พระบรมมหาราชวัง

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
Paisan Taksin Hall

เป็นพระที่นั่งต่อเนื่องกับพระที่นั่งจักรพรรดิ์พิมาน ยกพื้นสูงยาว ๑๑ ห้อง สร้างขวางตามยาวมีพระทวารเป็นทางขึ้นตอนกลาง และมีทางขึ้นลงทางเฉลียงชั้นลดทางปีกซ้ายและปีกขวา ทางด้านหน้าติดกับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งเป็นท้องพระโรงหน้า พระทวารนี้ใช้ได้เฉพาะองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น ทางด้านที่ติดกับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมีพระบัญชรเปิดออกสู่ท้องพระโรงได้ร่วม ๑๐ ช่อง
ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงใช้เป็นที่ประทับและให้พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดคุ้นเคยและไว้วางพระราชหฤทัยเฝ้า ทรงเสด็จออกให้ข้าราชการเฝ้าที่ชาลาริมพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันตก พระองค์ได้ประชวรและเสด็จสวรรคตในพระที่นั่งองค์นี้
พระที่นั่งองค์นี้ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช โดยประดิษฐานอยู่ในพระวิมานตอนกลางองค์พระที่นั่ง ตรงพระทวารเทวราชมเหศวร ด้านตะวันออกเป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งอัฐทิศราชอาสน์ ด้านตะวันตกประดิษฐานพระที่นั่งภัทรษิฐ

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มไหสุรยพิมาน
The Audience Hall of Amarindra Vinitchai

อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นท้องพระโรงฝ่ายหน้า ต่อเนื่องกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณทางเหนือ มีกำแพงแก้วล้อมด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก เป็นที่เสด็จออกว่าราชการ บางคราวก็ใช้เป็นที่ประกอบพระราชกุศล และเป็นที่เสด็จออกมหาสมาคมในพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน ติดกับอัฒจันทร์พระทวารเทวราชมเหศวร สำหรับเป็นที่เสด็จออกในงานพระราชพิธีสำคัญ สองข้างบุษบกมาลาตั้งฉัตรลายทองฉลุเจ็ดชั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้แก้พระทวารที่กำแพงแก้วด้านทิศเหนือเป็นพระทวาร ๓ ช่อง ยอดทรงมงกุฎประดับกระเบื้องเคลือบสีพระราชทานนามว่า พระทวารเทวาภิบาล ทางด้านตะวันตกสร้างเป็นพระทวารช่วงเดียว ยอดทรงมงกุฎประดับกระเบื้องเคลือบสี พระราชทานนามว่า พระทวารเทเวศรักษา

หอพระสุลาลัยพิมาน

ตั้งอยู่ต่อจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณด้านตะวันออก เป็นหอพระที่พระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงบูรณไว้ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสีซ้อนสามชั้น ลดสองชั้น มุขหน้ามุขหลังมีปีกนกคลุมจากไขรา ซุ้มเรือนแก้วพระบัญชรและซุ้มพระทวารเป็นลายปั้นปูนดอกพุดตาน ปิดทองประดับกระจก ใช้เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุ พระพุทธปฏิมากรสำคัญ เพื่อทรงสักการะ และเป็นคตินิยมที่สร้างหอพระไว้ด้านทิศตะวันออก

 

หอพระธาตุมณเฑียร

อยู่ต่อจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณด้านทิศตะวันตก โดยมีชาลาต่อเนื่อง ชาลาตอนนี้ใช้เป็นสีหบัญชร เสด็จออกขุนนางในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ หอนี้ใช้เป็นที่ประดิษฐาน พระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี

หอศาสตราคม

ตั้งอยู่ริมกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก เดิมเป็นพระที่นั่งโถง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระที่นั่งเกล้าฯ เรียกว่า หอพระปริต ซึ่งเป็นที่เก็บเครื่องศาสตราคม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงสร้างหอศาสตราคมขึ้นและได้สถาปนาหอพระปริต คือ หอเสถียรธรรมปริตขึ้นไว้ต่างหาก
หอศาตราคมมีผนังโดยรอบเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสานปิดทองทั้งองค์ มีพระสงฆ์รามัญนิกาย จากวัดตองปรุ(วัดชนะสงคราม) สวดพระพุทธปริต ทำน้ำพุทธปริตทุกวันพระ สำหรับใช้สรงพระพักตรสรง และใช้ประพรมพระราชฐาน ซึ่งเป็นประเพณีวังจนทุกวันนี้ ประเพณีนี้ในสมัยอยุธยาเริ่มมีในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยพระเถระรามัญนิกายที่ตามเสด็จจากเมืองมอญ เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แต่ครั้งสงครามกู้อิสรภาพ และประกาศอิสรภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๕ เข้ามาพักจำพรรษา ณ วัดตองปรุนอก เกาะเมืองอยุธยาด้านคลองคูเมืองตลาดหัวรอในปัจจุบัน

พระที่นั่งดุสิตาภิรมย์

อยู่บนกำแพงแก้วด้านตะวันตกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเดิมสร้างเป็นพลับพลาโถงเสาไม้ เคยใช้รับทูตต่างประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงแก้ไขผนังเป็นแบบเฉลียงก่ออิฐ พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นพลับพลาเปลื้องเครื่องใช้ในการเสด็จขบวน และเป็นสถานที่เจริญพระพุทธมนต์ เสกน้ำสรงมุรธาภิเศกในงานเฉลิมพระชนมพรรษา ทางด้านทิศเหนือมีเกยสำหรับประทับพระราชยาน ด้านทิศตะวันตกมีเกยสำหรับเทียบช้างต้น

พระที่นั่งราชฤดี

องค์เดิมปนจีนในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และได้รื้อออกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระที่นั่งโถงตรีมุข อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของ พระที่นั่งอมรินทร์หอสี่ มีบรรไดขึ้นสีด้าน ทางด้านทิศตะวันออกมีชานยืนออกมาใช้ตั้งแท่น สำหรับสรงน้ำมูรธาภิเษกทางด้านเหนือมีชานยื่นออกมาเช่นกันใช้เป็นที่ตั้งโต๊ะสังเวยเทวดา
พระที่นั่งองค์นี้ทาสีขาวตลอด ปิดทองประดับกระจกพื้นขาว

พระที่นั่งสนามจันทร์

สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เป็นพระที่นั่งโถงหลังคามีปีกนกเป็นพาไล โดยรอบแบบศาลาโถง กระเบื้องเคลือบสีมีช่อฟ้า ใบระกาหางหงส์ กระดานที่ใช้บนฐานบัวร่วมเป็นกระดานแผ่นเดียวโดยตลอด ตามด้านยาวของพระที่นั่งที่ถือว่าเป็นด้านหลัง สร้างเป็นพนักอินทรธนู เพื่อประทับพิงพระเขนยได้
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ บางโอกาสใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนางเบิกขุนนางทั่งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนเข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบทูลใบบอกหัวเมือง

พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท

เป็นปราสาทไม้ทั้งหลัง สร้างอยู่บนแนวกำแพงแก้ว ด้านตะวันออกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพลับพลา สำหรับประทับพระราชยานรับส่งเสด็จในขบวนราบหรือพระราชพิธีโสกันต
พระที่นั่งองค์นี้สร้างเป็นปราสาทโถง มุขหน้าและมุขหลังสั้นมุขด้านข้างยาวยอดเป็นทรงมณฑป หลังคาดาดด้วยดีบุกทำเป็นแผ่น ทวยที่รับยอดปราสาทที่รับขั้นไขราทำเป็นรูปหงส์ แทนที่จะเป็นทวยหัวนาคธรรมดา เครื่องยอดปราสาท ตลอดจนช่อฟ้าใบระกา นาคเบือนปลายตัวลำยอง ที่แทนที่หางหงส์ปิดทองโดยตลอด ไม่ติดกระจก ระหว่างบัวเชิงฐานของพระที่นั่งมีพนักอินทรธนูแทนลูกกรงโดยตลอด

ทางรัฐบาลได้ให้กรมศิลปากร จำลองแบบพระที่นั่งองค์นี้ไปสร้างในคราวแสดงงานมหกรรมนานาชาติณ กรุงบรัส เซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นจากพระที่นั่งราเชนทรยานที่เกยพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกขปราสาท หลังงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพณ เมรุมาศท้องสนามหลวงแล้ว ก่อนอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศล์