พระบรมมหาราชวัง

หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
Chakri Maha Prasat

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างหมู่พระที่นั่งขึ้นใหม่ ในสถานที่ซึ่งพระองค์ประสูติ ณ หมู่พระตำหนักที่กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยประทับ โดยทรงพระราชดำริว่า หมู่พระตำหนักเดิมนี้ เป็นสถานที่อันเป็นมงคล เป็นที่ซึ่งพระองค์ทรงประทับมาตั้งแต่ประสูติ จนถึงเสด็จเสวยราชสมบัติ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ ใช้เป็นพระราชมณเฑียร และพระวิมานที่บรรทม ได้แก่ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งเทวราชอุปบัติ พระที่นั่งดำรงสวัสิดิ์อนัญวงศ์ และพระที่นั่งนิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙ หลังจากเสด็จกลับจากประพาสสิงคโปร์ และชวา เดิมจะสร้างให้เป็นยอดโดม ใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง สร้างให้ต่อเนื่องกับหมู่พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ โดยมีท้องพระโรงกลางเป็นทางต่อเชื่อม
พระที่นั่งจักรี ฯ สร้างเป็นตึกสามชั้น เจ้าพระยาภานุวงษ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เป็นแม่กอง นายจอห์น คลูนิส (John Clunis) ชาวอังกฤษเป็นผู้ออกแบบ ก่อนการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ สมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้กราบบังคมทูล ขอให้ทำเป็นยอดปราสาทด้วยเหตุผลสองประการคือ
ประการแรก กรุงศรีอยุธยา มีพระมหาปราสาทเรียงกันอยู่สามองค์ คือ พระวิหารสมเด็จ สรรเพชรปราสาท และสุริยาสน์อมรินทร์ กรุงเทพฯ มีหมู่พระมหามณเฑียรและพระที่นั่งดุสิต ฯ อยู่แล้ว พระที่นั่งจักรีที่ที่จะสร้างใหม่ จะอยู่ตรงกลางตรงกับพระที่นั่งสรรเพชร จึงควรสร้างพระที่นั่งจักรี ฯ เป็นมหาปราสาทยอดอย่างไทย พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้า ฯ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนจากยอดโดม เป็นยอดปราสาท ดังปรากฎอยู่ปัจจุบัน
พระที่นั่งจักรี ฯ เป็นปราสาทเรียงกัน สามชั้น สามองค์ มีมุขกระสันต่อเนื่องกันโดยตลอดระหว่างองค์ตะวันออก องค์กลางและองค์ตะวันตก หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี มียอดปราสาทสามยอดประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และบราลี ชั้นไขรายอดปราสาทเป็นรูปครุฑรับไขราแทนคันทวย พระที่นั่งองค์นี้เป็นศิลปผสมระหว่างศิลปไทยและยุโรป ที่มีการผสมผสานได้พอเหมาะพอดี มีความสวยและสง่างามไม่แพ้แห่งอื่น

 

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งองค์กลางชั้นบนเป็นหอพระอัฐิ และประดิษฐานพระพุทธรูป ด้านหน้ามีมุขเด็จสำหรับเสด็จออก ชั้นกลาง เป็นห้องพระโรงหน้า เป็นห้องโถง เป็นทางที่ผ่านไปยังท้องพระโรงกลาง ขึ้นสู่มุขกระสันตะวันออก มุขกระสันตะวันตก และขึ้นสู่มุขหน้าที่อยู่ทางด้านเหนือซึ่งเป็นสีหบัญชรใหญ่ สำหรับเสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในบางโอกาส ที่ท้องพระโรงหน้าเป็นที่ประดิษฐาน พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ชั้นล่างเป็นกองรักษาการณ์ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

พระที่นั่งองค์ตะวันออก ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานปูชณียวัตถุ ชั้นกลางเป็นห้องรับรองพระราชอาคันตุกะ มีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ประทับร่วมกันสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระราชโอรส ๕ พระองค์
พระที่นั่งองค์ตะวันตก ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิพระมเหษี และพระอัฐิพระบรมราชวงศ์ ชั้นกลางเป็นห้องสำหรับ สมเด็จพระบรมราชินี เสด็จออกรับแขกส่วนพระองค์ ผนังด้านใต้มีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ชั้นล่างเป็นที่เก็บเครื่องศาสตราวุธ
มุขกระสันตะวันออก ชั้นบนเป็นเฉลียงเชื่อมระหว่างพระที่นั่งองค์กลางกับองค์ตะวันออก ชั้นกลางเป็นห้องโถง และมีพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จนถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ชั้นล่างเป็นห้องโถง
มุขกระสันด้านตะวันตก ชั้นบนเป็นเฉลียง เชื่อมระหว่างพระที่นั่งองค์กลาง กับองค์ตะวันตก ชั้นกลางเป็นห้องโถง มีพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระอัครมเหษีในรัชกาลต่าง ๆ ชั้นล่างเป็นห้องโถง
ท้องพระโรงกลาง เป็นทางเชื่อมติดต่อกับ หมู่พระที่นั่งสมมุติเทวราชอุปบัติ และพระที่นั่ง มูลสถานบรมอาสน์ได้ เป็นที่เสด็จออกรับทูตเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นตราตั้ง หรือจัดสำหรับประกอบ พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และใช้เป็นที่ พระราชทานเลี้ยงรับรอง ประมุขต่างประเทศ ที่เข้ามาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ท้องพระโรงนี้เป็นที่ประดิษฐาน พระแท่นพุดตานถม ซึ่งเป็นพระแท่นราชบัลลังประจำพระที่นั่งจักรี กางกั้นด้วยนพปฎลมหาเศวตฉัตร และพระบวรฉัตร มีเทวรูปเชิญพระแสง และเชิญหีบพระราชสัญจกรตั้งอยู่หน้าพระบวรเศวตฉัตร


พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์
Mulstan Borom Asana

สร้างเมื่อ ปี พ.ศ.2412 เคยเป็นที่ประทับครั้งแรกในหมู่พระราชมณเฑียรนี้ และเป็นสถานที่เดิม ที่พระองค์เคยประทับแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ณ บริเวณ สวนซ้ายเดิม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงสร้างขึ้นไว้เป็นส่วนมะม่วง และมีสระสำหรับฝ่ายใน

พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ
Sommut Dhevaraj Uppabat

สร้างเมื่อปี พ.ศ.2412 อยู่ทางด้านตะวันตก ของพระที่นั่ง จักรีมหาปราสาท ต่อเนื่องกับพระที่นั่งจักรีฯ ท้องพระโรงกลาง สร้างตรงพระตำหนักเสด็จพระราชสมภพ จึงพระราชทานนามนี้ ในต้นรัชสมัยของพระองค์ใช้เป็นที่ประชุมคณะที่ปรึกษา ราชการแผ่นดิน บางโอกาสก็ใช้เป็นที่ให้แขกเมืองเข้าเฝ้า เป็นพระที่นั่งที่พระองค์ทรงประกาศ กระแสพระราชดำริให้ เลิกทาส เมื่อ ปี พ.ศ.2417 โดยได้มีประกาศพระบรมราชโองการ เลิกทาสย้อนหลังไป ตั้งแต่ปีเสวยราชสมบัติใน พ.ศ.2411

พระที่นั่งนิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร
Niphatpong Thavorn Vichit

สร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ ทางด้านทิศตะวันออก เป็นห้องที่ไว้พระภูษา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ

พระที่นั่งดำรงสวัสดิอนัญวงศ์
Damrong Savat Ananyavong

สร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งเทวราชอุปบัติ ทางด้านทิศตะวันตก เป็นห้องเครื่องลายคราม
หมู่พระที่นั่งทั้งสี่องค์นี้ สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ต่อมาได้ทรุดโทรมลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ให้มีสถาพกลมกลืนกับพระที่นั่งจักรี ฯ โดยรื้อพระที่นั่งมูลสถานฯ และพระที่นั่งนิพัทธฯ สร้างเป็นพระที่นั่งหลังเดียว ใช้เป็นห้องพระราชทานเลี้ยง รื้อพระที่นั่งสมมติฯ และพระที่นั่งดำรงฯ สร้างเป็นห้องพระราชทานเลี้ยงกาแฟ

หมู่พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
Boromraj Sthitya Maholan


เริ่มสร้างเมื่อ ปี พ.ศ.2413 เสร็จปี พ.ศ.2418 โดยสร้างเป็นแนวเดียวกับ หมู่พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ ทางด้านทิศใต้ ต่อเนื่องกับท้องพระโรงหลังพระที่นั่งจักรีฯ เป็นพระที่นั่งสองชั้น ชั้นบนเป็นที่ประทับ ชั้นล่าง สำหรับข้าราชบริพาร ชั้นบนสมัยที่พระองค์ประทับอยู่ ใช้เป็นรับแขกเมือง และโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชศิราภรณ์ พระมาลา เครื่องราธูปโภค พระแสงมาแต่ง ณ พระที่นั่งองค์นี้

พระที่นั่งอมรพิมานมณี

อยู่ถัดพระที่นั่งบรมราชสถิตยฯ ไปทางด้านใต้ เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ


พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์
เป็นห้องที่ประทับของสมเด็จพระอัครมเหษี อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งอมรพิมานมณี


พระที่นั่งบรรณาคมสารนี
อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ของพระที่นั่งอมรพิมานมณี ใช้เป็นห้องทรงพระอักษร


พระที่นั่งราชปรีดีวโรทัย
เป็นห้องพักผ่อนพระราชอิริยาบท สร้างต่อเนื่องจากพระที่นั่งบรมราชสถิตยฯ ทางด้านทิศเหนือมีเฉลียวต่อเนื่องกับ พระที่นั่งดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์ ในหมู่พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ


พระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร
เป็นห้องที่ประทับของสมเด็จพระราชโอรส และสมเด็จพระราชธิดา สร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่ง บรมราชสถิตยฯ ทางด้านทิศเหนือ
สรุปแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ทรงสร้างหมู่พระมหามณเฑียรใหม่ขึ้นบริเวณนี้รวม ๑๑ พระที่นั่ง


พระที่นั่งราชกรันยสภา


ตั้งอยู่ระหว่างพระที่นั่งจักรี ฯ กับพระที่นั่งดุสิตฯ และอยู่ทางทิศใต้ ของพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ เป็นพระที่นั่งองค์เล็กสูงสองชั้น หลังคา มุงกระเบื้องหินชนวน เป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลาย พระที่นั่งองค์นี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน ปัจจุบันใช้เป็นที่ประชุมองคมนตรี