ประชุมพระราชปุจฉา

 
 
 


พระราชปุจฉาที่ 13

ว่าด้วยพระพุทธโฆษาจารย์ถวายเทศนา เรื่องพระโพธิสัตว
เสวยพระชาติเปนพระยากระต่าย เนื้อความไม่ต้องกับพระพุทธฎีกา

แก้พระราชปุจฉาที่ 13 (ความย่อ)

พระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชนาว่า
ถวายพระพรรับสารภาพว่า อาตมภาพถวายพระธรรมเทศนาเป็นสติสัมโมหะ ปราศจากปัญหา ถือแต่วาระพระบาลี มิได้ทันพิจารณาในอรรถาธิบาย จึงเข้าใจโดยอรรถอันผิด ขอพระราชทานอภัยโทษ

พระราชปุจฉาที่ 14

ว่าด้วยสาวกภูมิ เมื่อยังสร้างบารมี จะบังเกิดในจักรวาฬอื่นบ้างหรือไม่

แก้พระราชปุจฉาที่ 14 (ความย่อ)

สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งปวง ถวายวิสัชนาว่า
พระสาวกที่บำเพ็ญบารมีจนได้ลัทธยาเทศแล้ว มิได้ไปเกิดในจักรวาลอื่น ด้วยเหตุ 2 ประการคือ อธิการมีทานบริจาค เป็นฉันทาธิการอันยิ่งนัก 1 ฉันทตา คือ มีความปรารถนา เป็นฉันทาธิปดี มั่นในอรหัตภูมิ มิได้จลาจลหวั่นไหว 1

พระราชปุจฉาที่ 15

ว่าด้วยผู้สมาทานศีล 5 แล้วไปประมาทขาดศีล

กับผู้ที่ไม่ได้สมาทาน แลไปกระทำปาณาติบาต อทินนาทาน เปนต้น
ใครจะมีโทษมากกว่ากัน แลผู้ที่ประมาทขาดศีล ฤๅลาศีล ฤๅมีศีลด่างพร้อย เหล่านี้ จะมีโทษประการใด

แก้พระราชปุจฉาที่ 15 (ความย่อ)

สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งปวง ถวายวิสัชนาว่า
ผู้ได้รับศีล 5 หรือมิได้นับก็ดี เมื่อล่วงศีลพร้อมด้วยองค์แล้ว ก็ชื่อว่าขาดศีลเหมือนกัน แต่ผู้รับศีลโทษน้อย เพราะมีเมตตาจิต และหิริโอตัปปะ ส่วนผู้มิได้รับศีลมีโทษมาก เพราะปราศจากหิริโอตัปปะ ส่วนผู้สมาทานศีล 8 แล้วประมาทขาดอพรหมจริยา เป็นโทษให้เดือดร้อน กินแหนง เศร้าหมอง เป็นคลองอกุศลกรรมบท จะให้ไปสู่อบายภูมิ ส่วนอีก 3 ข้อ ไม่เป็นคลองแห่งอกุศลกรรมบท แต่เป็นโทษในบัญญัติ ทำให้ศีลทั้งปวงเศร้าหมอง ส่วนผู้รับศีล 8 แล้วรักษาไปไม่ได้ ลาเสีย ก็เป็นโทษตามตำแหน่งศีล แต่ทว่าเบากว่ามิได้ลา (นอกนั้นมิได้แก้โดยตรง)

พระราชปุจฉาที่ 16

ว่าด้วยเมื่อพระพุทธศาสนา ครบ 5000 ปี แล้ว
มีผู้ประทุษร้ายต่อเจดียฐาน คือพระพุทธรูปเปนต้น จะมีโทษฤๅไม่

แก้พระราชปุจฉาที 16 (ความย่อ)

สมเด็จพระสังฆราช พระพิมลธรรม พระพุทธโฆษา พระโพธิวงศ์ พระปรากรม พระญาณสิทธิ พระธรรมโฆษา 7 รูป ถวายวิสัชนาว่า
เมื่อพระพุทธศาสนาครบ 5000 ปีแล้ว ถ้าบุคคลมีเจตนาเป็นอกุศล ไปกระทำประทุษร้ายในเจดีย์ฐานนั้น ๆ ผู้นั้นก็ได้บาปมาก

พระราชปุจฉาที่ 17

ว่าด้วยปลาว่ายน้ำตามสำเภาฟังธรรม
แลนกแขกเต้าซึ่งภาวนาอัฏฐิกรรมมัฏฐาน กลับชาติมาเปนมนุษย์ ได้สำเร็จมรรคผล
แก้พระราชปุจฉาที่ 17 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช ถวายวิสัชนาว่า
ปลาและนกแขกเต้านั้น จะได้พระอรหัตต์เพราะฟังธรรม และบริกรรมอัฏฐิกรรมฐานเท่านั้นหามิได้ อาศัยบารมีได้สร้างสมอบรมมามากแก่บริบูรณ์แล้ว จึงได้บรรลุพระอรหัตต์ แต่ที่กล่าวเพียงเท่านั้น ว่าเป็นสังเขปคาถา

พระราชปุจฉาที่ 18

ว่าด้วยพระธรรมเจดีย์ถวายเทศนา ว่าด้วยเกิดในอขณะอสมัย ไม่ควรรักษาพรหมจรรย์
แก้พระราชปุจฉาที่ 18 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ พระพิมลธรรม พระธรรมโคดม พระพุทธิโฆษา พระเทพมุนี 6 รูป ถวายวิสัชนาว่า
ซึ่งพระธรรมเจดีย์ถวายพระธรรมเทศนาว่า สัตว์อันเกิดในอขณะอสมัย 8 จำพวก ไม่ควรรักษาพรหมจรรย์นั้น ว่าแต่โดยย่อตามพระบาลี อขณะอสมัยศัพท์นั้นมิได้แปลว่า ไม่ควรจะรักษาพรหมจรรย์ อขณะศัพท์แปลว่าใช่ขณะจะเกิด ๆ แล้วเปล่าเสียมรรคผล อสมัยแปลว่าใช่กาลจะตรัสรู้มรรคและผล และคำว่าพรหมจรรย์นั้นมีอรรถาธิบายได้ถึง 12 ประการ สัตว์ที่เกิดในอขณะอสมัยนั้นถึงแม้จะรักษาพรหมจรรย์ก็ไม่ได้ครบทั้ง 32 ประการ หรือบางพวกก็ไม่ได้เลย คำที่กล่าวว่าอขณะอสมัยนั้นเป็นเยภุยยนัย ตามที่เป็นไปโดยมาก

พระราชปุจฉาที่ 19

ข้อ 1 ว่าด้วยทรัพย์ซึ่งปรับไหมจากผู้ลักของสงฆ์ ทรัพย์นั้นจะควรทำประการใดจึงจะพ้นโทษ
ข้อ 2 ว่าด้วยสัตวนรกที่กำหนดอายุด้วยพุทธันดร ถ้าพุทธันดรยาวออกไป สัตว์นั้นจะมิต้องทนทุกข์มากไปฤๅ

แก้พระราชปุจฉาที่ 19 (ความย่อ)

สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะ 10 รูป ถวายวิสัชนาว่า
ข้อ 1 ทรัพย์ที่ปรับไหมได้นั้น แล้วแต่เจตนาของพระเจ้าแผ่นดิน จะเอาไปบูชาพระรัตนตรัยก็ควร
ข้อ 2 พุทธันดรนั้นหาได้เท่ากันหมดไม่ สัตว์เสวยทุกขเวทนา มีกำหนดช้าบ้างเร็วบ้างตามผลกรรม

พระราชปุจฉาที่ 20

ว่าด้วยนาคทั้งปวงกลัวมนต์อาลัมภายน์ แต่เจ้าสุทัสน์แลนางอัจจมุขีนั้นไม่กลัวฤๅ
แก้พระราชปุจฉาที่ 20 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ 7 รูป ถวายวิสัชนาว่า
ทิพยมนต์ของอาลัมภายน์นั้นเป็นทิพยมนต์ครุฑ ได้มาแต่สำนักดาบส แต่นาคทั้งหลายที่เกิดในสกุลทั้ง 7 มีสกุลธตรฐ เป็นต้น หากลัวครุฑทำอันตรายไม่ นาคที่กลัวครุฑจำเพาะแต่ที่เกิดในสกุลต่ำกว่าสกุลทั้ง 7 นั้น พระภูริทัตเกิดในสกุลธตรฐ จึงไม่กลัวทิพยมนต์ แต่เพราะเหตุที่จำศีล จึงไม่ทำอันตรายแก่อาลัมพายน์ ๆ จึงทำได้ตามปราถนา เพราะกลัวศีลขาด และพระสุทัศน์กับนางอัจจมุขีก็เกิดสกุลเดียวกับพระภูริทัตจึงมิได้กลัว

พระราชปุจฉาที่ 21

ว่าด้วยเรื่องสึกภิกษุลาวเสียแล้วบวชใหม่
ปฤกษาว่ามีบรรพชาโทษเพราะอักขรวิบัตินั้น มีพระพุทธบัญญัติว่า อักขระภาษาอื่นผิดเพี้ยนไม่เป็นบรรพชาอุปสมบท ฤๅมีพระพุทธบัญญัติไว้ว่า เหตุที่จะเปนบรรพชาอุปสมบทได้กี่ประการ ไม่เปนบรรพชาอุปสมบทกี่ประการ
แก้พระราชปุจฉาที่ 21 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ 7 รูป ถวายวิสัชนาว่า
ซึ่งกุลบุตรในประเทศเมืองลาว มอญ พม่า เขมร บรรพชาอุปสมบทในภาษาของตนนั้น ย่อมสวดกรรมตามพระบาลีมคธภาษาอย่างเดียว และนักปราชญ์ต่าง ๆ ในประเทศเหล่านั้น ย่อมรู้มคธภาษา มิได้สวดให้ผิดอักขระบรรพชาอุปสมบทนั้นก็สมบูรณ์ นานมากุลบุตรในภายหลังมิได้รู้บาลี ว่าอักขระให้ผิดไป บรรพชาอุปสมบทก็ไม่สมบูรณ์ จึงให้สึกเสียแล้วบวชใหม่

พระราชปุจฉาที่ 22

ข้อ 1 ว่าด้วยคนใบ้หนวกจะอุปสมบทได้ฤๅไม่
ข้อ 2 ว่าด้วยบุคคลกล่าวอักขระวิปลาศจะอุปสมบทได้ฤๅ ไม่
ข้อ 3 ว่าด้วยบุคคลกล่าวอักขระเสียงเบาดังเสียงกา จะสวดปาติโมกข์ รับไตรสรณาคมน์ บรรพชาควรฤๅไม่
ข้อ 4 ว่าด้วยคนพูดไม่ชัด จะดีกว่าคนใบ้ บอด หนวก ฤๅไม่ แลจะบรรพชาอุปสมบทได้ฤๅไม่
ข้อ 5 ว่าด้วยบุคคลกล่าวอักขระวิปลาศ แลเจ้านาคมีอาพาธ 5 ประการ แล้วกล่าวปฏิเสธว่าไม่มี จะมิเปนมุสาฤๅ จะอุปสมบทเปนภิกขุได้ฤๅไม่
ข้อ 6 จะสำคัญสิ่งไรจึงจะรู้ว่าอักขระบริบูรณ์

แก้พระราชปุจฉาที่ 22 (ความย่อ)

สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ 22 รูป ถวายวิสัชนาว่า
ข้อ 1 คนใบ้หนวก มิควรให้บรรพชาอุปสมบท แต่เมื่อให้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ก็ย่อมเป็นภิกษุ หากพระแต่พระอุปฌาย์ และคณะสงฆ์ผู้ให้บวชเป็นโทษทั้งสิ้น
ข้อ 2 ถ้าสงฆ์จะให้อุปสมบท อย่าให้ผิดเพี้ยนบทอักขระ พยัญชนะ และกรรมจึงเป็นธรรม ให้บรรพชาเป็นสามเณร พึงกล่าวพระไตรสรณาคมน์ให้ถูกต้องทั้งศิษย์และอาจารย์จึงจะควร อนึ่ง ถ้าอนุญาตให้อาเทศได้ตามสูตรโทธสฺสจ ในคัมภีร์มูลนั้นแล้ว ภายหลังจะมีผู้อาเทศอักขระในพระไตรสรณาคมน์ต่าง ๆ กันได้ตามชอบใจ เห็นไม่สมควร
ข้อ 3 เรื่องพระอุทายีนั้น ก่อนจะสวดปาติโมกข์ก็ได้บอกให้รู้แล้วว่า เสียงของตนเป็นดังนั้น แต่ก็ได้พยายามจะสวดให้ดีอยู่ เมื่อพยายามด้วยเจตนาอันดีแล้ว แม้จะสวดไม่คล่องเบาไป ก็หาโทษมิได้ และพระอุทายีนั้น สวดปาติโมกข์ก็ดี ว่าพระไตรสรณาคมน์บรรพชาก็ดี จะได้ผิดอักขระหามิได้ หากแต่เสียงดุจเสียงกา ไม่สละสลวยเท่านั้น
ข้อ 4 คนพูดไม่ชัด เพี้ยนอักขระนั้น ดีกว่าคนใบ้ บอด หนวก เพราะยังจะสอนได้อยู่ บรรพชาอุปสมบทได้
ข้อ 5 ที่มิได้ถามถึงการกล่าวอักขระวิปลาสในเวลาอุปสมบท ก็เพราะว่าการบรรพชาเป็นสามเณรนั้น มีอาจารย์ผู้ให้พระไตรสรณาคมน์ชำระมาก่อนแล้ว จึงมิได้ถามซ้ำด้วยเรื่องพระไตรสรณาคมน์ ถามถึงอันตรายิกธรรมอันเป็นกิจอุปสมบทต่อไปทีเดียว
คนมีอาพาธ 5 ประการ เมื่อพระกรรมวาจาถามก็ปฏิเสธนั้น หาเป็นมุสาวาสไม่ เพราะเป็นคำว่าตามพระพุทธบัญญติ เช่นเดียวกับถามว่า "มารดาบิดาอนุญาตแล้วหรือ?" ถ้ามารดาบิดาตายแล้ว ก็จะได้อนุญาติที่ไหน แต่ก็คงรับว่า "อามภนฺเต" เหมือนกัน ฉะนั้นการที่ผู้นั้นอุปสมบทก็เป็นภิกษุ แต่ว่าสงฆ์รู้ว่าผู้นั้นมีอาพาธ 5 ประการ แล้วให้อุปสมบทก็เป็นโทษ แต่ถ้าไม่รู้ก็หาโทษมิได้
ข้อ 6 คนใบ้ บอด หนวก นั้น มีพุทธบัญญติห้ามมิให้บวชเลย

พระราชปุจฉาที่ 23

ว่าด้วยพระ ฯ โปรดแต่คนใบ้ บอด หนวก แลคนเป็นอันตรายิกธรรมดอกฤๅ
แลคนที่ว่าอักขระวิปลาศนั้น โทษมีประการใดจึงไม่โปรด ถ้าดัดแปลงสั่งสอนมิได้
แล้วจะสวดญัตติให้เป็นภิกษุทีเดียวเหมือนคนใบ้ บอด หนวก นั้นจะได้ฤๅไม่

แก้พระราชปุจฉาที่ 23 (ความย่อ)

สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งปวง ถวายวิสัชนาว่า
การบรรพชาอุปสมบท ต้องอาศัยพระไตรสรณาคมน์เป็นมูล อาจารย์ผู้จะให้และศิษย์ผู้จะรับ ต้องว่าให้ถูกอักขระ พยัญชนะ ฐานกรณ์ การบรรพชาอุปสมบทจึงจะบริบูรณ์ และคนว่าอักขระวิปลาส จะพิพากษาว่า มีศรัทธาอุตสาหะอยู่ แต่หากว่าวิปลาสไป ให้บรรพชาอุปสมบทเกิดเช่นนี้ เห็นว่ายังเบาไป ไม่ต้องด้วยหลักในพระวินัย จะเป็นทิฏฐานุคติฟั่นเฟือนสืบไป

พระราชปุจฉาที่ 24

ข้อ 1 ว่าด้วยบุคคลรับพระไตรสรณาคมน์แลศีล 10 บวชเป็นสามเณร จะกำหนดเอาวาจาภาษาเปนประมาณฤๅ ๆ จะกำหนดเอาศรัทธาเจตนาเปนประมาณ ข้างไหนจะดีกว่ากัน
ข้อ 2 ว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาโปรดสัตว กำหนดเอาอักขระเปนประมาณ ฤๅกำหนดเอาจิตรศรัทธาเปนประมาณ

แก้พระราชปุจฉาที่ 24 (ความย่อ)

สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งปวง ถวายวิสัชนาว่า
ข้อ 1 ตามพระวินัย ภิกษุจะให้บรรพชาต้องว่าไตรสรณาคมน์ให้ถูกต้อง ทั้งอาจารย์และศิษย์ จึงจะเป็นสามเณรทรงไตรสรณาคมน์และศีล 10 หาได้ถือเอาศรัทธาอุตสาหเป็นประมาณไม่ เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยสิกขาบท หาได้บัญญัติเอาแต่จิตสิ่งเดียวเป็นประมาณไม่ ต้องพร้อมด้วย กาย วาจา จิต ส่วนผู้มีศรัทธาจิต แต่ว่าอักขระไม่ชัดไม่ถูกก็บรรพชาไม่ขึ้น ดีแต่ฝ่ายปฏิบัติ แต่ฝ่ายใดจะดีกว่ากันนั้น ยังไม่พบพระบาลี
ข้อ 2 พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาในพระไตรปิฎก กำหนดเอาวาสนา ศีล ศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ ปัญญาของสัตว์เป็นประมาณ แต่การบรรพชาอุปสมบท เป็นพุทธประเวณี เป็นกิจเฉพาะในพระวินัย