กองกำลังทหารไทยในสงครามเกาหลี


การขึ้นสมทบกับกองพลน้อยที่ ๒๘ ของอังกฤษ

กองบังคับการผสมที่ ๒๑ และกองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้เตรียมการเคลื่อนย้าย และเปลี่ยนการบังคับบัญชาไปขึ้นตรงต่อกองทัพน้อยที่ ๑ สหรัฐฯ ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่เมืองยองดองโป เมื่อ ๑ มกราคม ๒๔๙๔ ได้รับมอบหมายให้เคลื่อนที่จากเมืองซูวอน และเมืองโอซานไปขึ้นสมทบกับกองพลน้อยที่ ๒๙ อังกฤษ ซึ่งตั้งที่บังคับการอยู่เหนือกรุงโซล ประมาณ ๑๖ ไมล์ ผู้บังชาการพลน้อยที่ ๒๙ อังกฤษ มีแผนที่จะใช้กองพันทหารไทยขึ้นเสริมแนวของปีกขวา ติดกับกองพลสหรัฐฯ ซึ่งระหว่างนั้นกำลังถูกกดดันอย่างรุนแรงจากข้าศึก ฝ่ายสหประชาชาติได้ถอยร่นลงมาตามลำดับ กองพันทหารไทยได้รับมอบภารกิจให้วางกำลังตั้งรับใน แนวหนุนของกองพลน้อยที่ ๒๙ อังกฤษ เตรียมช่วยการถอนตัวของกองพลน้อยที่ ๒๙ ตามเส้นทางกรุงโซล กับเมืองเคซอง ๑๑ ไมล์ ซึ่งทางฝ่ายข้าศึกพยายามเข้าตีทางด้านนี้อย่างรุนแรง
ทหารเริ่มเข้าประจำแนวตามยอดเขา เมื่อ ๓ มกราคม ๒๔๙๓ ข้าศึกประมาณ ๑ กรม เข้าตีอย่างหนัก สามารถเจาะแนวตั้งรับของกองพลน้อยที่ ๒๙ เข้ามาได้หลายตอน ทหารไทยได้รับคำสั่งให้ถอนตัวจากแนวรบ และเข้าที่รวมพลของกองพัน กรมผสมพักอยู่ที่เมืองซูวอน ๒ คืน ก็ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายกำลังลงไปทางใต้อีก ๒๐ ไมล์ เพื่อวางแนวระวังป้องกันให้กับส่วนใหญ่ร่วมกับทหารอังกฤษ ที่เมืองเบียงแต็ก ได้รับมอบภารกิจให้รักษาพื้นที่กว้าง ๘ ไมล์
การเคลื่อนที่เข้าหาเมืองชุนชอน และการเข้าตีเมืองวาซอน

 

กองพันทหารไทยปฏิบัติภารกิจรักษาเส้นทางลำเลียงระหว่างเมืองซังจู กับเมืองมังยองเรื่อยมาจนถึง ๖ มีนาคม ๒๔๙๔ จึงมอบภารกิจนี้ให้แก่กองพันเกาหลี กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้ไปขึ้นกับกรมทหารม้าที่ ๕ สหรัฐฯ ตามเดิม เพื่อรับภารกิจในแนวรบต่อไป ที่ตั้งของทหารไทยอยู่ห่างจากแนวหน้า ๑๒ ไมล์ เหนือเมืองโยจู ๒๐ ไมล์ ภูมิประเทศกันดาร จากนั้นเมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๔๙๔ กองพันทหารไทย ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่ไปประจำแนว ห่างจากแนวรบ ประมาณ ๖ ไมล์ ห่างจากเส้นขนาน ที่ ๓๘ ประมาณ ๑๒ ไมล์ ใต้เมืองชุนชอน
กองร้อยที่ ๑ ได้เคลื่อนที่เข้าประจำแนวรบเมื่อ ๒๘ มีนาคม ๒๔๙๔ ได้ออกทำการลาดตระเวณรบ และปะทะกับข้าศึก วันต่อมา ได้ออกลาดตระเวณรบปะทะกับข้าศึกได้รับบาดเจ็บ ๕ นาย การปฏิบัติการครั้งนี้มีผู้ได้รับเหรียญบรอนซ์สตาร์ ประดับอักษรวี จำนวน ๓ นาย
กองพลทหารม้าที่ ๑ สหรัฐฯ ได้รับคำสั่งให้รุกเข้ายึดที่หมายบริเวณเมืองวาชอน เหนือเส้นขนานที่ ๓๘ ประมาณ ๔ ไมล์ เมื่อ ๓ เมษายน ๒๔๙๔ กรมทหารม้าที่ ๘ เป็นกองรบด้านซ้าย กองพันทหารไทยเป็นกองรบปีกซ้าย สามารถยึดที่หมายได้ตามลำดับ ได้ปะทะกับข้าศึก และมีทหารได้รับบาดเจ็บหลายนาย การรุกเคลื่อนที่ตั้งแต่ ๓ - ๗ เมษายน ๒๔๙๔ สามารถรุกคืบหน้าไปได้ ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ทหารสหประชาชาติ อันประกอบด้วยทหารสหรัฐฯ อังกฤษ เกาหลี กรีก และไทย ก็ได้รุกข้ามเส้นขนานที่ ๓๘ ขึ้นไป และเมื่อยึดที่หมายได้แล้ว กองพันทหารไทยจึงถอนตัวกลับมาเป็นกองหนุนของกองพันที่ ๘ โดยเดินทางมาเข้าที่ตั้งที่เมืองกุมกองนิ อยู่ทางใต้กรุงโซล ๒๒ ไมล์
การปรับปรุงกำลังทหารของไทย
ได้มีการพิจารณาของสภาป้องกันราชอาณาจักร เมื่อ ๑๗ เมษายน ๒๔๙๔ เรื่องการปรับปรุงกำลังไปร่วมรบสหประชาชาติในสงครามเกาหลี มีสาระที่สำคัญคือ
๑ ยุบและถอนกองบัญชาการทหารไทย คงจัดให้มีแต่นายทหารติดต่อประจำ บก.สหประชาชาติ
๒ กำลังภาคพื้นดินคงให้จัดเป็นกองพันทหารราบ ๑ กองพัน มีชื่อว่า กรมผสมที่ ๒๑ กองพันทหารราบที่ ๑ (อิสระ)
๓ หมู่เรือซึ่งมีเรือรบหลวงประแส เรือรบหลวงบางปะกง และเรือรบหลวงสีชัง คงให้มีเท่าเดิม
๔ กองทัพอากาศ จัดเครื่องบินลำเลียง ๑ หมู่ ๓ เครื่อง มีเจ้าหน้าที่ ๑๗ คน และเจ้าหน้าที่เสนารักษ์ประจำเครื่องบินขนส่งสหประชาชาติ ๓ ชุด
๕ สภากาชาดคงจัด ๑ หน่วย มีกำลัง ๒๐ คน
๖ ให้มีการผลัดเปลี่ยนหน่วยทหารตามอัตราการจัดใหม่ หลังจากปฏิบัติการในสนามไม่น้อยกว่า ๖ เดือน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สภาป้องกันราชอาณาจักรเสนอ
กองบังคับการผสมที่ ๒๑ จึงมอบการบังคับบัญชากองพันทหารไทยให้ขึ้นกับกรมทหารม้าที่ ๘ สหรัฐฯ และเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ ๓ กรกฎาคม ๒๔๙๔
การย้ายกำลังเข้ากรุงโซล และการเข้าตีเมืองอุยจองบู

 

กองพลทหารม้าที่ ๑ สหรัฐฯ ต้องเข้ารับหน้าที่ต้านทานข้าศึก และป้องกันกรุงโซล กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งจากกรมทหารม้าที่ ๘ สหรัฐฯ เมื่อ ๒๖ เมษายน ๒๔๙๔ ให้เคลื่อนกำลังเข้าประจำแนวบริเวณชายเมืองหลวงทางทิศตะวันออก และได้รับมอบหมายให้เป็นกองพันในแนวรบของกรมเข้าตีเขา ๓๓๗ (K๗ ) เมืองอุยจองบู เมื่อ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๙๔ สามารถเข้ายึดที่หมายได้ เมื่อ ๒๕ พฤษภาคม ๒๔๙๔ จากนั้นก็ได้รับคำสั่งให้ถอนตัวลงมาเป็นกองหนุน ในการปฏิบัติการครั้งนี้ กองพันทหารไทยได้รับแถบชมเชยประดับธงชัยเฉลิมพล และกองพลทหารม้าที่ ๑ สหรัฐฯ ได้จัดสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งเกียรติประวัติแก่ชาติและทหารไทย ทหารสหรัฐฯ และทหารกรีก และเส้นขนานที่ ๓๘

 

การเจรจาเพื่อยุติสงคราม และสงบศึก

นับตั้งแต่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๔ เป็นต้นมา การสู้รบด้วยกำลังทหารขนาดใหญ่แทบจะไม่มีอีก ฝ่ายกองทัพสหประชาชาติ หลังจากที่สกัดศึกใหญ่แล้ว ก็มิได้มีแผนการที่จะเข้าตีซ้ำเติมเพื่อเผด็จศึกแต่ประการใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเทศภาคีสมาชิกสหประชาชาติว่า จะให้ปฏิบัติการได้เพียงใด การดำเนินการของกองทัพสหประชาชาติอาจจะทำได้ ๒ วิธี คือ
วิธีที่ ๑ ให้กองทัพสหประชาชาติดำเนินการสงครามต่อไปจนได้ชัยชนะเด็ดขาด วิธีนี้จำเป็นต้องได้รับกำลังรบเพิ่มเติม และกำลังทางอากาศของกองทัพสหประชาชาติ จะต้องได้รับอนุมัติให้ปฏิบัติการผ่านชายแดนเกาหลีเข้าไปในแมนจูเรีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน
วิธีที่ ๒ ให้กองทัพสหประชาชาติวางแนวป้องกันตรึงอยู่ในแนวเขตแดนเท่าที่ยึดครองได้แล้ว ให้สหประชาชาติเจรจายุติการสงครามเอง
พลเอก แมก อาเธอร์ เตรียมที่จะปฏิบัติการตามวิธีที่ ๑ แต่บรรดาภาคีสหประชาชาติส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ประธานาธิบดี ทรูแมน และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสหรัฐฯ ก็ไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าภารกิจของกองทัพสหประชาชาติได้สำเร็จลงแล้ว คือขับกองทัพเกาหลีเหนือผู้รุกรานให้ถอยกลับข้ามเส้นขนานที่ ๓๘ ขึ้นไปทางเหนือ ตามมติคณะมนตรีความมั่นคง เมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๙๔
เนื่องจากมีอุปสรรค และความขัดแย้งต่าง ๆ ในการที่จะให้กองทัพสหประชาชาติรุกขึ้นไปยังแม่น้ำยาลู ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดน ระหว่างเกาหลีเหนือกับ สาธารณรัฐประชาชนจีน พลเอก แมทธิว อาร์ ริจเวย์ (Malthew R. Ridgway) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพสหประชาชาติ จึงสั่งให้ พลโท แวนฟลีต แม่ทัพกองทัพที่ ๘ สหรัฐฯ เป็นผู้บังคับบัญชาทหารบกทั้งหมดของกองทัพสหประชาชาติในเกาหลี วางกำลังป้องกันบริเวณเส้นขนานที่ ๓๘ และเตรียมการจะส่งกำลังข้ามเส้นขนานที่ ๓๘ ขึ้นไปเมื่อเห็นว่าเหตุการณ์จำเป็น และได้เปรียบข้าศึก
นายทริกเว ลี (Trygve Lie) เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวในเดือน พฤษภาคม ๒๔๙๔ ว่า บัดนี้ถึงเวลาอันสมควรที่จะได้เจรจา เพื่อให้เกิดสันติภาพในประเทศเกาหลีแล้ว และมติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ที่มีอยู่เดิมก็จะเป็นผลสมบูรณ์ ต่อมาเมื่อ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๙๔ นายมาลิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหภาพโซเวียต ได้กล่าวทางวิทยุกระจายเสียงของสหประชาชาติ เสนอให้มีการเจรจาสงบศึกในเกาหลี และต่อมาทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้ประกาศทางวิทยุ สนับสนุนข้อเสนอของสหภาพโซเวียต
อำนาจหน้าที่ในการเจรจา เพื่อสงบศึกนั้น ที่ปรึกษากฎหมายของเลขาธิการสหประชาชาติ ได้เสนอความเห็นแก่เลขาธิการสหประชาชาติว่า กองบัญชาการกองทัพสหประชาชาติ มีอำนาจเจรจาโดยตรงกับฝ่ายข้าศึกได้ เฉพาะปัญหาในการทหารเท่านั้น และเมื่อตกลงประการใด จะต้องรายงานให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ทราบ
พลเอก ริจเวย์ ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพสหประชาชาติแทน พลเอก แมคอาร์เธอร์ ซึ่งถูกประธานาธิบดี ทรูแมนของสหรัฐฯ สั่งปลดออกจากตำแหน่ง เมื่อ ๑๑ เมษายน ๒๔๙๔ เพราะเกรงว่าตามแผนของ พลเอก แมค อาร์เธอร์ อาจเป็นชะนวนให้เกิดสงครามโลก พลเอก ริจเวย์ ได้ตอบรับข้อเสนอของนายมาลิก โดยประกาศทางวิทยุกระจายเสียงของสหประชาชาติ เมื่อ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ และเสนอว่าควรจะมีการเจรจากันในเรือ จัทแลนเดีย (Jutlandia) ซึ่งเป็นเรือพยาบาลของเดนมาร์กในอ่าววอนซาน แต่ฝ่ายแม่ทัพสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานาธิบดีเกาหลีเหนือเสนอว่าควร เจรจากันที่เมืองเคซอง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโซล

 

การเจรจาเพื่อสงบศึกได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองเคซอง เมื่อ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๔ ต่อมาได้ย้ายไปเจรจากันที่ ตำบลปันมุมจอม (Punmumjom) โดยมีพลเรือโท จอย ผู้บัญชาการทหารเรือสหรัฐฯ ภาคตะวันออกไกล เป็นหัวหน้าฝ่ายกองทัพสหประชาชาติในการเจรจา ฝ่ายตรงข้ามมีพลเอกนัมมิลเสนาธิการทหารบก และรองนายกรัฐมนตรีเกาหลีเหนือเป็นหัวหน้าในการเจรจา การเจรจาดำเนินไปอย่างชิงไหวชิงพริบกัน การปะทะกันทั้งทางบก และการโจมตีทางอากาศคงดำเนินการต่อไป
กองพันทหารไทยผลัดที่ ๕ ไปรับหน้าที่ตั้งแต่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๖ ขึ้นบังคับบัญชา ทางยุทธการกับกรมทหารราบที่ ๙ กองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ต้องทำการรบกับข้าศึกหลายครั้งก่อนที่จะได้มีการลงนามในข้อตกลงสงบศึก
หัวหน้าแผนกนายทหารติดต่อ กองบัญชาการกองทัพสหประชาชาติ ได้เชิญหัวหน้านายทหารไทยประจำกองทัพสหประชาชาติ (พันเอก ชาญ อังศุโชติ) เมื่อเดือน มิถุนายน ๒๔๙๔ เพื่อแจ้งให้ทราบเรื่องการเจรจาเพื่อสงบศึก ในการนี้จะมีนายทหารสหรัฐฯ ๓ คน นายทหารอังกฤษ ๑ คน และนายทหารสาธารณรัฐเกาหลี ๑ คน รวม ๕ คน เป็นผู้แทนฝ่ายกองทัพสหประชาชาติ แต่เนื่องจากประธานาธิบดี ซิงมันรี ของเกาหลีใต้ต้องการให้เผด็จศึก โดยให้กองทัพสหประชาชาติรุกผ่านเกาหลีเหนือไปจนถึงแม่น้ำยาลู เพื่อจะได้รวมประเทศเกาหลีเป็นประเทศเดียวกัน เห็นว่าการเจรจาสงบศึกเท่ากับเป็นการยอมจำนนแก่ข้าศึก ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะ และอาจเกิดสงครามโลกครั้งที่สามได้ ประธานาธิบดีซิงมันรี ได้ออกแถลงการณ์ เมื่อ ๖ มิถุนายน ๒๔๙๖ และแจ้งให้ พลเอก คล๊าค ซึ่งมารับหน้าที่ต่อจาก พลเอก ริจเวย์ เมื่อ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๙๖ ความโดยสรุปว่า ขอให้ทหารชาติต่าง ๆ ถอนทหารออกจากคาบสมุทรเกาหลี ภายหลังที่ได้มีการตกลงในสัญญาระหว่าง สหรัฐฯ กับ สาธารณรัฐเกาหลีแล้ว โดยสหรัฐฯ จะต้องรับประกันว่า จะให้ความช่วยเหลือแก่ สาธารณรัฐเกาหลีในทางทหาร ให้การสนับสนุนในกรณีที่ สาธารณรัฐเกาหลีถูกรุกราน และให้สหรัฐฯ มีกำลังทหาร อากาศ และทหารเรือ ส่วนหนึ่งอยู่ในบริเวณตะวันออกไกลด้วย หากไม่ตกลงตามนี้ สาธารณรัฐเกาหลีจะทำการสู้รบต่อไป
ในการนี้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในกองบัญชาการกองทัพสหประชาชาติคาดว่า ผู้แทนสาธารณรัฐเกาหลีคงจะไม่ไปร่วมในการลงนามในข้อตกลงสงบศึก จึงพิจารณาเห็นว่าประเทศไทยได้ส่งกำลังเข้าร่วมปฏิบัติการกับกองทัพสหประชาชาติอย่างห้าวหาญ จึงเสนอให้รัฐบาลไทยส่งนายทหารชั้นนายพล ๑ ท่าน มาเป็นกรรมการสงบศึกฝ่ายสหประชาชาติ (U.N. Military Commission) แทนสาธารณรัฐเกาหลี ถ้ารัฐบาลไทยไม่รับ ก็จะได้ขอให้รัฐบาลตุรกี ส่งผู้แทนมาเป็นกรรมการฯ แทน ทางราชการไทยได้ส่ง พลตรี ถนอม กิตติขจร มาเป็นกรรมการฯ โดยได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นใน ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๙๖ และได้กำหนดวันทำพิธีลงนามในข้อตกลงสงบศึกใน ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๙๖ ซึ่งมีเอกสารอยู่ ๙ ฉบับ มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษ เกาหลี และจีน
ข้อตกลงสงบศึกที่ปันมุมจอมนี้เป็นผลจากการเจรจาที่ยืดเยื้อถึง ๒๕๕ ครั้ง ใช้เวลา ๒ ปี ๑๗ วัน
ต่อมากระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่ง ลง ๙ กันยายน ๒๔๙๖ ให้พลตรี หม่อมเจ้าชิดชนก กฤษดากร เจ้ากรมการทหารม้า และรักษาราชการเจ้ากรมข่าวทหารบก เป็นกรรมการในคณะกรรมการสงบศึกฝ่ายทหารแทน พลตรี ถนอม กิตติขจร เมื่อ ๙ กันยายน ๒๔๙๖ พลตรีหม่อมเจ้าชิดชนกฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่จนถึง ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ จึงจบภารกิจ

 

ผลที่ประเทศไทยได้รับจากสงครามเกาหลี

ประเทศไทยได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกว่า ในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ไทยได้ปฏิบัติตามความมุ่งหมายของสหประชาชาติ ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ และเพื่อปราบปรามการรุกรานหรือการล่วงละเมิดต่อสันติภาพ
ในสงครามครั้งนี้ ทหารไทยทั้งสามเหล่าทัพได้ปฏิบัติหน้าที่ในยุทธภูมิภายใต้ธงสหประชาชาติ ร่วมกับประเทศสมาชิกสหประชาชาติ อย่างสมเกียรติศักดิ์นักรบไทย เป็นที่เลื่องลือในบรรดาพันธมิตรที่ร่วมรบ รัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีได้ส่งสาส์น แสดงความยกย่องและสดุดีวีรกรรมต่าง ๆ ในหลายวาระหลายโอกาสด้วยกัน ทหารไทยได้รับความรู้ บทเรียน และประสบการณ์ในการรบในสภาวะการณ์ต่าง ๆ ทั้งในแบบ และนอกแบบ
เจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทย หน่วยพยาบาลของทั้งสามเหล่าทัพ ได้รับความรู้ และประสบการณ์เพิ่มเติมอย่างกว้างขวาง และได้นำความรู้และประสบการณ์เหล่านั้น มาปฏิบัติงานให้เกิดคุณประโยชน์ ต่อสาธารณชนของไทย
คณะกรรมการสงบศึกฝ่ายทหารของไทยได้ปฏิบัติงานเป็นผลสำเร็จ ตามที่ได้รับมอบหมาย ทำให้เป็นที่ประจักษ์ในขีดความสามารถของนายทหารไทย
บรรดาผู้ที่ไปราชการสงครามในเกาหลี ได้นำเอาคุณลักษณะที่ดีของความเป็นคนไทย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอุปนิสัยขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมไปเผยแพร่แก่ชาวต่างประเทศ นับว่าเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ในประการสุดท้าย การไปราชการสงครามในครั้งนี้ของไทย เป็นผลให้คณะมนตรี สนธิสัญญา ซีอาโต (SEATO) มาประชุมกันเป็นครั้งแรก ที่กรุงเทพ ฯ และประเทศไทยได้รับเกียรติและความไว้วางใจ คณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้ลงมติให้ตั้งสำนักงานเลขาธิการประจำ ณ กรุงเทพ ฯ เป็นการถาวร

 

คำสดุดี แด่ทหารผู้เสียชีวิตในกรณีสงครามเกาหลี

จำเดิมแต่ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกแห่งองค์การสหประชาชาติมาแต่เบื้องต้น ซึ่งภายในกรอบแห่งกฎบัตรขององค์การนี้ ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะทะนุบำรุง และส่งเสริมสันติสุข ตลอดจนความมั่นคงระหว่างประเทศร่วมกัน โดยดำเนินตามจุดประสงค์และหลักการ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในอันที่จะผดุงไว้ซึ่งอิสระเสรี พร้อมด้วยความสงบสุขของโลกเป็นประการสำคัญ ฉะนั้น เมื่อสงคราม ณ ประเทศเกาหลีได้อุบัติขึ้นโดยฝ่ายสหประชาชาติ จึงได้จัดส่งกำลังทหาร ไปร่วมทำการรบขับไล่ผู้รุกราน ณ สมรภูมิดังกล่าวตามคำเรียกร้องขององค์การสหประชาชาติ กำลังผลัดแรกได้เริ่มเดินทางออกจากประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๓ และได้ส่งกำลังไปผลัดเปลี่ยนตามกำหนดเวลาเรื่อยมา ผลัดสุดท้ายส่งไปเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๙๗ รวมกำลังที่ส่งไป ๖ ผลัด มีจำนวนนายทหาร นายสิบ และพลทหารทั้ง ๓ กองทัพ เป็นจำนวน ๑๐,๓๑๕ คน ในการรบแต่ละครั้งคราวนั้น ปรากฎว่าทหารไทยได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง ทรหดอดทน ได้ผลดีเด่น จนเป็นที่ระบือลือเลื่องในความกล้าหาญโดยทั่วไป และโดยเกียรติคุณอันนี้ได้ทำให้ทหารไทยและกองทัพไทยได้รับความยกย่อง สรรเสริญจากนานาชาติดังที่ได้ทราบกันอยู่แล้ว ซึ่งนับว่าได้ประกอบกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง และก็ตามปกติวิสัยสำหรับการสู้รบ ซึ่งต้องใช้กำลังและอาวุธเข้าประหัตประหารกัน ก็ย่อมจะต้องมีผู้ประสบเคราะห์กรรมถึงบาดเจ็บ และล้มตายลงบ้าง ดังนั้นทหารไทยผู้กล้าหาญของเราจึงต้องมีผู้เสียชีวิตในการนี้ นับแต่เริ่มเข้าทำการรบ จนถึงวาระสุดท้ายที่มีการสงบศึก ได้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น ๑๒๗ นาย นอกจากนี้ยังมีทหาร ตำรวจและพลเรือน ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเสียสละและกล้าหาญ เพื่อรักษาความสงบสุขของประเทศชาติ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ และวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ กับในระหว่างสงครามมหาเอเซียบูรพา จนต้องประสบอันตรายถึงชีวิตอีก ๓๓ นาย
พฤติการณ์ที่ท่านทั้งหลายได้กระทำไปนั้นได้แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้มีความเสียสละอย่างสูง มุ่งปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความองอาจกล้าหาญ เพื่อปรารถนาให้ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ และสันติสุขของประชาชนทั้งชาติได้ดำรงคงสืบไป แม้ตนจะต้องเสียชีวิตก็มิได้ย่นย่อท้อถอย ซึ่งการกระทำนี้ ย่อมจะจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และจะตรึงตราอยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทยทั้งชาติ อย่างไม่รู้ลืม นับเป็นวีรกรรมอันสูงส่งควรแก่การยกย่องสรรเสริญ และเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีสำหรับพี่น้องทหารและประชาชนชาวไทย ตลอดจนอนุชนคนรุ่นหลังจะพึงยึดถือเป็นทางปฏิบัติต่อไป