การปฏิบัติการของทหารไทยในสงครามเวียตนาม





กรมทหารอาสาสมัคร (กรม อสส.)

กองทัพบกรับผิดชอบดำเนินการจัดกำลังทางบก ได้ทำการเรียกพลจากผู้ที่มาสมัคร และรับสมัครทหารกองหนุน และทหารกองเกิน และทหารกองหนุนโดยให้มณฑลทหารบก จังหวัดทหารบก รวมทั้งกรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ เป็นหน่วยรับสมัคร มีผู้มาสมัครเป็นจำนวนมาก


กองทัพบกได้มีคำสั่งแต่งตั้ง พันเอก สนั่น ยุทธสารประสิทธิ์ เป็นผู้บังคับการกรมทหารอาสาสมัคร และใช้อาคารกองพันทหารปืนใหญ่ ที่ ๒๑ รักษาพระองค์ เป็นที่ตั้งกองบังคับการกรมทหารอาสาสมัคร มีกำลังทั้งสิ้น ๒,๒๐๗ คน และกำลังทดแทนร้อยละ ๕ เมื่อได้ทำการฝึกเสร็จในเดือน กรกฎาคม ๒๕๑๐ แล้วก็ได้เริ่มออกเดินทางเป็นส่วน ๆ ส่วนล่วงหน้าเดินทางเมื่อ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๑๐ และส่วนสุดท้ายเดินทางเมื่อ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๑๐ กำลังส่วนใหญ่เดินทางโดยเรือ


กรมอาสาสมัครได้รับคำสั่งให้เป็นหน่วยขึ้นตรงกองพลทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ตั้งอยู่ที่ค่ายแบร์แคต อำเภอลองถั่น จังหวัดเบียนหว่า อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของกรุงไซ่ง่อน ห่างออกไปประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ได้รับมอบภารกิจในการตั้งรับ แบบยึดพื้นที่ด้านตะวันออก และด้านใต้ของอำเภอโนนทรัค เพื่อเสริมที่มั่นให้แก่พื้นที่ส่วนหนึ่งของพื้นที่สนใจทางยุทธวิธี (Tactical Arca of Interest) ของกองพลทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ด้วยการปฏิบัติการลาดตระเวนพื้นที่และเส้นทางอย่างกว้างขวาง การซุ่มโจมตี การทำลายเป้าหมายอย่างฉับพลัน และการยุทธส่งทางอากาศเพื่อทำลายกำลัง และที่ตั้งของพวกเวียดกง ช่วยเหลือหน่วยทหารเวียดนามใต้ในการระวังป้องกัน พื้นที่ตั้งและเส้นทางคมนาคม ตลอดจนสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ ในเขตรับผิดชอบ ปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน และปฏิบัติการจิตวิทยา
พื้นที่ปฏิบัติการ (Area of Operation - AO)


กรมทหารอาสาสมัครได้รับมอบพื้นที่ปฏิบัติการ (Area of oPeration - Ao) ในบริเวณอำเภอโนนทรัค และอำเภอลองถั่น จังหวัดเบียนหว่า บนฝั่งขวาของแม่น้ำดองไน ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าละเมาะและสวนยาง พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีลำน้ำเล็ก ๆ หลายสายไหลลงสู่แม่น้ำดองไน ผ่านเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการ พื้นที่บริเวณนี้ฝ่ายเวียดกงได้ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ และเสบียงอาหารจากชายฝั่งทะเลไปยังพื้นที่ปฏิบัติการ ทางสหรัฐฯ เคยส่งกองพันทหารราบเข้ายึดพื้นที่บริเวณนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ทหารในกองพันถูกเวียดกงสังหารเสียชีวิตหมดทั้งกองพัน จนไม่มีทหารฝ่ายโลกเสรีชาติใดกล้าเข้าไปตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งนี้
แผนการยุทธ และการปฏิบัติการ

 

กรมทหารอาสาสมัครได้เริ่มแผนการยุทธขึ้นใช้ชื่อว่า แผนยุทธการนเรศวร และได้แบ่งออกเป็นแผนย่อยอีก ๑๘ แผน ให้ชื่อต่าง ๆ ไว้ทุกแผน ได้วางกำลังตามอัตราการจัดส่วนใหญ่ไว้ที่บังคับการกรมในค่ายแบร์แคต เมื่อมีเหตุการณ์รบเกิดขึ้น จึงจัดกำลังใหม่ให้เหมาะสมกับการตอบโต้กับข้าศึกในแต่ละครั้ง แล้วเคลื่อนกำลังไปวางยังจุดที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น
ระหว่าง ๕ กันยายน - ๙ ตุลาคม ๒๕๑๐ กรมทหารอาสาสมัคร ได้รับมอบภารกิจให้ป้องกันค่ายแบร์แคตจากการถูกเวียดกงโจมตี จึงได้ส่งหน่วยลาดตระเวนออกค้นหา และทำลายเวียดกงในพื้นที่ทางตอนเหนือของค่าย ซึ่งเป็นสวนยาง อันเวียง กรมอาสาสมัครใช้แผนยุทธการบางแสน โดยตั้งฐานกองร้อยแล้วส่งกำลังขนาดหมวดออกลาดตระเวน และซุ่มโจมตีข้าศึก สามารถค้นหา และทำลายที่กำบังปิด (Bunker) และทุ่นระเบิด ได้เป็นจำนวนมาก


๑๐ - ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๐ กรมทหารอาสาสมัคร ได้รับมอบภารกิจในการลาดตระเวนค้นหา และกวาดล้างข้าศึกในพื้นที่ บริเวณหมู่บ้านอันเวียง ซึ่งเป็นที่ลุ่มมีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน เต็มไปด้วยป่าละเมาะรกทึบ พื้นที่บริเวณนี้ทหารไทยเราเรียกกันว่า ทุ่งทอง กรมทหารอาสาได้กำหนดแผนยุทธการลาดหญ้า สำหรับการเคลื่อนย้ายกำลังทางอากาศเพื่อสนับสนุนกำลังทางพื้นดิน เนื่องจากพื้นที่นั้นอยู่ไกลเกินระยะยิงของปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง ขนาด ๑๐๕ มิลลิเมตร ของกองร้อยปืนใหญ่สนาม ผลการปฏิบัติทำให้เวียดกงต้องถอนตัวออกไปจากทุ่งทอง


๒๐ - ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๐ กรมทหารอาสาสมัคร ได้รับมอบภารกิจให้เสริมสร้างความมั่นคงในเขต อำเภอโนนทรัค ซึ่งมีเวียดกงปฏิบัติการกระจายอยู่ทั่วไป จึงกำหนดแผนยุทธการนเรศวรขึ้น จึงวางกำลังกระจายเต็มพื้นที่ ซึ่งอยู่ในอิทธิพลของเวียดกง ปฏิบัติการจิตวิทยาพร้อมไปกับการกวาดล้างเวียดกง ได้มีการปะทะกับเวียดกงหลายแห่ง และหลายครั้ง ยึดอาวุธกระสุน และทำลายที่กำบังปิดได้หลายแห่ง


พฤศจิกายน ๒๕๑๐ กรมทหารอาสาสมัคร ได้รับมอบภารกิจให้ขยายพื้นที่ปฏิบัติการออกไปอย่างกว้างขวาง การรบทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ฝ่ายเราสามารถทำลายที่ตั้งฐานปฏิบัติการ ที่ซ่อนอาวุธ และเสบียงอาหารของเวียดกงได้เป็นจำนวนมาก
ธันวาคม ๒๕๑๐ การปฏิบัติการคงเป็นไปตามแผนนเรศวร ผลการปฏิบัติปรากฏว่าฝ่ายเวียดกงต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับตลอดเวลา และสูญเสียอิทธิพลที่เคยมีอยู่เหนือประชาชนในพื้นที่


ฐานปฏิบัติการที่กำลังทหารไทยตั้งอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูล และทั้งไม่เกื้อกูลในบางประการ แก่ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายเวียดกงจะส่งหน่วยทหารช่างสังหาร (Sapper) ขนาดหมวด เข้าไปก่อวินาศกรรมฐานที่ตั้งของไทยโดยอาศัยความรกทึบของป่า เป็นที่หลบซ่อนกำบังตัว กรมทหารอาสาสมัครจึงเตรียมการป้องกันโดยถากถางป่ารอบ ๆ ฐานที่ตั้งทุกแห่งไม่ให้เวียดกงใช้ประโยชน์ได้ และเป็นประโยชน์ต่อการตรวจการณ์ และพื้นที่การยิงของฝ่ายเรา เป็นการปฏิบัติตามแผนสมเกียรติ ได้มีการปิดล้อม และตรวจค้น หมู่บ้าน ฟุกโถ ๑ ครั้ง หมู่บ้านบาบอง ๑ ครั้ง เพื่อค้นหา และทำลายกำลังกองโจร และกำลังหลักของเวียดกง โดยมีกำลังตำรวจเวียดนามใต้ เข้าร่วมปฏิบัติการด้วย
การปฏิบัติการรบที่ฟุกโถ (๒๐ - ๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๐)

พื้นที่บริเวณบ้านฟุกโถ ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง เมื่อน้ำลดจะกลายเป็นโคลน สภาพทั่วไปเป็นทุ่งนา ป่า สวน แม่น้ำ ลำคลอง มีหญ้าคาขึ้นสูงท่ามศีรษะ ป่าส่วนมากเป็นป่าละเมาะ ป่าไผ่ ป่าชายเลน สวนยาง และสวนมะม่วงหิมพานต์ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนชรา สตรีมีครรภ์ และเด็ก ซึ่งเป็นฝ่ายเวียดนามใต้ แต่ชายฉกรรจ์ทุกคน ถูกเวียดกงบีบบังคับให้เป็นผู้ส่งเสบียงให้เวียดกง ซึ่งจำใจต้องทำเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว ต้องไปหลบซ่อนตัวอยู่ตามป่าตามเขา ไม่ปรากฏตัวออกมาให้เห็น เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวกองร้อยอาวุธเบาของไทยที่อยู่ในพื้นที่ต้องส่งกำลัง ๑ หมู่ออกไปช่วยเก็บเกี่ยว และให้ความคุ้มครองชาวบ้านเหล่านี้
ฐานที่ตั้งกองร้อยอาวุธเบาที่ ๑ คร่อมทับอยู่บนถนนสาย ๓๑๙ ทางทิศใต้ของหมู่บ้านฟุกโถ วางแนวที่มั่นตั้งรับเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐๐ เมตร มีคูติดต่อถึงกัน รั้วใช้ลวดหนามหีบเพลงเป็นเครื่องกีดขวางตลอดแนวที่มั่น ฝ่ายเราได้ดำรงการเกาะเวียดกงตลอดเวลาทั้งการตรวจการณ์ และการลาดตระเวน ด้วยการออกไปลาดตระเวนและซุ่มโจมตี หมูนเวียนกันทั้งกลางวัน และกลางคืน ผลัดกลางวันเรียกว่า ชุดซุ่มโจมตี (Ambush) ผลัดกลางคืนเรียกว่า ชุดเฝ้าตรวจ (Watching)


ในคืนวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๐ เวลา ๒๒ .๑๐ น. เวียดกงได้เริ่มระดมยิงฐานกองร้อยด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด ๘๒ มิลลิเมตร อย่างรุนแรง เวียดกงได้ใช้กำลังขนาดใหญ่บุกเข้าโจมตีกองร้อยอาวุธเบาที่ ๑ ถึงสามด้านพร้อมกัน เวียดกงได้ระดมกันเข้าทำลายรั้วลวดหนามหีบเพลง และสามารถตีเจาะเข้าไปในหมวดปืนเล็กที่ ๑ ได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ถูกยิงตายเป็นจำนวนมาก เวียดกงไม่สามารถเจาะเข้าไปถึงที่บังคับการกองร้อยได้ ด้านหมวดปืนเล็กที่ ๒ เวียดกงได้ส่งกำลังบุกเข้าโจมตีเต็มกว้างด้านหน้าเป็นหลายระลอก ระลอกแรกใช้ระเบิดขว้างทำลายลวดหนาม แต่เจาะแนวเข้ามาไม่ได้ มีกำลังบางส่วนบุกเข้าตรงรอยต่อ ระหว่างหมวดแล้วใช้ทุ่นระเบิดวงเดือนทำลายรั้วลวดหนาม สามารถเจาะผ่านแนวรั้วลวดหนาม และผ่านคูติดต่อเข้าไป จึงเกิดการรบขั้นตะลุมบอน

แนวรั้วลวดหนามบางแห่งเวียดกงใช้ไม้กระดานพาดแล้วปีนข้ามไป แต่เนื่องจากพวกเวียดกงไม่คุ้นกับสภาพของฐานที่มั่นของไทย จึงเหยียบถูกลูกระเบิด และสะดุดกับพลุส่องแสงที่วางไว้รอบฐาน ระหว่างนั้นเครื่องบินสปุ๊คกี้ (Spooky) ก็ได้ไปทิ้งพลุส่องสว่าง ปืนใหญ่ของกรมทหารอาสาสมัครได้ช่วยยิงกระสุนส่องแสง ทำให้บริเวณฐานที่ตั้งสว่างไสวไปทั่ว ฝ่ายเราจึงมองเห็นฝ่ายเวียดกงได้ชัดเจนจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบ สามารถสังหารเวียดกงได้เป็นจำนวนมาก ข้าศึกส่วนใหญ่ติดอยู่ที่คูติดต่อไม่สามารถเจาะผ่านเข้าไปได้ ด้านหมวดปืนเล็ก ที่ ๓ การต่อสู้เป็นไปอย่างรุนแรง จนเที่ยงคืน ข้าศึกจึงถอยกลับไปแล้วก็กลับรวมกำลังเข้าโจมตีอีก แต่ไม่สามารถผ่านแนวต้านทานเข้าไปได้


การต่อสู้ดำเนินไปเป็นเวลาเกือบ ๕ ชั่วโมง เมื่อถึงเวลา ๐๓.๐๐ น. ข้าศึกจึงเริ่มถอนตัวออกจากแนวต้านทานของหมวดปืนเล็กต่าง ๆ ของไทย ต่อมาเมื่อเวลา ๐๔.๐๐ น. เมื่อการยิงของพวกเวียดกงเบาบางลงผู้บัวคับกองร้อยจึงส่งกองหนุนบรรทุกรถสายพานลำเลียลงพล ๒ คัน ออกปฎิบัติทางด้านเข้าตีหลักของเวียดกง และขอให้ปืนใหญ่เลื่อนฉากการยิงออกไป เพื่อทำลายกำลังและสะกัดกั้นการถอนตัวของเวียดกง การรบยุติลงเมื่อเวลา ๐๕๓๐ น.


ผลการรบฝ่ายเราเสียชีวิต ๖ คน บาดเจ็บสาหัส ๙ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิตนับศพได้ ๙๕ ศพ เสียชีวิตแต่นำศพกลับไปได้ ๙๐ ศพ (ตามคำให้การของเชลยศึก) บาดเจ็บ ๘๐ คน ถกจับเป็นเชลย ๒ คน ยึดอาวุธฝ่ายเวียดกงได้เป็นจำนวนมาก
การรบที่ฟุกโถ นับเป็นการรบที่กรมทหารอาสาสมัครของไทยประสบชัยชนะอย่างเด็ดขาด ถือได้ว่าเป็นวันแห่งชัยชนะของไทย ในสมรภูมิต่างแดน และยังผลในการสร้างขวัญกำลังใจแก่ทหารเวียดนามใต้เป็นอันมาก


กรมทหารอาสาสมัครของไทยได้รับคำชมเชยจากพลเอก เวสท์มอร์แลนด์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการช่วยเหลือทางทหารสหรัฐฯ ประจำเวียดนามใต้ และพลเอกเถาวันเวียน ประธานคณะเสนาธิการผสมกองทัพเวียดนามใต้
คำชมเชยที่ได้รับของกรมทหารอาสาสมัคร


การปฏิบัติการของกรมทหารอาสาสมัคร ที่รู้จักกันดีในฉายาจงอางศึก ตลอดระยะเวลา ๑ ปี ในสมรภูมิเวียดนาม เป็นที่ชื่นชมและได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากหน่วยเหนือและบรรดากองกำลังชาติพันธมิตรฝ่ายโลกเสรีเป็นอันมาก นอกจากนี้กองทัพบกสหรัฐฯ ยังได้มอบเกียรติบัตรชมเชยการปฏิบัติการเป็นหน่วย (Award of the Meritorious Unit Commendation) แก่กรมทหารอาสาสมัครเมื่อ วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๑๑

กองพลทหารอาสาสมัคร (พล.อสส.)

กองทัพบกได้ออกคำสั่งจัดตั้งกองพลทหารอาสาสมัคร เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๑๑ จำนวนกำลังพลทั้งสิ้น ๑๑,๓๐๐ คน ที่ตั้งปกติอยู่ที่ค่ายกาญจนบุรี ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง ฯ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีศูนย์ดำเนินกรรมวิธีทหารไปรบต่างประเทศ (ศกน.) กรมยุทธศึกษทหารบก เป็นหน่วยให้กาสรสนับสนุนในด้านธุรการและส่งกำลังบำรุง กับมีเจ้าหน้าที่ประสานงานของสหรัฐฯ (Detachment Ix) เป็นที่ปรึกษา โดยบรรจุมอบเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก แต่ฝากการบังคับบัญชาไว้กับกรมยุทธศึกษาทหารบก กำลังของกองพลทหารอาสาสมัครแบ่งเป็นผลัด ๆ ละ ๑ ปี
กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑


จัดตั้งเมื่อ ๒๒ มกราคม ๒๕๑๑ มีพลตรี ทวี ดำรงหัด เป็นผู้บัญชาการกองพล แบ่งออกเป็น ๒ ผลัด เคลื่อนย้ายเข้าที่ตั้งปกติ ในค่ายกาญจนบุรีใน ๑๖ เมษายน ๒๕๑๑
การฝึก แบ่งออกเป็น ๓ ตอน ใช้เวลา ๒๕ สัปดาห์ เมื่อฝึกเสร็จแล้วทุกฐานกำเนิดส่งกำลังพลเข้า เข้ารวมพลที่ค่ายกาญจนบุรี เพื่อรับการฝึกหลักขั้นการฝึกเป็นกองร้อยต่อไป


การเดินทาง แบ่งออกเป็น ๔ ส่วนคือ ส่วนเตรียมการ ส่วนล่วงหน้า ส่วนใหญ่ และส่วนหลัง การเดินทางไปเสร็จสิ้นเมื่อ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๑ และเข้าที่ตั้งที่ค่ายมาตินค๊อกซ์ (Camp Matincox) ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าค่ายแบร์แคต (Camp Bear Cat) ในเขตอำเภอลองถั่น จังหวัดเบียนหว่า ค่ายนี้มีพื้นที่ประมาณ ๙ ตารางกิโลเมตร กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ ขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของกองกำลังทหารไทย ในสาธารณรัฐเวียดนาม และขึ้นในความควบคถุมทางยุทธการของกองทัพสนามที่ ๒ สหรัฐฯ (US II Field Force Vietnam) ซึ่งรับผิดชอบร่วมกับกองทัพน้อยที่ ๓ เวียดนามใต้ ในการป้องกันเขตรับผิดชอบทางยุทธวิธีของกองทัพน้อยที่ ๓ (III Corps Tactical Zone)


ภารกิจ
กองทัพสนามที่ ๒ สหรัฐฯ ได้มอบกิจเฉพาะให้กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ เฉพาะที่สำคัญดังนี้
๑. ปฏิบัติการทางยุทธวิธีเพื่อค้นหา ทำลายกำลัง และยุทโธปกรร์ของเวียดกง กองทัพประจำการของเวียดนามเหนือ และกำลังกองโจรประจำถิ่น ในพื้นที่รับผิดชอบทางยุทธวิธี ด้วยการลาดตระเวนระยะไกล และการลาดตระเวนด้วยกำลังมาก ในพื้นที่รับผิดชอบ การปิดล้อมและตรวจค้นหมู่บ้านย การซุ่มโจมตีเป็นตำบลและพื้นที่กับการรบร่วมกับกองกำลังชาติพันธมิตร
๒. ปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อการสนับสนุนและการปฏิบัติการทาวยุทธวิธี โครงการพัฒนาชนบท และโครงการต้อนรับผู้กลับใจ ปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน การให้การรักษาพยาบาล
๓. ป้องกันและรักษาเส้นทางคมนาคม สะพาน และที่ตั้งสำคัญ ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ
๔. สนับสนุนหน่วยทหารและตำรวจแห่งชาติเวียดนามใต้ในการป้องกัน และควบคุมประชาชนตลอดจนทรัพยากร
๕. ป้องกันฐานยิงสนับสนุนในพื้นที่รับผิดชอบ ป้องกันอำเภอลองถิ่น และการปฏิบัติการซุ่มโจมตี รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยค่ายแบร์แคต


การสนับสนุน
กองพลทหารอาสาสมัคร ได้รับการสนับสนุนทางการส่งกำลังบำรุงจากสหรัฐฯ ตามข้อตกลงโดยกองทัพสหรัฐฯ ได้จัดหน่วยแยกทางการส่งกำลังบำรุง จากหน่วยสนับสนุนทางการส่งกำลังบำรุงที่ ๒๙ สหรัฐฯ ไปตั้งประจำอยู่ที่ค่ายแบร์แคต สนับสนุนอุปกรณ์ทุกประเภท เว้นสิ่งอุปกรณ์สายแพทย์ ซึ่งหน่วยจะเบิกตรงจากหมวดส่วนหน้าของคลังแพทย์ที่ ๓๒ ซึ่งตั้งอยู่ที่ลองบินห์ สิ่งอุปกรณ์ปประเภท ๕ เบิกตรงกับคลังกระสุนของกองพันสรรพาวุธที่ ๓ สหรัฐฯ ที่ลองบินห์ การเบิกชิ้นส่วนซ่อม และการซ่อมเครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์ ประสานงานโดยตรงกับกองร้อยขนส่ง (สนับสนุนโดยตรง) ที่ ๕๖ สหรัฐฯ การเบิกแผนที่ แผนผัง และวัสดุอื่น ๆ เกี่ยวกับแผนที่ เบิกตรงกับหมวดช่างที่ ๕๔๗ สหรัฐฯ ที่ลองบินห์ สาธารณูปโภคในค่ายแบร์แคต ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยช่างก่อสร้างภาคพื้นปาซิฟิก
กองทัพเวียดนามใต้ ให้การสนับสนุนข้าวและเกลือ ส่วนอาหารแห้งและเสบียงพิเศษ กองบัญชาการทหารสสูงสุดส่วนหน้า สนับสนุนให้


การปฏิบัติการ
ได้เข้าปฏิบัติการแทนที่กองพลทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ โดยได้รับมอบพื้นที่รับผิดชอบทางยุทธวิธีเฉพาะอำเภอลองถั่น ส่วนพื้นที่สนใจทางยุทธวิธี ได้รับมอบพื้นที่บางส่วนของจังหวัดเบียนหว่า และจังหวัดลองคานห์ ซึ่งติดกับพื้นที่รับผิดชอบทางยุทธวิธีของกองพล
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป ของพื้นที่รับผิดชอบเป็นทุ่งนา หนองน้ำ ป่าไม้โกงกาง ป่าละเมาะ สวนยาง ป่าทึบ ไปจนถึงเนินเขา มีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน เกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่เป็นทุ่งนาซึ่งอยู่ตอนกลาง
การปฏิบัติการนับว่ามีความยากลำบากมาก เนื่องจากไม่สามารถแบ่งแยกฝ่ายข้าศึกได้ชัดเจน การปฏิบัติการหลักประการหนรึ่งคือ การปฏิบัติการตามโครงการสันติสุข ซึ่งมีการปฏิบัติการทํ้งทางยุทธวิธี และทางจิตวิทยาควบคคู่กันไป ได้จัดตั้งฐานยิงสนับสนุนขึ้น ให้สามารถใช้อำนาจการยิงครอบคลุมเต็มพื้นที่รับผิดชอบทางยุทธวิธี
การรบที่บินห์สัน (Binh Son)

ครั้งที่ ๑
ในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๑๑ เวลาประมาณ ๐๓.๑๕ น. เวียดกงประมาณ ๑ กองพัน ได้เข้าโจมตีที่ตั้งกองร้อยที่ ๒ และ ๓ ของกองพันทหารราบที่ ๓ ของไทย โดยเข้าตี ๕ ทิศทางเป็น ๒ ระลอก โดยใช้การยิงนำด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด แล้วโจมตีด้วยจรวดอาร์พีจี ฝ่ายเราขอกำลังสนับสนุนจากปืนใหญ่กองพล จากฐานยิงสนับสนุน และชุดเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธ ปืนใหญ่สามารถยิงขัดขวางฝ่ายเวียดกง แนวหน้าที่มั่นฝ่ายเราเพียง ๑๘๐ - ๒๐๐ หลา สามารถยังยั้งและสังหารข้าศึกได้เป็นจำนวนมาก จนต้องถอยกลับไป
ผลการรบฝ่ายไทยเสียชีวิต ๕ คน บาดเจ็บสาหัส ๑๑ คน บาดเจ็บไม่สาหัส ๑๕ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิตนับได้ ๖๕ ศพ คาดว่านำศพกลับไปประมาณ ๓๐ ศพ ยึดอาวุธได้เป็นจำนวนมาก


ครั้งที่ ๒
ในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๒ เวลาประมาณ ๐๑.๓๕ น. เวียดกงประมาณ ๑ กองพัน ได้เข้าตีที่ตั้งกองร้อยที่ ๓ กองพันทหารราบที่ ๓ ของไทย เป็น ๒ ทิศทาง ฝ่ายไทยเตรียมวางกำลังต่อสู้ในทางลึก เพื่อให้สามารถทำลายข้าศึกได้ตั้งแต่ระยะไกล ได้ใช้ปืนใหญ่กองพลยิงสนับสนุน ขัดขวางการรุกของข้าศึกสมทบ ด้วยการยิงของเครื่องบินสปุ๊กกี้พร้อมกับทิ้งพลุส่องสว่าง ทำให้เวียดกงประสบกับความสูญเสียเป็นจำนวนมาก และยุติการรบลงในเวลาอันสั้น เมื่อเวลา ๐๓.๐๐ น. ผลปรากฎว่าฝ่ายเราเสียชีวิตต ๑ คน บาดเจ็บสาหัส ๑ คน บาดเจ็บไม่สาหัส ๔ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิตนับได้ ๔๑ ศพ ยึดอาวุธได้เป็นจำนวนมาก


ครั้งที่ ๓
ในคืนวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๑๒ เวลาประมาณ ๐๐.๒๕ น. เวียดกงได้เข้าโจมตีกองร้อยที่ ๓ กองพันทหารราบที่ ๓ โดยแบ่งกำลังเข้าตีพร้อมกัน ๓ ทิศทาง
กรมทหารราบที่ ๓๑ ได้ใช้ปืนใหญ่กองพลและเครื่องบินสปุ๊กกี้สนับสนุนอย่างได้ผล ฝ่ายเวียดกงได้รับความเสียหายหนัก จนรุ่งเช้าจึงได้ร่ยถอยกลับไป
ผลการรบ ฝ่ายไทยทุกคนปลอดภัย ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิตนับศพได้ ๘๗ ศพ ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก
การรบที่ล็อดอัน ( Loc An)
กรมทหารราบที่ ๑ ได้จัดกำลังไปตั้งฐานปฏิบัติการบริเวณหมู่บ้านล็อคอัน เพื่อสะกัดกั้นกองกำลังเวียดกง หมู่บ้านล็อคอันเป็นหมู่บ้านร้าง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอลองถิ่น รอบพื้นที่เป็นที่ลุ่มป่าชายเลนและสวนยาง มีลำห้วยหลายสายไหลผ่าน


ครั้งที่ ๑
ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๒ เวลาประมาณ ๐๒.๑๕ น. เวียดกงประมาณ ๑ กองพัน เพิ่มเติมกำลังได้เข้าตีที่ตั้งกองร้อยทหารไทยทั้ง ๒ กองร้อย โดยเริ่มจากการยิงเตรียมด้วยเครื่องยิงลูกระเบิดและอาร์พีจี แล้วใช้กำลังส่วนใหญ่เข้าโจมตีเป็น ๓ ทิศทาง ฝ่ายไทยขอรับการสนับสนุนจากปืนใใหญ่กองพล และชุดเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธของกองวทัพสนามที่ ๒ สหรัฐฯ กองพลทหารอาสาสมัครก็ได้ส่งกำลังมาเสริมเมื่อเวลา ๐๔.๓๐ น. การรบดำเนินไปอย่างรุนแรงจนใกล้รุ่ง ฝ่ายเวียดกงจึงถอยร่นกลับไป ฝ่ายเราได้ไล่ติดตามไปจนถึงเวลา ๐๗.๐๐ น. จึงเลิกติดตาม
ผลการรบฝ่ายไทยเสียชีวิต ๒ คน บาดเจ็บสาหัส ๑๙ คน บาดเจ็บไม่สาหัส ๘ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิตนับศพได้ ๑๑๖ ศพ จับเป็นเชลยได้ ๓ คน ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก


ครั้งที่ ๒
กองร้อยที่ ๑ และกองร้อยที่ ๔ กองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ ได้รับคำสั่งให้ไปตั้งฐานปฏิบัติการที่บริเวณหมู่บ้านล๊อคอัน เมื่อ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๒ เวลาประมาณ ๐๐.๔๕ เวียดกง ๑ กรมหย่อนกำลัง ได้เข้าตีฐานปฏิบัติการของทหารไทย เริ่มด้วยการยิงเตรียมด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด และอาร์พีจีอย่างหนัก แล้วส่งกำลังเข้าตี ๓ ทิศทาง ฝ่ายเราได้ขอรับการสนับสนุนจากปืนใหญ่กองพล ๖ กองร้อย และเฮลิคอปเต้อร์ติดอาวุธ กับเครื่องบินสปุ๊กกี้จากกองทัพสนามที่ ๒ สหรัฐฯ และการยิงสนับสนุนทางอากาศอย่างใกล้ชิด เวียดกงได้เข้าตีถึง ๓ ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ และถอนตัวกลับไปเมื่อเวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. ฝ่ายเราออกติดตามกวาดล้างจนถึงเวลา ๐๘.๐๐ น.
ผลการรบฝ่ายไทยเสียชีวิต ๒ ศพ บาดเจ็บสาหัส ๙ คน บาดเจ็บไม่สาหัส ๒๕ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิตนับศพได้ ๒๑๕ ศพ คาดว่าเสียชีวิตแล้วนำศพกลับไป ๔๐ ศพ จับเป็นเชลยได้ ๒ คน ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก
สรุปผลการปฏิบัติการ
การปฏิบัติการระหว่างวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๑๑ ถึงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๑๒ สรุปผลได้ดังนี้
การปฏิบัติการรบ
ปะทะกับเวียดกง ๓๒๘ ครั้ง สังหารเวียดกงเสียชีวิต ๙๔๔ คน คาดว่าเวียดกงเสีชีวิต ๔๐๒ คน จับเชลยศศึกได้ ๑๗ คน จับผู้ต้องสงสัยได้ ๓๓๕ คน ผู้เข้ามอบตัว ๓ คน
ยึดอาวุธประจำการได้ ๒๔๕ กระบอก อาวุธประจำหน่วย ๑๒ กระบอก กระสุน ๕๗,๐๐๐ นัด ทุนระเบิด๒๐๒ ลูก ทุ่นระเบิดแสวงเครื่อง ๑๘๐ ทุ่น ลูกระเบิดขว้าง ๑,๔๙๒ ลูก เครื่องยิงอาร์พีจี ๕๔ ชุด จรวดอาร์พีจี ๕๔๕ ลูก
ยึดข้าวสารได้ ๑๓,๙๐๐ กิโลกรัม ทำลายที่กำบัง ๑,๙๓๗ แห่ง เรือสำปั้น ๔๒ ลำ อุโมงค์ ๑๖๕ แห่ง และยึดเอกสารต่าง ๆ ได้ ๔,๔๒๔ ฉบับ
การสูญเสียของฝ่ายไทยจากการปฏิบัติการรบ ๕ ครั้ง มีผู้เสียชีวิต ๑๔ คน บาดเจ็บสาหัส ๔๖ คน บาดเจ็บไม่สาหัส ๕๒ คน
การช่วยเหลือประชาชน
ได้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนชาวเวียดนามใต้ในการก่อสร้างสาธารณูปโภค จัดชุดแพทย์และทันตแพทย์เคลื่อนที่ ไปรักษาพยาบาลประชาชน พอประมวลได้รายการที่สำคัญดังนี้
ตัดถนนยาว ๗,๓๐๐ เมตร ถากถางพื้นที่และปรับพื้นที่ ๑๐๖,๗๐๐ เมตร รักษพยาบาลผู้ป่วยเจ็บ ๓๐,๙๖๔ ราย จัดชุดปฏิบัติการจิตวิทยา ๓๑๙ ครั้ง
การผลัดเปลี่ยนและการเดินทางกลับ
กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๑ ปฏิบัติการอยู่ในเวียดนามใต้ ได้ ๖ เดือน ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒ จึงเดินทางไปสมทบในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ และปฏิบัติการร่วมกันเป็นเวลา ๖ เดือน จากนั้นผลัดที่ ๒ ส่วนที่ ๑ จึงได้เดินทางไปผลัดกับกำลังของผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๑ เป็นส่วน ๆ ตามลำดับ เสร็จแล้วจึงทะยอยเดินทางกลับโดยเครื่องบินลำเลียงของสหรัฐฯ
คำชมเชยจากต่างประเทศ

รัฐบาลเวียดนามใต้และกองทัพสหรัฐฯ ได้สดุดีเกียรติประวัติของกองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๑ว่า ได้ปฏิบัติการรบอย่างกล้าหาญยิ่งยวด ทำให้เวียดกงประสบความสูญเสียอย่างหนัก กองกำลังทหารบกไทย ได้คุ้มครองป้องกันประชาชนชาวเวียดนามใต้ในพื้นที่รับผิดชอบ ไม่ให้ฝ่ายเวียดกงทำอันตรายได้ควบคู่ไปกับการปฏิบัติการทางทหาร ได้ช่วยเหลือในด้านการรักษาพยาบาล และช่วยเหลือให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นและได้ปฏิบัติต่อชาวเวียดนามฉันท์ญาติพี่น้อง
ดังนั้นรัฐบาลเวียดนามใต้ถึงได้มอบแพรแถบเชิดชูเกียรติคุณหน่วยประดับธงชัยเฉลิมพลของกองพลทหารอาสาสมัคร รวม ๒ แถบ และรัฐบาลสหรัฐฯ ได้มอบเกียรติบัตรชมเชยดังนี้
เวียดนามใต้
The Unit Citation Streamer Colkor of Gallantr Cross with Palm
แพรแถบเชิดชูเกียรติคุณหน่วยกางเขนแห่งความกล้าหาญประดับใบปาล์ม
The Unit Citation Streamer Color of the Civic Action Medal with Oakleaf
แพรแถบเชิดชูเกียรติคุณหน่วยเหรียญกิจการพลเรือนประดับใบโอ๊ค
สหรัฐอเมริกา
The US Mertorious Unit Commerdation
เกียรติบัตรชมเชยการปฏิบัติงานดีเด่น