พระบรมมหาราชวัง

พระที่นั่งบริเวณสวนศิวาลัย
Edifices in Sivalai Gardens

บริเวณด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของหมู่พระมหามณเฑียร และทางด้านทิศใต้ของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อแรกสร้างพระบรมมหาราชวัง เป็นสวนสำหรับสำราญพระราชอิริยาบท ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างสวนขวาอันเป็นที่เลื่องลือไปไกลยังนานาประเทศว่างดงามยิ่งนัก มีการขุดสระน้ำ และสร้างเขาจำลอง สร้างเก๋งและตำหนักแพ ปลูกแบบจีนและฝรั่ง เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รื้อสวนขวาและบรรดาสิ่งก่อสร้าง ถวายไปตามพระอารามต่าง ๆ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาบริเวณนี้เป็นพระพุทธมหามณเฑียร และสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่พระราชทานนามว่า พระอภิเนาวนิเศน์ พระองค์ทรงประทับอยู่จนเสด็จสวรรคต ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พระองค์ได้ทรงสร้างพระที่นั่งทรงผนวช เป็นอาคารแบบไทย เมื่อปี พ.ศ. 2415 เมื่อคราวเสด็จออกทรงผนวช ปัจจุบันได้รื้อไปปลูกไว้ที่วัดเบญจมบพิตร ฯ

พระที่นั่งมหิศรปราสาท
Mahitsara Prasat


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อเป็น การเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ สร้างอยู่บนกำแพงสวนศิวาลัยด้านทิศตะวันตก ตรงกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพระที่นั่งขนาดเล็ก มียอดเป็นยอดปราสาททรงมณฑปจอมแห มีครุฑรับชั้นไขรายอดปราสาททั้งสี่มุม ซุ้มพระทวารและซุ้มพระบัญชรเป็นแบบทรงมณฑป ปิดทอง ประดับกระจก โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ ไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งองค์นี้ ทำนองเดียวกับหอพระธาตุมณเฑียร ปัจจุบันพระบรมอัฐิได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียรดังเดิม และพระที่นั่งองค์นี้ก็ได้ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป

พระที่นั่งศิวาลัยมหาประสาท
Sivalai Maha Prasat


ตั้งอยู่ในบริเวณสวนศิวาลัยทางด้านทิศใต้ ถัดจากพระที่นั่ง สุทไธสวรรค์ปราสาท อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน สร้างเป็น ปราสาทห้ายอด ยอดกลางใหญ่ ยอดเล็กสี่ยอด ตั้งอยู่บนสันหลังคา เป็นปราสาทสองชั้น ชั้นล่างเป็นห้องโถงใหญ่ มีบันไดขึ้น ทางทิศตะวันตก หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันจำหลักลาย ปิดทองประดับกระจก ซุ้มพระทวารและซุ้มพระบัญชร เป็นแบบบัณแถลง พระที่นั่งองค์นี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2421 ตรงบริเวณพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ที่สร้างสมัย พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้า ฯ โดยให้รื้อพระที่นั่งนี้ลง และขนย้ายสิ่งของในพระที่นั่งดังกล่าว มาไว้ที่ศาลาสหทัยสมาคม

พระที่นั่งองค์นี้ ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ทั้งสี่รัชกาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อ ปี พ.ศ. 2414 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ไปประดิษฐาน ณ ประสาทพระเทพบิดร เมื่อ ปี พ.ศ. 2461 และตั้งเป็นพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูปในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. 2416 เป็นต้นมา

พุทธรัตนสถาน
Pha Buddha Ratanasathan

สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ พระองค์ได้คำนึงถึงหมู่พระมหามณเฑียรครั้ง พระบาทพระพุทธเลิศหล้า ฯ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงรื้อถวายวัดเป็นพุทธบูชาว่า ถ้าจะสร้างเป็นพระมหามณเฑียรก็จะเป็นการไม่เหมาะสม จึงโปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะใหม่สถาปนาขึ้นเป็นพุทธรัตนสถาน ยกเป็นพุทธเจดีย์สถาน สำหรับพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งยกหมู่พระที่นั่งเก๋งทางด้านใต้ เป็นพระที่นั่งทรงธรรมในวัง พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับทรงธรรม ปัจจุบันบริเวณพุทธมณเฑียร เหลือแต่ พุทธรัตนสถานเท่านั้น และได้ใช้เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธบุษยรัตน์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ อัญเชิญมาจากนครจัมปาศักดิ์ แต่ปัจจุบันได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระที่นั่งบรมพิมาน
Boromapiman

เดิมเรียกชื่อว่า พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป หลังคาโค้ง มุงด้วยหินชนวน ในชั้นเดิมสร้างพระราชทานเจ้าฟ้ามหาวชิรุฬหิศ สยามมงกุฎราชกุมาร ให้เป็นที่ประทับ แต่เจ้าฟ้ามหาวชิรุฬหิศ ฯ สวรรคตเสียก่อน จึงพระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ แต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงประทับเป็นครั้งคราว และได้เปลี่ยนพระนามใหม่ว่า พระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อปี พ.ศ. 2467 พระที่นั่งองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ได้เสด็จประทับก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเศก และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร เมื่อปี พ.ศ. 2489 ได้เสด็จประทับและได้เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมและต่อมุขด้านทิศใต้ ใช้เป็นที่ประทับ และพักรับรองพระราชอาคันตุกะ ทางด้านหลังพระที่นั่งองค์นี้ ได้สร้างเรือนรับรองเป็นเรือนทรงไทย สำหรับผู้ติดตาม

พระที่นั่งสีตลาภิรมย์
Sitalapirom


เป็นพระที่นั่งโถงหลังเล็ก ทำนองศาลาโถง พื้นเตี้ย ตั้งอยู่ในสวนศิวาลัยด้านหลัง พระที่นั่งบรมพิมานใช้เป็นที่ประทับ ในเวลางานมหาสมาคม เลี้ยงทูตานุทูตและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในสวนศิวาลัย พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้า ฯ ทรงสร้างในเขตที่เป็นบริเวณสวนขวาเดิม

ประตู รอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง
Entrances to The Grand Palace Compond

ประตูที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เป็นประตูเครื่องยอดไม้ทรงมณฑปซ้อนสามชั้น ทาดินแดง เช่นเดียวกับประตูพระราชวังที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ ประตูและป้อมจึงสร้างแบบหอรบ มีคฤห์อยู่ส่วนบน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้เปลี่ยนแปลงยอดเครื่องไม้เป็นก่ออิฐ ถือปูน เป็นแบบซุ้มทรงฝรั่ง ปัจจุบันประตูดังกล่าวเหลืออยู่เพียงบางแห่ง เช่นที่ประตูรัตนพิศาล
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้เปลี่ยนประตูจากทรงฝรั่งเป็นทรงปรางค์ เช่น ประตูวิมานเทเวศน์ ประตูวิเศษไชยศรี ประตูมณีนพรัตน์ ประตูสวัสดิโสภา ประตูเทวาพิทักษ์ ประตูศักดิ์ชัยสิทธิ ประตูดังกล่าวแม้จะเป็นทรงปรางค์แบบไทย แต่ก็ประกอบด้วยซุ้มบัณแถลง โดยเลียนเครื่องยอดทรงมณฑป ลดชั้นองค์ระฆังยอดใส่ปรางค์ แทนที่จะใส่เหมและบัวกลุ่ม นับว่าเป็นทรงปรางค์อีกแบบหนึ่งที่แปลกออกไป ส่วนประตูศรีสุนทร ทำเป็นทรงปรางค์ มีบัณแถลงใหญ่ ที่สันบัณแถลงใส่บราลีแบบบราลี ปักยอดปราสาท เป็นบราลีแบบปรางค์ จึงนับว่าเป็นประตูที่แปลกอีกประตูหนึ่ง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ประตูวังได้เปลี่ยนเป็นประตูยอดแบบใหม่เพียงประตูเดียว คือ ประตู เทวาภิรมย์ ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตก ยอดประตูแห่งนี้ได้เปลี่ยนจากประตูหอรบเป็นประตูยอด ในคราวเดียวกันกับประตูประตูสามยอด

 

ประตูชั้นนอกของพระบรมมหาราชวัง มีทั้งหมด ๑๓ ประตู เรียงลำดับจากด้านตะวันตกของ กำแพงพระบรมมหาราชวัง เวียนขวา(ทักษิณาวัตร) ได้ดังนี้
ประตูรัตนพิศาล อยู่ทางด้านตะวันตก (เรียกชื่อ สามัญว่า ประตูยี่สาน)
ประตูพิมานเทเวศน์ อยู่ทางด้านทิศเหนือ
ประตุวิเศษไชยศรี อยู่ทางด้านทิศเหนือ
ประตูมณีนพรัตน์ อยู่ทางด้านทิศเหนือ ตรงกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านเหนือ (เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ประตูฉนวนวัดพระแก้วมรกต เพื่อออกไปทุ่งพระเมรุ)
ประตูสวัสดิโสภา อยู่ด้านทิศตะวันออก ตรงกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตะวันออกตรงกับศาลาว่าการกลาโหม (มีชื่อเรียกเป็นสามัญว่าประตูทอง เพราะมีผู้เอาแผ่นทองคำเปลวไปปิดบูชาพระแก้วมรกตอยู่เสมอ)
ประตูเทวาพิทักษ์ อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ทางเหนือพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ใต้ป้อมสิงขรขันธ์
ประตูศักดิ์ไชยสิทธิ อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ทางใต้พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
ประตูวิจิตรบรรจง อยู่ทางด้านทิศใต้ ตรงข้ามกับวัดพระเชตุพนทางด้านเหนือ และข้างในตรงกับพระตำหนักเดิมสวนกุหลาบ (ประตูฉนวนชั้นนอกออกไปวัดโพธิ์)
ประตูอนงคารักษ์ อยู่ทางด้านทิศใต้ ตรงข้ามกับวัดพระเชตุพนทางด้านเหนือ (มีชื่อเป็นสามัญว่าประตูผีชั้นนอก)
ประตูพิทักษ์บวร อยู่ทางด้านทิศใต้ เป็นประตูด้านสกัดทางใต้ ตรงกับถนนมหาราช ข้างในตรงกับถนนสกัดกำแพง พระบรมมหาราชวัง (มีชื่ออย่างหนึ่งว่า ประตูแดงท้ายสนม เพราะทาสีแดง ตั้งอยู่ริมตลาดชื่อท้ายสนม)
ประตูสุนทรทิศา อยู่ทางด้านทิศตะวันตก เป็นประตูด้านสกัดทางเหนือตรงกับถนนแปดตำรวจเดิม
ประตูเทวาภิรมย์ อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ตรงข้ามท่าราชวรดิษฐ์ (เรียกชื่อเป็นสามัญว่า ประตูท่าขุนนางหน้าโรงทาน)
ประตูอุดมสุดารักษ์ อยู่ทางด้านทิศใต้ เป็นประตูฉนวนออกทางตรงพระที่นั่งที่ท่าราชวรดิษฐ์

ป้อมรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง
Towers to The Grand Palace Compound

ป้อมรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง มี ๑๗ ป้อม ดังนี้

ป้อมรอบพระบรมมหาราชวังแต่เดิมเป็นป้อมมีหอรบ มีหลังคามุงกระเบื้องโบกปูนทับ เช่น ปัอมสัตบรรพต ป้อมอินทรังสรรค์ ป้อมขันธ์เขื่อนเพชร ป้อมเผด็จดัสกร ป้อมสัญจรใจวิง ป้อมสิงขรขันธ์ และป้อมอนันตคีรี
ป้อมอินทรรังสรรค์ อยู่มุมกำแพง พระบรมมหาราชวัง ด้านทิศตะวันตกตรงท่าพระจันทร์
ป้อมขันธ์เขื่อนเพชร อยู่ทางด้านทิศเหนือต่อจากประตูวิเศษไชยศรี ไปทางทิศตะวันออก
ป้อมเผด็จดัสกร อยู่มุมกำแพงด้านตะวันออกต่อด้านเหนือ ตรงข้ามกับศาลหลักเมือง ป้อมนี้เมื่อก่อนเป็นที่ปักเสาธงใหญ่
ป้อมสัญจรใจวิง อยู่ทางด้านทิศตะวันออก สร้างแทรกขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ตรงกับถนนบำรุงเมือง ด้านใต้พระที่นั่งไชยชุมพล

ป้อมสิงขรขันธ์ อยู่ด้านทิศตะวันออก ทางด้านใต้ของประตูสวัสดิโสภา ตรงกับวังสราญรมย์
ป้อมขยันยิงยุทธ อยู่ทางด้านทิศตะวันออก สร้างแทรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ
ป้อมฤทธิรุดโรมรัม อยู่ทางด้านทิศตะวันออก สร้างแทรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ
ป้อมอนันตคีรี อยู่ทางด้านตะวันออก ทางใต้ประตูศักดิ์ไชยสิทธิ เหนือมุมกำแพง ฯ ด้านตะวันออกต่อด้านใต้
ป้อมมณีปราการ อยู่มุมกำแพง ฯ ด้านพระตะวันออกข้างใต้
ป้อมพิศาลสีมา อยู่บนกำแพง ฯ ด้านทิศใต้ตรงกับวัดพระเชตุพน อยู่ระหว่างประตูวิจิตรบรรจงกับประตูอนงคารักษ์
ป้อมภูผาสุทัศน์ อยู่บนกำแพง ฯ ด้านทิศตะวันตก

ป้อมสัตตบรรพต อยู่มุมกำแพง ฯ ด้านตะวันตกข้างใต้ ริมประตูพิทักษ์บวร
ป้อมโสฬสศิลา อยู่บนกำแพง ฯ ด้านตะวันตก ใต้ประตูอุดมสุดารักษ์
ป้อมมหาโลหะ อยู่บนกำแพง ฯ ด้านตะวันตก เหนือประตูอุดมสุดารักษ์
ป้อมทัศนานิกร อยู่บนกำแพง ฯ ด้านตะวันตก สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
ป้อมพรหมอำนวยศิลป์ อยู่ริมน้ำเหนือท่าราชวรดิษฐ์ ปัจจุบันรื้อออกไปแล้ว
ป้อมอินทรอำนวยศร อยู่ริมน้ำใต้ท่าราชวรดิษฐ์ ปัจจุบันได้รื้อออกไปแล้ว

อธิบายคำศัพท์


ไขรา คือส่วนหลังคาที่ยื่นพ้นออกมาจากอาคารตอนหน้า ถ้าอยู่ที่จั่ว เรียกว่า ไขราหน้าจั่ว ถ้าอยู่ที่ปีกของอาคาร เรียกว่า ไขราปีกนก ถ้าอยู่ตรงส่วนที่ยื่นของชั้นล่างสุดของยอดปราสาท มีเสาและทวยรองรับ เรียกว่า ไขรายอดปราสาท
คูหาหน้านาง เป็นซุ้มโค้ง ประกอบด้วยลายแข้งสิงห์ ส่วนใหญ่อยู่ทางด้านหน้าของอาคาร ใต้หน้าบัน
ช่อฟ้า คือส่วนของศูนย์หน้าบันตอนยอด ที่ทำเป็นรูปโค้ง
ซุ้มจระนำ คือซุ้มที่สร้างอยู่ท้ายอาคาร ประเภทโบสถ์ หรือวิหาร หรือสร้างอยู่ที่พระเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป
ซุ้มทรงมณฑป หมายถึง ซุ้มประตู หรือซุ้มหน้าต่างที่มียอดแหลม ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ มีย่อมุมที่เสาและที่ฐาน ที่ยอดแต่ละชั้นมีซุ้มบันแถลงเล็ก ๆ ประดับ
ซุ้มบันแถลง คือซุ้มประตูหรือซุ้มหน้าต่าง ที่มีลักษณะเหมือนหน้าบัน ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระเล็กๆ หน้าบันนี้ซ้อนกัน ๒ ชั้น ซุ้มดังกล่าวจะตั้งอยู่บนเสา และฐานที่เป็นกรอบหน้าต่าง
ซุ้มเรือนแก้ว คือซุ้มที่มีกรอบเป็นลวดลาย จะเป็นลายกระจัง หรือลายดอกไม้ก็ได้ ตัวอย่าง ได้แก่ ซุ้มเรือนแก้วพระพุทธชินราช
ฐานชุกชี แต่เดิมหมายถึงวัชรอาสน์ คำว่าชุกชี เป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่า ที่นั่ง ดังนั้นเมื่อมีการสร้างพระพุทธรูป จึงตั้งอยู่บนฐานชุกชี
ฐานไพที คือ ฐานบัวคว่ำบัวหงาย ที่ทำเป็นฐานรับเจดีย์หรือมณฑป
ฐานสิงห์ ของเดิมจากอินเดียทำเป็นรูปสิงห์รับที่นั่งจริง ๆ ต่อมาดินแดนในสุวรรณภูมิได้ ดัดแปลงรูปสิงห์ เป็นลายโค้ง คล้ายเท้าสิงห์ ต่อจากเท้าสิงห์เป็นบัวและลูกแก้ว และบัวหงายมีหน้าราบเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมใหญ่
ตัวลำยอง คือไม้ที่วางพาดทับแม่ เป็นส่วนของไม้ที่ใช้รับใบระกา
ทวย คือ ไม้ค้ำรอบรับปีกนกของหลังคา มีทั้งชนิดโค้งเป็นหัวพญานาค ปลายเป็นกนกม้วนและชนิดตรงประดับลาย
บราลี คือวัตถุที่ทำเป็นรูปหัวเม็ด กลึงเป็นลูกแก้ว ซ้อนเป็นชั้น ๆ มีด้ามปีกเป็นระยะ ที่สันหลังคา
ใบระกา คือส่วนของกนกที่ตั้งอยู่บนตัวลำยอง เป็นกรอบของหน้าบัน
ปราสาททอง คือปราสาทที่ปิดทองตลาด ตั้งแต่ยอดซุ้มพระทวาร และซุ้มพระบัญชร ถ้าปิดทองและประดับกระจก โดยตลอดเรียกว่า ปราสาทศรี
พระปรัศว์ คือเรือน หรือตัวตำหนักที่สร้างขนานกับตัวเรือนที่อยู่ ถ้าอยู่ทางซ้ายเรียกพระปรัศว์ซ้าย ถ้าอยู่ทางขวาเรียก พระปรัศว์ขวา
พระแท่นราชบัลลังก์ คือพระแท่นประทับที่เสด็จออกขุนนางในห้องพระโรง พระแท่นนี้จะปักพระมหาเศวตฉัตรไว้
พระแท่นลา คือพระแท่นที่ประทับ เป็นแท่นวางบนพื้น
มุขกระสัน คือมุขที่ต่อตัวอาคารกับอาคารให้เดินถึงกันได้
มุขเด็จ คือมุขที่สร้างอยู่ด้านหน้าของอาคาร ส่วนใหญ่สร้างเป็นมุขโถง แต่เป็นมุขลดที่เสด็จออก
ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง หมายถึงการมีมุมด้านละสามมุม ดังนั้นถ้าเป็นทรงสี่เหลี่ยมก็จะมีสิบสองมุม
เรือนจันทร์ ใช้เรียกอาคารที่สร้างแยกต่างหากจากเรือนที่อยู่ สร้างเป็นอาคารเล็ก ๆ ขวางกันเรือนที่อยู่
ลายดอกพุดตาน เป็นลายขบวนจีน คือ ลายดอกโบตั๋นของจีน แต่ไทยแปลงเป็นดอกกลมให้ใกล้เคียงกับดอกพุดตานของไทย
สิงหบัญชร คือหน้าต่างที่เป็นซุ้มแบบซุ้มแหลมทรงมณฑป หรือลายดอกไม้ ฐานที่รับซุ้มเป็นฐานสิงห์ จะอยู่ตอนหน้าของอาคารเป็นที่เสด็จออกให้ขุนนางเฝ้า โดยให้เห็นพระองค์
หางหงส์ คือกนกที่อยู่ส่วนปลายของหน้าบัน บางแห่งก็ทำเป็นรูปหัวพญานาค