การจัดการกับอารมณ์โกรธ

เรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้งทำร้ายร่างกายทั้งผู้อื่นและตนเอง ไปจนถึงการมุ่งร้ายทำลายชีวิตกันในสังคมทุกวันนี้ มักจะมาจากสภาพอารมณ์ที่เรียกว่า " โทสะ" หรือ " อารมณ์โกรธ " ของมนุษย์เรานั่นเอง

ความโกรธเป็นหนึ่งในอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับทุกคน คนธรรมดาเราสามรถรู้สึกได้เมื่อเกิดอารมณ์โกรธ จะมีการเปลี่ยนแปลงสภาวะในร่างกายหลายๆ อย่าง เช่น หัวใจเต้นแรงและเร็ว กล้ามเนื้อตึงเครียด เนื้อตัวสั่น ปั่นป่วนในท้อง ร่างกายเหมือนมีแรงส่งที่สูงขึ้น และพร้อมจะพุ่งพลังออกไป บางคนเปรียบว่า ความโกรธเสมือนหนึ่งเรากำไฟไว้ในมือ คนที่ " เจ้าโทสะ" มักจะทำให้คนอื่นรู้สึกร้อนไม่อยากอยู่ใกล้

เมื่อมีเรื่องไม่ถูกใจ ความโกรธก็มักเผาลนคำพูดให้เชือดเฉือนผู้อื่น หรือแสดงการกระทำที่ก้าวร้าวรุกราน ทำให้มีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะความรู้สึกไม่เป็นมิตร มักขาดความระมัดระวังและตัดสินใจผิดพลาดก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ง่าย ความโกรธที่เรื้อรังยังเป็นเหตุของปัญหาสุขภาพอาทิ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคกระเพาะ และอาการปวดศีรษะเป็นประจำ

สาเหตุของอารมณ์โกรธ ที่พบได้บ่อยได้แก่

 

ความคับข้องใจที่ไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้ดังใจ

ความรำคาญ หงุดหงิด จากสิ่งแวดล้อมต่างๆ
ความรู้สึกไม่สะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน

การถูกรบกวนความเป็นส่วนตัว

ความเสียใจ ความกลัวที่แปรเปลี่ยนกลายเป็นความโกรธ

ความผิดหวัง ความรู้สึกว่าตนเองโชคร้าย ประสบเคราะห์กรรมหรือเผชิญความสูญเสีย

การถูกคุกคาม รู้สึกถูกเหยียดหยาม ดูหมิ่น ความอิจฉาริษยาผู้อื่น ฯลฯ

ถ้าควบคุมอารมณ์ไม่ได้ก็อาจก่อพฤติกรรมรุนแรง โดยความโกรธนั้นอาจพุ่งเข้าหาตนเองด้วย การทำร้ายตนเอง หรือพุ่งไปสู่คนอื่นก็ได้

วิธีหาทางออกให้กับอารมณ์โกรธ

 

ยอมรัยว่ากำลังรู้สึกโกรธ พิจารณาว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดหรือละอายที่รู้สึกโกรธ

พิจารณาสาเหตุของความโกรธ ที่เกิดขึ้นโดยไม่เข้าข้างหรือตำหนิตนเองเกินเหตุ

พยายามเปิดความคิดให้กว้างและยืดหยุ่น

ตัดสินใจทำการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์แล้วลองปฎิบัติ

 

ขั้นตอนที่ควรใช้เพื่อควบคุมอารมณ์

ตั้งสติให้มั่นคง ทำใจให้สงบ ระงับอารมณ์ที่พุ่งพล่านก่อนทำความตกลง หรือลงมือทำอะไร เพราะอาจตัดสินใจผิดพลาด หากเจรจาหรือแก้ปัญหาขณะที่กำลังมีอารมณ์ ถามตนเองว่า " กำลังต้องการเอาชนะ " หรือ " ต้องการแก้ปัญหา " ถ้าคำตอบคือ การเอาชนะ ให้หยุดการเจรจาไว้ แล้วหาทางระงับอารมณ์ และความคิดเอาชนะให้ได้ก่อน เพราะไม่มีทางที่คุณจะเอาชนะได้อย่างสันติ

แสดงความรู้สึกและความต้องการของตนเองด้วยท่าทีไม่ก้าวร้าว ไม่ข่มขู่ หรือละเมิดสิทธิของคนอื่น

หาทางระบายความโกรธออก ถ้าหากคุณไม่สามารถจัดการกับความโกรธของตนเองได้ อย่าอายที่จะพูดคุยความรู้สึกของคุณกับคนที่ใกล้ชิดและเข้าใจ

หากทำใจเล่าให้คนอื่นฟังไม่ได้ อาจใช้วิธีเขียนเรื่องที่คุณโกรธลงบนกระดาษ จะทำให้ความโกรธถูกระบายออกมาบ้าง

อย่าเก็บความขุ่นมัวโกรธเคืองไว้เงียบๆ ตามลำพัง เพราะจะทำให้คุณเป็นคนเครียดง่าย และมีความอดทนกับเรื่องต่างๆ รอบตัวน้อยลงเรื่อยๆ

กิจกรรมที่จะช่วยระงับอารมณ์เมื่อคุณโกรธ

กีฬาที่ได้ออกแรง เช่น ตีแบดมินตัน เทนนิส เตะบอล วิ่ง ว่ายน้ำ และอย่าไปเน้นการแข่งขันกับคนอื่น เพราะจะยิ่งเครียดแทนที่จะสงบลง หาทางให้ได้มีการออกแรงที่อัดแน่นออกไปอย่างเหมาะสม การถอนหญ้า ขุดดิน ปลูกต้นไม้ ซ่อมแซมสิ่งของจะช่วยให้ได้ออกแรงระบายอารมณ์ พร้อมกับได้ผลงานที่น่าชื่นชมขึ้นมาแทน

ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย ที่เหมาะกับตนเอง เช่น นับตัวเลขในใจ กำหนดลมหายใจ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรืออาจสวดมนต์ ท่องคาถาสั้นๆ ที่เป็นการช่วยคุณผ่อนคลายและ " ตั้งสติ "

 

 

By: สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต