บทที่ ๑

บทบาทและเทคนิคการเป็นวิทยากร

การเป็นวิทยากรนั้นใคร ๆ ก็เป็นได้ แต่การเป็นวิทยากรที่ดีคงไม่ง่ายอย่างที่คิดกัน เพราะการทำหน้าที่วิทยากรมีความจำเป็นต้องอาศัยการพูดหรือการสื่อสารเป็นอย่างมาก ถ้าไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมเป็นอย่างดีก็คงจะทำหน้าที่วิทยากรได้ไม่สำเร็จหรือสำเร็จได้ก็ไม่ดีเปรียบไปแล้วการพูดก็เหมือนการว่ายน้ำ ถ้ามัวแต่อ่านหรือท่องตำราโดยไม่ลงน้ำหรือกระโดดลงน้ำเสียบ้างก็ไม่อาจจะว่ายน้ำเป็นได้เลย ผู้ที่ศึกษา หลักการ ทฤษฎี วิชาว่ายน้ำเพียงแต่อ่านตำราก็คงจะจมน้ำตายเมื่อต้องลงสระเสมือนผู้ที่ศรัทธาวิชาการพูด เพียงแต่ศึกษาทฤษฎีก็อาจตกม้าตายเมื่อขึ้นเวที

ดังนั้น การเป็นวิทยากรที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ทักษะ เทคนิคต่าง ๆ ในหลาย ๆ ด้าน เช่นการพูด การสื่อสาร การจัดกิจกรรม ฯลฯ ตลอดจนจะต้องเป็นผู้มีคุณลักษณะที่จำเป็นอีกมากมายซึ่งจะได้นำเสนอต่อไป

วิทยกรคือใคร

วิทยากร คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวการสำคัญ ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรม เกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดทักษะ เกิดทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องที่อบรม จนกระทั่งผู้เข้ารับการอบรมเกิดการเรียนรู้และสามารถจุดประกายความคิด เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ของเรื่องหรือวิชานั้น ๆ

พิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่าวิทยากรควรมีบทบาทที่สำคัญหลายระการตามแผนภูมิต่อไปนี้

วิทยากร

(RESOURCE PERSON)

ผู้บรรยาย ผู้ทำให้เกิดการเรียนรู้

(LECTURER) (INSTRUCTOR)

ผู้สอน ผู้ฝึก

(TEACHER) (TRAIINER)

พี่เลี้ยง

( MENTOR )

เมื่อทราบความหมายและบทบาทของวิทยากรแล้วก็ควรพิจารณาด้วยว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นวิทยากรที่ดีและมีประสิทธิภาพได้กรณีนี้มีผู้รู้ได้กล่าวถึงไว้อย่างหลากหลายต่างกรรมต่างวาระกันอันอาจจะสรุปรวมเป็นคุณสมบัติ ของวิทยากรที่ดีและมีประสิทธืภาพได้ดังนี้

๑ คุณลักษณะทั่วไป

๑ . มั่นใจในตนเอง เตรียมพร้อม ซ้อมดี มีสื่อและวิธีการ ที่เหมาะสม

๒ . เป็นคนช่างสังเกต คอยสังเกตพฤติกรรมทางกาย วาจา ตลอดจนกระบวนการกลุ่มของผู้เข้ารับการอบรม

๓ . มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

๔ . แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่ง

๕ . มีการวางแผนที่ดี ทั้งเนื้อหาและลำดับขั้นตอนการนำเสนอรวมทั้งสื่อและเครื่องมือการสื่อสาร

๖ . มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีและประสานงานเก่ง

๗ . มีบุคลิกภาพที่ดี

๘ . มีความเป็นกัลยาณมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นกันเอง คอยช่วยเหลือด้วยน้ำใจ มีความเมตตา ยอมรับในความแตกต่างระหว่างบุคคลและมีความเห็นใจของผู้เข้ารับากรอบรม

๙ . เป็นนักประชาธิปไตย มีความยืดหยุ่น รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่สรุปตัดบทง่าย ๆ เมื่อมีผู้เสนอความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป

๑๐ . มีความจิรงใจในการถ่ายทอดความรู้

๑๑ . ปฏิบัติตนต่อผู้เข้ารับการอบรมอย่างเสมอภาค ทัดเทียม วางตนเหมาะสมกับทุกคน

๑๒ . มีแบบฉบับลีลาที่เป็นของตนเองยอมรับจุดเด่นและจุดด้อยของตนและ มึความภูมิใจและเข้าใจ ในบุคลิกภาพของตนเอง และใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อ การเป็นวิทยากร

๒ . ต้องรู้จริง

๑ . ต้องเป็นคนรอบรู้ ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ

๒ . ต้องรู้รายละเอียดในเรื่องนั้นอย่างเพียงพอ

๓ . ต้องเข้าใจเหตุผลของรายละเอียดนั้น

๔ . ต้องรู้สมมติฐานหรือความเป็นมาของสิ่งนั้น

๕ . ต้องสามารถประยุกต์สิ่งนั้นให้เห็นเป็นจริงได้

๓ . ถ่ายทอดเป็น

๑ . มีเทคนิคต่าง ๆ เช่น การบรรยาย การนำอภิปราย การสัมมนา กรณีศึกษา การจัดกิจกรรม ฯลฯ เพื่อทำให้เกิดความรู้ เข้าใจง่าย ได้สาระ

๒ . พูดเป็น คือ พูดแล้วทำให้ผู้ฟังเข้าใจตามที่พูดได้อย่างรวดเร็ว สามารถพูดเรื่องยาก ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย

๓ . ฟังเป็น คือ ตั้งใจฟัง ฟังให้ตลอด ขณะที่ฟังต้องควบคุมอารมณ์ ขณะที่ฟังอย่าคิดคำตอบทันที และเท่อฟัง จงฟัง เอาความหมายมากกว่าถ้อยคำ

๔ . นำเสนอเป็นประเด็นปละสรุปประเด็นให้ชัดเจน

๕ . มีอารมณ์ขัน สร้างบรรยากาศในการอบรมได้อย่างเหมาะสม

๖ . มีประสิทธิภาพในการอบรม สามารถเชื่อมโยงทฤษฎีเข้ากับการปฏิบัติได้ดี มองเห็นเป็นรูปธรรม

๗ . ใช้ภาษาพูดได้ดี ใช้ภาษาง่าย ๆ รู้จักเลือกภาษาให้ตรงกับเนื้อหาและตรงกับความต้องการและพื้นฐานความรู้ของผู้ฟัง

๔ . มีหลักจิตวิทยาในการสอนผู้ใหญ่

๑ . ความสนใจในการรับฟังจะเกิดขึ้นจากการรับรู้ถึงเรื่องที่วิทยากรจะพูดหรือบรรยาย

๒ . มุ่งประโยชน์ในการรับฟังเป็นสำคัญ

๓ . จะตั้งใจแลเรียนรู้ได้ดี ถ้าวิทยากรแยกเรื่องที่สอนออกเป็นประเด็น / ขั้นตอน

๔ . จะเรียนรู้ได้ดีถ้าได้ฝึกปฏิบัติไปด้วยพร้อม ๆ กับการรับฟัง

๕ . จะเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ถ้าฝึกแล้วได้ทราบผลของการปฏิบัติอย่างรวดเร็ว

๖ . จะ เรียนรู้ได้ดีเมื่อมีการฝึกหัดอยู่เสมอ

๗ . จะเรียนรู้ได้ดีเมื่อเปิดโอกาสให้ใช้เวลาในการทำความเข้าใจ อย่าเร่งรัด เพราะแต่ละคนมีความสามารถในการเรียนรู้ต่างกัน

๕ . มีจรรยาบรรณของวิทยากร

๑ . เมื่อจะสอนต้องมั่นใจว่ามีความรู้จิรงในเรื่องที่จะสอน

๒ . ต้องมุ่งประโยชน์ของผู้ฟังเป็นที่ตั้ง

๓ . ไม่ควรฉกฉวยโอกาสในการเป็นวิทยากรเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว

๕ . ความประพฤติและการปฏิบัติตนของวิทยากร ควรจะสอดคล้องกับเรื่องที่สอน

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะที่สำคัญในการเป็นวิทยากรที่ควรเสนอไว้เพิ่มเติมอีกด้วยว่าวิทยากรที่ดีจะ

๑ . ต้องมีกิจกรรมมากกว่าการบรรยาย

๒ . ต้องมีการเตรียมตัวที่ดี

๓ . ต้องมีสื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี

๔ . ต้องมีกิจกรรมที่สอดคล้องกับเนื้อหา เวลา และตรงเวลา

๕ . ต้องให้คนติดใจในการเรียนรู้ มิใช่ติดใจในลีลาการแสดงเพราะวิทยากรไม่ใช่นักแสดง

๖ . ต้องคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่าวิทยากรมีหน้าที่ไปทำให้เขารู้อย่าไปอวดความรู้แก่เขาและวิทยากรไม่มีหน้าที่พูดให้คนอื่นงง

เทคนิคการเตรียมตัวเป็นวิทยากรที่ดี

บางคนเชื่อว่าการเป็นวิทยากรที่ดีเกิดจากพรสวรรค์แต่บางท่านก็เชื่อว่าเกิดจากพรแสวง จะโดยพรประเภทใดก็ตามวิทยากรที่ดีก็ควรจะรู้จักเทคนิควิธีการเตรียมตัว ซึ่งอาจกระทำได้หลายวิธีด้วยกันกล่าวคือ

๑ . การหาข้อมูล โดยวิธีต่าง ๆ เช่น

๑ . ๑ อ่านตำราหลาย ๆ ประเภท

๑ . ๒ ฟังจากคนอื่นเล่า หรือฟังจากเทปวิทยุ

๑ . ๓ ศึกษาจากวิดีทัศน์ รายการโทรทัศน์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์

๒ . สะสมข้อมูลต่าง ๆ โดยจัดเก็บเป็นระบบหรือแบ่งเป็นประเภทเช่น

๒ . ๑ ประเภทเพลง

๒ . ๒ ประเภทคำขวัญ คำกลอน สุภาษิต คำคม คำพังเพย และคำปรพันธ์ต่าง ๆ

๒ . ๓ ประเภทคำผวน

๒ . ๔ ภาษาหักมุม ( คิดสวนทางเพื่อให้ผู้ฟังฮา )

๒ . ๕ ลูกเล่นเป็นชุด หรือประเภทนิทานสั้น ๆ

๒ . ๖ ประเภทเชาว์ เช่น คำถามอะไรเอ่ย ฯลฯ

๒ . ๗ ประเภทเกมหรือกิจกรรม

๓ . ศึกษาข้อมูลแต่ละประเภท พยายามจับประเด็นและหักมุมนำเข้าในเรื่องที่จะเสนอให้ได้

๔ . หัดเล่า ให้เพื่อนหรือคนอื่นฟังในวงเล็ก ๆ ก่อนโดยคำนึงถึง

๔ . ๑ การเริ่มเล่าให้เด็กฟังและขยายวงถึงผู้ใหญ่

๔ . ๒ ต้องพยายามหักมุมตอนท้ายให้ได้

๔ . ๓ ใช้น้ำเสียงที่เหมาะสมในการเล่า

๔ . ๔ ใช้ลีลาหรือกิริยาท่าทางประกอบการเล่า

อย่างไรก็ดีมีผู้เปรียบเทียบว่าการเป็นนักพูดหรือวิทยากรที่ดีก็เหมือนกับเด้กหัดขี่จักรยานนั่นเอง โดยยกตัวอย่างแสดงไว้ให้เห็นชัดเจนดังนี้

๑ . เด็กอยากได้จักรยาน : อยากเป็นวิทยากรมืออาชีพ

๒ . หัดขี่แล้วมักจะล้ม : ฝึกพูดอาจจะไม่สำเร็จในบางครั้ง

๓ . หัดขี่ให้เป็น : ฝึกพูดให้เป็นวิธีการ / หลักการ

๔ . ขี่ทุกวันก็จะเกิดความชำนาญ : ฝึกหรือแสดงบ่อย ๆ จะชำนาญ