การปฏิบัติการของทหารไทยในสงครามเวียตนาม


กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒

กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒ มีกำลังพล ๕,๗๐๔ คน ได้เดินทางไปยังเวียดนาม โดยแบ่งกำลังออกเป็น ๓ ส่วนคือ ส่วนหน้า ส่วนใหญ่ และส่วนหลัง การเดินทางเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ ได้ไปสมทบและปฏิบัติการร่วมกับส่วนที่ ๑ เป็นเวลา ๖ เดือน เมื่อผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๑ เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒ ได้เปลี่ยนการบังคับบัญชาไปขึ้นกับ ผู้บัญชาการกองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๒ และได้รับมอบให้ปฏิบัติการในพื้นที่สนใจทางยุทธวิธี ทางทิศเหนือของกองพล ในเขตติดต่อระหว่างอำเภอตูดิ๊ก กับอำเภอลองถั่น จังหวัดเบียนหว่า อันเป็นด่านสำคัญในการป้องกันค่ายลองบินห์ ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ ในเวียดนามใต้ และกองบัญชาการกองทัพสนามที่ ๒ สหรัฐฯ โดยได้รับมอบภารกิจเฉพาะ ให้ร่วมกันสกัดกั้นการรุกใหญ่ ครั้งที่ ๔ ของเวียดกง


กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒ ได้ปฏิบัติการเชิงรุกอย่างกว้างขวาง ร่วมกับผลัดที่ ๑ ระหว่างเดือนมกราคม - มิถุนายน ๒๕๑๒ หลังจากนั้นก็ได้ปฏิบัติการร่วมกับกองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๒ ส่วนที่ ๑ ระหว่างเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม ๒๕๑๒ มีการรบที่สำคัญดังนี้
การรบที่เฟือกกาง (Phuoc Cang)

กรมทหารราบที่ ๒ ได้รับคำสั่งให้ไปตั้งฐานปฏิบัติการอยู่บนเนิน ๓๘ ใกล้หมู่บ้านเฟือกกาง เพื่อสกัดกั้นเวียดกง ซึ่งวางกำลังอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการวังผา ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒
ภูมิประเทศในพื้นที่ปฏิบัติการเป็นทุ่งนา ป่าไม้รกทึบและสวนยาง กรมทหารราบที่ ๒ จึงให้กองพันทหารราบที่ ๓ จัดกองร้อยที่ ๓ เพิ่มเติมกำลัง ๑ หมวด จากกองพันทหารม้ายานเกราะ ไปสกัดกั้นเวียดกง และรักษาพื้นที่ปฏิบัติการ
วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ หน่วยลาดตระเวนกองร้อยอาวุธเบาที่ ๓ ได้ปะทะกับเวียดกงจำนวนหนึ่งอันเป็นสิ่งบอกเหตุว่าเวียดกง จะเข้าโจมตีในไม่ช้านี้


ในคืนวันวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ เวลา ๐๒.๒๐ น. กองพันที่ ๓ กรมที่ ๒๗๔ เวียดกงได้เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยอาวุธเบาที่ ๓ ของไทยอย่างรุนแรง โดยได้ยิงเตรียมด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด และจรวดอาร์พีจี ไปยังค่ายแบร์แคต และฐานยิงสนับสนุนพร้อมกัน หลังจากนั้นได้ใช้กำลังทหารราบเข้ารบประชิด รอบที่ตั้งฐานปฏิบัติการ ฯ ใน ๓ ทิศทาง เนื่องจากการรบติดพันในระยะต้นไม่อาจใช้ปืนใหญ่ และเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธได้เต็มขีดความสามารถ จนถึงเวลา ๐๖.๐๐ น. เวียดกงเริ่มถอนตัวจากการรบ กองพลทหารอาสาสมัครได้ใช้ปืนใหญ่ของกองพล ๕ กองร้อย กับกำลังทางอากาศระดมยิงอย่างหนัก เพื่อสกัดกั้น และทำลายการถอนตัวของข้าศึก และได้ส่งกำลังหมวดทหารม้ายานเกราะออกกวาดล้างข้าศึก จนถึง เวลา ๑๐.๔๕ น. จึงเสร็จสิ้น
ผลการรบ ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๑ คน บาดเจ็บสาหัส ๕ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิตนับศพได้ ๕๗ ศพ ถูกจับเป็นเชลย ๑๐ คน ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นอันมาก


ยุทธการอัศวิน
กองพลทหารอาสาสมัคร ได้รับมอบภารกิจในการลาดตระเวนค้นหา และทำลายเวียดกงเพื่อให้การระวังป้องกัน การปฏิบัติการถางป่า และทำลายต้นไม้ในพื้นที่รับผิดชอบของกองพลทางทิศใต้ และทิศตะวันออกของสวนยางบินห์สัน ในเขตอำเภอลองถั่น ตั้งแต่วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๑๒ เพื่อขัดขวางกำลังเวียดกง ที่อาศัยป่าแถบนั้นเป็นแหล่งกำบัง และซ่อนพรางกำลังในฐานปฏิบัติการ เพื่อเตรียมการโจมตีกำลังทหารไทย และชาติพันธมิตรฝ่ายโลกเสรี


พื้นที่ปฏิบัติการดังกล่าว มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่า และสวนยางสลับกัน ยากลำบากต่อการเคลื่อนที่ด้วยเท้า และจำกัดต่อการตรวจการณ์ด้วยสายตาทั้งทางพื้นดิน และทางอากาศ ง่ายต่อการถูกโจมตีจากฝ่ายข้าศึก ทางด้านทิศตะวันตกเป็นที่ลุ่ม มีลำน้ำหลายสายที่เวียดกงใช้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุง กลางสวนยางเป็นที่ตั้งของสนามบินขนาดใหญ่ของเวียดนามใต้ คือสนามบินบินห์สัน
กองพลทหารอาสาสมัครได้กำหนดแผนยุทธการใช้ชื่อว่าแผนอัศวิน เป็นแผนการลาดตระเวนค้นหาและทำลายข้าศึก และจัดกำลังเป็นหน่วยรบเฉพาะกิจ เรียกว่า หน่วยรบเฉพาะกิจอัศวิน มีผู้บังคับกองพันทหารม้ายานเกราะ เป็นผู้บังคับหน่วย ประกอบด้วย กองพันทหารม้ายานเกราะหย่อน ๑ กองร้อย กองร้อยอาวุธเบา กองร้อยทหารปืนใหญ่ (ช่วยโดยตรง) หมวดทหารช่างสนาม
ยุทธการอัศวินเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ ๑๑ กัยยายน ๒๕๑๒ ถึง ๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๒ ได้ปะทะกับเวียดกง ๓ ครั้ง ฝ่ายเราเสียชีวิต ๖ คน ไม่ทราบการสูญเสียของเวียดกง ผลการปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้การถากถางป่าบรรลุผล ถางป่าได้ ๙,๔๐๐ ไร่ ฝ่ายเวียดกงไม่สามารถใช้พื้นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติการได้ และเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเราในการกวาดล้างข้าศึก
ยุทธการวูล์ฟแพค ๑,๒ (Woltpack I,II)


ยุทธการนี้เป็นการปฏิบัติการผสมของกองกำลังฝ่ายโลกเสรี ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๓ ตุลาคม ๒๕๑๒ และ ๑๔ - ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ โดยมีกองพันรบ เฉพาะกิจของไทย เวียดนามใต้ ออสเตรเลีย และหมวดเรือเฉพาะกิจสหรัฐฯ กำลังเฉพาะกิจของ ๔ หน่วยดังกล่าวปฏิบัติการเป็นอิสระแก่กัน โดยมีการประสานกันอย่างใกล้ชิด
การปฏิบัติการครั้งนี้กองกำลังของฝ่ายไทยได้ปะทะกับเวียดกงหลายครั้ง ฝ่ายเราเสียชีวิต ๒ คน บาดเจ็บสาหัส ๑ คน เวียดกงเสียชีวิต ๓๓ คน ทำลายที่มั่นปิด ๓๕ แห่ง คูติดต่อ ยาว ๓๐๐ เมตร หลุมบุคคล ๓๑ หลุม อาวุธยุทโธปกรณ์และเอกสารสำคัญจำนวนมาก
ยุทธการเบ็นแคม (Ben Cam)
หมู่บ้านเบ็นแคม อยู่ในเขตอำเภอโนนทรัค ลักษ

ณะภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มน้ำขัง ป่าไม้ สวนยาง และทุ่งนา พื้นที่ป่าบริเวณใต้หมู่บ้าน เป็นแหล่งที่หลบซ่อนกำลัง และสะสมเสบียงอาหารของฝ่ายเวียดกง


ภารกิจของกองพลทหารอาสาสมัครครั้งนี้ ถือการปิดล้อมเวียดกงที่หลบซ่อนอยู่ เพื่อทำลายกำลังและแหล่งเสบียงอาหารของเวียดกง จึงกำหนดแผนที่จะใช้เส้นทางรอบหมู่บ้านเบ็นแคมในการเคลื่อนย้ายกำลังเข้าจู่โจมปิดล้อม แล้วกระชับวงเข้าไปสังหาร และจับเป็นเชลยศึก โดยใช้กำลัง ๖ กองร้อยอาวุธเบา และกำลังกึ่งทหารของกองทัพเวียดนามใต้ ๒ กองร้อยกับกำลังตำรวจเวียดนามใต้อีกจำนวนหนึ่ง
การปฏิบัติการเริ่มตั้งแต่ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ถึง ๔ ธันวาคม ๒๕๑๒ โดยได้จู่โจมเข้าปิดล้อมป่าไว้โดยรอบ ในวันรุ่งขึ้นเวียดกง ๑ หมู่ พยายามตีฝ่าวงล้อมแต่ไม่สำเร็จ ในวันที่ ๓ เมื่อกระชับวงปิดล้อมเข้าไปตามลำดับ ก็ได้ค้นพบอุโมงค์ขนาดใหญ่จุคนประมาณ ๑๐๐ คน ฝ่ายเวียดกงเพิ่งเคลื่อนย้ายออกไป รอบอุโมงค์มีที่กำบังอยู่ถึง ๓๐ แห่ง ฝ่ายไทยยึดอุปกรณ์สายแพทย์ได้เป็นอันมาก ในวันต่อมาเวียดกง ๑ หมู่ พยายามตีฝ่าวงล้อมออกไปอีกแต่ ไม่เป็นผล วันต่อมาได้มีการปะทะกับเวียดกงอีกหลายครั้ง


เมื่อปฏิบัติการได้ ๑๑ วัน ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๓ คน บาดเจ็บสาหัส ๓ คน บาดเจ็บไม่สาหัส ๓ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิต ๑๐ คน เข้ามอบตัว ๑๗ คน ทำลายที่กำบัง ๑๕๐ แห่ง ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก
ยุทธการเฟือกเหงียน (Phuac Nguyen)

หมู่บ้านเฟือกเหงียนอยู่ในเขตอำเภอลองถั่น ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มมีลำน้ำหลายสาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา และมีป่ารกทึบรอบบริเวณ มีสวนยางสลับป่า หมู่บ้านนี้สืบทราบมาว่าเป็นแหล่งหลบซ่อนกำลัง และสะสมเสบียงอาหารของกรมที่ ๒๗๔ เวียดกงและกองโจรประจำถิ่นเวียดกง
กองพลทหารอาสาสมัคร ได้รับมอบภารกิจให้ปฏิบัติการยุทธผสมร่วมกับกองกำลังกึ่งทหาร กำลังตำรวจ และกำลังเจ้าหน้าที่อำเภอลองถั่น เข้าทำการปิดล้อมและตรวจค้นหมู่บ้าน เพื่อทำลายข้าศึก และแยกประชาชนออกจากกองโจร ประจำถิ่นของเวียดกง กองพลทหารอาสาสมัครได้จัดกำลังกองร้อยอาวุธเบา วางกำลังไว้วงนอก ส่วนกำลังกึ่งทหาร ๒ กองร้อยของกองทัพเวียดนามใต้ และกำลังตำรวจเวียดนามใต้อีกจำนวนหนึ่งวางกำลังไว้วงในทำการปิดล้อม และตรวจค้นหมู่บ้านแห่งนี้ โดยปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ ๔ ถึง ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๒ มีการปะทะกับเวียดกง ๒ ครั้ง


ผลการรบ ฝ่ายไทยไม่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิต ๔ คน จับผู้ต้องสงสัยได้ ๒๐ คน ยึดได้อุปกรณ์ และเอกสารได้เป็นจำนวนมาก
สรุปผลการปฏิบัติการ


ผลการปฏิบัติการของกองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ - ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ สรุปได้ดังนี้
ปะทะกับเวียดกง ๒๑๒ ครั้ง สังหารเวียดกงนับศพได้ ๓๔๓ ศพ คาดว่าเวียดกงเสียชีวิต ๑๒๙ คน จับเชลยศึกได้ ๑๑ คน จับผู้ต้องสงสัยได้ ๑๘๓ คน มีผู้เข้ามอบตัว ๔๙ คน


ยึดอาวุธประจำกายได้ ๙๙ กระบอก อาวุธประจำหน่วย ๗ กระบอก กระสุน ๑๕,๔๐๐ นัด ทุ่นระเบิด ๕๓ ทุ่น ทุ่นระเบิดแสวงเครื่อง ๑๒๙ ทุ่น ลูกระเบิดขว้าง ๒๔๒ ลูก เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี ๑๖ เครื่อง จรวดอาร์พีจี ๓๑ ลูก
ทำลายที่กำบังได้ ๑,๗๓๓ แห่ง อุโมงค์ ๓๓ แห่ง เรือสำปั้น ๕๑ ลำ ข้าวสาร ๒๔ ตัน เอกสารต่าง ๆ ๑๙๘ ฉบับ
ถากถางพื้นที่ ๒ ล้านตารางเมตร ก่อสร้างอาคารสาธารณประโยชน์ ๒ รายการ ขุดบ่อน้ำ ๖ บ่อ
รักษาผู้เจ็บป่วย ๒๔,๐๔๖ ราย จัดชุดปฏิบัติการจิตวิทยา และแพทย์เคลื่อนที่ ๓๐๒ ครั้ง
การผลัดเปลี่ยนและเดินทางกลับ


เมื่อปฏิบัติการจนถึงเดือน ธันวาคม ๒๕๑๒ ได้รับการผลัดเปลี่ยนจากกำลังกองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๒ ส่วนที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๒ มกราคม - ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ จากนั้นจึงเดินทางกลับเป็นส่วน ๆ โดยทางเครื่องบิน
อิสริยาภรณ์ และเหรียญตราที่ได้รับ


การปฏิบัติการของกองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ มีผลงานเป็นที่ยกย่อง และได้รับความชื่นชมจาก บรรดามิตรประเทศเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามใต้ และสหรัฐฯ ได้มอบอิสริยาภรณ์ และเหรียญตรา เป็นการเชิดชูเกียรติ์ทหารไทยในกองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ ดังนี้
สหรัฐฯ Silver Star Medal ๑๔ คน
Bronge Star Medal With letter ''v'' ๓๓ คน
Army Commendation Medal With letter ''v'' ๖๔ คน
เวียดนามใต้ Gallantry Cross With Palm ๔๒ คน
Gallantry Cross With Gold Star ๕๗ คน
Gallantry Cross With Silver Star ๘๘ คน
Gallantry Cross With Bronze Star ๘๔ คน

กองพลทหาร อาสาสมัคร ที่ ๒

กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๒ ส่วนที่ ๑ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๑๒ มีกำลังพลทั้งสิ้น ๕,๕๘๒ คน มีพลตรี สวัสดิ์ มักการุณ เป็นผู้บัญชาการกองพล เดินทางออกจากประเทศไทยไปผลัดเปลี่ยน กองพลทหารอาสาสมัครส่วนที่ ๑ ผลัดที่ ๑ ระหว่างเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๑๒ ได้ทยอยเดินทางโดยเครื่องบินลำเลียงแบบ C- ๑๓๐ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ จำนวน ๘๐ เที่ยวบิน
กองพลทหารอาสาสมัคร ได้รับมอบภารกิจให้ปราบปรามกองกำลังเวียดกง และกองทหารเวียดนามเหนือ ในเขตอำเภอโนนทรัค และอำเภอลองถั่น จังหวัดเบียนหว่า ซึ่งในระหว่างเดือน สิงหาคม ๒๕๑๒ ถึงเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ กองพลทหารอาสาสมัคร ได้ปฏิบัติการตามภารกิจที่ได้รับมอบได้ผลดียิ่ง จนหมู่บ้านในอำเภอโนนทรัค ซึ่งเคยตกอยู่ในอิทธิพลของเวียดกง กลับคืนมาอยู่ในความคุ้มครองของทหารเวียดนามใต้ตามเดิม จากนั้นก็ได้รับมอบภารกิจให้รับผิดชอบพื้นที่สนใจทางยุทธวิธีใน อำเภอลองถั่นกับพื้นที่บางส่วนของอำเภอดึ๊กตู จังหวัดเบียนหว่า และอำเภอชวนล็อค จังหวัดลองคานห์ ร่วมกับกองกำลังทหารเวียดนามใต้ และกองกำลังชาติพันธมิตรฝ่ายโลกเสรีเพื่อ


๑. ช่วยเหลือโครงการสันติสุข และขยายอำนาจการปกครองของรัฐบาลเวียดนามใต้ ให้เต็มพื้นที่สนใจทางยุทธวิธีที่ได้รับมอบหมาย
๒. เพิ่มพูนประสิทธิภาพของกองกำลังประจำถิ่น และกำลังประชาชน
๓. ปฏิบัติการทางทหารเพื่อทำลายกำลังข้าศึก
พื้นที่การปฏิบัติการ การจัดกำลัง และการวางกำลัง

กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๒ ส่วนที่ ๑ ได้รับมอบพื้นที่ปฏิบัติการแบ่งเป็น ๓ ส่วนใหญ่ ๆ คือ
ส่วนที่ ๑ พื้นที่ตอนเหนือค่ายแบร์แคต กับพื้นที่ทางทิศตะวันออกและทิศใต้ของสวนยางบินห์สัน ซึ่งเป็นป่ารกทึบ
ส่วนที่ ๒ พื้นที่ตอนกลางค่ายแบร์แคต เป็นที่เพาะปลูกสวนยาง ได้แก่ สวนยางบินห์สัน สวนยางอันเวียง สวนยางเฮเลนา และสวนยางชิฟ
ส่วนที่ ๓ พื้นที่ทางด้านทิศตะวันตก เป็นพื้นที่ต่อจากพื้นที่กองบัญชาการป้องกันเขตนครหลวง (Capitat Mititary Districk) เป็นพื้นที่ลุ่มมีลำน้ำหลายสายไหลลงสู่แม่น้ำดองไน ซึ่งเป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงหลักของเวียดกง ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวนา
กองพลทหารอาสาสมัคร ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดเป็นการภายใน คือ ให้กองร้อยลาดตระเวนระยะไกลเป็นหน่วยขึ้นตรงกองพล และได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจนารายณ์ขึ้น เพื่อรับผิดชอบการระวังป้องกันค่ายแบร์แคต และพื้นที่ปฏิบัติการนารายณ์ โดยมีรองผู้บัญชาการกองพล เป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนารายณ์ และผู้บังคับทหารปืนใหญ่กองพลทหารอาสาสมัคร เป็นรองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนารายณ์
การรบในเวียดนามเป็นการรบนอกแบบ การปฏิบัติการรบเป็นไปในลักษณะป้องกันตนเองรอบทิศทาง (Perimeter Defense) เมื่อหน่วยหยุดอยู่กับที่หรือตั้งฐานปฏิบัติการ จะดำเนินการรบแบบจรยุทธ์ ด้วยการส่งหน่วยลาดตระเวนระยะไกล ทั้งทางพื้นดินและอากาศ ออกตรวจค้นหาที่ตั้งของข้าศึก ขัดขวางและทำลายกำลังข้าศึกส่วนนั้น ปกติหน่วยกองพันทหารราบจะแยกกองร้อยออกปฏิบัติการเป็นอิสระ ให้เลือกและจัดตั้งฐานลาดตระเวนของตนขึ้น แล้วเคลื่อนย้ายฐานลาดตระเวนทุก ๒-๓ วัน เพื่อดำรงความกดดันและรบกวนเวียดกงอย่างต่อเนื่อง และเป็นการหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีด้วยกำลังทางพื้นดิน


การวางกำลังของปืนใหญ่กองพล ได้วางปืนใหญ่และกำลังประจำฐานยิงสนับสนุนในระดับกองร้อย กองร้อยละ ๑ ฐานยิง ทั้งกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑ ซึ่งเป็นกองพันปืนใหญ่เบาขนาด ๑๐๕ มิลลิเมตร และกองพันทหารปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้ง ขนาด ๑๕๕ มิลลิเมตร


ยุทธการมิตรภาพ ๑


บริเวณสองฝั่งลำน้ำทิไหว่ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของ อำเภอโนนทรัค เป็นแหล่งสะสมเสบียง และอาวุธยุทโธปกรณ์ของเวียดกง มีกำลังประจำถิ่นเฝ้ารักษาอยู่ประมาณ ๓๐ - ๕๐ คน กำลังฝ่ายไทยประกอบด้วย กองพันทหารราบที่ ๒ กองพันทหารปืนใหญ่ช่วยโดยตรง และหมวดทหารช่างสนาม ร่วมด้วยกำลังฝ่ายสหรัฐฯ ประกอบด้วยหน่วยเรือตรวจลำน้ำ (Patrol Boat River : PBR) ขึ้นในความควบคุมทางยุทธการของ กองพลทหารอาสาสมัคร กองร้อยเฮลิคอปเตอร์โจมตี และกองพันปฏิบัติการปฏิจิตวิทยาที่ ๖ พร้อมทั้งกองพันนาวิกโยธินเวียดนามใต้ ซึ่งขึ้นในความควบคุมทางยุทธการของ กองพลทหารอาสาสมัคร
การปฏิบัติการยุทธผสมครั้งนี้ เป็นการปฏิบัติการร่วมกับกองกำลังชาติพันธมิตรครั้งแรก
เช้าวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๑๒ เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B - ๕๒ ได้ไปทิ้งระเบิดเป้าหมาย ในขณะที่ปืนใหญ่ก็ได้ระดมยิงที่หมายพร้อมกัน จากนั้นกองพันทหารราบที่ ๒ ของไทยได้เคลื่อนที่ทางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์ ลงโจมตีที่หมายต่าง ๆ ๔ แห่ง
ผลการรบ ที่กำบังปิดของข้าศึกถูกทำลาย ๒๖ แห่ง ไม่ปรากฏการสูญเสียของทั้งสองฝ่าย แต่จากปากคำของชาวบ้านฝ่ายเวียดกงเสียชีวิต ๓๐ คน


ยุทธการมิตรภาพ ๒


กองพันทหารราบที่ ๑ ได้ปฏิบัติการยุทธผสมร่วมกับกองพันนาวิกโยธินเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ ๙ - ๑๖ สิงหาคม ๒๕๑๒ ทำการค้นหากวาดล้าง และทำลายกำลังเวียดกง ในพื้นที่ปฏิบัติการอุบล ทางทิศตะวันออกของอำเภอลองถั่น และพื้นที่ปฏิบัติการระยอง สามารถทำลายที่กำบังปิดได้ ๓ แห่ง ฝ่ายไทยปลอดภัยทุกคน


ยุทธการมิตรภาพ ๓
เป็นการปฏิบัติการที่ใช้เวลานานหลายเดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๑๒ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ แบ่งการปฏิบัติการออกเป็น ๔ ขั้น
ขั้นที่ ๑ เป็นการปฏิบัติการถางป่าในพื้นที่ของกองพลทหารอาสาสมัคร หน่วยรบเฉพาะกิจที่ ๑ ออสเตรเลีย กรมทหารราบเบาที่ ๑๙๙ สหรัฐฯ และกองพลทหารราบที่ ๑๘ เวียดนามใต้ ก่อนการถางป่าได้มีการกวาดล้างในพื้นที่มีรัสมี ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร เพื่อเปิดพื้นที่ป่าทึบให้โล่งเตียน สะดวกแก่การทำลายฐานปฏิบัติการ รวมทั้งที่กำบังปิด และอุโมงค์ต่าง ๆ ของเวียดกง กับเพื่อให้สะดวกในการปฏิบัติการยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ และส่งกำลังบำเพิ่มเติมทางอากาศในยามฉุกเฉิน


ขั้นที่ ๒ และขั้นที่ ๓ เป็นการปฏิบัติการยุทธผสมของกองพลทหารอาสาสมัคร กับกองกำลังฝ่ายโลกเสรี ในพื้นที่ปฏิบัติการ ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของกองพลทหารราบที่ ๑๘ เวียดนามใต้ ภายใต้การควบคุมของกองบัญชาการผสมกองพลทหารราบที่ ๑๘ เวียดนามใต้ ที่ชวนล็อค ได้ทำการปิดล้อมฐานปฏิบัติการของเวียดกง แล้วส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดทำลายฐานของฝ่ายเวียดกง ทำให้ฝ่ายเวียดกงต้องกระจายกำลังออกไปเป็นกลุ่มย่อย ๆ มีการปะทะกับเวียดกง ๘๐ ครั้ง ตลอดเวลาเกือบ ๓ เดือน ฝ่ายโลกเสรีเสียชีวิต ๑๑ คน บาดเจ็บ ๑๐๕ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิต ๑๐๙ คน ที่กำบังปิดถูกทำลาย ๕๗๕ แห่ง หลุมบุคคล ๑๑๐ แห่ง ยึดได้อาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก
ขั้นที่ ๔ เป็นการปฏิบัติการรุกครั้งสุดท้าย ปฏิบัติการยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศผสมกับ กำลังภาคพื้นดินเข้ากวาดล้าง และทำลายกรมที่ ๒๗๔ เวียดกง ทางทิศใต้ของหมู่บ้านบินห์สัน มีการปะทะกัน ๑๗ ครั้ง ฝ่ายเราเสียชีวิต ๒ คน บาดเจ็บ ๒๐ คน เฮลิคอปเตอร์ถูกยิงตก ๑ เครื่อง ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิต ๑๒ คน ทำลายที่กำบังปิดได้ ๒๓ แห่ง ยึดได้อาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก


ยุทธการมิตรภาพ ๕
องค์การช่วยเหลือทางทหารฝ่ายโลกเสรีได้กำหนดแผนยุทธการมิตรภาพ ๕ ขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ราษฎรในพื้นที่ ๒๖ หมู่บ้าน ของอำเภอลองถั่น และอำเภอดึ๊กตู จังหวัดเบียนหว่า กับอำเภอชวนล็อก จังหวัดลองคานห์ ตั้งแต่เดือน มิถุนายน ๒๕๑๓ โดยทำการกวาดล้างเวียดกงควบคู่ไปกับการพัฒนาหมู่บ้านเหล่านั้น โดยแบ่งหมู่บ้านออกเป็น ๖ ระดับ ตามระดับความปลอดภัย ตั้งแต่หมู่บ้านที่มีความปลอดภัยสูงสุด ปราศจากการแทรกซึมของเวียดกง ไปจนถึงหมู่บ้านที่ตกอยู่ในความคุ้มครองของเวียดกง
ผลการปฏิบัติมีการปะทะกับเวียดกง ๑ ครั้ง ทหารบาดเจ็บ ๓ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิต ๓ คน ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้จำนวนหนึ่ง
ยุทธการสี่พยัคฆ์ (Opcration Tu Ho)


เป็นการปฏิบัติการรบผสมของกองกำลังฝ่ายโลกเสรี ๔ ชาติ คือ เวียดนามใต้ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และไทย โดยที่แต่ละหน่วยปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของตน ภายใต้การควบคุมของกองทัพสนาม ที่ ๒ สหรัฐฯ
ผลการปฏิบัติ ในส่วนของกองพลทหารอาสาสมัคร เฉพาะในเดือนมีนาคม ๒๕๑๓ มีการปะทะกับเวียดกง ๗๔ ครั้ง กำลังฝ่ายโลกเสรีเสียชีวิต ๑๔ คน บาดเจ็บ ๑๐๓ คน สังหารเวียดกงได้ ๘๙ คนจับเป็นเชลยศึกได้ ๒ คน ทำลายที่กำบังปิดได้ ๔๑๘ แห่ง อุโมงค์ ๓ แห่ง และยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก
การผลัดเปลี่ยน และเดินทางกลับ

กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๒ ส่วนที่ ๑ ปฏิบัติการได้ครบ ๑ ปี ในเดือน กรกฎาคม ๒๕๑๓ เมื่อได้รับการผลัดเปลี่ยน จากผลัดที่ ๓ ส่วนที่ ๑ แล้วจึงเดินทางกลับประเทศไทยทางเครื่องบินเสร็จสิ้นเมื่อ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๑๓
กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๒ ส่วนที่ ๒

จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๒ มีกำลังพลทั้งสิ้น ๕,๖๙๐ คน มีพันเอกเชษฐ คงศักดิ์ เป็นรองผู้บัญชาการกองพล ออกเดินทางไปผลัดเปลี่ยนกับกองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒ ระหว่างเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ แล้วเข้าสมทบกำลังเต็มกองพล กับผลัดที่ ๒ ส่วนที่ ๑ ได้มีการปฏิบัติการรบที่สำคัญดังนี้
ยุทธการบางปู


พื้นที่ปฏิบัติการบางปู อยู่ทางทิศตะวันตกใกล้กับค่ายแบร์แคต ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มติดกับแม่น้ำดองไน มีลำน้ำสาขาแยกออกไปมากมาย ฝ่ายเวียดกงใช้เป็นเส้นทางลำเลียงกำลังพล และอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยใช้เรือสำปั้นเป็นพาหนะ ลำเลียงไปเก็บรวบรวมไว้ในพื้นที่บางปู ซึ่งยังไม่เคยได้มีการกวาดล้างอย่างจริงจังมาก่อน


กองพันทหารราบที่ ๒ สมทบด้วย กองร้อยทหารม้ายานเกราะที่ ๑ (หย่อน ๑ หมวด) ออกปฏิบัติการเมื่อ วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ในขั้นต้นเวียดกงได้ต้านทานอย่างเหนียวแน่น เพราะได้สร้างที่มั่นแข็งแรงประกอบกับ ภูมิประเทศที่เป็นหลืบข้างลำน้ำ จึงยากแก่การค้นหา และทำลายด้วยอำนาจการยิง แม้จะยิงด้วยกระสุนวิถีโค้งก็ตาม
ผลการปฏิบัติได้ปะทะกับเวียดกง ๖ ครั้ง สังหารเวียดกงได้ ๖ คน ทำลายที่กำบังปิดได้ ๘๓ แห่ง และยึดได้อาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก
ยุทธการ ๒๓๔


กรมทหารราบที่ ๒ ได้มุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติการสกัดกั้นไม่ให้เวียดกงกลับเข้าไปใช้ในพื้นที่ดังกล่าวได้อีก จึงได้จัดชุดซุ่มโจมตีทั้งทางบกและทางน้ำ รวมทั้งการใช้เครื่องมือกลซุ่มโจมตีอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ เป็นต้นมา และตั้งแต่ ๒๑ มีนาคม - ๕ เมษายน ๒๕๑๓ ได้รับการสนับสนุนด้วยรถถังขนาดหนัก จากกองพันรถถังที่ ๒ กรมรถถังที่ ๓๔ สหรัฐฯ โดยมาขึ้นทางยุทธการกับกรมทหารราบที่ ๒ ประกอบกำลังเป็น ๔ ชุดรบ ทำให้การกวาดล้างเวียดกงเป็นไปอย่างได้ผลดี
ผลการปฏิบัติ ฝ่ายเราปลอดภัย เวียดกงเสียชีวิต ๓๒ คน ทำลายที่กำบังได้ ๓๒๒ แห่ง อุโมงค์ ๑ แห่ง ยึดได้อาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นจำนวนมาก
ยุทธการซุยคา


จากการลาดตระเวนตรวจค้น และกวาดล้างที่ผ่านมาพบว่า ที่มั่นเวียดกงส่วนใหญ่อยู่ตามบริเวณสองฝั่งลำน้ำคา กรมทหารราบที่ ๒ จึงปฏิบัติการกวาดล้างเวียดกงบริเวณนี้ มีการปะทะกับฝ่ายเวียดกงถึง ๕ ชั่วโมง มีการใช้เฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธ และปืนใหญ่สนับสนุน ทำให้สามารถทำลายที่มั่นเวียดกงได้ทุกแห่งที่พบ
ผลการปฏิบัติได้ปะทะกับฝ่ายเวียดกง ๗ ครั้ง ทหารไทยบาดเจ็บ ๗ คน ทำลายที่มั่นปิดได้ ๑๘๘ แห่ง อุโมงค์ ๒ แห่ง ยึดได้อาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก


ยุทธการคีย์แมน
กรมทหารราบที่ ๒ สืบได้ความชัดว่า มีหน่วยเวียดกงในระดับกองพันอยู่ ๒ หน่วย อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของฐานบุลศักดิ์ ในบริเวณพื้นที่ประมาณ ๑๒ ตารางกิโลเมตร จึงได้กำหนดพื้นที่ปฏิบัติการครั้งนี้ว่าลาดหญ้า ได้เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๑๓ มีการใช้โครงการต้อนรับผู้กลับใจให้เป็นประโยชน์ ใช้การโจมตีทางอากาศ การใช้ปืนใหญ่ยิงสนับสนุนอย่างใกล้ชิด ใช้ชุดทหารช่างทำลาย ไปทำลายที่กำบังปิดของเวียดกง การปฏิบัติการสิ้นสุดเมื่อ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๓
ผลการปฏิบัติฝ่ายเราปลอดภัย เวียดกงเสียชีวิต ๓๔ คน ทำลายที่กำบังปิดได้ ๑๐๐ แห่ง ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก
ยุทธการทัมเทียน (Tham Thien)

 

ในระหว่างฤดูการเก็บเกี่ยว การปฏิบัติของเวียดกงเป็นไปในลักษณะก่อกวน โดยทั่วไปและใช้หน่วยทหารช่างสังหารเข้าโจมตี การปฏิบัติการครั้งนี้จึงเป็นการกวาดล้างเวียดกง ประจำเขตย่อยที่ ๔ ในพื้นที่ปฏิบัติการวศิน (AO Vasin ) อยู่ทางตอนใต้บริเวณทิศตะวันออกของหมู่บ้านทัมเทียน ตั้งแต่ ๑ - ๖ ตุลาคม ๒๕๑๓ กรมทหารราบที่ ๒ จัดกำลัง ๓ กองร้อยอาวุธเบา ๑ กองร้อยทหารม้ายานเกราะ สนับสนุนด้วยชุดทหารช่างถากถางป่า และชุดทหารช่างทำลายจากกองร้อยทหารช่างเข้าปิดล้อม
ผลการปฏิบัติ ฝ่ายเราปลอดภัย เวียดกงเสียชีวิต ๕ คน ทำลายที่กำบังปิดได้ ๓๐ แห่ง อุโมงค์ ๒ แห่ง ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก และยังได้ถากถางพื้นที่ที่เป็นป่าทึบ เพื่อสกัดกั้นการใช้ประโยชน์ของพวกเวียดกง
ยุทธการสายฟ้าแลบ (Thunderbott)


เป็นการปฏิบัติการในพื้นที่ปฏิบัติการศิรินทร์ (AO Sirin) อยู่เหนือลำน้ำคา บริเวณที่ลำน้ำบรรจบกัน ตั้งแต่ ๑๙ - ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๓ โดยใช้ ๒ หมวดทหารม้าลาดตระเวนทางอากาศเข้าตรวจค้นที่หมาย และใช้ ๒ กองร้อยอาวุธเบาเคลื่อนที่ทางอากาศเข้าสกัดกั้น และติดตามเวียดกง
ผลการปฏิบัติฝ่ายเราปลอดภัย เวียดกงเสียชีวิต ๓๙ คน ทำลายที่กำบังปิดได้ ๕๐ แห่ง หลุมบุคคล ๙ หลุม อุโมงค์ ๑ แห่ง และยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก


การผลัดเปลี่ยน และเดินทางกลับ
กองพลทหารอาสาสมัคร ส่วนที่ ๒ ผลัดที่ ๒ ได้รับการผลัดเปลี่ยนจากผลัดที่ ๓ ส่วนที่ ๒ เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๔ แล้วจึงได้เดินทางกลับประเทศไทย โดยเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เสร็จสิ้นเมื่อ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔
บทเรียนจากการรบ และการสูญเสีย


ผลการปฏิบัติการส่วนใหญ่เป็นการผสมของฝ่ายโลกเสรี มีการประสานอำนาจการยิงของปืนใหญ่ กับการทิ้งระเบิดโจมตีต่อที่หมายร่วมกัน ดำเนินกลยุทธด้วยวิธีโอบดิ่งลงในบริเวณที่หมาย มีการป้องกันด้วยการลาดตระเวน ตามลำน้ำเพื่อบีบให้เวียดกงอยู่ในพื้นที่จำกัด ทำให้สามารถตรึงเวียดกงให้อยู่กับที่ สะดวกแก่การทำลายของฝ่ายเรา
การสูญเสียจากการรบ เสียชีวิต ๙๑ คน บาดเจ็บ ๑,๐๕๙ คน
การสูญเสียทางธุรการ เสียชีวิต ๒๕ คน บาดเจ็บ ๑๖๖ คน ส่งกลับเนื่องจากความผิด ๔๙ คน หนีราชการ ๙ คน
รวมทั้งสิ้น ๑,๓๙๙ คน