จอมทัพไทย

 

 

ชาติของเรา เป็นไทยอยู่ได้ จนถึงตัวเราคนหนึ่งนี้ เพราะบรรพบุรุษของเรา
เอาเลือด เอาเนื้อ เอาชีวิต และความลำบากยากเข็ญเข้าแลกไว้

โขลงช้างยังมีพญาสาร ครอบครองบริวารทั้งหลาย
ฝูงโคขุนโคก็เป็นนาย มุ่งหมายนำพวกไปหากิน
ฝูงหงส์มีเหมราชา สกุณามีขุนปักษิณ
เทวายังมีสักรินทร์ เป็นปิ่นเทวัญชั้นฟ้า
เผ่าชนจะตั้งเป็นคณะ จะต่างคิดเกะกะตามประสา
จะอยู่ได้ดีกี่เวลา ดูน่าจะยับอับจน
จำเป็นต้องมีหัวหน้า กะการบัญชาให้เป็นผล
กองทัพบริบูรณ์ผู้คน ไม่มีจุมพลจะสู้ใคร

(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าพระเจ้าอยู่หัว)

พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นจอมทัพไทยมาทุกยุคทุกสมัย สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ที่ได้รวบรวมเผ่าไทย ตั้งขึ้นเป็นราชอาณาจักรไทย ณ ผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้

 

คำว่า พระมหากษัตริย์ หมายถึง นักรบผู้ยิ่งใหญ่ หรือจอมทัพ เพราะในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ชาติที่เข้มแข็งเท่านั้น จึงจะดำรงคงความเป็นชาติอยู่ได้ ชาติที่อ่อนแอ ก็จะตกไปเป็นผู้ที่อยู่ในครอบครองของชาติอื่น ความเข้มแข็งที่สำคัญยิ่ง คือความเข้มแข็งทางการทหาร ความเข้มแข็งในด้านอื่นๆ เป็นส่วนประกอบ ซึ่งก็จะขาดเสียมิได้ เนื่องจากการศึกมิได้ทำอยู่ตลอดไป ระยะเวลาว่างศึกมีอยู่มากกว่า ในห้วงเวลาดังกล่าว ก็จะมีการสร้างเสริมความแข็งแกร่งในด้านต่าง ๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ และความอยู่ดีกินดีของอาณาประชาราษฎร์
ชาติไทยเป็นชาติที่มีอารยธรรมสูงมาแต่โบราณกาล ดังนั้น องค์ประกอบอันเป็นแบบฉบับ แสดงถึงความเป็นจอมทัพไทย จึงมีอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ มีสัญญลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย มีความสง่างาม สมพระเกียรติยศแห่งจอมทัพไทย

ธงชัยราชกระบี่ยุทธ - ธงชัยพระครุฑพาห์

 

ธงชัย เป็นธงที่ใช้เนื่องในพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงสถาปนาธงชัยกระบี่ธุช พระครุฑพ่าห์ขึ้น 2 ชุด มีลักษณะเป็นธงสามชาย ขนาดเล็ก 1 คู่ และขนาดใหญ่ 1 คู่ ที่คันธงของธงชัยทั้งคู่นี้ มีโลหะปิดทอง รูปกระบี่ และครุฑยุดนาคเป็นเครื่องประกอบ จึงเรียกว่า ธงชัยพระกระบี่ธุชพระครุฑพ่าห์ใหญ่ และ ธงชัยพระกระบี่ธุชพระครุฑพ่าห์น้อย


ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2453 ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้าง ธงชัยพระราชกระบี่ยุทธ มีรูปวานรทรงเครื่องบนพื้นผ้าสีแดง และ ธงชัยพระครุฑพ่าห์ มีรูปครุฑสีแดงบนพื้นผ้าเหลือง เพิ่มขึ้นจากของเดิมดังกล่าวแล้ว เนื่องจากได้มีการขุดพบแผ่นสำริดรูปกระบี่ 1 รูป รูปครุฑ 1 รูป ซึ่งเป็นธงชัยประจำพระมหากษัตริย์แต่โบราณ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2472 ได้นำหลักประเพณีเดิมที่ปรากฎอยู่ใน โคลงพระราชพิธีทวาทศมาศ มาใช้ในพระราชปฏิบัติระเบียบการเชิญธง โดยให้ธงพระกระบี่ธุชอยู่ทางซ้าย ธงพระครุฑพ่าห์น้อยอยู่ทางขวา และเรียกว่า ธงชัยราชกระบี่ยุทธ และ ธงชัยพระครุฑพ่าห์


คทาจอมพล เริ่มใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังที่ทรงปรับปรุงกิจการทหาร เป็นแบบสากล คทาจอมพลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 เป็นคทาเครื่องต้นของมหากษัตริย์
ประเภทที่ 2 เป็นคทาสำหรับพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งดำรงพระยศเป็นจอมพล
ประเภทที่ 3 เป็นพระคทาสำหรับผู้ที่ดำรงยศเป็นจอมพล โดยทั่วไปของทั้งสามเหล่าทัพ คือ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
สำหรับคทาจอมพลซึ่งเป็นพระคทาเครื่องต้นของพระมหากษัตริย์มี 4 องค์ คือ

 

พระคทาองค์แรก

ข้าราชการกรมทหารบกได้สร้างพระคทาจอมพลขึ้น ทูลเกล้า ฯ ถวายพราะบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะองค์จอมทัพไทย เนื่องในพระราชพิธีทวีธาภิเษกสมโภช เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2446 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
พระคทาจอมพลองค์แรกนี้มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ยาว 35 เซนติเมตร ยอดคทาเป็นรูปหัวช้างสามเศียรลงยาสีขาว เหนือหัวช้างเป็นรูปพระเกี้ยว ตอนท้ายคทาเป็นรูปทรงกระบอกตัด องค์พระคทาทำด้วยทองคำ หนัก 40 บาท ใต้หัวช้างลงมาเป็นลายนูน รูปหม้อกลศ ซึ่งหมายถึง การทูลเกล้า ฯ ถวายเนื่องในพระราชพิธีทวีธาภิเษก พระคทาองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นประจำตลอดรัชกาล

 

พระคทาองค์ที่สอง

 

ข้าราชการกรมยุทธนาธิการได้จัดสร้างขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะองค์จอมทัพไทย เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2453 พระคทาองค์ที่สองนี้ มีลักษณะส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับพระคทาองค์แรกมาก ต่างกันที่ตรงยอดพระคทา ซึ่งเป็นมงกุฎและมีลายเฟื่อง อยู่ที่แถบกลางใต้ฐานของยอดมงกุฎโดยรอบเท่านั้น