พระสุตตันตปิฎก
2 สามัญญผลสูตร
เรื่องพระเจ้าอชาติศัตรู
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับ ณ สวนอัมพวัน ใกล้นครราชคฤห์ พระเจ้าอชาติศัตรู พระเจ้าแผ่นดินมคธ ได้กล่าวกับเหล่าอำมาตย์ว่า วันนี้เราควรเข้าไปหาสมณะ หรือ พรามณ์ผู้ใดดี เหล่าอำมาตย์ต่างกราบทูลชื่อเจ้าลัทธิ 6 คน คือ ปูรณะ กัสสป มักขลิ โคสาล อชิตะ เกสกัมพล ปกุธะ กัจจายนะ สญชัย เวลัฏฐบุตร และนิครนถ์ นาฎบุตร แต่พระองค์ทรงนิ่งอยู่ ต่อมา หมอชีวก โกมารภัจจ์ ได้กราบทูลว่าพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ที่พระองค์ควรไปเฝ้า เพราะทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม
พระเจ้าอชาติศัตรูเห็นด้วย จึงได้เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ทูลถามปัญหาบางเรื่องคือ ศิลปศาสตร์เป็นอันมาก คนเหล่านั้นย่อมอาศัยผลแห่งศิลปศาสตร์เลี้ยงชีพ ในปัจจุบันพระองค์อาจบัญญัติ สามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน เหมือนอย่างนั้นได้บ้างหรือไม่
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ปัญหาข้อนี้ได้ตรัสถามสมณพรหมณ์พวกอื่นแล้วหรือยัง และเมื่อถามแล้ว สมณพราหมณ์นั้นพยากรณ์ว่าอย่างไร
พระเจ้าอชาติศัตรูทูลตอบว่าได้เคยถามแล้ว และแต่ละท่านได้พยากรณ์ ดังต่อไปนี้
วาทะของปูรณะ กัสสปะ
เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำบาปกรรมต่าง ๆ ผู้ทำไม่ชื่อว่าทำบาป เมื่อทำบุญต่างๆ บุญนั้นก็ไม่มีถึงเขา ปูรณ กัสสป ตอบถึงการที่ทำแล้วไม่เป็นอันทำ
วาทะของมักขลิ โคสาล
สัตว์ทั้งหลายหาเหตุ หาปัจจัยมิได้ ย่อมเศร้าหมอง ย่อมบริสุทธิ์ ไม่มีการกระทำของตนเองและของผู้อื่น ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร แปรไปตามเคราะห์ดีเคราะห์ร้ายตามความประจวบความเป็นเอง ย่อมเสวยสุขเสวยทุกข์ในอภิชาติทั้งหกเท่านั้น พาลและบัณฑิตเร่ร่อน ท่องเที่ยวไป จักทำที่สุดของทุกข์ได้เอง
วาทะของอชิตะ เกสกัมพล
ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มีโลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มี สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งกระทำโลกนี้และโลกหน้า ให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งไม่มีในโลก คนเรานี้เป็นแต่ประชุมมหาภูติรูปทั้งสี่ เมื่อทำกาลกิริยา ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็จะเป็นไปตามธาตุนั้น ๆ เพราะกายสลายทั้งพาล และบัณฑิตย่อมขาดสูญ
วาทะของปกุธะ กัจจายนะ
สภาวะทั้ง 7 กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีใครนิรมิต เป็นสภาพยั่งยืน ไม่แปรปรวน ไม่อาจให้เกิดสุข และทุกข์แก่กันและกัน สภาวะทั้ง 7 กองดังกล่าวคือ กองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ ชีวะ ผู้ฆ่าก็ดี ผู้ให้ฆ่าก็ดี ผู้เข้าใจความ ไม่มีในสภาวะ 7 กองนั้น เพราะว่าบุคคลจะเอาศาสตรา ตัดศรีษะกัน ไม่ชื่อว่าใคร ๆ ปลงชีวิต ใคร ๆ เป็นแต่ศาสตราสอดไปตามช่องแห่งสภาวะทั้ง 7 กองเท่านั้น
วาทะของนิครนถ์ นาฎบุตร
นิครนถ์ในโลกนี้ เป็นผู้สังวรณ์แล้วด้วยสังวร 4 ประการ คือเป็นผู้ห้ามน้ำทั้งปวง เป็นผู้ประกอบด้วยน้ำทั้งปวง เป็นผู้กำจัดด้วยน้ำทั้งปวง เป็นผู้ประพรมด้วยน้ำทั้งปวง เพราะเหตุที่เป็นผู้สังวรณ์ดังกล่าว บัณฑิตจึงเรียกว่า เป็นผู้มีตนถึงที่สุดแล้ว มีตนสำรวมแล้ว มีตนตั้งมั่นแล้ว
วาทะของสญชัย เวลัฏฐบุตร
ถ้ามหาบพิตรตรัสถามว่า โลกหน้ามีอยู่หรือ ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่ามี ก็จะพึงตอบว่ามี ความเห็นของอาตมภาพว่าอย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ ถ้าถามว่าโลกหน้าไม่มีหรือ ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่าไม่มี ก็จะพึงทูลตอบว่าไม่มี ฯลฯ ถ้าถามว่าสัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นมีหรือ ถามว่าผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วมีอยู่หรือ ถามว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายเกิดอีกหรือ ไม่เกิดอีกหรือ ฯลฯ อาตมภาพเห็นว่าอย่างไรก็จะตอบไปอย่างนั้น
วาทะของเจ้าลัทธิทั้งหก เปรียบเหมือนเขาถามอย่างแต่ตอบไปอย่างอีก
สันทิฏฐิสามัญญผลปุจฉา
แล้วพระเจ้าอชาติศัตรูก็ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ศิลปศาสตร์เป็นอันมาก ที่คนเหล่านั้นอาศัยผลแห่ง ศิลปศาสตร์ที่เห็นประจักษ์ เลี้ยงชีพอยู่ในปัจจุบัน เขาย่อมบำรุงตน บิดามารดา บุตรภริยา ฯลฯ ให้เป็นสุข บำเพ็ญทักษิณาทานอันมีผลอย่างสูง มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ พระองค์อาจบัญญัติ สามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน ได้หรือไม่
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อาจอยู่ แล้วทรงถามพระเจ้าอชาติศัตรูถึง ทาสกรรมกรของพระเจ้าอชาติศัตรู ได้ออกบวช เป็นบรรชิตแล้ว จะพึงปฏิบัติต่อผู้นั้นอย่างเดิมหรือไม่ พระเจ้าอชาติศัตรูทูลตอบว่า จะทำเช่นนั้นไม่ได้ แต่ควรจะไห้วเขา บำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และศิลานปัจจจัยเภสัชบริขาร และควรจะจัดการป้องกันคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน เป็นข้อแรก
สันทิฐิสามัญญผลเทศนา
เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูขอให้แสดงสามัญผลในข้ออื่นทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผล ที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสพุทธพจน์ว่า
พระตถาคต เสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ เป็นผู้จำแนกพระธรรม ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้วได้ศรัทธาในพระตถาคต เห็นว่าฆราวาสคับแคบ บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง จึงได้ออกบวชเป็นบรรพชิต สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม ที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ ฯ
จุลศีล (ดูรายละเอียดจาก พรหมชาลสูตร ในหัวข้อเดียวกัน)
มัชฌิมศิล (ดูรายละเอียดจาก พรหมชาลสูตร ในหัวข้อเดียวกัน)
มหาศีล (ดูรายละเอียดจาก พรหมชาลสูตร ในหัวข้อเดียวกัน)
อินทรียสังวร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้วไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ..... ฟังเสียงด้วยโสต ..... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ..... ลิ้มรสด้วยชิวหา ..... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ..... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ ..... ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมครอบงำ ภิกษุผู้ประกอบด้วย อินทรีย์สังวรเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลศในภายใน
สติสัมปชัญญะ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในอิริยาบทต่าง ๆ
สันโดษ ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง จะไปในที่ใด ๆ ก็ถือไปได้เอง เหมือนนกที่จะบินไปที่ใดก็มีแต่ปีกของตัวบินไป
จิตปราศจากนิวรณ์
ภิกษุนั้น ประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรีย์สังวร สติสัมปชัญญะ และสันโดษ อันเป็นอริยะแล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด ในกาลภายหลังภัต นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติ ไว้เฉพาะหน้า ละความเพ่งเล็งในโลก ย่อมชำระจิตใจบริสุทธิ์ ละความประทุษร้ายคือพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง ละถีนมิทธะ มีความกำหนดหมาย อยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะ ละอุทธัจจะกุกกุจจะมีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ละวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย
เปรียบนิวรณ์
เปรียบเหมือนคนจะกู้หนี้ไปประกอบกิจการงาน เมื่อการงานสำเร็จผล เขาพึงใช้หนี้และมีกำไรเหลืออยู่ ดังนั้นเขาจะพึงได้ความปราโมทย์ โสมนัส เพระความไม่มีหนี้ เปรียบเหมือนผู้ป่วยแล้วหายป่วย ผู้ที่ถูกจองจำ แล้วพ้นจากการจองจำ ผู้ที่เป็นทาสแล้วพ้นจากความเป็นทาส ผู้ที่มีทรัพย์เดินทางไกล มีภัยเฉพาะหน้า แล้วพ้นภัยนั้นได้
ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 เหล่านี้ ที่ละได้แล้ว ย่อมเกิดปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ กายย่อมสงบ ย่อมได้เสวยสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอสงัดจากกาม จากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ นี้แหละเป็นสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่าประณีตกว่า สามัญผลข้อก่อน ๆ
ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใส เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพระวิตก วิจาร สงบไป มีปีติ และสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้เป็นสามัญผล ที่ดีกว่า ประณีตกว่า
ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่าเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข นี้เป็นสามัญผล ฯลฯ
ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีอุเบกขา เป็นเหตุให้สติบริสุทธิอยู่ นี้เป็นสามัญผล ฯลฯ
วิชาแปด
วิปัสสนาญาณ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมน้อมจิตไปเพื่อฌาณทัสนะ ย่อมรู้ชัดว่า กายของเรานี้ มีรูปประกอบด้วยมหาภูตรูป 4 ไม่เที่ยง มีอันทำลายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้ นี้เป็นสามัญผล ฯลฯ
มโนมยิทธิญาณ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ฯลฯ ย่อมน้อมจิตไปเพื่อนิรมิต รูปอันเกิดแต่ใจ คือนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง นี้เป็นสามัญผล ฯลฯ
อิทธิวิธี ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ฯลฯ ย่อมน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี บรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือคนเดียวเป็นหลายคน หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฎทำให้หายก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนเป็นที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ นี้เป็นสามัญผล ฯลฯ
ทิพยโสตญาณ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ฯลฯ ย่อมน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ ย่อมได้ยินเสียงสองชนิด คือเสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตมนุษย์ นี้เป็นสามัญผล ฯลฯ
เจโตปริยญาณ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ฯลฯ ย่อมน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ ย่อมกำหนดรู้ใจสัตว์อื่น คนอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ จิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมี-ไม่มี โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน มหรคต จิตอื่นยิ่งกว่าจิตเป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น นี้เป็นสามัญผล ฯลฯ
ปุพเพนิวาสนานุสสติญาณ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิผ่องแผ้ว ฯลฯ ย่อมน้อมจิตไปเพื่อ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ย่อมระลึกชาติได้เป็นอันมาก ว่าในภพที่ผ่านมาเราได้มีชื่อ มีโคตร มีผิวพรรณ มีอาหาร อย่างนั้น เสวยสุขทุกข์ กำหนดอายุ เพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพนี้ ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ และอุเทศ นี้เป็นสามัญผล ฯลฯ
จุตูปปาตญาณ ภิกษุนั้น ฯลฯ ย่อมน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดีทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพย์จักษุอันบริสุทธิล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกาย วจี มโน ทุจริต ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย กาย วจี มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นสามัญผล
อาสวักขยญาณ ภิกษุนั้น ฯลฯ ย่อมน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จาก กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี ก็สามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้ออื่น ๆ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่า สามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อนี้ ย่อมไม่มี ฯ
พระเจ้าอชาติศัตรู แสดงพระองค์เป็นอุบาสก
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าอชาติศัตรู ได้กราบทูลว่า
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยเอนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน
หม่อมฉันนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอทรงจำหม่อมฉันว่าเป็น อุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
โทษได้ครอบงำหม่อมฉัน หม่อมฉันได้ปลงพระชนมชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม ขอพระผู้มีพระภาค ทรงรับทราบความผิดของหม่อมฉันโดยเป็นความผิดจริง เพื่อสำรวมต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า จริง ความผิดได้ครอบงำมหาบพิตร ที่ได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดา ผู้ดำรงธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่ แต่มหาบพิตรทรงเห็นความผิดโดยเป็นความผิด ทรงสารภาพตามเป็นจริง อาตมภาพขอรับทราบความผิด ของมหาบพิตร การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิด แล้วสารภาพตามเป็นจริง รับสังวรต่อไปนี้เป็นความชอบในวินัยของพระอริยเจ้า ฯ
เมื่อพระเจ้าอชาติศัตรูกราบทูลลาไปแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า พระราชาองค์นี้ถูกขุดเสียแล้ว ถูกขจัดเสียแล้ว หากท้าวเธอไม่ปลงพระชนม์ชีพพระบิดา ธรรมจักษุ ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน จักเกิดแก่ท้าวเธอ ณ ที่ประทับนี้ทีเดียว
จบสามัญญผลสูตรที่ 2
|