ความรักที่ดีต้องมีเหตุผล
เมื่อพูดถึงความรัก ทุกคนมักรู้สึกว่ารู้จักดีหรือเคยมีประสบการณ์มาบ้าง แต่ถ้าให้นิยามว่าความรักคืออะไร ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หลายคนอธิบายความหมายของความรักในรูปแบบต่าง ๆ กัน ซึ่งแต่ละความหมายอาจใช้อธิบายความรักได้ไม่เสมอไปทุกกรณี
ความรักเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจแฝงไว้ด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง จนยากแก่การอธิบาย ในพจนานุกรมศัพท์จิตเวชเองก็ไม่ได้ให้คำนิยามไว้ แต่อธิบายว่าคำที่มีความหมายใกล้เคียงที่สุดที่น่าจะเป็น "ความชื่นชมยินดี (Pleasure)" เวลาที่เรารู้สึกว่ารักใครเรามักมีความชื่นชมยินดีในบุคคลนั้น หรือชื่นชมยินดีที่ได้พบ และอยู่ใกล้ชิดบุคคลนั้น
John Lee เขียนไว้ในหนังสือของเขาชื่อ The colors of love ว่าความรักมีอยู่ 6 ชนิดด้วยกัน
1. Eros เป็นความรักที่มีความใคร่ และปรารถนาจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เกี่ยวกับบุคคลที่รัก รวมทั้งประสบการณ์กับบุคคลที่รักอย่างสมบูรณ์
2. Mania เป็นความคลั่งไคล้หลงใหลและเรียกร้องหาบุคคลที่รัก ถ้าผิดหวัง มักวิตกกังวลและปวดร้าว
3. Ludis เป็นความรักที่มีอัตตาสูง มองความรักเป็นเสมือนเกมที่ต้องเอาชนะ
4. Storage เป็นความรักฉันท์เพื่อน พบได้ในหมู่เพื่อนสนิท
5. Agape เป็นความรักที่มีแต่ความอดทนให้อภัยและการให้
6. Pragma เป็นความรักที่มีเหตุผลซึ่งเกิดขึ้นหลังจากมีการ ไตร่ตรองแล้ว
การเกิดความรักมีปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวข้อง ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งคือความใกล้ชิด (Proximity) คนเราโดยทั่วไปมักมีโอกาสรักคนใกล้ชิดมากกว่าบุคคลที่อยู่ห่างไกล ซึ่งตรงกับคำกล่าวที่ว่า "ไกลตัวก็ไกลใจ"
ในวงราชการและสถานที่ทำงานใด ๆ เราจะเห็นความจริงข้อนี้ได้ชัดเจนว่า คนที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน แต่อยู่ไกลตัวผู้บังคับบัญชา มักได้รับการพิจารณาความดี ความชอบ น้อยกว่าคนใกล้ชิด ซึ่งบางคนแทบจะไม่ได้ทำงานราชการอะไรเลย นอกจากเป็น ผู้รับใช้ส่วนตัวเท่านั้น
เด็กเล็ก ๆ ยังไม่รู้เดียงสา ไม่สามารถแยกแยะความรู้สึกที่เป็นนามธรรมได้ แต่ก็ยังสามารถบอกได้ว่ามีความรักต่อแม่และบุคคลใกล้ชิด ซึ่งให้การดูแลอุ้มชู ความรักของเด็กเป็นแบบง่าย ๆ และปนเปกับความรู้สึกต้องการพึ่งพิง (Dependency) ต่อบุคคลที่รักนั้น
เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น ความรักเริ่มมีความสัมพันธ์กับเรื่องเพศ ซึ่งโดยทั่วไป จะมีความสนใจ รักใคร่เพศตรงข้าม มีบางส่วนที่มีการเรียนรู้มาไม่ค่อยถูกต้อง ทำให้ความสนใจมาอยู่ที่ เพศเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า "รักร่วมเพศ (Homosexuality)" คล้ายกับการเล็งเป้าหมายผิด แล้วโดนล็อคไว้อย่างนั้น
ความรักของวัยรุ่นโดยมากยังไม่ใช่ความรักที่จริงจังนัก แต่เป็นไปตามอารมณ์ ที่แปรเปลี่ยนได้ง่าย จึงมักเรียกว่า ความรักแบบลูกสุนัข หรือ Puppy love ความรักที่เกิดจากความใกล้ชิด เรียนห้องเดียวกัน โรงเรียนเดียวกัน อยู่บ้านใกล้กัน
ปัจจัยหนึ่งที่เป็นสิ่งดึงดูดความสนใจรักใคร่จากบุคคลอื่น ได้แก่ "รูปสมบัติ" ความสวยงามของรูปร่างหน้าตาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนเริ่มสนใจและมีแนวโน้ม จะเกิดความรักได้ง่าย ทั้งนี้เพราะความสวยเป็นสิ่งที่เจริญหูเจริญตาแก่ผู้พบเห็น ใครได้ควงคู่หรือแต่งงานด้วยก็มักมีความภาคภูมิใจ นอกจากนั้นความสวยความหล่อ ยังถูกนำไปโยงเข้ากับ "ความดี" ซึ่งความจริงแล้วไม่มีความสัมพันธ์กันเลย
คนจำนวนมากมีความโน้มเอียงที่จะเชี่อว่าคนที่สวยหรือหล่อที่พบเห็นนั้นเป็นคนดี เทพนิยายที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็กก็มีแต่เรื่องของเจ้าชายรูปงามกับเจ้าหญิงแสนสวย ที่เป็นคนใจดีทั้งนั้น แต่ในชีวิตจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น คนหลายคนจึงถูกหลอกได้ง่ายเพราะหลงไหลในรูปสมบัติคนอื่น
คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจก็คือ "ความคล้ายคลึงกับตนเอง" ในสังคมโดยคนที่มีความคล้ายกันในด้านเชื้อชาติ, ศาสนา, วัฒนธรรม, การศึกษา, เศรษฐกิจ, ค่านิยม, ความสนใจ ก็มักเข้าพวกกันได้ง่ายหรือคบหาสมาคมกันมากกว่า คนที่แตกต่างกัน มาก ๆ จึงพบว่าคนรวยแต่งงานกับคนรวย คนอาชีพเดียวกันหรือใกล้เคียงกันแต่งงานกัน มากกว่าคนที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย อีกประการหนึ่งการเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหมือนตนเอง ก็เป็นการแสดงว่าพอใจ ในคุณลักษณะที่มีอยู่หรือเห็นว่าตนเองนั้นดีอยู่แล้ว อย่างน้อยคนที่เหมือนกับเรา ก็เข้ากับเราได้ดีกว่าคนอื่น
มีบางคนที่มีความสนใจในคนที่มีคุณสมบัติแตกต่างจากตนเอง เพราะเชื่อว่าสามารถ เข้าคู่กันได้ คนที่ชอบแบบนี้ อาจมีความต้องการ อยากมี หรืออยากเป็น อย่างคนที่ตนเลือกนั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ คนจนที่พยายามแต่งงานกับคนรวย หรือคนขี้เหร่ที่พยายามแสวงหาคู่ ที่สวยงาม
ความรักระหว่างเพศตรงข้ามซึ่งนำไปสู่การแต่งงาน เรียกว่า Passionate love ความรักชนิดนี้มักมีความร้อนแรงในอารมณ์ มีความสุขและความเจ็บปวดแฝงอยู่ เป็นความรักที่มีความคาดหวังจะได้รับการตอบสนองสูง หากสมหวังก็มีความสุข หากผิดหวังก็มีความทุกข์ คนที่กำลังมีความรักแบบนี้มักมีความวิตกกังวลกลัวผิดหวัง และมักตาบอดในการรับรู้คุณสมบัติที่ไม่ดีของคนรัก
นักทฤษฎีส่วนน้อยเชื่อว่า แท้จริงแล้วความรักมักแฝงไว้ด้วยความก้าวร้าว และความต้องการทำลายอยู่เสมอ และหากเชื่อว่าไม่มีความรู้สึกนี้แล้ว จะไม่มีความตื่นเต้นในเรื่องเพศและทำให้เกิดความเบื่อหน่ายเมินเฉย บางคนจึงกล่าวว่าสิ่งที่ตรงข้ามกับความรักไม่ใช่ความเกลียด แต่เป็นความเฉยเมย
ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้คนเกิดความรักได้มากขึ้น คือ ภาวะตื่นเต้นหรือเสี่ยงอันตราย จากการศึกษาพบว่า คนที่พบกันในภาวะที่ตื่นเต้นหรือเสี่ยงภัย จะเกิดความสนใจ และรักกันได้มากกว่าคนที่พบกันในยามปกติ
การวิจัยพบว่าปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวกระตุ้นให้มีความรักความใคร่ได้ง่ายขึ้น เช่น ความวิตกกังวล, ความกลัว, ความหึงหวง, ความเหงา, ความโกรธ หรือแม้แต่ ความเศร้าโศก
มีคำกล่าวอยู่ว่าความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือความรักของแม่ที่มีต่อลูก เพราะเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข (Unconditional love) ไม่ว่าลูกจะดีจะเลวอย่างไรแม่ก็ยังรักลูกอยู่เสมอ คำกล่าวนี้น่าจะเป็นจริงโดยส่วนใหญ่ แต่ก็พบบางที่แม่บางคนไม่รักลูกก็มี เคยมีความเชื่อว่าความรักของแม่ที่มีต่อลูก เกิดจากสัญชาติญาณหรือฮอร์โมน แต่ปัจจุบันนี้เลิกเชื่อกันแล้ว
คนเราทุกคนที่มิได้มีจิตใจผิดปกติ สามารถมีความรักได้ทั้งต่อคน, สัตว์และสิ่งของ เริ่มตั้งแต่รักตัวเอง, แม่พ่อ, ญาติสนิทมิตรสหาย, เพื่อนร่วมงาน, เพื่อนร่วมชาติ และเพื่อนร่วมโลก ตลอดไปจนรักสัตว์, รักสิ่งแวดล้อมและรักโลก
ความรักที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต้องเป็นความรักที่มีเหตุผล ไม่ใช่ความหลงไหล (Infatuation) ต้องไม่เป็นไปตามอารมณ์ชั่ววูบแต่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น และได้ผ่านการพิจารณาไตร่ตรองแล้วว่ามีเหตุผลสมควรรัก
ความผิดหวังและเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นจากความรักที่ไม่เหมาะสมมักเกิดขึ้น เพราะการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล และเกี่ยวข้องกับความไม่มีวุฒิภาวะของคน
การมีความรักเป็นสิ่งที่ดี แต่จะรักใครชอบใครต้องมีเหตุผลด้วยจึงจะเสริมสุขภาพจิต ไปรักคนผิดยิ่งคิดยิ่งกลุ้มนะครับ
|