การปฏิบัติการของทหารไทยในสงครามเวียตนาม
การปฏิบัติการของทหารไทยในสงครามเวียตนาม
ภูมิหลังของเวียดนาม
เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ชาวเวียดนามเคยอาศัยอยู่ในดินแดนแถบตอนใต้ของประเทศจีน ถูกจีนรุกรานจึงถอยร่นลงมาทางใต้ บางครั้งตกเป็นเมืองขึ้นของจีน เวียดนามจึงรับวัฒมธรรมของจีนไว้มาก
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ เวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้แบ่งการปกครองเวียดนามออกเป็น ๓ แคว้น คือ แคว้นตังเกี๋ย อยู่ทางตอนเหนือ แคว้นอันนัม อยู่ทางตอนกลาง และแคว้นโคชินไชนา อยู่ทางตอนใต้ ฝรั่งเศสได้เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียบประเพณีให้เป็นแบบฝรั่งเศส
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้เกิดขบวนการเวียดมินห์ขึ้น เพื่อขับไล่ฝรั่งเศส โดยมีผู้ที่มีสมญาว่าโฮจิมินห์เป็นผู้นำ
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ขณะเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามจึงได้ประกาศตนเป็นอิสระ แต่คงอยู่ในทางควบคุมของญี่ปุ่น ขบวนการเวียดมินห์ก็ได้ร่วมมือกับสหรัฐฯ และฝ่ายสัมพันธมิตร ทำการต่อต้านญี่ปุ่น เมี่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม โฮจิมินห์จึงจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ และหลังจากที่จักรพรรดิ์เบาได๋ ได้สละราชสมบัติในปีเดียวกันนั้น โฮจิมินห์ก็ตั้งรัฐบาลขึ้นบริหาประเทศ ในปีเดียวกัน และเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นแบบสาธารณรัฐ ฝรั่งเศสได้หาทางกลับไปมีอิทธิพลเหนือเวียดนามอีก โดยมีอังกฤษให้ความช่วยเหลือ ขบวนการเวียดมินห์ได้พยายามต่อสู้ เพื่อขับไล่ฝรั่งเศสอยู่ ๙ ปี แต่ไม่สำเร็จ ฝรั่งเศสยึดเมืองต่าง ๆ ไว้ได้
หลังจากจีนคอมมิวนิสต์ได้ขับไล่จีนคณะชาติไปยังเกาะไต้หวัน แล้วก็ได้เข้ามาช่วยขบวนการเวียดมินห์ เพื่อขับไล่ฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อเวียดมินห์ยึดเดียนเปียนฟูได้ ฝรั่งเศสกับเวียดนามก็ได้ทำสัญญาสงบศึกที่กรุงเจนีวา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เรียกว่า อนุสัญญาเจนีวามีสาระสำคัญคือ ให้แบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วน คือ เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้โดยใช้เส้นรุ้งที่ ๑๗ เหนือ ซึ่งผ่านเมืองกวางตรี ตามแนวแม่น้ำเบนไฮ เป็นเส้นแบ่งเขตแดน และให้เวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ ลาว และกัมพูชา ซึ่งเคยรวมเป็นอินโดจีนของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ แยกออกเป็นรัฐอิสระ พ้นจากการปกครองฝรั่งเศส พื้นที่บริเวณเส้นรุ้ง ๑๗ องศาเหนือ มีเขตแดนปลอดทหารด้านละไม่เกิน ๕ กิโลเมตร ในการนี้สหรัฐอเมริกา และเวียดนามใต้ไม่ได้ร่วมลงนามด้วย
เวียดนามเหนือมีนโยบายที่รวม เวียดนามเข้าด้วยกัน และปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ โดยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ แต่ไม่มีการเลือกตั้งใด ๆ แต่มีการแต่งตั้งโฮจิมินห์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี
ทางด้านเวียดนามใต้ ยังคงตกอยู่ใต้อิทธิพลของฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสได้เชิญจักรพรรดิ์เบาได๋ ขึ้นเป็นประมุขปกครองประเทศ ต่อมากลุ่มผู้รักชาติ เวียดนามใต้ได้ขับไล่ฝรั่งเศสออกจากเวียดนาม จักรพรรดิ์เบาได๋ ได้แต่ตั้งนายโงดินห์เดียม เป็นนายกรัฐมตรี โดยมีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ และได้จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี หลังจากที่จักรพรรดิ์ เบาได๋ สละราชสมบัติอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ หลังจากนั้นก็มีการวุ่นวายแย่งชิงอำนาจกัน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้มีคณะทหารเข้ายึดอำนาจการปกครอง ได้ประกาศนโยบายที่จะกวาดล้างคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ ให้การรับรอง ต่อมาทางเวียดนามเหนือ ได้เปิดฉากทำสงครามกองโจรกับเวียดนามใต้
เหตุการณ์ในเวียดนามก่อนเกิดสงคราม
ตามอนุสัญญาเจนีวา พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่ประชุมใหญ่ระหว่างชาติ มีสหรัฐฯ อังกฤษ สหภาพโซเวียต เวียดนาม ลาว และกัมพูชา มีสาระสำคัญอยู่ ๕ ประการคือ ที่สำคัญประการหนึ่งคือ เนื่องครบกำหนด ๒ ปี นับแต่ทำสัญญาสงบศึก ทั้งสองฝ่ายจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเวียดนาม การเลือกตั้งนี้ให้อยู่ในความควบคุมของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศ และประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างมีสิทธิเลือกถิ่นที่อยู่โดยเสรี แต่ปราฏว่าไม่ได้มีการปฏิบัติตามข้อตกลง ไม่มีการเลือกตั้ง เวียดนามจึงแบ่งออกเป็น เวียดนามใต้ และเวียดนามเหนือโดยปริยาย
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เวียดนามเหนือ หรือเวียดมินห์ ได้เริ่มทำสงครามกองโจรกับเวียดนามใต้ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือโรงเรียน เวียดมินห์จะเกลี้ยกล่อมเด็กอายุระหว่าง ๑๕ - ๑๖ ปี เข้าสมัครพรรคพวกฝึกอาวุธให้ แล้วเข้าแทรกซึมในหมู่บ้านจนประสบผลสำเร็จ สามารถขยายอิทธิพลออกไปอย่างกว้างขวาง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เวียดมินห์เริ่มทำการรุกรานเวียดนามใต้ด้วยอาวุธ และกำลังทหาร และในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ โฮจิมินห์ได้จัดตั้งกองกำลังเวียดกง แนวร่วมรักชาติเพื่อปลดปล่อยเวียดนามใต้ โดยได้ดำเนินการปลูกฝังแนวความคิด โฆษณาชวนเชื่อ ขู่เข็ญ คุกคาม และจูงใจในทุกวิถีทาง โดยผ่านองค์การบังหน้าต่าง ๆ
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เวียดนามเหนือได้ทำการรุกรานเวียดนามใต้อย่างรุนแรง จนรัฐบาลเวียดนามใต้ต้องขอความช่วยเหลือจาก มิตรประเทศฝ่ายโลกเสรี ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เวียดนามเหนือได้ขยายกองกำลังเวียดกงขึ้นไปถึงระดับกองทัพ เริ่มเปิกฉากการรุกหนักหลายด้าน จนสามารถยึดพื้นที่ส่วนหนึ่งของภาคกลางของ เวียดนามใต้ได้เป็นจำนวนมาก และได้เข้าโจมตีเรือรบของสหรัฐฯ ทำให้ประธานาธิบดี จอห์นสัน ของสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจทำสงครามแบบขยายขอบเขต (Ecalation) เข้าไปในเวียดนามเหนือ สงครามโดยเปิดเผยระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนามเหนือ จึงเริ่มต้นตั้งแต่กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ เป็นต้นมา
การช่วยเหลือของฝ่ายโลกเสรี
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ โลกได้ถูกแบ่งออกเป็น ๒ ค่าย คือ ค่ายคอมมิวนิสต์ มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ และค่ายเสรีประชาธิปไตย มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ค่ายคอมมิวนิสต์ มีนโยบายรุกราน และต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ของประเทศต่าง ๆ ในโลก ให้เป็นแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ จึงได้เสนอแผนการมาร์แชล (Marshall Plan) เพื่อบูรณะฟื้นฟูประเทศในยุโรปตะวันตก จากวิกฤตทางเศรษฐกิจ และตั้งองค์การสมชิสัญญาแอดแลนติกเหนือ (NATO)
สำหรับช่วยเหลือในทางทหาร
ในเอเซียฝ่ายคอมมิวิสต์ขยายอิทธิพลด้วยการส่งจารชนและผู้ก่อการร้ายเข้าไปบ่อนทำลายบรรดาประเทศในทวีปอาเซีย เช่น อินโดนีเซีย เกาหลี ศรีลังกา พม่า กัมพูชา ลาว และไทย เพื่อเผยแพร่สัทธิคอมมิวนิสต์ และเข้ายึดครองประเทศเหล่านั้น ตามอุดมการณ์ครองโลกของคอมมิวนิสต์
สหรัฐฯ ตระหนักดีว่า หากอินโดจีนแพ้สงคราม และตกเป็นของคอมมิวนิสต์แล้ว จะนำไปสู่การสูญเสียเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ตามทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) จึงได้ทุ่มเทความช่วยเหลือแก่ เวียดนามใต้ สหรัฐฯ จึงเป็นผู้นำในการต่อต้าน เวียดนามเหนือ นับตั้งแต่ฝรั่งเศสต่อสู้กับเวียดนามเหนือ เมื่อฝรั่งเศสแพ้ สหรัฐฯ จึงเข้าไปช่วยเหลือ เวียดนามใต้
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เวียดนามใต้ตกอยู่ในจุดอ่อนแหลมที่สุด สหรัฐฯ จึงตกลงใจส่งกำลังทหารเข้าไปปฏิบัติการในเวียดนามใต้ พร้อมกับกำลังของฝ่ายโลกเสรีอีก ๗ ประเทศ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สเปน ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และไทย การจัดรูปแบบของการรบเป็นในแบบสงครามจำกัด มุ่งให้เป็นการรบของ เวียดนามทั้งสองฝ่ายเท่านั้น
การช่วยเหลือของฝ่ายคอมมิวนิสต์
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้นมา สหภาพโซเวียต และสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอุตสาหกรรมของ เวียดนามเหนือมาโดยตลอด หลังปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เวียดนามเหนือได้ส่งคณะผู้แทนไปติดต่อประเทศฝ่ายคอมมิวนิสต์กว้างขวางยิ่งขึ้น ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๑ - ๒๕๑๓ ได้มีประเทศที่ให้ความช่วยเหลือได้แก่ โปแลนด์ เยอรมนีตะวันออก รูมาเนีย เชคโกสโลวาเกีย บัลกาเรีย แอลบาเนีย แมนจูเรีย มองโกเลีย และเกาหลีเหนือ
การส่งทหารไปร่วมรบในสงคราม เวียดนาม
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ประธานาธิบดี ตรันวันมินห์ แห่งเวียดนามใต้ได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย โดยขอให้ฝึกหัดนักบินของกองทัพอากาศเวียดนามใต้ ที่ส่งเข้ามาฝึกในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ รัฐบาลเวียดนามใต้ได้ขอความช่วยเหลือทางทหารจากไทยเพิ่มเติม โดยขอให้จัดส่งเรือไปช่วปฏิบัติการลำเลียง และเฝ้าตรวจบริเวณชายฝั่ง ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลให้แก่ เวียดนามใต้ และในปีเดียวกัน ก็ได้ขอกำลังจากกองทัพบกไทย เพื่อช่วยยับยั้งการคุกคามของเวียดนามเหนือ นอกจากรัฐบาลไทยแล้วเวียดนามใต้ก็ได้ขอร้องทำนองเดียวกันไปยังประเทศฝ่ายโลกเสรีอื่น ๆ
รัฐบาลไทยได้พิจารณาเห็นว่า รัฐบาลเวียดนามใต้ ได้รับการยอมรับจากสมัชชา แห่งสหประชาชาติแล้วว่า เป็นรัฐบาลที่ได้จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้อง ประเทศไทยจึงควรให้ความร่วมมือเพื่อป้องกัน และยับยั้งการรุกรานครั้งนี้ เพื่อผดุงและรักษาไว้ซึ่งสันติสุขของประชาชาติผู้รักสงบในภูมิภาคนี้ จึงรับหลักการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ เวียดนามใต้ โดยให้กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบดำเนินการ กระทรวงกลาโหมได้พิจารณาสนับสนุนตามลำดับดังนี้
ขั้นต้น ให้กองทัพอากาศทำการฝึกนักบินไอพ่นให้กับทหารอากาศ เวียดนามใต้ ซึ่งเข้ามารับการฝึกในประเทศไทย ตั้งแต่กันยายน ๒๕๐๗ - กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ รวม ๗ รุ่น ๆ ละ ๔ คน รวม ๒๘ คน
ขั้นที่สอง ให้กองทัพอากาศส่งหน่วยบิน ประกอบด้วยนักบินเครื่องบินลำเลียง ๑๐ คน ช่างอากาศ ๖ คน ไปสนับสนุนกองทัพอากาศ เวียดนามใต้ ทำการบินลำเลียงด้วยเครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๔๗ เมื่อกัยยายน ๒๕๐๗ เรียกนามรหัสหน่วยนี้ว่า หน่วยบินวิคตอรี (Victory Wing Unit)
ขั้นที่สาม จัดตั้งกองบังคับการหน่วย ช่วยเหลือทางทหารในสาธารณรัฐเวียดนามขึ้นในกรุงไซ่ง่อน เมื่อพฤศจิกายน ๒๕๐๘ เพื่อควบคุมการปฏิบัตงานของหน่วยบินวิคตอรี ร่วมกับฝูงบินลำเลียงที่ ๔๑๕ เวียดนามใต้
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ รัฐบาลเวียดนามใต้ขอร้องรัฐบาลไทย ให้ช่วยเหลือทางกำลังทหารเรือ ฝ่ายไทยจึงได้ส่งเรือจากกองทัพเรือไปช่วย โดยได้ส่งเรือหลวงพงันซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ และเรือ ต.๑๒ ซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งไปร่วมปฏิบัติการใน เวียดนามใต้ โดยขึ้นสมทบกับหน่วยบริการทางทะเล ทางทหารสหรัฐฯ ประจำกรุงไซ่ง่อน และกองเรือเฉพาะกิจที่ ๑๑๕ ตามลำดับ เรียกนามรหัสว่า ซีฮอร์ส (Sea Horse Task Element)
รัฐบาลเวียดนามใต้ได้ขอความช่วยเหลือทางทหารจากไทยเพิ่มเติมอีก ดังนั้นในกุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กระทรวงกลาโหม จัดกำลังรบภาคพื้นดินในอัตรากรมทหารอาสาสมัคร ไปปฏิบัติการใน เวียดนามใต้ ภายหลังได้รับนามรหัสว่า จงอางศึก (Queen's Cobra Unit) นับเป็นกองกำลังหน่วยแรกของกองทัพบกที่ปฏิบัติการรบในสงคราม เวียดนามต่อมาเมื่อพฤษภาคม ๒๕๑๐ ก็ได้เพิ่มกำลังจากขนาดกรมเป็นกองพลในชื่อเดิม คือ กองพลทหารอาสาสมัคร จากนั้นก็ได้ปรับปรุงกองบังคับการหน่วยช่วยเหลือทางทหาร ในสาธารณรัฐเวียดนาม เป็นกองบัญชาการกองกำลังทหารไทย ในสาธารณรัฐ เวียดนาม คำย่อว่า บก.กกล. ไทย/วน. เป็นหน่วยขึ้นตรงกองบัญชาการทหารสูงสุด
กองบัญชาการกองกำลังทหารไทยในสาธารณรัฐ เวียดนาม ผลัดที่ ๑
จัดตั้งขึ้นเมื่อ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๐ โดยมี พลตรี ยศ เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา เป็นผู้บัญชาการ มีที่ตั้งชั่วคราวอยู่ที่กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า เชิงสะพานเกษะโกมล ถนนอำนวยสงคราม กรุงเทพ ฯ
กำลังพลในกองบัญชาการกองกำลังทหารไทย ฯ ผลัดที่ ๑ ออกเดินทางตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๑๐ จึงเข้าที่ตั้งเสร็จ ได้ปฏิบัตหน้าที่ตามภารกิจได้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ได้รับมอบหมายทุกประการ ตามสายการบังคับบัญชาของชาติ ซึ่งประกอบไปด้วย กองบัญชาการกองกำลังทหารไทย กรมทหารอาสาสมัคร หน่วยเรือซีฮอร์ส และหน่วยบินวิคตอรี
เมื่อครบกำหนด ๑ ปี และเมื่อกองบัญชาการกองกำลังทหารไทย ฯ ผลัดที่ ๒ เดินทางไปรับหน้าที่ เมื่อ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๑๑ แล้ว ก็เดินทางกลับประเทศไทย เป็นส่วน ๆ โดยเครื่องบินลำเลียงของสหรัฐฯ ดำเนินกรรมวิธีส่งกำลังพลคืนต้นสังกัด จนแล้วเสร็จเมื่อ ๑๕ กัยยายน ๒๕๑๑
กองบัญชาการกองกำลังทหารไทยฯ ผลัดที่ ๒ - ๕
ผลัดที่ ๒ พลโท ฉลาด หิรัญศิริ เป็นผู้บัญชาการ แบ่งการเดินทางโดยเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เสร็จสิ้นเมื่อ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๑๑
นอกจากปฏิบัติการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายแล้ว ยังได้ทำการช่วยเหลือประชาชน โดยจัดชุดแพทย์ ทันตแพทย์ และเจ้าหน้าที่ผลัดกันออกไปปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลเวียดนามใต้ ณ สถานพยาบาลตูดึ๊ก จังหวัดยาดินห์เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชน อีกด้วย
เมื่อปฏิบัติหน้าที่ครบ ๑ ปี และผลัดที่ ๓ มารับหน้าที่แล้ว จึงเดินทางกลับโดยแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือส่วนที่ ๑ จำนวน ๘๙ คน ส่วนที่ ๒ จำนวน ๖๐ คน ส่วนที่ ๓ จำนวน ๖๐ คน ส่วนที่ ๔ จำนวน ๑๘ คน เดินทางโดยเครื่องบินกลับถึงประเทศไทยเสร็จสิ้นเมื่อ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๒
ผลัดที่ ๓ พลโท เชวง ยังเจริญ เป็นผู้บัญชาการ การเดินทางไปแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน เดินทางโดยเครื่องบินเสร็จสิ้นเมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๓ การปฏิบัติการตามภารกิจที่ได้รับมอบคงเป็นเช่นเดียวกับผลัดที่ ๒ เมื่อปฏิบัติการครบกำหนด ๑ ปี และผลัดที่ ๔ ไปรับหน้าที่แล้วจึงเดินทางกลับ โดยแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน เดินทางโดยเครื่องบิน เสร็จสิ้นเมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๓
ผลัดที่ ๔ พลโท เสริม ณ นคร เป็นผู้บัญชาการ การเดินทางไปแบ่งเป็น ๔ ส่วน เดินทางโดยเครื่องบิน เสร็จสิ้นเมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๓ การปฏิบัติการตามภารกิจที่ได้รับมอบคงเป็นเช่นเดียวกับผลัดที่ ๓ เมื่อปฏิบัติการครบ ๑ ปี และผลัดที่ ๕ มารับหน้าที่แล้วจึงเดินทางกลับ โดยแบ่งเป็น ๔ ส่วน เดินทางโดยเครื่องบินเสร็จสิ้นเมื่อ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๔
ผลัดที่ ๕ พลตรี ทวิช บุญญาวัฒน์ เป็นผู้บัญชาการ การเดินทางไปแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน เดินทางโดยเครื่องบินเสร็จสิ้นเมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๔
ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๓ รัฐบาลไทยเริ่มดำริที่จะถอนกำลังทหารไทย ในเวียดนามใต้กลับประเทศไทย ได้มีการปรึกษาหารือ กับ กองบัญชาการทหารสูงสุด เวียดนามใต้ และรัฐบาลเวียดนามใต้ จนได้ข้อยุติในการถอนกำลังกลับ โดยแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกเริ่มถอนในเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๔ ส่วนที่เหลือในเดือนกัยยายน ๒๕๑๕ สำหรับหน่วยเรือซีฮอร์ส เรือ ต.๑๒ จะกลับในเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๔ เรือหลวงพงันจะกลับในเดือนเมษายน ๒๕๑๕ ส่วนหน่วยบินวิคตอรี จะถอนกำลังกลับหมดในเดือนธันวาคม ๒๕๑๔ กองบัญชาการทหารไทยฯ ผลัดที่ ๕ จะไปปฏิบัติการเพื่อควบคุมการถอนกำลังทหารไทยกลับ อยู่จนถึงเดือนเมษายน ๒๕๑๕ หลังจากนั้นรัฐบาลไทย จะส่งหน่วยขนาดเล็กที่จะเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือกับฝ่ายโลกเสรี ประจำในเวียดนามใต้ต่อไป
การถอนกำลังกลับประเทศไทย ส่วนใหญ่เดินทางโดยเครื่องบินลำเลียงแบบ C -๑๓๐ ของสหรัฐฯ ส่วนสิ่งของส่งไปกับเรือหลวงพงัน โดยแบ่งการเดินทางเป็น ๓ ส่วน เสร็จสิ้นเมื่อ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๕
สำนักงานผู้แทนทหารไทยในสาธารณรัฐเวียดนาม
เมื่อกองบัญชาการกองกำลังทหารไทย ฯ และกองกำลังทหารไทยทั้งหมด ต้องถอนกำลังกลับประเทศไทยในกลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๕ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า จึงได้ตั้งสำนักงานผู้แทนทหารไทยในสาธารณรัฐเวียดนาม (สน.ผทท.ไทย วน.) ขึ้น มีกำลังพล ๓๘ คน มีพันเอก ชูวิทย์ ช.สรพงษ์ เป็นหัวหน้าสำนักงาน เดินทางไปปฏิบัติงานเมื่อ ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕ และรับมอบหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับกองกำลังฝ่ายโลกเสรี ที่ยังคงอยู่ในเวียดนามใต้ เมื่อปฏิบัติได้เกือบครบ ๑ ปี
สถานการณ์ในเวียดนามใต้ เข้าสู่สภาพคับขันยิ่งขึ้น กองบัญชาการทหารสูงสุด จึงได้มีคำสั่งให้ปิดสำนักงานนี้ แล้วส่งมอบงานการติดต่อประสานงานต่าง ๆ ให้กับสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไซ่ง่อน และให้กำลังพลเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ ๒ มีนาคม ๒๕๑๖ เป็นการยุติการปฏิบัติการรบของทหารไทยในเวียดนามได้ตั้งแต่นั้นมา
|