พระพุทธรูปสมัยต่างๆ

พุทธศาสนาและศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ ก่อให้เกิดศิลปของโบราณวัตถุและโบราณสถาน ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งที่มีมาก่อนที่ชนชาติไทยจะเข้ามาครอบครองดินแดนส่วนนี้ และหลังจากที่ ชนชาติไทยได้ครอบครองแล้ว จากหลักฐานทางโบราณคดีพอจะแบ่งออกได้เป็น ๔ ยุคด้วยกัน คือ
ยุคแรก เป็นลัทธินิกายหินยานอย่างเถรวาท
ยุคที่สอง เป็นลัทธินิกายมหายาน
ยุคที่สาม เป็นลัทธินิกายหินยานแบบพุกาม
ยุคที่สี่ เป็นลัทธินิกายลังกาวงศ์
พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในประเทศไทย จะผันแปรไปตามยุค และลัทธินิกายดังกล่าวข้างต้น พอจะแบ่ง ศิลปะออกเป็นสมัยต่างๆ ได้ดังนี้

 

 

สมัยทวาราวดี

อยู่ในห้วงเวลาพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ เป็นอาณาจักรที่มีศูนย์กลางอยู่บริเวณภาคกลางของไทยในปัจจุบัน พระพุทธรูปในสมัยนี้ทำด้วย ศิลา ดินเผา และโลหะ มีลักษณะพระเกตุมาลาเป็นต่อมสั้น ขมวดพระเกตุโตและป้าน ไม่มีไรพระศก พระนลาฏไม่เรียบเสมอกัน หลังพระเนตรอูมเกือบเสมอพระนลาฏ พระขนงยาว พระพักตร์กว้างและแบน พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน จีวรบางแนบติดกับพระองค์ ชายผ้าสังฆาฏิมีทั้งแบบสิ้นเหนือพระอุระ และชนิดยาวถึงพระนาภีพระหัตถ์ และพระบาทมีขนาดใหญ่ ฐานบัวเป็นกลีบขนาดใหญ่ และมีกลีบเล็กแซม มีทั้งแบบบัวคว่ำและบัวหงาย และบัวหงายอย่างเดียว พระพุทธรูปในสมัยนี้มี ๒ ยุค มีพุทธลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือ ในยุคแรกพระพักตร์จะยาวและกลมกว่ายุคหลัง ซึ่งพระพักตร์มีลักษณะแบนกว่าและกว้างกว่า พระเนตรโปนโตพระนลาฏแคบ และพระนาสิกแบน