เหตุการณ์ภายหลังการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา

 

การดำเนินการของฝรั่งเศส
คำสั่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศส

เมื่อเกิดการสู้รบกันขึ้นที่ปากน้ำเจ้าพระยาในตอนเย็นวันที่ ๑๓ กรกฎาคม แล้ว ม.ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสได้รายงานเหตุการณ์ไปยังกรุงปารีสโดยทันที และในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ม.เดอ แวลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศสได้โทรเลขมายัง ม.ปาวี มีความว่า
"ให้ท่านขอคำอธิบายจากเสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศโดยทันที ตามเหตุการณ์ที่บอกมาในโทรเลขเมื่อเย็นวานนี้ เราก็ได้แสดงความตั้งใจอย่างสงบของเราแก่รัฐบาลไทยแล้ว และก็ไม่ใช่ไม่รู้ว่าเราได้สั่งไปยังนายพลเรือ ฮูมานน์ นี้แล้ว ให้เรือของเราหยุดอยู่ที่สันดอน เรื่องนี้จะได้ทูลให้พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ทรงทราบเอง"
ในสภาพการณ์เช่นนี้ จึงเป็นกลอุบายแท้ จะหาเหตุผลมาพิสูจน์ไม่ได้

ให้ท่านคัดค้านให้เต็มที่ ยกความรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันนี้ ว่าเป็นการริเริ่มของรัฐบาลไทยดำเนินการขึ้น บรรดาเรือรบให้ทอดสมออยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อถูกโจมตีหรือถูกขู่เข็ญ ให้เริ่มลงมือยิงได้
ทางกรุงเทพ ฯ เหตุการณ์ตึงเครียดมาก ได้พยายามทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายมิให้เกิดการสู้รบกันขึ้นอีก ฝ่ายฝรั่งเศสคงยืนยัน และบีบบังคับให้ไทยตกลงยินยอมตามคำเรียกร้องของตนยิ่งขึ้น โดยมีเรือรบสามลำจอดอยู่ในกรุงเทพ ฯ และยังมีกองเรือในบังคับบัญชาของนายพลเรือ ฮูมานน์ เป็นกำลังคอยสนับสนุนอยู่ในทะเลอีกด้วย เป็นการแสดงกำลังเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการเจรจาทางการฑูตให้แก่ฝรั่งเศส
รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศสแถลงในสภา

วันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสได้ประชุมที่รัฐสภาในกรุงปารีส ได้ถามรัฐบาลถึงเรื่องฝรั่งเศสกับไทย วิวาทบาดหมางกันหลายประการ ม.เดอแวลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศสได้ตอบมีความว่า
ตามที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ดำริเมื่อไม่นานมานี้ ทุกคนคงไม่ลืมมูลเหตุซึ่งทำให้เกิดการวิวาทกัน คำร้องทุกข์ของฝรั่งเศสที่กล่าวว่ารับบาลไทยทำการข่มเหงเราก่อน เหตุอันนี้ใช่แต่รัฐบาลไทยทำการหน่วงเหนี่ยวไม่ยอมทำขวัญราษฎรของเรา ซึ่งได้รับความกดขี่ข่มเหงเท่านั้น รัฐบาลไทยยังบุกรุกล่วงเข้ามาชิงเอาดินแดนของเมืองเขมร และเมืองญวนซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเราไปด้วย ไม่อาจกล่าวได้ว่าไทยได้ตั้งต้นล่วงแดนเข้ามาแต่เมื่อใด เพราะเรานิ่งเฉยเสียช้านานมิได้คิดจัดการป้องกัน ประเทศไทยจึงกล้าหาญให้ทหารเข้ามาตั้งด่านอยู่ห่างกรุงเว้เมืองหลวงของญวน ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร และเข้ามาตั้งด่าน ณ ที่ตำบลอื่น ๆ อีกหลายแห่ง เพื่อจะตัดทางระหว่างตั้งเกี๋ยกับญวนให้ขาดจากกันเสีย รัฐบาลฝรั่งเศสจะนิ่งยอมให้ไทยข่มเหงล่วงแดนอย่างนี้ต่อไปอีกไม่ได้ อนึ่งได้เห็นอยู่เสมอว่า ดินแดนซึ่งตั้งอยู่ฝั่งซ้ายลำน้ำโขงนี้ ควรจะยกเอาเป็นอาณาเขตทางทิศตะวันตกของเมืองทั้งหลายของเรา และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ก่อนนี้ ม.เดอคาสเซ ปลัดกระทรวงประเทศราชก็ได้พูดถึงเรื่องนี้ในที่ประชุมนี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็เห็นชอบด้วยทุกประการ จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้ว ที่ควรจะต้องจัดการเอาตามอำนาจอันชอบธรรมของประเทศฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงได้ตั้งใจจะเอาดินแดนฝั่งซ้ายแห่งลำน้ำโขงกลับคืนมาให้จงได้

การจัดการเรื่องนี้ให้สำเร็จได้นั้นมีอยู่สองทาง เราต้องเลือกเอาทางหนึ่ง ทางหนึ่งย่อมเป็นเกียรติยศและสง่าแก่เรา คือให้กองทัพเรือยกไปกรุงเทพ ฯ แล้วยื่นคำขาดไปยังรัฐบาลไทย ขอให้เรียกทหารไทยทั้งหมดกลับมายังฝั่งขวาของลำน้ำโขง เมื่อทำดังนี้แล้วเห็นว่าการจะสำเร็จได้โดยเร็ว แต่เราไม่สามารถจะห้ามผลอันร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นจากสาเหตุนี้ได้ ด้วยกรุงเทพ ฯ มีประชากรอยู่ถึง ๓๕๐,๐๐๐ คนเศษ รวมคนชาติต่าง ๆ อยู่ในบังคับต่างประเทศด้วย เมื่อเกิดการสู้รบขึ้นในกรุงเทพ ฯ แล้วก็จะเกิดโจรผู้ร้ายปล้นสะดมภ์กันขึ้นวุ่นวายมาก และบางทีเราอาจต้องยึดเอาเมืองและเขตแดนบางแห่งไว้ด้วย ดังนั้น เราก็ต้องยกกองทัพเพิ่มเติมไปอีก รัฐบาลก็จะต้องปรึกษาหารือกับรัฐสภาเสียก่อน เพื่อจะขอทหารและเงิน และในระหว่างนั้น การโจรกรรมปล้นสะดมภ์กัน ก็อาจเป็นเหตุให้ประเทศอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในการป้องกันคนในบังคับของเขา อนึ่ง เมื่อต้องมีการรบกันขึ้นที่กรุงเทพ ฯ แล้วก็อาจเป็นเหตุทำลายความเป็นเอกราชของประเทศไทยเสียได้ แต่การนี้เรามิได้มุ่งหมายจะทำลายเสียเอง เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้วนี้ รัฐบาลจึงมิได้ยกกองทัพเรือเข้าไปในกรุงเทพ ฯ
เราจึงได้เลือกเอาแนวทางอื่น คือรัฐบาลได้สั่งให้ผู้สำเร็จราชการเมืองญวน เขมร และตังเกี๋ย รวบรวมทหารญวนไว้ตามแต่จะได้ แล้วให้ยกจากเมืองไซ่ง่อนไปเมืองเว้ ไปยังลำน้ำโขง ให้ก้าวสกัดไล่ต้อนทหารไปให้หมด การนี้ก็น่าจะเร็วได้ดังประสงค์ ทหารไทยมิใคร่ได้ต่อสู้กับทหารของเรา เราจึงตีเอาเขตแดนกลับคืนมาได้โดยยาว ประมาณ ๓๐๐ ไมล์ ถึงกระนั้นก็ดี ก็ยังเกิดการสู้รบกันถึงสองครั้ง ด้วยทหารไทยที่ถอยไปจากดอนสาครนั้น กลับพยายามจะเข้าตีกลับคืน แล้วจับเอาร้อยเอกโทเรอซ์กับทหารไปได้ จึงได้มีคำสั่งให้ ม.ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสให้แจ้งความต่อรัฐบาลไทยว่า ถ้าไทยไม่ปล่อยร้อยเอกโทเรอซ์แล้ว ก็ให้ ม.ปาวี ลาออกจากกรุงเทพ ฯ ให้เชิญราชฑูตไทยประจำกรุงปารีสมาพบ และแจ้งว่าถ้าไม่ปล่อยร้อยเอกโทเรอซ์แล้ว ตัวราชฑูตก็จะต้องออกจากกรุงปารีสเช่นกัน แล้วรัฐบาลก็ได้รับคำปฏิญาณจากรัฐบาลไทยว่า จะปล่อยตัวร้อยเอกโทเรอซ์ และก็ได้รับการปล่อยตัวมา ต่อมาอีกครั้ง ม.โกรสกูแรง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้รับคำสั่งให้พาข้าหลวงไทยคนหนึ่ง (พระยอดเมืองขวาง) ส่งกลับไปให้พ้นแดนเพื่อจะได้ป้องกันมิให้ราษฎร ซึ่งมีน้ำใจเจ็บแค้นทำอันตรายได้ตามทาง ข้าหลวงไทยผู้นั้นกลับลอบสั่งให้ทหารเข้าไปฆ่า ม.โกรสกูแรง ถึงในที่พัก...รัฐบาลไทยมิได้โต้แย้งว่าไม่ผิดเลย แต่ขอผลัดเวลาไต่สวน ถ้าได้ความจริงก็จะยอมทำขวัญตอบแทนให้ ในระหว่างนี้เราเห็นว่าควรจะต้องเจรจากันในปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนลำน้ำโขง และเรื่องอื่น ๆ ที่ยังค้างอยู่ให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกัน แต่ไม่เห็นควรที่จะเจรจาตกลงกันที่กรุงปารีส จึงตั้งให้ ม.เลอมีร์ เดอ วิเลร์ส เป็นอัครราชฑูตพิเศษเข้าไปกรุงเทพ ฯ ..... ได้ออกเดินทางจากกรุงปารีสเมื่อวันเสาร์ในสัปดาห์ก่อน จะได้ให้เรือรบไปรับที่เมืองสิงคโปร์ส่งไปกรุงเทพ ฯ

เราแน่ใจว่าการเจรจาปรึกษาปรองดองกันนี้ จะตกลงกันได้โดยเร็ว เผอิญมาเกิดเหตุร้ายเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม..... ในเรื่องนี้คนทั้งหลายพากันติว่าข้าพเจ้าได้แสดงความนบนอบอ่อนน้อมต่อรัฐบาลอังกฤษมากเกินไป..... มีผู้ถามว่าได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ต่อรัฐบาลอังกฤษอย่างไรบ้าง... รัฐบาลอังกฤษมิได้ขอคำมั่นสัญญาอะไร...เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ค.ศ.๑๘๙๒ ลอร์ดโรส เบอรี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษได้บอกแก่ ม.เวดดิงตอน เอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงลอนดอนว่า อัครราชฑูตไทยประจำกรุงลอนดอน ได้มาหาลอร์ดโรสเบอรีร้องว่า ฝรั่งเศสบุกรุกล่วงเข้ามาแย่งชิงเอาดินแดนลำน้ำโขง ลอร์ดโรสเบอรีจึงตอบว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเรื่องนี้ ต่อมาลอร์ดดัฟเฟอรีน เอกอัครราชฑูตอังกฤษประจำกรุงปารีสแจ้งว่า การพิพาทระหว่างฝรั่งเศสกับไทยด้วยเรื่องเขตแดนนั้น อังกฤษจะไม่เข้ามาขัดขวาง..... ประเทศฝรั่งเศสไม่มีเจตนาจะคิดทำลายความเป็นเอกราชของไทย รัฐบาลฝรั่งเศสคิดแต่จะจัดการช่วยประชาชนทั้งหลายให้พ้นภัยอันตรายเท่านั้น ด้วยประเทศฝรั่งเศสได้เสียทหารและเงิน เพราะการช่วยคนเหล่านี้มามากแล้ว
ต่อมา บรรดาหนังสือพิมพ์พากันลงข่าวอันน่าตกใจ เป็นเหตุให้มหาชนในยุโรป พากันแตกตื่นมากมาย มีคนประเทศอังกฤษ และฮอลแลนด์เป็นต้น ลงข่าวว่ากองทัพเรือฝรั่งเศสได้ยกไปยังกรุงเทพ ฯ แล้ว และจะเข้ามายิงกรุงเทพ ฯ เมื่อเป็นดังนั้น จึงเห็นว่าเราควรจะต้องบอกให้รัฐบาลอังกฤษ และรัฐบาลฮอลแลนด์ทราบว่า เรามิได้มีความประสงค์จะมีคำสั่งให้ลงมือทำการเช่นนั้นเลย และถ้าหากเราจำต้องทำดังนั้น ก็จะต้องบอกให้รัฐบาลทั้งสองทราบล่วงหน้าก่อน ใช่แต่เท่านั้นรัฐบาลก็จะต้องขออนุญาตต่อที่ประชุมนี้เสียก่อนเหมือนกัน..... อนึ่ง อังกฤษก็ได้ให้เรือรบเข้าไปจอดอยู่ในกรุงเทพ ฯ ลำหนึ่งแล้ว และกำลังแล่นไปกลางทางอีกลำหนึ่ง และยังจะไปเพิ่มเติมอีกลำหนึ่ง รวมสามลำด้วยกัน ข้าพเจ้าได้มีโทรเลขไปยังผู้รักษาราชการแทนเอกอัครราชฑูตของเรา ในกรุงลอนดอนว่า เมื่อวานนี้ เซอร์ เอดเวิร์ด เกรย์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้พูดประกาศในรัฐสภาด้วยเรื่องไทยกับฝรั่งเศสนั้น เห็นว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องชี้แจงเรื่องพิพาทกับไทยต่อ ลอร์ดโรสเบอรีว่า ฝรั่งเศสจะต้องจัดการห้ามมิให้ไทยบุกรุกล่วงดินแดนเข้ามาอีกได้..... ขอให้รัฐบาลของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระราชินีอังกฤษพึงเข้าใจว่า เราจะนิ่งเฉยอยู่อีกไม่ได้แล้ว..... จำเป็นจะต้องลงมือโดยเรี่ยวแรง ที่จะให้รัฐบาลไทยยอมตามคำขอร้องอันยุติธรรมของเราให้จงได้

เมื่อประเทศไทยเห็นว่า กระทรวงต่างประเทศอังกฤษได้พูดประกาศในรัฐสภาว่าด้วยเรื่องที่จะให้เรือรบอังกฤษ เข้าไปกรุงเทพ ฯ นั้น ไทยก็คิดกล้าขึ้นในการสู้รบต่อไป..... เพราะ เซอร์ เอด เวิร์ด เกรย์ และ ลอร์ด ดัฟเฟอรี ได้กล่าวถ้อยคำไว้อย่างหนึ่ง ทำให้เราเชื่อว่ารัฐบาลของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระราชินีอังกฤษ จะนิ่งอยู่เป็นกลางไม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยการพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเลย
.....ลอร์ด โรส เบอรี ตอบว่า การที่อังกฤษให้เรือรบเข้าไปกรุงเทพ ฯ นั้น ไม่ได้คิดจะเข้าไปช่วยประเทศไทยเลย ไปเพื่อประสงค์จะให้เข้าไปป้องกันคนในบังคับอังกฤษ เมื่อมีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นเท่านั้น ฝ่ายรัฐบาลฝรั่งเศสจึงเห็นว่าควรจะให้เรือรบฝรั่งเศสเพิ่มเติมเข้าไปในกรุงเทพ ฯ บ้างเหมือนกัน ครั้นวันที่ ๘ กรกฎาคม จึงมีคำสั่งทางโทรเลขไปยัง ม.ปาวี ราชฑูตของเราที่กรุงเทพ ฯ..... ขอให้แจ้งความแก่รัฐบาลไทยทราบว่า เรือรบฝรั่งเศสจะเข้ามารวมกับเรือลูแตงอีก..... อย่าให้เรือรบลงมือรบเป็นอันขาด เว้นไว้แต่ได้บอกมาให้รัฐบาลรู้เสียก่อนเท่านั้น แต่ถ้าฝ่ายศัตรูยิงเราก่อนจึงให้ยิงตอบโต้ป้องกันตัว ต่อมาอีกสองวันรัฐบาลไทยจึงแจ้งความว่า ไทยจะให้นานาประเทศส่งเรือรบเข้ามาในกรุงเทพ ฯ ประเทศละหนึ่งลำเท่านั้น.....
เมื่อเราต้องรักษาอำนาจอันชอบธรรมอันมีอยู่ตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีในปี ค.ศ.๑๘๕๖ นั้น จึงได้มีคำสั่งไปว่า อย่าเพิ่งให้เรือรบของเราแล่นล่วงสันดอนไปก่อนที่เราจะได้สั่งต่อไปภายหลัง แต่การบอกข่าวไปมาต่อประเทศไทยนั้น ย่อมชักช้าไม่เรียบร้อยเสมอได้ คำโทรเลขจึงมิได้ไปถึงทันเวลา เมื่อการเป็นดังนี้แล้วมีเหตุอันใดเกิดขึ้นเลย ป้อมไทยและเรือรบไทยก็ยิงเรือเรา คือเรือแองคองสตังต์และเรือโคแมต ฝ่ายพวกทหารเรือของเราก็กล้าหาญ สามารถแล่นเรือฝ่าตอร์ปิโดเข้าไป ข้ามสันดอนมิได้มีสิ่งใดขัดขวาง แล้วแล่นเลยไปจอดทอดสมออยู่ในกรุงเทพ ฯ ม.ปาวี และรัฐบาลไทยก็รู้ชัดอยู่แล้ว การที่เราให้เรือรบเข้าไปนั้น ก็มีความมุ่งหมายต่อทางพระราชไมตรีอย่างเดียวเท่านั้น ฝ่ายรัฐบาลไทยก็ยอมรับอยู่ว่า หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ปี ค.ศ.๑๘๕๖ ซึ่งยังมิได้เลิกถอนคงใช้อยู่เสมอ ถึงกระนั้นก็ดียังกลับมีคำสั่งให้ยิงเรือรบของเรา เหตุฉะนี้จึงขอประกาศว่า นายเรือของเรากลับต้องเป็นเหยื่อในการสู้รบ ซึ่งเป็นเหตุทำลายล้างอำนาจอันชอบธรรมของนานาประเทศ ครั้นรุ่งขึ้น พวกไทยในกรุงเทพ ฯ กลับจมเรือ ยี.เบ.เซย์ ซึ่งเป็นเรือค้าขายของคนฝ่ายเราเสีย แล้วกลับทำการข่มเหงพวกกลาสีต่าง ๆ อีก
ความจริงเกิดขึ้นดังนี้แล้ว บัดนี้เราจะต้องคิดทำการอย่างใดต่อไป การที่รัฐบาลไทยกระทำลงแล้วนั้น ไม่อาจที่จะทำให้เรานิ่งอยู่ต่อไปอีกได้ เราจะต้องรู้โดยทันทีว่า รัฐบาลไทยจะยอมให้สิ่งตอบแทนอันพอใจแก่เราหรือไม่ ในเหตุที่เกิดขึ้นแล้วในลำน้ำโขง การฆ่า ม.โกรสกูแรง และการทำลายหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ค.ศ.๑๘๕๖ นี่เป็นการขอเล็กน้อย ที่เป็นเกียรติยศของประเทศฝรั่งเศสและผลประโยชน์ของเมืองขึ้นของเราในทิศตะวันออกจะต้องร้องขอเอา เรามิได้มีความมุ่งหมายจะคิดทำลายล้างความเป็นเอกราชของประเทศไทย แต่เรามีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะต้องได้รับคำตอบที่พึงพอใจ ถ้ามิยอมให้แล้ว ก็จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องคิดการสืบไป พึงให้ความไว้วางใจในความคิดของรัฐบาล จงทุกท่าน
ฝรั่งเศสยื่นคำขาด

 

ภายหลังการประชุมหารือกันในรัฐสภาฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ รัฐสภาได้ลงมติมอบอำนาจให้รัฐบาลฝรั่งเศส จัดการให้รัฐบาลไทยรับรอง และเคารพสิทธิของฝรั่งเศส ตามคำแถลงของ ม.เดอแวลล์ ดังนั้นในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ม.เดอแวลล์ จึงได้โทรเลขถึง ม.ปาวี ให้ยื่นคำขาดแก่รัฐบาลไทยมีความดังนี้
"ณ บัดนี้พอจะรู้ได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ร้ายแรงเพียงใด รัฐบาลไทยจะต้องรับผิดยิ่งขึ้น ไปอีกอย่างไรนอกจากที่เคยทำกับเรามาแล้ว เราควรคำนึงตามที่ชอบด้วยว่า หน้าที่รัฐบาลไทยจะต้องรีบคิดจัดการแก้ไขฐานะความเป็นไปนี้เสียโดยเร็ว แต่ตรงกันข้าม..... รัฐบาลไทยยังขืนทำโอ้เอ้ขัดต่อการที่เราเรียกร้องไป เราจะปล่อยให้เป็นไปดังนี้ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว
ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ให้ไปเฝ้ากรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ ชี้ให้เห็นเป็นครั้งสุดท้ายถึงข้อร้ายแม้ตามความสัตย์จริง เรามิได้คิดจะขู่เข็ญความเป็นเอกราชของไทย ก็อาจทำให้ไทยหมิ่นอันตรายหากไม่ยอมทำตามที่เราเรียกร้องไปโดยทันที ให้นำข้อความนี้ไปแจ้งให้ทราบ
รัฐบาลฝรั่งเศสบังคับดังต่อไปนี้

(๑) ให้เคารพสิทธิของญวน และเขมร เหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายลำน้ำโขง และเกาะต่าง ๆ ในลำน้ำนี้
(๒) ให้ถอนทหารไทยที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกิน หนึ่งเดือน
(๓) ให้เสียค่าปรับไหมแก่ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วน และทั้งในการที่ได้ทำอันตราย และความเสียหายแก่เรือและทหารประจำเรือฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา
(๔) ให้ลงโทษผู้กระทำผิดและเสียเงินค่าทำขวัญแก่ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต
(๕) ให้เสียเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ เป็นค่าปรับไหมในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดแก่ชนชาติฝรั่งเศส
(๖) ให้จ่ายเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ ชำระเป็นเงินเหรียญโดยทันที เป็นมัดจำการจะชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ และเงินค่าทำขวัญ หรือถ้าไม่สามารถก็ต้องยอมให้รัฐบาลฝรั่งเศสมีสิทธิเก็บภาษีอากรในเมืองพระตะบอง และเสียมราฐ
ให้รัฐบาลไทยตอบให้ทราบภายใน ๔๘ ชั่วโมง ว่าจะรับปฏิบัติตามนี้ได้หรือไม่
ในกรณีนี้ เมื่อมีการตกลงอย่างไร จงทำเป็นหนังสือสัญญาไว้

ถ้ารัฐบาลไทยไม่ตอบ หรือผัดเพี้ยนไม่ยินยอม เมื่อสิ้น ๔๘ ชั่วโมงแล้ว ให้ออกจากกรุงเทพ ฯ และไปขึ้นพักบนเรือฟอร์แฟต์ (ที่คอยอยู่นอกสันดอน) ไปพลางก่อน แล้วจึงทำการปิดอ่าวไทยโดยทันที
หากว่าในระหว่างที่ท่านโดยสารเรือออกจากกรุงเทพ ฯ มาสันดอน ฝ่ายไทยทำการรุกรบ ให้แจ้งแก่รัฐบาลไทยว่า เราจะต้องกระทำตอบทันที
เมื่อ ๔๘ ชั่วโมงไปแล้ว ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลไทยให้เป็นที่พอใจ ให้มอบหมายการปกปักรักษาผลประโยชน์ของชนชาติฝรั่งเศส ไว้แก่กงสุลเยเนอราลฮอลแลนด์ และการอันใดที่จะพึงปฏิบัติแก่รัฐบาลไทยสถานใดนั้น เห็นสมควรอย่างไรจงสั่งเสียให้ผู้ที่ร่วมงานในครั้งนี้ทราบโดยทั่วกัน
ให้ท่านกับเรือปืนสามลำไปรวมอยู่ที่เรือฟอร์แฟต์ และให้แจ้งไปให้พลเรือตรีฮูมานน์ทราบไว้ ส่วนพลเรือตรีฮูมานน์นั้นจะได้รับคำสั่งอันจำเป็นต่างหาก
มั่นใจว่าอาศัยความชำนิชำนาญ และความเสียสละให้แก่ชาติ จะเป็นปัจจัยช่วยให้ การปฏิบัติการตามหน้าที่จะสงวนประโยชน์ที่มีอยู่ในโอกาสเช่นนี้ไว้ได้ ด้วยความพินิจพิจารณาของท่าน"
ไทยตอบคำขาด

 

ม.ปาวีได้รับคำตอบจากรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า
"เพื่อตอบสนองหนังสือที่ได้ยื่นมาตามคำสั่งรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันพฤหัสบดี (๒๐ กรกฎาคม) เวลา ๑๘.๔๕ น. นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้แจ้งให้ทราบดังนี้
(๑) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรู้สึกเสียพระทัยที่ยังไม่ได้รับคำอธิบายอย่างแจ่มแจ้งของประโยคที่ว่า "สิทธิของญวน และเขมรเหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะต่าง ๆ" ในข้อนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระทัยอยู่เหมือนกันว่า จะยอมโอนกรรมสิทธิดินแดนส่วนใด ๆ ให้ ถ้าหากฝรั่งเศสแสดงให้เห็นโดยเด่นชัดว่าญวนและเขมรมีสิทธิโดยชอบอยู่ อยู่เหนือดินแดนนั้นอย่างไร ทั้งนี้เป็นเวลา ๕ เดือนมาแล้วที่รัฐบาลไทยขอร้องให้นำกรณีพิพาทนี้ขึ้นสู่อนุญาโตตุลาการ
อาศัยความจำเป็นในโอกาสนี้ และด้วยความมุ่งหมายที่จะให้สันติภาพเกิดแก่อาณาประชาราษฎร์ และให้เกิดความปลอดภัยแก่ผลประโยชน์ทางพาณิชยการที่ต่างประเทศได้กระทำอยู่ในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยอมรับว่า ในการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับญวน และเขมรนั้น บรรดาดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่อยู่ทางใต้เส้น แลต. ๑๘ น. รัฐบาลไทยยอมยกให้เป็นดินแดนส่วนแม่น้ำโขงตอนใต้แลต.๑๘ น. ลงมาจนถึงตอนที่ไหลเข้าไปในดินแดนเขมรนั้นให้ถือเป็นเส้นปันเขตแดน และที่อาศัยเกาะเหล่านี้เพื่อประโยชน์ในการเดินเรือควรให้ใช้ร่วมกันได้ทั้ง ๓ ประเทศ (ไทย ญวน เขมร )
(๒) กองทหารไทยที่ตั้งอยู่ในดินแดนที่ระบุไว้ในข้อ (๑) จะได้ถอยกลับมาสิ้นภายใน ๑ เดือน
(๓) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอแสดงความเสียพระทัย ในกรณีอันนำมาซึ่งความเสียหายร่วมกันแก่ฝ่ายไทยและฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วน (แก่งเจ๊ก) และทั้งที่ได้เกิดกระทบกระทั่งกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาด้วย
จะได้ปล่อยตัวบางเบียนไป และปฏิบัติตามคำเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศสอื่น ๆ ด้วย ถ้าเห็นว่าจำเป็น โดยอนุโลมตามลักษณะแห่งความยุติธรรม และตามความเป็นเอกราชของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสว่าจะเคารพนั้น
(๔) บุคคลใดที่ต้องหาว่าได้ทำการย่ำยีชนชาติฝรั่งเศสเป็นการส่วนตัวในคดีใดก็ดี อันปรากฏว่าละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมือง หรือกฎหมายระหว่างประเทศ ก็จะลงโทษตามรูปคดีนั้น ๆ หรือหากว่าสมควรจะชดใช้เป็นค่าทำขวัญ ก็จะได้ชำระให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตนั้นให้เสร็จสิ้นไป
(๕) รัฐบาลฝรั่งเศสกับรัฐบาลไทยได้โต้แย้งกันมาเป็นเวลานานในเรื่องเกี่ยวกับชนชาติฝรั่งเศส ขอเรียกร้องให้ชำระเงินที่ตนต้องได้รับความเสียหาย เพราะข้าราชการไทยดำเนินการผิดนั้น ข้อนี้ในนามแห่งรัฐบาลไทยขอปฏิเสธว่า ไม่ใช่ความผิดของข้าราชนั้น ๆ
บัดนี้เมื่อได้ยินยอมปรองดองไปตามที่ได้ชี้แจงไปแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าไม่ควรยึดหลักอันใดมาคัดค้าน จึงยอมชำระเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ ให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศสเท่าที่ได้เสียหายไปในกรณีที่ได้ระบุมาแต่ข้างต้นนั้น อนึ่ง รัฐบาลไทยมีความเห็นว่า ชอบที่จะจัดตั้งกรรมาธิการผสมพิจารณาเงินค่าทำขวัญในกรณีที่ได้อ้างมาในข้อ (๔) นั้น
(๖) ที่จะให้จ่ายเงินจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ เป็นเงินเหรียญโดยทันทีที่เพื่อมัดจำในการที่จะต้องชดใช้ค่าทำขวัญ และค่าปรับไหม ดังนั้น ถ้าได้พิจารณาให้ละเอียดเป็นราย ๆ ตามสมควรแก่การแล้ว รัฐบาลไทยเชื่อในความยุติธรรมของรัฐบาลฝรั่งเศสว่า จะได้รับเงินจำนวนที่เหลือคืนจากที่ได้จ่ายไปจริง เท่าที่ได้เรียกร้องในกรณีทั้งปวงโดยครบถ้วน
เท่าที่ได้ยินยอมไปตามที่รัฐบาลฝรั่งเศสเรียกร้องมาตามคำแถลงข้างบนนี้ รัฐบาลไทยมั่นใจว่าคงจะพอเป็นเครื่องแสดงให้เห็นชัดว่า รัฐบาลไทยยังมีความปรารถนาที่จะอยู่ในความสามัคคีกับประเทศฝรั่งเศส และข้อพิพาทในระหว่างรัฐบาลทั้งสองที่คั่งค้างอยู่ สำเร็จเสร็จสิ้นไปโดยบริบูรณ์"
ฝรั่งเศสตัดสัมพันธ์ทางการฑูต

เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทยได้รับหนังสือ ม.ปาวี ในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม รวม ๓ ฉบับ มีใจความดังนี้
ฉบับที่ ๑

"ข้าพระพุทธเจ้าขอตอบรับคำตอบ ซึ่งฝ่าพระบาทในนามของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทย ได้ตอบสนองแก่สาส์นที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายแก่ฝ่าพระบาท ในนามรัฐบาลฝรั่งเศส
ข้าพระพุทธเจ้าขอรับทราบไว้ และพิจารณาเห็นว่า จะไม่ขอเจรจาในประเด็นข้อใด ๆ อีกเลย คำตอบสนองนี้ถือว่ายังขัดขืนไม่ยอมมอบดินแดนส่วนใหญ่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ "
ฉบับที่ ๒
"เนื่องจากหนังสือของข้าพระพุทธเจ้าลงวันนี้ ซึ่งได้รับทราบคำตอบสนองของรัฐบาลไทยแก่คำขอร้องของฝรั่งเศส เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลของฝรั่งเศส จึงขอทูลให้ทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้มอบหมายการปกปักรักษา และการคุ้มครองชนชาติฝรั่งเศส และคนในบังคับฝรั่งเศสไว้ให้แก่กงสุลเยเนอราลฮอลแลนด์ และตัวข้าพระพุทธเจ้าจะได้โดยสารเรือแองคองสตังต์ออกไปในวันที่ ๒๖ กรกฎาคมนี้"
ฉบับที่ ๓
"เนื่องจากเรือฝรั่งเศสสามลำจะออกไป ขอได้โปรดจัดการให้นำร่องสามคนไปรับใช้นาวาโท โบรี ในวันที่ ๒๕ เวลาเย็น"
ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม กรมหลวงเทวะวงศ์ ได้ตอบหนังสือสามฉบับของ ม.ปาวี มีความว่า
"ได้รับหนังสือของท่านที่ส่งมาซ้อน ๆ กัน รวม ๓ ฉบับ ลงวันที่เมื่อวานนี้ (วันที่ ๒) แล้ว
ในหนังสือของท่าน ฉบับที่ ๑ ท่านกล่าวว่าจะไม่ขอเจรจาในประเด็นข้อใด ๆ อีกเลย เพราะคำตอบสนองนี้ยังขัดขืนไม่ยอมมอบดินแดนส่วนใหญ่ บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้แด่ท่านให้รัฐบาลของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคารพ (acknowlegement) สิทธิของญวนและเขมร บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และเกาะแก่งต่าง ๆ
คำตอบของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นอันว่าไม่สามารถที่จะเคารพได้โดยแท้ เพราะไม่ได้ให้คำอธิบายชัดเจน ฉะนั้นคำตอบของเราในข้อหนึ่งจึงต้องยุติกันเพียงเท่านั้น แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ไกลกว่านี้ โดยที่มิปรารถนาที่จะแสดงถึงเจตนาอันชอบโดยทันที และโดยน้ำใสใจจริงจึงได้แถลงว่า ยินดีให้ญวนและเขมรมีอธิปไตยเต็มที่เหนือดินแดนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แต่เพียงเท่าที่ตามบริเวณกองทหาร ซึ่งทหารไทยได้ตั้งมั่นยึดไว้ และได้เกิดพิพาทกันรายที่แล้ว ๆ มาก็หาไม่ ยังรวมยกเอาเมืองสตึงเตรง และเมืองโขง (สีทันดร) อันเป็นที่ไทยมีอธิปไตยอยู่โดยชอบธรรมแท้ ๆ ด้วย ถ้าหากว่าเท่านี้ยังไม่เป็นที่พอใจรัฐบาลของท่าน ข้าพเจ้าจำเป็นต้องฝืนให้ท่านอธิบายถึงลักษณะและเขตของสิ่งที่ท่านเรียกว่า "สิทธิของญวนและเขมรเหนือดินแดนบนฝั่งแม่น้ำโขง" นั้น
ตามหนังสือของท่านฉบับที่ ๒ แจ้งให้ทราบว่า..... นั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าพเจ้าแสดงความเสียใจ และความประหลาดใจในการตกลงใจโดยปัจจุบันทันด่วนนี้ และข้าพเจ้าขอร่วมแสดงความเสียใจส่วนตัวมาด้วย ที่สัมพันธ์ฉันท์มิตรในระหว่างเราทั้งสองต้องขาดลง
ตามหนังสือของท่านฉบับที่ ๓ ท่านขอร้องข้าพเจ้าว่า..... ข้าพเจ้าจะจัดการให้ตามประสงค์"
วันที่ ๒๔ กรกฎาคม เวลา ๑๒.๐๐ น. ได้มีการชักธงชาติฮอลแลนด์ขึ้นที่สถานฑูตฝรั่งเศส ม.ปาวี พร้อมด้วยคณะฑูตลงเรือ แองคองสตังต์ เวลา ๑๖.๐๐ น. เรือแองคองสตังต์ เรือโคแมต และเรือลูแตง ออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ เวลา ๑๙.๐๐ น. เรือฝรั่งเศสทั้งสามลำ จอดทอดสมอที่ปากน้ำเจ้าพระยา
วันที่ ๒๖ กรกฎาคม เวลาเช้า พระยาพิพัฒน์โกษา และข้าราชการไทยอีกคนหนึ่งมาที่เรือแองคองสตังต์ เพื่อติดต่อให้ความสะดวกในการที่ราชฑูต และเรือรบฝรั่งเศสจะไปจอดที่เกาะสีชัง เมื่อน้ำขึ้นแล้ว เรือรบฝรั่งเศสทั้งสามลำ ก็ออกเดินทางผ่านสันดอนและจะได้ปฏิบัติการในการปิดอ่าวต่อไป
ฝรั่งเศสปิดอ่าวไทย

 

การประกาศปิดอ่าวไทยครั้งที่ ๑

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม นาวาเอก เรอกุลุซ์ ผู้บังคับการเรือลาดตระเวนฟอร์แฟต์ ซึ่งออกจากไซ่ง่อนติดตามเรือแองคองสตังต์ และเรือโคแมตมา ได้จอดคุมเชิงอยู่ภายนอกสันดอน ตั้งแต่วันที่ ๑๔ กรกฎาคม และได้ส่งทหารหนึ่งหมวด ขึ้นยึดเกาะสีชังเมื่อตอนเช้า แล้วออกประกาศปิดอ่าวไทย มีความว่า
"ข้าพเจ้านาวาเอก ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ เป็นผู้บังคับการกองเรือฝรั่งเศส ทำการอยู่ในอ่าวไทย ตามคำสั่งพลเรือตรี ผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกล ซึ่งอาศัยอำนาจที่มีอยู่ ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า
ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ค.ศ.๑๘๙๓ เวลา ๑๑.๐๐ น. บรรดาเมืองท่าตามทางเดินเรือเข้าออกชายฝั่งและเกาะต่าง ๆ ของประเทศไทยที่อยู่ระหว่างแหลมเจ้าลาย และแหลมกระบังขึ้นไปทางเหนือ (แหลมเจ้าลายอยู่ที่เส้นรุ้ง ๑๓ องศา ๐๒ ลิบดาเหนือ เส้นแวง ๙๗ องศา ๔๓ ลิบดา ตะวันออก เมอริเดียนปารีส และแหลมกระบังอยู่ที่เส้นรุ้ง ๑๓ องศา ๐๕ ลิลดาเหนือ และเส้นแวง ๙๘ องศา ๓๑ ลิบดา ตะวันออก เมอริเดียน ปารีส) จะเป็นเขตที่กองเรือในบังคับบัญชาของข้าพเจ้าทำการปิดอ่าวโดยแท้จริง บรรดาเรือของชาติที่เป็นไมตรีกันให้เวลาอีกสามวัน เพื่อถอยออกไปจากตำบลที่ปิดอ่าวนี้
เรือใดที่พยายามฝ่าฝืน จะได้จัดการไปตามนัยแห่งกฎหมายระหว่างประเทศและสัญญาทางไมตรีที่ใช้อยู่กับประเทศเป็นกลาง ณ ปัจจุบันนี้"
ประกาศปิดอ่าวไทยครั้งที่ ๒

 

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม เมื่อพลเรือตรี ฮูมานน์ ผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกลมาถึงเกาะสีชัง ก็ได้ออกประกาศปิดอ่าวฉับบที่ ๒ แก้ไขประกาศปิดอ่าวฉบับที่ ๑ มีความว่า
"ข้าพเจ้า พลเรือตรี ฮูมานน์ ผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกลผู้ลงนามข่างล่างนี้ เนื่องจากฐานะแห่งการตอบแทนกระทำแก่กัน และกันระหว่างฝรั่งเศสกับไทย และโดยอาศัยอำนาจที่มีอยู่ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า
ตั้งแต่วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ค.ศ.๑๘๙๓ ฝั่งและเมืองท่าประเทศไทยตั้งอยู่

(๑) ในระหว่างแหลมเจ้าลาย เส้นรุ้ง ๑๓ องศา ๐๒ ลิบดาเหนือ เส้นแวง ๙๗ องศา ๔๓ ลิบดา ตะวันออก และแหลมกระบัง เส้นรุ้ง ๑๓ องศา ๐๕ ลิบดาเหนือ เส้นแวง ๙๘ องศา ๓๑ ลิบดา ตะวันออก
(๒) ในระหว่างแหลมทิศใต้เกาะเสม็ด เส้นรุ้ง ๑๒ องศา ๓๑ ลิบดาเหนือ เส้นแวง ๙๙ องศา ๐๖ ลิบดา ตะวันออก และแหลมลิง เส้นรุ้ง ๑๒ องศา ๑๑ ลิบดาเหนือ เส้นแวง๙๙ องศา ๕๘ ลิบดา ตะวันออก
จะเป็นเขตที่กองเรือในบังคับของข้าพเจ้าทำการปิดอ่าวโดยแท้จริง บรรดาเรือของชาติที่เป็นไมตรีหรือเป็นกลาง ให้เวลาอีกสามวัน เพื่อบรรทุกสินค้าให้เสร็จ และถอยออกไปนอกเขต เขตปิดอ่าวกำหนดไว้ดังนี้
(๑) เขตที่ ๑ ปิดตั้งแต่เส้นขีดจากแหลมเจ้าลาย ถึงแหลมกระบัง
(๒) เขตที่ ๒ ปิดตั้งแต่เส้นขีดจากเกาะเสม็ด ถึงแหลมลิง

เรือใดที่พยายามฝ่าฝืนการปิดอ่าวนี้ จะได้จัดการไปตามนัยกฎหมายระหว่างประเทศ และสัญญาทางไมตรีที่ใช้อยู่กับประเทศที่เป็นกลาง ณ ปัจจุบัน"
ให้ถุงเมล์ผ่านเข้ากรุงเทพฯ ได้

ได้มีการผ่อนปรนให้ถุงเมล์ผ่านเข้าไปกรุงเทพฯได้ โดยให้ปล่อยเรือที่นำถุงเมล์มาจากยุโรปให้เข้าไปจนถึงท่าจอดเรือเกาะสีชัง ด้วยเหตุผลตามที่พลเรือตรี ฮูมานน์ มีหนังสือแจ้งไปยังกลสุลเยเนราลฮอลแลนด์ที่ว่า เพื่อให้เป็นที่พึงพอใจแก่คณะทูตและกงสุล กับเพื่อไปไม่ให้ขักขวางการติดต่อในทางการค้าของชาวยุโรปในกรุงเทพฯ บรรดาจดหมายและไปรษรีย์ภัณฑ์ดังกล่าวทาง ม.ปาวี จะเป็นผู้จักส่งไปให้โดยเร็วที่สุด
ไทยยอมรับคำขาด

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ได้นำหนังสือยอมรับคำขาดไปยื่นแก่ ม.เดอแวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส มีความว่า
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทย ทรงเสียพระไทยอย่างยิ่ง เมื่อได้ทรงวิจารณ์เห็นว่า คำตอบของรัฐบาลไทยต่อคำเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งได้ยื่นมา ณ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ที่แล้วมา และเงื่อนไขต่างๆ ที่ได้บังคับมานั้น ถือเสมือนว่ายังไม่ให้ความพอใจแก่รัฐบาลฝัร่งเศสเท่าที่เรียกร้องมา ข้าพเจ้าจึงได้รับคำสั่งจากรัฐบาลของข้าพเจ้าให้แจ้งแก่ท่านว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงคำนึงถึงการที่จะรักษาสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสให้ดียิ่งไว้ จึงทรงยอมรับคำเรียกร้องของฝรั่งเศสโดยไม่มีเงื่อนไขอย่างไร
ข้าพเจ้าขอเสนอสาส์นนี้มาเป็นหลักฐาน ตามข้อความที่ท่านให้โอกาสแก่ข้าพเจ้า ได้มาเจรจากับท่านเมื่อเช้านี้ และขอแสดงให้ท่านเห็นอย่างชัดเจนว่า เหตุผลที่ยังให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยอมตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสนั้นอยู่ดังนี้
(๑) เพื่อระงับและขจัดเหตุวุ่นวายที่นับวันจะมียิ่งขึ้นในหมู่ประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งอันตรายได้
(๒) เพื่อความสอบและสันติสุขของพลเมือง
(๓) เพื่อรักษาสันติภาพไว้
(๔) เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการพาณิชย์
(๕) เพื่อผูกความสัมพันธ์ในระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ในทางการทูตที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องขาดสะบั้นลงอย่างสลดใจนั้น
(๖) เพื่อให้สัมพันธ์ไมตรี และความสนิทชิดเชื่ออันมีมาแล้ว ฐานที่เป็นประเทศใกล้เคียง และให้ผลประโยชน์ของประเทศทั้งสองคงเป็นอยู่ดังเดิม
ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้นำข้อความดังกล่าวแล้วมาเรียนท่าน และเพื่อที่จะให้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างไทยกับฝรั่งเศสสิ้นสุดลง ข้าพเจ้าหวังไว้ว่า ทางรัฐบาลฝรั่งเศสคงจะเปลี่ยนคำสั่งที่สมควร อันเกี่ยวกับที่กองเรือฝรั่งเศสทำการปิดอ่าวไทยอยู่ในเวลานี้"
บันทึกคำขาดเพิ่มเติม

ม.เดอแวลล์ ได้ยื่นบันทึกทำนองคำขาดเพิ่มเติมให้ไทยยอมรับ อีกฉบับหนึ่งมีความว่า
"การที่รัฐบาลไทยชักช้าไม่ยอมรับคำเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศส ที่ยื่นไปเมื่อ ๒๐ กรกฎาคม นั้น สมควรที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องทวีข้อมัดจำยิ่งขึ้น
โดยปรารถนาจะให้เป็นพยานแห่งความผ่อนปรน ซึ่งเป็นหลักดำเนินรัฐประศาสน์โนบายของรับบาลฝรั่งเศสเป็นนตย์มา และเห็นว่าจำเป็นที่จะให้รัฐบาลไทยปฎิบัติตามนัย แห่งข้อเรียกร้องทุกๆ ข้อให้ครบ รัฐบาลฝรั่งเศสจะยึดปากน้ำ และเมืองจันทบุรีไว้ จนกว่ากองทหารไทยที่ตั้งมั่นอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจะถอนไปสิ้น และเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นแล้ว
อนึ่ง เพื่อประกับมิตรภาพอันเคยมีมาแล้วระหว่างประเทศทั้งสอง และเพ่มไม่ให้เกิดความยุ่งยากขึ้นในบริเวณทะเลสาบ รัฐบาลไทยจะต้องไม่รวมกำลังทหารใดๆ ไว้ที่เมืองพระตะบองและเสีบมราฐ รวมทั้งเขตที่ตั้งอยู่ในระยะรัศมี ๒๔ กิโลเมตร บนฝั่งขวาแม่น้ำโขงนับแต่ดินแดนเขมรขึ้นไป รัฐบาลไทยจะจัดให้มีกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไว้ได้เท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาความสงบโดยแท้จริงเท่านั้น กับห้ามไม่ให้รัฐบาลไทยใช้หรือให้เรือหรือพาหนะทางเรือใด ๆ ที่ติดอาวุธเดินไปมาในทะเลสาบเขมร และในลำน้ำโขง
รัฐบาลฝรั่งเศส จะสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะตั้งกงสุลไว้ที่เมืองนครราชสีมา และเมืองน่าน
เมื่อรัฐบาลไทยรับปฏิบัติตามนี้แล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสจะได้เลิกปิดอ่าวทันที

วันที่ ๑ สิงหาคม พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ อัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีสได้ไปแจ้งแก่ ม.เดอแวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศว่า รัฐบาลไทยยอมรับคำขาด และบันทึกคำขาดเพิ่มเติมทุกประการ
อังกฤษประท้วงฝรั่งเศสเรื่องคำขาดที่ฝรั่งเศสยื่นให้ไทย

ลอร์ดโรสเบอรี รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอังกฤษ ได้มีคำสั่ง ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ให้ลอร์ด ดัฟเฟอริน เอกอัครราชฑูตอังกฤษประจำกรุงปารีส เปิดการเจรจากับ ม.เดอแวลล์ เรื่องคำขาดที่ฝรั่งเศสยื่นให้ไทย ลอร์ด ดัฟเฟอริน ได้เจรจากับ ม.เดอแวลล์ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม และได้รายงานไปยังลอร์ด โรสเบอรี มีใจความว่า
ได้เจรจาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตีความหมายของคำที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะกำหนดลงในข้อ (๑) แห่งคำขาด อาทิ ขอให้ไทยถือว่า "ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง" เป็นเขตแดนด้านตะวันตกของดินแดนในปกครองของฝรั่งเศสในอินโดจีน ได้ย้ำถึงนัยต่าง ๆ ถึงการใช้คำนี้ จะมิหมายจะเรียกร้องถือสิทธิเหนือดินแดนอันกว้างใหญ่ของไทย ซึ่งแผ่ไปทางทิศตะวันออกจนจดดินแดนญวนเอาเป็นของฝรั่งเศส และหมายไปถึงดินแดนภาคเหนือของแม่น้ำโขงตอนเหนือ และที่ประชิดกับดินแดนประเทศจีน รวมทั้งแคว้นอื่น ๆ อันอยู่ถัดขึ้นไป ซึ่งได้รวมเข้ากับอาณาจักรอินเดียของสมเด็จพระนางเจ้า (อังกฤษ) ภายหลังที่ได้ปราบปรามพม่าลงเรียบร้อยแล้ว
ม.เดอ แวลล์ตอบว่า ฝรั่งเศสกำลังเกี่ยวข้องอยู่กับประเทศไทย ประเทศเดียวเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับดินแดนอื่นนอกไปจากราชอาณาจักรไทย และรับรองว่าตามข่าวที่ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสประสงค