กองกำลังทหารไทยในสงครามเกาหลี
กองกำลังทหารไทยในสงครามเกาหลี
เหตุการณ์ตอนต้นของสงครามเกาหลี
เมื่อเวลา ๐๔.๐๐ น. ของวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓ กองทัพเกาหลีเหนือประกอบด้วย กำลังทหารราบในแนวหน้า ๗ กองพล กองหนุน ๓ กองพล มีกำลังประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน ได้เคลื่อนกำลังผ่านเส้นขนานที่ ๓๘ ลงมายังสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) อย่างจู่โจมโดยที่เกาหลีใต้ไม่ทันรู้ตัว และมีกำลังในแนวหน้าน้อยกว่าฝ่ายเกาหลีเหนืออยู่มาก จึงไม่สามารถยับยั้งการรุกรานดังกล่าวได้ ดังนั้นอีกสามวันต่อมา คือในวันที่ ๒๘ เดือนเดียวกัน ฝ่ายเกาหลีเหนือก็ยึดกรุงโซล นครหลวงของเกาหลีใต้ไว้ได้
คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ได้เปิดประชุมเป็นการฉุกเฉิน เมื่อ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๓ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่นครนิวยอร์ค ได้ประณามการกระทำของเกาหลีเหนือ ที่ยกกำลังทหารบุกรุกเกาหลีใต้ ว่าเป็นการทำลายสันติภาพ และได้ลงมติสองประการ คือ
๑. ให้ทั้งสองฝ่ายหยุดรบทันที
๒. ให้ฝ่ายเกาหลีเหนือ ถอนกำลังกลับไปอยู่เหนือเส้นขนานที่ ๓๘
คณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้ลงมติด้วยว่า ให้บรรดาประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ สนับสนุนมติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ในเรื่องนี้ และมิให้ประเทศใดให้ความช่วยเหลือเกาหลีเหนือ มติคณะมนตรีความมั่นคงมีผู้ออกเสียงสนับสนุน ๙ ประเทศ ไม่มีประเทศใดคัดค้าน งดออกเสียง ๑ ประเทศ และสหภาพโซเวียตไม่เข้าร่วมประชุม
ประเทศที่สนับสนุนมติคณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้แก่ จีน คิวบา เอกวาดอร์ อียิปต์ ฝรั่งเศส อินเดีย นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) และสหรัฐอเมริกา ผู้แทนสหภาพโซเวียตไม่ได้เข้าประชุมในคณะมนตรีความมั่นคงฯ ตั้งแต่ ๑๐ มกราคม ๒๔๙๓ เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้ง จากญัตติที่สหภาพโซเวียตต้องการให้จีนบนผืนแผ่นดินใหญ่ เป็นผู้แทนจีนในสหประชาชาติ แต่สมาชิกส่วนใหญ่ของสหประชาชาติไม่เห็นด้วย ผู้แทนสหภาพโซเวียตจึงไม่ยอมเข้าร่วมประชุม คณะมนตรีความมั่นคงฯ
คณะมนตรีความมั่นคงได้ลงมติฉบับที่ ๒ เมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๙๓ ขอให้ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ส่งทหารไปช่วยเกาหลีใต้ต้านทานการรุกรานด้วยอาวุธของกองทัพเกาหลีเหนือ และผลักดันให้กองทัพเกาหลีเหนือออกจากดินแดนเกาหลีใต้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศในบริเวณนั้น นอกจากนั้น ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้สั่งการอนุมัติให้ พลเอก ดักลาส แมคอาร์เธอร์ (General of the Army Douglas Mac Arther) ในฐานะผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ภาคตะวันออกไกล ใช้กำลังทางอากาศ และกำลังทางเรือ เพื่อผลักดันข้าศึกใต้เส้นขนานที่ ๓๘
ต่อมาสหประชาชาติได้ร้องขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ จัดกองบัญชาการร่วม (Unified Command) และให้แต่งตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย ประธานาธิบดี แฮรี เอส ทรูแมน (Harry S. Truman) ของสหรัฐฯ จึงได้แต่งตั้งพลเอก แมกอาเธอร์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสัมพันธมิตรในการยึดครองประเทศญี่ปุ่น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองกำลังสหประชาชาติในเกาหลี (Supreme Commander UN.Forces in Korea) เมื่อ ๗ กรกฎาคม ๒๔๙๓ กองบัญชาการกองกำลังสหประชาชาติ (UN. Command Headquarters) ตั้งอยู่ที่ตึกไดอิชิในกรุงโตเกียว >
การช่วยเหลือของไทย
เลขาธิการสหประชาชาติได้มีโทรเลขถึงรัฐบาลไทย ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งมติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ เมื่อ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๓ ต่อมาเมื่อ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๓ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้มีโทรเลขถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เตือนว่าตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ขอให้ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ ให้ความช่วยเหลือสาธารณรัฐเกาหลี ต้านทานการโจมตีด้วยอาวุธนั้น รัฐบาลไทยจะให้ความช่วยเหลือประการใด ขอให้แจ้งให้เลขาธิการสหประชาชาติทราบโดยเร็วว่า จะให้ความช่วยเหลือชนิดใด
คณะรัฐมนตรีมีมติว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม จึงตกลงให้ความช่วยเหลือทางด้านอาหาร เช่น ส่งข้าวไปช่วยเหลือเป็นต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจึงได้มีโทรเลขตอบเลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๓ มีใจความว่า รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เฝ้าดูการคลี่คลายของเหตุการณ์ในประเทศเกาหลี ด้วยความห่วงใยที่สุด และประณามการใช้กำลังรุกรานซึ่งได้กระทำต่อ สาธารณรัฐเกาหลีที่เกิดใหม่นี้ ด้วยการทำลายสันติภาพ ซึ่งมิได้นำพาต่อคำสั่งของคณะมนตรีความมั่นคงฯ และโดยละเมิดบทบัญญัติแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ เช่นนี้ไม่เป็นสิ่งที่ควรจะผ่อนผันได้เลย ฉะนั้นรัฐบาลไทยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงสนับสนุนมติความมั่นคงฯ อย่างหนักแน่น และพร้อมที่จะสนับสนุนการกระทำใด ๆ ที่สหประชาชาติเห็นสมควร และพิจารณาให้ความช่วยเหลือเท่าที่สามารถกระทำได้ แก่สาธารณรัฐเกาหลี ในการนี้โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม จึงยินดีจะช่วยสาธารณรัฐเกาหลีในทางอาหาร เช่นข้าวเป็นต้น หากมีความต้องการ
เลขาธิการสหประชาชาติ ได้มีโทรเลขถึงกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๙๓ มีใจความว่า ขอแสดงความขอบคุณในการที่รัฐบาลไทย พร้อมที่จะสนับสนุนการปฏิบัติของสหประชาชาติ และการตกลงใจให้ความช่วยเหลือ เรื่องอาหารเช่น ข้าว และรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้อาณัติแห่งมติ ลง ๙ กรกฎาคม ๒๔๙๓ ได้มอบภาระความรับผิดชอบทั้งมวลแก่กองทัพสหประชาชาติ ฉะนั้นจึงขอแนะนำว่า ขอให้รัฐบาลไทยได้พิจารณาหาทางช่วยเหลือในเรื่องกำลังรบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังทางภาคพื้นดินเท่าที่อยู่ในวิสัยสามารถ การช่วยเหลือในกรณีนี้ ในหลักการทั่วไปขอให้ติดต่อไปยังเลขาธิการสหประชาชาติ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย ให้ตกลงกับกองบัญชาการกองทัพสหประชาชาติต่อไป
นายกรัฐมนตรีได้บัญชาให้นำเรื่องนี้เสนอต่อ สถาบันป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งได้มีการประชุมปรึกษา เมื่อ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๙๓ มีมติเป็นเอกฉันท์ รับหลักการที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหาร เฉพาะกำลังทหารทางพื้นดินในกรณีสงครามเกาหลีด้วยกำลัง ๑ กรมผสม (๑ Combat Team) และสภาป้องกันราชอาณาจักร ได้เสนอเรื่องนี้ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินตกลงใจเป็นการด่วน คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษา เมื่อ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๙๓ มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบตามมติของสภาป้องกันราชอาณาจักร และโดยเหตุที่เรื่องนี้เกี่ยวกับปัญหาราชการแผ่นดินที่สำคัญ สมควรแจ้งให้รัฐสภาอันประกอบด้วยวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรทราบ ตามความในมาตรา ๑๓๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในครั้งนั้น
นายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องนี้เสนอรัฐสภาเมื่อ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๙๓ ได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนจากรัฐสภาด้วยดี ในการนี้ได้นำเสนอโทรเลขที่ได้รับ จากคณะมนตรีความมั่นคง ฉบับที่ ๓ ในการประชุม ครั้งที่ ๔๗๓ เมื่อ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๓ มีความว่า จากมติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๙๒ ซึ่งรับรองว่ารัฐบาลแห่ง สาธารณรัฐเกาหลี เป็นรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นถูกต้องตามกฎหมาย โดยที่ได้มีอำนาจควบคุม และอาณาเขตอย่างแท้จริงเหนือดินแดนส่วนของเกาหลี ที่คณะกรรมการชั่วคราวของสหประชาชาติว่าด้วยเกาหลี สามารถเข้าไปสังเกตการณ์ และปรึกษาหารือด้วยได้ และเป็นที่สำนักของประชาชนส่วนมากเกาหลี ฯลฯ และความห่วงใยว่าสถานการณ์ตามที่คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยเกาหลีได้พรรณามาในรายงาน จะคุกคามต่อความปลอดภัย และความผาสุกของสาธารณรัฐเกาหลี และอาจจะนำมาซึ่งการขัดกันทางทหารอย่างเปิดเผยขึ้น ณ ที่นั้น โดยที่ได้ทราบด้วยความห่วงใยอย่างยิ่งว่า ได้มีการโจมตีสาธารณรัฐเกาหลีด้วยกำลังอาวุธจากกองทัพของฝ่ายเกาหลีเหนือ เห็นว่าการกระทำนี้เป็นการทำลายสันติภาพ จึง
๑. เรียกร้องให้ยุติการศึกโดยทันที และให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเกาหลีเหนือถอนกำลังทหารกลับไปอยู่ ภายในเส้นขนานที่ ๓๘ โดยพลัน
๒. ขอให้คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเกาหลี
ก. ส่งข้อแนะนำที่ได้พิเคราะห์แล้วอย่างละเอียดถี่ถ้วนกับสถานการณ์ ไปยังคณะมนตรีฯ โดยไม่ชักช้า
ข. สังเกตการณ์ถอนกำลังทัพของฝ่ายเกาหลีเหนือไปยังเส้นขนานที่ ๓๘ และ
ค. รายงานให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ทราบถึงการปฏิบัติตามมตินี้
๓. ขอให้บรรดาประเทศสมาชิก อำนวยความช่วยเหลือทุกทางแก่สหประชาชาติ ในการปฏิบัติตามมตินี้ และละเว้นการให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายเกาหลีเหนือ
รัฐบาลได้นำความบังคมทูล เพื่อขอรับพระบรมราชานุวัติจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งกำลังไปร่วมรบในประเทศเกาหลีตามคำร้องขอขององค์การสหประชาชาติ เมื่อ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๙๓ และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ส่งกำลังทหารภาคพื้นดินไปร่วมรบในสงครามเกาหลี เมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๔๙๓ ต่อมาเมื่อ ๒๙ กันยายน ๒๔๙๓ ได้มีพระบรมราชโองการให้ส่งกำลังทางเรือ และทางอากาศไปร่วมรบในสงครามเกาหลีด้วย
การเตรียมการส่งกำลังทหารไปร่วมรบ
รัฐบาลไทยตกลงใจที่จะส่งกำลังทหาร ๑ กรมผสม มีกำลังพลประมาณ ๔,๐๐๐ คน ไปร่วมรบกับสหประชาชาติในเกาหลี ตามความเห็นชอบของรัฐสภา เมื่อ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๙๓ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการ เสนาธิการกลาโหมได้ออกคำสั่งแต่งตั้งให้ พันเอก บริบูรณ์ จุลละจาริตต์ หัวหน้าแผนกที่ ๓ กรมจเรทหารราบ เป็นผู้บังคับหน่วยทหารที่จะไปปฏิบัติราชการ ณ ประเทศเกาหลี ได้มอบนโยบายในการจัดกำลังของหน่วยเป็นรูปกรมผสม มีส่วนอำนวยการและส่วนกำลังรบ ประกอบด้วยกำลังทหารราบ ๓ กองพัน ทหารปืนใหญ่ ๑ กองพัน พร้อมทั้ง ๑ กองสื่อสาร ๑ กองช่าง และ ๑ กองลาดตระเวณ สำหรับกองพันทหารราบ ให้กองทัพเรือและกองทัพอากาศให้เตรียมกำลังเหล่าทัพละ ๑ กองพัน เพื่อสนธิกำลังกับกองทัพบก ต่อมาได้มีคำสั่งให้กรมผสมนี้ไปขึ้นกองทัพบก
การจัดกรมผสม ยึดถือการจัดหน่วย Regimental Combat Team ของกองทัพบกสหรัฐฯ เป็นหลัก อาวุธใช้ของกองทัพสหรัฐฯ กองบังคับการกรมผสมเปิดทำงาน เมื่อ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๙๓ ที่ห้องสมุดกระทรวงกลาโหม (ห้องสุรศักดิ์มนตรี) ต่อมาได้ย้ายไปที่ห้องฉายภาพยนตร์ของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ซึ่งอยู่ที่ระเบียงชั้น ๓ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อมาได้ไปใช้ตึกสร้างใหม่ของกรมทางหลวงถนนพระราม ๖ แล้วย้ายไปอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ ๒๖ กันยายน ๒๔๙๓ ซึ่งเป็นเวลาที่ทางมหาวิทยาลัยปิดภาคการศึกษา จากนั้นได้ย้ายไปอยู่บริเวณกรมทหารราบที่ ๑๑ อยู่ที่สะพานแดง บางซื่อ และสุดท้ายได้ย้ายไปอยู่ที่ค่ายทหารตำบลบางเขน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ในปัจจุบัน
กระทรวงกลาโหมได้ประกาศรับสมัครทหารอาสาไปราชการช่วยสหประชาชาติ เมื่อ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๙๓ มีผู้มาสมัครทั้งสิ้น ๑๔,๙๙๘ คน
เนื่องจากต้องรับส่งกำลังไปปฏิบัติการให้ทันกับสถานการณ์ กระทรวงกลาโหมจึงสั่งการให้กองทัพบก จัดกำลังกองบังคับการผสม และหน่วยขึ้นตรงกองพันทหารราบ ๑ กองพัน จากอัตราปกติของกองทัพบก จึงได้จัดกำลังจากหน่วยปกติของกองทัพบก โดยจัดจากกรมทหารราบที่ ๒๑ กองพันละ ๑ กองร้อย ส่วนกองร้อยอาวุธหนักได้สนธิกำลังของหน่วยทหารจากกรมจเรทหารราบ และกองพันต่าง ๆ
ต่อมาเมื่อ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๙๓ กระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่งพิเศษเรื่องการจัดกำลังทหาร เพื่อไปสงครามเกาหลี โดยให้พลตรี หม่อมเจ้าพิสิฐดิษยพงษ์ ดิสกุล เป็นผู้บัญชาการทหารไทย ทำการรบร่วมกับสหประชาชาติในเกาหลี (ผ.บ.ท.ก.) ให้กองทัพบก จัดกองบังคับการกรมผสมที่ ๒๑ และกำลังทหารราบ ๑ กองพัน ให้พร้อมเคลื่อนที่ได้ใน ๑๙ ตุลาคม ๒๔๙๓ เพื่อล่วงหน้าไปปฏิบัติการรบได้ก่อน กองทัพเรือ จัดการลำเลียงทหารและเรือคุ้มกัน โดยเช่าจากบริษัทเอกชน ๑ ลำ เพื่อลำเลียงกำลังทหารส่วนแรกของกรมผสมที่ ๒๑ จัดเรือรบหลวงสีชัง ลำเลียงส่วนหนึ่งของกำลังพลกรมผสมที่ ๒๑ และหน่วยพยาบาลสภากาชาดไทย จัดเรือรบหลวงประแสกับเรือรบหลวงบางปะกง ทำหน้าที่คุ้มกัน เมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว ให้เรือรบหลวงทั้งสามลำปฏิบัติการที่ประเทศเกาหลี หรือประเทศญี่ปุ่นต่อไป กองทัพอากาศ เตรียมการในการบินขนส่งตามที่รัฐบาลกำลังเจรจาขอเครื่องบินลำเลียงอยู่
ส่วนล่วงหน้า มีพันตรี สุรกิจ มัยลาภ เป็นหัวหน้า เพื่อไปเตรียมรับอาวุธยุทโธปกรณ์ และเตรียมที่พักออกเดินทางโดยเครื่องบินของ P.O.A.S. (Pacitic Oversea Air Services) เมื่อ ๙ สิงหาคม ๒๔๙๓ กำลังส่วนใหญ่เดินทางโดยทางเรือ ออกจากท่าเรือกรุงเทพ ฯ คลองเตย เมื่อ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๓ ถึงเกาหลีขึ้นบกที่เมืองปูซาน เมื่อ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ แล้วขึ้นรถไฟไปยังค่ายพักศูนย์รับทหารของสหประชาชาติ ที่เมืองเตกู อยู่ทางเหนือของเมืองปูซาน ๘๐ ไมล์ ส่วนทหารเรือเดินทางไปประจำ ณ เมืองซาเซโบในประเทศญี่ปุ่น
การปฏิบัติการในสมรภูมิเกาหลี
เพื่อปฏิบัติตามนโยบาย ในการส่งกำลังเข้าร่วมปฏิบัติงานกับสหประชาชาติ ผู้บัญชาการทหารของไทย ฯ จึงมอบกำลังในส่วนของกองทัพบกคือ กรมผสมที่ ๒๑ ให้กับกองทัพที่ ๘ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการขึ้นทางยุทธการและทางเทคนิค ส่วนด้านการปกครอง และการดูแลหน่วยยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของผู้บัญชาการทหารของไทย ฯ
เนื่องจากทหารยังไม่คุ้นเคยกับอาวุธใหม่ตามแบบทหาร สหรัฐฯ มาก่อน จึงต้องมีการฝึกการใช้อาวุธประจำกาย และอาวุธประจำหน่วยอย่างเร่งด่วนตามแผนการฝึก ไม่น้อยกว่า ๘ สัปดาห์ โดยกำหนดให้นายทหารไปรับการฝึกสอนจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในตอนกลางวัน แล้วนำมาสอนนายสิบในเวลากลางคืน จากนั้นนายสิบก็จะไปฝึกสอนพลทหารต่อ โดยมีนายทหารเป็นผู้อำนวยการฝึก นายสิบเป็นครูฝึก
เมื่อทำการฝึกเบื้องต้นได้ ๑๑ วัน หน่วยทหารไทยก็ได้รับคำสั่งจากกองทัพที่ ๘ ให้เคลื่อนย้ายไปแนวหน้า ณ กรุงเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ ซึ่งอยู่ในความยึดครองของฝ่ายสหประชาชาติ เมื่อไปถึงแล้วให้ขึ้นสมทบกับกรมผสมส่งทางอากาศที่ ๑๘๗ (๑๘๗ Airborne) กองพลที่ ๒ กองทัพน้อยที่ ๙ สหรัฐฯ ทั้งนี้เนื่องจาก พลเอก แมค อาเธอร์ ต้องการจะเผด็จศึกให้เสร็จในสิ้นเดือน ธันวาคม ๒๔๙๓
การวางกำลังรักษาจุดสำคัญ
การเดินทางทั้งทางรถไฟและทางรถยนต์ เมื่อถึงกรุงเปียงยางก็ได้รับมอบภารกิจให้ป้องกัน และรักษาสถานที่สำคัญต่าง ๆ บริเวณกรุงเปียงยาง แทนหน่วยทหารฟิลิปปินส์ ขณะนั้นอากาศหนาวมากอุณหภูมิ - ๑๒ ํซ กองบังคับการกรมผสมที่ ๒๑ เข้าพักในค่ายทหารแทนทหารตุรกี ซึ่งได้รับคำสั่งให้เข้าประจำแนวรบ สถานที่สำคัญที่ทหารไทยไปรักษาการณ์มี ๑๙ แห่ง มีธนาคาร สถานทูต สหภาพโซเวียต สถานีวิทยุ สถานีเรดาร์ คลังกระสุน โรงพยาบาล สะพาน สนามบิน โดยใช้กำลังแห่งละ ๑ หมู่ ถึง ๑ หมวด
กองทัพจีนแดงได้เปิดฉากการรุกใหญ่ เมื่อ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ เข้าตีแนวรบสหประชาชาติตลอดแนวด้วยกำลังมหาศาล กองทัพที่ ๘ สหรัฐฯ ต้องถอนตัว เมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ โดยทำการถอนตัวจากแม่น้ำชองชอนมาเป็นขั้น ๆ กำลังที่ถอนผ่านจุดต่าง ๆ ที่ทหารไทยรักษาอยู่ หน่วยทหารไทยที่ต้องทำงานหนัก ได้แก่หน่วยขนส่งที่ไปสนับสนุนการเคลื่อนย้ายของหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพที่ ๘
หน่วยทหารไทยได้ปะทะกับข้าศึกเป็นครั้งแรก เมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ ข้าศึกมีกำลัง ๑ กองร้อย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเปียงยาง ๓๐ กิโลเมตร และมีการปะทะกับข้าศึกทางตะวันออกของเมืองชินเยอีก
การถอนตัวจากกรุงเปียงยาง
กองทัพที่ ๘ สหรัฐฯ ได้กำหนดแผนให้ถอนตัวลงมาทางใต้ทั้งหมด เพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป การเข้าตีเพื่อเผด็จศึกของฝ่ายสหประชาชาติ ได้รับการต้านทานอย่างหนักหน่วงด้วยกำลังทหารสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีกำลังถึง ๒๐๐,๐๐๐ คน
หน่วยทหารไทยได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังรักษาการณ์ตามจุดต่าง ๆ เมื่อ ๔ ธันวาคม ๒๔๙๓ และถอนตัวออกจากกรุงเปียงยาง กรมผสมส่งทางอากาศที่ ๑๘๗ ส่งรถมาสนับสนุนการเคลื่อนย้าย ๓๕ คัน เมื่อเดินทางมาถึงกรุงเปียงยางส่วนใหญ่เดินทางโดยขบวนรถไฟ ๒ ขบวน ยานพาหนะในอัตรา ๘๐ คัน ในระหว่างการเคลื่อนย้ายหน่วยทหารไทยไม่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติการสื่อสาร กับหน่วยใด ๆ ของสหรัฐฯ แต่ฟังคำสั่งของกองทัพที่ ๘ โดยตรง การเดินทางได้กระทำตลอดคืน มาถึงเมืองซาริวอนในเช้าวันรุ่งขึ้น แล้วเคลื่อนทึ่ต่อไปถึงเมืองเคซองที่เส้นขนาน ๓๘
เมืองเคซองอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงโซล ๓๕ ไมล์ หน่วยทหารไทยได้รับมอบภารกิจให้ จัดกำลังไปรักษาสะพาน และสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำอิมจินที่หมู่บ้านมาจองนิ แทนทหารเกาหลีที่ถอนตัวไปปฏิบัติภารกิจอื่น และวางกำลังป้องกันเมืองเคซอง ร่วมกับกองพลน้อยตุรกี และหน่วยทหารสหรัฐฯ
ต่อมาเมื่อได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังกลับไปเป็นกองหนุนทั่วไปของกองทัพที่ ๘ สหรัฐฯ ที่เมืองซูวอน เมื่อ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๙๓
|