ประชุมพงศาวดาร
ว่าด้วยเมืองหงษาดีต่อไป
ค จ.ศ.๑๑๐๕ พวกกะเหรี่ยงร้อยห้าสิบคน ยกลงมาจากปลายแม่น้ำ เข้าปล้นเมืองหงษาวดีเวลากลางคืน พระเจ้าหงษาวดีหนีไปอยู่นอกเมือง กะเหรี่ยงได้เมืองไว้คืนหนึ่ง รุ่งขึ้นพระเจ้าหงษาวดีก็เข้าไปจับพวกกะเหรี่ยงฆ่าเสีย ในปีนั้นพวกเมืองมฤต เมืองตนาว ยกไปตีเมืองมรแมน คือ เมืองเมาะลำเลิง ไม่ได้เมือง ได้แต่ครอบครัวประมาณพันหนึ่งแล้วกลับไป
ค จ.ศ.๑๑๐๖ พระเจ้าหงษาวดี รับสั่งให้สมิงท้าวทองสุก สมิงท้าวธุก เป็นแม่ทัพ ยกไพร่พลสามพันขึ้นไปตีเมืองอังวะ ให้สมิงธอระเกณฑ์คนห้าร้อยไปตีเมืองปรอน สมิงธอราราย เกณฑ์คนเจ็ดร้อยไปตีเมืองตองอู พวกพม่าอ่อนน้อมถวายเครื่องราชบรรณาการยอมเป็นเมืองขึ้น และได้ลมาตอินท์เป็นพวก
ค จ.ศ.๑๑๐๖ พระเจ้าหงษาวดี ปรึกษากับมหาเสนาบดีว่า กรุงศรีอยุทธยาไม่เป็นไมตรีกับเราแล้ว จึงให้พวกเมืองมฤต เมืองตนาวมาตีเมืองเมาะลำเลิง จำจะทำไมตรีกับพระเจ้าหอคำเจ้าเมืองเชียงใหม่ จะได้เป็นกำลังสู้รบกับพม่า และจะให้ไปขอราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่มาตั้งเป็นพระมเหสี มหาเสนาบดีก็เห็นด้วย พระเจ้าหงษาวดี จึงจัดเครื่องราชบรรณาการ และพระราชสาส์นมอบให้ราชทูตไปเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่ยอมยกราชธิดาให้พระเจ้าหงษาวดี จึงตั้งให้เป็นพระอัครมเหสี เดือนหก พระเจ้าหงษาวดียกฉัตรยอดพระเจดีย์มุตาวขึ้นไว้เป็นปกติดังเก่า ต่อมาพระองค์หลงรักราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ นักไม่เอื้อเฟื้อธิดามหาเสนาบดีอันเป็นพระมเหสีเดิม มหาเสนาบดีก็น้อยใจคิดทำร้ายพระองค์อยู่เป็นนิจ
ค จ.ศ.๑๑๐๙ มหาเสนาบดีคิดกับพวกกรมช้างเผือกอยู่ราวป่าแขวงเมืองกะเทิง พระเจ้าหงษาวดีจึงออกไป แขวงเมืองกะเทิงหลายครั้ง ให้สมิงนันทสุริยอยู่เฝ้าเมือง สมิงนันทสุริยคิดให้ผู้อื่นเป็นกษัตริย์ แต่ก็ไม่เหมาะสมจึงมีหนังสือลับไปถึงมหาเสนาบดีให้เข้ามาครองราชสมบัติเมืองหงษาวดี แล้วยกกองทัพตามไปจับสมิงธอกวย สมิงธอกวยจึงหนีไปหาพระเจ้าหอคำ ณ เมืองเชียงใหม่
ค จ.ศ.๑๑๐๙ สมิงธอกวยจะกลับมาตีเมืองหงษาวดี ได้ขอกองทัพเมืองเชียงใหม่สมทบกับพวกรามัญ มหาเสนาบดีจึงเกณฑ์ทัพรามัญให้ยกไปอยู่ตำบลบ้านเจ้ากิ อันเป็นปากทางจะไปเมืองเชียงใหม่ ให้คอยกั้นกองทัพสมิงธอกวย อย่าให้ตีออกทางนั้นได้ สมิงธอกวยสู้ไม่ได้แตกหนีจะกลับไปเมืองเชียงใหม่ พอรู้ว่ามีกองทัพตั้งสกัดอยู่จึงหนีมาอาศัยอยู่ริมตำบลแม่กลอง แม่จาน อันเป็นปลายแดนเมืองกาญจนบุรี มหาเสนาบดีได้เป็นพระเจ้าหงษาวดีใหม่ จึงมีรับสั่งให้กองทัพสองพวกที่พระเจ้าหงษาวดีองค์ก่อนใช้ไปรบพวกพม่านั้นคืนกลับมา แต่กองทัพทั้งสองไปค้างอยู่เมืองมาตะรา จะกลับไม่ทันด้วยทางไกลนัก เมื่อปี จ.ศ.๑๑๐๘ พระเจ้าหงษาวดีตั้งนายธอกองผู้เป็นอนุชาเป็นที่พระอุปราช แล้วมีรับสั่งให้เกณฑ์ไพร่พลหมื่นหนึ่งไปตีเมืองปรอนให้สมิงนันทสุริย เกณฑ์ไพร่พลหมื่นหนึ่งไปตีเมืองตองอู กองทัพพม่าสู้ไม่ได้ถอยไปเมืองอังวะ
ค สมิงท้าวทองสุก กับสมิงท้าวธุก แม่ทัพสองคนที่ค้างอยู่ในเมืองมาตะรานั้น ไม่รู้ว่าเมืองหงษาวดีเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินใหม่ จึงปรึกษากันว่า เมืองมาตะราเป็นเมืองน้อย จะป้องกันรักษาไว้ก็ยาก จำจะอพยพไปอยู่เมืองหงษาวดีจึงจะมีกำลังมาก ลมาตอินท์จึงแต่งศุภอักษร จัดดอกไม้เงินทองมอบให้สมิงท้าวทองสุก กับสมิงท้าวธุก ไปถวายพระเจ้าหงษาวดี กองทัพทั้งสองอพยพครอบครัวรามัญลงมา มีมหาราชาตั้งค่ายอยู่นอกเมืองปรอนรู้ข่าวจึงไล่ติดตามมารบ กองทัพรามัญเมืองหงษาวดีที่รักษาเมืองปรอน และเมืองตองอูไว้ก็ตีกระหนาบขึ้นไป กองทัพมังมหาราชาก็แตกไป เมื่อทั้งสองคนได้เฝ้าพระเจ้าหงษาวดี ๆ ก็ยินดีนัก ตรัสสั่งให้ทั้งสองคนถือน้ำพระพิพัฒ พระราชทานรางวัลและเครื่องยศแม่ทัพแก่คนทั้งสอง และเมื่อทราบในศุภอักษรชาวเมืองมาตะรา จะถวายตัวเป็นข้าแผ่นดินก็ยินดีนัก
ค จ.ศ.๑๑๐๙ พระเจ้าหงษาวดีมีรับสั่งให้สมิงศิริคุณ สมิงตะละปั่น และสมิงท้าวธออินทร์ เกณฑ์คนหมื่นหนึ่งขึ้นไปรับชาวเมืองมาตะตาลงมา ได้ทำบาญชีคนในเมืองได้หกหมื่นเศษ แล้วยกล่วงลงมาถึงทางใกล้เมืองอังวะ พวกพม่าเกรงฝีมือไม่อาจขัดขวาง เดินทางมาสามเดือนถึงเมืองหงษาวดี พระเจ้าหงษาวดีให้พวกรามัญเมืองมาตะราถือน้ำพระพิพัฒแล้ว ตั้งลมาตอินท์ สมิงโดด สมิงแปะกะยอ ให้เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ ครั้งนั้นสมิงท้าวทองสุก สมิงท้าวธุก ทำอุบายจะไปนมัสการพระเจดีย์ร่างกุ้ง แล้วคิดปรึกษากันว่า พระเจ้าหงษาวดีองค์นี้มิใช่เจ้าของเรา จึงพากันไปพบพระเจ้าหงษาวดีองค์ก่อน ในปีนั้นสมิงธอกวยผู้เป็นพระเจ้าหงษาวดีองค์ก่อนเกลี้ยกล่อมพวกละว้าได้สองพันเศษ ยกมาตีเมืองขึ้นแก่เมืองหงษาวดีได้หลายเมือง ครั้งนั้นสมิงท้าวธอติกเป็นเจ้าเมืองเมาะตมะ เกณฑ์ไพร่พลสองพันให้เจียระกีปลัดเมืองคุมออกไปรบทัพสมิงธอกวย แล้วมีหนังสือแจ้งข้อราชการศึกไปถวายพระเจ้าหงษาวดี ๆ จึงมีรับสั่งให้เกณฑ์คนห้าร้อยไปช่วยรบ ครั้งนั้นเจียระกียกกำลังไปรบกับฝ่ายสมิงธอกวย ตั้งค่ายประชิดอยู่ที่เมืองเกริน ฝ่ายสมิงธอกวยแตกพ่าย จึงจำใจเข้าไปกรุงศรีอยุทธยาโดยทางพระเจดีย์สามองค์ แล้วตั้งอยู่ปลายด่าน จึงมีหนังสือไปถึงพระยากาญจนบุรีว่าจะเข้าไปพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ๆ จึงตรัสสั่งให้เจ้าเมืองกาญจนบุรี ส่งตัวสมิงธอกวยไปกรุงศรีอยุทธยาในเดือนเจ็ด
ค ฝ่ายนายกำสะที่พระเจ้าหงษาวดี รับสั่งให้เกณฑ์คนห้าร้อยไปช่วยรบศึกคิดขบถ สมิงท้าวธอติกเจ้าเมืองเมาะตมะยกกองทัพออกไปรบจับได้แล้วฆ่าเสีย แล้วทำหนังสือแจ้งข้อราชการที่ได้รบกับสมิงธอกวย และมกำสะพระเจ้าหงษาวดีทรงทราบแล้วก็ยินดี จึงพระราชทานเครื่องยศต่าง ๆ เป็นอันมาก
ค จ.ศ.๑๑๐๙ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาต่อมาไม่ไว้พระทัยสมิงธอกวย ให้เอาตัวไปขังคุก
ค จ.ศ.๑๑๐๙ พระยารามัญสามคนคือพระยาราม พระยากลางเมือง และพระยาน้อยวันดี ที่สมิงธอกวยตั้งไว้ให้ขัดตาทัพอยู่ที่เมืองเจกอง ใต้เมืองปรอนลงมาประมาณสองวัน ให้คอยป้องกันกองทัพพม่าที่จะยกมาตีรามัญประเทศ พระยารามัญทั้งสามทราบเรื่องราวของสมิงธอกวย จึงปรึกษากันชวนกันอพยพครอบครัวหนีไปกรุงไทย เดินตัดมาทางตะวันออกทางปลายแดนเมืองตองอู มีครัวรามัญประมาณ สี่ร้อยเศษ
ค พระยารามัญทั้งสามเข้าไปในเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงใหม่ส่งครัวมอญทั้งปวงลงไปเมืองตาก เจ้าเมืองตากจึงบอกหนังสือไปให้กราบทูลพระกรุณา จึงมีรับสั่งให้ส่งครัวมอญทั้งนั้นลงไปกรุงศรีอยุทธยา ตรัสสั่งให้ไปอยู่ตำบลโพธิสามต้น
ค จ.ศ.๑๑๑๐ พระเจ้าหงษาวดีแต่งราชสาส์นขออย่าให้พระเจ้ากรุงไทยเลี้ยงสมิงธอกวยไว้ ขอให้ส่งตัวพร้อมพระยารามัญทั้งสามให้แก่เมืองหงษาวดี พระเจ้ากรุงไทยทรงพระนามพระเจ้าทรงธรรม ตรัสสั่งให้มีหนังสือตอบว่า การส่งตัวสมิงธอกวยออกไปนั้น ไม่ต้องด้วยเยี่ยงอย่างธรรมเนียมกษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม แต่จะให้เนรเทศเสียจากกรุงศรีอยุทธยา จะให้โดยสารสำเภาจีนออกไปแล้วให้ไปปล่อยเสียในเกาะแดนเมืองจีนโน้น ส่วนพระยารามัญทั้งสาม เห็นว่าไม่มีโทษผิดเข้ามาพึ่งบารมีก็เป็นธรรมเนียมที่จะสงเคราะห์ไว้
ค พระเจ้าหงษาวดีทราบพระราชสาส์นแล้วไม่ชอบพระทัย แต่ไม่รู้จะทำประการใด ด้วยเกรงเมืองไทยกับเมืองมอญจะขาดทางพระราชไมตรี จะเสียทีแก่พม่า
ค จ.ศ.๑๑๑๑ สมิงธอกวยขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่อีก จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าเชียงใหม่ ๆ จึงให้ไปอยู่กับราชธิดาเหมือนแต่ก่อน
ค จ.ศ.๑๑๑๒ สมิงธอกวย จะขอกองทัพเชียงใหม่ไปตีเมืองมอญ แต่พระเจ้าเชียงใหม่ไม่ให้
ค จ.ศ.๑๑๑๒ พระเจ้าหงษาวดี เกณฑ์กองทัพให้พระมหาอุปราช คุมไพร่พลสองหมื่นเป็นทัพเรือ ให้พระยาทะละคุมไพร่พลสองหมื่นกับสมิงตะละปันคุมไพร่พลเจ็ดพันคน เป็นทัพหน้ายกไปทางบก ยกไปตีมังมหาราชา ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองปรอน มังมหาราชาถอยไปตั้งรับอยู่ ณ เมืองปะกัน แล้วมีหนังสือบอกไปยังเมืองอังวะ
ค กองทัพรามัญได้เมืองปรอนแล้ว ก็แยกกันทั้งทัพบกทัพเรือ ตีหัวเมืองพม่าฟากตะวันออกของแม่น้ำเอราวดีขึ้นมา คอยกันหัวเมืองฟากตะวันตกไว้ ไม่ให้เข้ามาช่วยเมืองฟากตะวันออกได้ พวกรามัญตีหัวเมืองฟากตะวันออกได้สิบหัวเมือง แล้วไปตั้งทัพที่เมืองจาเล ทางแต่เมืองจาเลถึงเมืองปะกันประมาณสามวัน
ค พระมหาอุปราชา ยกกองทัพเรือข้ามไปตีค่ายฟากตะวันตกตรงเมืองปะกันข้าม เจ้าเมืองปะกันต้านทานไม่อยู่พากันแตกข้ามมาเมืองปะกัน ฝ่ายรามัญให้เร่งกองทัพบกยกไปตีเมืองปะกัน ฟากตะวันออกให้ได้
ค พระเจ้ามังลาวะมินทราบข่าว การรบจึงตรัสปรึกษาการสงครามกับขุนนางทั้งปวงตกลงให้คิดตัดกองทัพเรือเสบียงของรามัญเสีย จึงตรัสสั่งให้อะตองหวุ่นมหาเสนาบดีอันเป็นพนักงานว่าข้างทิศใต้ ให้เกณฑ์คนหมื่นหนึ่ง ยกข้ามไป ณ เมืองจะเกิง เดินทัพไปทางฟากตะวันตก ยกลงไปถึงเมืองจะเป็นตรงหน้าเมืองปะกันแงข้ามเตรียมเรือรบเรือไล่ให้พร้อม คอยตีสกัดตัดลำเลียงกองเสบียงรามัญ แต่ถูกกองทัพรามัญซุ่มตีแตกกลับไป
ค พระมหาอุปราชาตีทัพอะตองรุ่นแตกกลับไปแล้ว ก็ยกกองทัพเรือข้ามมารบกระหนาบเข้าข้างด้านริมน้ำ แล้วขึ้นบกยกหนุนเข้าไปใกล้เชิงกำแพงเมืองปะกัน มังมหาราชาเห็นเหลือกำลังจะรักษาเมืองไว้ได้ ก็ชวนเจ้าเมืองปะกันเปิดประตูเมืองด้านเหนือตีฝ่ากองทัพรามัญออกไป แล้วหนีไปเมืองอังวะ กองทัพรามัญได้เมืองปะกันแล้วก็ยกขึ้นมาตีเมืองตะลูมะยู ได้เมืองแล้วก็ยกกำลังขึ้นมาตั้งล้อมเมืองอังวะไว้ ขณะนั้นมอญกับพม่าฆ่าฟันกันตายลงเป็นอันมาก ในเมืองอังวะนั้นข้าวแพงนักคิดเป็นเงินไทยทนานละบาทมีเศษ พวกรามัญล้อมเมืองอยู่สามเดือนเศษ ยังหักเอาเมืองไม่ได้
ค พระเจ้าอังะ ตรัสสั่งให้ประชุมขุนนาง แล้วตรัสว่าแผ่นดินพุกามประเทศคิดตั้งแต่พระเจ้าอะนอรมามังฉอเป็นใหญ่ในเมืองตะกอง ซึ่งเป็นเมืองหลวงแต่ก่อนนั้น ไม่เคยเสียแก่กษัตริย์องค์ใด ขณะนั้นพุกามประเทศผู้คนยังน้อย บ้านเมืองยังไม่มั่นคง พวกเงี้ยว พวกไทยใหญ่ อยู่ฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือยกมาเบียดเบียนอยู่เนือง ๆ กษัตริย์วงศ์นั้นก็ได้ปราบปรามจนราบคาบ ครั้น จ.ศ.๒๕ พระเจ้าอลังคจอสูผู้เป็นใหญ่ในเมืองปะกันอันเป็นเมืองหลวงครั้งนั้น ก็ยกลงไปปราบปรามรามัญประเทศทั้งปวง ให้อยู่ในอำนาจทั้งสิ้น ครั้งนั้นภุกามประเทศกว้างใหญ่ไพศาล ข้างทิศเหนือกระทั่งแดนจีนเป็นกำหนด ข้างทิศใต้ตลอดจนทะเล จ.ศ.๖๔๙ มกะโทคิดขบถตั้งตัวเป็นกษัตริย์ในรามัญประเทศ สืบวงศ์มาถึงพระยาสีหราชาธิราช เป็นกษัตริย์ในรามัญประเทศเข้มแข็งนัก ได้ยกกองทัพขึ้นมาทำสงครามในภุกามประเทศ ขณะนั้น พระเจ้ามณเฑียรทองผู้เป็นใหญ่ในเมืองอังวะ ก็ได้ทำสงครามป้องกันแผ่นดินไว้ ไม่ให้รามัญชิงไปได้ ครั้งนั้น รามัญประเทศไม่อยู่ในอำนาจพม่า ได้เป็นประเทศใหญ่มาจนถึง จ.ศ.๙๐๑ จึงมีพระมหากษัตริย์ ผู้เป็นพระอัยกาทวดของเราทรงพระนามว่าพระเจ้าฝรั่งมังโสดถิ์ จึงยกกองทัพไปปราบปรามรามัญประเทศได้ทั้งสิ้นครั้นถึงพระเจ้าฝรั่งมังตรีผู้เป็นพระโอรสก็ยิ่งมีบุญมากกว่าพระบิดา เที่ยวปราบปรามกษัตริย์ทั้งปวงอยู่ในอำนาจสิ้นแล้วก็เป็นใหญ่ในภุกามประเทศ รามัญประเทศ สยามประเทศ มลาวประเทศได้มาเป็นเขตแดนเมืองอังวะทั้งสิ้น ครั้นถึงพระเจ้าน่านกะยอผู้เป็นโอรส ทำสงครามกับพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยาก็เสียรามัญประเทศกลับเป็นเขตแดนของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยา ครั้นถึง จ.ศ.๙๖๕ พระอัยกาคนหนึ่งของเราทรงพระนาม พระเจ้าปราสาททองกลดแก้ว ยกทัพไปปราบปรามรามัญประเทศทั้งปวงได้แล้ว เสด็จไปครองราชย์ในเมืองหงษาวดี สืบวงศ์มาได้สามองค์จึงถึงพระเจ้ามังรายกะยอของได้ครองราชย์ในเมืองอังวะ จนถึง จ.ศ.๑๐๒๔ พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยาให้เสนาบดียกกองทัพมาตีรามัญประเทศได้ แล้วล่วงขึ้นมาในภุกามประเทศนี้ ตีได้หัวเมืองขึ้นมาจนถึงเมืองปะกัน หักเอาไม่ได้ก็ล่าทัพกลับไป ต่อมามังรายกะยอของผู้เป็นอัยกาของเรา คิดอ่านเอารามัญประเทศมาไว้ในอำนาจได้เหมือนก่อน มาถึงบิดาของเราก็ยังรักษาภุกามประเทศ และรามัญประเทศไว้เป็นปรกติได้มาบัดนี้ตั้งแต่ จ.ศ.๑๑๐๔ ถึง ๑๑๑๔ เกิดความฉิบหายต่าง ๆ เห็นว่าวาสนาเราสิ้นแล้ว ถ้าจะปิดประตูเมืองนิ่งขึงอยู่ไพร่บ้านพลเมืองก็จะพากันฉิบหายตายเสียสิ้น เราคิดจะเปิดประตูเมืองปล่อยให้ข้าศึกเข้ามาโดยดี แต่จะขอสัญญา อย่าให้เบียดเบียนราษฎรทั้งปวงเลย
ค บรรดาราชวงศานุวงศ์ และขุนนางก็เห็นด้วย จ.ศ.๑๑๑๔ เดือนหก พระเจ้ามังละวะมิน จึงตรัสสั่งให้มังมหาราชาจัดม้าพระที่นั่งและพระกลดขาวอันเป็นเครื่องสูงสำหรับกษัตริย์ แลพวกกรมวัง และชาวมาลาภูษา เปิดประตูเมืองออกมารับพระมหาอุปราชาเมืองหงษาวดีมังมหาราชาจึงเข้าไปหาพระมหาอุปราชา แจ้งว่ามีรับสั่งให้เชิญท่านเข้าไปโดยดี
ค พระมหาอุปราชาก็ยินดี จึงให้สัตย์ปฏิญาณว่าจะไม่ทำร้ายพระเจ้าอังวะ และชาวเมืองทั้งปวง มังมหาราชาจึงเชิญพระมหาอุปราชา ให้ขึ้นขี่ม้าพระที่นั่งพระเจ้าอังวะ และให้ชาวมาลาภูษากางพระกลดขาวยกขึ้น จะคอยรับเสด็จพระมหาอุปราชา ๆ ไม่ขึ้นม้าพระที่นั่ง และไม่กั้นกลดร่วมพระเจ้าอังวะ สั่งให้ลดกลดลงเสีย มอบเครื่องยศสำหรับกษัตริย์คืนให้มังมหาราชา ขณะนั้นพระเจ้าอังวะเสด็จมานั่งอยู่ ณ ศาลาลูกขุน พระมหาอุปราชาทรงม้าพระที่นั่งของพระองค์ มังมหาราชาทรงม้านำเสด็จเข้าไปในเมืองอังวะ ครั้นใกล้ศาลาลูกขุนที่พระเจ้าอังวะทรงนั่งอยู่ พระมหาอุปราชาก็ลงจากม้าพระที่นั่งแต่ไกล เสด็จดำเนินไปด้วยพระบาทเปล่า ครั้นใกล้ถึงจึงส่งพระแสงหอกสำหรับพระหัตถ์ให้แก่มหาดเล็ก แล้วเสด็จไปเฝ้าพระเจ้าอังวะบนศาลาลูกขุน ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ที่มาทำการทั้งนี้ด้วยถือรับสั่งพระเจ้าหงษาวดี ๆ มีรับสั่งขึ้นมาว่า ถ้าได้เมืองอังวะแล้ว ให้เชิญเสด็จพระองค์พระญาติวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ทั้งปวงลงไปเมืองหงษาวดี พระเจ้าอังวะจึงตรัสว่า ท่านว่านี้ควรแล้ว แล้วพระเจ้าอังวะจึงตรัสเรียกขุนนางพนักงานบาญชีพระราชทรัพย์ในท้องพระคลัง และบาญชีไพร่พลในเมืองอังวะ มอบให้แก่พระมหาอุปราชา ๆ ัดบ้านจัดเมืองประมาณกึ่งเดือนครั้นราบคาบเป็นปกติดีแล้ว จึงสั่งให้พระยาทะละ และพระยาตะละปั้น คุมพลอยู่รักษาเมืองอังวะ แล้วจึงให้เก็บเงินทองสิ่งของพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังต่าง ๆ บรรทุกลงเรือ แล้วสั่งให้พระราชวงศ์ และเสนาบดีผู้ใหญ่ทั้งปวง อพยพครอบครัวของตนลงเรือให้เสร็จขณะนั้นพระสังฆราชถานานุกรมอันดับทั้งปวง ซึ่งจะตามเสด็จพระเจ้าอังวะ และติดตามญาติโยมครอบครัวของตนไปนั้น ประมาณ สามร้อยเศษ แล้วจัดเรือพระที่นั่งกรรเชียง มีพระมหามณฑปตั้งกลางสำหรับเป็นพระที่นั่งทรงของพระเจ้าอังวะ พร้อมด้วยเศวตฉัตรพัดโบก จามรธงชัย ธงฉานเสร็จ จึงเชิญสมเด็จพระเจ้าอังวะ และพระประยูรวงศ์ทั้งปวงลงเรือพร้อมกัน ให้สมิงพระรามเป็นกองหน้า ประมาณพวกครอบครัวพม่ารวมด้วยกันประมาณ หมื่นเศษ กองทัพเรือข้างหลัง เจ้าเมืองเสรี่ยงเป็นแม่กอง เชิญเสด็จรอนแรมมาประมาณสิบวันจึงถึงเมืองหงษาวดี พระมหาอุปราชาจึงเชิญเสด็จพระเจ้าอังวะ และพระราชวงศ์ทั้งปวงให้อาศัยอยู่ในวังหน้าก่อน แล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าหงษาวดี ราบทูลความซึ่งมีชัยได้พระเจ้าอังวะลงมาทุกประการ
ค พระเจ้าหงษาวดีมีพระทัยยินดีนัก จึงให้พระเจ้าอังวะ และราชวงศานุวงศ์ กับท้าวพระยานายทัพนายกองพม่าทั้งปวง ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาทั้งสิ้น แล้วให้จัดทำนุบำรุงพระเจ้าอังวะ และพระญาติวงศ์ทั้งปวงให้อยู่เป็นสุข พระมหาอุปราชาจัดพระราชวังถวายพระเจ้าอังวะให้เสด็จอยู่ในที่ใกล้วังหน้า และมีพระทัยรักใคร่พระเจ้ากรุงอังวะดุจเป็น พระบิดาของพระองค์
ค จ.ศ.๑๑๑๓ พระเจ้าหงษาวดี ให้สร้างราชมณเฑียรทั้งปราสาทเก้าสิบเก้ายอด จ.ศ.๑๑๑๔ พระองค์ได้ราชาภิเษก ทรงพระนามพระเจ้าอะเนตโตราชามหากษัตริธิราช ในเมืองหงษาวดี ต่อมาไม่นานเจ้าเมืองลำพูน ให้แสนท้าวพระยาลาว นำดอกไม้เงินทองกับธิดาไปถวายพระเจ้าหงษาวดี
ค วันหนึ่ง พระเจ้าอังวะตรัสแก่พระมหาอุปราชาว่า เมืองอังวะยังไม่ราบคาบครั้งเมื่อยังทำศึกอยู่กับพวกรามัญนั้น บรรดาหัวเมืองฝ่ายเหนือที่ให้เกณฑ์มานั้น บรรดาหัวเมืองที่เกรงกลัวก็ลงมาตามรับสั่ง แต่อองไชยะมังลอง ซึ่งเป็นนายบ้านมุกโชโบ ไม่เกณฑ์คนลงมาตามรับสั่งดูท่วงทีจะเป็นขบถอยู่ กลับชักชวนลูกบ้านสิบสี่สิบห้าบ้านเอาต้นตาลทำเป็นค่าย รวบรวมคนไว้ประมาณห้าพันเศษ ตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่แข็งอยู่ตำบลหนึ่ง ถ้าละไว้นานเห็นจะยกมาชิงเอาเมืองอังวะเป็นมั่นคง พระมหาอุปราชาก็นำความมากราบทูลพระเจ้าหงษาวดี ๆ จึงมีรับสั่งขึ้นไปยังเมืองอังวะ ให้เร่งจัดกองทัพขึ้นไปปราบปรามอองไชยะมังลองเสีย
ค พระยาทะละ กับสมิงตะละปั้น จึงเกณฑ์คนสองหมื่นเตรียมไว้คอยท่า แล้วให้ขุนนางคนหนึ่งกับไพร่ห้าสิบคนให้ไปหาตัว อองไชยะลอง ๆ ได้กล่าวผัดผ่อนอยู่สองครั้ง ครั้งที่สามได้ให้ขุนนางอีกคนหนึ่งกับทหารห้าร้อยไปหาตัว อองไชยะลอง ก็ถูกมอมสุราแล้วถูกฆ่าฟันตายไปสองร้อย ที่เหลือตายหนีกลับมาเมืองอังวะ สมิงตะละปั้นจึงเป็นแม่ทัพเป็นพลรามัญห้าพันคน พม่าหมื่นห้าพันคน ยกไปล้อมค่ายมุกโชโบไว้สิบห้าวัน กองทัพรามัญขาดเสบียง อองไชยะลองจึงยกทัพออกตีกองทัพรามัญแตกหนีกลับไปเมืองอังะ พระยาทะละวิตกว่าครอบครัวพม่าและขุนนางทั้งปวง ในเมืองอังวะมีอยู่มาก อาจพร้อมใจกันกำเริบแล้วทำร้ายพวกรามัญ จึงให้เกณฑ์ไพร่พลหมื่นหนึ่ง ให้สมิงตะละปั้นอยู่รักษาเมืองอังวะ แล้วพระยาทะละก็คุมครัวมอญไปเมืองหงษาวดี
ค อองไชยะมังลอง ให้มองระผู้บุตรเป็นทัพหน้า ผู้บิดาเป็นทัพหลวง มีกำลังพลสามพันยกมาล้อมเมืองอังวะ ได้ต่อสู้กันอยู่ห้าวัน สมิงตะละปั้นก็แตกหนีออกจากเมืองอังวะ ถอยไปตั้งอยู่ที่เมืองปรอนใต้เมืองอังวะลงมาเจ็ดคืน แล้วมีหนังสือบอกมาให้กราบทูลพระเจ้าหงษาวดี ๆ รับสั่งให้พระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพบก สมิงตะละปั้นเป็นแม่ทัพเรือ ยกกำลังไปล้อมเมืองอังวะ
ค จ.ศ.๑๑๑๕ เดือนห้า กองทัพรามัญยกมาติดเมืองอังวะ ได้รบกับพวกพม่าเป็นสามารถ จ.ศ.๑๑๑๖ เดือนหก กองทัพรามัญแตกถอยไปตั้งอยู่เมืองปรอน ในเดือนเจ็ด กองทัพมอญแตกถอยไปตั้งอยู่ ณ เมืองร่างกุ้ง อองไชยะมังลอง จึงให้มองระเป็นทัพหน้ายกมาตีเมืองร่างกุ้ง แต่ตัวอองไชยะมังลองตั้งมั่นอยู่เมืองปรอน
ค ขณะนั้น สมิงธอกวยอาศัยอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ ทราบเรื่องจึงปรึกษาราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ ชักชวนพวกพ้องหนีพระเจ้าเชียงใหม่ไปเข้าหาอองไชยะมังลอง ณ เมืองปรอน ขออาสาเป็นทัพหน้ายกไปตีเมืองหงษาวดี จากนั้นก็พาภรรยากับพวกพ้องรามัญกับลาวประมาณร้อยเศษ ออกจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อ จ.ศ.๑๑๑๖ เดือนสี่ตัดทางไปข้างด้านตะวันตก ข้ามแม่น้ำกั้นแดนเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า แม่น้ำสลอน ลาวเรียก แม่น้ำคง เข้าไปในแดนเมืองตองอู
ค พม่าพวกอองไชยะมังลองตรวจด่านพบสมิงธอกวย และพวกจึงจับไปเมืองปรอน สมิงธอกวยให้การแต่หนหลังแก่อองไชยะมังลองทุกประการ อองไชยะมังลองทราบเรื่องแล้วจึงเลี้ยงไว้เป็นทหาร สมิงธอกวยอาสาเป็นทัพหน้ายกลงไปตีเมืองหงษาวดี แต่อองไชยะมังลองยังไม่ไว้ใจ จึงให้พาสมิงธอกวยและพวกพ้องไปคุมไว้ที่ค่ายมุกโชโบ ให้มังลอกบุตรชายคนใหญ่ดูแลไว้ สมิงธอกวยก็อยู่ ณ ที่นั้นจนสิ้นชีวิต
ค มองระบุตรอองไชยะมังลอง ลงมารบกับรามัญที่เมืองร่างกุ้ง ตั้งแต่เดือนสิบเอ็ด ถึงปี จ.ศ.๑๑๑๗ เดือนหกก็ได้เมืองร่างกุ้ง พวกรามัญก็ถอยไปอยู่เมืองเสรี่ยง มองระจึงยกไปติดเมืองเสรี่ยงไว้แต่เดือนเจ็ด ตั้งรบกันอยู่ถึงเดือนสิบเอ็ดก็ได้เมืองเสรี่ยง มังลองก็ยกกองทัพมาจนถึงชานเมืองหงษาวดี ให้ตั้งค่ายประชิด จะหักเอาเมืองหงษาวดีให้จงได้ พระเจ้าหงษาวดีเห็นเหลือกำลัง จึงให้ขุนนางออกไปเจรจาความเมือง จะขอเป็นไมตรีต่อกัน จะถวายพระธิดาแล้วยอมเป็นเมืองขึ้น มังลองจึงให้งดการสงครามไว้ ในเดือนสี่ พระเจ้าหงษาวดีจึงให้ขุนนางรามัญนำพระบุตรี และเครื่องราชบรรณาการออกมาถวายมังลอง ส่วนพระมหาอุปราชา พระยาทะละสมิงตะละปั้น ไม่เต็มใจขึ้นแก่มังลอง ครั้นเวลากลางคืนก็ลอบออกมาตีค่ายมังลองแตก ประมาณสามส่วนสี่ส่วน มังลองโกรธนัก ว่าเจ้าเมืองหงษาวดีเสียสัตย์ ให้เร่งยกเข้าหักเอาเมืองให้จงได้
ค พระเจ้าอังวะเห็นว่า รามัญจะสู้พม่ามังลองไม่ได้ ก็ทุกข์ตรอมใจประชวรลง และสิ้นพระชนม์ในเดือนหก จ.ศ.๑๑๑๘ พม่าล้อมเมืองหงษาวดีประมาณปีกึ่ง ไพร่พลได้ความอดอยากลำบากนัก จึงนัดหมายเป็นใจด้วยพม่าบ้างก็ลอบจุดไฟขึ้นในเมือง บ้างก็หย่อนเชือกใหญ่ลงมารับกองทัพพม่าเข้าไปในเมือง
ค จ.ศ.๑๑๑๙ เดือนหก แรมห้าค่ำเพลาสองยาม เมืองหงษาวดีก็แตก เมื่อกองทัพมังลองเข้าเมืองได้ก็เที่ยวริบราชบาทว์ชาวบ้านชาวเมืองเก็บเอาพัสดุเงินทองสิ่งของต่าง ๆ มารวบรวมไว้เป็นอันมาก มังลองจึงให้พิจารณาโทษพระเจ้าหงษาวดี พระยาอุปราชา พระยาทะละว่าเป็นขบถประทุษร้ายต่อพระเจ้าอังวะ ชวนกันไปชิงราชสมบัติ จนกรุงอังวะพินาศฉิบหาย ขุนนางทั้งหลายเห็นว่าควรตัดศีรษะเสียบประจารไว้ ณ ประตูเมืองหงษาวดี มังลองจึงว่าโทษของคนทั้งสามถึงตายอยู่แล้วแต่ว่าคนทั้งสามเป็นเพียงปลายเหตุ เห็นว่าทั้งสามคนเป็นแต่ชิงราชสมบัติของผู้ขบถต่อ ๆ กันมา แต่ว่ามีความผิดที่ไม่ถวายรามัญประเทศแก่เจ้าอังวะ แล้วกลับขึ้นไปตีเมืองอังวะอีก จึงให้เอาคนทั้งสามไปคุมไว้ ณ เมืองมุกโชโบ
ค มังลองโกรธพระสงฆ์รามัญนักว่าทำมงคล ประเจียด ตะกรุด ลงเลขยันต์กันอาวุธให้แก่รามัญทั้งปวง จึงต่อสู้กล้าหาญในการสงคราม พระสงฆ์เหล่านี้ไม่เป็นสมณะ ขาดจากศีลขันธ์แล้ว มังลองจึงให้ทหารพม่าเที่ยวฆ่าพระสงฆ์เสียประมาณพันเศษ
ค จ.ศ.๑๑๑๙ เดือนเก้า เกิดแผ่นดินไหว ฉัตรยอดพระเจดีย์มุตาวในเมืองหงษาวดีหักลงมา องค์พระเจดีย์ทลายลงมาเพียงคอระฆัง จากนั้นมังลองจัดให้ขุนนางพม่ากับไพร่พลพม่าพอสมควร อยู่รักษาเมืองหงษาวดี แล้วมังลองยกกลับไปเสวยราชย์ ณ เมืองมุกโชโบ ได้พระนามว่า อลองพราญี แปลว่าพระเจ้าหน่อพุทธางกูรใหญ่
ค จ.ศ.๑๑๒๑ เดือนสามพระเจ้ามังลองให้มังระบุตรน้อยเป็นทัพหน้า พระเจ้ามังลองเป็นทัพหลวง ให้มังลอกบุตรใหญ่อยู่รักษาเมืองมุกโชโบ แล้วยกทัพเข้าไปตีกรุงศรีอยุทธยา ตีเข้าไปทางเมืองทวาย เมืองตะนาว เมืองเพ็ชรบุรี เมืองราชบุรี จนถึงกรุงศรีอยุทธยา แล้วตั้งอยู่ฟากตะวันตกแห่งพระนคร ตั้งอยู่หกวันไม่ได้กรุงศรีอยุทธยา พระเจ้ามังลองเกิดวรรณโรคสำหรับบุรุษ จึงให้ล่าทัพกลับไปได้เที่ยวริบบาตรเหล็ก จีวรแพร ในอารามทั้งปวงไปมากนัก จีวรผ้านั้นเก็บเอาไปทำฟูกทำหมอน ทำถุงใส่เงิน ทำไถ้ใส่เสบียง และทิ้งเรี่ยรายไว้ตามทางก็มาก และริบเก็บเอาเงินทองของราษฎรไปก็มาก ครั้นถึงบ้านระแหงแล้วออกทางด่านนั้น ครั้นถึงตำบลแม่ประใน ปี จ.ศ.๑๑๒๒ เดือนเจ็ดก็สิ้นพระชนม์ ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่เจ็ดปี ราชบุตรคือ มังลอก แต่รามัญเรียกมังตกกีได้เป็นเจ้าแผ่นดินในเมืองมุกโชโบ จ.ศ.๑๑๒๕ เดือนสีบสอง มังลอกให้เกณฑ์ติงจาแมวมองคุมคนสามพันเป็นกองหน้า ให้เอาปะระกามะนีคุมคนเจ็ดพัน เป็นกองหนุนยกไปตีเมืองเชียงใหม่สี่เดือนจึงได้ มังลอกถึงแก่กรรมในเดือนสี่ เป็นเจ้าแผ่นดินอยู่ในเมืองมุกโชโบได้สามปี มองระผู้เป็นอนุชาได้ราชสมบัติ
ค จ.ศ.๑๑๒๖ ให้อแซหวุ่นกี้คิงจาโบ คุมไพร่พลหมื่นหนึ่งเป็นกองหน้า มองระคุมไพร่สองหมื่นเป็นทัพหลวงไปตีเมืองกะแซได้ กวาดเอาเชื้อวงศ์ และเจ้ากระแซมาเมืองมุกโชโบ
ค จ.ศ.๑๑๒๗ มองระ จากเมืองมุกโชโบมาเสวยราชย์อยู่ในเมืองอังวะ ในเดือนสิบสองให้ขับพกุงโบยานกวนจอมโบ คุมไพร่ห้าพันยกทัพหน้า ให้เมียนวุ่นเนเมียวมหาเสนาบดีคุมไพร่ห้าพันยกมาทางเหนือ ค้างเทศกาลฝนอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ ทางเมืองทวายให้เมคะราโปคุมไพร่ห้าพัน เป็นกองหน้า ให้มหานรทาคุมไพร่ พันหนึ่ง ยกมายังทัพอยู่ ณ เมืองทวาย ออกพรรษาแล้ว จึงยกเข้าตีได้กรุงศรีอยุทธยา แล้วจึงยกพลกลับเมืองอังวะในปี จ.ศ.๑๑๒๙ ในปี จ.ศ.๑๑๒๘
พวกฮ่อยกกองทัพเข้ามาถึงเมืองแสนหวีไกลกับเมืองอังวะทางห้าสิบวัน มองระให้ติงจาโบคุมไพร่ห้าพันเป็นกองหน้า อะแซวุ่นกี้คุมไพร่พันหนึ่งไปตี จ.ศ.๑๑๒๙ พวกฮ่อยกทัพเข้ามาอีก ถึงตำบลบ้านยองใกล้เมืองอังวะทางคืนหนึ่ง จึงให้อะแซวุ่นกี้โยลัดวุ่น และเมียนหวุ่นสามนายเป็นแม่ทัพ ถือพลุเป็นอันมากยกไปรบกับพวกฮ่อได้สามวันกองทัพฮ่อแตก
ค จ.ศ.๑๑๓๑ พวกฮ่อยกเข้ามาอีก กวยชวยโบ เป็นแม่ทัพคุมไพร่พลเป็นอันมาก ยกมาถึงเมืองกองดุงปะมอ ไกลจากเมืองอังวะสิบห้าวัน ให้อะแซวุ่นกี้เป็นแม่ทัพยกไป แม่ทัพสองฝ่ายตกลงขอให้ขาดสงคราม เป็นมิตรสันถวะ ก็เลิกทัพกลับเมืองอังวะ
ค เมื่อขณะกรุงศรีอยุทธยาจวนจะเสียนั้น พระยาตาก คุมพวกสามพันเศษ ตีฝ่ากองทัพพม่าออกไปได้ อาศัยอยู่ ณ เมืองจันทบุรี ครั้นพม่าตีได้กรุง และกวาดต้อนครอบครัวไทยอพยพไปแล้วนั้น พระยาตากจึงได้ยกกองทัพเรือพร้อมด้วยเสบียงอาหารเข้ามา ณ กรุง ยกไปเที่ยวปราบปรามคนทั้งหลาย ที่ตั้งตัวเป็นเจ้าเป็นนายซ่องอยู่หลายตำบลให้อยู่ในอำนาจแล้ว คนทั้งปวงจึงยกพระยาตากนั้นขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ครอบครองกรุงศรีอยุทธยาสืบไป และไม่ได้อยู่กรุงเก่า ตั้งเมืองธน ณ ตำบลบางกอก เป็นเมืองหลวง เที่ยวปราบปรามเมืองนครราชสีมา เมืองพิษณุโลก เมืองสวางคบุรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทั้งสี่นี้แต่ล้วนตั้งตัวเป็นเจ้าทั้งสิ้น เที่ยวปราบไปสามปีจึงสำเร็จ ส่วนมองระเจ้าอังวะครั้งนั้นไม่เอาพระทัยใส่เมืองไทย ด้วยสำคัญว่าเมืองไทยแตกยับเยินไปแล้ว จึงไม่ระวังสอดแนมดู กองทัพฮ่อก็มาติดเมืองอังวะถึงสามครั้ง พระเจ้าตากจึงได้โอกาสเที่ยวปราบปรามหัวเมืองทั้งปวงถึงสามปีก็สำเร็จตั้วตัวได้
ค จ.ศ.๑๑๓๓ เจ้าวงษ์ ผู้เป็นเจ้าเมืองหลวงพระบาง ยกมาตีเมืองจันทบุรี เจ้าเมืองจันทบุรีบอกขึ้นไปเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะให้เนมะโยเสนาบดีคือ โปสุพลา เป็นแม่ทัพลงมาตีเมืองหลวงพระบางได้ แล้วโปสุพลากลับขึ้นไปพร้อมทัพกัน ณ เมืองจันทบุรี ค้างเทศกาลฝนอยู่ที่นั้น
ค จ.ศ.๑๑๓๔ โปสุพลายกกองทัพมาตีเมืองลับแล เมืองพิชัย รบกับกองทัพกรุงศรีอยุทธยา โปสุพลาแตกหนีไปตั้งอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ ค้างเทศกาลฝน จ.ศ.๑๑๓๕ ออกพรรษาแล้ว ให้พระยาจ่าบาลกับแสนท้าวไพร่ลาวพันหนึ่งยกเป็นกองหน้า ให้เนมะโยกามินี เฝ้าเมืองเชียงใหม่ โปสุพลากับไพร่เก้าพันจะลงมาตีกรุงศรีอยุทธยา พอทางกองทัพกรุงศรีอยุทธยาขึ้นมาทั้งกองทัพพระยากาวิละ พระยานคร พระยาจ่าบาลบรรจบกัน เข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ โปสุพลา เนมะโยกามินี หนีไปอยู่เมืองหน่าย
ค จ.ศ.๑๑๓๕ มีตรามาแต่เมืองอังวะ ให้ปะกันวุ่นเกณฑ์พวกรามัญหมื่นหนึ่งเป็นแม่ทัพไปตีกรุงศรีอยุทธยา ประกันวุ่นจึงเกณฑ์พระยาเจ่ง ตะละเซง พระยาอู เป็นกองหน้ากับไพร่สามพัน ให้แพกิจจาเป็นแม่ทัพยกไปก่อน ตั้งฉางอัศมิฉางแม่กระษัตริย์ ออกพรรษาแล้วปะกันวุ่นกับไพร่เจ็ดพัน จึงจะยกตามไป จ.ศ.๑๑๓๖ พระยาเจ่งตะละเซงสมิงรามัญทั้งปวง พร้อมกันจับแพกิจจาแม่ทัพฆ่าเสีย แล้วกลับทัพมาเมืองเมาะตมะ ปะกันวุ่น อะคงวุ่น ลงเรือหนีไปเมืองร่างกุ้ง พระยาเจ่งตะละเซงสมิงรามัญยกติดตามขึ้นไปตีได้ค่ายตัดกะเสริมเมืองร่างกุ้ง พอกองทัพหน้าอะแซวุ่นกี้ยกมาแต่เมืองอังวะ รบกับพระยาเจ่งตะละเซง ๆ แตกหนีลงมาเมืองเมาะตมะ แล้วพาครอบครัวอพยพเข้ามากรุงศรีอยุทธยา กองทัพพม่ายกตามมา จับได้บุตรภรรยา ที่แขวงเมืองเมาะตมะส่งขึ้นไปถวาย ครั้งนั้นมองระกับเสนาบดีลงมายกฉัตรอยู่ ณ เมืองร่างกุ้ง จึงถามตะละเกิงว่า คิดการประทุษร้ายครั้งนี้ใครรู้เห็นเป็นใจด้วย ตะละเกิงให้การว่า พระยาหงษาวดี พระยาอุปราชา มีหนังสือถึงข้าพเจ้ากับพระยาเจ่งชักชวนแต่สมิงรามัญทั้งปวงให้จับพม่าที่อยู่ในเมืองเมาะตมะฆ่าเสีย แล้วให้ยกทัพไปตีเมืองร่างกุ้งขึ้นไปจนถึงเมืองอังวะ มองระจึงให้เอาพระเจ้าหงษาวดี พระยาอุปราชา กับพระยาตะละเกิง ไปประหารชีวิตเสีย
ค จ.ศ.๑๑๓๖ อะแซวุ่นกี้ ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุทธยา กองทัพหน้ายกมาถึงเมืองราชบุรี กองทัพไทยล้อมไว้ มองระเจ้าอังวะจึงให้อะคุงวุ่นมังโย กับไพร่สามพันที่รับอาสา จะมาตีเอาคนสามพันในค่ายล้อมเขานางแก้วให้ได้ อะแซวุ่นนี้ จึงบอกเจ้าอังวะว่า จะขอถอยทัพมาแรมค้างอยู่เมืองเมาะตมะ เพราะจวนเทศกาลฝนไพร่พลอดเสบียงอาหาร ต่อรุ่งขึ้นปีหน้าจึงจะยกเข้าไปตีกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้าอังวะก็เห็นด้วย
ค จ.ศ.๑๑๓๗ มองระกลับไปเมืองอังวะ เดือนสิบเอ็ด อะแซวุ่นกี้ให้แมงยางุ ปันยีเยม่องจ่อ ปันยีตะจอง สามนาย คุมไพร่สามหมื่นยกไปทางระแหง อะแซวุ่นกี้กับไพร่หมื่นห้าพันเข้าล้อมเมืองพิศณุโลก ได้แยกกองทัพลงมารับทัพกรุงศรีอยุทธยา ซึ่งขึ้นไปช่วยปากน้ำพิง ครั้นเมืองพิศณุโลกเสียแล้ว อะแซวุ่นกี้บอกหนังสือขึ้นไปถึงเจ้าอังวะ พอเจ้าอังวะสินพระชนม์ จิงกูจา บุตรมองระ ขึ้นเป็นเจ้าให้เลิกทัพ เมืองมฤต เมืองตะนาว เมืองทวาย และอะแซวุ่นกี้ก็กลับขึ้นไป จ.ศ.๑๑๓๙ จิงกูจาให้อำลอกวุ่น ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงใหม่อพยพครอบครัวหนีลงมาอาศัยอยู่ ณ เมืองสวรรคโลก จ.ศ.๑๑๔๒จิงกูจาให้ถอดอะแซวุ่นกี้ออกจากราชการ
ค จ.ศ.๑๑๔๓ มังมอง บุตรมังลอกกับพวกยกเข้าปล้น เอาเมืองอังวะได้ จึงตั้งอะแซวุ่นกี้คงที่อะแซวุ่นกี้ พรรคพวกมังมองรังแกราษฎรให้เดือดร้อนนัก ปะดุงจึงปรึกษาด้วยญาติวงศ์ และเสนาอำมาตย์คนเก่า เสนาบดีไพร่พลเมืองก็เป็นใจด้วย ได้เข้าล้อมวัง จับตัวมังมองได้ประหารชีวิตเสีย ปะดุงผู้นี้เป็นบุตรมังลอง เป็สนน้องมองระแต่ต่างมารดากัน เดิมชื่อมังแวงได้กินเมืองปะดุง จ.ศ.๑๑๔๔ ปะดุงได้เป็นเจ้าแผ่นดินอังวะแล้ว จึงให้ฆ่าจิงกูจาเสีย
ค จ.ศ.๑๑๔๔ กรุงไทยเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ในกรุงเทพมหานคร ฯ เดือนสิบ พระเจ้าปะดุงให้สร้างเมืองใหม่ ที่ตำบลผ่องกา เหนือเมืองอังวะสามร้อยเส้นให้ชื่อ เมืองอะมะระบุระ
ค จ.ศ.๑๑๔๕ เดือนเจ็ด พระเจ้าปะดุงยกไปอยู่เมืองสร้างใหม่ ในเดือนสิบสองให้ราชบุตรสององค์ยกกองทัพไปตีเมืองยะไข่ได้จับเจ้าเมืองยะไข่กับครอบครัวมาไว้ที่เมือง อะมะระบุระ อยู่ไม่นานเจ้าเมืองยะไข่ถึงแก่กรรม
ค จ.ศ.๑๑๔๗ เดือนเก้า พระเจ้าปะดุง คิดจะเข้ามาตีกรุงไทย จัดให้เกงวุ่นเป็นแม่ทัพทางเมืองมฤตใต้ลงไปตีเมืองถลาง เมืองชุมพร เมืองไชยา ทางเมืองทวายให้อุนอกแพกติกะวุ่นเป็นแม่ทัพ ยกมาตีเมืองราชบุรี ทางเมาะตมะให้เมียววุ่นเป็นแม่ทัพที่หนึ่ง เมียนวุ่นเป็นแม่ทัพที่สอง กามะสะแดงเป็นแม่ทัพที่สาม จะกุสะแดงเป็นแม่ทัพที่สี่ ปะดุงคุมพอเป็นทัพหลวง ให้บุตรชายใหญ่อันเป็นที่อินแซมมหาอุปราชอยู่เฝ้าเมือง ทางระแหงนั้นให้จอมองนอระทาเป็นแม่ทัพ ทางเชียงใหม่ให้เสดาะมหาศิริอจะนาเป็นแม่ทัพ ทางเจหุมให้ปะระกามนีเป็นแม่ทัพ กองทัพเจ้าอังวะยกเข้ามาทางพระเจดีย์สามองค์ ก่อนกองทัพทั้งปวงในเดือนสิบสอง
ค พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงทราบข่าวศึก จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้สมเด็จพระอนุชา ฯ กรมพระราชวังบวร ฯ ยกกองทัพไปตั้งรับกองทัพพม่า ณ ตำบลลาดหญ้า เหนือปากแพรกทางสองวัน ที่เมืองราชบุรีให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาบดี เจ้าพระยายมราช คุมกองทัพไปตั้งรักษาอยู่ ทางฝ่ายเหนือ ให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลังไปตั้งรับอยู่ ณ เมืองนครสวรรค์ ข้างปากใต้ ไม่ได้เกณฑ์กองทัพออกไป ด้วยจะรักษาแดนใกล้พระนครไว้ก่อน กรมพระราชวังบวร ฯ ทรงคิดกลอุบาย แต่งกองโจรให้ไปตั้งลอบสกัดตัดลำเลียงพม่า จนกองทัพพม่าขาดเสบียงลงก็ถอยไปจากลาดหญ้า พระเจ้าปะดุงเห็นกองทัพขัดสนเสบียง ก็ล่าถอยไปเมืองเมาะตมะ กรมพระราชวังบวร ฯ ให้กองทัพหน้ายกลงมาเมืองราชบุรีทางบก เสด็จล่วงลงมาโดยทางชลมารค ทัพบกยกลงมาพบค่ายพม่าตั้งอยู่นอกเขางู เมืองราชบุรี ก็เข้าตีค่ายพม่าแตกไปสิ้น แล้วเสด็จกลับเข้ามากรุงเทพ ฯ ตรัสสั่งให้กรมพระราชวังบวร ฯ ยกกองทัพเรือทะเลออกไปช่วยหัวเมืองปากใต้ ส่วนพระองค์เสด็จยกทัพหนุนขึ้นไปทางฝ่ายเหนือ ครั้งนั้น หัวเมืองฝ่ายเหนือเสียแก่พม่าสิ้น พระองค์จึงดำรัสสั่งให้รีบขึ้นไป ทัพพม่าฝ่ายเหนือก็แตกกลับไปสิ้น ครั้งนั้น เมืองเชียงใหม่ร้างอยู่แต่ครั้งพม่าตีเมื่อแผ่นดินพระเจ้าตาก กองทัพพม่าจึงมาตีเมืองนครลำปาง พระยากาวิละเจ้าเมืองลำปางเข้มแข็งนัก ต่อรบอยู่สี่เดือนรักษาเมืองไว้ได้ พอกองทัพไทยยกขึ้นไปช่วยตีกระหนาบพม่าก็แตกไปสิ้น ทางปากใต้พม่าตีได้เมืองชุมพร เมืองไชยยา เมืองนคร แต่เมืองถลาง เมืองพัทลุง เมืองสงขลา ยังไม่เสีย พอสมเด็จกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จยกออกไปถึงได้รบกันที่เมืองไชยา พม่าแตกหนีไปสิ้น แล้วเสด็จลงไปตีเมืองตานีได้ แล้วเสด็จกลับกรุงเทพ ฯ จ.ศ.๑๑๔๘ เดือนสิบสอง พระเจ้าปะดุงให้อินแซะมหาอุปราช คุมพลมาตั้งค่ายทำยุ้งฉางใส่เสบียงอาหาร ณ ตำบลสามสบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ยกทัพออกไปตีพม่าแตกออกไปสิ้น ในเดือนสี่ จ.ศ.๑๑๔๙ สมเด็จกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จขึ้นไปทรงจัดเมืองเชียงใหม่ ตั้งพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองนครลำปาง ในเดือนยี่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไปตีเมืองกลิอ่องได้ แล้วไปตีเมืองทวายไม่ได้ ทัพหลวงเสด็จกลับกรุงเทพ ฯ
ค จ.ศ.๑๑๕๓ พระเจ้าปะดุง ให้ขุนนางลงมาผลัดเจ้าเมืองทวาย ๆ ไม่ขึ้นไปเมืองอังวะกลับคิดจะฆ่าขุนนางซึ่งมาผลัดนั้นเสีย จึงมีหนังสือมาขอกองทัพกรุงไทยให้ออกไปช่วยรักษาเมืองทวายไว้ ตรัสสั่งให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยากลาโหม ยกทัพไปก่อน เจ้าพระยาทั้งสองไปตั้งค่ายโอบเมืองทวายไว้
ค จ.ศ.๑๑๕๔ เดือนยี่ กองทัพเมืองอังวะยกลงมากระหนาบ พวกทวายในเมืองมีหนังสือออกมาถึงแม่ทัพพม่าสัญญากันให้ตีเข้ามา ข้างในเมืองจะตีออกไป กองทัพไทยต้านทานไม่ได้ ก็พาพระยาทวายอพยพครอบครัวเข้ามากรุงเทพ ฯ
ค จ.ศ.๑๑๕๗ พระเจ้าปะดุงให้อุบากองเป็นแม่ทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ สมเด็จกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จยกขึ้นไปช่วยจับอุบากองลงมาได้
ค จ.ศ.๑๑๖๐ อุบากองกลับหนีออกไปได้
ค จ.ศ.๑๑๖๔ มีรับสั่งให้เจ้าพระยายมราช ยกทัพขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงแสน ตีไม่ได้กลับลงมา ภายหลังเจ้าเมืองเชียงใหม่ไปตีได้
ค จ.ศ.๑๑๗๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสวยราชย์ ครั้นถึงเดือนสิบสอง พระเจ้าปะดุงให้กองทัพลงมาตีเมืองถลาง เดือนยี่เมืองถลางเสียแก่พม่า แม่ทัพพม่าจึงกวาดครัวเมืองถลางบรรทุกเรือไป เรือจิกแกปลัดทัพถูกพายุซัดเข้าฝั่ง กองทัพไทยจับได้ส่งเข้ากรุงเทพ ฯ
ค จ.ศ.๑๑๗๓ มีพราหมณ์เทศมาแต่ทิศตะวันตก เอาหนังสือเรื่องพงศาวดารเมืองพราหมณ์มาแปลถวาย เจ้าอังวะว่าศาสนาพระสมณโคดมสิ้นเสียแล้ว กุลบุตรบวชเป็นสงฆ์ทุกวันนี้ อุปสมบทหาขึ้นไม่ ให้ไปถวายทานแก่พระพุทธรูปเท่านั้นจึงจะควร พระเจ้าปะดงก็เชื่อจึงให้สึกพระสงฆ์พม่า พระสงฆ์รามัญเสียครั้งนั้นมากในเดือนอ้ายให้กองทัพยกมาตั้งทำยุ้งฉาง ณ ตำบลท้องชาตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีรับสั่งให้กรมหลวงพิทักษ์มนตรียกกองทัพไปตีค่ายพม่า จับตัวนายไพร่ได้มากที่เหลือแตกหนีไป
ค จ.ศ.๑๑๗๗ เดือนห้า พวกรามัญเมืองเมาะตมะ จำนวนห้าพันเศษ เห็นเจ้าอังวะวิปริต และพม่าข่มเหงนัก จึงชวนกันอพยพมาพึ่งพระบารมีโพธิสมภาร ณ กรุงเทพ ฯ ส่วนอินแซะมหาอุปราช ราชบุตรพระเจ้าปะดุงถึงแก่กรรม พระเจ้าปะดุงจึงตั้งบุตรของอินแซะชื่อมองนานยะ เป็นที่อินแซะมหาอุปราชแทนบิดา
ค พระเจ้าปะดุงครองราชย์ได้สามสิบเจ็ดปี จ.ศ.๑๑๘๑ ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ แปดสิบเอ็ดปี มองนานยะได้ราชสมบัติชื่อ จักกายแมง
ค จ.ศ.๑๑๘๖ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้เสวยราชย์สมบัติ
ค จ.ศ.๑๑๘๖ เดือนห้า พระเจ้าอังวะรับสั่งให้หาเจ้าเมืองยะไข่ ๆ มีความผิดอยู่ไม่มา จึงให้มหาปัณคุละเสนาบดียกองทัพไปจับเจ้าเมืองยะไข่ ๆ หนีไปอยู่แดนเมืองเบ้งกะหล่า มหาบัณดุละจึงมีหนังสือไปให้เจ้าเมืองเบ้งกะหล่าส่งตัวมาให้ แต่อังกฤษเจ้าเมืองเบ้งกะหล่าไม่ส่ง มหาบัณดุละยกกองทัพไปตีปลายแดนเบ้งกะหล่าเข้าไป แต่ก่อนนั้นอังกฤษคิดจะทำสงครามกับพม่าอยู่แล้ว ได้เตรียมเรือกลไฟ เรือรบไว้ที่เมืองเกาะหมาก เมืองมละกา พร้อมอยู่แล้ว ครั้นเกิดเหตุดังกล่าว จึงเรียกกำลังมาตีหัวเมืองพม่าชายทะเล เรือรบยกมาตีได้เมืองร่างกุ้ง เมืองเมาะตมะ เมืองทวาย เมืองมฤตได้ในเดือนหก แม่ทัพอังกฤษยกทัพเรือกลไฟตีขึ้นไปตามลำแม่น้ำเมืองอังวะ จักกายแมงก็จัดกองทัพลงมารบอังกฤษ มหาบัณดุละก็ล่าทัพกลับมารบกับอังกฤษ ที่ขึ้นมาตีเมืองอังวะแม่ทัพอังกฤษ ให้ทหารแม่นปืนยิงปืนมาถูกมหาบัณดุละแม่ทัพตาย พวกพม่าก็แตกไปสิ้น อังกฤษตีขึ้นมาได้ถึงเมืองตะลุมะอยู่ทางสองวันจะถึงเมืองอังวะ จักกายแมงจึงให้ขุนนางมาเจรจากับแม่ทัพอังกฤษ จะขอเสียเงินให้ และให้อังกฤษถอยทัพไป อังกฤษก็ยอมแล้วแบ่งปันเขตแดนกัน ข้างทิศตะวันตกเฉียงเหนือเมืองอังวะนั้น อังกฤษเอาไว้สี่เมืองคือ เมืองยะไข่ เมืองเวสาลี เมืองกระแซ เมืองอะสิมา ข้างทิศตะวันออกเฉียงใต้นั้น อังกฤษเอาไว้หกเมือง คือ เมืองเมาะลำลิ่ม เมืองละแมง เมืองเร เมืองทวาย เมืองมฤต เมืองตะนาว เป็นสิบหัวเมืองด้วยกัน
|