ประชุมพงศาวดาร

เรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้ง

มีเด็กเลี้ยงโคอยู่กลางทุ่งนา ๔๗ คน มีจอมปลวกสูงใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง มีได้ตั้งคนหนึ่งขึ้นว่าราชการบนจอมปลวกนั้น ตั้งป็น ขุนอินทรเทพ ขุนพิเรนทรเทพ เป็นที่ขุนนางผู้ใหญ่ ครั้งนั้น เมื่อพราหมณ์ปุโรหิตเสี่ยงเครื่องกกุธภัณฑ์กับเรือเอกชัยสุพรรณหงษ์ ไปตามชลมารค ไปถึงบ้านเด็กเล่น เรือก็หยุดอยู่ พราหมณ์จึงเป่าสังข์แตรงอนแตรฝรั่งขึ้นพร้อมกัน รับเอานายหมู่เด็กมาครองราชสมบัติ จึงเรียกว่า บ้านเด็กเล่นมาแต่นั้น ให้เอาพวกเด็กเพื่อนกันลงมาตั้งให้เป็นข้าราชการ อยู่ต่อมาวันหนึ่งเห็นมอญพ่อลูกมาขายผ้าลูก ได้เบญจลักษณ์ จึงให้แต่งเรือลงไปรับกับคานหาม แล้วรับนางขึ้นคานหามมาพระราชวัง จึงเรียกว่า บ้านคานหามมาแต่นั้น จากนั้นได้รับนางขึ้นราชาภิเษกเป็นเอกอัครมเหสี บ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุข

ขณะนั้นเจ้ากรุงจีนได้บุตรบุญธรรมในจั่นหมากจึงให้ชื่อว่า นางสร้อยดอกหมาก เมื่อเจริญวัยขึ้นจึงให้โหรทำนายว่า พระราชธิดาจะคู่ควรด้วยกษัตริย์เมืองใด โหรทำนายว่าเห็นอยู่แต่ทิศตะวันตกกรุงไทย ที่ควรแก่พระราชธิดา พระเจ้ากรุงจีนจึงแต่งพระราชสาส์นให้ขุนแก้วการเวทถือเข้ามา ในสาส์นนั้นว่าพระเจ้ากรุงจีน ให้มาเป็นทางพระราชไมตรีถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา และขอยกพระราชธิดาให้เป็นพระอัครมเหสี เมื่อพระองค์ทราบแล้วก็ดีพระทัยตรัสว่าเดือนสิบสองจะออกไปรับ แล้วสั่งให้จัดเรือเอกชัยเป็นขบวนพยุห ออกไปรับเมื่อปี จ.ศ.๓๙๕ เมื่อเสด็จมาถึงแหลมวัดปากคลอง พอน้ำขึ้นจึงประทับพระที่นั่งอยู่หน้าวัด ทอดพระเนตรเห็นผึ้งจับอยู่ที่อกไก่ใต้ช่อฟ้าหน้าบัน จึงขอนมัสการพระพุทธปฏิมากร อธิษฐานว่าถ้ามีบุญจะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ ขอให้น้ำผึ้งย้อยหยดลงมากลั้วเอาเรือขึ้นไปประทับแทบกำแพงแก้วนั้นเถิด พอตกพระโอษฐ์ดังนั้น น้ำผึ้งก็ย้อยลงมากลั้วเรือพระที่นั่งรื้อขึ้นไปถึงที่ พระองค์จึงเปลื้องเอาพระภูษาทรงสักการะพระพุทธปฏิมา พระสงฆ์สมภารลงมาถวายชัยมงคลว่า มหาบพิตรพระราชสมภารจะสำเร็จสมความปรารถนา จะครองไพร่ฟ้าอยู่เย็นเป็นสุขทั่วทิศ จึงถวายพระนามว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง

ครั้นน้ำหยุดจะลง พระองค์สั่งให้ท้าวพระยาพฤฒามาตย์ทั้งหลาย และเสนามนตรีกลับไปรักษาพระนคร พระองค์เสด็จไปทรงเรือพระที่นั่งเอกชัยลำเดียว เสด็จไปจนถึงเขาไพ่ แล้วประทับที่อ่าวนาคคืนหนึ่ง อ่าวเสืออีกคืนหนึ่ง พระเจ้ากรุงจีนจึงแต่งกระบวนแห่มารับพระองค์เข้ามาพระราชวัง แล้วราชาภิเษกนางสร้อยดอกหมากเป็นพระอัครมเหสี พระเจ้ากรุงจีนแต่งสำเภาห้าลำกับเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก ให้จีนมีชื่อห้าร้อยคนเข้ามาด้วย สำเภาเดินทางสิบห้าวันก็ถึงแดนพระนคร ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยกับพระราชาคณะ ราษฎร แต่งการรับเสด็จ พระราชาคณะฐานานุกรม ๑๕๐ รูปไปรับเสด็จที่เกาะจึงเรียก เกาะพระแต่นั้นมา แล้วเชิญเสด็จมาท้ายเมืองที่ปากน้ำแม่เบี้ย แล้วเชิญเสด็จเข้าวัง ให้จัดตำหนักซ้ายขวา ให้เฒ่าแก่กับเรือพระที่นั่ง ลงมารับนาง นางตอบว่าถ้าพระองค์ไม่ลงมารับแล้วไม่ไป พระองค์ทราบดังนั้นก็ว่าเป็นหยอกเล่น มาถึงนี่แล้วจะอยู่ที่นั่นก็ตามเถิด นางรู้ความคิดว่าจริงก็เศร้าพระทัย ครั้นรุ่งขึ้นจึงแต่งกระบวนมารับเสด็จมาด้วย นางตัดพ้อว่าไม่ไป พระองค์ก็สัพยอกว่าไม่ไปแล้วก็อยู่ที่นี่ พอตกพระโอษฐ์นางก็กลั้นใจตาย เมื่อปี จ.ศ.๔๐๖ จึงเชิญพระศพมาพระราชทานเพลิงที่ แหลมบางกะจะ สถาปนาเป็นพระอาราม ให้นามว่าวัด พระเจ้าพระนางเชิง แต่นั้นมา

พระเจ้าสายน้ำผึ้งได้ยกพลไปขุดบางเตยจะสร้างเมืองใหม่ พระอาจารย์ห้ามว่าน้ำเค็มนัก ยังไม่ถึงพุทธทำนายสร้างไม่ได้ จึงสร้าง วัดหน้าพระธาตุถวายพระอาจารย์ แล้วมาสร้าง วัดมงคลบพิตร พระองค์อยู่ในราชสมบัติได้ ๔๒ ปี สวรรคตเมื่อปี จ.ศ.๔๒๗

พระยาธรรมิกราช พระราชบุตรพระเจ้าสายน้ำผึ้งได้เสวยราชสมบัติ สร้าง วัดมุขราช ทรงทศพิธราชธรรม บำรุงพระพุทธศาสนา ประเทศราชเกรงพระเดชานุภาพยิ่งนัก แต่ดอกไม้ทองเงินขึ้นเป็นอันมาก ขนอนอากร บ่อนเบี้ย ช่วงเรือลำละ ๑๐ เบี้ย ๔๐ เบี้ย มิให้เรียกแก่ราษฎรล้ำเหลือ ฝนตกตามฤดู น้ำงามตามฤดู เสวยราชย์ ๔๒ ปี จ.ศ.๔๕๘ ให้ ขุดคลองบางตะเคียนออกไปบางยิหน

จ.ศ.๖๗๑ พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง วัดกุฎีดาว พระอัครมเหสีสร้าง วัดมเหยงค์ พระองค์ครองราชย์ ๙๗ ปี สวรรคต เมื่อปี จ.ศ.๖๗๒
เรื่องพระมาลีเจดีย์

 

พระยาเชียงทอง เข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ว่ายังมีพระอาจารย์องค์หนึ่งมาถวายพระพรว่า พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่า สืบไปเมื่อหน้าเมืองสาวัตถี จะกลายเป็นเมืองหงสาวดี จะมีกษัตริย์องค์หนึ่งพระนามว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช จะสร้างพระมาลีเจดีย์องค์หนึ่งในกลางพระนคร ทุกวันนี้ยังปรากฏมีอยู่ พระมาลีเจดีย์นั้นอยู่ทิศอุดร พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา แจ้งพฤติเหตุแล้วก็มีพระทัยยินดีนัก ในปี จ.ศ.๔๑๓ จึงตรัสสั่งให้ขุนการเวก และพระยาศรีธรรมราชา ภูดาษราชวัตรมเมืองอินทร์ ภูดาษกินเมืองพรหม ยกกระบัตรนายเพลิงกำจาย นายทำนององค์รักษ์ นายหาญใจเพชร นายเด็จสงครามข้าหลวงแปดนาย กับไพร่ห้าร้อยคุมเครื่องบูชาขึ้นไปถวายพระมาลีเจดีย์ คณะดังกล่าวเดินทางไป สุพรรณบุรีถึงบ้านชบา เมืองพระยาเจ็ดตน บ้านรังงาม ด่านทราง เจ้าปู่หิน ถึงแม่น้ำชุมเกลียว ณ ที่นั้นมีพระพุทธไสยาสน์องค์หนึ่งเป็นทองสัมฤทธิ์ ยาวห้าเส้น คณะทั้งหมดเข้าไปนมัสการ แล้วเดินทางต่อถึงเขาฝรั่งยางหิน ถึงตำบลเขาหลวง พอสิ้นแดนกรุงศรีอยุธยา ไปถึง ด่านทุ่งเขาหลวง สิ้นเขตแดนนับได้ ๓๘ วัน จากนั้นขาดระยะบ้านไม่มีผู้คนเดินเลย บ่ายหน้าไปทิศอุดร เป็นป่าใหญ่ เดินไปไม่ต้องแดด เป็นทุ่งอยู่กลางเป็นป่าละเมาะ คนทั้งปวงสิ้นอาหารกินแต่ผลไม้ สิ้นหนทาง ๓๐ วัน จึงเข้า เมืองหงสาวดี มีด่านบ้านพราหมณ์รายไปบ้าง สิ้นหนทางนั้น ๓๐ วัน จึงถึงเมืองหงสาวดี สิ้นทาง ๒ เดือน กับ ๒๑ วัน ทั้งหมดพากันไปพระอาราม เข้าไปนมัสการพระสังฆราชา

วันรุ่งขึ้น พระสังฆราชาให้ปะขาวนำข้าหลวงทั้งปวงเข้าไปในพระอาราม ทำประทักษิณพระระเบียงรอบหนึ่ง พระระเบียงเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสยาวยี่สิบเส้น ขื่อพระระเบียงยาวสองเส้นสิบวา มีพระพุทธรูปรายรอบ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งสิ้น เป็นพระพุทธรูปสูงสิบวา เสาพระระเบียงแปดเหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมวัดได้เก้าศอก สูงถึงท้องขื่อวัดได้ยี่สิบวา ก่ออิฐกระชับรักแล้วถือปูน หุ้มด้วยทองแดงหนาสามนิ้ว แปกลอนระแนงระเบียง ทำด้วยไม้แก่น พื้นพระระเบียงดาษด้วยดีบุกหนาสิบสองนิ้ว

วันรุ่งขึ้นปะขาวนำไปนมัสการพระมาลีเจดีย์ คือองค์พระมาลีเจดีย์ธาตุ เมื่อไปถึงตีนบันไดใต้พระมหาธาตุ วัดฐานได้สามสิบห้าเส้น ห้าวา ทั้งสี่ด้านยาว ร้อยสี่สิบเอ็ดเส้น บันไดขึ้นพระมาลีเจดีย์ทด้วยทองแดงตั้งลงกับอิฐ แม่บันไดใหญ่รอบสามกำ ประตูพระมหาธาตุกว้างสองเส้น สูงห้าเส้น มีหงส์ทองสี่ตัว ประชุมกันเป็นแท่นรอง พระพุทธรูปบนหลังหงส์สองร้อยองค์ แต่ล้วนทองคำทั้งแท่ง สูงสองศอก ข้อเท้าสงส์รอบสิบเอ็ดกำ ตัวหงส์สูง สิบหกศอก ทำด้วยทองคำทั้งแท่ง องค์พระมหาธาตุแผ่ทองคำเป็นแผ่นอิฐ หนาสามนิ้ว กว้างสามศอก ยาวห้าศอก ทองคำหุ้มองค์พระมหาธาตุขึ้นไปจนถึงยอด แล้วเอาลวดทองแดงร้อยหูกันเข้าเอาสายโซ่คล้องเข้าเป็นตาข่าย หุ้มรัดข้างหน่วงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ยอดพระมหาเจดีย์มีลูกแก้วใหญ่ได้ห้าอ้อมมัชฌิมบุรุษ ข้าหลวงทั้งปวงขึ้นแต่เชิงบันไดตั้งแต่เช้า ถึงประตูพระมหาเจดีย์ได้เวลาเที่ยงนมัสการแล้วกลับลงมาถึงเชิงบันไดก็พอค่ำ พื้นพระมาลีเจดีย์ซึ่งรองหงส์เหยียบอยู่นั้น ดาษด้วยแผ่นเงินหนาสามนิ้ว กว้างสามศอกเป็นสี่เหลี่ยม เหล็กกระดูกพระมาลีเจดีย์ที่ร้อยลูกแก้วใหญ่รอบสิบเอ็ดกำ พระมาลีเจดีย์สร้างเมื่อ ปี พ.ศ.๒๑๑ พระเจ้าศรีธรรมาโสกราชเป็นผู้สร้างขึ้นไว้แต่เดิมก่อด้วยอิฐ แผ่นอิฐหน้าสี่ศอกหกนิ้ว กว้างห้าศอก ยาวห้าวาสองศอก

วันรุ่งขึ้น ปะขาวนำไปนมัสการพระเชตุพนมหาวิหาร บันไดก่อด้วยอิฐกว้างได้สิบเจ็ดเส้นกับสิบวา แต่เชิงบันไดขึ้นไปบนถนนสิบห้าเส้น ถนนยาวได้สิบเจ็ดเส้นกับสิบวา ในพระเชตุพนชั้นในกว้างสามสิบเส้นกับสิบวา เสาก่อด้วยอิฐเป็นแปดเหลี่ยม แต่เหลี่ยมหนึ่งได้เจ็ดวา แต่ประตูพระเชตุพนเข้าไปจนถึงพระอาสนบัลลังก์ ที่ตรัสพระธรรมเทศนา วัดไว้ สิบเจ็ดเส้นกับสิบวา ด้านแปพระเชตุพนยาวได้ เจ็ดสิบห้าเส้น เสาสูงถึงท้องขื่อวัดได้ หนึ่งเส้นสิบวา พระรัตนบัลลังก์อยู่หว่างกลางห้อง พื้นบนดาษด้วยทองคำหนาสามนิ้ว มีพื้นลดลงมาอีกห้อง ดาษด้วยนากหนาสามนิ้ว พื้นลดลงมาอีกชั้นหนึ่งดาษด้วยเงินหนาสามนิ้ว รอบรัตนบัลลังก์ทั้งสี่ด้าน ที่อาสนสงฆ์กว้างสามเส้น พื้นดาษด้วยเงินหนาสามนิ้ว พื้นที่บริษัทนั่งดาษด้วยดีบุกหนาห้านิ้ว นับเสาพระเชตุพนได้ สามพันเสา มีกำแพงรอบพระเชตุพนสูงสิบวา จากพระเชตุพนมาถึงพระมาลีเจดีย์เป็นทางยี่สิบห้าเส้น

พระสังฆราชาให้ปะขาวนำไปดูระฆังทองหล่อหนาสามสิบเอ็ดนิ้ว ปากกว้างห้าวาสองศอก สูงสิบเอ็ดวา ไม้ตีระฆังรอบสามกำ ยาวสามวา โรงระฆังสูงสิบห้าวา เสาไม้แก่น พระสงฆ์มีแต่อารามเดียวเท่านี้ มีบัญชีพระวรรณษาเป็นพระสงฆ์สองหมื่นกับสามองค์ พระสังฆราชาถามว่าพระสงฆ์ในกรุงศรีอยุธยามีผ้าอันใด เป็นผ้าพระสมณสำรวม ขุนการเวกทูลว่าฝ่ายคันถธุระทรงผ้ารัตตกัมพลแดง ฝ่ายวิปัสนาทรงเหลือง พระสังฆราชาว่าในเมืองหงสาวดีนั้นทรงผ้าแดงทั้งสิ้น

ขุนการเวกกับข้าหลวงอยู่ได้ประมาณยี่สิบห้าวันก็กลับคืนมายังกรุงศรีอยุธยา แล้วไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแจ้งพฤติเหตุ ทรงพระราชทานรางวัล แล้วบรรดาผู้ที่มาด้วยกันทั้งสิ้นก็กราบถวายบังคมลาบวช

 

เรื่องพระยากง

 

พระยากง ครองเมืองกาญจนบุรี อัครมเหสีทรงพระครรภ์ โหรทำนายว่าพระราชกุมารนี้มีบุญมาก ใจก็ฉกรรจ์จะฆ่าพระบิดาเสีย ตอนประสูติพระราชบิดาเอาพานรับพระราชกุมาร พระนลาฏกระทบของพานเป็นรอบอยู่เป็นสำคัญ พระยากงได้เอาพระราชกุมารไปฆ่าเสีย พระราชมารดาจึงลอบเอาพระราชกุมาร อายุสิบเอ็ดเดือนไปให้ ยายหอมเลี้ยงไว้ ครั้นเจริญวัยยายหอมเอากุมารไปให้พระยาราชบุรีเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม บุตรบุญธรรมถามว่า เอาดอกไม้ทองเงินไปให้พระยากาญจนบุรีด้วยเหตุอันใด พระยาราชบุรีตอบว่าเพราะเป็นเมืองขึ้นของเขา ถ้าไม่ให้เขาจะว่าเป็นขบถ ต่อมาเมื่อถึงเวลาแล้วทางเมืองราชบุรี ไม่ส่งดอกไม้ทองเงินไปให้ พระยากงจึงเกณฑ์พลลงมาจะจับพระยาราชบุรีฆ่าเสีย พระยาราชบุรีให้บุตรบุญธรรมเป็นแม่ทัพ พระยากงก็ผูกช้างพลายมงคลเข้าโจมไ ล่ช้างพระกุมาร ช้างพระยากงเสียทีถูกพระราชกุมารจ้วงฟันตายกับคอช้าง พระราชกุมารขับพลรุกไล่ไปถึงเมืองกาญจนบุรีปล้นเอาเมืองได้ โหราปุโรหิตจึงยกพระราชกุมารขึ้นครองราชสมบัติ พระนาม พระยาพาน ครั้งเข้าปฐมยาม พระยาพานก็เข้าข้างใน ตั้งใจหมายจะสังวาสด้วยมารดา วิฬาร์แม่ลูก ลูกร้องจะกินนม แม่ห้ามไว้บอกว่า ดูลูกเขาจะเข้าหาแม่ พระยาพานก็สะดุดตกใจถอยออกมา ครั้นถึงทุติยยามก็กลับเข้าไปอีก ม้าแม่ลูกอยู่ที่ใต้ถุน ลูกร้องจะกินนม แม่ห้ามไว้บอกว่า ดูลูกเขาจะเข้าไปหาแม่ พระยาพานก็ตกใจถอยออกมา ครั้นถึงตติยยามก็กลับเข้าไปอีกถึงมารดา ๆ จึงถามว่า ท่านเป็นบุตรผู้ใด พระยาพานบอกว่า เป็นบุตรพระยาราชบุรี มารดาจึงบอกว่าเจ้านี้เป็นลูกของข้า เมื่อประสูติเอาพานรองรับ พระพักตร์กระทบพานเป็นรอยอยู่ บิดาให้เอาเจ้าไปฆ่าแม่จึงเอาไปฝากยายหอมไว้ พระยาพานได้สำคัญเป็นแน่ก็ทรงกันแสงว่า ได้ผิดแล้ว ตรัสว่ายายหอมหาได้บอกให้รู้ไม่ ก็ให้เอายายหอมไปฆ่าเสีย แร้งลงกินจึงเรียก ท่าแร้งมาจนบัดนี้

เมื่อพระยาพานมีราชบุตร ทรงเสน่หาราชบุตรเป็นกำลังเมื่อคิดถึงที่ได้ฆ่าบิดาก็เสียพระทัยสลดลง ทรงพระดำริว่ายังเห็นอยู่แต่พระคิริมานนท์ พอจะส่องสว่างได้จึงได้อาราธนาพระคิริมานนท์กับพระองคุลิมาล ซึ่งได้พระอรหัต บรรลุธรรมพิเศษ มารับบิณฑบาตฉันในพระราชวังแล้วพระองค์ตรัสถามพระผู้เป็นเจ้าว่า พระองค์ได้ฆ่าบิดาเป็นความผิดนักหนา คิดจะหาความชอบจะเห็นเป็นประการใด พระมหาเถรทั้งสองถวายพระพรว่าเป็น ครุกรรมถึง ปิตุฆาต จะไปสู่มหาอเวจีช้านานนัก นี่หากว่ารู้สึกตัวว่าทำผิดคิดจะใคร่หาความชอบจะให้ตลอดไปนั้นมิได้ แต่ว่าจะบำบัดเบาลงสิบส่วนเท่า คงอยู่สักเท่าส่วนหนึ่ง ให้ก่อ พระเจดีย์สูงชั่วนกเขาเหิน จะค่อยคลายโทษลง พระยาพานจึงดำรัสสั่งเสนาบดีคิดการสร้างพระเจดีย์ใหญ่สูงชั่วนกเขาเหิน สร้างวัดเบื้องสูงท่าประธมพระวิหารสี่ทิศไว้พระจงกลมองค์หนึ่ง พระสมาธิทั้งสามด้าน ประตูแขวนฆ้องใหญ่ ปากกว้างสามศอกสี่ประตู ทำพระระเบียงรอบพระวิหาร แล้วบรรจุพระบรมธาตุพระเขี้ยวแก้วในพระเจดีย์ใหญ่เสร็จแล้ว ฉลองเล่นมหรสพครบเจ็ดวันเจ็ดคืน ให้ทานยาจกวรรณิพก แล้วให้บูรณะพระแท่นประสูติพระพุทธเจ้า ณ เมืองโกสินาราย

จ.ศ.๕๕๒ พระยาพานยกทัพขึ้นไป เมืองลำพูน ไปนมัสการพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าถึงสามปี แล้วยกทัพกลับ จึงปรายเงินทองต่างข้าวตอกดอกไม้ถวายพระบรมธาตุมาทุก ๆ ตำบล มาแต่เมืองลำพูน ลำปาง ลงมาทาง เดิมบางนางบวช จนถึง เมืองนครไชยศรีสิ้นเก้าปี รู้ทั่วกันว่าพระยาราชบุรีเป็นบิดาเลี้ยง จะมาจับ ก็ยกทัพหนีขึ้นไปยังประเทศราช เสนาบดีจึงเชิญขึ้นครองราชสมบัติสี่สิบปี สวรรคต จ.ศ.๖๖๙

มีพระราชบุตรองค์หนึ่ง เสนาบดีมุขมนตรีทั้งหลายยกพระราชกุมารขึ้นเสวยราชสมบัติ ถวายพระนาม พระพรรษา ราษฎรเป็นสุขยิ่งนัก ตั้งแต่นั้นมาได้เก้าสิบปี สร้าง วัดศรีสรรเพชญ์ วัดสวนหลวง เสด็จสวรรคต เมื่อ จ.ศ.๙๐๖ พระรามบัณฑิตได้เสวยราชย์ ถวายพระนามสมเด็จพระรามพงษ์บัณฑิตย์อุดมราชาปิ่นเกล้าพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการตรัสแก่ขุนวิชาชำนาญธรรมเป็นนักปราชญ์ ว่าด้วยจุลศักราชนั้นมากำกับอยู่ด้วย พระพุทธศักราชนั้นหาควรไม่ไม่ พระพุทธจักรก็จะอยู่ในอำนาจอาณาจักร ประเพณีแปรปรวนไปทุกที จึงให้ยกจุลศักราชออกเสีย ให้ตั้งพระพุทธศักราชไว้เป็นกำหนดสืบไป พระพุทธศักราชล่วงได้ ๙๕๕ พรรษา ศรีธนนไชยสร้าง วัดโลกสุธา พ.ศ.๙๕๗ พระสังฆราชลงมาแต่เมืองหงสาวดีมาถามถึงอัตถกถาจะเสื่อมสูญหรือยังผู้ใดจะทรงไว้ได้ทั้งพระไตรปิฎก อยู่ วัดโพธิหอม

ขณะนั้นองค์อินทร์เป็นเชื้อมาแต่พระยากาฬปักษ์ สร้าง วัดหน้าพระเมรุ ไว้เป็นหลักพระพุทธศาสนา จ.ศ.๙๐๐ สวรรคต

 

เรื่องพระเจ้าอู่ทอง

 

พระเจ้ากาแต เป็นเชื้อมาแต่นเรศว์หงษาวดี ได้มาบูรณะ วัดโปรดสัตว์ วัดภูเขาทอง วัดใหญ่ แล้วให้มอญน้อยออกไปสร้าง วัดสนามไชย แล้วมาบูรณะ วัดพระป่าเลไลย ในวัดลานมะขวิด แขวง เมืองพันธุมบุรี ขนานนามเมืองใหม่ว่า สองพันบุรี พระองค์อยู่ในราชสมบัติ ๔๐ ปี จึงสวรรคต เมื่อปี จ.ศ.๕๖๕

พระยาอู่ทองกับพระเชษฐา พร้อมทั้งพระราชบุตรกับครอบครัวยกลงมาแต่เมือง ฉเชียงหลวง ลงมาถึงที่แห่งหนึ่งเห็นสงบเงียบ ก็ยกไปท้ายเมืองฝั่งใต้ ตั้งที่ประทับอยู่ที่นั้น ราษฎรนับถือว่าเป็นผู้มีบุญ ก็เข้ามาประชุมสโมสรพร้อมกัน แล้วยกขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน จึงยกพระเชษฐาให้ครอง เมืองสุคันธคีรี พระเจ้าท้องลันเป็นปฐมกษัตริย์สืบมา พระยาสุคันธคีรีเจ้าเมืองเชียงใหม่ใคร่จะหาคู่ครองให้บุตร มีผู้บอกข่าวว่าบุตรพระยาอู่ทองคนหนึ่งงามดังนางสวรรค์ เจ้าไชยทัตใคร่จะได้นางมาเป็นคู่ครองจึงปลอมตัวลงมาพร้อมเข้าไชยเสน ผู้เป็นน้องลอบเข้าไปหานางถึงในวังหลวง แล้วลักลอบได้เสียกันจนนางมีครรภ์แก่ พระยาอู่ทองเห็นเหตุการณ์ผิดประหลาด จึงสั่งให้ทำลอบเหล็กดักไว้ที่ท่อน้ำ เจ้าไชยทัตไม่ทันรู้เลยติดลอบตาย พระยาอู่ทองเห็นเข้าก็เสียดาย ครั้นได้พบน้องชายที่มาด้วยสอบถามดูรู้ว่า เป็นราชบุตรพระเจ้าเชียงใหม่จึงให้ราชาภิเษกกับพระราชบุตรี

ต่อมาพระยาอู่ทองให้หาชัยภูมิจะสร้างเมืองใหม่ จึงให้อำมาตย์ข้ามไปฝั่งที่เกาะตรงวังข้าม พบฤาษีรูปหนึ่งอยู่ในดงโสนริมหนองน้ำ ชื่อสัทธรรมโคดม ฤาษีจึงว่าเราอยู่ที่นี่นานมาแล้ว จะมาสร้างเมืองดีอยู่แล้ว ตนจะไปอยู่เขาแก้วบรรพต แต่ ณ ที่นี้เป็นกองกูณฑ์อัคคี หาเป็นที่ชัยภูมิไม่ ให้ไปข้างทิศหรดีเป็นชัยภูมิดี มีต้นหมันเป็นสำคัญอยู่ต้นหนึ่ง แล้วฤาษีว่าแก่เสนาบดีว่า จะมีกษัตริย์ไปภายหน้าเป็นอันมาก จะเป็นเมืองท่าสำเภา แต่จะเกิดยุทธนาการไม่รู้วาย
(ต่อนี้เป็นเรื่องพระยาแกรก ที่กล่าวมาแล้วแต่ตอนต้น)

เมื่อสิ้นบุญพระยาแกรกแล้ว กาลต่อมาอีกสามชั่วพระยา ยังแต่ผู้หญิงอันสืบตระกูล เศรษฐีสองคนคือ โชดกเศรษฐี กับ กาลเศรษฐี จึงคิดอ่านให้เอาท้าวอู่ทองลูกโชดกเศรษฐีประสมด้วยกันกับพระราชธิดาครองเมืองมาได้เจ็ดปี เกิดห่าลงเมือง ผู้คนล้มตายมาก พระองค์จึงอพยพออกจากพระนครไปทางด้านทิศทักษิณได้สิบห้าวัน ถึงแม่น้ำสายหนึ่ง และเห็นเกาะแห่งหนึ่งเป็นปริมณฑลงาม จะข้ามมิได้จึงให้ตั้งทัพตามริมน้ำ ครั้นได้เรือมาแล้วจึงข้ามไปที่เกาะ เห็นดาบสรูปหนึ่งอยู่ใต้ต้นไม้ ดาบสแจ้งว่าอายุได้ ๑๕๐ ปีแล้ว และอยู่ที่นี่มานาน เมื่อพระพุทธเจ้ามาถึงนี่ เราได้นิมนต์ให้นั่งบนตอตะเคียน แล้วถวายมะขามป้อม พระพุทธเจ้ามีพระพุทธฎีกาแก่พระอานนท์ว่า ฐานที่นี้จะเป็นเมืองเรียกว่า ศรีอโยธยา พระยาทราบเรื่องแล้วยินดียิ่งนัก ไปเลียบดูที่จะตั้งพระราชวังกับเรือนหลวง และตั้งกำแพงกับค่ายคูไปรอบเมือง เสร็จแล้วจึงไปสู่เมืองพร้อมไพร่พล

พระเจ้าอู่ทองครองเมืองศรีอโยธยาเป็นสุข มีพระราชบุตรสามองค์ ชื่อเจ้าอ้าย เจ้ายี่ และเจ้าสาม ท้าวพระยาทั้งหลายเกรงอานุภาพ เจ้าไปกิน เมืองนคร เจ้ายี่ไปกิน เมืองตะนาว เจ้าสามไปกิน เมืองเพชรบุรี

พระเจ้าอู่ทองมีพระราชบุตรองค์หนึ่ง พราหมณ์ทายว่าพระองค์จะได้บุตรเขยมาจากต่างเมืองข้างเหนือ

เจ้าพัตตาสุจราช เสวยราชในเมืองสัชนาไลย มีพระราชกุมารสององค์ ชื่อเจ้าธรรมไตรโลก และบรมไตรโลก พระองค์มีพระชนมายุได้ ๑๖๐ ปี ก็ทิวงคต เจ้าธรรมไตรโลกได้รับราชาภิเษกเป็นพระยาแทนบิดา ต่อมาพระองค์ได้ออกบรรพชาอุปสมบทที่ เมืองโอฆบุรี ซึ่งเป็นเมืองของพระญาติ พระเจ้าโกรพราชสร้างอารามถวาย และสร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกศไว้ให้ชื่อว่า วัดจุฬามณี แต่นั้นมา

พระยาสุคนธคีรีเจ้าเมืองพิชัยเชียงใหม่ มีพระราชบุตรสององค์ ชื่อเจ้าไชยทัตกุมาร และเจ้าไชยเสนกุมาร ทั้งสององค์ เป็นพระภิกษุขึ้นไปเรียนพระไตรปิฎกถึงเมืองพุกาม แล้วไปเรียนไตรเพทข้างไสยศาสตร์ จบแล้วกลับมาเมืองวิเท่ห์รื้อมาเมืองหงษา อาศัยอยู่อารามแห่งหนึ่งแล้วลองคุณความรู้ของตนลอบไปอุ้มพระราชธิดามาจากปราสาท ต่อมาพระเจ้าหงษาจับได้จะฆ่าเสีย ทั้งสองจึงได้ใช้วิชาที่เรียนมาหลบหนีเอาตัวรอดกลับมาได้ พระยาสุคนธคีรีอยากให้เจ้าไชยทัตมาเป็นพระยาแทน พระองค์จึงให้โหรมาทายรู้ว่าคู่อยู่ต่างเมือง และเขาเล่าลือกันว่าลูกสาวพระยาอู่ทองงามดังนางฟ้า เจ้าไชยทัตใคร่จะได้เป็นคู่ครอง ทั้งสองพี่น้องจึงเดินทางมาเมืองศรีอยุธยา โดยเจ้าไชยทัตบรรพชาเป็นสามเณร ส่วนเจ้าไชยเสนเป็นภิกษุอยู่แล้ว ทั้งสองมาอาศัยอยู่ในวัดใกล้พระราชวัง แล้วเจ้าไชยทัตลาเพศจากสามเณร แล้วลอบเข้าไปในวังเข้าหานางทุกวันจนนางทรงครรภ์แก่ พระเจ้าอู่ทองเห็นผิดสังเกต จึงให้ทำลอบเหล็กดักไว้ที่ท่อน้ำ

เจ้าไชยทัตเคยประดาน้ำเข้าไปทุกวันก็ติดอยู่ในลอบเหล็กถึงแก่ความตาย พระเจ้าอู่ทองให้ค้นหาเพื่อนผู้ตาย ก็พบน้องชายเมื่อเอาตัวมาไต่ถามรู้ว่า เป็นราชบุตรพระเจ้าเชียงใหม่ จึงให้เจ้าไชยเสนลาผนวช แล้วราชาภิเษกให้เป็นพระยา พระยาอู่ทองมีพระชนมายุได้ร้อยปีเศษก็ทิวงคต เมื่อปี พ.ศ.๑๖๐๐

เจ้าไชยเสนได้เป็นพระยาในเมืองศรีอยุธยาราชธานีได้ ๒๗ ปี พระราชกุมารเจริญวัย พระเจ้าไชยเสนผู้เป็นอาว์ จึงราชาภิเษกเจ้าสุวรรณกุมารเป็นพระยาแทนพระองค์ ส่วนพระองค์พร้อมราชเทวีพร้อมไพร่พลเป็นอันมากไปเมืองพิชัยเชียงใหม่ พระเจ้าสุคนธคีรีจึงราชาภิเษกเจ้าไชยเสนให้เป็นพระยาแทนพระองค์ ส่วนพระเจ้าสุวรรณราชามีพระราชธิดาสององค์ชื่อเจ้ากัลยาเทวี และเจ้าสุนันทาเทวี มีรูปงามดุจดังนางเทพธิดา

 

เรื่องพระบรมราชา

พระเจ้าธรรมไตรโลกเสวยราชสมบัติ ณ เมืองสัชนาไลยราชธานี มีราชบุตรสามองค์ชื่อ พระธรรมราชา เจ้าบรมราชา และเจ้าราชาธิราช พระองค์ใคร่ที่จะให้พระธรรมราชาผู้เป็นพี่เป็นพระยา ต่อมาพระธรรมราชา กับพระบรมราชา ได้ร่วมกันไปขอพระราชธิดาพระเจ้าสุวรรณราชา ณ เมืองศรีอยุธยา พระองค์จึงพระราชทานนางทั้งสอง โดยให้นางกัลยาเทวีแก่พระธรรมราชา และนางสุนันทาเทวีแก่พระบรมราชา แล้วให้ทำกำแพงคนละครึ่งอยู่เป็นสุขในเรือนหลวง เมื่อพระเจ้าสุวรรณราชามีพระชนมายุได้ ๙๘ ปี ก็ทิวงคต เจ้าธรรมราชาได้รับอภิเษกให้เป็นพระยา ครั้นสิ้นบุญพระเจ้าธรรมราชาผู้พี่แล้ว พระบรมราชาก็ได้รับราชาภิเษก เสวยราชสมบัติเมืองศรีอยุธยา พระอัครมเหสีประสูติราชบุตรคนหนึ่ง ได้พระนามว่า วรเชษฐกุมาร เมื่อพระชนม์ได้สิบหกปี พระองค์ใคร่มอบราชสมบัติให้แล้วพระองค์ออกผนวชที่วัดสมโณโกฏิ
เรื่องขุนสิงหลสาคร
(เว้น)

 

ตำนานพระแก้วมรกต

 

ยังมีพระอรหันต์เจ้าองค์หนึ่งทรงนามว่า พระมหานาคเสน อันจบด้วยพระไตรปิฎก และมีปัญญาฉลาดลึกล้ำ รู้โวทนาแก้ปริศนาปัญหาทั้งปวง เป็นอาจารย์พระยามิลินทราช อยู่ที่ วัดอโสการาม ใน เมืองปาตลีบุตร เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงได้ ห้าร้อย พระวัสสา

พระมหานาคเสนพิจารณาเห็นว่า เราควรจะสร้างพระพุทธรูปเจ้าไว้ให้เป็นที่นมัสการแก่มนุษย์ และเทพ แต่จะสร้างด้วยเงินหรือทองคำให้มั่นคงถึงห้าพันพระวัสสานั้นหาได้ไม่ ควรจะสร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วลูกประเสริฐ

สมเด็จพระอมรินทราธิราช คิดเห็นอัธยาศรัยแห่งพระมหานาคเสน จึงเสด็จมาพร้อมด้วยพระวิศณุกรรม เข้าไปไหว้พระมหานาคเสนแล้วว่า พระองค์จะช่วยสงเคราะห์ให้สมความปรารถนา โดยจะไปเอาแก้วอันมีในเขาเวมุลบรรพตมาถวาย แล้วพระองค์กัยพระวิศณุกรรมก็ไปที่เขาเวมุลบรรพต เห็นคนธรรพ์และกุมภัณฑ์ทั้งปวง จึงได้ตรัสแก่เขาเหล่านั้นว่าจะมาขอเอาแก้วลูกประเสริฐไปถวายพระนาคเสนเจ้าเพื่อสร้าง แปลงเป็นพระพุทธรูป พวกเขาเหล่านั้นจึงกราบทูลว่า แก้วลูกประเสริฐที่พวกเขารักษาไว้นี้เป็นแก้วมณีโชติ อันเป็นของพระบรมจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ถ้าถวายแก้วนี้ไป ครั้นพระบรมจักรพรรดิราชาธิราชเจ้ามาเกิด พวกตนก็จะหาแก้วลูกประเสริฐมาถวายท่านมิได้ แต่ว่าพวกตนจะถวายแก้วมรกตลูกหนึ่ง มีรัศมีอันเขียวงามบริสุทธิ์แก่พระองค์

เมื่อพระองค์ได้แก้วมรกตมาแล้ว จึงนำไปถวายแก่พระมหานาคเสนเจ้า พระมหานาคเสนมาคำนึงในใจว่า เราจะได้ผู้ใดมาสร้างแปลงยังพระพุทธรูปเจ้าด้วยแก้วมรกตลูกนี้ พระวิศณุกรรมรู้อัธยาศรัยแห่งพระมหานาคเสนเจ้าแล้วจึง จำแลงแปลงกายเป็นมนุษย์ อาสาทำงานนี้ พระมหานาคเสนเจ้าก็ยินดีให้ทำ พระวิศณุกรรมจำแลงก็สร้างแปลงพระพุทธรูป ด้วยแก้วมรกตลูกนั้นอยู่เจ็ดวันก็สำเร็จการ แล้วจึงนิมิตเป็นมหาวิหารอันใหญ่ ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง มีแก้วเป็นประธาน ตั้งอยู่ในอโสการามนั้น ตั้งพระแก้วเหนือแท่นรัตนบัลลังก์กาญจน์ในท่ามกลางพระมหาวิหาร

พระมหานาคเสนเจ้าจึงนำพระบรมธาตุเจ้าเจ็ดพระองค์อันงามบริสุทธิ มีฉัพพรรณรังษีต่าง ๆ กัน ท่านจึงตั้งไว้ยังพานเงินเจ็ดพานซ้อนกัน ตั้งไว้ยังสุวรรณพานทองเจ็ดพานซ้อนกัน ตั้งยังพานแก้วเจ็ดพานซ้อนกันบนพานเงินพานทองนั้น แล้วจึงเชิญพระบรมธาตุเจ้าเจ็ดพระองค์นั้นใส่ลงในผอบแก้วลูกหนึ่ง อันวิจิตรงามมาก ยกผอบแก้วขึ้นประดิษฐานไว้บนพานเงินพานทอง พานแก้วนั้น พระบรมธาตุเจ้าเจ็ดพระองค์นั้นก็กระทำปาฏิหาริย์ เปล่งรัศมีหกประการ ให้รุ่งเรืองสว่างไปทั่วทิศทั้งสี่ ทิศทั้งแปด ก็ให้รุ่งขึ้นทั่วพื้นอากาศเวหาทั้งมวล
พระมหานาคเสนจึงตั้งสัตยาธิษฐานขออาราธนาเชิญพระบรมธาตุเจ้าเจ็ดพระองค์นั้น ให้เสด็จเข้าไปในพระองค์พระแก้วเจ้านั้น พระบรมธาตุพระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในพระโมฬี พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าพระพักตร์ พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในพระหัตถ์กำขวา พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในพระหัตถ์กำซ้าย พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในเข่าข้างขวา พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในเข่าข้างซ้าย พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในพระชงฆ์แห่งพระแก้วเจ้า

พระมหานาคเสนจึงเล็งอรหัตมรรคญาณไปแต่ข้างหน้านั้น จึงเห็นว่าพระแก้วนี้จะไม่ได้อยู่ในเมืองปาตลีบุตร ท่านจึงทำนายไว้ว่า พระแก้วเจ้าของเราองค์นี้ ท่านยังจะเสด็จไปโปรดสัตว์ในประเทศห้าแห่งคือ ลังกาทวีปเป็นกำโพชวิสัยแห่งหนึ่ง ศรีอยุธยาวิสัยแห่งหนึ่ง โยนกวิสัยแห่งหนึ่ง สุวรรณภูมิวิสัยแห่งหนึ่ง ปมหลวิสัยแห่งหนึ่ง

ต่อมา ชาวเมืองปาตลีบุตร พร้อมใจกันปฏิบัติรักษาบูชาพระแก้วสืบมานานได้สามร้อยปี มาถึงพระเจ้าตะละกะได้ครองราชย์ในเมืองปาตลีบุตร มีราชโอรสนามเจ้าศิริกิตติกุมาร ได้ครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา แต่นั้นเกิดศึกสงครามในเมืองปาตลีบุตร คนทั้งปวงเห็นเหตุจะไม่ดีกลัวพระแก้วจะเสียหาย จึงเชิญเอาพระแก้วขึ้นสู่สำเภา พร้อมกับพระปิฎกธรรม พาหนีไปสู่ กัมโพชวิสัยคือ ลังกาทวีป พระแก้วอยู่ที่ลังกาได้สองร้อยปี พระพุทธศักราชได้หนึ่งพันวัสสา

ครั้งนั้น กษัตริย์องค์หนึ่งพระนามพระเจ้าอนุรุธราชาธิราช ครองราชย์ที่เมืองพุกาม ท่านปฏิบัติรักษาคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมเจ้า คุณพระสงฆเจ้าเป็นนิจ มีพระภิกษุเจ้าองค์หนึ่งนามว่าสีลขันธ์ มีปัญญาฉลาดนัก ต่อมาได้เดินทางไปสู่เมืองลังกาทวีปกับพระภิกษุแปดรูป พร้อมทั้งพระเจ้าอนิรุธราชาธิราช พระองค์ได้ขอเอาพระแก้วมรกตจากเจ้าพระนครลังกา ซึ่งเป็นพระสหาย ตอนเดินทางกลับสำเภาลำที่ใส่พระปิฎกธรรมของชาวลังกาไปถึงเมืองพุกามโดยสวัสดี แต่สำเภาลำใส่พระแก้วกับพระปิฎกธรรม อันชาวเมืองพุกามเขียนเองนั้น พลัดไปถึง เมืองอินทปัตมหานคร

พระเจ้าอินทปัตมหานครได้พระแก้วมรกตแล้วก็ได้ทำการฉลองบูชาพระแก้วเป็นอันมาก แต่นั้นพระพุทธศาสนาก็รุ่งเรืองงามไปทั่วสกลชมพูทวีป ด้วยอานุภาพแห่งพระแก้วเจ้านั้น พระแก้วเจ้าตั้งอยู่ในเมืองอินทปัตมหานครนั้นได้หลายชั่วกษัตริย์ ต่อมาถึงกษัตริย์องค์หนึ่งพระนามพระเจ้าเสนกราช ต่อมาพระองค์ได้ประพฤติไม่ชอบธรรม ให้ฆ่าบุตรของปุโรหิตผู้หนึ่งโดยผูกไปให้จมน้ำในสระแห่งหนึ่ง พระยานาคที่อาศัยอยู่ในสระนั้นเห็นเข้าก็โกรธจึงทำให้น้ำท่วมเมืองอินทปัต ผู้คนจมน้ำตายเป็นอันมาก พระเถรเจ้าองค์หนึ่งได้ยกเอาพระแก้วเจ้ากับพวกที่อยู่รักษาพระแก้วเจ้าขึ้นเรือสำเภาลำหนึ่ง หนีไปจากเมืองอินทปัตมหานคร ขึ้นไปสู่บ้านแห่งหนึ่งฝ่ายหนเหนือ

ยังมีกษัตริย์องค์หนึ่ง พระนามพระเจ้าอาทิตยราชได้ครองราชย์ใน กรุงศรีอยุธยา รู้ข่าวว่าเมืองอินทปัตมหานครน้ำท่วม ทรงกลัวว่าพระแก้วเจ้าจะเสียหาย พระองค์จึงเสด็จไปเมืองอินทปัตมหานคร พร้อมด้วยจัตุรงคเสนาเป็นอันมาก ครั้นไปถึงก็ให้สืบสวนได้พระแก้วเจ้าแล้ว ก็นำผู้คนที่สมัครกับพระแก้วเจ้าเป็นอันมาก เสด็จกลับพระนครศรีอยุธยา จัดการฉลองบูชาพระแก้วเจ้าได้เดือนหนึ่ง แล้วเชิญแห่เอาพระแก้วเจ้าขึ้นประดิษฐานไว้ในพระศรีรัตนศาสดาราม ด้วยเดชะอานุภาพพระแก้วเจ้า พระพุทธศาสนาก็รุ่งเรืองงามมากในกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา พระแก้วเจ้าตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครศรีอยุธยามาได้หลายชั้นพระมหากษัตริย์

อยู่ต่อมาเจ้าพระยากำแพงเพชร ลงมาทูลขอพระแก้วเจ้าขึ้นไปไว้ใน เมืองกำแพงเพชร ต่อมาท่านก็ได้ราชบุตรคนหนึ่ง เมื่อเจริญวัยก็ตั้งให้ไปเป็นเจ้าเมืองละโว้ อยากได้พระแก้วเจ้าไว้บูชา จึงมาสู่เมืองกำแพงเพชรขอพระแก้วเจ้าไปบูชา หลังจากได้นำไปบูชาได้ปีเก้าเดือนก็นำกลับมาส่งคืน

ยังมีพระยาองค์หนึ่งชื่อพระยาพรหมทัต ครองราชย์ในเมืองเชียงราย เป็นมิตรไมตรีกับพระเจ้ากำแพงเพชร อยากได้พระแก้วมรกตเจ้ามาบูชาในเมืองเชียงราย จึงมาขอจากเจ้าเมืองกำแพงเพชรผู้เป็นพระสหาย แล้วนำไปบูชาที่ เมืองเชียงราย อยู่ต่อมาเจ้าเมืองเชียงใหม่ผู้เป็นอาเกิด อริวิวาทกัน เจ้าเชียงใหม่ยกไปรบกับเมืองเชียงราย เมืองเชียงรายแพ้ ก็ให้เชิญพระแก้วเจ้ามาไว้ที่ เมืองเชียงใหม่ ให้สร้างปราสาทหลังหนึ่งในวังของท่าน แล้วเชิญพระแก้วเจ้าขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาทนั้น ในครั้งนั้นพระพุทธศาสนาก็รุ่งเรืองงามเป็นที่สุด ด้วยเดชานุภาพพระแก้วเจ้านั้น พระแก้วเจ้าอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๐๐

อยู่ต่อมามีราชโอรสองค์หนึ่ง ของพระเจ้าวิชุนราช ครองราชย์ในเมืองศรีสันาคนหุต พระนามเจ้าโพธิสาร เมื่อเจริญวัยได้สิบห้าปี ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ได้ยินข่าวว่า พระเจ้าโพธิสารมีศักดานุภาพมาก มีพระราชโอรสสามองค์ พระนามเจ้าไชยเสษฐา เจ้าถินาวะ และเจ้าสีวละวงษา
ฝ่ายเมืองเชียงใหม่หาตระกูลวงศาเจ้านายที่จะสืบแทนบ้านเมืองต่อไปไม่ได้ จึงพร้อมใจกันให้ราชทูตไปขอเจ้าไชยเสษฐา ให้มาครองราชย์ในเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าโพธิสารก็ให้เจ้าไชยเชษฐา ซึ่งมีอายุได้สิบสองปีไปครองราชย์ในเมืองเชียงใหม่ ทรงพระนามว่า พระไชยเสษฐาธิราช ต่อมาได้สามปีพระเจ้าโพธิสารก็ถึงแก่พิราลัยเมื่ออายุได้ สี่สิบสองปี เสนาอำมาตย์ราชบัณฑิตย์ และไพร่พลเมืองทั้งปวง พร้อมกันยกเอาเจ้ากิถนวะ ราชกุมารขึ้นครองราชย์ในเมืองศรีสัตนาคนหุต และยกเอาเจ้าศรีวรวงษาราชกุมารให้ไปเป็นเจ้าเมืองเวียงจันทนบุรี แล้วแต่ทูตไปบอกข่าวพระเจ้าไชยเสษฐาในเมืองเชียงใหม่

พระเจ้าไชยเสษฐา ฯ รับข่าวสารแล้วมาคิดวิตกว่า เมื่อพระองค์ไปแล้วไม่รู้ว่าจะกลับคืนมาเมืองเชียงใหม่อีกช้านานเท่าใด จึงควรเชิญเอาพระแก้วเจ้าไปด้วย คิดได้ดังนั้นแล้วก็ให้ไปอาราธนาเชิญเอาพระแก้วเจ้า แล้วเสด็จมายังเมืองศรีสัตนาคนหุต เมืองถึงแล้วก็ให้เชิญเอาพระแก้วมรกตขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาทที่พระแซกคำอยู่นั้น แล้วพระองค์ก็ประทับอยู่ในเมืองศรีสัตนาคนหุตนานสามปี

ฝ่ายทางเมืองเชียงใหม่ รออยู่สามปีเห็นพระเจ้าไชยเสษฐา ฯ ยังไม่กลับมาจึงสืบหาขัติยราชวงษา อันเป็นเนื่องแนวเชื้อสายกษัตริย์มาแต่ก่อน เห็นพระองค์องค์หนึ่งนาม พระเมกุฏิ อันเป็นราชวงษามาแต่ก่อน จึงอาราธนาให้ลาพรตแล้วทำพิธีขัติยราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัติริย์ครองราชย์ในเมืองเชียงใหม่

ฝ่ายพระเจ้าไชยเสษฐา ฯ ทราบข่าวสารการขึ้นครองราชย์ของพระเมกุฏิก็ทรงกริ้วโกรธนัก จึงได้ยกทัพไปตีเอาเมืองเชียงแสนได้แล้ว ก็จะยกไปตีเมืองเชียงใหม่ต่อไป
ฝ่ายพระเมกุฏิได้ยินข่าวดังกล่าวก็เกรงกลัว จึงยกเอาเมืองเชียงใหม่ไปถวายแก่เจ้าเมืองอังวะ เจ้าเมืองอังวะจึงยกทัพมาช่วยเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าไชยเสษฐา ฯ ทราบเรื่องเกรงว่าศึกจะยืดเยื้อเป็นสงครามใหญ่ จึงให้ถอยทัพกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสนได้เก้าปี แล้วจึงเลิกทัพกลับลงมาเมืองศรีสัตนาคนหุต เห็นว่าเมืองคับแคบมีภูเขาไฟใหญ่น้อยอยู่มาก ควรไปสร้างแปลงที่อยู่ในที่อันกว้างขวาง พิจารณาดังนั้นแล้วจึงไปเอาพระแก้วเจ้า แล้วพาเอาเสนาบดีไพร่พลทั้งปวงไป เวียงจันทบุรี จัดการสร้างแปลงบ้านเมืองครองราชย์อยู่ ณ ที่นั้น ให้สร้างปราสาทหลังหนึ่งในวังของท่าน ประดับประดาด้วย แก้วและเงินดำเป็นอันงามบริสุทธิ์ แล้วให้เชิญเอาพระแก้วเจ้าและพระแซกดำเจ้า ขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาทหลังนั้น แล้วพระองค์ให้สร้างพระเจดีย์ลูกหนึ่งไว้ฝ่ายตะวันออก ถัดเจดีย์พระเจ้าศรีธรรมาโสกราชที่สร้างไว้แล้ว ให้กระทำพระเจดีย์น้อยสามสิบลูก ให้แวดวงเป็นบริวารทั่วทุกกำทุกพาย แล้วปลงพระนามพระมหาเจดีย์เจ้าว่า พระโลกจุฬามณีศรีเชียงใหม่