ความสัมพันธ์ไทย - อเมริกัน

 
 
 


ยุคใหม่ของความสัมพันธ์ไทย - อเมริกันหลังปี พ.ศ.๒๓๙๙

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔ ทรงตระหนักว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะด้านวิเทโศบาย เนื่องจากลัทธิจักรวรรดิ์นิยมตะวันตกกำลังเฟื่องฟู หลายประเทศในเอเซียถูกลัทธินี้คุกคามอยู่ ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ใช้ประเทศจักรวรรดิ์นิยมเช่น อังกฤษ หรือฝรั่งเศส แต่เมื่อไทยให้ประโยชน์กับอังกฤษชาติหนึ่งแล้ว ชาติอื่น ๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาก็ย่อมจะได้รับประโยชน์นั้นด้วยเช่นกัน

 

ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียซ แห่งสหรัฐอเมริกาได้แต่งตั้งให้ เทาน์เซนต์ แฮริส เป็นทูตมาเจรจาทำสนธิสัญญาให้กับไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๓ ๙๙ ขณะนั้นเขาเป็นกงสุลใหญ่ประจำประเทศญี่ปุ่น เขามาถึงสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๓๙๙ ทางกรุงเทพ ฯ ได้จัดส่งเรือกลไฟสยามอรสุมพลไปรับมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน แฮริสมีคณะทูตเป็นขุนนางอเมริกันประดับเกียรติ์มาถึง ๔๖ คนพักที่บ้านรับรองแขกเมืองปากคลองผดุงกรุงเกษม ได้เข้าเฝ้าที่พระที่นั่งดุสิต เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พร้อมกับถวายเครื่องราชบรรณาการ มีปืนลำกล้องหุ้มทอง รูปประธานาธิบดี กระจกเงา หมึก สมุด ฉาก แผนที่ โคมระย้า เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งคณะผู้แทนไทยทำหนังสือสัญญา ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำสนธิสัญญากันเมื่อ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๓๙๙ มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับ สนธิสัญญาบาวริง กล่าวคือไทยอมเลิกการผูกขาดทุกประเภทให้มีการค้าโดยเสรี ข้อสำคัญคือข้อที่ว่าด้วยอำนาจศาลกงสุล หรือสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และข้อที่ว่าด้วยอัตราภาษีศุลกากร ซึ่งเลิกวิธีเก็บภาษีปากเรือสำหรับสินค้าข้าเข้า เปลี่ยนมาเก็บอัตราร้อยละ ๓ สินธิสัญญาทำขึ้นสามฉบับ ผู้ที่แฮริสแต่งตั้งให้เป็นกงสุลอเมริกันคนแรกคือ หมอสตีเฟน แมตตูน มิชชันนารีอเมริกัน

สนธิสัญญาฉบับนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันในสมัยประธานาธิบดี เจมส์ บุคะนัน ในระยะ ๑๐ ปีแรก หลังสนธิสัญญา มีการแลกเปลี่ยนจดหมาย และบรรณาการระหว่างรัฐบาลทั้งสอง สมัยหมอสตีเฟน แมตตูน เป็นกงสุลอเมริกัน สัมพันธภาพระหว่างประเทศทั้งสองอยู่ในขั้นดียิ่ง ชาวอเมริกันเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมากกว่าฝรั่งชาติอื่น ๆ

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงมีพระราชสาส์นหลายครั้ง ครั้งแรกถึงประธานาธิบดี แฟรงกลิน เพียซ ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๙๙ ต่อมามีถึง ประธานาธิบดี เจมส์ บุคะนัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๒ ฉบับหน้าและต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๓ ก็ได้ทรงมีถึงอีกฉบับหนึ่งตอบรับของบรรณาการที่ประธานาธิบดี บุคุนันส่งมาถวาย และได้มีพระราชสาส์นอีกฉบับหนึ่งล้วนที่เดียวกัน แต่เมื่อพระราชสาส์นทั้งสองฉบับไปถึงอเมริกานั้นเป็นสมัยของประธานาธิบดีลินคอล์น ในพระราชสาส์นฉบับหลังนี้ พระองค์มีพระราชประสงค์จะพระราชทานช้างไปเป็นของกำนัล บังเอิญเกิดสงครามกลางเมืองในอเมริกา ประธานาธิบดีลินคอล์น จึงมิได้ตอบพระราชสาส์น จนกระทั่งอีกปีหนึ่งต่อมาจึงได้กราบบังคมทูลว่า ดินฟ้าอากาศในอเมริกาไม่เหมาะสมสำหรับช้าง

ระหว่างสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา ทำให้การติดต่อระหว่างประเทศทั้งสองห่างเหินกันไป ตั้งแต่สงครามกลางเมืองเป็นต้นมา เรือติดธงอเมริกันไม่ได้เข้ามาในกรุงเทพ ฯ อยู่นาน จนถึงปี พ.ศ.๒๔๐๙ จึงได้เรืออเมริกันลำหนึ่งเข้ามาทอดสมอที่สันดอนปากน้ำ และในปีนั้นเองได้มีการแก้ไขสัญญาบางข้อ เช่นข้อที่ว่าเรือต่างชาติทุกลำจะต้องมอบอาวุธปืนของเรือของตนไว้ที่สันดอนปากน้ำ และเรียกคืนเมื่อเดินทางกลับ การขนย้ายปืนจากเรือขึ้นฝั่ง และขนย้ายจากฝั่งลงเรือเป็นเรื่องยุ่งยาก และเสียเวลามาก จึงได้มีการแก้ไขเป็นว่ามอบไว้แต่ดินปืนเท่านั้น การแก้ไขดังกล่าวทำให้พ่อค้าอเมริกันพอใจมาก กงสุลอเมริกันคือ เจมส์ เอ็มฮูด ได้พยายามฟื้นฟูการติดต่อระหว่างไทย - อเมริกัน แต่สัมพันธภาพระหว่างเขากับมิชชันนารีอเมริกันไม่ดีนัก และในสมัยนี้เองที่ หมอบรัดเลย์ได้ตกเป็นจำเลยของกงสุลฝรั่งเศสโอบาเรต์ ความสัมพันธ์ทั้งด้านการเมือง และการค้าของไทยและอเมริกา ระยะนั้นตกต่ำมากกว่าชาติอื่น ๆ ฮูดให้เหตุผลว่า เป็นเพราะไม่มีเรือรบอเมริกันในน่านน้ำแถบนี้ สหรัฐอเมริกาอยู่ไกลเกินไป และไม่มีดินแดนในปกครองอยู่ในภูมิภาคนี้ เหมือนอังกฤษและฝรั่งเศส ฐานะของอเมริกันจึงต่างกับมหาอำนาจอื่น ๆ

แม้ว่าสนธิสัญญาแฮริสดูคล้ายกับว่าจะแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการค้าต่างประเทศแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่เสมอ เช่นในเรื่องที่รัฐบาลได้พยายามเก็บภาษีสินค้าเพิ่มขึ้นอีก เช่น ภาษีไม้ ภาษีสุรา และออกกฎหมายเกี่ยวกับการส่งออกโคกระบือใน ปี พ.ศ.๒๔๑๔ เจ้าหน้าที่ศุลกากรของไทยได้ยึดเรือสินค้าอเมริกันบรรทุกไม้ลำหนึ่งชื่อ คอลฟิน ในข้อหาว่าไม่เสียภาษีไม้ ซึ่งภาษีชนิดนี้ความจริงเป็นภาษีภายในเก็บด้วยวิธีสิบท่อนชักสอง กงสุลอเมริกันชื่อ พาทริจได้ประท้วงไปยังรัฐบาลขอให้ปล่อยเรือคอลฟิน เพราะรัฐบาลไม่เคยเก็บภาษีไม้จากพ่อค้าที่เป็นคนในบังคับต่างชาติ และเนื่องจากสหรัฐอเมริกาได้รับการปฏิบัติอย่างประเทศที่ได้รับ อนุเคราะห์อย่างยิ่งตามสนธิสัญญา จึงไม่ควรต้องเสียภาษีนี้เช่นกัน พาทริจยังร้องเรียนไปทางกรุงวอชิงตันด้วย แต่กระทรวงต่างประเทศอเมริกันไม่ต้องการจะมีปัญหากับรัฐบาลไทย จึงให้พาทริจแก้ปัญหาด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม อเมริกันก็ส่งเรือรบเข้ามายังกรุงเทพ ฯ ในเดือน กรกฎาคม ๒๔๑๕ ผู้บังคับการเรือเข้าร่วมเจรจากับฝ่ายไทยในที่สุดตกลงกันได้ ไทยยอมปล่อยเรือคอลฟินไป หลังจากนั้นก็ได้มีเรือรบอเมริกันมาเยือนกรุงเทพ ฯ บ่อยครั้ง แต่ปัญหาระหว่างรัฐบาลไทยกับกงสุลอเมริกันยังคงมีอยู่ เช่นการนำสุราต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย เนื่องจากภาษีขาเข้ามีอัตราต่ำ จึงมีสุราต่างประเทศเข้ามาแพร่หลายในตลาดเมืองไทย ทำให้สุราในประเทศขายได้น้อย ผู้ที่ก่อปัญหานี้บางครั้งคือพ่อค้าคนจีนในบังคับอเมริกัน คนเหล่านี้มักอ้างสิทธิพิเศษว่า เป็นคนในบังคับฝรั่ง ซึ่งคนไทยสมัยนั้นเรียกพวกนี้ว่า สับเย็ก หรือพวก ร่มธง ได้พากันกอบโกยผลประโยชน์ให้ตนเอง พ่อค้าจีนบางคนถึงกับชักธงชาติอเมริกันบนเรือของตน ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดความบาดหมางขึ้นเนือง ๆ

นอกจากนั้นสัมพันธ์ไมตรีระหว่างไทย และอเมริกัน ยังขึ้นอยู่กับกงสุลอเมริกันเองด้วย ผู้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด น่าจะได้แก่ ฮัลเดอร์มาน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ.๒๔๒๓ - ๒๔๒๘ เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากกงสุลเป็นอัครราชทูต หลังสมัยฮัลเดอร์มานความสัมพันธ์ระหว่างไทย และอเมริกันยังมีปัญหาอยู่ เช่นในกรณีของชีค และกรณีเคลเลต เป็นต้น ได้มีการเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาใช้นโยบายเรือปืนกับไทยบ้าง รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ส่งเรือรบลำหนึ่งมาที่กรุงเทพ ฯ ผู้บังคับการเรือร่วมด้วยอัครราชทูตอเมริกันเข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทย ฝ่ายไทยยอมให้มีการตั้งกรรมการตัดสินชี้ขาด คณะกรรมการผสมตัดสินว่าฝ่ายไทยเป็นผู้ผิด รัฐบาลไทยยอมรับคำตัดสินด้วยดี เหตุการณ์ดังกล่าวจะเห็นว่า แม้ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับคนอเมริกันในเมืองไทย เช่น มิสชันนารีจะดำเนินไปด้วยดีก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ในระดับสูงไม่สู้จะราบรื่นนัก

จากสนธิสัญญา พ.ศ.๒๓๙๙ ก็ได้มีกงสุลอเมริกันประเทศไทยตลอดมา แต่ไทยยังมิได้ส่งผู้แทนไปประจำยังสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศในยุโรป ไทยมีสถานกงสุลอยู่ในเมืองหลวงของประเทศที่มีสัมพันธไมตรีทางการทูตกับไทย แต่รัฐบาลไทยได้จ้างชาวต่างประเทศเป็นกงสุลไทยประจำประเทศต่าง ๆ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นข้าราชการไทย ราชทูตไทยองค์แรกซึ่งได้รับแต่งตั้งในปี พ.ศ.๒๔๒๔ ไปประจำประเทศในยุโรปคือ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย (เวลานั้นทรงเป็นหม่อมเจ้า) ทรงทำหน้าที่ราชทูตไทยประจำสิบกว่าประเทศในยุโรป รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย โดยมีสำนักงานอยู่ที่สถานทูตไทยในประเทศอังกฤษ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทรงเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทยไปทรงศึกษายังประเทศอังกฤษเป็นรุ่นแรก ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ราชทูตไทยคนแรกที่ได้เดินทางไปสหรัฐ ฯ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (สมัยดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น) และยื่นพระราชสาส์นตราตั้งต่อประธานาธิบดี เชสเตอร์ อลัน อาเธอร์ ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗ แต่เสด็จมาประทับอยู่ที่สถานทูตไทยในประเทศอังกฤษ สถานทูตไทยในกรุงวอชิงตันเริ่มตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ มีพระยาอัครราชวราธร (ภัสดา บูรณศิริ) เป็นอัครราชทูตไทยไปประจำอยู่เป็นครั้งแรก
ที่ปรึกษาราชการอเมริกันในประเทศ
ไทยเริ่มจ้างที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา ในปี พ.ศ.๒๔๐๙ ปรากฏว่ามีชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการรวมทั้งเป็นที่ปรึกษาอยู่ถึง ๘๔ คน มีทั้งคนชาติอังกฤษ อเมริกัน เดนมาร์ค และเยอรมัน ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศเหล่านี้ทวีจำนวนมากขึ้นในรัชสมัยต่อมา เมื่อไทยได้มีการพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ การต่างประเทศของไทย ได้ขยายวงกว้างออกไปตามพันธะของสนธิสัญญา รัฐบาลไทยจ้างที่ปรึกษาฝรั่งทั้งในด้านกฎหมาย การคลัง การต่างประเทศ และการพัฒนาด้านอื่น ๆ ตำแหน่งที่มีความสำคัญ และมีอิทธิพลมากที่สุดคือ ตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ซึ่งคนแรกเป็นชาวเบลเยี่ยม แต่ต่อมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นคนอเมริกันทั้งหมด
ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ รัฐบาลไทยได้ว่าจ้างนายโรลังค์ ยัคมินส์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายชาวเบลเยี่ยม มาเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินคนแรก ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาอภัยราชา การที่ต่อมาหลังสมัยโรลังค์ ยัคมินส์แล้ว ซึ่งเป็นชาติที่เป็นกลางแล้วก็ได้พิจารณาถึงคนอเมริกัน ซึ่งรัฐบาลไทยเห็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่มีนโยบายล่าเมืองขึ้น และไม่มีปัญหาเรื่องเขตแดนกับไทย
ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ชาวอเมริกันสามคนที่มีผลงานดีเด่นคนแรกคือ นายเอ็ดเวิด เอช .สโตรเบล เคยเป็นศาสตราจารย์วิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เริ่มทำงานให้กับรัฐบาลไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ผลงานที่สำคัญคือเรื่องการต่างประเทศ ทำให้สัมพันธ์ทางการทูตของไทยกับนานาชาติไปด้วยดี เขาได้ช่วยเจรจากับฝรั่งเศส และอังกฤษจนไทยได้ทำสนธิสัญญาใหม่กับประเทศทั้งสอง นอกจากนี้ยังทำงานด้านกิจการภายในประเทศสำเร็จอีกหลายอย่าง มีส่วนสำคัญในการพิจารณาออกกฎหมายหลายฉบับ ปรับปรุงข้อบังคับเกี่ยวกับการเดินเรือในประเทศ และต่างประเทศ ขยายกิจการรถไฟ รถราง โรงสี โรงเลื่อย

 

เวสเตนการ์ด เข้ารับตำแหน่งต่อจากสโตรเบล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ และดำเนินการทุกอย่างเช่นเดียวกับที่สโตรเบลเคยปฏิบัติ คือ งานด้านการต่างประเทศ การศาล การพัฒนาและให้คำปรึกษาทั่วไป งานชิ้นสำคัญคือ การลงนามในสนธิสัญญากับอังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ และได้เป็นผู้แทนถาวรของประเทศไทย ประจำศาลระหว่างประเทศที่กรุงเฮก เวสเตน การ์ด ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
วอลคอต พิตกิน รับหน้าที่ต่อจากเวสเตนการ์ด ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ผลงานของเขาไม่เด่นเท่าสองคนแรก และในสมัยนี้เองก็ได้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาราชการกระทรวงต่างประเทศ และนับจากมีตำแหน่งนี้ ก็ได้มีชาวอเมริกันเข้ามารับราชการตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๖๐ อยู่ห้าคนด้วยกัน ที่ปรึกษาเหล่านี้ทุกคนมีเกียรติประวัติดีงาม มีการศึกษาสูง และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญมาก่อนทั้งสิ้น
เอลดอน อาร์ เจมส์ เข้ารับหน้าที่เป็นคนแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ เขาเป็นศาสตราจารย์วิชากฎหมายของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน และมหาวิทยาลัยบินนิโซต้า และเคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิสซูรี ดร.เจมส์ได้ทำงานต่อจากสโตรเบล และเวสเตน การ์ด ที่ได้ทำไว้กับฝรั่งเศสและอังกฤษ หลังสงครามโลก ครั้งที่หนึ่ง ดร.เจมส์ เป็นผู้ไปเจรจากับรัฐบาลอเมริกันที่กรุงวอชิงตัน เมื่อสงครามโลกสงบ และมีการประชุมสัมพันธมิตร ที่พระราชวังแวร์ซายล์ ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้กล่าวในพิธีประชุมว่า อเมริกันยินดีทำสนธิสัญญาใหม่กับไทย โดยจะยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตด้วยความเต็มใจ และสหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศแรกที่ยอมทำสัญญาใหม่กับไทยดังกล่าว
ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๓ ไทยและสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับหนึ่ง มีสาระสำคัญว่า สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับอเมริกันเป็นอันยกเลิก ส่วนภาษีศุลกากรนั้นให้เลิกภาษีร้อยละสาม ไทยมีเสรีภาพที่จะกำหนดอัตราภาษีศุลกากรเอง อันเป็นแบบอย่างให้ไทยได้ทำสัญญา ในลักษณะเดียวกันกับมหาอำนาจตะวันตกชาติอื่น ๆ

 

ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ ได้เข้ามาทำหน้าที่แทน ดร.เจมส์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยเดินทางไปเจรจากับนานาประเทศ เพื่อขอแก้ไขสัญญาเป็นเวลาสองปี ประเทศที่ต่อต้านการแก้ไขสนธิสัญญามากที่สุดคือ อังกฤษ เพราะมีผลประโยชน์ทางการค้าอยู่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกอยู่มาก นอกจากนี้ฝรั่งเศสก็แสดงท่าทีไม่ยินยอมมาแต่ต้น หลังจากที่ ดร.แซร์ ได้เดินทางไปทั่วทวีปยุโรป ประมาณสองปี ก็สามารถทำให้ประเทศในยุโรป ๑๐ ประเทศยอมลงนามในสนธิสัญญาใหม่กับไทย โดยมีสาระสำคัญทำนองเดียวกับสัญญาระหว่างไทย กับสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ ประเทศสุดท้ายที่ลงนามในสัญญาคือ นอร์เวย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙ นอกจากนั้น ดร.แซร์ ยังได้ทูลเกล้า ฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับหนึ่ง มีอยู่ ๑๒ มาตรา
ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ดร.แซร์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรี เป็นราชทินนามเดียวกันกับ ดร.เจมส์ ไอ เวสเตนการ์ด และแม้แต่จะลาออกจากราชการกลับไปสหรัฐอเมริกาแล้วก็ตาม ก็ยังคงติดต่อกับคนไทย และช่วยเหลือในกิจการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทย
คอร์ทนี ครอคเกอร์ รับหน้าที่ต่อจาก ดร.แซร์ แต่ผลงานไม่เด่นนัก เรมอนด์ บี.สตีเวนสัน และคอลแบร์ ที่ปรึกษาอีกสองคนได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขสนธิสัญญา อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายโดยสมบูรณ์แล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ ได้เริ่มเจรจากับประเทศต่าง ๆ เพื่อขอทำสนธิสัญญาใหม่ โดยใช้หลักความเสมอภาค และความยุติธรรม สหรัฐอเมริกาได้ลงนามในสนธิสัญญาใน ปี พ.ศ.๒๔๘๐ และภายในปี พ.ศ.๒๔๘๑ ประเทศอื่น ๆ ก็ยอมทำสนธิสัญญาใหม่กับไทย ไทยจึงได้อิสระภาพทางศาล และทางรัษฎากรกลับคืนมาโดยเต็มที่ บทบาทของที่ปรึกษาอเมริกันก็จบลงด้วยการลาออกจากตำแหน่งของดอล แบร์ ที่ปรึกษาคนสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓