หัตถกรรมกรุงเก่า
สมัยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีความเจริญในด้านช่างหลายแขนง ศิลปสกุลช่างอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นด้าน สถาปัตยกรรม จิตกรรม หรือประติมากรรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคทองของศิลปกรรมไทย โดยดูได้จากเครื่องทองของมีค่า เช่น ข้าวของ เครื่องใช้เครื่องประดับของเจ้านาย จากฝีมือช่างในราชสำนัก ที่พบในกรุวัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ
ในอดีต มีงานศิลปหัตถกรรมระดับชาวบ้าน ชาวเมืองก็มีมากมาย โดยเฉพาะในเกาะเมืองตลอดจนบริเวณโดยรอบ มีแหล่งผลิตและจำหน่าย เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเหล็ก เครื่องเงิน เครื่องทองเหลือง ตะลุ่มพาน เครื่องอัฐบริขาร และเครื่องไม้ปรุงเรือน
ภายหลังที่กรุงแตก ผู้คนต้องหนีภัยสงคราม และช่างในราชสำนักถูกพม่ากวาดต้อนไปพม่า บางกลุ่มที่หนีเข้าป่าแล้วกลับมาตั้งรกรากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ศิลปหัตถกรรมกรุงเก่า ในปัจจุบันจะมีหม้อดินเผาคลองสระบัว มีดอรัญญิก รูปหินสลัก ตะเพียนทอง ปลาไทยจากใบลาน ตุ๊กตาชาวบ้าน งอบกรุงเก่า ปรุงเรือนไทย เป็นต้น
หม้อดินเผาคลองสระบัว
อาชีพปั้นหม้อของชุมชนสองฝั่งคลองสระบัว (เป็นงานอาชีพหัตถกรรมที่เก่าแก่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี) และเดิมคลองสระบัว มีชื่อเรียกว่า คลองหม้อ
ปัจจุบัน คงเหลือผู้ปั้นหม้อเพียงสิบกว่าหลังคาเรือน และหม้อที่ยังคงปั้น มีอยู่ ๕ ชนิด คือ หม้อต้น หม้อกลาง หม้อจอก หม้อหู และ หม้อกา โดยสามอย่างแรก เป็นหม้อลักษณะกลมก้นมนมีฝาปิด (แบบหม้อต้มยา) ส่วนหม้อหู คือหม้อแกงมีหู และหม้อกา คือกาต้มน้ำ ที่นิยมทำขาย คือ หม้อกลาง และหม้อจอก เฉพาะขนาดพอเหมาะใช้สำหรับหุงต้ม
มีดอรัญญิก
มีดอรัญญิก เป็นมีดที่ชาวบ้านไผ่หนอง และบ้านต้นโพธิ์ อำเภอนครหลวง เป็นผุ้ผลิตด้วยเหล็กเนื้อเหนียว แกร่งและคม เหมาะแก่การใช้สอยในหลายรูปแบบ และนำมาจำหน่ายที่ตลาดอรัญญิก คนที่ซื้อใช้จึงเรียกกันติดปากว่า "มีดอรัญญิก"
บรรพบุรุษที่ตีมีดของทั้งสองหมู่บ้าน เป็นชาวลาวมาจากเวียงจันทน์ ที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยรัชกาลที่ ๒ และส่วนใหญ่เป็น ช่างผู้มีฝีมือตีเหล็ก นอกจากจะตีมีดอรัญญิกแล้วยังรับทำจอบ เสียม ผาน และทำใบเคียวเกี่ยวข้าว รวมทั้งรับซ่อมเครื่องมือเหล็ก ดังกล่าวอีกด้วย แม้ในปัจจุบัน พวกชาวนาจะหันไปใช้รถไถ รถเกี่ยวข้าวแทนเครื่องมือดั้งเดิมกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งสองหมู่บ้านก็ยังคงยึด อาชีพนี้เป็นอาชีพหลัก
รูปหินสลัก
การแกะสลักหินมิใช่อาชีพเก่าแก่ของอยุธยา เมื่อเที่ยบกับการปั้นหม้อหรือตีเหล็ก แต่เกิดขึ้นจากผลพลอยได้ ที่ชาวบ้านคลุกคลีอยู่กับศิลปวัตถุโบราณที่ยังคงมีอยู่ทั่วไปในราชธานีเดิมแห่งนี้ และฝีมือช่างของคนยุคหลังก็สามารถทำได้งดงามไม่แพ้ของโบราณ
การบุกเบิกงานช่างแกะสลักหิน เริ่มทดลองและแกะหิน เลียนแบบของโบราณ จนกระทั้งทำเป็นอาชีพ และกลุ่มลูกค้าก็ขยายวงกว้างขึ้น เช่น พระสงฆ์ที่มาจ้างแกะพระพุทธรูป โรงแรมต่าง ๆ จ้างแกะเทวรูป และงานที่กรมศิลปากรจ้างให้ซ่อมแซมโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น งานการแกะเศียรพระพุทธรูปวัดไชยวัฒนาราม ที่ขาดหายไป
ตะเพียนทอง-ปลาไทยจากใบลาน
ปลาตะเพียนใบลานเป็นงานหัตถศิลป์ ฝีมือชาวมุสลิมในท้องที่ท่าวาสุกรี บ้านหัวแหลม ที่อยู่คู่กับกรุงศรีอยุธยามาร่วมร้อย ปี และนับเป็นแหล่งผลิตปลาตะเพียนใบลานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เนื่องจากคนไทยแต่เดิมใกล้ชิดกับปลาตะเพียนมานาน จนถือว่าปลาตะเพียนเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ตามความเชื่อดังกล่าว จึงมีผู้นำใบลานแห้งมาสานเป็นปลาตะเพียนจำลอง ขนาดต่าง ๆ ผูกเป็นพวง เพื่อนำไปแขวนไว้เหนือเปลเด็กอ่อน เป็นศิริมงคลสำหรับเด็ก พร้อมทั้งมุ่งให้เด็กเจริญเติบโต มีฐานะมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ ดุจปลาตะเพียนในฤดูข้าวตกรวง
ปลาตะเพียนสาน มี ๒ ชนิด คือ ชนิดลวดลายและตกแต่งสวยงาม ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ และอีกชนิดหนึ่งเป็นเพียงสีใบลานตามธรรมชาติ
ตุ๊กตาชาวบ้าน
ตุ๊กตาดินเหนียวเป็นของเล่นที่เด็กสมัยก่อนคุ้นเคยดังมีคำพังเพยว่า "อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น" แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนไป และตามท้องตลาดมีตุ๊กตาหลากสีที่ผลิตจากโรงงานให้ซื้อมากมาย
ตุ๊กตาจิ๋วดินเหนียวนั้น ส่วนใหญ่ผู้ปั้นจะปั้นทั้งเป็นตัวเดียวและเป็นชุด โดยจะสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนบทในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ชุดชาวนา เด็กเลี้ยงควาย การละเล่นหัวล้านชนกัน บ่อนตีไก่ ชุดการละเล่นของเด็ก ตาแป๊ะขายก๋วยเตี๋ยวเรือ ไปจนถึงชุดใหญ่อย่างตลาดน้ำที่มีทั้งเรือแพและเรือลำน้อย ๆ ขายสินค้านานาชนิด และอื่น ๆ อีกมาก
งอบกรุงเก่า
สิ่งที่พบเห็นกันมากในชนบท คือ ชาวนา ชาวไร่ และเหล่าพ่อค้าแม่ค้า มักชอบสวมงอบที่เราคุ้นเคย คือ งอบทรง "คุ้มเกล้า" จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย
งอบมีใช้กันแพร่หลายทั่วทุกภาค โดยจะมีรูปแบบและการเรียกชื่อ แตกต่างกันไปตามภาค เช่น ภาคเหนือและภาคอีสาน จะมีลักษณะโค้ง คล้ายกระทะคว่ำแต่ไม่ลึกนัก จะเรียกว่า "กุบ"งอบทางภาคตะวันออก อย่างจังหวัดตาก จะมีทรงกลมสูง ส่วนงอบทางภาคใต้มียอดแหลม ทรงคล้ายหมวดกุ้ยเล้ยของจีน เรียกว่า "เปี้ยว"
งอบที่ชาวไทยทุกภาคใช้กันอย่างแพร่หลายทำจากวัสดุท้องถิ่น ที่หาได้ไม่ยาก เช่น ใบลาน หรือใบจาก
แหล่งผลิตงอบที่มีชื่อเสียงของอยุธยาสมัยก่อน คือ บ้านโพธิ์ ในเขนอำเภอเสนา เรียกกันว่า "งอบทรงมอญ" ซึ่งมีรูปร่างสวยงามและเป็นที่นิยมของคนทั่วไป ปัจจุบันอำเภอที่นิยมผลิตกันมาก คือ อำเภอบางปะหันในหลายตำบล โดยการร่วมกันผลิตและถือเป็นอาชีพรองจากการทำนา และการผลิตนั้นจะแบ่งกันทำตามความถนัดของคนแต่ละท้องที่ เช่น ตำบลตาลเอนจะสานโครงงอบ ตำบลบ้านลี่สานรังงอบ ส่วนตำบลบางนาร้าจะทำขั้นตอนสุดท้าย คือการกรุเย็บใบลาน เข้ากับโครงงอบ ติดรังงอบ และตกแต่งจนเสร็จสมบูรณ์ ส่วนแหล่งจำหน่ายใหญ่จะอยู่ที่ตลาดบางปะหัน รวมทั้งส่งไปจำหน่ายยังจังหวัดอื่น ๆ อีกด้วย
การปรุงเรือนไทย
อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตงอบแล้ว ยังมีช่างฝีมือปลูกสร้าง เรือนทรงไทย ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ไทยอย่างหนึ่ง
สำหรับเรือนทรงไทย แม้จะมีขนาดใหญ่โตก็ตาม แต่ยังนับว่าเป็นงานหัตถกรรมชนิดหนึ่ง เพราะเป็นการสร้างขึ้นจากฝีมือและภูมิปัญญาของคนไทย
การสร้างเรือนไทยนั้น ช่างต้องทราบขนาดของเรือนเสียก่อน เนื่องจากการคำนวณขนาดและสัดส่วน ในการสร้างเรือนไทยเป็นสิ่งสำคัญมาก ด้วยช่างจะต้องทำเครื่องไม้ทุกตัวที่จะนำมาประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนให้ครบเสียก่อน โดยแต่ละชิ้นต้องสัมพันธ์กันพอดี และขั้นตอนของการตระเตรียมส่วนต่าง ๆ นี้ ภาษาช่างเรียกว่า "ปรุงเรือน" ซึ่งเมื่อนำส่วนต่าง ๆ "คุม (ต่อเข้าด้วยกัน)" แล้วจึงจะเป็นเรือนที่สมบูรณ์
เทศกาลและประเพณี
ชาวอยุธยามีชีวิตที่ผูกพันกับท้องน้ำมาโดยตลอด ในอดีตจึงมีเทศกาลที่เป็นงานประเพณีมิได้ขาด และหน้าน้ำคือเดือน 11-12 (พฤศจิกายน-ธันวาคม) จะเป็นเวลาที่คึกคักมากที่สุด ด้วยมีน้ำและข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ เช่น เทศกาลกฐิน งานไหว้พระหลังออกพรรษา รวมทั้งงานลอยกระทงอีกด้วย
นอกจากงานเทศกาลหน้าน้ำแล้ว ยังมีงานประเพณีในรอบปีที่สำคัญ ๆ เช่น งานประเพณีตรุษสงกรานต์เดือน 5 พิธีเวียนเทียนในวันมาฆบูชาและวิสาขบูชา งานเข้าพรรษา และงานสารท เป็นต้น ดังเพลงยาวไทยรบพม่า ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวร ในรัชกาลที่ 1 ได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า "ทั้งพิธีปีเดือนทุกคืนวัน สารพันจะมีอยู่อัตรา ฤดูก็ได้เล่นเกษมสุข แสนสนุกทั่วเมืองหรรษา"
หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลายจนสิ้น โบราณราชประเพณีต่าง ๆ จึงย้ายมาประกอบกันในกรุงรัตนโกสินทร์ แม้ปัจจุบันจะมีประเพณีเหลืออยู่ก็ไม่แตกต่างกว่าจังหวัดอื่น ๆ แต่ที่ยังสืบทอดกันมาคือ ประเพณีตามแบบจีน คือ ประเพณีทิ้งกระจาด ที่วัดพนัญเชิง
|