พระพุทธรูปประจำวัน

 

พระพุทธรูปประจำวันพุธ (กลางวัน)


เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตร ส้นพระบาทชิดกัน แสดงพระอิริยาบทการออกบิณฑบาต ซึ่งเป็นพุทธกิจตอนเช้า
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากพุทธประวัติ ที่พระพุทธองค์พร้อมพระภิกษุสงฆ์ จำนวนมากได้เสด็จออกบิณฑบาตที่กรุงกบิลพัสดุ์ ตามที่อำมาตย์กาฬุทายุได้ขออาราธนา พระพุทธองค์ได้ทรงทอดเนตรบรรดาพระประยูรญาติ ยังมีทิฐิมานะ ไม่เคารพพระองค์ และพระสงฆ์ พระพุทธองค์จึงได้แสดงปาฎิหารย์ บันดาลให้เกิดฝนโบกขรพรรษตกลงมา ท่ามกลางพระประยูรยาติ ฝนโบกขรพรรษนี้ผู้ใดอยากให้เปียก ก็จะเปียก ถ้าไม่อยากให้เปียก ก็จะไม่เปียก ดุจน้ำฝนตกลงในใบบัว ทำให้พระประยูรญาติทั้งหลายคลายทิฐิมานะ จากนั้นพระพุทธองค์จึงแสดงเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดก
ตามคติโบราณกำหนดให้มีคาถาบูชาพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร มีข้อความดังนี้

 

บทสวดบูชาประจำวันพุธ (กลางวัน)

 

ค สัพพาสีวิสะชาตีนัง ทิพพะมันตาคะทัง วิยะ
ยันนาเสติ วิสัง โฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง
อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณินัง
สัพพะโสปิ นิวาเนติ ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ

พระปริตรย่อมป้องกันพิษและอันตรายอื่น ๆ ของสัตว์ทั้งปวง ตลอดเขตแห่งอำนาจทุกแห่งเสมอ เหมือนทิพยมนต์และโอสถทิพย์ที่ขจัดพิษร้ายของอสรพิษทั้งปวง ขอเราทั้งหลายจงร่วมกันสวดพระปริตรนั้นเถิด

พระพุทธรูปประจำวันพุธ (กลางคืน)


เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งบัลลังก์ พระบาททอดลงเหยียบพื้น พระพาหาทั้งสองวางอยู่บนพระเพลา พระหัตถ์ขวาหงายขึ้น อันเป็นกิริยารับของถวาย
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากเหตุการณ์ในพุทธกาล ตอนที่พระพุทธองค์ เสด็จหลีกออกมาจากพระสงฆ์สาวก ณ เมืองโกสัมพี ที่ก่อการวิวาทกันด้วยเรื่อง เล็กน้อย แม้พระพุทธองค์จะได้ทรงตรัสห้ามถึงสามครั้ง พระสงฆ์เหล่านั้นก็ไม่เชื่อฟัง พระพุทธองค์จึงเสด็จหลีกไปจำพรรษาอยู่ที่ป่ารักขิตวัน มีช้างปาลิไลยกะมาอยู่คอยปฏิบัติ และมีลิงเอารวงผึ้งมาถวาย เมื่อชาวเมืองโกสัมพีทราบเหตุจึงพากันไม่ถวาย ภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ที่ก่อการวิวาทดังกล่าว หลังจากออกพรรษาแล้ว ชาวเมืองโกสัมพี จึงได้นิมนต์ให้พระอานนท์ ไปอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จกลับเข้าเมืองโกสัมพี ช้างปาลิไลยกะตามพระพุทธองค์ออกมาด้วย แต่พระพุทธองค์ได้ทรงห้ามไว้เมื่อพ้นเขตป่า
ตามคติโบราณกำหนดให้มีคาถาบูชาพระพุทธรูปปางปาเลไลยก์ มีข้อความดังนี้

 

บทสวดบูชาประจำวันพุธ (กลางคืน)

 

ค กินนุ สันตะระมาโน วะ ราหุ สุริยัง ปะมุญจะสิ
สังวิคคะรูโป อาคัมมะ กินนุ ภีโต วะ ติฏฐะสีติ
สัตตะธา เม ผะเล มุทธา ชีวันโต นะ สุขัง ละเภ
พุทธะคาถาภิคีโตมหิ โน เจ มุญเจยยะ สุริยันติ

 

ดูก่อนราหู เพราะเหตุใดหนอ ท่านจึงเร่งรีบปล่อยพระอาทิตย์ไปเสียเล่า และทำไมหนอ ท่านจึงดูเศร้าสลด มายืนซึมอยู่ตรงนี้เล่า
ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า ดังนั้น หากข้าพเจ้าไม่ปล่อยสุริยเทพบุตรไป ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยง ถึงมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็จะไม่ได้รับความสุขเลย