พระสุตตันตปิฎก

12. โลหิจจสูตร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริก ไปในโกศลชนบท พร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงบ้านสาลวติกา
ซึ่งโลหิจจพราหมณ์ครองอยู่ เป็นสมบัติอันพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชทานปูนบำเหน็จ ให้เป็นส่วนของพรหมไทย
ว่าด้วยพุทธคุณ
โลหิจจพราหมณ์ เกิดมีทิฐิอันลามกว่า สมณพราหณ์ในโลกนี้ ควรบรรลุกุศลธรรม ครั้นบรรลุแล้วไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นจักทำอะไรแก่ผู้อื่นได้ บุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำขึ้นใหม่ โลหิจจพราหมณ์ได้ยินข่าวว่า พระสมณโคดม ศากยบุตร เสด็จถึงบ้านสาลวติกา และเกียรติศัพท์ของพระองค์ ขจรไปว่า ..... (รายละเอียดมีในสามัญญผลสูตร)
โลหิจจพราหณ์ได้ให้โรสิกะช่างกัลบก ไปกราบทูล ขอให้พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดรับภัตตาหารของโลหิจจพราหมณ์
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปนิเวศน์ของโลหิจจพราหมณ์
เวลาเช้า ทรงถีอบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังบ้านสาลวติกา พร้อมภิกษุสงฆ์ โรสิกะช่างกัลบกตามเสด็จไป แล้วกราบทูลว่า โลหิจจพราหมณ์เกิดมีทิฐิอันลามก ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดทรงปลดเปลื้องโลหิจจพราหมณ์ เสียจากทิฐิอันลามกนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่เป็นไรโรสิกะ
พระผู้มีพระภาคทรงซักโลหิจจพราหมณ์
พระผู้มีพระภาคเสวยแล้ว ได้ตรัสกับโลหิจจพราหมณ์ว่า มีทิฐิเช่นนั้นจริงหรือ โลหิจจพราหมณ์รับว่าจริง
พ. ดูกร โลหิจจะ ท่านครองบ้านสาลวติกานี้มิใช่หรือ
ล. เป็นเช่นนั้น
พ. ผู้ใดพึงกล่าว โลหิจจพราหมณ์ครองบ้านสาลวติกาอยู่ จึงควรใช้สอยผลประโยชน์ ที่เกิดขึ้นในบ้านนี้แต่ผู้เดียว ไม่ควรให้ผู้อื่น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ จะชื่อว่าทำอันตรายแก่ชนที่อาศัยท่าน เลี้ยงชีพอยู่ได้หรือไม่
ล. ชื่อว่าทำอันตรายได้
พ. เมื่อทำอันตราย จะชื่อว่าหวังประโยชน์ต่อชนเหล่านั้นหรือไม่หวัง
ล. ชื่อว่าไม่หวังผลประโยชน์
พ. ผู้ที่ไม่หวังประโยชน์ต่อ ชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเมตตาไว้ในชนเหล่านั้น หรือว่าชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู
ล. ชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู
พ. เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้ว จะชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฐิ หรือเป็นสัมมาทิฐิ
ล. ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฐิ
พ. ผู้เป็นมิจฉาทิฐิ เรากล่าวว่า มีคติเป็น 2 คือ นรก หรือกำเนิดเดียรฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง พระเจ้าประเสนทิโกศล ทรงปกครองแคว้นกาสี และโกศลมิใช่หรือ
ล. เป็นเช่นนั้น
พ. ผู้ใดพึงกล่าวว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ควรทรงใช้สอยผลประโยชน์ ที่เกิดในแคว้นทั้ง 2 นั้น แต่พระองค์เดียว ไม่ควรพระราชทานบุคคลอื่น
จากนั้น พระผู้มีพระภาค ก็ทรงถามโลหิจจพราหมณ์ต่อไป ในทำนองเดียวกัน แล้วทรงสรุปว่า ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้นชื่อว่า ทำอันตรายแก่กุลบุตร ผู้ได้อาศัยธรรมวินัย อันตถาคต แสดงไว้แล้ว จึงบรรลุคุณธรรมวิเศษ คือ ทำให้แจ้งโสดาปัตติผลบ้าง สกทาคามิผลบ้าง อนาคามิผลบ้าง อรหัตผลบ้าง และแก่กุลบุตร ผู้อบรมครรภ์อันเป็นทิพย์ เพื่อบังเกิดในภพอันเป็นทิพย์ เมื่อทำอันตราย ย่อมชื่อว่า ไม่หวังประโยชน์ต่อ เมื่อไม่หวังประโยชน์ต่อ ย่อมชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นมิชฉาทิฐิ ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิ เรากล่าวว่ามีคติเป็น 2 คือ นรกหรือกำเนิดเดียรฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง
ศาสดาที่ควรแก่การท้วง ฯ
ศาสดา 3 จำพวกนี้ ควรท้วงได้ในโลก และการท้วงก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ เป็นไฉน
ศาสดาบางคนในโลก บวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณนั้น เขาไม่ได้บรรลุแล้ว แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย เพื่อสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของเขาย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และหลีกเลี่ยงประพฤติ จากคำสอนของศาสดา เขาจะพึงถูกท้วง เหมือนบุรุษที่รุกเข้าไปหาสตรี ที่กำลังถอยหลังหนี หรือดุจบุรุษ พึงกอดสตรีที่หันหลังให้ ฉันใด อุปมัยก็ฉันนั้น นี้แลศาสดาที่ 1 ซึ่งควรท้วงในโลก
ศาสดาบางคนในโลก บวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น เขาไม่ได้บรรลุ แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกเขาย่อมตั้งใจฟัง ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และไม่หลีกเลี่ยงประพฤติ จากคำสอนของศาสดา เขาจะพึงถูกท้วง เหมือนบุคคลละเลยนาของตน แล้วสำคัญเห็นนาของผู้อื่นว่า เป็นอันคนควรบำรุง นี้แลศาสดาที่ 2 ที่ควรท้วงในโลก
ศาสดาบางคนในโลก บวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น เขาได้บรรลุแล้ว จึงแสดงธรรมสอนสาวกว่า เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย แต่สาวกเขาไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และหลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา เขาจะพึงถูกท้วง เหมือนบุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำขึ้นใหม่ นี้เป็นศาสดาที่ 3 ที่ควรท้วงในโลก
ศาสดาที่ไม่ควรท้วง
โลหิจจพราหมณ์ได้กราบทูลถามถึง ศาสดาซึ่งไม่ควรท้วงในโลกมีบ้างหรือ
ตรัสว่า มีอยู่ แล้วทรงแสดงพุทธคุณ (รายละเอียดมีในสามัตตผลสูตรที่ 2)
ทรงแสดงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล (รายละเอียดมีในพรหมชาลสูตรที่ 1)
ทรงแสดงอินทรีย์สังวร เปรียบนิวรณ์ รูปฌาน 4 วิชชา 8 (รายละเอียดมีในสามัญญผลสูตรที่ 2)
แล้วทรงสรุปว่า ดูกร โลหิจจพราหมณ์ สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเช่นนี้ในศาสดาใด ศาสดานั้นไม่ควรท้วงในโลก อนึ่งการท้วงศาสดาเช่นนั้น ก็ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม ประกอบด้วยโทษ
โลหิจจพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก
โลหิจจพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดม บุรุษผู้หนึ่งพึงฉวยผมบุรุษอีกผู้หนึ่ง ซึ่งกำลังจะตกไปสู่เหวคือนรกไว้ ฉุดขึ้นให้ยืนอยู่บนบก ฉันใด ข้าพระองค์กำลังตกไปสู่เหวคือนรก พระโคดมได้ยกขึ้นให้ยืนอยู่บนบก ฉันนั้น ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต

จบ โลหิจจสูตรที่ 12

13. เตวิชชสูตร

 

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงพราหมณ์คามของชาวโกศลชื่อว่ามนสากตะ เสด็จประทับ ณ อัมพวัน ใกล้ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี
เรื่องของพราหมณ์ในบ้านสากตะ
สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียง อาศัยอยู่ในมนสากตคามมากด้วยกัน คือ วังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุโสนีพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ และพราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียงอื่น ๆ อีก ครั้งนั้นวาเสฏฐมานพ กับ ภารทวาชมาณพ ได้พูดกันถึงเรื่องทางและไม่ใช่ทาง วาเสฏฐมานพกล่าวว่า ทางที่ท่านโปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้น เป็นมรรคตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้น ให้เป็นสหายแห่งพรหมได้ ฝ่ายภารทวาชมานพกล่าวว่า ทางที่ท่านตารุกขพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้น เป็นเป็นมรรคตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้น ให้เป็นสหายแห่งพรหมได้ ทั้งสองฝ่ายต่างไม่สามารถให้ฝ่ายหนึ่งยินยอมได้
วาเสฏฐมานพจึงบอกให้ไปกราบทูลถามพระสมณโคดม เมื่อทรงพยากรณ์อย่างใด เราจักจดจำข้อความนั้นไว้
ว่าด้วยทางและมิใช่ทางของวาเสฏฐะ และภารทวาชมานพ
มานพทั้งสองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลเรื่องเดิมให้ทราบ และกราบทูลถามว่า ในเรื่องทาง และมิใช่ทางนี้ ยังมีการถือผิดกันอยู่หรือ กล่าวผิดกันอยู่หรือ พูดต่างกันอยู่หรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พวกท่านจะถือผิดกันในข้อไหน จะกล่าวผิดกันในข้อไหน จะพูดต่างกันในข้อไหน ข้าแต่พระโคดม ในเรื่องทางและมิใช่ทาง พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติหนทางต่าง ๆ กันก็จริง ถึงอย่างนั้น ทางทั้งมวลเป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้น ให้เป็นสหายของพรหมได้
พระผู้มีพระภาค ตรัสถามวาเสฏฐมานพถึงสามครั้งว่า ทางเหล่านั้นนำออกหรือ ก็ได้รับการยืนยันทั้งสามครั้ง
พระผู้มีพระภาคทรงซักวาเสฏฐมานพ
พ. ดูกรวาเสฏฐ บรรดาพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา พราหมณ์แม้คนหนึ่งก็เห็นพรหม มีเป็นพะยานอยู่หรือ
ว. ไม่มีเลย
พ. ปาจารย์ของอาจารย์ อาจารย์ที่สืบมาเจ็ดชั่วอาจารย์ ผู้ได้ไตรวิชชาที่เห็นพรหม มีเป็นพะยานอยู่หรือ
ว. ไม่มีเลย
พ. พวกฤาษี ผู้เป็นบุรพาจารย์ ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอกมนต์ ที่ในปัจจุบันนี้ พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา รับตาม กล่าวตาม บอกไว้ว่า พวกเรารู้ พวกเราเห็นพรหมนั้นว่า พรหมอยู่ในที่ใด อยู่โดยที่ใด หรืออยู่ในภพใด มีอยู่หรือ
ว. ไม่มีเลย
พ. ได้ยินว่า บรรดาพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ปาจารย์ของอาจารย์ แห่งพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา อาจารย์ที่สืบมาแต่เจ็ดชั่วอาจารย์ ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ที่เห็นพรหมเป็นพะยาน ไม่มีเลยหรือ
ว. ไม่มีเลย
ดูกรวาเสฏฐะ พวกฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ ของพวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ฯลฯ บอกไว้ว่า พวกเรารู้ พวกเราเห็นพรหมนั้นว่า พรหมอยู่ในที่ใด อยู่โดยที่ใด หรืออยู่ในภพใด มีอยู่หรือ
พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น กล่าวว่า พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็น แต่พวกเราแสดงหนทาง เพื่อความเป็นสหายแห่งพรหม
ดูกร วาเสฏฐะ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ย่อมถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหารย์ มิใช่หรือ
ข้าแต่พระโคดม เมื่อเป็นเช่นนั้น ย่อมถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหารย์แน่นอน
ดูกร วาเสฏฐะ พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ไม่รู้จักพรหม ไม่เห็นพรหม จักแสดงหนทาง เพื่อความเป็นสหายแห่งพรหม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เหมือนแถวคนตาบอด เกาะหลังกันและกัน คนต้นก็ไม่เห็น คนกลางก็ไม่เห็น คนท้ายก็ไม่เห็น ฉันใด ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา มีอุปมาเหมือนแถวคนตาบอด ฉันนั้น ภาษิตดังกล่าวถึงความคำน่าหัวเราะ คำต่ำช้า คำเปล่า คำเหลวไหลแท้ ๆ
ดูกร วาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมร์ผู้ได้ไตรวิชชา เห็นพระจันทร์ พระอาทิตย์ แม้ชนอื่นเป็นอันมาก ก็เห็นพระจันทร์และพระอาทิตย์ ขึ้นเมื่อใด ตกเมื่อใด พราหมณ์ทั้งหลายย่อมอ้อนวอน ชมเชย ประนมมือ อ่อนน้อม เดินเวียนรอบ
ข้าแต่พระโคดม เป็นอย่างนั้น
ดูกร วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา สามารถแสดงทาง เพื่อไปอยู่ร่วมกับพระจันทร์และพระอาทิตย์ ได้หรือ
ข้าแต่พระโคดม ไม่ได้
ดูกร วาเสฏฐะ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของพราหมณ์ ย่อมถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหารย์
อุปมาด้วยนางงามในชนบท และอุปมาด้วยพะองขึ้นปราสาท
(รายละเอียดมีในโปฏฐบาทสูตร ในหัวข้อ ว่าด้วยทิฐิของสมณพราหมณ์)
อุปมาด้วยแม่น้ำอจิรวดี
ดูกร วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดี มีน้ำเต็มเปี่ยมเสมอฝั่ง บุรุษต้องการข้ามไป ร้องเรียกให้ฝั่งโน้น จงมาฝั่งนี้ ย่อมไม่ได้ ฉันใดฉันนั้นก็เหมือนกัน พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ละธรรมที่ทำให้บุคคล ให้เป็นพราหมณ์เสีย แล้วสมาทานธรรม ที่มิใช่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ พวกเราร้องเรียกเทพเจ้าต่าง ๆ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม เพราะเหตุร้องเรียก เพราะเหตุอ้อนวอน เพราะเหตุปราถนา หรือเพราะยินดี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
กามคุณ 5 เหล่านี้ ในวิสัยของพระอริยเจ้า เรียกว่า ขื่อคาบ้าง เรียกว่าเครื่องจองจำบ้าง กามคุณ 5 คือ รูปที่พึงรู้ด้วยจักษุ เสียงที่พึงรู้ด้วยโสต กลิ่นที่พึงรู้ด้วยฆานะ รสที่พึงรู้ด้วยชิวหา โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกาย น่าปราถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก เกี่ยวด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา กำหนัด สยบ หมกมุ่น ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาสลัดออก บริโภคกามคุณ 5 เหล่านี้อยู่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ดูกร วาเสฏฐะ นิวรณ์ 5 อย่างเหล่านี้ ในวินัยของพระอริยเจ้า เรียกว่า เครื่องหน่วงเหนี่ยว เครื่องกางกั้น เครื่องรัดรึง เครื่องตรึงตรา นิวรณ์ 5 คือ กามฉันทะนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ถูกนิวรณ์ 5 เหล่านี้ ปกคลุม หุ้มห่อ รัดรึง ตรึงตรา แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ทรงซักวาเสฏฐมานพ
ทรงถามวาเสฏฐมานพว่า เคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าว เช่นนี้หรือไม่ว่า
พรหมมีสตรีเกาะ มีจิตจองเวร มีจิตเบียดเบียน มีจิตเศร้าหมอง ก็ได้รับคำตอบว่าไม่มี
เมื่อถามว่า พรหมยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าได้
จากนั้นทรงถามว่า พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา มีสตรีเกาะ มีจิตจองเวร มีจิตเบียดเบียน มีจิตเศร้าหมอง ก็ได้รับคำตอบว่า มี
เมื่อถามว่า พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่ได้
ทรงถามถึงความแตกต่าง ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชากับพรหมในแต่ละข้อ แล้วสรุปว่า พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้นในโลกนี้ จมลงแล้ว ยังจมอยู่ ครั้นจมแล้วย่อมถึงความย่อยยับ เพราะฉะนั้นไตรวิชชานี้ พระองค์จึงเรียกว่า ป่าใหญ่ ดงกันดาร ความพินาศ ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา
วาเสฏฐกราบทูลว่า ได้ยินมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบ ทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหม
ทรงตรัสว่า เรารู้จักพรหม รู้จักพรหมโลก รู้ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงพรหมโลก และรู้ถึงว่า พรหมปฏิบัติอย่างไรจึงเข้าถึงพรหมโลกด้วย
จากนั้นทรงแสดง พุทธคุณ (รายละเอียดมีในสามัญญผลสูตร)
ทรงแสดง จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล (รายละเอียดมีในพรหมชาลสูตร)
ทรงแสดง อินทรียสังวร เปรียบนิวรณ์ (รายละเอียดในสามัญญผลสูตร)
แล้วทรงสรุปว่า เมื่อพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เกิดปิติ กายย่อมสงบ ได้เสวยสุข จิตย่อมตั้งมั่น มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนกันอยู่ กรรมที่ทำพอประมาณอันใด ในเมตตาเจโตวิมุตติ ที่บุคคลอบรมแล้วอย่างนี้ กรรมนั้นจะไม่เหลือ ไม่ตั้งอยู่ในรูปาพจร และอรูปาพจรนั้น นี้แลเป็นทาง เพื่อความเป็นสหายแห่งพรหม
อัปปมัญญา 4
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุมีใจประกอบด้วยกรุณา ประกอบด้วยมุทิตา ประกอบด้วยอุเบกขา ฯลฯ นี้แลเป็นทาง เพื่อความเป็นสหายแห่งพรหม
ทรงแสดงคุณสมบัติของภิกษุ ที่เหมือนกับพรหมในประการต่าง ๆ เช่นที่ได้เปรียบเทียบคุณสมบัติของพรหม กับพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา แล้วทรงสรุปว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักถึงความเป็นสหายแห่งพรหม
วาเสฏฐมานพและภารทวาชมานพแสดงตนเป็นอุบาสก
เมื่อผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาณพทั้งสองได้กราบทูลว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ข้าพระองค์ทั้งสอง ขอถึงพระองค์กับทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ฯลฯ

จบ เตวิชชสูตรที่ 13