กรุงศรีอยุธยา

 


กรุงศรีอยุธยา

กรุงศรีอยุธยาราชธานีไทย ถึงเคยแตกแยกไปก็ไม่สิ้นคนดี...........
พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงอยุธยา ทรงหลั่งทักษิณาใต้ต้นหมัน...........

กรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองโสน ซึ่งอยู่ตรงแผ่นดินที่มีแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ล้อมรอบอยู่สามด้าน คือ ด้านทิศเหนือ ด้านทิศใต้ และด้านทิศตะวันตก ส่วนทางด้านทิศตะวันออกมีคูแยกจากแม่น้ำลพบุรี ตั้งแต่ตำบลหัวรอไปบรรจบแม่น้ำบางกะจะ ที่ป้อมเพชร เรียกว่า คูขื่อหน้า ทางด้านตะวันออกนี้มีร่องรอยของเมืองเก่า คือ เมืองอโยธยา ซึ่งปรากฏอยู่ในจารึกเก่าว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร มีศิลปวัตถุต่าง ๆ อันเป็นแบบแผนของยุคอู่ทอง และทวาราวดี


พระเจ้าอู่ทอง ทรงสร้างพระนครขึ้นที่ตำบลหนองโสนดังกล่าว แล้วตั้งนามพระนครนี้ว่า กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกบวรรัตนราชธานีบุรีรมย์ เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๓


คนทั่วไปเรียกตัวเมืองอยุธยาว่า เกาะเมือง มีรูปลักษณะคล้ายเรือสำเภา โดยมีหัวเรืออยู่ทางด้านทิศตะวันออก ชาวต่างประเทศในสมัยนั้น กล่าวถึงกรุงศรีอยุธยาว่าเป็น เวนิสตะวันออก เนื่องจากกรุงศรีอยุธยามีการขุดคูคลอง เชื่อมโยงสัมพันธ์กันกับแม่น้ำใหญ่รอบเมือง
ชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขาย และผู้คนจากเมืองใกล้เคียง ยอมรับว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าภายใน เพราะเส้นทางคมนาคมติดต่อกับ หัวเมืองต่าง ๆ ได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ติดต่อกับต่างประเทศได้ทางทะเล เรือเดินทะเลแล่นจากปากแม่น้ำ เจ้าพระยาไปจอดได้ถึงหน้าเมือง

สภาพความเป็นอยู่ของกรุงศรีอยุธยา สมัยพระเจ้าปราสาททอง ในมุมมองของพ่อค้าชาวยุโรป


กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ พื้นที่รอบนอกเป็นที่ราบแผ่ออกไปทั่วทุกทิศ กำแพงเมือง สร้างด้วยหิน วัดโดยรอบได้ ๒ ไมล์ฮอลันดา นับว่าเป็น นครหลวงที่กว้างขวางใหญ่โตมาก ภายในพระนคร มีวัดวาอาราม สร้างอยู่ติด ๆ กัน มีประชาชนพลเมือง อาศัยอยู่หนาแน่น ในตัวเมืองมีถนนสร้างตัดตรงและยาวมาก มีคลองที่ขุดเชื่อมต่อจากแม่น้ำเข้ามาในตัวเมือง ทำให้สดวกแก่การสัญจรไปมาได้อย่างทั่วถึง
นอกจากถนนหลัก และคลองหลักแล้ว ยังมีตรอกซอย แยกจากถนนใหญ่ และคูเล็กแยกจากคลองใหญ่ ทำให้ในฤดูน้ำ บรรดาเรือพายทั้งหลาย สามารถไปได้ถึงหัวกะไดบ้าน


บ้านที่อยู่อาศัยสร้างตามแบบอินเดีย แต่หลังคา มุงด้วยกระเบื้อง บรรดาโบสถ์ วิหาร ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ๓๐๐ แห่ง ได้ก่อสร้างขึ้น อย่างวิจิตรพิศดาร บรรดาพระปรางค์ เจดีย์ และรูปปั้น รูปหล่อ ซึ่งมีอยู่มากมายใช้ทองฉาบเหลืองอร่าม นับว่าเป็นมหานครที่โอ่อ่า มีผังเมืองที่ วางไว้อย่างเป็นระเบียบ ตั้งอยู่ในทำเลทีเหมาะสม อยู่ในภูมิฐานที่ดีและมั่นคง ยากที่ข้าศึกจะโจมตีได้โดยง่ายเพราะในทุกปีจะมีน้ำท่วมถึง ๖ เดือน ทั่วพื้นที่นอกกำแพงเมือง ทำให้ข้าศึก ไม่สามารถตั้งทัพอยู่ได้

บรรดาถิ่นฐานที่อยู่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และยังดำรงคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ตลาดขวัญ ปากเกร็ด บ้านกระแซง สามโคก บางไทร บางปะอิน หัวรอและหัวแหลม เป็นต้น


สำหรับย่านชุมชนทั้งในและนอกพระนครมีหมู่บ้านของชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำมาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา ร้านค้า และตลาดของ ชาวต่างประเทศเท่าที่ปรากฏหลักฐานก็มี ร้านไทยมอญ ตลาดมอญพม่า ตลาดจัน พวกนี้อยู่ในพระนคร ที่อยู่นอกพระนครก็มี ตลาดบ้านญี่ปุ่น และหมู่บ้านแขก แถบคลองตะเคียน เป็นต้น


นอกจากนั้นยังมีพวกเลกที่เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท ก็ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้อยู่อาศัยรวมกันเป็นย่าน เพื่อทำการผลิตสิ่งของต่าง ๆ ตามที่มีพระราชประสงค์ เท่าที่มีหลักฐานมีอยู่ดังนี้


ย่านสัมพะนี ย่านนี้จะผลิตน้ำมันงา น้ำมันลูกกระเบา ทำฝาเรือนไม้ไผ่กรุ ทำมีดพร้า และหล่อครกเหล็ก เป็นสินค้าออกขาย
ย่านเกาะทุ่งขวัญ แบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม คือ บ้านปั้นหม้อ บ้านทำกระเบื้อง บ้านศาลาปูน (เผาปูน) และบ้านเขาหลวงจีน ตั้งโรงต้มเหล้า เป็นสินค้าออกขาย
ย่านเกาะทุ่งแก้ว แบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม มีอาชีพหล่อเต้าปูนทองเหลือง ปั้นตุ่มนางเลิ้ง เลื่อยไม้กระดาน ทำตะปูเหล็ก ทำแป้งหอมน้ำมันหอม ธูปกระแจะ ปั้นกระโถนตะคันช้างม้าตุ๊กตา และบ้านโรงฆ้องนำกล้วยมาบ่มเป็นสินค้าออกขาย

พระพุทธศาสนา เป็นเครื่องหล่อหลอมวิถีชีวิตไทย


วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นที่มาของขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมทุกแขนง เป็นศูนย์กลางของการศึกษา ที่ไม่มีพรมแดน พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก หลายพระองค์ได้ทรงผนวช ในพระศาสนา เป็นระยะเวลานาน ได้ทรงสร้าง ประเพณีทางพุทธศาสนาผสมกับศาสนาพราหมณ์ไว้มาก และได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น พระราชพิธีสิบสองเดือน มีพระราชพิธีสงกรานต์ในเดือนห้า
พระราชพิธีจรดพระนังคัล ในเดือนหก และพระราชพิธีจองเปรียง ตามพระประทีปในเดือนสิบสอง เป็นต้น สำหรับประเพณี ที่เป็นของทางศาสนาพุทธแท้ ๆ ก็มีอยู่มาก เช่น ประเพณีการไปไหว้พระพุทธบาท ประเพณีเทศน์มหาชาติ พระเพณีสวดพระมาลัย เป็นต้น