พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 
 

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพิธีที่ผสมด้วยลัทธิพราหมณ์ และพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท และยังมีลัทธิ เทวราชของเขมรมาผสมอยู่อีกส่วนหนึ่ง มีร่องรอยให้เห็นคือ น้ำพุที่เขาลิงคบรรพต ข้างบนวัดภู ทางใต้นครจำปาศักดิ์ ได้นำมาใช้เป็นน้ำอภิเษก ตามความในศิลาจารึก (พ.ศ. 1132)
ตามหลักเดิมของไทยนั้น เมื่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ จะทรงเป็นแต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปก่อน จนกว่า จะได้ทรงรับราชาภิเษก ในระหว่างนั้นเครื่องยศบางอย่างก็ต้องลด เช่น พระเศวตฉัตร มีเพียง 7 ชั้น ไม่ใช่ 9 ชั้น คำสั่งของพระองค์ไม่เป็นโองการ ฯลฯ
ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ไม่ได้มีหลักฐานบรรยายการทำพิธีบรมราชาภิเษกเอาไว้ เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ รับราชสมบัติ ในปี พ.ศ. 2275 ได้ทำพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพิธีลัด


ในรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช สันนิษฐานว่าได้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะได้พบหลักฐานที่อ้างพระบรมราชโองการของพระองค์ การใช้พระบรมราชโองการ แสดงว่าได้รับราชาภิเษก แล้ว
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ขึ้นเสวยราชสมบัตินั้นได้ทำพิธีบรมราชาภิเษกอย่างลัด ครั้งหนึ่งก่อน เนื่องจากติดงานพระราชสงครามกับพม่า จนเมื่อสร้างพระนครทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเสร็จ จึงได้ทรงทำบรมราชาภิเษกโดยพิสดารอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ ปีพ.ศ. 2328 และได้เป็นแบบแผนในรัชกาลต่อ ๆ มา โดยเปลี่ยนรายการบางอย่างไปบ้าง เช่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ พราหมณ์และราชบัณฑิตย์กราบบังคมทูลเป็นภาษาบาลี แล้วแปลเป็นภาษาไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตอบทั้ง 2 ภาษา ในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็คงใช้แบบอย่างนี้ โดยมีการแก้ไขเล็กน้อยเช่นกัน


พิธีบรมราชาภิเษกสมัยนี้ แต่เดิมสำคัญอยู่ที่ทรงรับน้ำอภิเษก เพื่อแสดงความเป็นใหญ่ในแคว้นทั้ง 8 แต่ในสมัยนี้อนุโลมเอาการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นการสำคัญที่สุด เพราะตอนนี้พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์ บัณเฑาะว์ ฆ้องชัย ฯลฯ พระอารามทั้งหลายย่ำระฆัง แบบอย่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ว่าได้ทำกันมาเป็น 2 ตำรา คือ หลักแห่งการราชาภิเษกมีรดน้ำแล้วเถลิงราชอาสน์เป็นเสร็จพิธี การสรงมุรธาภิเษกกับขึ้นอัฐทิศรับน้ำเป็นการรดน้ำเหมือนกัน ขึ้นภัทรบิฐกับขึ้นพระแท่นเศวตฉัตร เป็นเถลิงราชาอาสน์เหมือนกัน การขึ้นพระที่นั่งอัฐทิศและภัทรบิฐนั้น เป็นอย่างน้อย ทำพอเป็นสังเขป การสรงมุรธาภิเษก และขึ้นพระแท่นเศวตฉัตรนั้นเป็นอย่างใหญ่ ทั้งสองอย่างสำหรับให้เลือกทำตามโอกาสจะอำนวย ถ้าสงสัยไม่แน่ใจว่าจะเอาอย่างไหน ก็เลยทำเสียทั้ง 2 อย่าง
งานพระบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ มีแบบอย่างที่มีทั้งของเก่าและของใหม่ โดยก่อนเริ่มพระราชพิธีที่กรุงเทพ ฯ ได้มีการเสกน้ำสรงปูชนียสถานสำคัญ หรือที่ตั้งมณฑลทั้ง 17 มณฑล เพิ่มวัดพระมหาธาตุสวรรคโลกซึ่งอยู่ในมณฑลพิษณุโลกอีกแห่งหนึ่ง รวมเป็น 18 มณฑล ส่วนที่กรุงเทพฯ ก็มีพิธีจารึกพระสุพรรณบัตร ดวงพระชาตา และพระราชลัญจกรแผ่นดิน

เมื่อถึงกำหนดงาน ก็มีพิธีตั้งน้ำวงด้ายวันหนึ่ง กับสวดมนต์เลี้ยงพระอีก 3 วัน ครั้งถึงวันที่ 4 เวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สรงพระมุรธาภิเษกสนาน แล้วทรงเครื่องต้นออกสู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระราชอาสน์แปดเหลี่ยม ซึ่งเรียกว่า พระที่นั่งอัฐทิศ ภายใต้พระเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ราชบัณฑิต และพราหมณ์นั่งประจำทิศทั้งแปด ผลัดเปลี่ยนกันคราวละทิศ กล่าวคำอัญเชิญให้ทรงปกปักรักษาทิศนั้น ๆ แล้วถวายน้ำอภิเษก และถวายพระพรชัย เมื่อเวียนไปครบ 8 ทิศ แล้ว กลับมาประทับทิศตะวันออก หัวหน้าราชบัณฑิตย์ซึ่งนั่งประจำทิศตะวันออก กราบบังคมทูลรวบยอดอีกทีหนึ่ง แล้วจึงเสด็จไปสู่พระราชอาสน์อีกด้านหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า พระที่นั่งภัทรบิฐ

พระมหาราชครู ร่ายเวทสรรเสริญไกรลาสจนเสร็จพิธีพราหมณ์ แล้วกราบบังคมทูลเป็นภาษาบาลีก่อน แปลเป็นไทยว่า
" ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ขอได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาส แก่ข้าพระพุทธเจ้า ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับพระมุรธาภิเษก เป็นบรมราชาธิราช เป็นเจ้าเป็นใหญ่ของประชาชนชาวสยาม เหตุดังนั้นข้าพระพุทธเจ้าทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท มีท่านเสนาบดีเป็นประธาน และสมณพราหมณ์จารย์ทั้งปวง พร้อมเพรียงมีน้ำใจเป็นอันเดียวกัน ขอขนานพระปรมาภิไธย ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดั่งได้จารึกไว้ในพระสุพรรณบัตรนั้น และขอมอบถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันสมพระราชอิสริยยศ ขอได้ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยโดยกำหนดนั้น และทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์นี้ ครั้นแล้ว ขอได้ทรงราชภาระดำรงราชสมบัติโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และสุขแห่งมหาชนสืบไป "
ทรงรับว่า " ชอบละ พราหมณ์ "

 

ลำดับนี้ พระมหาราชครู จึงถวายพระสุพรรณบัตร พระสังวาลย์สามสาย เครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระแสงอัษฎาวุธ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่พระมหาราชครูถวาย คือ
1. พระมหาพิชัยมงกุฎ

ทรงรับมาสวม พราหมณ์เป่าสังข์ขับบัณเฑาะว์ ชาวประโคม ประโคมแตรสังข์ดุริยดนตรี ทหารยิงปืนถวายคำนับ พระสงฆ์ย่ำระฆังและสวดชัยมงคลคาถาทั่วพระราชอาณาจักร
2. พระแสงขรรค์ชัยศรี

ซึ่งถือว่าเป็นพระแสงของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ แห่งเขมรโบราณ เป็นพระแสงคู่บ้านคู่เมืองของเขมร สมัยนั้น
3. พระแส้จามรี

เป็นราชกกุธภัณฑ์ อันนิยมกันว่าเป็นของสูงคู่พระองค์พระมหากษัตริย์ มาแต่อินเดียโบราณ
4. ธารพระกร
5. พระแส้หางช้างเผือก เข้าใจว่าคงแทรกมาภายหลัง

6. ฉลองพระบาทเชิงงอน

เป็นราชกกุธภัณฑ์สำคัญสิ่งหนึ่งตามแบบอินเดียโบราณ
7. พัดวาลวิชนี

เป็นราชกกุธภัณฑ์ที่ใช้คู่กับพระแส้จามรี
ยังมีเครื่องราชูปโภค ได้แก่ พระแสงฝักเกลี้ยง เป็นพระแสงประจำพระองค์ ที่มหาดเล็กเชิญตามเสด็จทานพระกร เทวรูป พระสุพรรณศรีบัวแฉก พานพระขันหมาก พระมณฑป พระเต้าทักษิโณทก เป็นเครื่องทรงใช้ประจำวัน ซึ่งมหาดเล็กเชิญตามเสด็จทุกงานพระราชพิธี

ส่วนพระแสงอัษฎาวุธ เป็นอาวุธของพระเป็นเจ้า (ตรี จักร ธนู) บ้างเป็นพระแสงอันเกี่ยวเนื่องทางประวัติศาสตร์ (พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง) บ้าง และอื่น ๆ อีกบ้าง
จากนั้น พระสิทธิชัยบดี กล่าวคำถวายพระเศวตฉัตร พราหมณ์อื่นกล่าวศิวมนต์ วิษณุมนต์ เป็นภาษาโบราณ และถวายชัยด้วยภาษามคธ และภาษาสยาม ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงรับว่า
" ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่อาณาเหนือท่านทั้งหลาย กับโภคสมบัติเป็นที่พึ่งจัดการป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบายเทอญ "
พระมหาราชครูรับว่า
" ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระบรมราชโองการ พระบัณฑูรสุรสิงหนาท ประถมธรรมิกราชวาจา ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ "
นี้เป็นระยะสำคัญระยะที่สอง เพราะพระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการเป็นครั้งแรก แล้วทรงหลั่งน้ำจากเต้าทักษิโณทก ตั้งสัตยาธิษฐานที่จะทรงเป็นธรรมิกราช มีการประโคมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสุดเสียงประโคมจึงทรงโปรยพิกุลเงินพิกุลทองแก่พราหมณ์ แล้วเปลื้องเครื่องทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ แล้วเสด็จขึ้นจากมหาสมาคมสู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงรับพรจากพระสงฆ์ราชาคณะที่เข้างานวันก่อน ๆ มาแล้วทั้งสามวัน เป็นเสร็จงานส่วนใหญ่ในตอนเช้า