แก่อย่างมีคุณค่า


เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสัจธรรมของชีวิตมนุษย์ทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจน แต่หากจะพิจารณาถึงสิ่งที่เราต่างต้องประสบหลังจากเกิดมาแล้ว ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่คนเราต่างไม่ต้องการกันทั้งนั้น การอยู่ในโลกได้นานวันจัดว่าเป็นผู้มีโชคเพราะจะได้ประโยชน์จากการพิจารณา ให้เห็นความจริงในมายาของชีวิต แต่สำหรับผู้ที่ไม่พิจารณา ไม่เอาใจใส่ ต่อการเจาะทำลายโมหะอวิชชาก็แก่เปล่า ความนานวันของชีวิต ไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์อะไรเลย จึงจัดว่าเป็นผู้มีโชคไม่ได้ แต่กลับกลายเป็นแก่ฟัก แก่แฟง แก่แตงน้ำเต้า เติบโตเพราะกินข้าว แก่เฒ่าเพราะอยู่นาน ชีวิตในตัวของคนๆ นั้นไม่มีค่าอะไรเลย คุณค่าหรือราคาของชีวิตจะมีได้ ก็สุดแท้แต่การรู้จักเรียนรู้การใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์ ให้เกิดคุณ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชราปทุกฺขา แปลว่า ความแก่เป็นทุกข์ปฐมเหตุของความทุกข์อยู่ที่เกิดและเพราะมีเกิดจึงมีแก่ เพราะมีแก่จึงมีเจ็บ และเพราะมีเจ็บจึงมีตาย ปัญหาที่ติดตามมาจากความแก่ก็คือ ความเหงา ความเศร้า ความว้าเหว่ ความล้า หน้ามืด ตามัว หูหนวก ฟันหัก หนังเหี่ยว ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ โดยทั่วไปแล้วผู้สูงอายุจะมีอุปนิสัยที่เปลี่ยนไป อารมณ์หงุดหงิดมากขึ้น โมโหง่าย ถูกกระทบกระเทือนอะไรไม่ค่อยได้ ต้นตอของอารมณ์แปรปรวนมักเกิดจาก
-1) ความผิดหวังในสิ่งที่ตนเองคาดหวังไว้
-2) ถูกทอดทิ้งหรือการพลัดพรากจากคู่ครอง และลูกๆมีครอบครัวแยกตัวออกไป
-3) เมืออายุมากขึ้นร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน ทำอะไรไม่คล่องไม่กระฉับกระเฉง โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จะทำให้มีความรู้สึกว่าตนเองด้อยค่า เกิดความรู้สึกหงุดหงิด

 

แต่เมือเราต่างก็หนีแก่กันไม่ได้แล้วเราจะเผชิญกับความแก่กันอย่างไรเราจะแก่กันแบบไหนจึงจะไม่ไร้ค่า เราจะชราแบบไหนจึงจะไม่ไร้คุณภาพอันนี้ต้องหันไปตรวจสอบบทบาทหน้าที่ลีลาชีวิตของแต่ละท่าน สิ่งที่ควรถือเป็นบทบาทสำหรับท่านผู้เป็นพ่อ แม่ หรือปู่ ย่า ตา ยาย หน้าที่สำคัญของท่านมีอยู่ 2 เรื่อง คือ แนะ กับ นำ
-แนะคือบอกให้รู้
-นำคือทำให้ดู
พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ท่านใดที่ลูกหลานเขาจะเคารพยำเกรงนับถือบูชา พฤติกรรมกับคำสอนของท่านจะต้องตรงกันด้วย พฤติกรรมคือความประพฤติหรือการกระทำ ส่วนคำสอนคือโอวาทที่ชี้แนะ หากพฤติกรรมกับคำชี้แนะ ไม่ตรงกัน คำแนะนำนั้นไร้ความศักดิ์สิทธิ์ เหมือนแม่ปูสอนลูกปู บุพพการีชนต้องสร้างตนให้เป็นตัวอย่างแก่อนุชนเริ่มต้นตั้งแต่แรกด้วยการ รักษาศีลให้ลูกหลานดูกตัญญูให้ลูกเห็น เป็นร่มโพธ์ร่มไทรให้ลูกเย็นนี่แหละคือบทบาทอันทรงคุณค่า

รักษาศีลให้ลูกดู คือรักษาความเป็นปกติของความเป็นมนุษย์ไว้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกให้หลานเย็น อย่าเป็นคนโหดร้าย อย่าเป็นคนใจอยาก อย่าเป็นคนมากรัก อย่าเป็นคนปากชั่ว อย่าเป็นคนมัวเมา
กตัญญูให้ลูกเห็น กล่าวคือหลายๆ ท่านคงจะเคยได้ยินคำตัดพ้อต่อว่าเชิงน้อยเนือต่ำใจของพ่อแม่บางท่านว่าลูกหลานมันอกตัญญู ไม่ดูแลได้พ่อแม่ใหม่ลืมพ่อแม่เก่า ซึ่งทั้งเจ็บแค้นและเจ็บใจ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือว่าถ้าหวังจะให้ลูกหลานกตัญญูดูแลท่าน ท่านจะต้องกตัญญูดูแลพ่อแม่และบุพการีระดับสูงของท่านซึ่งได้แก่ปู่ย่าตายาย ให้ลูกหลานได้เห็นเป็นแบบอย่าง หากท่านไม่เคยกตัญญูต่อผู้ใหญ่ในตระกูลให้ลูกหลานเห็นแล้ว เด็กมันจะเอาอะไรเป็นตัวอย่างละครับ

พ่อแม่ปู่ย่าตายาเหมือนต้นไม้ใหญ่ ที่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงา ธรรมดาไม้ใหญ่ย่อมจะมีผลดกหมู่วิหคนกกาจึงผวาซุกปีกเข้าอาศัยได้ความร่มเย็นเป็นสุขใต้ต้นไม้ฉันใด พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ฉันนั้นต้องเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ความสุขแก่ลูกหลาน อย่าเป็นร่มขนุนร่มทุเรียน ที่เขาผวาไม่กล้าเข้าใกล้ เกรงจะหล่นใส่ ผู้ใหญ่บางท่านลูกหลานเข้าใกล้ไม่ได้ ทำตนดุจยักษ์มารลูกหลานก็หนีหมด

ผมอยากจะบอกว่า ผู้สูงอายุทั้งหลายเหลือชีวิตอีกเพียงวัยเดียว คือวัยชราหรือปัจฉิมวัย ดังนั้นโปรดอย่าลืมว่า ถึงแม้ร่างกายจะต้องเสื่อมถอนไปตามสังขารแต่ส่วนของเกียรติยศชื่อเสียงและ คุณความดีที่ได้บำเพ็ญไว้ จักไม่สลายไปตามสังขารที่ล่วงโรยไป แต่กลับจะคงอยู่ให้ใครๆ ได้ถือเป็นแบบอย่าง และคิดถึงด้วยความรักตลอดไป สุดท้ายผมขอนำเอาเคล็ดลับการมีอายุยืนมาฝากเพื่อท่านทั้งหลายจะได้ลองนำไปปฏิบัติกันนะครับ


เคล็ดลับอายุยืน

"เคลื่อนไหว" ทำให้ร่างกายแข็งแรง
"ความสงบ" ทำให้จิตเป็นสุข
"สุขใจ" เป็นบ่อเกิดของอายุวัฒนะ
"อดทน" เป็นบ่อเกิดแห่งบุญญาบารมี

ข้อควรปฏิบัติ:- นอนแต่หัวค่ำ / หลับให้สนิทคืนละอย่างน้อย 7 ชม. / ตื่นแต่เช้า / มีกิจวัตรประจำวันทุกวัน / ออกกำลังกายสม่ำเสมอ / เดินวันละอย่างน้อย 5000 ก้าว / งดเสพของมึนเมา และบุหรี่ / กินอิ่ม 7 ส่วน คือไม่บริโภคเกินขนาด / ทำงานและพักผ่อนต้องสมดุลย์ / หัวเราะมากๆ / ไม่กลัดกลุ้ม / จิตแจ่มใสเสมอ / ไม่พร่ำเรื่องแค้นเคือง / ช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อมีโอกาสและด้วยความจริงใจ / จงรักผู้อื่นเหมือนรักตัวเอง

 

อันตัวเรานั้นเปรียบเสมือนผู้เดินทางผ่านวิถีแห่งกรรม แล้วก็จากไป จงยึดมั่นในกรรมดี และจงทำในสิ่งที่สามารถตอบตัวเองได้ว่า “ทำไปทำไม?”