ความสัมพันธ์ไทย - อเมริกัน

 
 
 


ความสัมพันธ์ไทย - อเมริกัน

การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และพระบรมราชจักรีวงศ์ กับการประเทศอิสระภาพของสหรัฐอเมริกา อยู่ในห้วงเวลาใกล้เคียงกันมาก ต่างกันเพียง ๖ ปีเท่านั้นคือ เหตุการณ์แรกเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕ และเหตุการณ์หลังเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๙ และหลังจากนั้นไม่นานประเทศทั้งสองก็ได้มีสัมพันธไมตรีต่อกัน
เรือกำปั่นของชาวอเมริกันลำแรก มีกัปตันแฮน เป็นนายเรือได้แล่นเข้ามาในลำน้ำเจ้าพระยาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรือลำนี้ได้บรรทุกสินค้ารวมทั้งปืนคาบศิลาที่ทางราชอาณาจักรไทยต้องการ กัปตันแฮนได้ถวายปืนคาบศิลา ๕๐๐ กระบอก นับเป็นการทำความดีความชอบ จึงได้รับพระราชทานสิ่งของตอบแทนจนคุ้มราคาปืน และยังได้รับยกเว้นภาษีส่วนหนึ่ง ทั้งยังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น ขุนภักดีราช

หลังจากกัปตันแฮนก็มาถึงยุคของมิชชันนารีอเมริกัน ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง
งานเผยแพร่คริสตศาสนาในพระราชอาณาจักรไทยนั้น บาทหลวงจากนิกายโรมันทาธอลิค ได้เริ่มมาแล้วตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยอยุธยา แต่งานของมิชชันนารีจากนิกายโปรแตสแตนท์ เพิ่งจะเริ่มในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๑ โดยศาสนาจารย์สองคนจากสมาคมมิชชันนารีลอนดอน และสมาคมมิชชันนารีเนเทอร์แลนด์ ทั้งสองคนได้มาพักอยู่ที่บ้านคาโลส เดอซิลเวรา กงสุลโปรตุเกส ซึ่งเป็นกงสุลชาวตะวันตกคนแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ มิชชันนารีทั้งสองได้นำคำสอนเป็นภาษาจีนมาแจกจ่าย ให้บรรดาคนจีนในกรุงเทพ ฯ พร้อมทั้งแจกยารักษาโรค ทางราชการของไทยเกรงว่าจะเป็นการยุยงปลุกปั่นคนจีนในพระราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงสั่งห้ามแจกหนังสือแก่คนไทย ต่อมามิชชันนารีทั้งสองได้ขอความช่วยเหลือไปยังคริสตจักรที่สหรัฐอเมริกา ขอให้ส่งมิชชันนารีมาเพิ่มเติม จดหมายฉบับดังกล่าวได้ส่งไปกับ กัปตันเรือสินค้าชื่อ กัปตัน เอเบิล คอฟฟิน เรือลำนี้ได้นำฝาแฝดไทยคือ อินกับจัน ไปอเมริกาด้วย ในปี พ.ศ.๒๓๗๑ นับเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้เดินทางไปอเมริกา และคำว่า แฝดสยาม ก็เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก

 

มิชชันนารีอเมริกันคนแรกเดินทางมาถึงเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๔ คือ หมอ เดวิด เอบีล ความจริงงานเผยแพร่ศาสนาของมิชชันนารีอเมริกัน ต่อคนไทยครั้งแรกได้เริ่มขึ้นแล้วหลายปีก่อนหน้านั้น โดยมิชชันนารีอเมริกันในพม่า นั่นคือในปี พ.ศ.๒๓๖๑ ณ หมู่บ้านคนไทยแห่งหนึ่งในเมืองย่างกุ้ง นางแอน เฮเซนทีน จัดสัน มิชชันนารีอเมริกันได้เข้าไปเผยแพร่ศาสนาในพม่าพร้อมสามี ได้พยายามศึกษาภาษาไทยกับคนไทยในหมู่บ้านนั้นเป็นเวลาปีเศษ คนไทยในหมู่บ้านดังกล่าวน่าจะเป็นคนไทยที่ตกไปอยู่ในพม่าครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ ปี พ.ศ.๒๓๑๐ นางแอน จัดสันได้แปลคัมภีร์บางบทออกเป็นภาษาไทย และด้วยความช่วยเหลือของมิชชันนารีอเมริกันอีกผู้หนึ่งคือ ยอร์ช เอช เฮาห์ ซึ่งมีความรู้เป็นช่างพิมพ์ได้หล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยชุดแรก เพื่อพิมพ์คำสอนเป็นภาษาไทยขึ้นที่เมืองย่างกุ้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๒ แท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ชุดนี้ต่อมาได้ตกมาอยู่ในความครองครองของสมาคมมิชชันนารีลอนดอนที่สิงคโปร์ ดังนั้นจึงได้มีการนำคัมภีร์ภาษาไทยไปพิมพ์ที่สิงคโปร์

 

คณะมิชชันนารีอเมริกันที่เดินทางเข้ามายังเมืองไทยนั้นมีอยู่หลายคณะด้วยกัน ที่สำคัญอเมริกันแบบทิสต์ บอร์ด และอเมริกัน บอร์ด ออฟ คอมมิชชันเนอร์ ฟอร์ ฟอเรน มิชชัน ต่อมาทั้งสองคณะได้รวมเป็นพวกเดียวกัน เรียกชื่อย่อว่า คณะ เอ.บี.ซี.เอฟ.เอ็ม. คนสำคัญในคณะทั้งสองนี้ มีหมอเดวิด เอบีล หมอชาลล์ รอบินสัน และหมอบีช บรัดเลย์ เป็นต้น มิชชันนารีเหล่านี้ส่วนมากเดินทางมาพร้อมกับภรรยา ซึ่งทำหน้าที่เป็นมิชชันนารีเช่นกัน บ้างก็เดินทางมาจากพม่า และบ้างก็เดินทางมาจากอเมริกา มิชชันนารีที่มีบทบาทสำคัญอีกคณะหนึ่งคือ คณะ เพรสไบทีเรียน ที่เริ่มเดินทางมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๑ คนสำคัญในคณะนี้คือ รอเบิต ออร์ ผู้มาถึงคนแรก ต่อมามี หมอสตีเฟน แมตตูน หมอ แซมวล เฮาส์ หมอ แดเนียล แมกกิลวารี และหมอ เอส.ยี.แบดฟาร์แลนด์ เป็นต้น

การเข้ามาของมิชชันนารีอเมริกัน นอกจากนำศาสนาคริสเตียนเข้ามาเผยแพร่แล้ว ก็ได้นำเอาการแพทย์และการศึกษาแผนใหม่ เข้ามาทำประโยชน์ในเมืองไทยด้วย
ผลงานด้านเผยแพร่ศาสนา

เดวิด เอบีล เดินทางมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๔ พร้อมหมอทอมลินซึ่งกลับจากสิงคโปร์ ได้พักอยู่ที่สถานกงสุลโปรตุเกส หมอทอมลินได้นำยารักษาโรค และหนังสือสอนศาสนาทั้งภาษาจีน และภาษาไทยมาแจกจ่ายอีกครั้งหนึ่ง หมอ เอบีล ได้มีหนังสือไปยังคริสตจักรที่อเมริกา ให้ส่งมิชชันนารีมาเมืองไทยอีก สมาคมศาสนาคณะต่าง ๆ ในอเมริกา ได้ส่งมิชชันนารีเข้ามาไม่ขาดสาย และได้ขยายงานออกไปยังจังหวัดต่าง ๆ เกือบทั่วพระราชอาณาจักรไทย

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงขัดขวางกายเผยแพร่ศาสนาแต่อย่างใด เพียงแต่ในระยะแรก ๆ ทางราชการห้ามแจกคำสอนในหมู่คนไทยด้วยกัน ด้วยยังไม่แน่ใจเจตจำนงค์ของมิชชันนารีที่เข้ามาใหม่เท่าใดนัก พวกมิชชันนารีก็ตระหนักในความจริงว่าเมืองไทยเป็นดินแดนที่ไม่มีการต่อต้าน ทำร้าย และทารุณพวกมิชชันนารีเหมือนดินแดนบางแห่งในเอเซีย แต่มิชชันนารีก็ไม่ประสบผลสำเร็จที่น่าพอใจในการชักจูงคนไทยให้ไปนับถือคริสตศาสนา แม้ว่าจะประสบผลสำเร็จในหมู่คนจีนบ้างพอสมควร มีผู้กล่าวไว้ว่าไม่มีประเทศใดที่มิชชันนารีจะได้รับการต่อต้าน การเผยแพร่ศาสนาน้อยที่สุด หรือเกือบไม่มีเลยเท่าประเทศไทย และก็ไม่มีประเทศใดที่คณะมิชชันนารีได้รับผลสำเร็จน้อยที่สุดเท่าประเทศไทย สิ่งที่มีค่าที่มิชชันนารีอเมริกันได้รับคือ ทำให้คนไทยทุกชั้นได้ประจักษ์ว่า อเมริกันเป็นมิตรที่ดี มิชชันนารีอเมริกันทำให้คนไทยเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อฝรั่งชาวตะวันตกในทางหวาดระแวงมานาน และทำให้คนไทยเริ่มเห็นว่าการคบฝรั่งโดยเฉพาะชาวอเมริกันจะได้รับประโยชน์

มิชชันนารีอเมริกันที่เดินทางมาถึงเมืองไทยต่อมาคือ หมอ จอห์น เทเลอร์โจนส์ กับภรรยา ซึ่งเดินทางมาจากพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๔ และได้นำบุตรบุญธรรมชื่อ แซมวล จ.สมิธ มาด้วย เด็กชายผู้นี้ต่อมามีชื่อเสียงในเมืองไทยในนาม "หมอสมิธ" เจ้าของโรงพิมพ์ หมอโจนส์ (คนไทยเรียก หมอยอน) และภรรยา ได้แปลคำภีร์ต่อจากมิชชันนารีผู้มาก่อน ๆ ได้ทำไว้

 

มิชชันนารีรุ่นที่สาม มาถึงเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๘ ได้ไปเช่าที่เหนือวัดสัมพันธวงศ์ (วัดเกาะ) สร้างเรือนพักขึ้นสองหลัง มีมิชชันนารีอเมริกันมาพักอยู่ด้วย แต่ต่อมามีเหตุให้ต้องแยกย้ายกันออกไป หมอแดนบีช บรัดเลย์ ได้ย้ายไปพักอยู่ที่หมู่บ้านซางตาครูซ ฝั่งธนบุรี และต่อมาได้ทำสัญญาเช่าที่กับเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งได้ปลูกเรือนสองหลังให้พวกมิชชันนารีเช่าอยู่ริมแม่น้ำหน้าวัดประยูรวงศาวาส สถานที่นี้ได้ใช้เป็นศูนย์กลางของคณะมิชชันนารีอเมริกัน อยู่ต่อมาเป็นเวลานาน

คณะมิชชันนารีได้สร้างโบสถ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๐ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๑ ได้มีมิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียน จากอเมริกามาสมทบ งานขยายงานออกนอกกรุงเทพ ฯ ยังไม่ได้เริ่มจนกระทั่งอีกประมาณ ๒๐ ปีต่อมา จังหวัดแรกที่คณะมิชชันนารีอเมริกันออกไปตั้งศูนย์เผยแพร่ศาสนาคือ จังหวัดเพชรบุรี เจ้าเมืองเพชรบุรี ให้ความสนับสนุนช่วยเหลือเป็นอย่างดี ด้วยหวังว่าคณะมิชชันนารีจะได้ตั้งโรงเรียนสอนเด็ก ๆ ในจังหวัด หลังจากตั้งศูนย์เผยแพร่ได้ ๒ ปี ก็ได้สร้างโบสถ์ขึ้นที่นั่นใน ปี พ.ศ.๒๔๐๔

 

หมอแมกกิลวารี เป็นผู้ริเริ่มที่จะขยายงานของมิชชันนารีขึ้นไปถึงเชียงใหม่ หมอแมกกิลวารีได้เคยเข้าเฝ้าเจ้าเชียงใหม่ที่กรุงเทพ ฯ หลายครั้งขณะลงมาถวายเครื่องราชบรรณาการ และได้เดินทางขึ้นไปเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ ใช้เวลาเดินทางถึงสามเดือน เจ้าเชียงใหม่กาวิโลรส ซึ่งอนุญาตให้มิชชันนารีขึ้นไปเผยแพร่ศาสนาได้ กลับต่อต้านอย่างรุนแรง ปรากฏว่าผู้เปลี่ยนศาสนาถูกลงโทษ เมื่อสิ้นเจ้ากาวิโลรสแล้ว เจ้าอุปราชยังคงขัดขวางงานของมิชชันนารีอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบเรื่อง จึงทรงมีพระบรมราชโองการมายังข้าหลวงเมืองเชียงใหม่ให้ประกาศแก่ราษฎรเกี่ยวกับเรื่องการนับถือศาสนา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑ มีข้อความสำคัญว่า

"การศาสนานั้นไม่เป็นที่ขัดขวางสิ่งใดในราชการแผ่นดิน ผู้ใดเห็นว่าศาสนาใดถูกต้องก็ถือตามใจชอบของผู้นั้น ผิดถูกก็อยู่แก่ผู้ที่นับถือศาสนานั้นเอง ในหนังสือสัญญา และธรรมเนียมในกรุงเทพ ฯ ก็ไม่ได้ห้ามปรามคนที่จะถือศาสนา"

เมื่อตั้งศูนย์ที่เชียงใหม่เสร็จแล้ว หมอแมกกิลวารี ก็เดินทางต่อไปยังเมืองอื่น ๆ ทางภาคเหนือ หาลู่ทางที่จะก่อตั้งศูนย์สอนศาสนาของมิชชันนารีอเมริกันต่อไป มิชชันนารีอเมริกันต้องใช้เวลาเกือบ ๕๐ ปี จึงสามารถก่อตั้งศูนย์สอนศาสนาคริสเตียนในจังหวัดต่าง ๆ ได้อีก ๙ แห่ง คือ ลำปาง (พ.ศ.๒๔๒๘) ราชบุรี (พ.ศ.๒๔๓๒) ภูเก็ต (พ.ศ.๒๔๓๓) แพร่ (พ.ศ.๒๔๓๖) น่าน (พ.ศ.๒๔๓๙) เชียงราย (พ.ศ.๒๔๔๐) พิษณุโลก (พ.ศ.๒๔๔๒) นครศรีธรรมราช (พ.ศ.๒๔๔๓) และตรัง (พ.ศ.๒๔๕๓) ในทุกจังหวัดดังกล่าวมิชชันนารีได้สร้างโบสถ์ โรงเรียน และโรงพยาบาล

ผลงานของมิชชันนารีอเมริกันด้านการแพทย์

 

งานนี้เริ่มด้วยหมอกัตสลาฟ และผู้ที่มีความสำคัญในยุคแห่งการบุกเบิกได้แก่ หมอบรัดเลย์ ซึ่งเดินทางมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๘ ได้เปิดสำนักงานรักษาคนเจ็บ และแจกยารักษาโรคอยู่ที่วัดเกาะ ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่เรือนเช่าของเจ้าพระยาพระคลังใกล้วัดประยูรวงศ์ ฯ งานสำคัญของหมอบรัดเลย์คือ การนำเอาวิธีปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ เข้ามาใช้ในการแพทย์เมืองไทย หมอบรัดเลย์ได้ทดลองเพาะหนองเชื้อขึ้นเองในกรุงเทพ ฯ ได้สำเร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยอมรับความสำเร็จด้านนี้ และได้โปรดเกล้า ฯ ให้หมอหลวงทั้งหมดมาหัดปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ และได้พระราชทานรางวัลให้หมอบรัดเลย์ ๕ ชั่ง

 

หมอเฮ้าส์ เป็นมิชชันนารีอเมริกันอีกคนหนึ่งที่อุทิศตนให้กับงานด้านการแพทย์ เมื่อเกิดอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ ก็ได้เป็นหัวแรงในการรักษาพยาบาล สามารถช่วยคนเจ็บไว้ได้เป็นจำนวนมาก หมอเฮาส์ใช้หัวแอลกอฮอล์การบูรผสมกับน้ำให้ผู้ป่วยกิน สามารถระงับโรคระบาดได้ผล หมอแมกกิลวารีนำยาควินินมาใช้รักษาคนไข้โรคมาเลเรียทางภาคเหนือ โรงพยาบาลแห่งแรกของมิชชันนารีอเมริกันสร้างที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าาเจ้าอยู่หัว ก็ยังพระราชทานเงินช่วยเหลือในการสร้างโรงพยาบาล มิชชันนารีที่ไม่ได้เป็นแพทย์ก็พยายามช่วยเหลืองานด้านนี้ตามความสามารถ ภรรยาของหมอสอนศาสนาทั้งหลายก็ได้ช่วยงานแพทย์ในฐานะพยาบาล โรงเรียนพยาบาลในโรงพยาบาลแมคคอมิคเชียงใหม่ เป็นผลงานชิ้นหนึ่งของหมอ เอดวิน ซี.คอร์ต โรงพยาบาลโรคเรื้อนแห่งแรกที่เชียงใหม่สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ เป็นผลงานของหมอเจมส์ ดับบลิว. แมคเดน ผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างโรงพยาบาลแมคคอมิค ทั้งยังเป็นผู้สร้างห้องทดลองผลิตวัคซีนได้สำเร็จใน ปี พ.ศ.๒๔๕๗

 

ด้านศัลยกรรม หมอบรัดเลย์เป็นคนแรกที่รักษาคนไข้ด้วยวิธีผ่าตัด แพทย์ทางศัลยกรรมอีกผู้หนึ่งที่มีผลงานต่อมาคือหมอเฮาส์ หมอ ยอร์ช บรัดเลย์ แมกฟาร์แลนด์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์แผนใหม่ เมื่อทางราชการตั้งศิริราชพยาบาลขึ้น ก็ได้ตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์ขึ้นในโรงพยาบาลแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒ ก็ได้เชิญหมอแมกฟาร์แลนด์ไปเป็นครูใหญ่ ต่อจากหมอ ที.เฮเวิร์ด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ ท่านผู้นี้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระอาจวิทยาคม ท่านได้อุทิศเวลาหลายสิบปีให้กับโรงเรียนแพทย์ ได้แปลตำราแพทย์ออกเป็นภาษาไทยหลายเล่ม

คนไทยคนแรกที่ได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์ จากอเมริกาคือ นายเทียนฮี้ สารสิน (พระยาสารสิน สวามิภักดิ์) ซึ่งหมอเฮาส์ได้สนับสนุนส่งไปเรียนยังมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค และหญิงไทยคนแรกที่เดินทางไปเรียนวิชาพยาบาลผดุงครรภ์ที่อเมริกาด้วยความอนุเคราะห์ของหมอแมตตูนคือ นางเต๋อ (เอสเทอร์)
ผลงานของมิชชันนารีอเมริกันด้านการศึกษาและการพิมพ์

 

ผลงานด้านการศึกษาเริ่มตั้งแต่การสอนภาษาอังกฤษ ไปจนถึงการตั้งโรงเรียนและการพิมพ์ ตลอดจนการออกหนังสือพิมพ์ ผลงานเหล่านี้เป็นการเปิดทางไปสู่วิชาการ และเทคนิคใหม่ ๆ ของโลกตะวันตก ความล้มเหลวทางการฑูตของไทย กับประเทศตะวันตกในระยะต้นๆ ของสมัยรัตนโกสินทร์ กับส่วนหนึ่งคือการไม่เข้าใจภาษาซึ่งกันและกัน
งานด้านการศึกษาของมิชชันนารีอเมริกันยังไม่ปรากฏชัดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มาปรากฏชัดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดให้ ภรรยา มิชชันนารีสามคน ผลัดกันเข้าไปสอนหนังสือให้กับสุภาพสตรีใน พระราชสำนัก และหลังจากนั้น พวกมิชชันนารีก็เริ่มชักชวนเด็ก ชาวบ้านเรียนหนังสือ เช่น แหม่มแมตตูน เริ่มสอนเด็กหญิงกลุ่มหนึ่งในหมู่บ้านมอญ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๕ และในเวลาใกล้เคียงกัน ครูชาวจีนที่เปลี่ยนศาสนาคนแรก ๆ ก็ได้สอนหนังสือเด็กผู้ชาย ซึ่งส่วนมากเป็นลูกจีนในเขตมิชชันใกล้วัดอรุณ ฯ มีหมอเฮาส์เป็นผู้ควบคุม ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่สำเหร่ ต่อมาได้มีครูคนใหม่เป็นคนไทย จึงได้ใช้ภาษาไทยสอนแทนภาษาจีน วิชาที่สอนมีปรัชญา เลข ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ และแต่งความ เป็นต้น โรงเรียนนี้ก้าวหน้าไปตามลำดับ ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ โรงเรียนนี้มีชื่อว่า บางกอกคริสเตียนไฮสกูล ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ฝั่งกรุงเทพ ฯ ในปี พ.ศ.๒๔๔๔ และเปลี่ยนชื่อเป็นบางกอกคริสเตียนคอลเลจ ซึ่งก็คือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนในปัจจุบัน

 

สำหรับเด็กผู้หญิง แหม่ม เอส.ยี. แมคฟาร์แลนด์ ได้ตั้งโรงเรียนการช่างสำหรับเด็กผู้หญิงที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๘ และในปี พ.ศ.๒๔๑๔ แหม่มจอห์นแคริงตัน ก็ได้ตั้งโรงเรียนการช่างทำนองเดียวกันที่ฝั่งธนบุรี ต่อมาโรงเรียนนี้ได้ย้ายไปรวมกับโรงเรียน แฮเวียต เอ็ม.เฮาส์ ซึ่งเดิมเรียกว่า โรงเรียนวังหลัง ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ โรงเรียนวังหลังเดิมซึ่งเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ สมัยแหม่ม เอ็ดนา เอส.โคล์ ที่เรียกกันว่า แหม่มโคล์ เป็นครูใหญ่ ได้ย้ายโรงเรียนมาอยู่ฝั่งกรุงเทพ ฯ ริมคลองแสนแสบ เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า วัฒนาวิทยาลัย อคาเดมี หรือ วัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน

เมื่อคณะมิชชันนารีขยายงานออกไปภาคเหนือ มิชชันนารีได้บันทึกไว้ว่า ที่เชียงใหม่มีผู้หญิงเพียงสองคนเท่านั้นที่อ่านหนังสือได้ แม้ผู้ชายเองที่อ่านหนังสือได้ก็มีน้อยมาก ผู้ที่บวชเรียนมาแล้วเท่านั้นที่จะพออ่านออกเขียนได้ เรื่องข้อนี้แม้แต่ในกรุงเทพ ฯ เองก็เช่นเดียวกัน เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๑๘ แหม่มแมกกิลวารี ได้พยายามสอนให้เด็กผู้หญิงรู้จักเย็บปักถักร้อย และงานแม่บ้านอื่น ๆ พร้อมทั้งเรียนคัมภีร์ไปด้วย ได้ตั้งเป็นโรงเรียนชื่อโรงเรียนพระราชชายา ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ เป็นโรงเรียนดาราวิทยาลัย มีเด็กจากจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือมาเรียนกันมาก สำหรับโรงเรียนชายในเชียงใหม่แห่งแรกเริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ มีหมอ ดี.เจ.คอลลินส์ เป็นครูใหญ่คนแรก ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ โรงเรียนได้ย้ายไปอยู่ในที่แห่งใหม่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ เสด็จหัวเมืองเหนือได้ทรงวางศิลาฤกษ์ตึกหอประชุมโรงเรียน และพระราชทานนามโรงเรียนว่า โรงเรียนปรินซ์รอยส์ และเมื่อมีการตั้งศูนย์เผยแพร่ศาสนาที่ลำปาง แพร่ เชียงราย และน่าน พวกมิชชันนารีก็ได้สร้างโรงเรียนสำหรับเด็กทั้งชายและหญิง ตามจังหวัดดังกล่าว ซึ่งนอกจากโรงเรียนสามัญแล้วยังมีโรงเรียนฝึกวิชาชีพสำหรับเด็กผู้ชายเช่น โรงเรียนเกษตรกรรมลำปาง

ก่อนที่ทางราชการไทยจะตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ งานด้านการศึกษาของไทยได้เริ่มมามากแล้วด้วยความริเริ่มของมิชชันนารีอเมริกัน นักเรียนจากโรงเรียนของมิชชันนารี ก็ได้มาเป็นครูของโรงเรียนหลวงที่เริ่มขึ้นหลายแห่ง

ผลงานด้านการพิมพ์ของมิชชันนารีอเมริกันเป็นปัจจัยสำคัญของการศึกษา หมอบรัดเลย์เป็นคนนำแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ภาษาไทยของแหม่มจัดสันมาจากสิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ หนังสือไทยเล่มแรกที่พิมพ์คือ หนังสือไวยากรณ์ไทยของร้อยเอก เจมส์โลว์ ชาวอังกฤษ ซึ่งได้ส่งไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์คณะแบบทิสต์ที่กัลกัตตา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๑ ต่อมาหมอบรัดเลย์ได้คิดดัดแปลงตัวพิมพ์ภาษาไทยให้สวยงามขึ้นกว่าเดิม ในระยะแรกต้องส่งตัวพิมพ์ไปหล่อที่ต่างประเทศ ต่อมาเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๘๔ จึงสามารถหล่อตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นได้เองในเมืองไทย การพิมพ์หนังสือไทยในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนมากใช้พิมพ์หนังสือสอนศาสนาคริสเตียนเป็นหลัก เอกสารครั้งแรกของทางราชการที่พิมพ์ออกมาคือ ประกาศห้ามสูบฝิ่น และนำฝิ่นเข้ามาในเมืองไทย โดยพิมพ์เป็นใบปลิว ๙,๐๐๐ ฉบับ และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หมอบรัดเลย์ก็ได้ออกหนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรก ชื่อว่า บางกอก รีคอร์เดอร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ ต่อมาได้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือพิมพ์เล่มแรกของไทย คือ หนังสือดรุโณวาท ของพระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ ซึ่งออกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฏ และเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดบวรนิเวศ ได้ทรงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในวัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ต่อมาทางราชการได้จัดตั้งโรงพิมพ์หลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ชื่อว่า โรงอักษรพิมพการ

ขณะที่ฝรั่งเศสเข้ามาในอินโดจีน และต้องการกัมพูชาไปจากไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น หนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ได้โจมตีฝรั่งเศส และนาย กาเบรียล โอบาเรต์ กงสุลฝรั่งเศสด้วยข้อความต่าง ๆ มีผู้กล่าวว่าหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอร์ เปรียบเสมือนหนามยอกอกของฝรั่งเศสอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดหมอบรัดเลย์ได้ตกเป็นจำเลยของนายโอบาเรต์ในศาลด้วยข้อหาหมิ่นประมาท ในปี พ.ศ.๒๔๐๙ ถูกกาเรียกค่าเสียหาย ๑,๕๐๐ ดอลล่าร์ ศาลตัดสินให้เขาแพ้คดี และให้จ่ายค่าเสียหายเพียง ๑๐๐ ดอลล่าร์ หมอบรัดเลย์ได้ขอความกรุณาต่อศาลให้ชดใช้เงินเพียง ๔๘ ดอลล่าร์ ปรากฏว่าเพื่อนมิชชันนารี และฝรั่งชาติอื่น ๆ ในกรุงเทพ ฯ ได้เรี่ยไรเงินให้หมอบรัดเลย์ได้ถึง ๓๐๐ บาท (ประมาณ ๑๘๐ ดอลล่าร์) และเมื่อสหรัฐอเมริกาตั้งสถานกงสุลขึ้นในเมืองไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลอเมริกันคนแรกคือ หมอสตีเฟน แมตตูน ซึ่งเป็นมิชชันนารีอเมริกัน จึงกล่าวได้ว่ามิชชันนารีอเมริกัน เป็นผู้บุกเบิกความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ไทยกับอเมริกัน
สนธิสัญญาไทย - อเมริกัน ฉบับแรก พ.ศ.๒๓๗๕

 

เพียงหนึ่งปีหลังจากที่มิชชันนารีอเมริกันคนแรกเดินทางมาถึงเมืองไทย ประธานาธิบดี แอนดรู แจ๊คสัน แห่งสหรัฐอเมริกาก็ได้ส่ง เอ็ดมันด์ รอเบิตส์ เป็นทูตมายังกรุงเทพ ฯ ในปี พ.ศ.๒๓๗๕ ความจริงชาวเมริกันได้เดินเรือมาค้าขายถึงเมืองจีน ชวา และสุมาตรามานานแล้ว เรือพ่อค้าอเมริกันลำหนึ่งได้เข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๔ และเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๖๘ กงสุลอเมริกันที่ปัตตาเวียได้เสนอให้รัฐบาลอเมริกันส่งทูต มาเปิดความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย และเมื่อไทยกับอังกฤษได้ทำสัญญาการค้าต่อกัน ในสมัย เฮนรี่ เบอร์นี่ เป็นทูตเข้ามาเมืองไทยในปี พ.ศ.๒๓๖๘ แต่โปรตุเกสเป็นชาติแรกที่ส่งกงสุลมาประจำอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๖๓

ทูตอเมริกันคนแรกพร้อมคณะ ๑๕ คน เดินทางมาถึงกรุงเทพ ฯ ด้วยเรือรบพีค๊อก ทางไทยให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ จัดให้พักอยู่ที่ตึกรับรองแขกเมือง บริเวณบ้านเจ้าพระยาพระคลัง หน้าวัดประยูรวงศ์ ฯ เอ็ดมันด์ รอเบิตส์ มีของถวายจากประธานาธิบดี เช่นกระเช้าเงิน นาฬิกาพกทองคำ และแพร เป็นต้น และของที่สำคัญที่สุดคือ พระแสงกระบี่ฝักและด้ามทองคำมีรูปช้าง และนกอินทรีย์ เครื่องราชบรรณาการตอบแทนของไทยที่เป็นของพื้นเมือง มีงาช้าง ดีบุก เนื้อไม้กำยาน พริกไทย และฝาง เป็นต้น การเจรจากับฝ่ายไทยที่มีเจ้าพระยาพระคลังเป็นหัวหน้า ใช้เวลาสามสัปดาห์ได้ตกลงทำสัญญากัน เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๓๗๕ เป็นสนธิสัญญา ๑๐ ข้อ มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับสัญญาที่ไทยทำกับอังกฤษ เช่นให้มีการค้าเสรี ระหว่างพ่อค้าไทยและอเมริกัน นอกจากข้าว ปืน และฝิ่น และหากไทยได้ จะให้ประโยชน์ใด ๆ แก่ชาติอื่นแล้ว สหรัฐอเมริกาก็จะได้ประโยชน์เช่นนั้นด้วย สนธิสัญญาเขียนไว้ ๔ ภาษาคือ ไทย อังกฤษ จีน และโปรตุเกส

สหรัฐอเมริกาได้ส่งทูตพิเศษเข้ามาเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๓ เพื่อขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ทำไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๕ แต่โจเซฟ บาเลสเตียร์ผู้เป็นทูตไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายไทย และกลับไปด้วยความล้มเหลว