พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 
 

 

ตอนกลางวัน ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ เสด็จ ฯ ออกท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับพรจากมหาสมาคม แห่งพระบรมวงศานุวงศ์ เสนามาตยราชบริพาร มีพระราชดำรัสขอบใจ และทรงอนุญาตให้ผู้ทำราชการดำรงตำแหน่งสืบไปด้วย พิธีเดิมไม่ใช่แต่การถวายพระพรเท่านั้น แต่ท่านมุขอำมาตย์หัวหน้ารัฐบาลทั้งหก คือสมุหพระกลาโหม สมุหนายก และเสนาบดีเวียง วัง คลัง นา ซึ่งเรียกว่าจตุสดมภ์ ต่างถวายราชสมบัติอันอยู่ในหน้าที่ของตน

จากตัวอย่างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธหล้านภาลัย สมุหกลาโหมถวายรถหลวง เรือหลวง ศัตราวุธ และหัวเมืองขึ้นกลาโหม สมุหนายกถวายพระยาช้างต้น ม้าต้น พลเรือน และหัวหัวเมืองขึ้นมหาดไทย เสนาบดีคลังถวายราชพัทยากร และราชสมบัติทั้งสิบสองท้องพระคลัง ฯลฯ เมื่อถวายทั่วแล้ว จึงพระราชทานอนุญาต ให้บรรดาข้าราชการดำรงตำแหน่งรักษาราชอาณาจักรและราชสมบัติในหน้าที่ของตน ๆ สืบไป ต่อจากนี้เสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ฝ่ายในเฝ้าถวายพระพร เช่นฝ่ายหน้า ในสมัยโบราณเป็นหน้าที่ท้าววรจันทร์ ถวายสิบสองพระกำนัล แต่ธรรมเนียมนี้ได้เลิกไปตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ได้เติมการทรงสถาปนาพระชายาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมราชินี ในระยะนี้

เวลาเย็นเสด็จพระราชดำเนินไปแสดงพระองค์เป็นอัครศาสนุปถัมภกต่อหน้าคณะสงฆ์ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยกระบวนราชอิสริยยศแล้วเสด็จขึ้นทรงสักการะสมเด็จพระบรมราชบูรพการี ทุกพระองค์

เวลาค่ำ เสด็จขึ้นเถลิงพระราชมณเทียรในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพิธีอย่างคนไทยขึ้นบ้าน คือประทับบนพระแท่นบรรทม ทรงรับกุญแจทอง จั่นหมากทอง ทานพระกร พรรณผัก หินบด และแมว ฯลฯ เจ้านายผู้ใหญ่ฝ่ายในถวายพระพร แล้วเอนพระองค์ลงบนแท่นบรรทมพอเป็นมงคลฤกษ์

ยังมีงานมงคลและสังคมต่อจากนี้อีกในวันต่อ ๆ มา เช่นการที่เจ้านาย ข้าราชการ ถวายดอกไม้ ธูปเทียน สักการะพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ การที่ทรงอาราธนาพระมหารเถร มาถวายเทศนาว่าด้วยมงคลธรรม และหน้าที่พระราชาผู้ได้ทรงรับอภิเษก และการที่คณะต่าง ๆ เข้าเฝ้าถวายพระพรชัย เป็นต้น
ส่วนท้ายของพระบรมราชาภิเษก คือ การเลียบเมือง อันเป็นธรรมเนียมมีมาแต่อินเดียโบราณ ดังปรากฏ ในพระบาลีต่าง ๆ มีชาดกเป็นต้น ทางพราหมณ์ก็นิยมธรรมเนียมนี้ดุจกัน ดังปรากฏในคัมภีร์อัคนิปุราณ เป็นต้น แต่เดิมพระมหากษัตริย์เสด็จประทักษิณพระนคร เพื่อแสดงพระองค์แด่ทวยราษฎร ต่อมาในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระจอมเกล้า ฯ พระองค์ได้ทรงแปรรูปงานนี้ เป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปสักการะพระศาสนา ในพระอารามสำคัญ เป็นงานสองวัน ทางบกวันหนึ่ง และทางเรือวันหนึ่ง แล้วเป็นอันเสร็จการ

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันที่ 4 พฤษภาคม 2493 เป็นวันเริ่มการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเทียร

การพระราชพิธีมีอยู่ที่พระมหามณเทียร คือพระที่นั่งจักพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย กับพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และที่ทำพิธีพราหมณ์ ณ ศาลาสหทัยสมาคม
พระนั่งอมรินทรวินิจฉัย

เชิญพระพุทธพรรณี และพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร ประดิษฐานในพระที่นั่งบุษบกมาลา ตั้งพระอภิรุมชุมสาย 1 สำรับ ภายในพระที่นั่ง
บนพระที่นั่งมหาเศวตฉัตร ตั้งพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ เป็นบรมราชบัลลังก์ที่ประทับ เวลาเสด็จออกมหาสมาคม มีโต๊ะทองสำหรับตั้งเครื่องราชูปโภคทั้ง 2 ข้าง ที่มุมพระที่นั่งมหาเศวตฉัตร ตั้งต้นไม้เงินทอง 4 มุม ๆ ละต้น และปักพระมหานพปฎลเศวตฉัตรไว้พร้อม ตั้งพระราชอาสน์ตรงหน้าพระที่นั่งมหาเศวตฉัตร เป็นที่เสด็จออกประทับ ข้างหลังพระราชอาสน์ทอดพระแสงง้าวและพระแสงปืน

ตรงเสาคู่หน้าพระที่นั่งเศวตฉัตร ติดพระสูตรทอง สำหรับไขเวลาเสด็จออกมหาสมาคม

ตรงหน้าพระสูตรออกไป ระหว่างเสาท้องพระโรงด้านตะวันออก ตั้งอาสนสงฆ์ 4 แถว สำหรับพระสงฆ์ 45 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ตรงข้ามอาสนสงฆ์ตั้งเก้าอี้หมู่ สำหรับข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ริมผนัง ด้านเหนือตั้งพระแท่นสำหรับพระสงฆ์ 4 รูปสวดภาณวาร และตั้งเตียงพระราชาคณะนั่งปรก หน้าพระแท่นสวดภาณวาร ตั้งกระโจมเทียนชัย (ใช้ขี้ผึ้งหนัก 36 กิโลกรัม ไส้ 108 เส้น)

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

พระแท่นมณฑล พระแท่นมณทลน้อย ตั้งอยู่ด้านตะวันออก มุมผนังด้านเหนือพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นพระแท่นสำหรับตั้งเครื่องมงคลต่าง ๆ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับว่าเป็นพระแท่นสำคัญ มีเครื่องตั้งไว้เป็นหมวด ๆ คือ

หมวดสิ่งสักการะ มีอยู่ 10 รายการ
หมวดพระราชสิริ มีอยู่ 3 รายการ
หมวดเครื่อง พระมุรธาภิเษก มีอยู่ 13 รายการ
หมวดเครื่องต้น มี 9 รายการ
หมวดพระแสง มี 30 รายการ
หมวดเครื่องสูง มี 10 รายการ

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ตั้งอยู่ด้านตะวันออกริมผนังด้านใต้ หน้าพระทวารที่ลงจากหอ พระสุลาลัยพิมาน เคียงพระแท่นมณฑล ปักพระบวรเศวตฉัตร 7 ชั้น ณ ท่ามกลางพระที่นั่ง ตั้งตั่งอัฐทิศ 6 เหลี่ยม บนตั่งอัฐทิศตั้งเทวรูป นพเคราะห์ประจำทิศในษุษบกลายทอง พื้นสีตามนพเคราะห์ ด้านหน้าตั้งเทวรูปอธิไทโพธิบาต
พระที่นั่งภัทรบิฐ ตั้งอยู่ด้านตะวันออก หน้าพระทวารที่ลงจากพระธาตุมณเทียร ปักนพปฎลมหาเศวตฉัตร ตั้งโต๊ะทองข้างพระที่นั้งสองข้าง สำหรับตั้งเครื่องราชูปโภค ตรงที่ประทับบนพระที่นั่งภัทรบิฐ พราหมณ์ทำพิธีลาดหญ้าคา โรยแป้งข้าวสาลี และข้าว 5 สี ( แดง เหลือง เขียว ขาว ดำ ) ปูแผ่นทอง สลักรูปราชสีห์ทับ แล้วลาดพระยี่ภู่

วิมานพระสยามเทวาธิราช ประดิษฐาน ณ ตอนกลาง พระที่นั่งไพศาลทักษิณด้านเหนือ ตรงลับแลทวารเทวราชมเหศวร
ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณนี้ มียันต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อักขระขอมตัวทองพื้นขาว แขวนห้อยอยู่กับระย้าแก้วไฟฟ้า มียันต์พระอริยสาวก อักขระคาถาตัวทอง แขวนที่สายสิญจ์ติดผนังตามแนวลวดบัวประจำทิศทั้ง 8

ท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ตั้งหมู่เก้าอี้ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ท้าวนาง เถ้าแก่เฝ้า ฯลฯ
พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

ตั้งพระแท่นบรรทมในพระฉากด้านตะวันออกห้องเหนือ มีนพปฎลเศวตฉัตรแขวนลอยบนเพดาน เหนือพระแท่นบรรทม บนพระแท่นบรรทมตั้งม้าหมู่ประดิษฐาน พระชัยนวโลหะรัชกาลที่ 5 ตั้งเครื่องเฉลิมพระราชมณเทียร

ในพระฉากด้านใต้ ห้องทรงเครื่อง ตั้งพระแท่นลาดพระราชอาสน์ มีนพปฎลเศวตฉัตร แขวนลอยเหนือพระแท่น

มณฑปพระกระยาสนาน

ปลูกที่ชาลาชานพักท้องพระโรงหน้า ด้านตะวันออก ตั้งพระมณฑปพื้นขาว ฐานยกพื้นขาวตั้งตั่งไม้อุทุมพรหุ้มผ้าขาว ข้างตั่งไม้อุทุมพรตั้งโต๊ะทอง 2 ชั้น บนโต๊ะตั้งครอบมุรธาภิเษก ที่ยกพื้นฐานมณฑป ตั้งราชวัตรพื้นขาวลายทอง มีเครื่องสูงทองแผ่ลวด 3 ชั้น สีทอง นาก เงิน ปักทั้ง 4 มุม ๆ ละ 3 องค์
ด้านตะวันออกและตะวันตกมณฑปพระกระยาสนาน ตั้งบุษยกน้อย สำหรับประดิษฐานพระชัยนวโลหะและพระคเณศร์ ซึ่งจะได้เชิญนำเสด็จสู่พระมณฑป วันสรงมุรธาภิเษก เชิญพระชัยนวโลหะไปประดิษฐาน ณ บุษบกด้านตะวันออก เชิญพระคเณศร์ไปประดิษฐาน ณ บุษบกด้านตะวันตก
ตั้งศาลพระอินทร์ ที่ชาลาตรงทางขึ้นลงมณฑปทิศตะวันออก บนพื้นมณฑปมีศาลเทวดาจตุโลกบาลทั้ง 4 คือ

ท้าวธตรฐจอมภูติอยู่ทิศตะวันออก ท้าววิสุฬหกจอมเทวดาอยู่ทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์จอมนาคอยู่ทิศตะวันตก ท้าวกุเวรจอมยักษ์อยู่ทิศเหนือ
ศาลทั้ง 4 ตั้งที่มุมราชวัตรทั้ง 4 มุม

ที่ชาลาทิศตะวันออกของมณฑปพระกระยาสนาน หน้าศาลพระอินทร์ ตั้งโต๊ะเครื่องสังเวยเทวดากลางหาว ข้างโต๊ะบูชาตั้งฆ้องชัย สำหรับโหรบอกพระฤกษ์สรงพระมุรธาภิเษก ตั้งโต๊ะทองปูผ้าเยียระบับ ข้างทางขึ้นลงมณฑปพระกระยาสนานด้านตะวันออก สำหรับวางสังข์และพระเต้าต่าง ๆ ซึ่งจะถวายในเวลาสรงมุรธาภิเษก

สถานที่ทำพิธีพราหมณ์

ตั้งสถานที่ทำพิธีที่ศาลาสหไทย ตั้งราชวัตรขาว 4 มุม มีฉัตรธงกระดาษ 5 ชั้น ตั้งเตียงมณฑลเล็ก มีโต๊ะทอง ตั้งพระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ พระลักษมี พระมเหศวรี พระพรหม พระมหาพิฆเนศ กับตั้งโต๊ะเทวดานพเคราะห์ โต๊ะเบญจคัพย ตั้งหม้อกุณฑ 9 หม้อ ตั้งเตาโหมกุณฑ วงด้ายสายสิญจ์รอบราชวัตร และแขวนพรหมโองการทั้ง 8

พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

มีเทียนพระมหามงคลวันละคู่หนึ่ง เทียนเท่าพระองค์วันละคู่หนึ่ง ตั้งเครื่องนมัสการทองใหญ่สำหรับบูชา และพระแท่นทรงกราบ ในวันพระสงฆ์เจริญพุทธมนต์