การเตรียมการของไทย
เมื่อฝรั่งเศสได้เริ่มดำเนินการทางทหารบีบบังคับไทยในปลายเดือน มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๕ โดยยกกองทหารบุกรุกเข้ามา และขับไล่กองทหารของไทยให้ถอยออกไปจากดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และในขณะเดียวกันก็ได้ส่งเรือลูแตงเข้ามาจอดอยู่ในกรุงเทพ ฯ อีกด้วย จึงได้โปรดเกล้า ฯ แต่ตั้งกรรมการปรึกษาการป้องกันพระราชอาณาเขต รวม ๘ ท่าน ด้วยกัน คือ
๑) เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
๒) กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ
๓) เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงคลัง
๔) กรมหมื่นพิทยลาภ พฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร
๕) กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
๖) เจ้าพระยาพลเทพ (พุ่ม ศรีไชยยันต์) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
๗) นายพลเรือโท พระองค์เจ้าจรัสวงศ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ
๘) พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม - แสงชูโต) เสนาบดีกระทรวงเกษตรพานิชการ
ทางด้านกองทัพบก ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมหลวงพิชิตปรีชากรเป็นแม่ทัพด้านลาวกาว บัญชาการทัพอยู่ที่เมืองอุบล กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพด้านลาวพวน บัญชาการทัพอยู่ที่หนองคาย กรมยุทธนาธิการได้จัดส่งกำลังทหารบก พร้อมด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์ไปเพิ่มเติมให้แก่กองทัพแต่ละด้าน และได้ระดมเกณฑ์คนทางหัวเมืองชายแดนเข้าประจำกองทัพ ส่งหนุนเนื่องไปยังตำบลต่าง ๆ ที่คาดหมายว่าฝรั่งเศสจะรุกล้ำเข้ามา
ทางด้านทหารเรือได้มีการปรับปรุงป้อมแผลงไฟฟ้า ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ เพื่อเตรียมรับการบุกรุกของฝรั่งเศส ได้มีการติดต่อสั่งซื้อยุทธภัณฑ์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสิงคโปร์มาใช้ในราชการ เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖
วันที่ ๑๐ เมษายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จตรวจป้อมพระจุลจอมเกล้า และทรงเปิดการเดินรถไฟสายปากน้ำในวันรุ่งขึ้น
วันที่ ๒๕ เมษายน โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งพระยาชลยุทธโยธินทร์ เป็นผู้จัดการป้องกันพระราชอาณาเขตทางหัวเมืองฝ่ายตะวันออก ซึ่งในเวลานั้น ขึ้นอยู่กับกระทรวงการต่างประเทศ (เดิมเป็นกรมท่า)
วันที่ ๒๖ เมษายน พระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้มีหนังสือกราบทูลกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศให้ทราบถึงแผนการจัดกำลังทหารเรือ ตามหัวเมืองฝ่ายตะวันออก มีความว่า
๑) ที่เกาะกง จัดทหารมะรีน จากกรุงเทพ ฯ ๑๔ คน ทหารจากเมืองตราด ๒๔ คน ทหารจากเมืองแกลง ๑๒ คน รวม ๕๐ คน แจกปืนมาตินี ๑๐๐ กระบอก พร้อมกระสุน
๒) ที่แหลมงอบ จัดทหารไว้ ๒๐๐ คน พร้อมที่จะส่งไปช่วยที่เกาะกง ถนนระหว่างแหลมงอบกับเมืองตราดมีสภาพไม่ดี ให้บ้านเมืองเร่งซ่อมให้เสร็จภายใน ๑ เดือน พอให้เกวียนเดินได้ จ่ายปืนเฮนรี มาตินี ๒๘๘ พร้อมกระสุน
๓) ที่แหลมสิงห์ ปากน้ำจันทบุรี จัดคนจากเมืองจันทบุรี เมืองแกลง และเมืองขลุง (อายุ ๒๓ - ๔๑ ปี) มารวมไว้ที่แหลมสิงห์ เหลือคนไว้ที่เมืองจันทบุรี เมืองแกลง และเมืองขลุง พอรักษาการณ์ มีกำลังทหารที่แหลมสิงห์ ๖๐๐ คน ให้ฝึกหัดทั้งเช้า และเย็น กับให้ทำงานโยธาตกแต่งป้อมในเวลากลางวัน
ย้ายปืนอาร์มสตรอง ๔๐ ปอนด์ จำนวน ๓ กระบอก จากป้อมหมู่บ้านแหลมสิงห์ไปตั้งไว้ทางเขาแหลมสิงห์ (ด้านกระโจมไฟ) รีบตกแต่งป้อมให้เสร็จโดยจ้างคนจีนก่ออิฐโบกปูน ในความควบคุมของมิสเตอร์ตรุศ และนายร้อยโท คอลส์ ซึ่งบังคับบัญชาทหารที่แหลมสิงห์ ที่เมืองจันทบุรี และแหลมสิงห์จ่ายปืนมันลิเดอร์ ๑,๐๐๐ กระบอก ที่เมืองแกลง และเมืองระยอง จ่ายปืนเฮนรี มาตินี ๑๐ กระบอก ให้แห่งละ ๑๐๐ กระบอก พร้อมกระสุน
พวกกองรักษาด่านภายในจากเมืองระยองถึงเกาะกง จัดคนท้องถิ่นดูแลรักษาใช้คนประมาณ ๑,๑๐๐ คน จ่ายปืนเอนฟิลด์ ชนิดบรรจุปากกระบอก ๖๐๐ กระบอก มีดินปืน และกระสุนไว้ตามสมควร และจ่ายดาบให้ด้วย
เดือนพฤษภาคม มีการปรึกษาถึงเรื่องการใช้แพไฟทำลายข้าศึก เตรียมถ่านหินไว้ให้เพียงพอแก่ราชการในยามฉุกเฉิน จัดเรือคอยเหตุไปจอดไว้นอกสันดอนโดยมีกัปตันวิล ผู้เป็นเจ้าท่าเป็นผู้ควบคุม
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปปากน้ำเจ้าพระยาโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เสด็จไปตรงป้อมพระจุลจอมเกล้า มีการทดลองยิงปืนใหญ่ให้ทอดพระเนตร
วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จปากน้ำเจ้าพระยา เสด็จตรวจป้อมที่ปากน้ำจนถึง วันที่ ๑ มิถุนายน จึงเสด็จกลับกรุงเทพ ฯ
วันที่ ๒ มิถุนายน พระยาชลยุทธโยธินทร์ กราบบังคมทูลเรื่องการติดต่อกับนาย นาวาเอก แมค เคลาด์ ผู้บังคับการเรือพาลลาสว่าจะให้เรือสวิฟท์รออกไปฝึกยิงปืนในวันที่ ๓ มิถุนายน ในระยะนี้เจ้าพระยาอภัยราชา คอยติดต่อกับราชฑูตอังกฤษ และพระยาชลยุทธโยธินทร์ ติดต่อกับผู้บังคับการเรือรบอังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกันอยู่เสมอ
วันที่ ๘ มิถุนายน มีพระราชหัตถเลขาถึง พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ มีความว่า ตกลงปิดปากน้ำโดยเอาเรือไปจม และให้พระยาชลยุทธโยธินทร์ กำหนดตำบลที่จะเอาเรือไปจมลงในแผนที่ แล้วเอามาถวายให้ทอดพระเนตร ให้จัดเตรียมเรือไว้สำหรับ จะจมได้ทันท่วงทีเมื่อถึงคราวจำเป็น
วันที่ ๒๒ มิถุนายน พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า การจมเรือลำหนึ่งใช้เวลา ๑ วัน โดยทำในเวลาน้ำหยุด เอาเรือที่จะจมไปทอดสมอ แล้วตรึงด้วยโซ่สมอ ๔ สาย แล้วเจาะเรือให้จมในการนี้ต้องใช้เรือ ๑๐ ลำ เวลานี้มีอยู่เพียง ๓ ลำ ต้องจัดซื้อมาอีก เรือจำพวกเรือโป๊ะจ้ายคงจะจมได้วันละ ๒ ลำ ทำเร็วไม่ได้
ต่อมามีพระราชกระแสว่า กองทัพเรือฝรั่งเศสมาถึงไซ่ง่อนแล้ว เรือลิออง มาที่เกาะอยู่เสม็ดลำหนึ่ง การปิดช่องทางเรือนั้นให้เหลือช่องไว้ชั่วเรือเดินได้ลำหนึ่ง และควรจะให้ปิดได้ทันทีเมื่อต้องการ เห็นว่าเป็นการดีกว่าที่จะยิงปืนห้ามไม่ให้เข้ามาโดยเรือรบของเขาไม่ได้ทำการยิงก่อน จะได้ไม่เป็นการก่อสงครามใหญ่ขึ้น ช่องทางเดินเดินเรือที่เปิดไว้นั้น ถ้ามีเรือรบเข้ามาห้ามไม่ฟังแล้ว ก็จะปิดช่องนั้นเสียโดยไม่ต้องรอคำสั่งอีก
การจมเรือที่ปากน้ำเริ่มทำประมาณวันที่ ๒๖ มิถุนายน ในการนี้ฟังว่าราชฑูตอังกฤษประจำกรุงเทพ ฯ และผู้บังคับการเรือสวิฟท์เห็นพ้องด้วย
วันที่ ๒๘ มิถุนายน กรมยุทธนาธิการ กราบบังคมทูลว่า นายพันตรี หลวงศัลวิธานนิเทศ (Major schau) สัญชาติเดนมาร์ค ผู้บังคับการโรงเรียนนายสิบ ได้วางแผนจัดกำลังทหารบก เพื่อป้องกันพระนครโดยกำหนดไว้ว่า
๑) กำลังทหาร ๖๐๐ คน อยู่ที่สมุทรปราการ ที่ป้อมเสือซ่อนเล็บ มีปืนใหญ่ ๖ กระบอก
๒) กำลังทหาร ๒๐๐ คน อยู่ที่คลองสำโรง มีปืนใหญ่ ๑๒ กระบอก
๓) เตรียมปืนใหญ่ ๑๖ กระบอก ตั้งที่บางนา บางจาก และคลองพระโขนง
๔) รายปืนใหญ่ไว้ตามริมแม่น้ำ ๙ กระบอก สำหรับยิงเรือ และเป็นกำลังหนุนกำลังทหารทางบางนา และบางจาก
วันที่ ๓๐ มิถุนายน พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ มีหนังสือกราบบังคมทูล มีความว่า ในการจมเรือที่ปากน้ำนั้นได้จมเรือบางกอก และเรือแผงม้า กระแสน้ำแรงจึงทำให้เรือเหไปบ้าง พระยาชลยุทธโยธินทร์ จึงเอาโซ่คั่นต่อกันทุกลำแล้วลงหลักในระหว่างที่เป็นช่อง ร้อยโซ่ผนึกเป็นตับเข้ากับหลักไม่ให้มีช่อง และอาศัยยึดเหนี่ยวกันทุกลำ
วันที่ ๔ กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับที่ปากน้ำเจ้าพระยาโดยรถไฟพิเศษ ได้ทอดพระเนตรป้อมเสือซ่อนเล็บ แล้วประทับในเรือองครักษ์ เสด็จไปทอดพระเนตรป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งมีทหารประจำอยู่ ๖๐๐ คน ปืนกรุป ได้วางที่แล้ว ได้เรียกทหารขึ้นประจำป้อมทดลองดู ทหารทำได้พรักพร้อม แล้วเสด็จไปตรวจเรือที่จมตั้งแต่ฟากตะวันออกจนถึงเรือแดง การจมเรือทำไปมากแล้ว แต่ยังไม่พอขาดเรือลำเลียงอีก ๔ ลำ เรือบางกอกและเรือแผงม้าที่จมนั้น กระแสน้ำพัดเชี่ยวพาเรือเคลื่อนที่ไปห่างจากจุดที่หมายไว้ แล้วมาตรวจทางฟากตะวันตกตรงมุมป้อม แนวนี้ปักไม้หลักแพต้นหนึ่งเป็นขาทรายค้ำด้วยอีกสองต้น ไม้เหล่านี้ปักลงดิน ๘ ศอก ขัดด้วยโซ่ดูเป็นการแน่นหนาดี
การตรวจแนวป้องกันคราวนี้ ทรงมีพระราชดำรัสว่า อย่าว่าแต่จะจมเรือหรือจะทำเขื่อนเพียงเท่านี้เลย อย่างไร ๆ เรือของเขาก็คงที่ทำลงนี้พอเป็นสังเขปสำหรับที่จะห้าม ถ้าขืนดันเข้ามาก็ต้องยิงกันเท่านั้น
เมื่อได้ตรวจแนวไม้หลักแล้ว ก็เสด็จมาจอดที่ริมช่องทางเดินเรือ ลองระเบิดตอร์ปิโดขนาดเล็ก ซึ่งทำที่กรุงเทพ ฯ หนึ่งลูก ปรากฏว่าเป็นผลดีมีอำนาจมาก จากนั้นไปตรวจเรือบรรจุตอร์ปิโด ที่บรรจุเสร็จแล้ว ๗ ลูก และยังจะบรรจุต่อไป ตอร์ปิโดทำในนี้มีสองขนาด เล็กอย่างหนึ่งโตอย่างหนึ่ง ตอร์ปิโดจากนอกรูปอย่างกระทะ ก็มีอยู่ในเรือนี้ด้วย จากนั้นได้เสด็จขึ้นเรือฟิลลา ซึ่งจอดอยู่ที่สะพานหน้าป้อมพระจุลจอมเกล้า เสวยกลางวันแล้วออกเรือฟิลลามาขึ้นที่สะพานรถไฟ เสด็จขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ ฯ
วันที่ ๕ กรกฎาคม นายนาวาเอก แมคเคลาด์ ผู้บังคับการเรือพาลลาส ได้ติดต่อกับพระยาชลยุทธโยธินทร์ ขอเรือกลไฟเล็กลำหนึ่ง เพื่อเดินทางกลับไปเรือพาลลาส ซึ่งจอดอยู่นอกสันดอน เรือพาลลาสจะย้ายไปจอดที่เกาะสีชัง และขอพักบนเกาะสีชังเพื่อให้ทหารที่เจ็บป่วยได้ขึ้นพักบนเขา ขอส่งทหารจำพวกสัญญาณไปประจำที่เสาธงเกาะสีชัง กับขอน้ำจืดสำหรับหม้อน้ำ หากมีข่าวการเคลื่อนไหวของฝรั่งเศสก็ขอทราบด้วย และจะได้มาจอดอยู่ที่นอกสันดอนอีก เมื่อพระยาชลยุทธโยธินทร์นำความขึ้นกราบบังคมทูล ก็ทรงอนุญาตตามที่ผู้บังคับการเรือพาลลาสร้องขอมา และกำหนดว่าจะให้เรือจำเริญ ซึ่งจะกลับจากเกาะกงในอีก ๒ - ๓ วัน ลากเรือโป๊ะบรรทุกน้ำจากกรุงเทพ ฯ ไปส่งให้
วันที่ ๗ กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับตรวจป้อมแผลงไฟฟ้า ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) ปรากฏว่าปืนกรุป สำหรับจะยิงสลุตรับเจ้าชายออสเตรียจัดไว้พร้อมแล้ว ทรงเห็นว่าป้อมนี้มีทางปืนดี และเป็นที่แคบ สามารถใช้ตอร์ปิโดได้ถนัด มีรับสั่งให้จัดการวางตอร์ปิโดไว้ด้วย
วันที่ ๙ กรกฎาคม พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า ควรจัดเตรียมป้อมวิชัยประสิทธิ์เตรียมไว้รับข้าศึกอีกป้อมหนึ่ง ทรงมีพระราชดำริว่าจะหมดเปลืองการใช้จ่ายมากไป ให้จัดการแต่เพียงถากถางบริเวณป้อม และกะที่จะตั้งปืนเท่านั้น ส่วนเรื่องแพไฟนั้นมีรับสั่งว่า ยังมิได้กการอย่างหนึ่งอย่างใดว่าใครจะเป็นผู้รับหน้าที่
วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลายพระหัตถ์ถึงพระยาชลยุทธโยธินทร์ มีความว่า "กำหนดเรือรบฝรั่งเศสจะเข้าในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม เวลาเย็น และฝ่ายเราไม่ยอมนั้น ให้พระยาชลยุทธโยธินทร์ คิดวางตอร์ปิโดเสียให้เต็มช่อง ถ้าเข้ามาเมื่อไร ก็เป็นการจำเป็นที่จะต้องระเบิด อย่าให้ต้องรอคำสั่งอีกเลย และถ้าเขายิงก่อนแล้วเราต้องยิง"
ในวันเดียวกัน กรมยุทธนาธิการ กราบบังคมทูลว่า ให้จัดทหารสำหรับรักษาพระนคร แบ่งออกเป็น ๔ กอง คือภายในกำแพงพระนคร ๑ กอง อยู่ที่ตำบลปทุมวัน ๑ กอง ที่ตำบลบางรัก ๑ กอง และที่ฝั่งธนบุรี ๑ กอง
ทหารสำหรับรักษาพระนครนี้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี ขอรับอาสาเรียกระดมทหารเก่าที่เคยไปราชการทัพคราวปราบฮ่อด้วยกัน สมทบช่วยราชการร่วมกับทหารประจำการในกรุงเทพ ฯ โดยที่ตัวพระยาสุรศักดิ์มนตรีเอง เป็นผู้บังคับบัญชาทหารที่อาสาสมัครในคราวนี้ด้วย มีจำนวนทั้งสิ้นกว่าหนึ่งพันคน
วันที่ ๑๑ กรกฎาคม มีพระบรมราชโองการ ถึงพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ผู้บัญชาการทหารเรือเกี่ยวกับการป้องกันมิให้เรือรบฝรั่งเศสแล่นเข้ามากรุงเทพฯ เป็นเด็ดขาด
วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ฝ่ายไทยเตรียมการรับเสด็จ อาร์ชดยุคออสเตรีย ซึ่งกำหนดว่าจะมาถึงปากน้ำเจ้าพระยาในวันนี้ จึงได้จัดส่งเรือมกุฏราชกุมาร และเรือนฤเบนทร์บุตรีออกไปรับที่ปากน้ำ เรือมกุฏราชกุมารออกไปจอดคอยอยู่ที่นอกสันดอน ภายหลังเมื่อทราบว่าเจ้าชายออสเตรียยังเสด็จมาไม่ถึง และในตอนเย็นราชฑูตฝรั่งเศสก็ได้แจ้งให้ทราบว่าเรือรบฝรั่งเศสสองลำจะเข้ามาถึงสันดอน โดยตกลงว่าจะจอดอยู่ที่สันดอนก่อน แต่เพื่อความไม่ประมาท นายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์ได้ออกไปที่สันดอนแต่เช้าได้สั่งให้ เรือมกุฏราชกุมารถอยเข้ามาจอดภายในแนวป้องกันที่ปากน้ำ ในวันนี้ฝ่ายไทยได้จมเรือโป๊ะที่แนวป้องกันอีกลำหนึ่ง และได้วางทุ่นระเบิดเพิ่มเติมอีก รวมแล้วได้วางทุ่นระเบิดได้ทั้งหมดเพียง ๑๖ ลูก
เวลา ๑๗.๐๐ น. เรือมกุฏราชกุมารเข้าประจำที่ภายในแนวป้องกัน โดยมีเรือนฤเบนทร์บุตรี และเรือทูลกระหม่อมจอดอยู่ถัดไปทางฝั่งเดียวกันตรงแหลมฟ้าผ่า ทางฝั่งตะวันออกของช่องเดินเรือมีเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์จอดอยู่ กับมีเรือหาญหักศัตรูจอดอยู่ทางฝั่งเดียวกัน รวมเรือรบฝ่ายไทยที่คอยต้านทานอยู่ในแนวป้องกัน รวม ๕ ลำด้วยกัน นอกแนวป้องกันออกไปมีสนามทุ่นระเบิดบังคับการยิงจากเรือยิงทุ่นระเบิด ซึ่งจอดอยู่ทางฝั่งตะวันตกใกล้เรือทุ่นไฟ ที่แหลมลำพูราย มีสถานีโทรเลขสำหรับรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้าไปยังกรุงเทพฯ
พระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้อำนวยการป้องกันอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า และได้สั่งการแก่ผู้บังคับการเรือทุกลำว่า ในกรณีที่เกิดการสู้รบกันขึ้น เมื่อป้อมพระจุลจอมเกล้า ทำการยิงไปเป็นนัดที่สี่แล้ว เรือฝรั่งเศสยังไม่หยุด ก็ให้เรือเริ่มทำการยิงร่วมกับป้อมได้ทีเดียว
เวลา ๑๗.๐๐ น. หมู่เรือรบฝรั่งเศสมาถึงสันดอน และได้หยุดเรือโดยไม่ทอดสมออยู่ใกล้ ๆ กับเรือนำร่อง และเรืออรรคราชวรเดช ซึ่งมีกัปตันวิล เจ้าท่าไทยสัญชาติเยอรมันประจำอยู่ เรือลาดตระเวณอังกฤษชื่อพาลลาสก็จอดอยู่ในบริเวณนี้ด้วย เมื่อเรือรบฝรั่งเศสมาถึง มิสเตอร์แจคสัน นำร่องใหญ่สัญชาติอังกฤษ ซึ่งอยู่ที่เรือนำร่องได้ขึ้นไปบนเรือเซย์ กัปตันวิลได้ขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์ ห้ามปราบมิให้เรือรบฝรั่งเศสเดินทางเข้าไป เรือสตรู ซึ่งเป็นเรือกลไฟไทยเข้าเทียบเรือแองคองสตังต์ โดยมีนายเรือโทนายทหารประจำเรือลูแตงเอาถุงไปรษณีย์มาให้ด้วย ผู้บังคับการเรือพาลลาสได้ส่งนายเรือเอก เอดเวิดส์ นายทหารฝ่ายพลาธิการขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ราชฑูตฝรั่งเศสให้มีคำสั่งมาให้เรือรบฝรั่งเศสจอดทอดสมออยู่นอกสันดอนก่อน แต่ผู้บังคับการเรือแองคองสตังต์ไม่ยอมฟังการห้ามปรามใด ๆ ดังนั้นทุกคนที่ขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์จึงล่ากลับ ส่วนมิสเตอร์แจคสันนำร่องไทยคงอยู่ในเรือเซย์ มิได้กลับไปยังเรือนำร่อง ม.วิเกล กัปตันเรือเซย์ได้ขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์ ทำหน้าที่นำร่องตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว ต้นเรือเซย์ทำหน้าที่กัปตันเรือเซย์
เวลา ๑๗.๓๐ น. มีฝนตกบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า ทำให้อากาศมืดครึ้ม มองอะไรไม่ใครเห็น
เวลา ๑๘.๑๕ น. ฝนหยุดตก ทางป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้แลเห็นเรือรบฝรั่งเศสกำลังแล่นผ่านกระโจมไฟเข้ามา เสียงแตรสัญญาณดังขึ้น เพื่อสั่งให้ทหารประจำป้อมพระจุลจอมเกล้า "เข้าประจำสถานีรบ"
เรือสตรูออกจากเทียบ เดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ
ขณะนั้นน้ำที่สันดอนกำลังจะขึ้น นายนาวาโทโบวี ผู้บังคับการเรือแองคองสตังต์ได้จัดเรือกลไฟเล็กของเรือแองคองสตังต์ ออกไปหยั่งน้ำล่วงหน้าที่บริเวณโป๊ะจับปลา ส่วนกัปตันวิลเมื่อกลับไปถึงเรืออรรคราชวรเดชแล้ว ก็ได้ชักธงสัญญาณประมวลให้ทางป้อมพระจุลจอมเกล้าทราบเพื่อ "เตรียมพร้อม"
เวลา ๑๘.๐๕ น. หมู่เรือรบฝรั่งเศสออกเดินทางสู่ปากน้ำเจ้าพระยา โดยมีเรือเซยแล่นนำหน้า ติดตามด้วยเรือแองคองสตังต์ และเรือโคเมตเป็นขบวนเรียงตามกันปิดท้ายระยะ ๔๐๐ เมตร มีเรือสินค้าอังกฤษสามลำแล่นออกมาสวนทางกับเรือรบฝรั่งเศส อากาศครึ้มฝน ลมอ่อนพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีระลอกคลื่นตามชายฝั่งเล็กน้อย ดวงอาทิตย์กำลังใกล้จะตก
เวลา ๑๘.๓๐ น. หมู่เรือรบฝรั่งเศสแล่นมาถึงทุ่นดำ ซึ่งเป็นจุดเลี้ยวของร่องน้ำ ป้อมพระจุลจอมเกล้าก็เริ่มยิงด้วยนัดดินเปล่าไม่บรรจุหัวกระสุน จำนวน ๒ นัด เพื่อเป็นสัญญาณเตือนมิให้เรือรบฝรั่งเศสแล่นเข้ามาแต่ไม่ได้ผล เรือรบฝรั่งเศสคงแล่นเรื่อยมาอย่างเดิม จึงได้ยิงโดยบรรจุกระสุนเป็นนัดที่สาม ให้กระสุนตกข้างหน้าเรือเป็นการเตือนอีก แล้วจึงยิงเป็นนัดที่สี่ให้กระสุนตกข้างหน้าเรือเช่นเดียวกัน ในตอนนี้ทางป้อมพระจุลจอมเกล้าสังเกตุเห็นว่า เรือลำหน้าทำท่าจะหยุดและหันกลับออกไป แต่ในไม่ช้าก็เดินมาตามเข็มเดิมอีก พร้อมกับชักธงชาติฝรั่งเศสขึ้นที่ยอดเสาทุกเสา และที่เสาก๊าฟด้วย แล้วได้ทำการยิงมายังป้อม ป้อมจึงยิงเรือรบฝรั่งด้วยปืนทุกกระบอก
การรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา
รัฐบาลฝรั่งเศสได้แจ้งให้รัฐบาลไทยทราบว่าเรือรบฝรั่งเศสอีกสองลำคือเรือแองคองสตังค์ และเรือโคแมตจะจอดอยู่นอกสันดอน แต่จะด้วยเหตุอันใดไม่เป็นที่ประจักษ์ เรือรบทั้งสองลำดังกล่าวได้แล่นเลยข้ามสันดอนเข้ามา ทำให้เกิดการสู้รบกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อตอนเย็นวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ หลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับตอนนี้ได้มีผู้บันทึกไว้ไม่ตรงกันนักจากหลายฝ่าย ทั้งไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส พอประมวลได้ดังนี้
หลักฐานจากบันทึกประจำวันของผู้บังคับการเรือโคแมต
วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖
เรือแองคองสตังค์ ได้มาถึง..... เรือลำนี้จะนำเราเดินทางไปกรุงเทพ ฯ..... มีเวลาเพียงพรุ่งนี้ตอนเย็นเวลาเดียวเท่านั้นที่จะมีระดับน้ำสูงพอที่จะให้เรือแองคองสตังค์ ซึ่งกินน้ำลึก ๔.๒๐ เมตร ผ่านสันดอนเข้าไปได้..... เรือโคแมตจึงเข้าเทียบรับถ่านมาเสีย ๒๐ ตัน
เสร็จการขนถ่านแล้วผู้บังคับการเรือทั้งสองลำได้ร่วมกันอ่านโอวาทของผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกล..... รัฐบาลประสงค์จะบีบบังคับประเทศไทย..... ในเหตุการณ์ทางชายแดนที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เราจะต้องเดินทางไปจอดที่สมุทรปราการในวันพรุ่งนี้ตอนเย็น โดยอาศัยสิทธิของเราตามสนธิสัญญา เมื่อได้ทำความตกลงกับ ม.ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสประจำราชสำนักกรุงเทพ ฯ แล้ว เราก็จะเดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ ในเย็นวันเดียวกัน รุ่งขึ้นวันที่ ๑๔ กรกฎาคม .....จะได้ชักธงราวแต่งเรือในวันชาติ การปรากฏตัวของเรือเราทั้งสามลำ..... คงจะทำให้พระเจ้าแผ่นดินไทยต้องทรงตรึกตรองด้วยดี ในเรื่องเกี่ยวกับการปล่อยตัวร้อยเอกโทเรอซ์ การจ่ายเงินค่าทำขวัญ..... การทำอนุสัญญาเพื่อกำหนดเขตแดนของลาว ญวน และเขมร.....
หน้าที่เฉพาะหน้าก็คือ..... การกำหนดแนวปฏิบัติต่าง ๆ หากว่าทางฝ่ายไทยบังคับให้เราหยุดอยู่ก่อน เราก็ปรึกษา ม.ปาวี..... หากเรือแองคองสตังค์ เกยตื้นเข้าไปไม่ได้ เรือโดแมตก็จะเดินทางต่อไปเพียงลำเดียว..... ถ้าฝ่ายไทยใช้ปืนป้อมยิงมายังเรา เราก็ทำการยิงตอบ.....
เวลา๑๔.๐๐ น. นาวาโทโบรี (Borry) เริ่มเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมู่เรือและได้ส่งสัญญาณให้ออกเรือ เรือโคแมตออกเดินทางจากอ่าวซาราเซน ติดตามเรือแองคองสตังค์ ไปที่กลางทะเล เราได้พบเรือยังบัปติสต์เซย์ (Jean Baptist Say) เรือสินค้าของบริษัทเมสซาเยอรี พลูวิอัลส์ ซึ่งเป็นเรือเดินประจำระหว่างไซ่ง่อนกับกรุงเทพ ฯ ม.จิเกล (Jiguel) กัปตันเรือเซย์มีความชำนาญในการนำเรือเข้าแม่น้ำเจ้าเจ้าพระยา จะเป็นผู้นำร่องให้แก่เรา.....
วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖
เมื่อคืนอากาศมืดมิด .....เราต้องผ่านสันดอนเข้าแม่น้ำให้ได้ก่อนน้ำลด.....
ประมาณ ๑๖.๐๐ น. ฝั่งประเทศไทยก็ปรากฏขึ้นทางเหนือ และหนึ่งชั่วโมงต่อมาเรือของเราก็มาถึงสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับเรือลาดตระเวนอังกฤษชือ พาลลาส.....
เรือปืนจักรข้างของไทยลำหนึ่ง ชื่ออรรคราชวรเดช ทอดสมออยู่ไม่ห่างนัก มีเรือโบตลำหนึ่งมาจากเรือนั้น นำพนักงานเจ้าท่ามาขึ้นเรือแองคองสตังค์ เป็นคนชาติเยอรมันในขณะเดียวกัน มีเรือกลไฟลำใหญ่ของไทยซึ่งมาจากกรุงเทพ ฯ เข้าเทียบเรือแองคองสตังค์ มีนายเรือโทประจำเรือลูแตงคนหนึ่ง เอาถุงไปรษณีย์ถุงใหญ่มาด้วย เจ้าพนักงานผู้นั้นมาห้ามมิให้นำเรือเข้าไป และไม่ยอมบอกอัตราน้ำที่สันดอน..... นายทหารอังกฤษผู้หนึ่งจากเรือพาลลาส ขึ้นมาเยี่ยมและบอกว่าได้ทราบว่า ม.ปาวี จะมาบอกให้เราทอดสมออยู่ข้างนอกสันดอนก่อน..... แต่นายทหารประจำเรือลูแตงไม่เห็นบอกเช่นนั้น และเขาเองก็ไม่ได้รับมอบคำสั่งด่วนแต่อย่างใด..... นาวาโท โบรี จึงให้เดินทางต่อไป
เวลา ๑๘.๐๕ น. เราผ่านสันดอน..... เรือเซย์เดินนำหน้า เรือแองคองสตังค์ กับเรือโคแมตเดินเรียงตามกันปิดท้ายระยะห่าง ประมาณ ๔๐๐ เมตร..... ไม่กี่นาทีจากนั้น เรืออรรคราชวรเดชได้ส่งสัญญาณประมวลสากล มีความหมายว่า "เตรียมตัวรับพายุใหญ่"
เวลา ๑๘.๓๐ น. เราเข้ามาใกล้ทุ่นดำ ได้ยินเสียงปืนใหญ่ดังขึ้นนัดหนึ่ง แล้วก็ดังซ้อน ๆ กันหลายนัด ปรากฏว่าที่แหลมตะวันตกทำการยิง..... มีกระสุนหลายนัดส่งเสียงหวือ ๆ มายังเรา.....
"ประจำสถานีรบ" เป็นคำสั่งให้ทุกคนรีบเข้าประจำที่ของตน..... และชักธงชาติขึ้นยอดเสา.....
เราเตรียมพร้อมแล้วที่จะยิงตอบ.....
ป้อมพระจุลจอมเกล้ากลบไปด้วยแสงไฟและควันปืน..... เราอยู่ห่างถึง ๔,๐๐๐ เมตร ปืนเหล่านี้เมื่อยิงจะโผล่ขึ้นมา ครั้นยิงแล้วก็ผลุบลงไปในหลุม ที่มีเกราะป้องกันโดยทันที การยิงอย่างเต็มขนาดไปยังป้อมในขณะนี้ดูจะไร้ผล ดังนั้นเราจึงบรรจุปืนใหญ่ด้วยกระสุนลูกปราย ซึ่งจะระเบิดแตกทำลายคนประจำปืน และเครื่องประกอบปืนอันอยู่ในที่กำบัง..... บนสะพานเดินเรือมีเรือโทบาแซง ซึ่งเป็นต้นหนคอยนับจำนวนกระสุนที่ยิงมาด้วยเสียงอันดัง
ทันใดนั้นเรือเซย์ได้หันหัวเรือไปทางซ้าย เราจึงแล่นผ่านเลยไป กัปตันของเรือตะโกนบอกมาว่า นำร่องไม่ยอมนำเรือต่อไปอีก และต้องการจะทอดสมอ เรือเซย์ถูกกระสุนปืนหนึ่งนัด และเพื่อมิให้เรือจมจึงจำต้องแล่นเกยตื้นใกล้ ๆ ทุ่นดำ ในไม่ช้าก็มีกระสุนอีกนัดหนึ่งระเบิดลงบนเรือแองคองสตังค์ หลักเดวิทเรือโบตหักสะบั้นลง พันจ่าช่างไม้ประจำเรือตายคาที่ นาวาโทโบรี จึงสั่งหันหัวเรือไปทางซ้าย และให้ถือท้ายมุ่งตรงต่อไปทางกลางปากน้ำ แล้วสั่งเริ่มยิง เรือโคแมตก็เริ่มยิงตาม ขณะนี้เวลา ๑๘.๔๓ น. การรบได้บังเกิดขึ้นแล้ว.....
การรบได้เป็นไปอย่างเผ็ดร้อน..... ถัดจากเรือทุ่นไฟมีเรือเหล็กจมอยู่หลายลำ ซึ่งยึดไว้ให้อยู่กับที่ โดยเอาหลักปักไว้ขนาบไว้เป็นสองแถว และมีสายโซ่ขึงไว้เป็นแนวอย่างแข็งแรงเหลือช่องว่างให้เรือเข้าออกได้ราว ๘๐ เมตร ช่องที่ผ่านนี้ยังได้วางตอร์ปิโดไว้อีกด้วย เลยแนวกีดขวางเข้าไปมีเรือไทย ๙ ลำ จอดเรียงรายกันอยู่ปืนหัวเรือเหล่านี้ได้ร่วมยิงกับป้อมพระจุลจอมเกล้าด้วย ๔ ลำ อยู่ทางซ้ายอีก ๕ ลำ อยู่ทางขวา ประกอบกันเป็นช่องทางที่เราต้องผ่านไป..... เดินหน้าเต็มตัว เราจะได้พุ่งเข้าชนเครื่องกีดขวาง
เวลา ๑๘.๕๐ น. ขณะที่เรือแองคองสตังค์ แล่นเข้าไปใกล้เรือทุ่นไฟนั้น ตอร์ปิโดลูกหนึ่งได้ระเบิดข้างหน้าเรือแต่ไม่ถูกเรือ เรือแองคองสตังค์ ได้แล่นผ่านแนวกีดขวาง พร้อมทั้งทำการสู้รบกับเรือข้าศึกที่ตั้งเรียงรายเป็นสองแนว.....
.....เรือโคแมต ซึ่งแล่นตามแนวทางของเรือแองคองสตังค์ ก็ได้ผ่านกองเรือไทย และได้ยิงโต้ตอบไปทางขวาบ้างทางซ้ายบ้างด้วยปืนใหญ่ประจำเรือ..... ฝ่ายข้าศึกให้ใช้ปืนกลยิงมายังเรา..... รวมทั้งปืนใหญ่ก็ยิงมาดังห่าฝน..... ขณะที่เราแล่นผ่านเรือใบลำใหญ่ทาสีขาว ซึ่งเป็นเรือลำสุดท้ายทางซีกซ้ายในระยะห่างกัน ๑๐๐ เมตร เรือลำนี้ได้ยิงมายังเราตับหนึ่ง ถูกพลประจำปืนตายไปสองคน..... ปืนท้ายของเราได้ยิงตอบไปบ้าง ถูกตัวเรือที่ทำด้วยไม้อย่างจัง การยิงได้ผลลงเมื่อเวลา ๑๘.๕๘ น. ..... เส้นทางเดินก็ปลอดโปร่งไปชั่วขณะ
.....ยังเหลือป้อมที่เกาะเล็กอีกป้อมหนึ่ง..... เวลา ๑๙.๐๐ น. ได้มาถึงป้อมนี้ซึ่งยังคงสงบเงียบอยู่..... เราได้ยิงกราดเข้าไป และปืน ๒๑ เซนติเมตร ของป้อมก็ได้ยิงตอบโดยไม่ถูกเรือเรา..... เราแล่นเลยสมุทรปราการไปโดยไม่มีข้าศึกกล้าติดตามมาเลย.....
.....ความมืดช่วยเขาไว้ได้ การยิงของฝ่ายไทยไม่ใคร่แม่น อำนวยการยิงไม่ดี และไม่มีการคำนึงถึงความเร็วเรือเพื่อแก้ศูนย์ กระสุนส่วนใหญ่จึงตกสูง หรือหลุดท้ายเรือเราไป ตอร์ปิโดก็ระเบิดก่อนเวลาอันสมควร จึงไม่บังเกิดผลแต่อย่างใด
เรือโคแมตไม่ได้รับความเสียหายเท่าใด..... มีบ้างเล็กน้อย ตัวเรือ เพดานเรือ เครื่องเสา ปล่องเรือ และปล่องลม มีรอยกระสุนมัลลิเคอร์อยู่มากมาย มีรอยกระสุนถากไปหนึ่งหรือสองแห่ง กระจกบนสะพานเดินเรือแตก เรือกลเล็กที่อยู่ตอนหัวเรือ แตกมีรูรั่ว เรือไวหมายเลข ๒ ไฟไหม้จนไม่เป็นรูป.....
.....เวลา ๒๑.๐๐ น. ผู้บังคับหมู่เรือส่งสัญญาณมาว่าให้ทอดสมอพร้อมกัน..... พอเลี้ยวตามแม่น้ำคุ้งแรกก็แลเห็นท่าจอดเรือกรุงเทพ ฯ แม่น้ำตอนนี้แคบมากและเต็มไปด้วยเรือกลไฟ เรือใบ และมีเรือเล็ก ๆ มีแสงสว่างทั่วไปหมด กระแสน้ำก็ไหลแรง ทางเรือก็ไม่มีนำร่อง..... เรือแองคองสตังค์ ได้ทอดสมออยู่ใกล้ ๆ สถานฑูตฝรั่งเศส เรือโคแมตก็ทอดสมออยู่ใกล้กัน
.....ในเรือแองคองสตังค์ มีทหารตายเพียงคนเดียว และบาดเจ็บสองคน เครื่องเสา และตัวเรือมีรอยถูกยิงด้วยกระสุนปืนเล็ก และรอยกระสุนปืนใหญ่หลายแห่ง นอกจากหลักเดวิทเรือโบตหักแล้ว ก็ไม่มีอะไรเสียหายร้ายแรง
ในระหว่างนี้ข่าวการรบและการเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ของเรายังไม่แพร่กระจายออกไป นครหลวงอันกว้างใหญ่ พร้อมพลเมืองสามแสนคนยังคงนอนหลับสงบเงียบอยู่ ผู้บังคับการเรือลูแตง กล่าวว่าไม่ได้ยินเสียงปืนที่ยิงกันเลย.....
ก่อนจะขึ้นไปรายงานตัวต่อ ม.ปาวี นาวาโทโบรี ได้ประชุมผู้บังคับการเรือลูแตง และเรือโคแมต เพื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติในอันที่จะแก้แค้นฝ่ายไทย ที่ทำการคุกคามโดยไม่สมควร ตกลงกันว่าพรุ่งนี้เวลาเช้าตรู่เรือของเราทั้งสามลำ จะออกเรือเพื่อทำการจมเรือลาดตระเวนมหาจักรี ซึ่งทอดสมออยู่ที่หน้าอู่หลวง แล้วเราจะตรึงเรือเป็นแนวอยู่ตรงหน้าพระบรมมหาราชวัง หากไม่ได้รับความตกลงที่พอใจ ก็จะได้ระดมยิงพระบรมมหาราชวังต่อไป ความจำเป็นในเบื้องแรกคือ ให้กองเรือไทยยอมจำนน และให้ฝ่ายไทยจัดการถอนคน และรื้อป้อมที่ปากน้ำเสีย ในขั้นต่อไปทหารเรือเราก็จะมอบให้ฝ่ายการฑูตเจรจากันต่อไป.....
วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖
เวลา ๐๒.๐๐ น. ผู้บังคับหมู่เรือได้มาบอก ผู้บังคับหมู่เรือมาบอกยกเลิกคำสั่งสุดท้ายของเขา ม.ปาวี ได้อธิบายแก่เขาว่า ถ้าเราได้ยิงปืนในท่าเรือกรุงเทพ ฯ แม้แต่เพียงนัดเดียวก็จะกลายเป็นสัญญาณให้เกิดการจลาจลอย่างน่ากลัว พวกชาวจีนที่กำลังมั่วสุมประชุมกันเป็นสมาคมลับที่เข้มแข็ง จะถือโอกาสลุกฮือขึ้นทำการปล้นสะดม และเผาผลาญบ้านเรือนของชาวยุโรปตลอดจนพระราชวัง และวังเจ้านาย เราก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้เกิดการจลาจลขึ้นโดยไม่สามารถปราบปรามลงได้..... ควรจะได้หาทางทำสัญญาสงบศึกเสีย โดยเริ่มเจรจาทำความตกลงกัน.....
.....เวลา ๐๘.๐๐ น. หมู่เรือฝรั่งเศสได้ชักธงราวแต่งเรือเป็นเกียรติในวันชาติ ตามกฎธรรมเนียมแห่งมารยาท เรือต่างประเทศที่จอดอยู่ในลำน้ำทุกลำก็ชักธง แต่งเรือให้เป็นเกียรติแก่เรา เรือกลไฟลำใหญ่ของไทยซึ่งทอดสมออยู่ใกล้ ๆ กับเราก็ได้ชักธงฝรั่งเศสให้ด้วย ทราบมาว่าข้าศึกของเราเมื่อวานนี้ จำนวนหลายลำที่ถูกยิงอย่างฉกรรจ์จนไม่สามารถแล่นขึ้นมาได้ต้องเกยตื้นอยู่แถวล่าง ๆ ก็ยังได้ชักธงราวแต่งเรือให้เป็นเกียรติแก่เรา.....
ฯลฯ
บัดนี้เราพอจะทราบถึงแผนการป้องกันของฝ่ายไทยได้บ้างแล้ว ทั้งมูลเหตุที่ทำให้เกิดการสู้รบกันขึ้น..... พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงใช้โวหารแบบการฑูตของชาวตะวันออก ได้ทรงประกาศแต่เพียงว่า ที่เกิดการรบขึ้นนี้เนื่องจากการเข้าใจผิด.....
นับตั้งแต่เดินทางออกจากไซ่ง่อน นาวาโทโบรีก็อยู่ในทะเล ห่างไกลการติดต่อทั้งสิ้น โทรเลขทางราชการที่ส่งมาเพื่อเพิ่มเติมว่าให้จอดรออยู่ที่สันดอนนั้น เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ของไทย ก็เพิ่งส่งเข้ามาให้ทราบ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่ได้ทำการรบกันแล้ว โทรเลขของผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกลก็มาถึงโดยล่าช้าเช่นกัน ม.ปาวีคนเดียวเท่านั้น ที่สามารถปัดเป่าความยุ่งยากที่เกิดขึ้นใหม่นี้ กระนั้น จดหมายของ ม.ปาวีเองที่รวมอยู่ในถุงไปรษณีย์อันใหญ่โตก็ไม่ได้สังเกตเห็น เพราะการตรวจแยกหนังสือทำไม่ทันในเย็นวันที่ ๑๓
การที่เรือทั้งสองลำแล่นผ่านสันดอนเข้ามานั้นก็อาศัยข้อความในสนธิสัญญา มิได้มีเจตนาหรือความคิดอันใดที่นะโน้มไปในทางรุกราน..... ประเทศฝรั่งเศสเป็นมหาประเทศ พูดคำไหนต้องเป็นคำนั้น และถ้าตั้งใจจริง ๆ แล้ว คงหาใช่ด้วยเรือปืนเล็ก ๆ เพียงสองลำมีพลประจำเรือเพียง ๑๙๖ คนเท่านั้น ที่ฝรั่งเศสคิดจะโจมตีเมืองที่มีพลเมืองถึง ๓,๐๐๐,๐๐๐ คน และเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย มีพลเมือง ๖,๐๐๐,๐๐๐ คน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ปากน้ำ ในทำนองที่ปล่อยให้เรือแองคองสตังค์ และเรือโคแมตตกอยู่ในหลุมพรางเช่นนี้ หาใช่อื่นไกลไม่ เป็นเพราะรัฐบาลไทยหลงเชื่อคำปรึกษาที่ก่อให้เกิดอันตรายจาก ม.โรแลงยัคเกอแมงส์ และเดอริชลิเออกับพวก.....
ป้อมของฝ่ายไทยสองป้อม คือ ป้อมพระจุลจอมเกล้ามีปืนใหญ่อาร์มสตรอง ชนิดผลุบโผล่ขนาด ๒๑ เซนติเมตร ๙ กระบอก ป้อมผีเสื้อสมุทรมีปืนอย่างเดียวกัน ๘ กระบอก เราจำเป็นต้องผ่านป้อมทั้งสองนี้ในระยะใกล้ ๆ นับเป็นกำลังป้องกันที่แข็งแรงอย่างน่ากลัว กัยแนวกีดขวางที่เรือทุ่นไฟนั้น ก็ได้จัดทุ่นดินระเบิดไดนาไมท์วางไว้เป็นแนว..... พลเรือจัตวา เดอริชลิเออ ยังได้จัดวางเรือรบไว้ถัดจากแนวกีดขวางขึ้นไป โดยจัดเรือเรียงเป็นสองแนวทั้งสองข้างช่องทาง ระยะระหว่างลำ ๑๐๐ เมตร ด้านทิศตะวันตกมีเรือปืนไมดา นฤเบนทร์บุตรี มูรธาวสิตสวัสดิ์ และเรือฝึกนักเรียนชื่อทูลกระหม่อม ด้านทิศตะวันออกมีเรือปืนหาญหักศัตรู เรือกลไฟชื่อเกาะสีชัง ฟิลลาแกลดิส ซึ่งมีทหารปืนเล็กอยู่ในเรือ และเรือปืนลำใหญ่ชื่อมกุฏราชกุมาร กองทหารบนบกใช้ปืนมันลิเดอร์ขนาด ๘ มิลลิเมตร แบบสมัยใหม่ จ่ายให้ประจำอยู่ตามป้อม ่และตามตำบลริมแม่น้ำ
พลเรือจัตวา เดอ ริชลิเออ สัญชาติเดนมาร์ค เป็นผู้อำนวยการป้องกันปากน้ำ มิสเตอร์ เวสเตนโฮลซ์ สัญชาติเดนมาร์ค ผู้จัดการรถรางในกรุงเทพ ฯ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายตอร์ปิโด ซึ่งมีสถานียิงอยู่บนเรือกลไฟ ขนาดย่อมจักรท้าย เรือนี้ทอดสมออยู่ทางฝั่งขวา ถัดจากแนวกีดขวางขึ้นไปเล็กน้อย แนวของตอร์ปิโด ซึ่งมีลักษณะเป็นทุ่นระเบิดบรรจุดินระเบิดไดนาไมท์วางเป็นรูปครึ่งวงกลมปิดอยู่เต็มแนวกีดขวาง ซึ่งมีช่องว่างกว้าง ๘๐ เมตร เปิดให้เรือเดินเข้าออกได้
ฯลฯ
เรือมกุฏราชกุมารถูกยิงหลายแห่งโดยปืน ฮอทช์กิส กระสุนปืนใหญ่ขนาด ๑๐ เซนติเมตร ยิงถูกเครื่องกว้านสมอ ในจำนวนทหาร ๘๐ คนนั้น มีตาย ๑๒ คน บาดเจ็บ ๒๐ คน..... เรือนี้ต้องเกียตื้นเพื่อซ่อมที่ตำบลบางคอแหลม
เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ ซึ่งถูกแองคองสตังค์ เบียดจนเสาธงหักไปเวลาเข้ามาทางท้ายเรือแองคองสตังค์ นั้น ได้ถูกกระสุนปืนใหญ่หนึ่งนัดเจาะทะลุห้องเครื่องทั้งสองข้าง ถูกกระสุนปืน ๑๐ เซนติเมตร หนึ่งนัดที่ตอนหน้าสะพานเดินเรือ กับมีรอยกระสุนปืน ฮอทชกิส อีกหลายแห่ง เรือนี้จึงต้องแล่นเกยตื้นเพื่อมิให้จม
เรือทูลกระหม่อมถูกกระสุนปืนขนาด ๑๐ เซนติเมตร ของเรือโคแมตที่ตัวเรือเข้าอย่างจัง
เรือหาญหักศัตรู ถูกยิงที่กราบซ้ายเรือมีช่องโหว่
เรือไมดาได้รับความเสียหายมากเช่นกัน
ป้อมผีเสื้อสมุทรได้รับความเสียหายอย่างเห็นได้ชัดจากกระสุนปืนเมลิไนท์ของเรือโคแมต หลังคาเหล็กของปืนสี่กระบอกทางด้านตะวันออก ได้ถูกยิงยุบลงมาทับตัวปืนทำให้ปืนเคลื่อนไหวไม่ได้
ป้อมพระจุลจอมเกล้า ถูกยิงได้รับความเสียหายจากกระสุนปราย
ฝ่ายไทยอ้างว่ามีทหารตาย ๒๕ คน และบาดเจ็บ ๓๙ คน.....
ชาวยุโรปที่รับราชการในประเทศไทยมีจำนวนมาก จึงได้จ่ายไปประจำตามป้อม และประจำตามเรือต่าง ๆ ได้พยายามทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ การกระทำของเขาเหล่านั้น แม้จะไม่ชอบด้วยกฎแห่งการทำสงคราม..... แต่ทหารชาวพื้นเมืองมิได้ช่วยการปฏิบัติงานของเขาให้เป็นไปด้วยดีได้ ทหารประจำเรือส่วนหนึ่งเป็นชาวเขมร..... นายทหารที่เป็นชนชาติเดินมาร์คหรือเยอรมัน ต้องเล็งยิงปืนเสียเอง หรือเข้าช่วยคนถือท้ายเรืออยู่บ่อย ๆ ทหารประจำเรือบางคนคิดว่าที่ตนมาอยู่ปากน้ำนี้ก็เพื่อรับเสด็จอาร์ชดุก แห่งออสเตรีย ซึ่งมีข่าวว่าจะเสด็จเยี่ยมกรุงเทพ ฯ.....
ท้องแม่น้ำเต็มไปด้วยสิ่งแปลก ๆ นักถ่ายรูป ฝูงชนแต่งกายหลากสี..... ต่างมาชมดูเรือขนาดย่อม ๆ ของฝรั่งเศส.....
ในระหว่างนี้มีการส่งโทรเลขอันยืดยาวไปมากับกรุงปารีส ม.ปาวีพยายามเจรจาและขบปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการยอมยกเมืองหลวงพระบาง การเคารพสิทธิของเราทางฝั่งซ้าย และเกาะในแม่น้ำโขง ซึ่งต้องประชุมหารือโดยไม่หยุดหย่อนกับรัฐบาลไทย เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทย คงจะขุ่นเคืองพระทัยอยู่ไม่น้อย
|