พระราชปุจฉา
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระราชปุจฉาที่ 1
ความว่า สิ่งซึ่งมีผู้อุทิศเป็นกัลปนาในอารามนั้น ๆ
แต่กาลก่อนเป็นต้น ซึ่งบัดนี้ยับเยินสาปสูญแล้ว จะควรทำประการใด จึงไม่มีโทษ ?
แก้พระราชปุจฉาที่ 1 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ 2 รูป ถวายวิสัชนาว่า
สิ่งซึ่งอุทิศเป็นกัลปนาของอารามใด มิควรนำไปอุทิศบูชาในอารามอื่น แต่ถ้าอารามเดิมไม่มีผู้รักษา จะนำมารักษาและปฏิสังขรณ์ในพระอารามอื่นก็ควร ถ้าเป็นพระพุทธรูปใหญ่โตนักนำมามิได้ จะเอาทรัพย์นี้เป็น
กัลปนาไปจำหน่ายเป็นสัมภาระ ทำเป็นร่มขึ้นก็ได้ตามสมควร ส่วนทรัพย์ที่เหลือจะนำไปสร้างพระไตรปิฎก แล้วจารึกอุทิศเฉพาะอารามนั้น แต่นำไปรักษาไว้ในอารามอื่นไปพรางก่อน จนกว่าจะมีผู้รักษาในอารามนั้น แล้วจึงส่งคืนก็ควร สิ่งอื่นเป็นกุฎี และเตียงตั่งของสงฆ์ หรือของเจดีย์ก็เช่นเดียวกัน แต่ทั้งนี้เป็นแต่สิกขาบท ห้ามพระภิกษุฝ่ายเดียว ฝ่ายฆราวาสหากล่าวว่ามีโทษไม่
พระราชปุจฉาที่ 2
ข้อ 1 ที่ว่าสรรพสัตว์ทั้งปวงที่เกิดมาในวัฏสงสาร ล้วนเป็นญาติกัน ก็ในศาสนาพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ที่ล่วงมาแล้ว ปรทัตตูปชีวีเปรตที่เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารนั้น มิได้เป็นญาติกับคนที่เกิดในศาสนา พระเจ้าทั้ง 3 พระองค์นั้นบ้างหรือ จึงได้ทนทุกข์ทรมานรอพระเจ้าพิมพิสารอยู่ถึง 3 ชั่วพุทธันดร
ข้อ 2 อายุของปรทัตตูปชีวีเปรต อันเป็นเศษบาปจากนรก เหตุไรจึงยืนกว่าสัตว์ในมหาอเวจีนรก ?
ข้อ 3 อายุสัตว์ในอเวจีมหานรกนั้น กำหนดด้วยกัลป์แผ่นดินหรืออันตรกัลป์
ข้อ 4 พระปัจเจกโพธิและพระยาจักรพรรดิ์ จะเกิดขึ้นเมื่อสิ้นศาสนาพระเจ้าแห่งเราหรือไม่?
ข้อ 5 พระอินทร์และเทวดาองค์ใหม่ จะได้วิมานและบริวารขององค์เก่า หรือได้เป็นส่วนบุญของตนเอง?
แก้พระราชปุจฉาที่ 2 (ความย่อ)
พระสงฆ์ 16 รูป มีพระสังฆราชเป็นประธาน ถวายวิสัชนาว่า
ข้อ 1 เมื่อครั้งศาสนาพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์นั้น หมู่ญาติมิได้ระลึกถึง หรือระลึกถึงและได้อุทิศไป หากแต่เปรตมิได้อนุโมทนา เพราะหมู่เปรตจะพ้นทุกข์ได้ด้วยเหตุ 3 ประการคือ ญาติได้บำเพ็ญกุศลและอุทิศไปให้เปรตเหล่านั้นได้อนุโมทนา 1 ปฏิคาหกผู้รับทานเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา 1 ผลทานจึงสำเร็จแด่หมู่เปรต จนมาถึงผลทานแห่งพระเจ้าพิมพิสาร
ข้อ 2 ข้อนี้เป็นด้วยโทษที่ตนเบียดเบียนของที่ท่านอุทิศให้แก่สงฆ์ประมาณเก้าหมื่น และของที่อุทิศถวายพระเจ้า และโทษเผาโรงทานเป็นโทษอันใหญ่หลวง
ข้อ 3 กำหนดด้วยอันตรกัลป์ คือ นับอายุมนุษย์ตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไปถึง 100 ปี ๆ ทวีขึ้นปีหนึ่ง จนถึงอสงไขยแล้วลดลง 100 ปี ถอยปีหนึ่งลงมาจนคงอยู่ 20 ปี ดั่งนี้ชื่ออันตรกัลป์
ข้อ 4 เมื่อสิ้นศาสนาพระเจ้าแห่งเราแล้ว อายุสัตว์น้อยกว่า 100 ปี ลงไปจน 10 ปีนั้น พระปัจเจกโพธิและพระยาจักรพรรดิ์มิได้บังเกิดขึ้น ถ้าอายุสัตว์เจริญขึ้นตั้งแต่ 100 ปีจนถึงอสงไขย พระปัจเจกโพธิและพระยาจักรพรรดิ์จึงจักบังเกิด
ข้อ 5 เทวบุตรองค์ใดองค์หนึ่งมีพระอินทร์เป็นต้น ที่มีทิพยวิมาน และบริวารเป็นอันมากนั้น เมื่อจุติแล้ววิมานและบริวารยังคงอยู่ ถ้าเทวบุตรเกิดใหม่มีบุญควรจะได้ทิพยวิมานและบริวารด้วยบุญแห่งตนเอง แต่ถ้าเป็นอากาศวิมานแล้ว เมื่อเจ้าของจุติ วิมานและบริวารก็จุติสูญไป เหตุว่าสมบัตินั้นหาควรแก่เทวบุตรองค์อื่นไม่
พระราชปุจฉาที่ 3
ว่าด้วยมาฆมานพเป็นพระอินทร์ มีช้างเอราวรรณแลอื่น ๆ เกิดด้วยบุญ
แต่เมื่อผู้อื่นได้เป็นพระอินทร์จะมีช้างเอราวรรณแลอื่น ๆ เหมือนมาฆมานพฤๅไม่
แก้พระราชปุจฉาที่ 3 (ความย่อ)
สมเด็จพระสัฆราช พร้อมด้วยพระราชาคณะ 15 รูป ถวายวิสัชนาว่า
ถ้าบุคคลบำเพ็ญกุศล สมควรจะได้เป็นพระอินทร์แล้ว ก็ย่อมจะได้บังเกิดเป็นพระอินทร์ ส่วนการสร้างกุศลนั้น ก็มีต่าง ๆ กัน แต่หลักสำคัญ บุคคลจะได้เป็นพระอินทร์ ต้องบำเพ็ญวัตตบท 7 ประการ ส่วนสมบัติของพระอินทร์ก็ย่อมต่าง ๆ กัน แต่สมบัติอันเป็นหลักฐาน เช่น บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ไม้ปาริชาติ นันทนอุทยานเป็นต้นนั้น ย่อมตั้งอยู่ตราบเท่าสิ้นภัททกัลป์ และช้างเอราวัณนั้นก็เกิดขึ้นด้วยอานุภาพ เทวบุตรนิรมิต แม้ถึงเทวบุตรองค์นั้นจุติแล้ว ก็ย่อมมีเทวบุตรอื่นนิรมิตเป็นช้างเอราวัณถวายพระอินทร์ ตามประเวณีมาแต่ก่อน
พระราชปุจฉาที่ 4
ข้อ 1 ว่าซึ่งกำหนดอายุสัตวในอเวจีมหานรกด้วยอันตรกัลป เปนด้วยเหตุใด
ข้อ 2 ว่าโทษปัญจานันตริยกรรมกับโทษกินของสงฆ์ เผาโรงทาน ข้างไหนจะหนักเบากว่ากัน
ข้อ 3 ว่าถ้ากัลปใดฉิบหายวันใด สัตวในอเวจีมหานรกพ้นทุกข์ในวันนั้น แลสัตวนรกนั้นพ้นทุกข์ไปทีเดียวฤๅ ฤๅกรรมให้ผลสืบไปในกัลปอื่นอีก
ข้อ 4 ว่าญาติพระยาพิมพิสาร ต้องทรมานในนรกช้านานถึง 92 แผ่นดิน ด้วยเหตุใด
แก้พระราชปุจฉาที่ 4 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วยพระราชาคณะ 15 รูป ถวายวิสัชนาว่า
ข้อ 1 วิธีนับอันตรกัลป์นั้นมี 2 ประการ คือ ถ้านับอายุแผ่นดินว่านาน 64 อันตรกัลป์ ให้นับแต่อสงไขยลงมาถึง 10 ปี แล้วนับ 10 ปีขึ้นไปถึงอสงไขย เป็นอันตรกัลป์ 1 ถ้านับอายุอเวจี ให้นับอายุมนุษย์ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปถึงอสงไขย แต่อสงไขยลงมาถึง 10 ปี เป็นอันตรกัลป์ 1
ข้อ 2 โทษอนันตริยกรรมทั้ง 5 เป็นครุกรรมโทษหนัก แต่มีกำหนดสิ้นโทษเร็ว โทษเปรตญาติพระยาพิมพิสารกินของสงฆ์ เผาโรงทาน เป็นพหลกรรมโทษมากยืดยาว กว่าจะสิ้นโทษนั้นช้านาน
ข้อ 3 ถ้ากัลป์ฉิบหายวันใด สัตว์ในอเวจีนรกก็พ้นทุกข์ในวันนั้นทีเดียว กรรมหาให้ผลสืบไปในกัลป์อื่นอีกมิได้
ข้อ 4 โทษกินของสงฆ์ เผาโรงทานเช่นเปรตผู้เป็นญาติพระยาพิมพิสารนั้น ชื่อว่า พหุลกรรม เป็นโทษช้านานยืดยาว แม้จะได้เสวยทุกข์เวทนาไม่สาหัสเหมือนอนันตริยกรรมก็จริง แต่เป็นอปราปรเวทนียกรรม ให้ผลยืดยาวช้านาน เมื่อไฟบรรลัยกัลป์ไหม้แผ่นดินให้สูญสิ้น และสัตว์อื่นไปเกิดในสวรรค์แล้ว อกุศลกรรมจึงยกเปรตพวกนี้ไปทนทุกขทรมาน อยู่ในจักรวาลอื่นอีกช้านานถึง 92 แผ่นดิน
พระราชปุจฉาที่ 5
ข้อ1 ว่าพระบรมโพธิสัตวแห่งเรา เป็นพระเจ้าสมมุติวงศ์ฤๅเป็นพระอินทร์ ความเถียงกันอยู่
ข้อ 2 ว่ามาฆมานพ ซึ่งได้เป็นพระอินทร์นั้น ได้บำเพ็ญกุศลในภัทกัลป์นี้ ฤๅกัลป์อื่น
แก้พระราชปุจฉาที่ 5 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ 15 รูป ถวายวิสัชนาว่า
เมื่อแรกตั้งปฐมกัลป์ พระโพธิสัตว์เป็นพระยามหาสมมติวงศ์นั้น หาได้มีพระบาลีกำหนดวันเดือนปีว่าเท่าใดมิได้ แต่ที่มีพระบาลีว่า พระโพธิสัตว์ได้เป็นพระอินทร์ในต้นภัททกัลป์ เป็นภายหลังพระเจ้ามหาสมมติวงศ์มาช้านาน แต่ทว่าในระยะกาลที่พระอรรถกถาจารย์เรียกปฐมกัลป์ด้วยกัน ฉะนั้นการทีมาฆมานพได้เป็นพระอินทร์ ก็บำเพ็ญกุศลในภัททกัลป์นี้
พระราชปุจฉาที่ 6
ข้อ 1 ว่ามีพระบาฬีว่า อสูรคิดถึงต้นปาริกชาติ จึงขึ้นไปทำสงครามกับพระอินทร์ดังนี้ เห็นเปนหนึ่งว่าต้นปาริกชาติเกิดอยู่ก่อนพระอินทร์
ข้อ 2 ว่าต้นปาริกชาติเกิดเพราะบุญของพระอินทร์ แล้วจะเอาเป็นไม้ประจำทวีปได้ฤๅ
ข้อ 3 ว่าเมื่อแรกตั้งปฐมกัลปหามีดาวดึงส์ไม่ ต่อพระอินทร์ชนะเนวาสิกแล้ว จึงได้ชื่อว่าดาวดึงส์ ถ้าดังนั้นเห็นว่าจักรวาฬอื่นไม่มีพระอินทร์ และเรื่องที่พระอินทร์วิวาทกับอสูรนั้น มีทุกขจักรวาฬหรือไม่
แก้พระราชปุจฉาที่ 6 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะ 15 รูป ถวายวิสัชนาว่า
ข้อ 1 พระอินทร์บังเกิดก่อน ต้นปาริกชาติบังเกิดภายหลังด้วยบุญของพระอินทร์ และที่อสูรขึ้นไปทำสงครามกับพระอินทร์ นั้นก็เพราะเห็นต้นแคฝอยอันเป็นไม้ใหญ่ ประจำทวีปของตนเผล็ดดอก จึงชวนให้นึกถึงต้นปาริกชาติและพิภพเดิมของตน
ข้อ 2 มีพระบาลีกล่าวว่า ต้นปาริกชาติเกิดภายหลังด้วยบุญของพระอินทร์ เป็นไม้ใหญ่ประจำดาวดึงส์ แม้ต้นแคฝอยประจำทวีปในอสูรพิภพก็เกิดขึ้นภายหลังด้วยบุญของพวกอสูร เมื่อพวกอสูรไปอยู่แล้ว ถึงต้นไม้ใหญ่ประจำปวีปอีก 5 แห่งนั้นก็ดี มิได้มีพระบาลีว่าเกิดพร้อมกับตั้งกัลป์ตั้งแผ่นดิน มีพระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม้ประจำทวีปก็เพราะว่าเกิดขึ้นในส่วนเป็นปฐม แล้วมีอายุยืนไปชั่วกัลป์แผ่นดิน
ข้อ 3 ในจักรวาลอื่น ก็มีพระอินทร์เหมือนกัน แต่พระอินทร์ในจักรวาลอื่น จะวิวาทกับอสูรเหมือนมงคลจักรวาลนี้หรือไม่ ยังมิได้พบพระบาลีกล่าวไว้
พระราชปุจฉาที่ 7
ว่าด้วยโทษที่ล่วงเกินในสงฆ์ จะมีวิธีลุกโทษอย่างใด
แก้พระราชปุจฉาที่ 7 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งปวง ถวายวิสัชนาว่า
ผู้ใดด่าพระอริยเจ้า พระสงฆ์ ถ้าขอขมาโทษแล้วก็หาย ถ้าท่านไปเสียที่อื่นจะตามไปมิได้ ให้ขมาในสำนักพระเถระหรือพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ถ้าท่านมรณภาพแล้วให้ขมาในที่เผา ถ้ากินของสงฆ์ ต้องใช้ให้มากกว่าของเดิมหลายร้อยหลายพันเท่าจึงหมดโทษ เว้นไว้แต่ที่เป็นมหันตโทษ ๆ นั้นไม่หาย
พระราชปุจฉาที่ 8
ว่าด้วยอานิสงส์ซึ่งยิ่งกว่ากันเป็นชั้น ๆ ตั้งแต่บุคคลิกทาน
จนถึงจำเริญพระไตรลักษณาญาณกับอานิสงส์บำรุงยกพระศาสนา ใครจะยากกว่ากัน
แก้พระราชปุจฉาที่ 8 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะ 10 รูป ถวายวิสัชนาว่า
ทั้งนี้กล่าวโดยอาศัยไตรสรณาคมน์เป็นโลกีย์ ศีลเป็นโลกุตรและเมตตาภาวนา ซึ่งถึงอัปนาฌานและการเป็นพระไตรลักษณ์อันใกล้มรรคผลอยู่แล้ว ถ้าเป็นปุถุชนและรักษาพระไตรสรณาคมน์ ศีล 5 ศีล 8 อันเป็นโลกีย์จำเริญ เมตตายังมิได้ถึงฌาน จำเริญวิปัสสนา มิได้ถึงมรรคผล จะนับว่ามีผลานิสงส์ ยิ่งกว่าท่านบำรุงยกย่องพระศาสนายังมิได้ เพราะการทำนุบำรุงยกย่องพระศาสนาเป็นปฏิบัติบูชา มีผลานิสงส์มากกว่าสิ่งเหล่านี้
พระราชปุจฉาที่ 9
ข้อ 1 ว่าในจักรวาฬอื่นรักษาศีลหรือไม่ ถ้ารักษาศีล ผู้ใดสั่งสอน เมื่อมิรู้จักองค์แห่งศีล จะจัดเอาเป็นศีลได้ฤๅไม่
ข้อ 2 ว่านิยตมิจฉาทิษฐิประพฤติพอต้องเข้าในศีล 5 ศีล 8 จะจัดเอาเป็นศีลได้ฤๅไม่ ถ้าเปนศีลได้แล้วจะไปนรกฤๅไม่
แก้พระราชปุจฉา (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งปวง ถวายวิสัชนาว่า
ข้อ 1 ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 เป็นโลกบัญญัติ นักปราชญ์ปฏิบัติสืบ ๆ กันมา เห็นว่ามีรักษาทั่วไปในจักรวาลอื่น เช่น ดาบสฤๅษีอันเป็นธรรมวาที ย่อมอธิษฐาน ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 นี้ด้วยตัวเอง แล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รักษาชาวอุตตรกุรูก็รักษาศีล 5 เป็นปกติ ดังนี้ เป็นต้น
ข้อ 2 ถ้าประพฤติต้องเข้าไปในศีล 5 ศีล 8 ก็เห็นว่าเป็นศีลได้ ชื่อว่าสัมปัตตวิรัติศีล แต่ถึงมาตรว่าปฏิบัติต้องเข้าในสัมปัตตวิรัติศีลก็ดี ถ้านิยตมิจฉาทิฏฐิเหล่านั้นยังมิได้ละทิฏฐิอันผิดแล้ว ยังถือว่าทำบุญไม่ได้บุญทำบาปไม่ได้บาป และมิได้นับถือคุณพระรัตนตรัย ครั้นตายไปก็ต้องไปตกในโลกันตนรก อานิสงส์สัมปัตตวิรัติศีลหาอาจช่วยได้ไม่
พระราชปุจฉาที่ 10
ข้อ 1 ว่าด้วยอานิสงส์บุญแห่งสัมปัตตวิรัติศีล นิยตมิจฉาทิฐิปฏิบัติพอต้องเข้าแล้ว พลอยสิ้นสูญไปด้วย ฤๅจะให้ผลสืบไป
ข้อ 2 ว่าด้วยธรรมดาศีล แห่งประพุทธมารดานั้น เกิดด้วยบุญพระพุทธมารดา ฤๅเกิดด้วยอานุภาพบุญแห่งพระโพธิสัตว
ข้อ 3 ว่าด้วยนิยติมิจฉาทิฐิ จะพ้นจากสังสารทุกข์ได้ฤาไม่
แก้พระราชปุจฉาที่ 10 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ พระธรรมไตรโลก พระธรรมเจดีย์ พระเทพมุนี พระโพธิวงศ์ พระพุทธโฆษา พระเทพกวี 9 รูป ถวายวิสัชนาว่า
ข้อ 1 อานิสงส์แห่งสัมปัตตวิรัติศีลนั้น เป็นอปราปรเวทนียกรรม ซึ่งโทษนิยตมิจฉาทิฏฐิกำหนดที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าโทษนั้นเคลื่อนคลายเมื่อใด สัมปัตตวิรัติศีลจะให้สำเร็จเมื่อนั้น หาสูญไม่
ข้อ 2 ธรรมดาศีลแห่งพระพุทธมารดานั้น เกิดด้วยบารมีของพระพุทธมารดา และอานุภาพบุญแห่งพระโพธิสัตว์ อันเป็นปัจฉิมภวิกชาติประกอบกัน
ข้อ 3 นิยตมิจฉาทิฏฐิบุคคลนั้น จะพ้นมาจากโลกันตนรกได้ด้วยกุศลอันเป็นอปราปรเวทนียกรรม และเมื่อได้มาเกิดในมนุษยโลกแล้ว ถ้าได้บำเพ็ญกุศลเป็นวิวัฏฏคามีกุศล ปราถนาพระนิพพาน ก็จะได้พ้นจากทุกข์ได้สำเร็จแก่พระนิพพาน แต่ทว่าเนิ่นนานหนักหนา จะกำหนดด้วยพุทธญาณนั้นมิได้
พระราชปุจฉาที่ 11
ว่าด้วยของสงฆ์ซึ่งโจรลักฤๅมีผู้ขุดร่อนได้
ผู้ได้ของนั้นมาไม่รังเกียจ สงสัย นำมาใช้สรอยเอง ฤๅให้ปันผู้อื่น จะมีโทษฤๅไม่
แก้พระราชปุจฉาที่ 11 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และ พระราชาคณะทั้งปวง ถวายวิสัชนาว่า
แก้วแหวนเงินทองเหล่านั้น เมื่อตกเป็นของบุคคลแล้ว มีผู้ซื้อหาแลกเปลี่ยนบริโภคใช้สอย ด้วยเจ้าตัวมิได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจสงสัย เข้าใจว่าเป็นของบริสุทธิ์แล้ว ก็หาโทษมิได้ เพราะกรรมทั้งหลายมีเจตนาเป็นของสำคัญ เช่นเดียวกับภิกษุฉันเนื้ออันบริสุทธิ์ สามประการ
พระราชปุจฉาที่ 12
ว่าด้วยท้าวสุทธาวาศมหาพรหม มาดูดอกบัวเป็นบุพนิมิตร
ถ้าแผ่นดินเปนสูญกัลปก็ดี อสงไขยกัลปก็ดี ท้าวสุทธาวาศมหาพรหมองค์ใด จะมาดูดอกบัวนั้นเล่า
แก้พระราชปุจฉาที่ 12 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ 8 รูป ถวายวิสัชนาว่า
เมื่อสิ้นพระอริยเจ้าในชั้นสุทธาวาสแล้ว ยังแต่ท้าวมหาพรหมอันเป็นปุถุชน ก็พากันลงมาดูปทุมนิมิต ตามประเพณี เช่นเดียวกับพระอริยเจ้าในชั้นสุทธาวาส แต่ทว่าต่อนาน ๆ จึงจะมีสักครั้ง |