบคาบ แล้วจึงยกกำลังกลับถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๐

ต่อมาพวกฮ่อได้รุกจากสิบสองจุไท ลงมาตีเมืองหลวงพระบางได้ เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ นายพลตรีพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เป็นแม่ทัพยกกำลังไปปราบฮ่ออีกครั้งหนึ่ง โดยให้ทัพหน้าออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๐ ในการปราบฮ่อครั้งนี้ ทางรัฐบาลฝรั่งเศสตกลงว่าจะทำการปราบ ในเขตแดนของฝรั่งเศสด้วย กองทัพไทยยกกำลังไปถึงเมืองหลวงพระบางเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๐

ฝรั่งเศสได้ยกกองทัพจากเมืองเลากายมาตีเมืองไล เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๐ เมื่อตีเมืองไลได้แล้วก็เคลื่อนกำลังไปยังเมืองแถง จากนั้นได้ยกกำลังติดตามฮ่อไปทางเมืองม่วย เมืองลา
ฝ่ายไทยเห็นพฤติกรรมของฝรั่งเศสดังกล่าว ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้ฝรั้งเศสเข้ายึดดินแดนที่ถือว่าเป็นของไทย หลวงดัษกรปลาส แม่ทัพหน้าของไทย และนายทหารอื่น ๆ จึงได้คุมกำลังไปรักษาเมืองแถง เมืองซ่อน เมืองแวน เมืองสบแอด และเมืองเชียงค้อเอาไว้ ส่วนกองทัพใหญ่ของไทยคงตั้งมั่นอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง เป็นเวลา ๘ เดือน เป็นการคุมเชิงกันระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพฝรั่งเศส

ต่อมาองบา หัวหน้าฮ่อที่จงรักภักดีต่อไทย ได้ถึงแก่กรรม พวกฮ่อได้แตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า และได้ไปเข้าเป็นพวกกับฝรั่งเศสมากขึ้น กองทัพฝรั่งเศสจึงได้รุกเข้ามาในสิบสองจุไท มาประจัญหน้ากับกำลังทหารไทยที่ตั้งรักษาเมืองแถง นายพลตรี พระยาสุรศักดิ์มนตรี จึงยกกองทัพใหญ่จากหลวงพระบาง เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๑ ไปถึงเมืองแถงเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๑ ม.ปาวีได้เข้าพบแม่ทัพไทย แถลงว่าสิบสองจุไท และหัวพันทั้งห้าทั้งหก เป็นเมืองขึ้นของญวน ขอให้ทัพไทยถอยออกไปให้พ้นเขต แต่แม่ทัพไทยได้ยืนยันสิทธิและอำนาจของไทย เหนือดินแดนดังกล่าว และปฏิเสธไม่ยอมถอนทหาร จนกว่าจะได้รับคำสั่งจากรัฐบาล

ในที่สุด ผู้บังคับการทหารฝรั่งเศสในแคว้นสิบสองปันนาคือ นายพันตรี เปนเนอแกง ได้ทำสัญญากับพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๑ มีความดังนี้
๑. ในระหว่างที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ข้อตกลงกัน ทหารฝรั่งเศสจะตั้งอยู่ในสิบสองจุไท ทหารไทยจะตั้งอยู่ในหัวพันทั้งห้าทั้งหก และเมืองพวน ต่างฝ่ายต่างจะไม่ล่วงเข้าไปในเขตซึ่งกันและกัน
๒. ที่เมืองแถงนั้นทหารไทยและทหารฝรั่งเศส จะตั้งรักษาอยู่ด้วยกันจนกว่ารัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน
๓. ไทยและฝรั่งเศสจะช่วยกันปราบฮ่อที่เป็นโจรผู้ร้ายอยู่ตามเขตแดนของตนให้สงบราบคาบ
พระยาสุรศักดิ์มนตรีได้ถอยทัพใหญ่มาอยู่ที่หลวงพระบาง ฝ่ายฝรั่งเศสพยายามจะให้ทหารไทยที่เมืองแถงถอยลงมา แต่แม่ทัพไทยปฏิเสธเด็ดขาด และแจ้งว่าพร้อมที่จะรบ ทำให้ฝรั่งเศสต้องสงบอยู่ ทางกรุงเทพ ฯ เมื่อเห็นเหตุการณ์สงบลงแล้วจึงให้กองทัพกลับจากหลวงพระบาง เจ้าเมืองหลวงพระบาง ได้ร้องทุกข์ว่ากลัวพวกฮ่อและฝรั่งเศสจะมารบกวนอีก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระพลัษฎานุรักษ์เป็นข้าหลวงบังคับการฝ่ายทหารอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง กับให้หลวงดัษกรปลาสอยู่ช่วยราชการด้วย กองทัพไทยได้ยกกำลังออกจากหลวงพระบาง เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๑ เดินทางกลับกรุงเทพ ฯ

ในการปราบฮ่อครั้งนี้ ไทยได้ให้มิสเตอร์ แมคคาร์ธี ชาวอังกฤษ ซึ่งต่อมาได้รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็นพระวิภาคภูวดล ทำแผนที่ชายแดนทางภาคเหนือ จนถึงสิบสองจุไท แต่ยังไม่ได้ปักปันเขตแดน เพราะฝรั่งเศสหาว่าไทยรุกล้ำอาณาเขตของญวน ฝรั่งเศสมักส่งคนเข้ามาในเขตนี้อยู่เสมอ เช่น เข้ามาค้าขายบ้าง มาระเบิดแก่ลี่ผีในแม่น้ำโขงบ้าง มาบังคับให้ข้าหลวงไทยที่รักษาเมืองหน้าด่านให้ทำถนนบ้าง แต่ไทยพยายามจัดการให้ฝรั่งเศสกลับออกไปทุกครั้ง

ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมหัวเมืองฝ่ายเหนือ และจัดแบ่งออกเป็นภาค ๆ เพื่อสดวกในการปกครอง โดยมีข้าหลวงไปประจำรักษาเป็นภาค ๆ ดังนี้

ภาคลาวกาว มีเมืองอุบล เมืองจัมปาศักดิ์ เมืองเชียงแตง เมืองแสนปาง เมืองสีทันดร เมืองอัตบือ เมืองสาลวัน เมืองคำทองใหญ่ เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดม เมืองศรีษะเกษ เมืองยโสธร เมืองเขมราฐ เมืองกมลาศัย เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง เมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม รวมเมืองใหญ่ ๒๑ เมือง เมืองขึ้นอีก ๔๓ เมือง มีกรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่

ภาคลาวพวน มีเมืองหนองคาย เมืองเชียงขวาง เมืองบริคัณหนิคม เมืองโพนพิสัย เมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร เมืองขอนแก่น เมืองหล่มศักดิ์ รวมเมืองใหญ่ ๑๑ เมือง เมืองขึ้นอีก ๓๖ เมือง มีกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่

ภาคลาวเฉียง มีเมืองเชียงใหม่ เมืองลำปาง เมืองลำพูน เมืองน่าน เมืองแพร่ เมืองเถิน เมืองเชียงราย และเมืองขึ้นของหัวเมืองเหล่านั้น มีพระยาไกรโกษา เป็นข้าหลวงใหญ่

ภาคลาวพุงขาว มีเมืองหลวงพระบาง สิบสองปันนา สิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าทั้งหก ซึ่งเป็นหัวเมืองขึ้นในพระราชอาณาเขต มีกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงใหญ่ และได้ให้พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ศุข) รักษาราชการแทน

สำหรับหัวเมืองในแคว้นสิบสองจุไท และหัวพันทั้งห้าทั้งหก บางคราวหัวเมืองดังกล่าวก็อยู่ใต้อิทธิพลของญวน เรียกว่า เมืองสองฝ่ายฟ้า คือขึ้นกับทั้งสองฝ่าย คือ ขึ้นกับหลวงพระบางด้วย และขึ้นกับญวนด้วยในเวลาเดียวกัน ส่วนเมืองที่อยู่ใกล้กับจีนก็จำต้องขึ้นกับจีนด้วย เรียกว่า เมืองสามฝ่ายฟ้า
ประมวลข้อมูลจากสื่อมวลชนของฝรั่งเศสและอังกฤษ

หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ได้ให้ความเห็นเรื่องไทยกับฝรั่งเศสพิพาทกันด้วยเรื่องเขตแดน เป็นทำนองส่งเสริมรัฐบาลฝรั่งเศสว่า ควรให้แม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับดินแดนของฝรั่งเศสในอินโดจีน ดินแดนลาวที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเคยเป็นของญวนและเขมร เพิ่งตกมาเป็นของไทยเป็นเวลาไม่นานนัก ควรแล้วที่จะให้ตกอยู่กับญวนและเขมรผู้เป็นเจ้าของเดิมอีก

หนังสือพิมพ์อังกฤษ ชื่อ เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๕ รายงานข่าวว่า ลอร์ด แลมมิงตัน ได้ถามรัฐมนตรีว่าการประเทศอินเดีย พม่า และมอญ ในที่ประชุมรัฐสภาอังกฤษที่กรุงลอนดอนว่า การแบ่งปันเขตแดนระหว่างประเทศไทย และเมืองเงี้ยวฝ่ายเหนือทั้งปวงที่ขึ้นแก่อังกฤษนั้น ได้ตกลงกันเสร็จแล้วหรือไม่ และการที่ปลัดกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสได้พูดในรัฐสภาฝรั่งเศสที่กรุงปารีสว่า รัฐบาลฝรั่งเศสเรียกร้องจะเอาลำน้ำโขงเป็นเส้นเขตแดน ระหว่างประเทศไทย กับประเทศญวนและตังเกี๋ย ซึ่งอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสนั้น รัฐมนตรีจะดำริเห็นประการใด ทางรัฐมนตรี ฯ ได้ตอบว่า อังกฤษได้สัญญาตกลงกับประเทศไทยแล้ว ในเรื่องการแบ่งปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยและหัวเมืองเงี้ยวฝ่ายเหนือ ข้าหลวงไทยและข้าหลวงอังกฤษ ได้ไปตรวจแดนต่อแดนพร้อมกัน เพื่อจะได้ปักหลักแบ่งอาณาเขตตามที่ได้ตกลงกันแล้ว

หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ของอังกฤษ ฉบับวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๕ ได้เสนอข่าวว่า กรณีพิพาทเรื่องเขตแดนฝั่งซ้ายของลำน้ำโขง ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยอมให้มหาประเทศที่เป็นกลางตัดสิน และทางฝรั่งเศสได้มีคำสั่งไปยังราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ ว่าให้แจ้งต่อรัฐบาลไทยให้ทราบว่า ไม่ยอมให้ผู้ใดล่วงล้ำเขามาย่ำยีเขตแดนฝั่งซ้ายลำน้ำโขงอีกต่อไป ถือว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นของฝรั่งเศสแล้ว และได้สั่งให้ราชฑูตจัดการให้สำเร็จจนได้

หนังสือพิมพ์อังกฤษ ชื่อ ฮ่องกงเดลีเพสส์ เสนอข่าวว่า ข้อพิพาทเรื่องดินแดนไทยกับฝรั่งเศสซึ่งยังโต้เถียงกันอยู่ ฝรั่งเศสแถลงว่า อาณาเขตตลอดฝั่งซ้ายลำน้ำโขงนั้น เป็นของญวน ซึ่งอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศสทั้งสิ้น ฝ่ายไทยก็แถลงว่า ลำน้ำโขงนั้นไม่ใช่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับญวน อาณาเขตของไทยอยู่เกินลำน้ำโขง เข้าไปจนถึงแนวภูเขาที่อยู่ทางทิศตะวันออกของลำน้ำโขง

เมื่อเป็นเช่นนี้ คงจะต้องเกิดสงคราม เพราะไทยคงจะไม่ยอมถอยออกไปจากเขตแดนที่เป็นข้อพิพาทเป็นแน่ คงจะต้องต่อสู้ป้องกันเขตแดนเหล่านี้ไว้จนถึงที่สุด อย่างไรก็ตามไม่เห็นฝรั่งเศสจัดการเข้ารักษาเขตแดนดังกล่าวแต่ประการใด และไม่เห็นมีหลักฐานที่สำคัญอันใดที่จะต้องเป็นองค์พยานว่า เขตแดนดังกล่าวนี้เป็นของญวน นอกจากหลักอาณาเขตที่หมายไว้ว่าเป็นของญวนในแผนที่ ซึ่งฝรั่งเศสทำเอาเองตามชอบใจ

ฝ่ายไทยกำลังตั้งด่าน และแผ่อำนาจในเขตแดนเหล่านี้อยู่ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำมานานแล้ว ต่อเมื่อมีการแย่งชิงเขตแดนกันไทยจึงเพิ่งค้นหลักฐานสำคัญ ที่จะใช้อ้างว่าเขตนั้น ๆ เป็นของไทย
ดินแดนตั้งแต่ฝั่งซ้ายลำน้ำโขงจนถึงแนวภูเขาซึ่งกันอาณาเขตญวนนั้น ที่จริงหาได้เป็นอาณาเขตของผู้ใดไม่ เมื่อไทยล่วงเข้าไปตั้งด่าน และตั้งโรงภาษี ฝรั่งเศสก็อยากจะทำบ้างให้เหมือนกัน โดยหาเหตุอ้างว่าเป็นเขตแดนของญวนมาแต่ก่อน

ดังนั้นจึงหวังว่า การเจรจาการเมืองกันโดยทางฑูตอาจระงับข้อพิพาทได้ ไม่อยากให้เกิดมูลสงครามขึ้นในทิศตะวันออกระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเลย

การดำเนินการของฝรั่งเศส
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสได้ นำปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเสนอต่อรัฐสภาฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๕ โดยกล่าวถึงกรณีที่ ม.มาสซี ถึงแก่กรรมที่เมืองจัมปาศักดิ์ และขอให้ถือเอามรณกรรมของ ม.มาสซี มาใช้ประโยชน์ต่อกรณีพิพาทดังกล่าว

ข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับจากรัฐสภาด้วยมติที่เกือบเป็นเอกฉันท์ รัฐสภาอนุมัติให้ดำเนินการโดยทันที เกี่ยวกับปัญหาเขตแดนไทย โดยมีเงื่อนไขว่า ให้รัฐบาลใช้วิธีการที่ดีที่สุด ที่จะทำการให้สำเร็จโดยเร็ว โดยเสียเงินและเลือดเนื้อน้อยที่สุด

เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว จึงได้มีคำสั่งไปยังผู้สำเร็จราชการอินโดจีน ให้ดำเนินการขับไล่ไทยไปให้พ้นเขตแดนที่กำลังพิพาทกันอยู่ ในการนี้ผู้สำเร็จราชการอินโดจีน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการทั่วไป ได้มีคำสั่งไปยัง ม.บรีแอร์ เรสิดงต์ สุเปริเออร์ ประจำญวนเหนือ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๕ มีใจความว่า รัฐบาลฝรั่งเศสได้ตกลงใจที่จะกำจัดการรุกล้ำเขตแดนที่ฝ่ายไทยกระทำอยู่ เห็นว่าการนี้คงจะกระทำได้โดยง่าย แต่เกรงว่าในขณะที่เรากำลังดำเนินการอยู่ ทางแม่น้ำโขงตอนล่าง ฝ่ายไทยคงจะหาทางก่อเหตุเป็นศัตรูแก่เราทางประเทศญวน จึงจำเป็นต้องเพิ่มกำลังตามชายแดนให้มีมากขึ้น ในกรณีที่ตกลงดำเนินการทุกแห่งพร้อมกัน จำเป็นที่กองทหารของเราจะต้องสามารถบังคับให้ฝ่ายไทยล่าถอยไปโดยไม่ต้องให้มีการรบ และจะต้องให้การปะทะที่รุนแรงมีน้อยที่สุด กับให้ผู้บังคับกองทหารแจ้งแก่ราษฎรให้ทราบว่า รัฐบาลจะให้ความคุ้มครองเต็มที่ ให้พยายามรวบรวมชักจูงราษฎรที่อยู่ตามดอยตามเขามาเป็นพวกของเรา และพยายามทุกวิถีทางที่จะให้คนเหล่านี้มีศรัทธาต่อเรา จะต้องศึกษาพิจารณาการทำแนวถนนเชื่อมต่อระหว่างญวนกับฝั่งลำน้ำโขง ขอให้ช่วยกันทำแผนที่เส้นทางที่เป็นประโยชน์ และตั้งแต่บัดนี้ให้จัดตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ (Inspecteurs des gaurdes) ดำเนินการสำรวจถนนหนทาง และทำการตบแต่งตลอดจนการศึกษาพิจารณาการก่อสร้างถนน และในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้เลือกเฟ้นเรสิดังต์ ที่มีสติปัญญาสุขุมเป็นผู้อำนวยการและปฏิบัติการให้เป็นไปในลักษณะที่เข้มแข็งแน่นอน

ฝรั่งเศสเริ่มดำเนินการรุกล้ำเข้าไปในเขตแดนที่ไทยยึดครองโดยแบ่งกำลังออกเป็นสามกอง ใช้ทหารอาสาสมัครญวนแลเขมรเป็นส่วนใหญ่ โดยมีนายทหารฝรั่งเศสและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เป็นผู้บังคับบัญชา

กองที่ ๑ มีทหาร ๑ กองร้อยสมทบอยู่ด้วย มุ่งเข้ายึดเมืองสตึงเตรง หรือเมืองเชียงแตง และเมืองโขง หรือเมืองสีทันดร ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงตอนล่าง สภาพของแม่น้ำโขงระหว่างสองเมืองนี้ มีเกาะแก่งอยู่มากเรือเดินไม่สะดวก เหนือจากเมืองโขงขึ้นไปจนถึงเมืองเขมราฐ จึงเดินเรือได้สะดวก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องยึดเมืองโขงไว้ให้ได้ เพื่อสะดวกในการคมนาคมติดต่อกับเมืองอื่นที่อยู่ทางเหนือขึ้นไปโดยอาศัยลำน้ำโขง

กองที่ ๑ นี้ใช้กำลังทหารญวน ๒๐๐ คน และใช้กำลังทหารเขมรเป็นจำนวนมากเดินทางด้วยเรือ ๓๓ ลำ เข้าขับไล่กำลังของไทยที่ตั้งรักษาด่านอยู่ที่ตำบลตะบงขลา (Tbong Kla) และเสียมโบก ( Siemboc) ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ ได้รุกมาถึงเมืองสตึงเตรง ขับไล่ข้าหลวงเมืองสตึงเตรง คือหลวงพิพิธสุนทร (อิน)

ให้ออกไปอยู่เมืองท่าราชปริวัตร ซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของลำน้ำโขง
วันที่ ๔ เมษายน กำลังทหาร ๔๐๐ คน เข้ายึดเมืองโขง ซึ่งมีพระประชาคดีกิจ (แช่ม) รักษาการณ์อยู่ มีการต่อสู้กันเล็กน้อย ปลายเดือนเมษายน ร้อยเอกโทเรอซ์ได้เดินทางกลับมาทางลำน้ำโขงตอนล่างเพื่อลำเลียงเสบียง เมื่อกลับขึ้นไปเมืองโขงกระแสน้ำซึ่งไหลเชี่ยว ได้พัดเรือของเขามาทางฝั่งขวาของลำน้ำโขง ทหารไทยจับร้อยเอกโทเรอซ์พร้อมทั้งทหารอีก ๑๖ คนไว้ได้ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม แล้วนำตัวส่งกรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่ซึ่งประจำอยู่ที่เมืองอุบล ทหารไทยได้ขับไล่ทหารฝรั่งเศสถอยออกไปจากเมืองโขง เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม แต่ต่อมาฝรั่งเศสได้ส่งกำลังจากเขมรมาเพิ่มเติม และได้ยึดเมืองโขงไว้ได้อีก

ในการนี้ฝ่ายไทย กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่อุบลได้โปรดให้เกณฑ์กำลังคนจากหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อป้องกันการรุกรานจากฝรั่งเศสคือ เกณฑ์คนจากเมืองศรีษะเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองละ ๘๐๐ คน เมืองสุวรรณภูมิ เมืองยโสธร เมืองละ ๕๐๐ คน ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) ข้าหลวงเมืองขุขันธ์ คุมกำลังไปตั้งรักษาอยู่ที่เมืองมโนไพร และเมืองเซลำเภา ให้นายสุจินดาคุมทหาร ๑๐๐ คน และกำลังคนอีก ๕๐๐ คน พร้อมด้วยศาสตราวุธเป็นทัพหน้ารีบยกออกจากเมืองอุบล เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ลงไปสมทบช่วยพระประชาคดีกิจที่เมืองสีทันดร ให้ท้าวรกิติกา คุมคนเมืองอุบล ๕๐๐ คน พร้อมศาสตราวุธ ไปสมทบกองนายสุจินดา

วันที่ ๒๐ เมษายน ให้ราชวงศ์ และราชบุตรเมืองยโสธร ๕๐๐ คน ให้อุปฮาด (บัว) คุมคนเมืองศรีษะเกษ ๕๐๐ คน พร้อมศาสตราวุธ

ยกไปสมทบกองทัพประชาคดีกิจที่เมืองสีทันดร
ฝ่ายไทยจัดกำลังให้นายสุจินดาคุมกำลัง ๔๐๐ คน ไปตั้งรับอยู่ที่ดอนสาคร ให้หลวงเทเพนทรเทพคุมกำลัง ๔๐๐ คน ไปรักษาดอนสะดำและท้ายดอนสาคร ให้เจ้าราชบุตรจัมปาศักดิ์คุมกำลังตามสมควรไปรักษาอยู่ท้ายดอนสม และหัวดอนเดช

วันที่ ๒๐ พฤษภาคม กรมหลวงพิชิตปรีชากรโปรดให้จัดส่งคนเมืองสุวรรณภูมิ ๕๐๐ คน เมืองร้อยเอ็ด ๓๐๐ คน ยกออกจากเมืองอุบล ไปช่วยพระประชาคดีกิจที่ค่ายดอนสาคร

วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ฝรั่งเศสคุมกองทัพเพิ่มเติมยกมาถึงบ้านพละอีกประมาณพันคนเศษ พระประชาคดีกิจเห็นข้าศึกมีกำลังกล้า จึงรวมกำลังตั้งรับที่ดอนสะดำ ดอนเดช และดอนสม

ไทยกับฝรั่งเศสได้ปะทะกันหลายครั้ง ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ ต่างฝ่ายต่างส่งกำลังหนุนขึ้นไปบริเวณเมืองโขงหรือสีทันดร ทั้งสองฝ่ายตกลงยุติการรบ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๓๖

กองที่ ๒ มีกำลังทหารประมาณ ๗๕๐ คน อยู่ในบังคับบัญชาของไวซ์เรสิดังต์ เมืองกวางบิญ หรือดองหอย ได้รับคำสั่งจากผู้สำเร็จราชการอินโดจีนมีใจความว่า ให้เป็นผู้อำนวยการในแคว้นคำโล (Camlo) และให้เดินทางไปยังเมืองอายหลาว (Ailao) และให้แจ้งแก่ข้าหลวงไทยว่ามาในนามของรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อยึดดินแดนที่ควรให้ฝรั่งเศสมีอำนาจโดยชอบธรรมแต่เพียงประเทศเดียว การใช้กำลังให้ใช้ในเวลาที่เห็นว่าจำเป็นจริง ๆ กวดขันให้มีการเคารพต่อสิทธิของบุคคล และทรัพย์สมบัติของเขา ให้จัดการแก่ฝ่ายไทยให้หมดฐานะที่จะก่อกวนเราได้ยิ่งกว่าการทำลายกวาดล้างให้สิ้นไป ระวังอย่าให้ทหารไทย รวมกำลังกับกองอื่นได้

หรือส่งข่าวขอกำลังหนุนมาก่อนฝ่ายเรา ให้เข้ายึดเมืองพ้องซึ่งเป็นจุดรวมของเส้นทางที่จะไปสู่เขมราฐริมฝั่งลำน้ำโขง ให้จัดตั้งกองทหารไว้ที่เมืองพ้อง เพื่อความมั่นคงและมีอิทธิพลในบริเวณนี้ และให้รีบจัดการพิจารณาเรื่องเส้นทางที่จะสร้างถนนระหว่างดินแดนญวนกับฝั่งลำน้ำโขง สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ
จะต้องทำให้ราษฎรในท้องถิ่นมีความพอใจที่เราได้เข้ามาปกครองแทนไทย จะต้องปฏิบัติต่อเขาด้วยความดูแลเอาใจใส่ เคารพต่อธรรมเนียมของเขา หลีกเลี่ยงต่อการที่จะให้เขามีความเดือดร้อนใจ และพ้นจากการปล้นสะดม อย่าใช้แรงงานโดยเขาไม่เต็มใจ และไม่ได้ค่าจ้างตามที่สมควรจะได้

ทหารกองนี้ออกเดินทางจากเมืองคำโล เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ ได้ปฏิบัติการอย่างรวดเร็วเข้าขับไล่ทหารไทยที่อาซาว นาบอน เมืองวัง เมืองพิน เข้ายึดเมืองพ้อง และเคลื่อนที่ถึงเมืองสองดอนดง กับตำบลนาพระสูร ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเขมราฐ ฝรั่งเศสได้จัดแบ่งกำลังทหาร และจัดการปกครองเมืองต่าง ๆ ในบริเวณนี้ โดยได้ตั้งกองบังคับการอยู่ที่เมืองสองดอนดง มีกำลังทหารอยู่ ๒๐๐ คน ที่นาพระสูร ๑๕๐ คน ที่เมืองพ้อง ๕๐ คน นาบอน ๑๐๐ คน และที่อาบหลวง ๕๐ คน กองทหารของไทยต้องล่าถอยข้ามโขงมาทางฝั่งขวา กองทัพฝรั่งเศสได้เคลื่อนที่มาถึงฝั่งโขงอย่างรวดเร็ว
กองที่ ๓ อยู่ในบังคับบัญชาของ เรสิดังต์ เมืองวิญ ยศร้อยเอกเหล่าทหารปืนใหญ่ ได้รับคำสั่งจากผู้สำเร็จราชการอินโดจีนมีใจความว่า

ให้จัดการให้ฝ่ายไทยถอยร่นออกไปจากบริเวณเมืองคำม่วนโดยทันที และสั่งการให้ผู้บังคับกองทหารอาสาสมัคร จัดการกับฝ่ายไทยให้หมดฐานะที่ก่อกวน ฝ่ายฝรั่งเศสได้ ยิ่งกว่าที่จะทำลายกวาดล้าง จะใช้กำลังเมื่อเห็นว่าจำเป็นจริง ๆ ให้จัดการปกครองโดยแบ่งเป็นเขต ๆ ตามที่ได้เคยจัดแบ่งไว้แต่เดิม โดยมอบอำนาจให้หัวหน้าราษฎรในเขตนั้นปกครองกันชั่วคราว และสัญญาว่าจะให้หัวหน้าราษฎรเหล่านั้นเก็บภาษีอากรได้ดังเดิม กับให้ศึกษาพิจารณาถึงเส้นทางถนนที่จะสร้างจากเมืองวิญ (Vinh) ไปยังท่าอุเทน อย่าได้เกณฑ์สิ่งของจากราษฎร อย่าใช้ให้ทำงานโดยที่เขาไม่เต็มใจ

ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ทหารกองนี้ได้ออกเดินทางจากนาเป (Nape ) และมาถึงเมืองคำม่วน ซึ่งมีค่ายทหารไทยในบังคับบัญชาของ พระยอดเมืองขวางตั้งอยู่ ทหารฝรั่งเศสได้บีบบังคับให้พระยอดเมืองขวางถอยออกไปจากเมืองคำม่วน ไปยังฝั่งขวาของลำน้ำโขงที่ปากน้ำหินบูลย์ใกล้กับท่าอุเทน ได้เกิดการปะทะกัน ทหารญวน และทหารไทยบาดเจ็บล้มตายกันหลายคน ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเสียชีวิตไปคนหนึ่ง ฝ่ายฝรั่งเศสได้ถือเป็นเรื่องสำคัญทางการเมือง จึงได้ส่งทหารมาเพิ่มเติม และได้มีการสู้รบกันที่นากายใต้ เมืองคำม่วนอย่างรุนแรง ทหารทั้งสองฝ่ายล้มตายกันมาก ในที่สุดฝ่ายไทยได้ล่าถอย

และอพยพผู้คนมาทางฝั่งขวาของลำน้ำโขง ฝรั่งเศสจึงยึดพื้นที่บริเวณเมืองคำม่วนไว้ จัดการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยต่อไป