พระราชพิธีเดือนเก้า
พระราชพิธีตุลาภาร เป็นพระราชพิธีสะเดาะเคราะห์หรือบำเพ็ญทานอย่างหนึ่ง ตามจดหมายขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า พระราชพิธีนี้ให้เอาเงินชั่งให้เท่าพระองค์ แล้วสะเดาะพระเคราะห์ให้แก่พราหมณ์ แต่ตามกฎมณเฑียรบาลนั้นมีพิธีมากมาย และเป็นการใหญ่ มีตราชูใหญ่อยู่กลางท้องพระโรงพระเจ้าแผ่นดินทรง"ถีบ" (ชั่ง) แล้วพระอัครมเหสีถีบ แล้วพระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์แห่กลับแล้วมีงานสมโภชเลี้ยง
พระราชพิธีพรุณศาสตร์
พระราชพิธีนี้ไม่มีในกฎมณเฑียรบาล แต่ในจดหมายเหตุขุนหลวงหาวัดกล่าวว่าเป็นพิธีสำคัญและมีมาแต่โบราณ จะเลิกเสียไม่ได้ พระราชพิธีนี้เมื่อครั้งสุโขทัยเป็นพิธีของพราหมณ์ ต่อมาได้ทำพร้อมกับพิธีสงฆ์ โรงพิธีคล้ายกับโรงพิธีอื่น ๆ เป็นพิธีที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าได้บันดาลให้ฝนตกใหญ่ ได้กล่าวมาแล้วในพิธีพืชมงคล ลักษณะพิธีพรุณศาสตร์เป็นพิธีประจำปี เว้นปีใดที่ฝนตกบริบูรณ์
การพระราชกุศลในวันประสูติและสวรรคต
การพระราชกุศลนี้ มีกำหนดตามวันซึ่งตรงกับวันประสูติของพระบรมอัฐิและพระอัฐินั้น ๆ รายไปตามเดือนวันต่าง ๆ กัน การพระราชกุศลนี้ เริ่มมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำเป็นการภายในเงียบ ๆ คืออัญเชิญพระบรมอัฐิไม่มีประโคมกลอง ทรงกระทำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมอัฐิตั้งแว่นฟ้าทองคำสองชั้น บุษบกทองคำนี้มีเครื่องสูงบังแทรก ตั้งเครื่องราชูปโภคบริโภคบนม้าทองใหญ่สองข้างแว่นฟ้า เครื่องนมัสการ โต๊ะทองคำลงยาราชาวดี มีเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมอัฐิสำรับหนึ่ง ถ้ามีพระอัฐิใช้พานทอง แต่การบูชาเดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำมานานแล้ว
พระราชพิธีเดือนสิบ
พระราชพิธีสารทกับ พิธีภัทรบทเป็นคนละพิธีไม่เหมือนกัน พิธีภัทรบทเป็นพิธีกลางเดือนของพราหมณ์ทำอย่างไสยศาสตร์แท้ ไม่ได้เกี่ยวกับพุทธศาสตร์ แต่เป็นพิธีนำหน้าพิธีสารท เพื่อเป็นการชำระบาปของพราหมณ์ให้บริสุทธิไว้ ทำการพระราชพิธีสารท ซึ่งจะมีต่อปลายเดือนภายหลังพิธีแรก พิธีภัทรบทนี้เป็นนักขัตฤกษ์ มหาชนทำมธุปายาสทาน และจะเด็ดรวงข้าวสาลีเป็นปฐมเก็บเกี่ยว พราหมณ์ทำพลีกรรม สรวงสังเวยบูชาพระไกรสพ อ่านพระเวทย์เผยศิลาไลย เพื่อบำบัดอุปัทวจัญไร มหาชนเก็บเกี่ยวข้าวมาทำมธุปายาสยาคูเลี้ยงพราหมณ์ เพื่อจะให้เป็นมงคลแก่ข้าวในนา ดังนั้นพราหมณ์ผู้รู้เพทางคศาสตร์จึงกระทำพิธีภัทรบทลอยบาป เพื่อจะรับมธุปายาส และยาคูคัพภสาลี อันที่จริงการพิธีสารทเป็นของพราหมณ์ พุทธศาสนาทำตามอย่างพราหมณ์ เช่นการกวนข้าวปายาสหรือข้าวทิพย์เป็นต้น การกวนข้าวปายาสนั้น เป็นพิธีเพื่อที่จะให้เกิดสวัสดิมงคล แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่อยู่ในกรุงเทพ ฯ รับพระราชทานระงับโรคภัยอันตรายต่าง ๆ ส่วนยาคูนั้นเป็นการป้องกันข้าวในนามิให้อันตราย
แต่ต้องการให้งามบริบูรณ์จึงประกอบพิธีขึ้น
ในการพระราชพิธีสารทนี้ พระเจ้าแผ่นดินจะทรงบาตรคือข้าวทิพย์และกระยาสารท แต่ข้าวทิพย์ได้ทรงบาตรเพียงวันเดียว วันหลังจากนั้นทรงใช้กระยาสารทเป็นขนมตามฤดู
การพระราชกุศลกาลานุกาล
ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด เจ้าพนักงานได้เชิญพระบรมอัฐิเท่าจำนวนที่เคยสดับปกรณ์มาแต่ก่อน ออกไปประดิษฐานบนพระที่นั่งเสวตฉัตรและโต๊ะจีน ทั้งในพระราชวังบวร ฯ และหอพระนาค ก็มีการพระราชกุศลตามเคยเหมือนกาลานุกาลอื่น ๆ
การพระราชกุศลตักบาตรน้ำผึ้ง
การตักบาตรน้ำผึ้งนี้เพิ่งเกิดใหม่ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการที่ทำนั้นไม่สู้จะเป็นราชการสำหรับแผ่นดินนัก ทำเป็นส่วนธรรมยุติกาหรือเฉพาะแต่วัดบวรนิเวศน์ด้วยทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศน์ เหตุที่มีการตักบาตรน้ำผึ้งขึ้น เพราะถือว่าน้ำผึ้งเป็นทั้งยาและอาหาร และการพระราชกุศลนี้ยังคงดำเนินอยู่
การเฉลิมพระชนม์พรรษา
พิธีการเฉลิมพระชนมพรรษา แบ่งออกเป็นสองตอน คือตอนฉลองและตอนเฉลิม ตอนฉลองนั้นเป็นงานฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมายุ ซึ่งได้เริ่มทำกันมาตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจัดเป็นงานสมโภชในวันสวดมนต์ถือน้ำในเดือนห้า และวันสงกรานต์ ซึ่งกำหนดทางจันทรคติ เนื่องจากเป็นงานใหญ่และทราบกันทั่วไป มีผู้เข้าเฝ้ามาก จึงต้องใช้ท้องพระโรง พระที่นั่งอนัตสมาคม (องค์เก่า) เป็นที่จัด ในวันนั้นจะฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมายุ ทั้งที่ทรงสร้างไว้ก่อน ๆ และองค์ใหม่ที่สร้างประจำปีนั้น แต่องค์ใหม่นี้น่าจะจัดประดิษฐานบนพานทอง ซึ่งตั้งอยู่บนโต๊ะจีน และจัดเครื่องบูชาเป็นพิเศษ ได้นิมนต์พระสงฆ์จำนวนเท่าพระพุทธรูปประจำพระชนมายุ สวดมนต์เย็น และฉันเช้า แล้วถวายเทศนามงคลวิเศษตอนค่ำหนึ่งกัณฑ์ และดอกไม้เพลิงบูชา ๒ คืน ส่วนตอนเฉลิมนั้นได้กำหนดวันทำทางสุริยคติ ซึ่งคนไทยในสมัยนั้นถือว่าเป็นวันนับอย่างฝรั่ง ไม่ใคร่จะทราบกันซ้ำมักจะปิด ๆ บัง ๆ กันเสียด้วย งานตอนนี้คนข้างนอกจึงไม่ใคร่ทราบ ทำกันแต่ภายในพระบรมมหาราชวัง จึงได้กลายเป็นงานย่อย ๆ ไม่สำคัญไป
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีคนเรียนรู้และรู้จักใช้วันทางสุริยคติมากขึ้น งานเฉลิมพระชนมพรรษาในตอนเฉลิม จึงกลับมีความสำคัญมากกว่าตอนฉลอง ในรัชสมัยนี้งานตอนฉลองได้ย้ายเข้าไปทำในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ใช้บุษบกดอกไม้ที่เสร็จจากงานถือน้ำเดือนห้า เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปประจำปีก่อน ๆ ส่วนองค์ใหม่ทรงห่มแพรสีทับทิมสด แยกไปตั้งไว้บนโต๊ะหมู่ต่างหาก พระสงฆ์ที่นิมนต์เข้ามาสวดมนต์ก็ทรงใช้พระราชาคณะ และฐานานุกรมวัดราชบพิธทั้งสิ้น นอกจากปีใดพระสงฆ์ในวัดราชบพิธไม่ครบ (เท่าจำนวนพระพุทธรูป) ก็นิมนต์เพิ่มเติมจากวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางปะอิน ทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะทรงถือว่า วัดทั้งสองนี้เป็นวัดที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น พิธีในตอนเช้าจะทรงเลี้ยงพระสงฆ์แล้วทรงปล่อยสัตว์ เวลาบ่ายมีการสมโภชพระพุทธรูป ตอนพลบค่ำมีการสรงมุรธาภิเศก แล้วสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถวายเทศนามงคลวิเศษ พระสงฆ์สวดมนต์ ถวายเครื่องไทยทานแล้วจุดดอกไม้เพลิง คืนต่อมาก็ทำเช่นเดียวกันอีกครั้งหนึ่งเป็นการเสร็จการ
ส่วนตอนเฉลิมนั้น มีงานในพระบรมมหาราชวัง ๔ - ๕ วัน เนื่องจากว่าวันที่ ๒๐ กันยายน ตรงกับวันประสูติ งานจึงเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ในวันนั้นสวดมนต์เสดาะพระเคราะห์ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ รุ่งขึ้นวันที่ ๒๐ เช้าเลี้ยงอาหารพระสงฆ์ เวลาค่ำพระสงฆ์ธรรมยุตินิกายสวดมนต์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วันที่ ๒๑ พระสงฆ์ฉันเช้า เสร็จแล้วทรงพระมุรธาภิเศก เวลาเที่ยงพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการเข้าถวายพระพรชัยมงคล เวลาค่ำพระราชทานเลี้ยงโต๊ะ แต่ถ้ามีการไว้ทุกข์ก็ให้งดการเลี้ยง และให้เลื่อนการสวดมนต์ในวันรุ่งขึ้นมาแทน วันที่ ๒๒ พระสงฆ์มหานิกายเข้าสวดมนต์ที่ท้องพระโรง วันที่ ๒๓ พระสงฆ์มหานิกายที่นิมนต์มาเมื่อวานนี้ฉันเช้า เสร็จแล้วเทศนา ๔ กัณฑ์
เฉพาะในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น จัดให้มีการสวดมนต์ ๓ วัน คือในวันที่ ๑๙ ถึง ๒๑ ภายในวัดมีการตกแต่งโคมไฟที่ศาลาราย กำแพงแก้ว พระพุทธปรางค์ ปราสาท และพระศรีรัตนเจดีย์ ภายในพระอุโบสถได้จุดเทียนรายจงกลมตามชั้นบุษบก ที่หน้าพระพุทธรูป พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น จุดเทียนเล่มใหญ่ข้างละ ๗ เล่ม มีเทียนพระมหามงคล และเทียนเท่าพระองค์อีกสำรับหนึ่ง ตรงกลางพระอุโบสถตั้งเสากิ่งจงกลบูชาเทวดานพเคราะห์ ๙ ต้น แต่ละต้นมีรูปเทวดานพเคราะห์ประจำทุกต้น ได้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดวันละ ๕ รูปทั้ง ๓ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกถวายไตรย่ามก่อน พระสงฆ์รับไตรออกไปครอง ขณะนั้นจะทรงจุดเทียนต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วกว่าจะเสร็จก็พอดี พระสงฆ์ครองผ้าเสร็จกลับมานั่งตามที่พร้อมแล้ว จึงได้ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ สังฆการีจะอาราธนาพระปริต จากนั้นทรงจุดเทียนและธูปที่จงกลบูชาเทวดานพเคราะห์ เจ้ากรมและปลัดกรมโหรา จะอ่านพระเวทย์บูชาเทวดาแล้วแปลเป็นไทย ได้เสด็จวัดพระศรีรัตนศาสดารามเช่นนี้ครบทั้ง ๓ วัน
พระราชพิธีเดือนสิบเอ็ด
ในกฎมณเฑียรบาลว่าในพระราชพิธีเดือนสิบเอ็ด มีพิธีแข่งเรือได้ทำมาเพียงในชั้นกรุงเก่า แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ได้ทำ
พระราชพิธีประจำเดือนสิบเอ็ด ที่คงทำในกรุงรัตนโกสินทร์ มีดังนี้
วันขึ้น ๔ ค่ำ พิธีทอดเชือก ดามเชือก
วันขึ้น ๕ ค่ำ แห่คเชนทรัศวสนาน
วันขึ้น ๖ ค่ำ สมโภชพระยาช้าง
วันขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ พิธีออกพรรษา และลอยพระประทีป ตั้งแต่วันแรม ๕ ค่ำ จนสิ้นเดือนพระกฐิน
ประเพณีแห่เสด็จทอดผ้ากฐิน โดยกระบวรพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้ากฐิน ณ วัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ก็จะเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนเรือรบที่ได้จัดขึ้น และแห่แหมไปตามลำน้ำ ทั้งนี้เพื่อให้ไพร่ฟ้าประชาชนได้สนุกสนานรื่นเริงในโอกาสที่มีงานกุศลอีกด้วย เรือรบที่จัดเข้ากระบวนนี้ เป็นเรือรบที่ใช้ทำการรบในลำน้ำ มีขนาดเล็กต้องใช้ฝีพาย เรือรบที่สำคัญ ๆ ใช้เป็นเรือพระที่นั่ง เช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตราชนาค แกะสลักปิดทองอย่างสวยงาม
พิธีเดือนสิบเอ็ดที่ทำในกรุงรัตนโกสินทร์ เห็นจะทำมาแต่ครั้งกรุงเก่าทุกอย่างหรือโดยมาก จึงปรากฏในกฎมณเฑียรบาล แต่พิธีแข่งเรืออย่างเดียว ส่วนพิธีทอดเชือก ดามเชือก และแห่คเชนทรัศวสนานในเดือนสิบเอ็ดก็ทำเช่นเดียวกับพระราชพิธีในเดือนห้า
พระราชพิธีเดือนสิบสอง
พระราชพิธีจองเปรียง
การพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดโคมลอยนี้ทำในเดือนสิบสอง ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาล แต่โบราณมีความเป็นอย่างไรนี้ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดเจน ส่วนการพระราชพิธีที่ทำอยู่ในปัจจุบันเป็นของพราหมณ์ ซึ่งเมื่อถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ให้แทรกพิธีทางพุทธศาสนาไว้ ในการพระราชพิธีทั้งปวงด้วยเสมอ โดยโปรดเกล้า ฯ ให้มีการสวดมนต์เย็นฉันเช้าเป็นอย่างน้อย
ตามคำโบราณกล่าวว่าพิธีจองเปรียงนี้เป็นการพิธียกโคมขึ้นบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือพระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหมในศาสนาพราหมณ์ ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว พระราชพิธีนี้จึงเป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึง และพระพุทธบาท ได้กำหนดการยกโดยไว้ว่า ถ้าปีใดที่มีอธิกามาส ให้ยกโคมขึ้นตั้งแต่วันแรม ๑๔ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันลดโคม หรืออีกนัยหนึ่ง กำหนดตามโหราศาสตร์ว่า พระอาทิตย์ถึงราศรีพฤศจิก พระจันทร์อยู่ราศรีพฤษภ เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นกำหนดที่จะยกโคม หรืออีกนัยหนึ่งกำหนดด้วยดวงดาวกฤติกา คือ ดาวลูกไก่ ถ้าเห็นดาวลูกไก่นั้นตั้งแต่หัวค่ำจนรุ่งเมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลายกโคม
อนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสตามหัวเมือง มีพระราชวังแห่งใดก็โปรดให้ยกเสาโคมชัย สำหรับพระราชวังนั้นด้วยเสมอ
พิธีกะติเกยา
การพระราชพิธีกะติเกยานี้ เป็นพิธีตามเพลิงคอยรับพระเป็นเจ้าจะเสด็จลงมา แต่ก่อนเคยทำในเดือนอ้าย แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนมาทำในเดือนสิบสอง การที่จำกำหนดพระราชพิธีเมื่อใด เป็นหน้าที่ของโหรต้องเขียนฎีกาถวาย พิธีนี้เป็นพิธีพราหมณ์แท้แต่หาเหตุผลไม่ได้แจ่มแจ้ง จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่อาจจะทรงเติมการพิธีสงฆ์หรือแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร จึงได้แต่เพียงเปลี่ยนกำหนดให้ถูกชื่ออย่างเดียวเท่านั้น
พระราชกุศลไตรปี
การฉลองไตรปีไม่แน่ว่าจะเป็นธรรมเนียมมีมาแต่ครั้งกรุงเก่าหรือประการใด แต่ได้มาปฏิบัติกันในกรุงรัตนโกสินทร์ จนกลายเป็นธรรมเนียม ไม่นับเป็นพระราชพิธี ถือเป็นเพียงการพระราชกุศลประจำปีโดยได้นิมนต์พระราชาคณะฐานานุกรม และเปรียญทั้งปวง ซึ่งได้รับพระราชทานไตรปี มาประชุมพร้อมกันและทำพิธีฉลองไตรปีกันเท่านั้น
การลอยพระประทีป
การลอยพระประทีปลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์รื่นเริงทั่วไปไม่เฉพาะแต่การฉลอง และไม่นับว่าเป็นพระราชพิธีเพราะไม่มีพระสงฆ์ หรือพิธีพราหมณ์อันใดเข้ามาเกี่ยวข้อง การลอยพระประทีปนี้มีเนื้อความเข้าเค้าเรื่องนพมาศ ซึ่งได้เกิดขึ้นในแผ่นดินพระร่วงในสมัยกรุงสุโขทัย
การลอยพระประทีป ลอยกระทง ทำในฤดูเดือนสิบสองเป็นเวลาที่น้ำในแม่น้ำกำลังใสสะอาด และขึ้นสูงเต็มฝั่ง ดวงจันทร์มีแสงสว่างผ่องใส เป็นยามที่สมควรมีการรื่นเริงในลำน้ำในเวลากลางคืน พระเจ้าแผ่นดินจึงได้เสด็จประพาสตามลำน้ำพร้อมด้วยข้าราชบริพารฝ่ายใน เป็นประเพณีที่มีมาแต่กรุงสุโขทัย
พระราชกุศลกาลานุกาล
พระราชกุศลนี้เริ่มมีในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการกระทำพิเศษขึ้นกว่าแต่เก่า และต่อจากการฉลองไตรปีในวันแรม ๒ ค่ำ เพื่อนิมนต์พระสงฆ์ที่ฉลองไตรได้สดับปกรณ์กาลานุกาลตามรายองค์พระบรมอัฐิและพระอัฐิ
พระราชกุศลแจกเบี้ยหวัด
การแจกเบี้ยหวัด ไม่มีกำหนดแน่ว่าวันใด แต่คงอยู่ในวันจันทร์หรือวันพุธข้างแรมเดือนสิบสอง ซึ่งมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชจะรับพระราชทานเบี้ยหวัดเป็นเงินไม่ได้ จึงทรงทำเป็นตั๋วอุทิศเป็นสิ่งที่ควรแก่สมณบริโภคตามจำนวนเงินเบี้ยหวัด และโปรดเกล้า ฯ ให้มีการมงคลในวันแรกของการแจกเบี้ยหวัดนี้ โดยนิมนต์เฉพาะแต่พระราชวงศานุวงศ์ ที่ทรงผนวชเข้ามารับพระราชทานฉัน
พระราชพิธีฉัตรมงคล
เป็นธรรมเนียมแต่เก่าก่อน เมื่อเปลี่ยนปีใหม่ถึงเดือนหก พนักงานข้างหน้าข้างในซึ่งรักษาเครื่องราชูปโภค และรักษาตำแหน่งหน้าที่พระทวารและประตูวัง ต้องทำการสมโภชเครื่องราชูปโภคในตำแหน่งซึ่งตนรักษาอยู่พร้อมกันคราวหนึ่ง ข้างฝ่ายหน้า สวดมนต์เลี้ยงพระ ข้างฝ่ายในมีแต่เครื่องสังเวยเครื่องประโคม ทั้งนี้เป็นส่วนของเจ้าพนักงานทำกันเอง หาได้เกี่ยวข้องเป็นการหลวงไม่
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัย ควรจะมีการสมโภชพระมหาเศวตรฉัตร ให้เป็นสวัสดิมงคล แก่ราชสมบัติจึงทรงจัดการพระราชกุศล ซึ่งพระราชทานชื่อว่า "พระราชพิธีฉัตรมงคล" ขึ้น
|