วันสารทไทย

 

ความหมาย
สารทเป็นการทำบุญกลางปีของไทยตรงกับวันสิ้นเดือน ๑๐ หรือวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งเป็นฤดูที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้สุกข้าวและต้นผลไม้ที่ปลูกไว้กำลังให้ผลเป็นครั้งแรกในฤดูนี้

ความเป็นมา
สารทเป็นนักขัตฤกษ์ ถือเป็นประเพณีนิยมมาแต่โบราณว่าเทศกาลทำบุญสิ้นเดือน ๑๐ คือ วัน เวลา เดือน และปีที่ผ่านพ้นไปกึ่งปี และโดยที่มนุษยชาติดำรงอยู่ได้ด้วยเกษตรกรรมเป็นหลักสำคัญเมื่อถึงกึ่งปีเป็นฤดูกาลที่ข้าวออกรวงเป็นน้ำนม จึงได้มีกรรมวิธีปรุงแต่งที่เรียกว่า กวนข้าวทิพย์ หรือ ข้าวปายาส ข้าวยาคู และขนมชนิดหนึ่งเรียกว่า กระยาสารทแล้วประกอบการบำเพ็ญกุศลถวายพระสงฆ์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนาทั้งอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนผู้มีพระคุณและแจกสมนาคุณญาติมิตรตามคติที่ชาวไทยเป็นพุทธศาสนิกชน แม้จะเป็นประเพณีที่มีส่วนมาจากลัทธิพราหมณ์ชาวไทยก็นิยมรับเพราะเป็นประเพณีในส่วนที่มีคุณธรรมอันดีพึงยึดถือปฏิบัติพิธีสารทนอกจากเป็นประเพณีของชนชาวไทยทั่วไปแล้วในส่วนของพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่าพิธีของหลวงนั้นในสมัยสุโขทัยมีในตำนานนางนพมาศว่า" ...ราชบุรุษชาวพนักงานตกแต่งโรงพิธีในพระราชนิเวศน์ตั้งก้อนเส้าเตาเพลิงแลสัมภาระเครื่องใช้เบ็ดเสร็จ นายนักการระหารหลวงก็เก็บเกี่ยวครรภสาลีและรวงข้าวมาตากตำเป็นข้าวเม่าข้าวตอกส่งต่อมณเฑียรวังเวรเครื่องนายพระโคก็รีดน้ำขีรารสมาส่งดุจเดียวกันครั้งได้ฤกษ์รับสั่งให้จ่าชาวเวรเครื่องทั้งมวลตกแต่งปรุงมธุปายาส ปรุงปนระดมเจือล้วนแต่โอชารส มีขัณฑสกร น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล นมสด เป็นต้นใส่ลงในภาชนะซึ่งตั้งบนเตาเพลิงจึงให้สาวสำอางกวนมธุปายาสโดยสังเขปชาวดุริยางค์ดนตรีก็ประโคมพิณพาทย์ ฆ้องกลอง เล่นการมหรสพ ระเบงระบำล้วนแต่นารีแล้วพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยราชบริพารนำข้าวปายาสไปถวายพระมหาเถรานุเถระ"ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้สืบประเพณีพระราชพิธีสารทมาจัดทำ เช่น ในรัชกาลที่ ๑ มีพระราชพิธีสารทกวนข้าวทิพย์ รัชกาลต่อมาได้ทำบ้างงดบ้าง จนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสารท มีกำหนดการดังนี้

เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) เสนาบดีกระทรวงวังรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่าราชประเพณีแต่ก่อนมา ถึงเวลากลางปีเคยมีการพระราชพิธีสารทกวนข้าวทิพย์ปายาสทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายยาคูแด่พระสงฆ์ด้วยว่าประจวบฤดูข้าวในนาแรกออกรวงเป็นกษีรรสพอจะเริ่มบริจาคเป็นทานถวายแด่ภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ได้เรียกว่าสาลีคัพภทานแต่เว้นว่างมิได้กระทำมาเสียนานมีพระราชประสงค์ที่จะทรงกระทำในปีนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีสารทในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แต่งสาวพรหมจารีราชอนุวงศ์ให้กวนข้าวทิพย์ปายาส แลแผ่พระราชกุศลแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน ให้รับรวงข้าวอ่อนไปแต่งเป็นยาคูบรรจุโถทำด้วยฟักเหลืองประดับประดาอย่างวิจิตรพึงชม ถวายโดยเสด็จในการพระราชกุศลพิธีสารท มีกำหนดการดังนี้ วันที่ ๒๕ กันยายน ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ แรม ๑๕ ค่ำ ปีเถาะเจ้าพนักงานจะได้แต่งการในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเชิญพระพุทธรูปชัยวัฒน์ทั้ง๗ รัชกาลแลพระสุพรรณบัฏ พระมหาสังข์พระเต้าน้ำพระพุทธมนต์ ทั้งพระแสงราชาวุธ จัดตั้งไว้บนพระแท่นเศวตฉัตรตั้งโต๊ะจีนสองข้างประดิษฐานพระพุทธรูปนิรันตรายบนโต๊ะข้างตะวันออก ประดิษฐานรูปพระสยามเทวาธิราชบนโต๊ะข้างตะวันตกตั้งเครื่องนมัสการสรรพสิ่งทั้งปวง สำหรับพระราชพิธีพร้อมกับทั้งตกแต่งโรงพระราชพิธีที่กวนข้าวทิพย์ปายาส ณ สวนศิวาลัย แลแต่งหอเวทวิทยาคมพราหมณ์เข้าพิธีเสร็จสรรพเวลา ๕.๐๐ ล.ท. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงจุดเทียนนมัสการทรงศีลอาลักษณ์อ่านประกาศพระราชพิธีสารทเมื่ออาลักษณ์อ่านประกาศจบพระสงฆ์๓๐รูปสวดพระพุทธมนต์สาวพรหมจารีราชอนุวงศ์ซึ่งจะกวนข้าวทิพย์ปายาสฟังพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ในพระสูตรครั้นสวดจบสมเด็จพระสังฆราชเจ้าถวายอดิเรกถวายพระพรลาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ทรงเจิมพระราชทานสาวพรหมจารี แล้วท้าวนางนำไปสู่โรงพระราชพิธี ณ สวนศิวาลัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปเข้าโรงพระราชพิธี ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ลงในกะทะแลทรงเจิมพายแล้วทรงรินน้ำพระพุทธมนต์ในพระเต้าลงกะทะโดยลำดับ โปรดเกล้าฯให้หม่อมเจ้าน้อยฯ นำเครื่องปรุงอเนกรสหยอดตามเสด็จไปเจ้าพนักงานเทถุงเครื่องกวนลงในกะทะ สาวพรหมจารีกวนข้าวทิพย์ปายาส เจ้าพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร เครื่องดุริยางค์ พราหมณ์ หลั่งน้ำเทพมนต์ลงทุกกะทะ เพื่อเป็นสวัสดิมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับครั้นกวนข้าวทิพย์ปายาสได้ที่แล้วเจ้าพนักงานบรรจุเตียนนำไปตั้งไว้ในมณฑลพระราชพิธี ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยวันที่ ๒๖ กันยายน ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีเถาะเวลาเช้าเจ้าพนักงานจะได้รับโถยาคูซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทแต่งมาโดยเสด็จการพระราชกุศล จัดตั้งเรียงไว้ถวายตัวเวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงจุดเทียนนมัสการทรงศีล พระสงฆ์ถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระ-เนตรโถยาคู ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทแต่งมาถวาย ทรงเลือกปักธงชื่อพระตามพระราชประสงค์จำนงพระราชทานโถไหนแก่รูปไหนแล้ว เจ้าพนักงานยกไปตั้งตามที่ทางประเคนภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ครั้นพระสงฆ์ฉันของคาวแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ประเคนของหวานกับทั้งยาคูแลข้าวทิพย์ปายาส

ครั้นฉันแล้วทรงประเคนเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้าถวายอดิเรกถวายพระพรลาแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับ เจ้าพนักงานจำแนกข้าวทิพย์ปายาสพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ กับข้าทูลละอองธุลีพระบาททั่วกันแล้วเป็นเสร็จการพิธีของประชาชนในประเพณีเกี่ยวกับการทำบุญเนื่องในวันสารทไทย ซึ่งกำหนดไว้เป็นที่แน่นอนว่า วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ดังกล่าวมาแล้วนั้นปรากฎว่า มีประเพณีทำบุญทำนองเดียวกันในภาคอื่น ๆ ด้วยหากแต่กำหนดวันและวิธีปฏิบัติอาจแตกต่างกันดังนี้

ภาคใต้
มีประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ปู่ย่าตายายญาติพี่น้องและบุคคลอื่น ๆ ที่ล่วงลับไปแล้ว ในเดือน ๑๐ เป็นสองวาระคือ วันแรม ๑ค่ำ เดือน ๑๐ ครั้นหนึ่ง และวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ อีกครั้งหนึ่งโดยถือคติว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายายและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วโดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรกหรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ดังนั้น จึงมีการทำบุญในสองวาระดังกล่าวนี้ แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เพราะมีความสำคัญมากกว่า(บางท้องถิ่นทำในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐) การทำบุญของชาวไทยภาคใต้ดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกเป็น ๔ อย่างคือ

๑. ประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยกำหนดเอาเดือนทำบุญเป็นหลัก
๒. ประเพณีทำบุญวันสารทโดยถือหลักของการทำบุญที่มีความสัมพันธ์กับอินเดียเหมือน
วันสารทไทยของคนไทยในภาคกลางดังกล่าวมาแล้ว บางครั้งก็เรียกว่าประเพณีทำบุญสารทหรือเดือนสิบ
๓. ประเพณีจัดห.ม.รับ (สำรับ) การยกห.ม.รับ และการชิงเปรตคำว่า จัดห.ม.รับ ได้แก่ การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุโดยให้พระภิกษุจับสลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้แล้วนำถวายพระภิกษุเป็นมื้อๆการยกห.ม.รับที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัดพร้อมทั้งภัตตาหารไปถวายพระภิกษุในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โตก็ได้ บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย ส่วนชิงเปรตหรือตั้งเปรตนั้น เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ กล่าวคือ เมื่อจัดห.ม.รับ ยกห.ม.รับไปถวายพระภิกษุแล้วจะเอาอาหารที่จัดไว้ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากไปจัดตั้งไว้ให้เปรต โดยมากเป็นอาหารที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือขนม ๕ อย่าง คือ ขนมพองขนมลา ขนมกง ขนมดีซำ และขนมบ้า สถานที่ตั้งอาหาร เป็นร้านสูงพอสมควร เรียกว่า ร้านเปรตหรือหลา (ศาลา) เปรต มีสายสิญจน์วงรอบโดยให้ปลายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งโยงมาสำหรับพระภิกษุชักบังสุกุลซึ่งชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ พบเก็บสายสิญจน์แล้วก็จะมีการแย่งอาหารและขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนานเรียกว่าชิงเปรต แล้วนำมากินถือว่าได้กุศลแรงและเป็นสิริมงคลการทำบุญด้วยวิธีตั้งเปรตและชักบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลนี้ บางครั้งเรียกว่า การฉลองห.ม.รับและบังสุกุล ถือว่าสำคัญเพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย

๔. ประเพณีทำบุญตายายหรือประเพณีรับส่งตายาย โดยถือคติว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
กลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน๑๐และกลับนรกตามเดิมในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ แต่มีบางแห่งถือว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เหล่านี้เป็นตายาย เมื่อท่านมาก็ทำบุญรับ เมื่อท่านกลับก็ส่งกลับ จึงเรียกประเพณีดังกล่าวนี้ว่า ทำบุญตายายของทำบุญก็เหมือนกับที่กล่าวไว้ในข้อ ๓

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานมีประเพณีการทำบุญในเดือน ๑๐ เหมือนกัน คือ ทำในวันขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ แต่แบ่งระยะเวลาของประเพณีการทำบุญออกไปเป็น
๒ ระยะ ดังนี้

ระยะแรก ก่อนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ชาวบ้านจะเตรียมข้าวเม่าพอง และข้าวตอก (บางแห่งเรียกดอกแตก) ขนมและอาหารหวานคาวอื่น ๆ เพื่อจะทำบุญในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ มาถึงโดยเฉพาะ ข้าวเม่าพอง กับข้าวตอกนั้น จะคลุกให้เข้ากันแล้วใส่น้ำอ้อยน้ำตาล ถั่วงา มะพร้าวให้เป็นข้าวสาก ซึ่งตรงกับคนไทยภาคกลางเรียกว่า กระยาสารท เมื่อเตรียมของทำบุญไว้เรียบร้อย ก็จะเอาข้าวปลาอาหารไปส่งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงถ้าหากบุคคลเหล่านั้นอยู่ห่างไกลก็จะไปค้างคืนนอกจากมอบของแล้วจะถือโอกาสเยี่ยมเยียนถามทุกข์สุขเป็นประเพณีที่เรียกว่า ส่งเขาส่งเรา ผลัดกันไปผลัดกันมาเป็นการแลกเปลี่ยนกันส่วนข้าวสารหรือกระยาสารทนั้นจะส่งก่อนวันทำบุญหรือในวันทำบุญก็ได้ เรียกว่า ส่งข้าวสาก

ระยะที่สอง คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เวลาเช้าชาวบ้านไปทำบุญตักบาตรที่วัด อุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่อาจมีบางคนอยู่วัดรักษาศีล ฟังเทศน์ก็ได้ ครั้นถึงเวลาใกล้เพล ก็เตรียมภัตตาหารไปวัดอีกครั้งหนึ่ง มีห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ ข้าวสาก และอาหารอื่น ๆ บางแห่งอาจจัดของที่จะถวายเป็นกัณฑ์เทศน์ไปด้วยเมื่อถึงวัดแล้ว ก็จะจัดภัตตาหารและของพี่จะถวายพระภิกษุถวายเสียก่อน บางแห่งนิยมทำเป็นสลาก ชาวบ้านคนไหนจับสลากถูกชื่อพระภิกษุรูปใด ก็ถวายรูปนั้น ทำนองเดียวกับการทำบุญสลากภัตจึงเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจว่า การทำบุญข้าวสากก็คือทำบุญด้วยวิธีถวายตามสลากส่วนห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ ชาวบ้านแจกกันเอง ห่อข้าวน้อยนั้น เมื่อแจกแล้วก็แก้ห่อออกกินกันในวัดทีเดียว ถือกันว่าเป็นการกินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ส่วนห่อข้าวใหญ่เอากลับไปบ้าน เก็บไว้ในเวลาต่อไป เพราะอาหารในห่อนั้นเป็นพวกของแห้ง เช่น ปลาแห้งเนื้อแห้ง ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน ๆ ถือคติว่าเอาไปกินในปรโลก ประเพณีแจกห่อข้าวน้อยและห่อข่าวใหญ่นี้ ปัจจุบันเกือบไม่มีแล้ว จะจัดเพียงภัตตาหารไปถวายพระภิกษุพร้อมด้วยข้าวสากหรือถวายกระยาสารทเท่านั้น

สำหรับข้าวสากที่จะนำไปแจกกันเหมือนกระยาสารทของคนไทยภาคกลางนั้นวิธีห่อผิดกับทางภาคกลาง เพราะห่อด้วยใบตองกลัดด้วยไม้กลัด หัวท้ายมีรูปลักษณะคล้ายข้าวต้มมัด แต่ตรงปลายทั้งสองข้างที่เรียกว่าสันตองไม่ต้องพับเข้ามา ของที่ใส่ในห่อ มีข้าวต้ม (ข้าวเหมือนแบบข้าวต้มผัด) ข้าวสาก แกงเนื้อ แกงปลา หมาก พลู บุหรี่ห่อแล้วเย็บติดกันเป็นคู่ ๆ เอาไปห้อยไว้ตามต้นไม้ รั้วบ้าน เมื่อห้อยไว้แล้วก็ตีกลองหรือโปงเป็นสัญญาณให้เปรตมาเอาไปและปล่อยทิ้งไว้ชั่วพักหนึ่งกะเวลาที่เปรตได้มารับเอาอาหารที่ห้อยไว้นั้นไปแล้ว ชาวบ้านก็แย่งกันชุลมุน ใครแย่งเก่งก็ได้มากกว่าคนอื่น เรียกว่าแย่งเปรตของที่แย่งเปรตไปได้นี้ ชาวบ้านจะเอาไปไว้ตามไร่นา เพื่อเลี้ยงตาแฮก (ยักษินีหรือเทพารักษ์ รักษาไร่นาซึ่งเคยเลี้ยงมาเมื่อตอนเริ่มทำนาในเดือน ๖ มาครั้งหนึ่งแล้ว)นอกจากเลี้ยงตาแฮกแล้วก็เอาไปให้เด็กรับประทานเพราะถือว่าเด็กที่รับประทานแล้วจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ไม่เจ็๋บไข้ได้ป่วย