เชาวน์ปัญญาคืออะไร

 
 


 

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

อัญชลี จุมพฎจามีกร ผู้รวบรวมและเรียบเรียง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สเปญ อุ่นอนงค์ ผู้ให้คำปรึกษา

คำว่าเชาว์นปัญญามีผู้เรียกแตกต่างกันไปเช่น ภูมิปัญญา สติปัญญาหรือไอคิว (I.Q.) ในปัจจุบันเรื่องนี้เป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวาง เรามาดูกันซิว่าคืออะไร

เชาวน์ปัญญา

หมายถึงความสามารถของบุคคลในการเรียนรู้ การปรับตัวต่อปัญหาอย่างเหมาะสมและความสามารถในอันที่จะทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างมีจุดมุ่งหมายและมีคุณค่าทางสังคม สามารถคิดอย่างมีเหตุผลสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

พัฒนาการของเชาวน์ปัญญา

เชาวน์ปัญญาเป็นสิ่งที่บุคคลแต่ละคนมีติดตัวมาแต่กำเนิดและพัฒนาสมบูรณ์ยิ่งขึ้นตามระดับอายุและสิ่งแวดล้อมเชาวน์ปัญญาของแต่ละคนจะมีลักษณะที่สูงต่ำไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ หลายอย่าง เช่น

พันธุ์กรรมที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อมาจากพ่อแม่ คนเราจะมีเชาวน์ปัญญาดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับพันธุ์กรรม 80% สิ่งแวดล้อม 20%
ความสมบูรณ์ของสมองและระบบประสาท
สิ่งแวดล้อมที่ช่วยกระตุ้น และส่งเสริมให้บุคคลได้มี โอกาสเรียนรู้เช่น
พ่อแม่ที่เอาใจใส่พูดคุยกับลูก ลูกจะเรียนได้ดีและช่วยให้มีเชาวน์ปัญญาดี
การให้ความรักและความอบอุ่น การยอมรับ การเลี้ยงดูอย่างมีเหตุผล ที่เหมาะสม มีผลต่อสุขภาพจิตดีและมีอิทธิพลต่อเชาวน์ปัญญา เมื่อเด็กได้รับการตอบสนองความต้องการขั้นมูลฐานดังกล่าวแล้วเขาก็พร้อมที่จะพัฒนาความสามารถของเขาอย่างเต็มที่
ถ้าพ่อแม่เลี้ยงดูลูกแบบทนุถนอมปกป้องเหมือนไข่ในหิน จะทำให้พัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของเด็กช้าลง
การมีหนังสือดีๆให้อ่านตามความเหมาะสมของแต่ละวัยจะช่วยในการพัฒนาเชาวน์ปัญญา
การท่องเที่ยว ชมสถานที่น่าสนใจ จะเป็นสิ่งกระตุ้นพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญา ในด้านต่างๆ ช่วยให้เด็กรู้จักคิด สังเกต และแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
อายุ ระดับอายุที่พัฒนาการของเชาวน์ปัญญาถึงขั้นสูงสุดคือระหว่างอายุ 15-25 ปี เชาวน์ปัญญาเมื่อพัฒนาถึงขั้นสูงสุดจะค่อยๆเสื่อมลงตามวัย แต่มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แทบสังเกตไม่ได้ การเสื่อมของเชาวน์ปัญญา ในแต่ละด้านอาจเสื่อมเร็วและช้าไม่เท่ากัน
เพศ เพศชายมักมีความสามารถทางด้านการคำนวณ ถนัดทางกลไก การกระทำที่ใช้ไหวพริบ และความรวดเร็วดีกว่าหญิง ส่วนเพศหญิงมักมีความคล่องแคล่วในการใช้มือ งานที่ต้องใช้ฝีมือ ลายละเอียด การใช้ภาษาความสามารถทางภาษา ความจำ
เชื้อชาติ เด็กลูกผสมมักจะมีเชาวน์ปัญญาสูงกว่าเด็กที่ไม่ใช่ลูกผสมความผิดปกติ ทางสมอง อาจมีผลต่อการเสื่อมลงของเชาวน์ปัญญา ก่อนเวลาอันสมควร เช่นเนื้องอกในสมอง ลมชัก สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง
ระดับเชาวน์ปัญญา

การจัดระดับเชาวน์ปัญญาเป็นเพียงการแสดงการเปรียบเทียบให้ทราบว่าบุคคลหนึ่ง มีความสามารถอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยสูงกว่าหรือต่ำกว่าระดับอายุ เมื่อเทียบกับบุคคลที่อยู่ในระดับอายุเดียวกัน

ระดับเชาวน์ปัญญาได้จากคะแนนที่มาจากการทดสอบเชาวน์ปัญญาด้วยแบบทดสอบเชาวน์ปัญญา ซึ่งมีอยู่หลายชนิดเพื่อให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมกับผู้รับการทดสอบ มีทั้งแบบทดสอบเพื่อดูความสามารถพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง และความสามารถทั่วไปหลายๆด้านรวมกัน

ผลการทดสอบอาจให้คะแนนเป็นตัวเลข เช่น ไอคิวหรือ คะแนนที่มีความหมายบอกระดับความสามารถ เช่น เกรด และอายุสมอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีคำนวณหาค่าที่แสดงถึงระดับเชาวน์ปัญญา ซึ่งแตกต่างกันไปในทางทดสอบแต่ละแบบ

ไอคิว

เป็นตัวเลขที่ได้จากการทดสอบเชาวน์ปัญญากับคะแนน เฉลี่ยที่คาดว่าผู้ถูกทดสอบสมควรจะทำได้ ตามระดับอายุที่แท้จริง วิธีคำนวณค่าไอคิวในการทดสอบเชาวน์ปัญญา แต่ละแบบขึ้นอยู่กับลักษณะแบบทดสอบและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ฉะนั้น ไอคิวจะเป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่าบุคคลนั้นมีระดับเชาวน์ปัญญาอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลอื่นในระดับอายุเดียวกัน

เชาวน์ปัญญาของคนเราจะเพิ่มขึ้นตามวัยในเรื่องของคุณภาพทั้งนี้ เนื่องจากเรามีโอกาสได้เรียนรู้กิจกรรมและแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆทำให้มีประสบการณ์มากขึ้น แต่เมื่อทดสอบเชาวน์ปัญญาคะแนนที่ได้เพิ่มขึ้นจะต้องนำไปเปรียบเทียบกับอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย

ตัวแปรบางอย่างมีอิทธิพลทำให้ผลการทดสอบเชาวน์ปัญญาหรือค่าของไอคิวในการทดสอบเชาวน์ปัญญาแต่ละครั้ง คลาดเคลื่อนเปลี่ยนแปลงหรือไม่คงที่ ตัวแปรดังกล่าวอาจมีได้หลายประการเช่นในระหว่างการทดสอบ มีสาเหตุที่ทำให้ผู้ถูกทดสอบใช้ความสามารถได้ไม่เต็มที่จากการ ที่มีอาการเจ็บป่วยทางกายหรือทางจิต อารมณ์เครียด ขาดแรงจูงใจและไม่มีสมาธิในการทดสอบขาดความชำนาญในการทดสอบหรือใช้แบบทดสอบไม่ถูกต้อง เป็นต้น

เชาวน์ปัญญา เป็นสิ่งที่สามารถกระตุ้น ส่งเสริมให้พัฒนาได้ ถ้าพ่อแม่มีความเข้าใจเด็กและช่วยกระตุ้น ส่งเสริมพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของเด็กอย่างถูกต้องและเหมาะสม ก็จะช่วยให้เด็กได้พัฒนาเชาวน์ปัญญาของเขาเท่าที่มีอยู่อย่างเต็มที่

ระดับเชาวน์ปัญญากับความสามารถรับการศึกษา ประกอบอาชีพและการปรับตัว

130 ขึ้นไป ฉลาดมาก เป็นไอคิวเฉลี่ยของผู้สามารถเรียน ในระดับปริญญาเอก
120-129 ฉลาด เป็นไอคิวเฉลี่ยของผู้สามารถเรียน ในระดับปริญญาโท
110-119 สูงกว่าปกติหรือค่อนข้างฉลาด เป็นไอคิวเฉลี่ยของผู้สามารถเรียน ในระดับปริญญาตรี หรือมีโอกาส จบมหาวิทยาลัยได้
90-109 ปกติหรือปานกลาง เป็นไอคิวเฉลี่ยของประชากรปกติ ส่วนใหญ่มีความสามารถปานกลางเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายได้
80-89 ต่ำกว่าปกติหรือปัญญาทึบ เชาวน์ปัญญาต่ำที่สามารถรับการ ศึกษาพิเศษสำหรับเด็กเรียนช้าๆ
70-79 ระดับเชาวน์ปัญญาก้ำกึ่ง ระหว่างปัญญาทึบกับปัญญาอ่อน และประกอบอาชีพประเภทช่างฝีมือได้
50-69 ปัญญาอ่อนเล็กน้อย มีความสามารถเทียบเท่ากับเด็กอายุ 7-10 ปี อาจพอรับรู้การศึกษาได้ ในระดับประถมต้น ป.1-ป.4 โดยเรียนอยู่ในชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียน การศึกษาพิเศษเฉพาะ ประกอบอาชีพที่ไม่ต้องความรับผิดชอบสูง หรืองาน ประเภทช่างฝีมือง่ายๆ

35-49 ปัญญาอ่อนปานกลาง มีความสามารถเทียบเท่ากับเด็ก อายุ 4-7 อาจอ่านเขียนได้เล็กน้อย แต่เรียนรู้ได้ช้า ไม่สามารถเรียน ในโรงเรียนปกติได้ ควรเรียน ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษเฉพาะ ถ้าได้รับการฝึกสอนที่เหมาะสมอาจพอดูแลตนเองในชีวิต ประจำวันได้ และทำงานง่ายๆภายใต้การควบคุมดูแล
20-34 ปัญญาอ่อนมาก มีความสามารถเทียบเท่ากับเด็กอายุ 3 ปี เรียนหนังสือไม่ได้ มีความบกพร่องเห็นได้ชัดในพฤติกรรม การปรับตัวและอาจมีพัฒนาการบกพร่องในด้านภาษาการรับรู้ การดำรงชีวิต ต้องอยู่ภายใต้การดูแล เช่นเดียวกับเด็กเล็ก
ต่ำกว่า 20
ลงไป
ปัญญาอ่อน มากที่สุด มีความสามารถเทียบเท่ากับเด็กอายุ 1-2 ปี ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ต้องมีผู้ให้การดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด

เชาว์ปัญญากับความสำเร็จ

การที่บุคคลจะประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งด้านการเรียน การประกอบอาชีพต่างๆ นอกจากจะต้องมีเชาว์ปัญญาดีแล้วจะต้องอาศัย องค์ประกอบอื่นๆด้วยเช่น

ความมุมานะพยายาม มีความอดทน
มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลทั่วไป และมีคุณธรรม
มีสุขภาพจิตดี และมีพื้นฐานทางบุคลิกภาพที่มั่นคง
สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมอย่างเหมาะสม ฯลฯ

ดังนั้นจะเห็นว่าบางคนมีเชาวน์ปัญญาดีแต่อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จในชีวิตหรือมีปัญหาการเรียน เนื่องจากขาดองค์ประกอบที่เหมาะสมดังกล่าว ข้างต้น เพราะฉะนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรมุ่งเน้น ส่งเสริมแต่เฉพาะในเรื่องการเรียนหรือเชาวน์ปัญญาของเด็กเพียงอย่างเดียว แต่ควรควบคุมไปกับการ ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะทางสังคม การปรับตัว ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น ตลอดจนการอบรมเลี้ยงดู ให้มีพื้นฐานทางบุคลิกภาพที่มั่นคงร่วมด้วยก็จะช่วยให้เขาประสบความสำเร็จตามความสามารถของเชาวน์ปัญญาที่เขามีอยู่

จะเห็นว่าการเติบโตของเชาวน์ปัญญาไม่ได้ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์เพียงอย่างเดียว แต่ สิ่งแวดล้อม วิธีการอบรมเลี้ยงดูโอกาสในการเรียนรู้ตลอดจนภาวะสุขภาพ ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญ ต่อพัฒนาการด้านเชาวน์ปัญญา ซึ่งกล่าวได้ว่า “กรรมพันธุ์กำหนดความสามารถของเชาวน์ปัญญานั้นสามารถแสดงออกมาได้มากน้อยต่างกัน”

พ่อแม่จึงไม่ควรมุ่งหวังในบุตรหลานของตนให้มีความสำเร็จเกินกว่าเชาวน์ปัญญาที่เขา มีอยู่ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตได้ แต่ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้เขาได้พัฒนา ความสามารถที่แท้จริงของเขาอย่างเต็มที่เท่าที่เขาจะสามารถทำได้ ก็จะสามารถทำได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวของเขาเองและสังคมโดยส่วนรวมและต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

ฉะนั้น เชาวน์ปัญญาเปรียบเสมือนทรัพย์อันมีค่ามหาศาล ผู้มีเชาวน์ปัญญาดีหากใช้ให้ ถูกทางก็จะเป็นประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและการพัฒนาประเทศชาติ ถึงแม้บุคคลที่มีปัญญาด้วยถ้าได้รับการฝึกสอนให้ถูกวิธีก็สามารถที่จะเลี้ยงตัวเอง และทำประโยชน์ให้สังคมได้เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

มานพ ศริมหาราช. “ปัญญาอ่อน”. วารสารโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่. ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (พ.ค.-ส.ค.2526), หน้า 11.
วิจิตรพาณี เจริญขวัญ. การทดสอบทางจิตวิทยา. กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2523.
ศูนย์สุขวิทยาจิต กระทรวงสาธารณสุข. อนุสารเรื่องเชาวน์ปัญญา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ราชทัณฑ์ 2530.
สถิต วงส์วรรค์. จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บำรุงสาสน์, 2525.
Fryer. Douglas H, General Psychology. New York : Bames & Noble, Inc., 1960.
Hilard, Emest R. Introduction to Psychology. 4th ed. New York : Harcourt Brace and World, Inc., 1965.