การปฏิบัติการของทหารไทยในสงครามเวียตนาม


กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๓

กองพลทหารอาสาสมัครที่ ๓ จัดตั้งเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๒ มีกำลังพลทั้งสิ้น ๑๑,๒๑๔ คน พลตรี เอื้อม จิรพงค์ เป็นผู้บัญชาการ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน เช่นเดียวกับ ผลัดที่ ๑ และผลัดที่ ๒


กองพลอาสาสมัคร ผลัดที่ ๓ ส่วนที่ ๑ มีกำลังพลทั้งสิ้น ๕,๕๔๐ คน เปิดกองบัญชาการกองพลชั่วคราวที่กรมยุทธศึกษาทหารบก ระหว่าง ๑๖ ธันวาคม ๒๕๑๒ - ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ และได้เคลื่อนย้ายไปเข้าที่ตั้งถาวรในค่ายกาญจนบุรี เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ แล้วเริ่มเรียกพลเข้าที่รวมพลเพื่อทำการฝึกหลักทั้ง ๕ ขั้น ตามที่กองทัพบกกำหนด


กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๓ ส่วนที่ ๑ ออกเดินทางไปเวียดนามด้วยเครื่องบินลำเลียงแบบ C-๑๓๐ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เสร็จสิ้นเมื่อ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๑๓ ในขั้นต้นคงขึ้นอยู่ในความควบคุมทางยุทธการของกองทัพสนามที่ ๒ สหรัฐฯ ต่อมาเมื่อ ๑๔ เมษายน ๒๕๑๔ กองทัพสนามที่ ๒ สหรัฐฯ ได้แปรสภาพหน่วยเป็นหน่วยบัญชาการช่วยเหลือประจำภาคที่ ๓ (III Regional Assistance Command : TRAC) จึงได้เปลี่ยนเป็นขึ้นควบคุมทางยุทธการของหน่วยนี้แทน และยังคงได้รับมอบภารกิจหลัก ๓ ประการ เช่นเดียวกับผลัดที่ ๑ และผลัดที่ ๒ และได้รับมอบภารกิจเฉพาะบางประการเพิ่มเติม เช่นให้ความคุ้มครองปลอดภัย สนับสนุนโครงการเสริมสร้างสันติสุขของรัฐบาลเวียดนามใต้ และควบคุมทรัพยากรแก่หมู่บ้านต่าง ๆ


พื้นที่รับผิดชอบ คือพื้นที่รับผิดชอบทางยุทธวิธี ในเขตอำเภอลองถั่น กับพื้นที่บางส่วนทางด้านเหนือ ในเขตอำเภอดึ๊กตู จังหวัดเบียนหว่า และพื้นที่ทางด้านตะวันออกของอำเภอชวนล็อค จังหวัดลองคานห์ รวมพื้นที่ประมาณ ๖๓๐ ตารางกิโลเมตร
การปฏิบัติการรบไม่มีความรุนแรงเหมือนผลัดที่ ๑ และผลัดที่ ๒ เพราะเวียดกงได้อ่อนกำลังลงมากแล้ว ส่วนใหญ่จึงเป็นการรบย่อย ๆ ระดับหน่วยทหารขนาดเล็ก ในลักษณะการลาดตระเวน ค้นหา และทำลายกำลังเวียดกง
การรบในฤดูฝน (กรกฎาคม - พฤศจิกายน ๒๕๑๓)

สภาพดินฟ้าอากาศ ในฤดูฝนเกื้อกูลต่อการปฏิบัติการของฝ่ายเวียดกง ในขณะเดียวกันก็ไม่เกื้อกูลต่อฝ่ายเรา เพราะการสนับสนุนทางอากาศจะถูกจำกัด
ในการปฏิบัติการในฤดูฝน ได้แก่การปิดล้อม ตรวจค้น ค้นหา และทำลายแหล่ง ส่งกำลังบำรุงที่สำคัญของเวียดกงทุกพื้นที่รับผิดชอบ และใช้หน่วยทหารขนาดเล็กเข้าปฏิบัติการรบด้วยการรุก การซุ่มโจมตี การตีโฉบฉวยควบคู่ไปกับการปฏบัติการด้านการเมือง ของชุดปฏิบัติการจิตวิทยา และการช่วยเหลือประชาชน


การรบในฤดูแล้ง (ธันวาคม - เมษายน ๒๕๑๔ )
ในปลายฤดูฝน ฝ่ายเราสามารถเป็นฝ่ายริเริ่มเข้าปฏิบัติการทั่วทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และเป็นฝ่ายได้เปรียบเวียดกง ทั้งทางด้านการทหาร และด้านการเมือง ได้ขยายผลการปฏิบัติการอย่างกว้างขวาง โดยได้ปฏิบัติการร่วมกับกำลังฝ่ายโลกเสรีในลักษณะผสม เช่นแผนยุทธการเยลโล แจ็กเก็ต ๑ ระหว่าง ๑๙ - ๒๓ ธันวาคม ๒๕๑๓ แผนยุทธการเยลโล แจ็กเก็ต ๒ ระหว่าง ๑๔ - ๑๙ มกราคม ๒๕๑๔ แผนยุทธการแจ็คเก็ต ๓ ระหว่าง ๒๓ - ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ และแผนยุทธการไทยแอม ระหว่าง ๗ - ๒๓ มีนาคม ๒๕๑๔
การถอนกำลังกลับประเทศไทย


ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลเวียดนามใต้ให้กองกำลังทหารไทย เริ่มถอนกำลังออกจากเวียดนามใต้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๑๔ เป็นต้นไป กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๓ ส่วนที่ ๑ ซึ่งได้รับอนุมัติจากกองทัพบกจึงเตรียมการถอนกำลัง ตั้งแต่เดือน มิถุนายน ๒๕๑๔ โดยแบ่งการเคลื่อนย้ายออกเป็น ๔ ส่วน และในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๔ กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๓ ส่วนที่ ๑ ก็ได้ส่งมอบความรับผิดชอบทางยุทธการให้กับ ผลัดที่๓ ส่วนที่ ๒
การเดินทางกลับใช้เครื่องบินลำเลียงแบบ C-๑๓๐ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เสร็จสิ้นเมื่อ วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๑๔
กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๓ ส่วนที่ ๒

จัดตั้งขึ้นเมื่อ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๑๓ มีกำลังพล ๕,๙๓๔ คน ได้เปิดหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่โดยรวม ๑๗ หลักสูตร ตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๑๓ ได้ทำการฝึกหลักที่ค่ายกาญจนบุรี โดยแบ่งการฝึกออกเป็น ๔ ขั้น ตั้งแต่การฝึกบุคคลทำการรบ การฝึกเป็นหมู่ตอนหมวด การฝึกเป็นกองร้อย และการฝึกเป็นกองพัน


การเดินทางไปผลัดเปลี่ยนแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน เดินทางโดยเครื่องบินลำเลียง แบบ C - ๑๓๐ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เสร็จสิ้นเมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ และได้รับมอบภารกิจให้รับผิดชอบ โดยให้ปฏิบัติการในพื้นที่ทางด้านตะวันออกของอำเภอชวนล็อค จังหวัดลองคานห์ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของหน่วยทหารสหรัฐฯ แต่ได้ถอนกำลังออกไปแล้ว


การปฏิบัติการรบไม่ได้ทำการรบครั้งใหญ่ เช่นเดียวกับผลัดก่อน ๆ อย่างไรก็ตามด้วยความริเริ่มโดยใช้ยุทธวิธีง่าย ๆ จึงทำให้ฝ่ายเวียดกงต้องแก้ปัญหาอยู่เสมอ เช่นใช้วิธีปะทะเพื่อให้ทราบที่ตั้งของฝ่ายเวียดกง แล้วถอนตัวห่างออกมาจากแนวปะทะ เพื่อให้เครื่องบินทิ้งระเบิด และปืนใหญ่ระดมยิง กับให้เฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธโจมตีด้วยจรวด และปืนกลอากาศ ทำลายกำลังเวียดกงจึงเข้าไปตรวจค้น ทำให้บรรลุภารกิจทุกครั้ง
การปฏิบัติการรบของกองร้อยจู่โจม (๑๕ - ๑๗ เมษายน ๒๕๑๔)

ชุดจู่โจมของกองร้อยจู่โจมได้รับมอบภารกิจให้ทำการลาดตระเวนค้นหา และทำลายข้าศึก ที่หลบซ่อนตัวอยู่ทางทิศใต้ของลำน้ำคา ในเขตพื้นที่ปฏิบัติการวศิน การปฏิบัติของชุดจู่โจม เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๑๔ โดยเคลื่อนย้ายทางเฮลิคอปเตอร์ไปลงในพื้นที่ปฏิบัติการ และแทรกซึมเข้าไป วันต่อมาได้กระจายกำลังเข้าค้นหา และทำลายข้าศึก การปะทะเป็นไปอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งได้เข้ารบประชิดด้วยอาวุธประจำกาย และทำการร้องขอการโจมตีทางอากาศอย่างเร่งด่วน และขอรับการยิงสนับสนุนจากปืนใหญ่
ผลการปฏิบัติ ฝ่ายเราบาดเจ็บ ๓ คน ฝ่ายเวียดกงเสียชีวิต ๘ คน ทำลายที่กำบังได้ ๘ แห่ง ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก
การปฏิบัติการของชุดเพชรฆาตสังหาร (๑๗ - ๑๘ สิงหาคม ๒๕๑๔)


เป็นการใช้หน่วยดำเนินกลยุทธเป็นหน่วยทหารขนาดเล็ก ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นการภายใน มีภารกิจในการซุ่มโจมตี สามารถปฏิบัติการโดยไม่ต้องส่งกำลังเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา ๓ - ๔ วัน เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๑๔ เป็นต้นมา สามารถสังหาร และจับเชลยศึกได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับหน่วยอื่นในระดับกองร้อยอาวุธเบาด้วยกัน
การปฏิบัติการเมื่อ ๑๗ สิงหาคม ชุดเพชรฆาตสังหาร ได้เคลื่อนย้ายกำลังทางอากาศแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการ ซึ่งเป็นป่ารกทึบ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่ปฏิบัติการจิระ ต่อมาวันรุ่งขึ้นได้พบกับกำลังทหารประจำการของเวียดนามเหนือ จึงได้เข้าโจมตีข้าศึกเสียชีวิต ๖ คน


การถอนกำลังกลับประเทศไทย
เมื่อปฏิบัติการได้ครบ ๑ ปีแล้ว กองทัพบกได้มีคำสั่งให้ถอนกำลังทั้งหมดกลับประเทศไทย โดยได้เริ่มเคลื่อนย้ายกำลังพลเป็นส่วน ๆ เดินทางโดยเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๑๕ และเสร็จสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๕
อิสริยาภรณ์ และเหรียญตราที่ได้รับ

กำลังพลในกองพลทหารอาสาสมัครที่ ๓ ได้รับอิสริยาภรณ์และเหรียญตรา จากสหรัฐฯ และเวียดนามใต้ จากการปฏิบัติการรบในสงครามเวียดนาม จำนวน ๙๐๐ คน จากสหรัฐฯ ๗๙๒ คน จากเวียดนามใต้ ๑๐๘ คน
กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ ๓ นับเป็นกำลังรบทางบกของไทยหน่วยสุดท้าย ที่ปฏิบัติการรบในสงครามเวียดนาม รวมระยะเวลาที่ประเทศไทยส่งกำลังทางบกไปปฏิบัติการร่วมกับ กำลังฝ่ายโลกเสรีในเวียดนามใต้ ตั้งแต่เดือน กันยายน ๒๕๑๑ จนถึงเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ รวมเวลา ๓ ปี ๔ เดือน เกียรติประวัติของกองพลเสือดำ ยังเป็นที่จดจำของชาวเวียดนาม และกองกำลังฝ่ายโลกเสรีที่ร่วมปฏิบัติการในสงครามเวียดนาม ในความกล้าหาญอดทน เสียสละ และความสามารถในการรบของทหารไทย เพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยของประเทศเพื่อนบ้าน และผดุงไว้ซึ่งสันติสุขของภูมิภาค

หน่วยเรือซีฮอร์ส

เมื่อคณะรัฐมนตรี ลงมติเมื่อ ๔ พฤษภาคม ๒๕๐๙ อนุมัติหลักการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่รัฐบาลเวียดนามใต้เพิ่มเติม โดยให้กองทัพเรือจัดส่งเรือไปร่วมปฏิบัติการลำเลียง และเฝ้าตรวจบริเวณชายฝั่ง เพื่อป้องกันการแทรกซึมทางทะเล กองทัพเรือจึงได้จัดตั้งหน่วยเรือซีฮอร์ส (Sea Horse Element)ขึ้น ประกอบด้วยเรือหลวงพงัน ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบก กับเรือ ต.๑๒ ซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งไปปฏิบัติการ ได้ออกเดินทางจากประเทศไทยเมื่อ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๙ เมื่อถึงเวียดนามแล้ว เรือทั้งสองลำได้แยกกันไปปฏิบัติการ ในสายการบังคับบัญชาทางยุทธการตามภารกิจ

 

เรือหลวงพงัน
เรือหลวงพงันมีกำลังพล ๑๕๖ คน มีการผลัดเปลี่ยนกำลังพลเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งทุก ๖ เดือน รวมทั้งหมดมี ๕ ชุด แต่ละชุดมี ๒ ผลัด เริ่มตั้งแต่ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๙ ถึง ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๑๕
การปฏิบัติการ


เรือหลวงพงันปฏิบัติงานอยู่ในความควบคุมทางยุทธการของหน่วยบริการขนส่งทางทะเลทางทหาร ของสหรัฐฯ ประจำกรุงไซ่ง่อน และได้รับมอบภารกิจให้ปฏิบัติการลำเลียงสิ่งอุปกรณ์ อาวุธยุทโธปกรณ์ และกำลังพล ตลอดจนเสบียงอาหาร จากคลังใหญ่ไปตามเมืองต่าง ๆ ในเวียดนามใต้


ระหว่างการเดินทาง เจ้าหน้าที่ประจำเรืออาจจะต้องประจำสถานีรบตลอดเวลา พร้อมที่จะตอบโต้การโจมตีของเวียดกง และยิงทำลายทุ่นระเบิดขาดลอย หรือสิ่งที่สงสัยว่าจะเป็นทุ่นระเบิดตามเส้นทางเดินเรือ การเดินเรือดำเนินไปโดยอิสระ ไม่มีขบวนคุ้มกัน มีแต่เรือรบสหรัฐฯ และเวียดนามใต้ที่แล่นลาดตระเวนอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ เท่านั้น เมื่อเรือเดินทางถึงปลายทางก็จะเข้าจอดตามตำบลที่กำหนด เพื่อขนถ่ายสิ่งของลง และบรรทุกสิ่งของที่จะส่งไปยังเมืองท่าที่กำหนด เช่น ดานัง กวินอน ญาตรัง วุงโร ฟานรัง ฟานเทียด ญาเบ อันทอย วุงเตา คานโถ และอ่าวคัมรานห์ เป็นการเดินทางไปทั่วน่านน้ำของเวียดนามใต้ตั้งแต่เมืองดานัง จนถึงเกาะฟูก๊ก กับเมืองสำคัญตามลำน้ำโขง เช่นเมืองคานโถ เป็นต้น


การจอดเรือ ณ เมืองท่าต่าง ๆ จะต้องทิ้งระเบิดลงน้ำทุกๆ ๕-๑๐ นาที เพื่อป้องกันหน่วยจู่โจมใต้น้ำของเวียดกง ลอบนำระเบิดมาทำลายเรือ การเดินทางในแม่น้ำอาจถูกทุ่นระเบิดที่ข้าศึกวางไว้ หรือถูกซุ่มโจมตี ตลอดจนถูกยิงด้วยจรวดอาร์พีจี ของเวียดกงจากสองฝั่งแม่น้ำได้
การปฏิบัติการระหว่าง ปี พ.ศ.๒๕๑๐ - ๒๕๑๕ ที่สำคัญ ๆ มีดังนี้


๑๓ พฤษภาคมคม ๒๕๑๐ เวลาประมาณ ๐๑.๑๐ น. เรือหลวงพงันพร้อมด้วยเรือฝ่ายเดียวกันอีก ๓ ลำ ไปเกยหาดที่จุดขนถ่ายที่เมืองท่าจูไล ได้ถูกเวียดกงระดมยิงจากฝั่งตรงข้ามด้วยปืนไร้แรงสะท้อน และเครื่องยิงลูกระเบิด ฝ่ายเราได้ยิงโต้ตอบโดยทหารสหรัฐฯ บนฝั่ง และบนเรือตรวจฝั่ง พร้อมกับให้เฮลิคอปเตอร์ทิ้งพลุส่องสว่าง และฉายไฟไปยังตำบลที่สงสัยว่า จะเป็นที่ตั้งของฝ่ายเวียดกง ปรากฏว่าฝ่ายเราเสียหายเล็กน้อย
๗ พฤษภาคม ๒๕๑๑ เวลา ๑๑.๕๔ น. ขณะที่เรือหลวงพงัน แล่นอยู่ในร่องน้ำบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง จากเมืองคานโถไปเมืองวุงเตา ได้ถูกเวียดกงโจมตีด้วยจรวดบาซูก้า ขนาด ๗๕ มิลลิเมตร จำนวน ๕ นัด จากระยะประมาณ ๙๐ เมตร เรือหลวงพงันต่อสู้ด้วยปืนเรือ ๔๐/๖๐ มิลลิเมตรแท่นคู่ และปืนกล .๕๐ คาลิเบอร์ ฝ่ายเวียดกงถอยกลับไป เรือหลวงพงันถูกกระสุนจรวด ๑ นัด ทางกราบซ้ายใกล้แนวน่านน้ำบริเวณกลางลำเป็นรูทะลุ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖ นิ้ว และฉีกเป็นแนวยาวประมาณ ๑ ฟุต หน่วยควบคุมความเสียหาย ได้ทำการซ่อมอย่างรีบด่วน และสามารถนำเรือกลับได้อย่างปลอดภัย
๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๓ เวลา ๑๓.๐๒ น. เรือหลวงพงันออกเดินทางจากเมืองคานโปไปยังเมืองท่าวุงเตา ได้ถูกข้าศึกโจมตีด้วยจรวด ๑ นัด แต่กระสุนไประเบิดทางกราบขวาท้ายเรือ ห่างประมาณ ๙๐ เมตร
เรือหลวงพงันได้เข้าซ่อมใหญ่ที่ฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่เกาะกวม ตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๑ ถึง กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ และเดินทางกลับไปปฏิบัติการตามภารกิจต่อไป เมื่อ ๑๕ เมษายน ๒๕๑๒

 

เรือ ต.๑๒

เรือ ต.๑๒ มีกำลังพล ๓๒ คน มีการผลัดเปลี่ยนกำลังพลเป็น ๔ ชุด แต่ละชุดมี ๒ ผลัด ตั้งแต่ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๙ ถึง ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๔
เรือ ต.๑๒ ปฏิบัติงานอยู่ในความควบคุมทางยุทธการของกองเรือเฉพาะกิจ ที่ ๑๑๕ สหรัฐฯ ตั้งแต่ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๙ ต่อมาเมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๒ ทัพเรือสหรัฐฯ ได้โอนหมวดเรือเฉพาะกิจที่ ๑๑๕.๔ ให้กับกองทัพเรือเวียดนามใต้ และพิจารณาย้ายเรือ ต.๑๒ ไปขึ้นในความควบคุมทางยุทธการของหมวดเรือเฉพาะกิจที่ ๑๑๕.๓ (TG ๑๑๕.๓) ในเดือนกัยยายน ๒๕๑๓ ทัพเรือสหรัฐฯ ได้โอนหมวดเรือเฉพาะกิจที่ ๑๑๕.๓ ไปให้กองทัพเรือเวียดนามใต้อีก และให้เรือ ต.๑๒ ไปขึ้นในความควบคุมทางยุทธการ ของหมวดเรือเฉพาะกิจที่ ๑๑๕.๖ ซึ่งกำหนดให้เรือ ต.๑๒ ปฏิบัติการเป็นหน่วยเรือเฉพาะกิจที่ ๑๑๕.๖.๖ และสุดท้ายในเดือนมกราคม ๒๕๑๔ ได้ให้เรือ ต.๑๒ ปฏิบัติการเป็นหน่วยเรือเฉพาะกิจที่ ๑๑๕.๖.๕
เรือ ต.๑๒ มีหน้าที่ลาดตระเวน ค้นหา และเฝ้าตรวจชายฝั่งทะเลเวียดนามใต้ เพื่อป้องกันการแทรกซึมของฝ่ายคอมมิวนิสต์ทางทะเล ตามแผนยุทธการ มาร์เก็ตไทม์ (Market Time Operation)


พื้นที่ปฏิบัติการ
แนวเขตชายฝั่งทะเลที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองเรือเฉพาะกิจที่ ๑๑๕ มีความยาว ๑,๘๗๕ กิโลเมตร แบ่งพื้นที่ปฏิบัติการลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมของข้าศึกเป็น ๙ เขตใหญ่ แต่ละเขตยังแบ่งเป็นพื้นที่ชายฝั่ง (Inshore) และพื้นที่นอกฝั่ง (Offshore)โดยถือแนวเส้นทะเลอาณาเขต ( ๑๒ ไมล์จากฝั่ง) เป็นเส้นแบ่งเขตโดยประมาณ และพื้นที่ชายฝั่งยังแบ่งออกเป็นพื้นที่ย่อย ๆ ควบคุมแนวชายฝั่ง ประมาณ ๒๐ ไมล์ พื้นที่ทั้งหมดเรียกว่าพื้นที่รับผิดชอบตรวจการณ์เป็นพิเศษ (Market Time Surreillance Area)
การปฏิบัติการที่สำคัญ

๘ เมษายน ๒๕๑๓ เวลา ๑๑.๓๐ น. หน่วยทหารบนฝั่งแจ้งว่า เวียดกงได้ยิงเครื่องบินตรวจการณ์ จึงขอให้เรือ ต.๑๒ ร่วมกับเรือตรวจใกล้ฝั่งของสหรัฐฯ ระดมยิงทำลายที่ตั้ง และกำลังของเวียดกง เรือ ต.๑๒ ได้เริ่มทำการยิงไปยังที่หมายที่ได้รับรายงาน ด้วยปืนขนาด ๔๐ มิลลิเมตร และปืนกลขนาด ๒๐ มิลลิเมตร ฝ่ายเวียดกงได้ยิงโต้ตอบแต่ไม่ถูก จากการตรวจตำบลกระสุนตกของเครื่องบินตรวจการณ์ แจ้งว่าเรือ ต.๑๒ ยิงทำลายถูกที่หมายดีมาก
ต่อมาในคืนวันเดียวกันขณะที่เรือ ต.๑๒ แล่นอยู่ในแม่น้ำฮากลางเพื่อเดินทางกลับฐาน ได้รับคำร้องขอจากหน่วยปฏิบัติการรบพิเศษบนบกของสถานีชายฝั่งที่ ๓๖ ว่า สืบพบกองกำลังเวียดกง รวมกำลังอยู่ในที่หมาย ๓ แห่งริมแม่น้ำ เรือ ต.๑๒ จึงยิงปืนกลขนาด ๔๐ มิลลิเมตรไปตามคำขอ


๙ เมษายน ๒๕๑๓ เรือ ต.๑๒ ได้ปฏิบัติการร่วมกับเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งสหรัฐฯ ในหน่วยเรือของศูนย์ควบคุมการปฏิบัติงานชายฝั่ง ระดมยิงกองโจรที่ซ่องสุมกำลังกันอยู่บริเวณสองฝั่งคลอง มี่ทานห์ ซึ่งกว้างประมาณ ๓๐๐ หลา กระจายกันอยู่ในที่หมาย เรือ ต.๑๒ ได้ยิงปืนกลทุกขนาด ไปยังที่หมายทั้ง ๓ แห่ง อย่างจู่โจมทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ
๑๐ เมษายน ๒๕๑๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. เรือ ต.๑๒ ได้รับคำร้องขอจากผู้บังคับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ลาดตระเวน ให้ปฏิบัติการร่วมกับเรือตรวจการณ์ชายฝั่งสหรัฐฯ ในคลองเคลมบังโก ซึ่งกว้าง ประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ หลา สองฝั่งคลองมีเวียดกงหลบซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก การปฏิบัติการครั้งนี้ มุ่งหมายเพื่อการปฏิบัติการจิตวิทยาชักชวนพวกเวียดกง บนสองฝั่งคลองให้กลับใจยอมมอบตัว โดยเรือสหรัฐฯ ทำหน้าที่กระจายเสียงเป็นภาษาเวียดนาม ส่วนเรือ ต.๑๒ ทำหน้าที่คุ้มกัน
๑๗ เมษายน ๒๕๑๓ เรือ ต.๑๒ ปฏิบัติการตามแผนซีฮอร์ส ๑๗๓๒ ในพื้นที่อำเภอลองถั่น ร่วมกับเรือรักษาฝั่ง และเครื่องบินตรวจตำบลกระสุนตกของสหรัฐฯ โดยให้ผู้บังคับการเรือ ต.๑๒ เป็นผู้บังคับบัญชาควบคุมทางยุทธวิธี ภารกิจที่ได้รับคือการนำเรือเข้าไปตามลำน้ำต่าง ๆ ได้แก่ แม่น้ำลันเนือ แม่น้ำบาร์ตอง แม่น้ำลองชิม แม่น้ำไบดอน ผ่านออกไปทางคลองขุดคิมส์คานห์ชานห์โบ ทะลุออกแม่น้ำฮากลาง (แม่น้ำบาสัก) กำหนดให้ทำการยิงเป้าหมายต่าง ๆ ที่พบเห็นตลอดสองฝั่งคลอง และตามตำบลต่าง ๆ เวลา ๑๕.๒๐ น. ฝ่ายเวียดกงที่ซุ่มอยู่บนฝั่งห่างจากเรือประมาณ ๒๐ เมตร ได้ยิงจรวดอาร์พีจี ๓ นัด ทำให้เกิดการระเบิดในห้องเครื่อง และน้ำมันรั่ว เกิดการระเบิดและเพลิงไหม้ แต่เรือ ต.๑๒ สามารถดับเพลิงให้อย่างรวดเร็ว
สรุปการปฏิบัติของหน่วยเรือซีฮอร์ส


เรือหลวงพงัน ปฏิบัติการในเวียดนามใต้ ตั้งแต่วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๙ จนถึงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๑๕ รวมเวลา ๕ ปี ๕ เดือนเศษ ได้ลำเลียงขนส่งอุปกรณ์ อาวุธยุทโธปกรณ์ ทหารและเสบียงอาหาร คิดเป็นน้ำหนักบรรทุก ๗๗,๖๐๐ ตัน ระยะทางเดินเรือ ๗๐,๕๐๐ ไมล์ ปฏิบัติการจิตวิทยา ๑๓ ครั้ง ถูกเวียดกงโจมตี ๒ ครั้ง ได้รับความเสียหายเล็กน้อย ๑ ครั้ง ทหารทุกคนปลอดภัย
เรือ ต.๑๒ ปฏิบัติการในเวียดนามใต้ ตั้งแต่วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๙ ถึงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๔ รวมเวลา ๔ ปี ๕ เดือนเศษ ได้ตรวจพบเรือประมง ๓,๕๓๙ ลำ ตรวจสอบเรือประมง ๑,๔๓๓ ลำ ตรวจค้นเรือประมง ๒,๑๐๒ ลำ ระดมยิงฝั่ง ๖๔ ครั้ง ปฏิบัติการจิตวิทยา ๘ ครั้ง ถูกเวียดกงโจมตี ๒ ครั้ง ได้รับความเสียหายเล็กน้อย ๑ ครั้ง ทหารทุกคนปลอดภัย