คณะสงฆ์อนัมนิกาย (พระญวน)
พัดยศพระสงฆ์อนัมนิกาย
พระครูคณานัมสมณาจารย์ เจ้าคณะใหญ่
เป็นพัดรูปแฉกเปลวเพลิง พื้นเยียระบับแดงสลับเหลือง และม่วง ปักเส้นดิ้นทอง ด้ามงา ยอดงา
พระครูบริหารอนัมพรต รองเจ้าคณะใหญ่
พัดรูปแฉกเปลวเพลิง พื้นเยียระบับ แดงสลับเขียว และม่วง ปักเส้นดิ้นทอง ด้ามงา ยอดงา
ปลัดขวา ปลัดซ้าย
พัดพุดตาน กลีบเยียระบับ ปักเส้นดิ้นทอง ตามขอบมีเส้นริ้วคั่น กลางขาว ด้ามงา ยอดงา
รองปลัดขวา
พัดหน้านาง พื้นอัตลัตสลับสี วงในน้ำเงิน ขอบนอกแดง ปักเส้นดิ้นทอง ด้ามงา ยอดงา
รองปลัดซ้าย
พัดหน้านาง พื้นอัตลัตสลับสี วงในแดง ขอบนอกน้ำเงิน ปักเส้นดิ้นทอง ด้ามงา ยอดงา
ผู้ช่วยปลัดขวา ผู้ช่วยปลัดซ้าย
พัดหน้านาง พื้นอัตลัตสลับสี วงในเขียว ขอบนอกแสด ปักเส้นดิ้นทอง ด้ามงา ยอดงา
เครื่องยศที่พระราชทานพระสงฆ์อนัมนิกาย
เครื่องยศที่พระราชทานแก่เจ้าคณะใหญ่ และรองเจ้าคณะใหญ่อนัมนิกายเหมือนกัน ผิดแต่พัดยศเท่านั้นคือ
1. พัดยศ
2. ไตรแพรล้วนชนิดอานัม
3. ย่ามโหมดเทศสีแดง มีดอก ซับในแพรแดง มีพู่ไหมข้างละ 2 พู่
4. บาตร์เหล็กอย่างดีมีเชิงทองเหลืองอย่างปั๊ม ถลกบาตร์สายโยงใช้โหมดเทศแดงมีดอกมีพู่ไหมข้างละพู่
5. หมวกพื้นสักหลาดสีเหลือง มีพระเจ้า 5 พระองค์ และท้าวโลกบาล
6. ญรืออี๋ (แปลว่า สุมมโนรก) ทำด้วยงาทั้งแท่ง
7. ไม้เท้า (ติ้ดเครื่อง แปลงว่าไม้อักขระ) ทำด้วยไม้แดง ยอดทำด้วยทองเหลือชุบทอง
8. ระฆังทองเหลือง มีที่ถือสำหรับเขย่าได้ 1 คู่
เครื่องยศสำหรับตำแหน่งปลัดขวาและปลัดซ้าย คงมีชนิดและจำนวน เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว ผิดกับที่พัดยศ ไตร ย่าม บาตร และญรืออี๋ ที่ทำด้วยไม้มะริดฝังงา
ส่วนเครื่องยศสำหรับตำแหน่งรองปลัดขวา รองปลัดซ้าย และกลาง ก็มีชนิดและจำนวนเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว ผิดแต่เพียง พัดยศ ไตร ย่าม บาตรและ ญรืออี๋ ทำด้วยไม้มะริดทั้งอัน
สมณศักดิ์ชั้นสัญญาบัตรของคณะสงฆ์อานัมนิกาย พระคณานัมธรรมวิธานาจารย์ เจ้าคณะใหญ่
พระครูคณานัมวุฒิจารย์ รองเจ้าคณะใหญ่
พระครูบริหารอนัมพรต ผู้ช่วยรองเจ้าคณะใหญ่
องสรภาณมธุรส ปลัดขวา
องสุตบทบวร ปลัดซ้าย
องสรพจนสุนทร รองปลัดขวา
องพจนกรโกศล รองปลัดซ้าย
องอนนตสรภัญ ผู้ช่วยปลัดขวา
องอนนตสรนาท ผู้ช่วยปลัดซ้าย
การปกครองคณะสงฆ์อนัมนิกายของไทย
เดิมบรรพชิตมหานิกายฝ่ายเหนือ คณะอานัมและคณะจีนในประเทศไทย ขึ้นอยู่กับกรมท่าซ้ายตามทางราชการ แต่พระสงฆ์ทั้ง 2 นิกายดังกล่าว ได้ยื่นบัญชีไปยังกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ทุกปี คงต้องการที่จะให้ขึ้นกับกระทรวงนี้ ดังนั้น เมื่อมีการสิ่งใดที่เกี่ยวบรรพชิตมหายาน ทางกระทรวงธรรมการก็จัดทำไปโดยอนุโลม ไม่แต่ 2 นิกายดังกล่าวแล้วเท่านั้น พระมหายานคณะญี่ปุ่น ที่เข้ามาอยู่ในไทย กระทรวงการต่างประเทศและทูตญี่ปุ่น ก็ขอให้กระทรวงธรรมการช่วยเป็นธุระให้ ได้จัดให้อยู่ที่วัดสระเกศบ้าง วัดญวนบ้าง
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2441 ทางกระทรวงธรรมการได้ทำเรื่องกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต ให้บรรตชิตมหายานคณะต่าง ๆ มาขึ้นกับกระทรวงธรรมการ ซึ่งในขณะนั้นมีจำนวนวัดฝ่ายอานัมนิกายอยู่ 7 วัด บรรพชิต 54 รูป คณะจีนนิกาย 3 วัด บรรพชิต 20 รูป บรรพชิตญี่ปุ่น 2 รูป ฝากไว้ที่วัดสระเกศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ดำเนินการตามที่ขอมา พระจีนและพระญวนจึงได้มาขึ้นอยู่กับกระทรวงธรรมการนับแต่นั้นมา
ตราประจำตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่อนัมนิกาย และตราพระอุปัชฌายะ
ตราทั้งสองดวงนี้ สมเด็จพระวันรัต สังฆนายก ได้โปรดมีบัญชาให้ทำขึ้นไว้สำหรับประทับใน หนังสือสุทธิ และกิจการของคณะสงฆ์อนัมนิกาย โดยได้มอบให้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2497
|