พระป่าและวัดป่าของไทย

 
 

พระป่าและวัดป่าของไทย

 

พระภิกษุในพระพุทธศาสนาแบ่งออกได้เป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายคันถธุระ และฝ่ายวิปัสสนาธุระ ฝ่ายคันถธุระ ศึกษาพระปริยัติธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อให้เกิดความรอบรู้ในหลักธรรม เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติ และสั่งสอนผู้อื่นต่อไป พระภิกษุฝ่ายนี้เมื่อศึกษาแล้วจะเกิดปัญญาที่เรียกว่า สุตตามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้จากภายนอกโดยการฟังการเห็นเป็นต้น ส่วนใหญ่พระภิกษุฝ่ายคันถธุระ มักจะอยู่ที่วัดในเมืองหรือหมู่บ้าน เพื่อความสะดวกในการแสวงหาความรู้เพื่อตนเองจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ และได้ใช้ความรู้นั้น ๆ สั่งสอนผู้อื่นได้ง่าย ได้บ่อยครั้งและได้เป็นจำนวนมาก จึงเรียกพระภิกษุฝ่ายนี้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นฝ่ายคามวาสี หรือพระบ้าน

อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าฝ่ายวิปัสสนาธุระ นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จริงจังโดยเน้นที่การฝึกจิตในด้านสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญาในลักษณะของภาวนามยปัญญา อันเป็นความรู้ที่แท้จริงตามหลักของพระพุทธศาสนา เป็นปัญญาที่เกิดจากภายในผุดเกิดขึ้นเองเมื่อได้ปฏิบัติสัมมาสมาธิ จนถึงระดับหนึ่งคือ จตุตถฌานแล้วกระทำในในให้แยบคายน้อมไปไปสู่ที่ใต้ต้นวิชชาสาม ซึ่งจะเป็นความรู้ตามความเป็นจริงในระดับหนึ่ง ตามกำลังความสามารถของผู้ปฏิบัตินั้น ๆ อันเป็นหนทางนำไปสู่ความหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางอันสูงสุดของพระพุทธศาสนา การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลดังกล่าวจำเป็นต้องหาที่สงบสงัด ห่างไกลต่อการรบกวนจากภายนอกในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้นพระภิกษุฝ่ายนี้จึงออกไปสู่ป่าเขา แสวงหาสถานที่ เพื่อให้เกิดสัปปายะแก่ตนเองที่จะบำเพ็ญสมาธิภาวนาอย่างได้ผล จึงเรียกพระภิกษุฝ่ายนี้ว่า ฝ่ายอรัญวาสี หรือพระป่า หรือพระธุดงค์

ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุทุกรูปจะเป็นพระป่า พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำชับให้ภิกษุสาวกของพระองค์ ให้ออกไปสู่โคนไม้ คูหาหรือเรือนร้าง เพื่อปฏิบัติสมาธิภาวนา

พระพุทธเจ้าประสูติในป่า คือที่ป่าลุมพินีวัน ณ เขตติดต่อแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ตรัสรู้ที่ใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์ ในป่าริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เขตกรุงสาวัตถี แคว้นมคธ ทรงแสดงพระปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงกรุงพาราณสี และเข้าสู่ปรินิพพานที่ป่าในเขตกรุงกุสินาราย ตลอดระยะเวลา ๕๑ ปี พระพุทธเจ้าได้ทรงจาริกไปสั่งสอนเวไนยสัตว์ และเสด็จประทับอยู่ในป่า เมื่อมีผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาสร้างวัดถวายก็จะสร้างวัดในป่า เช่น เชตวัน เวฬุวัน อัมพวัน ลัฏฐิวัน ชีวกัมพวัน มัททกุจฉิมฤคทายวัน อันธวัน และนันทวัน เป็นต้น คำว่าวันแปลว่าป่า พระพุทธองค์จะประทับอยู่ในวัดดังกล่าวตอนช่วงพรรษา ปีหนึ่งไม่เกินสี่เดือน นอกจากนั้นจะเสด็จจาริกนอนตามโคนไม้ตามป่า

 

พระป่าของไทย

พระป่าของไทย หมายถึงพระที่อยู่ตามธรรมชาติเช่นเดียวกับ พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นผู้ที่บรรพชาอุปสมบทถูกต้องครบถ้วนตามพระธรรมวินัย ไม่ผิดกฏหมายของบ้านเมือง บวชด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นและบริสุทธิ์ใจในบวรพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้วก็มุ่งมั่นบำเพ็ญเพียร ตามหลักพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เพื่อให้บรรลุธรรม อันนำไปสู่การพ้นจากวัฏสงสาร ทำให้พ้นจากกองทุกข์ อันเป็นจุดหมายอันสูงสุดของพระพุทธศาสนา

ในสมัยสุโขทัยต่อเนื่องมายังสมัยอยุธยา เรามีพระภิกษุฝ่ายคามวาสี เน้นทางด้านคันถธุระ และฝ่ายอรัญวาสีเน้นทางด้านวิปัสสนาธุระ ดังจะเห็นได้ในประวัติศาสตร์ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งที่กระทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแม่ทัพพม่า ได้ชัยชนะ แต่แม่ทัพนายกองหลายคนกระทำการบกพร่องได้รับการพิจารณาโทษ สมเด็จพระนพรัตน์แห่งวัดป่าแก้วและคณะ ได้เสด็จมาแสดงธรรมเพื่อให้ทรงยกโทษประหารแก่ แม่ทัพนายกองเหล่านั้น โดยยกเอาเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธองค์ผจญพญามาร ในคืนวันที่ จะทรงตรัสรู้มาเป็นอุทาหรณ์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปิติโสมนัส ซาบซึ้งในพระธรรมที่สมเด็จพระนพรัตน์วัดป่าแก้ว ทรงแสดงยิ่งนักตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้าว่านี้ควรหนักหนา" และได้ทรงพระราชทานอภัยโทษประหารแก่แม่ทัพนายกองเหล่านั้น

จะเห็นว่าสมเด็จพระนพรัตน์วัดป่าแก้ว เป็นพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสี จึงได้ชื่อนี้ และอยู่ที่วัดป่า แต่ก็มิได้ตัดขาดจากโลกภายนอก เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญที่ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์สมควรที่จะออกมาสงเคราะห์ฝ่ายบ้านเมือง หรืออาจจะกล่าวโดยรวมว่า ฝ่ายศาสนจักรสงเคราะห์ฝ่ายอาณาจักร ท่านก็สามารถกระทำกิจนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ อย่างผู้ที่แตกฉานในพระไตรปิฎก ดังนั้น พระภิกษุสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีผู้ปฏิบัติวิปัสสนาธุระ จะต้องมีความรู้ทางคันถธุระเป็นอย่างดีมาก่อน จะได้ปฏิบัติวิปัสสนาธุระได้อย่างถูกต้องตรงทาง คุณสมบัติข้อนี้ได้มีตัวอย่างมาแล้วแต่โบราณกาล

ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีพระภิกษุที่เป็นแบบอย่างของพระป่าในปัจจุบัน เป็นที่รู้จักกันดีคือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพ ฯ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทั้งสามท่านมีกิตติศัพท์เป็นที่เลื่องลือ ในดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทั้งในประเทศไทย ประเทศลาว และประเทศพม่า สำหรับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นพระภิกษุที่มีศิษย์เป็นพระป่ามากที่สุดสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ท่านได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ และมรณภาพ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๙๖ นับจากปี พ.ศ.๒๔๖๐ จนมรณภาพท่านได้ออกสั่งสอนศิษย์เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด โดยเน้นภาคปฏิบัติที่เป็นจิตภาวนาล้วน ๆ ตามแนวทางพระอริยมรรคมีองค์แปด เมื่อกล่าวโดยย่อได้แก่ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ปัจจัยสี่ของพระป่า

ปัจจัยที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพื่อให้พอเหมาะแก่การดำรงชีวิตอยู่สำหรับการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้สี่อย่าง พระป่าของไทยได้นำมาประพฤติปฏิบัติจนถือเป็นนิสัยคือ

๑. การออกเที่ยวบิณฑบาตมาเลี้ยงชีพตลอดชีวิต การบิณฑบาตเป็นงานสำคัญประจำชีวิต ในอนุศาศน์ท่านสั่งสอนไว้มีทั้งข้อรุกขมูลเสนาสนะ และข้อบิณฑบาต การออกบิณฑบาต พระผู้มีพระภาคทรงถือเป็นกิจจำเป็นประจำพระองค์ ทรงถือปฏิบัติเพื่อโปรดเวไนยสัตว์อย่างสม่ำเสมอตลอดมาถึงวันปรินิพพาน
การบิณฑบาต เป็นกิจวัตรที่อำนวยประโยชน์แก่ผู้บำเพ็ญเป็นเอนกปริยาย กล่าวคือ เวลาเดินบิณฑบาตไปในละแวกบ้าน ก็เป็นการบำเพ็ญเพียรไปในตัวตลอดเวลาที่เดิน เช่นเดียวกับเดินจงกรมอยู่ในสถานที่พักประการหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถในเวลานั้นประการหนึ่ง ผู้ที่บำเพ็ญทางปัญญาโดยสม่ำเสมอ เมื่อเวลาเดินบิณฑบาต เมื่อได้เห็นหรือได้ยินสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาสัมผัสทางทวารย่อมเป็นเครื่องเสริมสติปัญญา และถือเอาประโยชน์จากสิ่งนั้น ๆ ได้โดยลำดับประการหนึ่ง เพื่อตัดความเกียจคร้านของตนที่ชอบแต่ผลอย่างเดียว แต่ขี้เกียจทำเหตุที่คู่ควรแก่กันประการหนึ่ง และเพื่อตัดทิฏฐิมานะถือตน รังเกียจต่อการโคจรบิณฑบาต อันเป็นลักษณะของการเป็นผู้ขอ

เมื่อได้อะไรมาจากบิณฑบาตก็ฉันอย่างนั้น พอยังอัตภาพให้เป็นไป ไม่พอกพูนส่งเสริมกายให้มาก อันจะเป็นข้าศึกต่อความเพียรทางใจให้ก้าวหน้าไปได้ยาก การฉันหนเดียวในหนึ่งวันก็ควรฉันเถิดแต่พอประมาณ ไม่ให้มากเกินไป และยังต้องสังเกตด้วยว่าอาหารชนิดใดเป็นคุณแก่ร่างกาย และเป็นคุณแก่จิต เพื่อให้สามารถปฏิบัติสมาธิภาวนาได้ด้วยดี

๒. การถือผ้าบังสุกุลจีวรตลอดชีวิต ในสมัยพุทธกาล พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญพระมหากัสสปะว่า เป็นผู้เลิศในการทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
ผ้าบังสุกุล คือผ้าที่ถูกทอดทิ้วไว้ตามป่าช้า เช่นผ้าห่อศพ หรือผ้าที่ทิ้งไว้ตามกองขยะ ซึ่งเป็นของเศษเดนทั้งหลาย ไม่มีใครหวงแหน พระภิกษุเอามาเย็บติดต่อกันตามขนาดของผ้าที่จะทำเป็นสบง จีวร สังฆาฏิ ได้ประมาณแปดนิ้วจัดเป็นผ้ามหาบังสุกุล ผ้าบังสุกุลอีกประเภทหนึ่งที่เป็นรองลงมา ผู้ที่มีจิตศรัทธานำผ้าที่ตนได้มาด้วยความบริสุทธิ์ไปวางไว้ในสถานที่พระภิกษุเดินจงกรมบ้าง ที่กุฏิบ้าง หรือทางที่ท่านเดินผ่านไปมา แล้วหักกิ่งไม้วางไว้ที่ผ้า หรือจะจุดธูปเทียนไว้ พอให้ท่านรู้ว่าเป็นผ้าถวายเพื่อบังสุกุลเท่านั้น
๓. รุกขมูลเสนาสนัง ถือการอยู่โคนไม้ในป่าเป็นที่อยู่อาศัย มหาบุรุษโพธิสัตว์ก่อนทรงตรัสรู้ในระหว่างที่แสวงหาโมกขธรรมอยู่หกปี ก็ได้มีความเป็นอยู่อย่างนี้มาโดยตลอด ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำพระสาวกให้เน้นการอยู่ป่าเป็นส่วนใหญ่ จำทำให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้ากว่าการอยู่ที่อื่น
๔. การฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่าตลอดชีวิต เป็นการฉันยาตามมีตามได้ หรือเที่ยวแสวงหายาตามป่าเขา อันเกิดตามธรรมชาติเพื่อบรรเทาเวทนาของโรคทางกายเท่านั้น