กรุงศรีอยุธยา

 

 


การสงครามกับอริราชศัตรู


กรุงศรีอยุธยาได้พัฒนาในทุก ๆ ด้านมาโดยลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงจัดระบบการปกครอง ให้เป็นปึกแผ่น เข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นรากฐาน ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาได้พัฒนาต่อไปตามลำดับ
มาถึงรัชสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราชทรงปรับปรุงด้านการทหาร รวบรวมหัวเมืองอิสสระน้อยใหญ่มาอยู่ในอำนาจของ อาณาจักรอยุธยา ทำสงครามกับลานนายึดเมืองเชียงใหม่ได้ ในห้วงเวลาเดียวกันมอญ ได้ถูกพม่ารุกรานจนต้องตกอยู่ในอำนาจของพม่า ซึ่งกำลังทำสงคราม แผ่อาณาจักรอยู่ มีมอญส่วนหนึ่งจากเมืองเชียงกราน หนีพม่าเข้ามาพึ่งไทย
พม่าจึงยกกองทัพเข้ายึดเมืองเชียงกรานไว้ได้ สมเด็จพระชัยราชาธิราช จึงทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงกรานกลับคืนมาได้ เป็นการเปิดฉากการสงครามระหว่างไทยกับพม่านับแต่นั้นมา พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาสมัยพระมหาจักรพรรดิ์ ได้มีการต่อสู้กันที่ทุ่งภูเขาทองจนสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ต้องสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๑๑๒ แต่อีก ๑๕ ปีต่อมา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงสามารถ กอบกู้เอกราชกลับมาได้ โดยทรงประกาศอิสสรภาพที่เมืองแครง เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๗ พระองค์ได้ทรงทำสงคราม เพื่อความเป็นปึกแผ่นของแผ่นดินไทย ตลอดพระชนมายุของพระองค์ ทำให้อาณาจักรอยุธยาแผ่ไปอย่างกว้างขวาง เป็นหนึ่งในสุวรรณภูมิ

การสงครามครั้งสำคัญคือสงครามยุทธหัตถี ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา ที่ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี ผลจากสงครามครั้งนี้ทำให้พม่า ไม่กล้ายกกองทัพมารุกรานไทย เป็นระยะเวลาเกือบ ๒๐๐ ปี ทางด้านตะวันออก พระองค์ก็ได้ทรงปราบปรามกัมพูชา ที่คอยถือโอกาสซ้ำเติมเมื่อคราวไทยอ่อนแอ หรือเวลามีศึกสงครามทางด้านอื่น
ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นการเสียกรุงอย่างย่อยยับที่สุด ในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะพม่าได้เผาผลาญทำลายทุกสิ่งทุกอย่างโดยสิ้นเชิง บ้านเมือง วัดวาอาราม ปราสาทราชวัง ถูกทำลายลงสิ้น ผู้คนที่อพยพหนีพม่า เข้ามาอยู่ในเมืองประมาณหนึ่งแสนคนเศษ ถูกพม่าฆ่าตายมากกว่าครึ่ง ที่เหลือก็ถูกกวาดต้อน นำไปเมืองพม่าอย่างทารุณ ได้รับความยากแค้นแสนสาหัส ทรัพย์สินของมีค่าต่าง ๆ ถูกนำกลับไปพม่านับประมาณมิได้
กรุงศรีอยุธยาอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด หมดสภาพที่จะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ได้ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกรุงศรีอยุธยา ที่ว่างศึกสงครามมานานนับศตวรรษ ผู้คนมีความเป็นอยู่อย่างสนุกรื่นเริง ดังปรากฎในเพลงยาวรบพม่า พระราชนิพนธ์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งมีอยู่ว่า


"ทั้งพิธีปีเดือนคืนวัน สารพันจะมีอยู่อัตรา
ฤดูใดได้เล่นเกษมสุข แสนสนุกทั่วเมืองหรรษา"
ก็ถึงแก่กาลแตกดับอย่างไม่คาดผัน กลายเป็น
"ไม่เห็นเช่นว่าจะเป็นถึงเพียงนี้ มายับเยินอัปรีย์ศรีศักดิ์คลาย
.......... มาวินาสสิ้นสุดสูญหาย
สารพัดย่อยยับกลับกลาย อันตรายไปทั่วพื้นปฐพี"

อวสานของกรุงศรีอยุธยา

 

เมื่อมีเกิดก็มีดับ กรุงศรีอยุธยาดำรงความเป็นราชธานีไทย ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองจนล่วงมาถึง สมัยพระเจ้าเอกทัศน์ เป็นระยะเวลา ๔๑๗ ปี นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๑๘๙๔ ถึง ปี พ.ศ.๒๓๑๐ ก็ถึงกาลล่มสลายอย่างย่อยยับด้วยความอ่อนแอ ของคนไทยเราเอง เพื่อให้เห็นภาพลักษณ์ดังกล่าว จึงขอยกเอาคำรำพึงของมหากวีเอกของไทยคือสุนทรภู่ ที่ได้บรรยายไว้ในนิราศพระบาทถึงสภาพของ กรุงศรีอยุธยาไว้บางตอนดังนี้
........... ดูปราสาทราชวังเป็นรังกา ดังป่าช้าพงชัฏสงัดคน
อนิจจาธานินสิ้นกษัตริย์ เหงาสงัดเงียบไปดังไพรสณฑ์
แม้กรุงยังพรั่งพร้อมประชาชน จะสับสนแซ่เสียงทั้งเวียงวัง
.................................
........... ดูพาราน่าคิดอนิจจัง ยังได้ฟังแต่เสียงสกุณา