พระอสีติมหาสาวก

พระอสีติมหาสาวก

เป็นเรื่องเดิมของพระมหาสาวกตั้งแต่แรก ปรารถนาสาวกภูมิในอดีตชาติ จนถึงที่ท่านเหล่านั้นปรินิพพาน ส่วนจำนวนพระมหาสาวกที่เรียกว่า พระอสีติมหาสาวก อันแสดงว่ามีอยู่ 80 องค์ นั้น จะมีมาในพระคัมภีร์ที่เป็นหลักฐานในที่ใดนั้น ยังไม่ปรากฎแน่ชัด บางฉบับอ้างว่ามาในเถรคาถาบ้าง อปทานบ้าง หนังสือที่เป็นหลักฐานแต่เรื่องเอตุทัคคะที่มีในคัมภีร์ เอกนิบาต อังคตรนิกายนั้นมีจำนวน พระสาวกนับได้ 41 องค์เท่านั้น หาครบ 80 ไม่ ส่วนพระสาวก 80 องค์นั้น เห็นมีในหนังสือสวกมนต์ ผูกเป็นคาถาบ้าง เป็นนามเรียกกันไปบ้าง นอกจากนี้ยังเห็นมีที่จารึกแผ่นศิลาติดอยู่ที่รูปพระอสีติมหาสาวก ที่พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม และวัดเขมาภิรตาราม แต่ไม่ใคร่ตรงกัน มีต่าง ๆ นามกันไปสุดแต่ครบ 80 องค์ เท่านั้น เว้นแต่องค์ที่สำคัญเป็นที่รู้จักกันดี จะมีอยู่เหมือนพ้องต้องกันหมดทุกแห่ง จำนวนพระสาวกที่มีในสวดมนต์แปลและในฉบับอื่นอีกนั้น ก็ผิดเพี้ยนกันไปอีกไม่น้อย

สาระเรื่องมีอยู่มาก และมีข้อที่เป็นอรรถธรรมอยู่มาก นับเป็นสารประโยชน์ในตัวเองเรื่อง อันจะอำนวยผลให้แก่ผู้ได้สดับตามที่ควรต่อไป

 

พระกัจจายนเถระ

ยังมีพระเถระรูปหนึ่งชื่อว่า พรหมบุตรเถระมีรูปกายงามยิ่งกว่าพระเถระทั้งปวง เว้นไว้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียว เมื่อท่านไปบิณฑบาตที่ใด ผู้ที่พบเห็นต่างพากันสรรเสริญว่า พระบรมครูมาโปรดเราแล้ว ก็ชวนกันมาสักการะบูชาคารวะ เหตุว่ารูปท่านงามปานประหนึ่งว่า เป็นองค์พระพุทธเจ้า เมื่อพระเถระเห็นดังนั้น จึงคิดว่าเป็นเรื่องไม่สมควร จำจะนิรมิตกายให้แปรปรวนแปลกไปจากรูปเดิม รูปกายของท่านก็ปรากฏมาตราบเท่าทุกวันนี้ การที่เรียกว่า พระควัมปติเถระ เหตุว่าท่านรูปงามยิ่งนัก จะเทศนาก็ไพเราะปานหนึ่งพระพุทธเจ้า

ครั้นจำเนียงกาลนานมา พระควัมปติพิจารณาดูอายุสังขาร เห็นว่าจะสูญสิ้นอายุแล้ว จึงพาพระภิกษุบริวารไปยังพระเชตวันมหาวิหาร เพื่อขอลาพระพุทธองค์เข้าสู่นิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้มีพุทธฎีกาตรัสว่า ท่านจงกำหนดกาลที่จะเข้าสู่พระนิพพานนั้นเถิด พระควัมปติจึงได้ถวายนมัสการ กระทำประทักษิณพระพุทธเจ้า สิ้นวาระ 3 รอบแล้ว จึงถวายบังคมลากลับมายังสำนักของท่าน เมื่อคนทั้งหลายได้ทราบข่าวว่า พระมหาเถระจะเข้าสู่นิพพานก็พากันเศร้าโศกเสียใจ ท่านจึงได้เทศนาโปรดเขาเหล่านั้นว่า อย่าได้เศร้าโศกเสียใจ เพราะว่าเมื่อเกิดเป็นรูปกายมาแล้ว จะได้พ้นมรณะนั้นอย่าสงสัย อนิจจังก็ปรากฎสิ้นด้วยกันทุก ๆ คน อุปฺปชชิตวา นิรุชฺ ฌนฺติ เมื่อบังเกิดเป็นรูปกายแล้ว มีแต่จะดับสูญสิ้นไปเที่ยงแท้ ความตายมีอยู่ในสันดานสัตว์ทุกตัวทุกคน ถึงบุคคลที่ทำกุศลไว้บังเกิดในสวรรค์ ครั้งมัจจุราชภัยมาถึง จวนจะจุติลงมาก็บังเกิดโศกาไม่สมประดี พระมหาเถระได้เทศนาถึงความชรา ว่าร่างกายเรานี้มีสภาวะสาธารณ์ทั่วไป ย่อมเป็นที่อาศัยแห่งกองทุกข์ต่าง ๆ พิจารณาแลดู แต่ล้วนไม่มีแก่นสาร เมื่อพิจารณาเห็นรูปกายเป็นที่พึงรังเกียจ ครั้นดับจิตลงก็จะแคล้วจากอบายภูมิทั้ง 4 ดังนั้นจงอุตสาหะรักษาศีลบำเพ็ญทานการกุศล มีศีล 5 เป็นต้น แล้วท่านจึงสอนเรื่องการเลี้ยงชีวิตให้เป็นสุข ให้พ้นทุกข์ในอบายภูมิ กระทำการให้สุจริตอย่าเบียดเบียนกัน ให้มีจิตเมตตากรุณา มีความอุตสาหะมัธยัสถ์ อย่าเกียจคร้าน

จากนั้นท่านได้สอนสัมพลอุบาสกให้ไหว้ทิศทั้ง 6 คือ ตะวันออกได้แก่ มารดาบิดา ทิศใต้ได้แก่ พระอุปัชฌาย์และอาจารย์ ทิศตะวันตกได้แก่ ญาติวงศ์พงศา ทิศเหนือได้แก่ บุตรภรรยา ทิศเบื้องต่ำได้แก่ ทาสีทาสา ทิศเบื้องบนได้แก่ สมณชีพราหมณ์ ขอให้สัมพลอุบาสกเร่งตั้งใจเคารพทิศทั้ง 6 ตามที่ท่านได้แสดงให้ฟังโดยย่อและโดยพิสดาร ก็จะเกิดความสุขสถาพรตลอดไป อำนาจกุศลนั้นก็ส่งให้สำเร็จสวรรค์และนิพพาน
เมื่อพระควัมปติเถระสั่งสอน สิสสานุสิส และบอกกล่าวอำลาเสร็จแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน สิ้นชาติสังขารตามอริยประเพณี

ธรรมชาติที่เรียกว่านิพพานนั้น มีวิสัชนาว่า สีตลตฺเถน นิพพานํ ธรรมชาติที่เรียกว่านิพพานนั้น ด้วยอรรถว่าเย็น อธิบายว่าเป็นที่เย็นอกเย็นใจ จนฺโทวิย มีอุปไมยดังรัศมีพระจันทร์
สสฺสนตฺ เถน นิพพานํ ธรรมชาติอันใด ยังภพสงสารให้สิ้นไป ธรรมชาตินั้นชื่อว่านิพพาน
ปติฏธานตฺ เถน นิพพานํ พระนินพานเป็นที่ตั้งประดิษฐานทุกตัวสัตว์
สมฺ ภูตตฺเถน นิพพานํ พระนิพพานนี้ มีสภาวะมิได้พร่อง เติมบริบูรณ์อยู่เป็นนิจจกาล
สโมธานตฺเถน นิพพานํ พระนิพพานนี้ เป็นที่ประชุมกัน
อันธรรมชาติที่เรียกว่า พระนิพพานนั้น ด้วยอรรถว่าสูญสิ้นหาเศษมิได้
เขมํ สนฺตํ พระนิพพานนี้เป็นที่เกษมสุข

ในขณะนั้น บรรดามหาชนชาวชมพูทวีปทั้งปวง ต่างก็พากันมาสโมสรสันนิบาต กระทำสักการบูชาสรีศพพระมหาเถระ สิ้น 7 วัน 7 คืน ฝ่ายพระขีณาสพเจ้าทั้งปวง ก็กระทำสาธยาย สัตตปกรณาภิธรรม 7 พระคัมภีร์ สิ้นราตรียังรุ่ง องค์พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมพระสงฆ์ขีณาสพเป็นจำนวนมาก เสด็จไปปลงศพพระมหาเถระ ให้สำเร็จสรีรณาปนกิจ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธฎีกา ให้พระสงฆ์ทั้งปวงเก็บ พระอัฐิธาตุพระมหาเถระแล้วพระองค์เสด็จไปสู่นครไพศาลี ยังพระสงฆ์ให้บรรจุอัฐิธาตุพระมหาเถระไว้ในโฆษิตาราม กษัตริยและชาวพระนคร และมหาชนทั้งหลาย ก็ชวนกันกระทำเป็นพระสถูปอันใหญ่บรรจุพระมหาเถระนั้น