พระราชหัตถเลขา ถึงเซอร์ ยอน เบาริง
ราชมณเฑียร
พระบรมมหาราชวัง
กรุงเทพ ฯ
วันที่ ๒๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๕
จดหมายมายังมิตรอันประเสริฐของข้าพเจ้าให้ทราบ
วันนี้ ข้าพเจ้าปรีดาปราโมทย์ยิ่ง ที่ทราบว่าท่านจะเข้ามาถึงนี้ในเร็วๆ นี้แน่ แลเวลานี้ท่านอยู่ในเรือ "แรตเลอร์" ซึ่งมีเรือรบ
มาด้วยลำหนึ่ง ข้าพเจ้าไม่อาจระงับไว้ได้กว่าชั่วโมง ที่จะส่งความแสดงหฤทัยไมตรีมายังท่านด้วยความยินดี ข้าพเจ้าขอส่งคนใช้
ส่วนตัวคือ มิศเตอร์ นายขำ นายสนอง แลมิศเตอร์ นายภู่ พร้อมกับผลไม้มาให้ท่าน เพื่อแสดงความนับถือในเบื้องต้น แลเพื่อแสดง
ความปิติอย่างมากที่สุด ในการที่จะได้รับรองท่านด้วยตนเอง ทั้งในราชการแลในรโหฐาน ให้สมกับที่เป็นมิตรสนิทกันตลอดเวลา
ที่ท่านอยู่ที่นี่ ภายหลังที่เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลของเราติดต่อกับท่านเสร็จแล้วตามประเพณีสยาม
เชิญท่านเข้าปากน้ำในเมื่อข้าพเจ้าได้สั่งเจ้าหน้าที่สูงในทบวงการต่างประเทศ ให้ลงไปปากน้ำในวันนี้ ณ ที่นั้นท่านจะได้พบ
กับผู้นั้นที่หอปลูกขึ้นใหม่สำหรับรับรองท่าน
เมื่อได้สนทนากับเจ้าหน้าที่สูง ณ ที่นั้นแล้วจะได้พาท่านมายังกรุงด้วยความนับถือเป็นอันมาก ให้สมกับที่ท่านได้เป็นมิตร
ของข้าพเจ้า ขอท่านจงอนุญาตให้เราสำแดงความนับถือแก่ท่านตามอัธยาศัยสยาม ที่พักของท่านทางนี้ได้จัดไว้เสร็จแล้วเราเตรียม
พร้อมนานแล้วเพื่อรับรองท่าน
ข้าพเจ้าคงเป็นมิตรอันซื่อตรงของท่าน
(พระปรมาภิไธย) ส.ป.ป. มงกุฏ
พระเจ้าแผ่นดินสยาม
ป.ล. ..............................
(พระปรมาภิไธย) ส.ป.ป. มงกุฏ
พระเจ้าแผ่นดินสยาม
ถึง เซอร์ ยอน เบาริง
ไนต์ ดอกเตอร์ ออฟ ลอว์ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
พระราชหัตถเลขา ถึงกรมหลวงวงษาธิราชสนิท
กรมหลวงวงษาราชสนิท จงทราบ
ตั้งแต่หลวงจงพยุหถือตรา ว่าด้วยเรื่องบอกเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาแล้ว พระศรีสหเทพกลับลงมา เอาหนังสือของเธอกับขวดจีนรูปน้ำเต้ามาให้ได้รับแล้ว
ตั้งแต่แรมเดือนยี่จนแรมเดือนสาม ฉันคอยจะฟังข่าวเธอ ถามเขาถึงหนังสือบอกทุกวันก็หาใคร่ได้ข่าวไม่.....
บัดนี้ ฉันวิตกนักด้วยเรื่องเสบียงอาหาร ด้วยการปีนี้ฟ้าฝนฤดูคลาศ สังเกตน้ำท่าฝืดเคือง เข้าปลาอาหารมีราคาขึ้นไปทั่วทุกบ้านในประเทศไทยรู้อยู่ด้วยกัน ฝ่ายเมืองลาวก็เปนบ้านเมืองอยู่ในลำน้ำเดียวกัน ถึงเธอบอกมาว่าเมืองแพร่ไม่เปนอะไรนักก็ดี..... วิไสยราษฎรไพร่บ้านพลเมือง ๆ เขาก็ดี เมืองเราก็ดี ก็ย่อมคอยที่จะหวาดหวั่นพรั่นพรึงด้วยภัย ๓ ประการ คือ การทัพศึก ๑ การความไข้ ๑ เข้ายากหมากแพง ๑..... เพราะฉะนั้น ฉันวิตกว่า เมื่อกองทัพเรายกขึ้นมาในปีนี้ที่ฟ้าฝนเปนวิปริตมาก ลาวก็พาโลร้องว่าขัดสนเสบียงอาหาร..... เหตุการณ์อันนี้เธอจงดำริห์ดูให้มาก ฉันจะคิดมาให้ก็ไกลตา เธอมีปัญญาแลได้ขึ้นมาเห็นลาวเองแล้วจะคิดอย่างไร อย่าให้มันเสียใจแตกร้าวนักนั้นจึงจะดี
ที่จริงการครั้งนี้ เปนท่วงทีช่องคราวที่ฝ่ายเราทำกับเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง เพราะมีการรบพุ่งข้างเมืองพม่า แลกระบถจีนเมืองยุนัน หนองแส แดนฮ่อ แลพวก ๑๒ พันนา ก็ยังหยุกหยิกกันไม่ตั้งตัวติดในปีนี้ แต่ว่าหูลาวไพร่พลเมือง ฤา แม้นถึงลาวผู้ดีที่ไหนมันจะรอบรู้การงานเมืองไกล มันก็จะยังงมถือพม่าว่าเปนใหญ่ คงจะไล่อังกฤษไปเสียเร็ว ๆ แล้วมาเปนที่พึ่งแก่เชียงตุงฤากระไรนั้น..... ถึงอังกฤษก็ตั้งอยู่ใกล้พม่ารอบด้าน คือ ข้างเมืองเบงคลา เมืองกระแซ เมืองอัศสัม ด้านเหนือ เมืองยะไข่ ด้านตะวันตก เมืองเมาะตำเลิม เมืองทวาย เมืองมฤท เมืองตะนาว ข้างตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้เขตแดนทุกทิศก็ดี ชรอยพม่าจะรู้เปนแน่ว่า อังกฤษจะมีกำลังถอยน้อยกว่าตัวลง ถึงแม้นเปนเมืองจำนนมาถึง ๒๙ ปีแล้ว ครั้งนี้จึงพร้อมใจกันต่อสู้อังกฤษอีก.....
แต่ฝ่ายเราครั้งนี้ เพราะเหตุที่มีศึกพม่ากับอังกฤษดังว่ามานี้ การที่เราประสงค์จะเอาชัยชนะ แก่เมืองเชียงตุง นั้นก็เปนการเข้าช่องแคบ..... เพราะว่าเมืองเชียงตุง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้ให้เมืองเชียงใหม่ไปทำไว้ครั้งหนึ่งแล้ว ไม่ช้าพอสิ้นแผ่นดินท่านลงมา เรามาได้แผ่นดิน ถ้าจะนิ่งเสียไม่คิดอ่านต่อไปให้สำเร็จก็จะเสียเกียรติยศ..... ถึงกระนั้น ก็ควรเราจะทำให้ได้ด้วยมานะรักษาเกียรติยศ แลจะได้ทำขุนนางของเราให้เคยการทัพศึกไว้ ไม่ให้สิ้นสูญคนรู้คนเคยการสงคราม ก็ถ้าพม่าได้ต้องรบกับอังกฤษมาจนร่อยหรอ เสียรี้พลแลเขตแดนแล้วจึงเสร็จความกัน เมื่อเปนเช่นนั้น การก็เปนทีของข้างเรามากขึ้น..... ถ้าอังกฤษเขาได้เขตพม่า ชิดเชียงตุงเข้ามาทางเหนือแล้ว เราจะยกไปตีเชียงตุงทีหลัง พวกลาวเชียงตุงก็จะหันไปพึ่งอังกฤษ..... การของเราก็จะขัดข้องเสีย แลเมื่อเปนไปได้ดังนี้ หัวเมืองลาวประเทศราชของเราทั้งปวงก็จะหมิ่นประมาทเราได้ ก็จะเกิดความร่อยหรอไปทีเดียวยากนักหนา..... ถ้าพวกฮ่อมาว่ากล่าวห้ามกองทัพของเราไม่ให้ทำแก่เมืองเชียงตุง..... ก็ให้เธอคิดอ่านโต้แย้งอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วรีบเอาราชการตามประสงค์ของเราให้จงได้..... เพราะเหตุฉะนี้คิดดูให้ดี อย่าเปนคนใจเสาะ เพราะเสบียงอาหาร ตริตรองการให้รอบคอบเบื้องหน้าเบื้องหลังนั้นเถิด..... เธอกับเจ้าพระยายมราชบอกมาก็ไม่ต้องกัน..... เจ้าพระยายมราชไปรับสมอ้าง อ้ายลาวนครลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ว่าลาวว่าจริง จะให้ฉันตัดสินอย่างไร คิดกันดูให้ดีเถิด ฉันไว้ใจแก่เธอมาแล้ว
อนึ่งว่าด้วยเรื่องข้างพวกเชียงรุ้งสิบสองพันนานั้น..... เราไม่โลภอยากได้บ้านเมืองสิบสองพันนา..... แต่จะใคร่ได้แต่เกียรติยศ ให้ราชบุตรผู้เปนเจ้าเมืองเชียงรุ้ง มาคำนับอ่อนน้อมขอมารดาอุปราชามหาไชย แลครอบครัวไปโดยเคารพแล้ว จะยอมให้ไปจากเมืองหลวงพระบาง แลเมืองน่านโดยสดวก..... ให้ราชบุตรมาคำนับเราเปนเกียรติยศ อย่าให้อายน้อยหน้าพม่าเท่านั้น..... เพราะฉะนั้นใจฉันรักแต่การเกลี้ยกล่อมเล้าโลมให้ได้มาโดยนวล..... อนึ่งถึงเมืองเชียงตุงก็ดี..... หากว่าจะไปตลอดมิได้ ก็ให้คิดมีหนังสือไปเกลี้ยกล่อมมหาขนาน ให้เข้าหาเราเสียเปนเกียรติยศ ถ้าการอย่างไรในระหว่างนี้พอสำเร็จได้ เพราะเชียงตุงเดี๋ยวนี้จะคิดพึ่งพม่าก็ไม่ได้ แลการที่เรายกขึ้นไปเปนทัพใหญ่ก็อื้ออึง ถ้าพวกเชียงตุงตื่น ๆ หน่อยหนึ่งก็คงจะเข้ามาหาเรากระมัง ฯ
พระบรมราโชวาท พระราชทานเงินพระเจ้าลูกยาเธอ
สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม เปนพระเจ้าแผ่นดินที่ ๔ ในพระราชวงษ์ซึ่งตั้งกรุงรัตนโกสินทรมหินทราอยุธยานี้ ผู้เปนพระบิดาของผู้ (พระนามพระเจ้าลูกเธอ) บุตร จะขอสั่งสอนผู้บุตรไว้ว่า (พระนามพระเจ้าลูกเธอ) เอ๋ย พ่อขอสั่งแก่ตัวเจ้าไว้ ทรัพย์ที่มีหางว่าวจำนวนผูกติดกับหนังสือนี้ มีตราของพ่อปิดไว้เปนสำคัญเท่านี้ พ่อให้แก่เจ้าคนเดียว ตัวเจ้าเมื่อโตใหญ่ อายุได้ ๑๖ ปี แล้วจงคิดอ่านเอาเปนทุนทำมาหากินเลี้ยงตัวต่อไป แลใช้สอยตามสมควรเถิด แต่พ่อขอเสียเปนอันขาดทีเดียว คิดถึงคำสั่งพ่อให้มากนักหนา อย่าสูบฝิ่น แลอย่าเล่นหญิงไม่ดีชั่ว อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด แต่อย่าให้ปอกลอกเอาทรัพย์ของเจ้าไปได้นัก จงรักษาทุนของพ่อให้ไว้นี้เปนเกียรติยศชั่วลูกชั่วหลาน เอาแต่กำไรใช้สอย เจ้าจงอย่าเล่นเบี้ย เล่นโป เล่นหวยเปนอันขาด แลอย่าทำสุยรุ่ยสุ่ยร่าย ใช้เงินทองง่ายไม่คิดหน้าคิดหลัง จงคิดอ่านทำมาหากินตริตรองให้ดี อย่าให้นักเลงคนโกงมันหลอกลวงได้ จะเสียทรัพย์ด้วยอายเขาด้วย เมื่อสืบไปภายหน้านานกว่าจะสิ้นอายุตัวเจ้า ตัวเจ้าจะตกเปนข้าแผ่นดินใดใดเท่าใด ก็จงอุตส่าห์ตั้งใจทำราชการแผ่นดินให้ดี อย่ามีความเกียจคร้านแชเชือนแลเปนอย่างอื่น ๆ บรรดาที่ไม่ควรเจ้าอย่าทำ อย่าประพฤติให้ต้องตำหนิติเตียนตลอดถึงพ่อด้วยว่าสั่งสอนลูกไม่ดี จงเอาทรัพย์ที่พ่อให้ไว้นี้ เปนกำลังตั้งเปนทุน เอากำไรใช้การบุญแลอุดหนุนตัว ทำราชการแผ่นดินเทอญ
ถ้าทรัพย์เท่านี้ที่พ่อให้ไว้ ไปขัดขวางฤาร่อยหรอไปด้วยเหตุที่มีผู้ข่มเหงผิด ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เจ้าจงเอาหนังสือคำสั่งของพ่อนี้ กับคำประกาศที่ให้ไว้ด้วยนั้น ให้เจ้านายแลท่านผู้ใหญ่ข้างในข้างหน้าดูด้วยกันให้หลายแห่ง ปฤกษาหารืออ้อนวอน ขอความกรุณาเมตตา แลสติปัญญาท่านทั้งปวง ให้อนุเคราะห์โดยสมควรเถิด เล่าความเล่าเหตุที่เปนอย่างไรนั้นให้ท่านทั้งปวงฟังโดยจริงๆ พูดจาให้เรียบร้อยเบาๆ อย่าทำให้ท่านที่เปนใหญ่ในแผ่นดินขัดเคืองเกรี้ยวกราดชิงชังได้ จงระวังความผิดให้มาก อย่าตามใ่จมารดา แลคนรักนัก ทรัพย์นี้ของพ่อให้เจ้าดอก ไม่ใช่มารดาเจ้าแลผู้อื่นเข้าทุนด้วย จงคิดถึงพ่อคนเดียวให้มาก เจ้าเกิดเมื่อพ่อสูงอายุแล้ว พ่อไม่ประมาทจึงจัดแจงไว้แต่เดิม ถ้าพ่อยังมีชีวิตอยู่ อันตรายมีแก่เจ้าก่อน ถ้าอายุถึง ๑๖ ปี แล้วสั่งให้ใครพ่อจะให้ผู้นั้น ถ้ายังไม่ถึงกำหนดฤาไม่ได้สั่ง พ่อขอเอาคืนจะทำบุญให้ทาน ถ้าพ่อมีชีวิตแลอำนาจไปนาน ทำมาหากินได้ก็จะเพิ่มเติมให้อิก แล้วจะแก้หางว่าว
สั่งไว้ ณ วัน ค่ำปีมโรงนักษัตรอัฐศก ฯ
พระราชหัตถเลขา ถึงองค์พระหริรักษ์ ณ กรุงกัมพูชา
จดหมายมายังองค์พระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี เจ้ากรุงกัมพูชาให้ทราบ ว่าครั้งนี้มองติงี ราชทูตมาซายิศเตอัมเปรอเด ฝรั่งเศส นโปเลียนที่สาม เจ้ากรุงฝรั่งเศส เข้ามาขอทำการติดต่อทางพระราชไมตรีกับกรุงเทพ ฯ แลทำการค้าขาย โดยเรือลูกค้าทางทะเล การทั้งปวงก็คล้ายกันกับอังกฤษแลอเมริกา ที่ได้มาทำแต่ปีหลังแลต้นปีนี้เสร็จแล้วกันไปนั้นแล
แลมองติงีราชทูต..... แจ้งความว่า พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทราบความว่า องค์พระหริรักษ์ ฯ มีน้ำใจจะใคร่ผูกไมตรี กับชาติฝรั่งเศส......จึงได้มีรับสั่งแก่มองติงีราชทูตว่า เมื่อมาถึงเมืองไทยแล้วให้แจ้งความเรื่องเมืองเขมรให้ทราบ แล้วขอให้ไทยยอมให้ได้ไปแวะเยี่ยมเยียนเจ้าเมืองเขมร เมื่อกลับจากกรุงไทยจะไปเมืองญวนนั้น ด้วยพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทราบแน่ว่า เมืองเขมรเปนเมืองน้อยขึ้นแก่เมืองไทย จึงให้บอกเมืองไทยให้ทราบก่อน
....................
................... แลมองติงีได้ถามว่า หนทางจะขึ้นจากเรือที่เมืองกำปอด แล้วเดินไปเมืองอุดงมีไชยนั้นไกลเท่าใด สักกี่ไมล์ ฉันว่าฉันไม่เคยไปจะบอกนับไมล์ไม่ได้ แต่ทราบว่าต้องเดินบุกป่าไป ๔ คืน ๕ คืน ฤดูนี้เปนน้ำเปนโคลนเดินยาก ถ้าหากว่าจะเอาเรือไฟลำเล็กที่ขึ้นมาอยู่ที่กรุงนี้ เข้าไปทางปากน้ำป่าศักพระตะพังได้ แล้วไปเรือกลไฟจนถึงเมืองพนมเปนจะดี แต่เมืองพนมเปนไปอุดงมีไชยนั้นจะลงเรือเล็กไปก็ได้ จะเดินบกขึ้นไปก็ได้ เจ้าเมืองเขมรก็จะยินดีต้อนรับ..... แลปากน้ำป่าศักพระตะพังนั้น บัดนี้ญวนเอาไปเปนของญวนเสียแล้ว แต่ครั้งเจ้าเมืองเขมรคนเก่า ถ้าแม้นทูตฝรั่งเศสเอากำปั่นไปถึงปากน้ำป่าศักพระตะพังแล้ว ให้หนังสือเข้าไปถึงผู้ครองเมืองพุทไธมาศฤาโจดก ขอให้ยอมให้กำปั่นไฟเข้าไปในปากน้ำ แล้วขึ้นไปเมืองเขมร เมื่อผู้ครองเมืองข้างญวนยอมแล้วเห็นจะไปได้สบาย..... อนึ่ง จะได้เปนการลองใจญวนดูว่า ญวนจะรับเปนไมตรีด้วยฝรั่งเศสฤาไม่..... มองติงีกับบุตรหญิงถามฉันว่า ถ้าตัวไปถึงเมืองเขมรแล้ว จะขอหนังสือองพระหริรักษ์ ฯ ไปถึงเจ้าเวียตนาม ชักโยงขอให้ฑูตฝรั่งเศสได้เข้าไปทำสัญญาไมตรี แลทางค้าขายเหมือนกับเมืองไทยนี้จะได้ฤามิได้ อนึ่งจะขอหนังสือเขมรไป ขอให้เรือไฟแล่นขึ้นไปทางปากน้ำป่าศักพระตะพัง จนเมืองพนมเปนกับญวนที่เปนเจ้าเมืองผไทมาศ แลโจดกให้ยอมตามก็ดี จะได้ฤาไม่ เจ้าเมืองเขมรจะให้ฤาไม่ ฉันบอกว่าไม่ทราบเลย เจ้าเมืองเขมรก็ตั้งอยู่ใกล้เมืองญวนจริง แต่ตัวเจ้าเขมรองค์นี้เปนพวกไทยแท้ แต่เมื่อยังหนุ่ม ๆ อยู่นั้นได้มาอยู่ในกรุงนี้ถึง ๒๙ ปี เปนมิตรชอบกับฉัน เล่นด้วยกันมา แลฉันยังเด็กอยู่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านตั้งออกไปเปนเจ้าเมืองเขมรได้ ๑๒ ปีเศษมาแล้ว ย่อมให้พระยาพระเขมร คุมเครื่องบรรณาการมาส่งปีละครั้งมิได้ขาด แลให้มาเยี่ยมเยียนปฤกษาหารือการงานปีหนึ่งก็หลายครั้ง บุตรชายของเจ้าเมืองเขมรก็เข้ามาอยู่ที่กรุงนี้ในบัดนี้สามองค์ แต่ที่เมืองญวนนั้นทราบว่าต่อสามปี เจ้าเมืองเขมรจึงแต่งทูตไปคำนับครั้งหนึ่ง แต่ที่เมืองใกล้เคียงนั้นจะอย่างไรไม่ทราบเลย เขาก็ค้าขายถึงกันอยู่ แต่ฝ่ายนี้เปนข้าศึกกับญวน ไม่ยอมเปนไมตรีกับญวนเลย ถ้าเปนไมตรีกับญวน ๆ ก็ว่ากล่าวข่มขี่ต่าง ๆ แล้วขยำกวน เอารัดเอาเปรียบปลายเขตปลายแดนฝ่ายเหนือของไทย แต่เมืองเขมรนั้นใกล้ญวนนัก ไทยจึงยอมให้เปนไมตรีไปมาหากับญวนตามใจเขมร เพื่อจะให้เมืองเขมรรักษาบ้านเมืองให้เปนศุขอยู่สบาย อาไศรยสิ่งของเครื่องค้าขายกับเมืองญวนเปนเมืองใกล้กัน
มองติงีทูตฝรั่งเศษอยู่ที่กรุงเทพ ฯ เดือนเศษ ได้ปฤกษากับเสนาบดี แลทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี แลการค้าขายเปนอันเสร็จแล้ว ได้ลงตราในหนังสือสัญญา..... ฉันได้สั่งอาลักษณ์ลอกมอบให้พระยาพระเขมร นำมาให้องค์พระหริรักษ์ ฯ ทราบด้วยแล้ว
พระราชหัตถเลขา ถึงพระรามัญมุนี
นมัสการยัง พระรามัญมุนี
ด้วยหนังสือเจ้าคุณฝากมายังฉัน แต่เมืองราชบุรีฉบับหนึ่ง แต่เมืองกาญจนบุรีฉบับหนึ่ง ได้รับแล้วในเวลาอันควร การฝากหนังสือไปมานั้น ฉันได้มีหนังสือไปถึงพระพิเทศพานิชวิชิตภักดี ณ เมืองสิงคโปร์ทราบแล้ว..... จะคิดอ่านอย่างไรจึงจะส่งหนังสือไปมา ให้ได้คล่องได้เร็วกว่าเดินทางบก เขาจึงว่าเข้ามาว่า เอเชนต์ คือ คนที่ใช้หนังสือไปมาถึงเขาอยู่เปนนิจนั้น มีอยู่ที่เมืองมาลเมียงแห่งหนึ่ง เมืองร่างกุ้งแห่งหนึ่ง เมืองยะไข่แห่งหนึ่ง..... เจ้าคุณพูดจาไถ่ถามเขาว่าตัวเขาเอง ฤาคนอื่นคนไรเปนเอเชนต์ของพระพิเทศพานิชได้ ชื่อว่าตันกิมจึ๋ง เมืองสิงคโปร์..... เจ้าคุณจะไปเที่ยว ไปพักเมืองไหนก็ดี ก็บอกให้เขารู้ ถ้าเอาหนังสือฝากไปทีหลัง เขาจะได้ส่งหนังสือถึงเจ้าคุณเร็ว ๆ ได้ง่าย ๆ เมื่อเจ้าคุณจะฝากหนังสือฤาสิ่งไรมากรุง ฯ จงมอบให้เขาฤาส่งให้เขา ฝากเขามาเรือกลไฟให้ถึงพระพิเทศพานิชเถิด ของจะถึงกรุงโดยเร็ว
อนึ่งฉันต้องการจะใคร่ได้พระพุทธรูปแก้วกะเยน แต่ทำอย่างพม่าน่าตักสั้นนัก ถ้าหาแก้วกะเยนที่เปนก้อนได้จะดีใจนัก แต่หาได้จะได้ที่เปนพระพุทธรูปแล้ว ก็จงเลือกเอาที่อ่อน ๆ พอจะแก้ได้มา..... แต่ที่ทำเปนลูกประคำแล้วไม่ต้องการ ดินสอแก้วพม่าที่ดี ๆ หาฝากมาให้บ้าง..... ถ้าเปนของใหญ่ ๆ หนัก ๆ จะต้องเสียเงินค่าจ้างเดินทาง
จดหมายมา ณ วัน..........ค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๒๐
พระราชหัตถเลขา ถึงองค์พระนโรดม แลองค์พระหริราชดนัย ณ กรุงกัมพูชา
จดหมายมาถึงองค์พระนโรดมพรหมบริรักษามหาอุปราช องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า ว่าตั้งแต่วิวาทกับวัตถาที่เมืองอุดงมีไชย เมื่อเดือน ๕ จนวัตถาหนีมาเมืองนครเสียราบนั้น..... เมื่อเปนดังนี้ การก็ควรที่กรุงเทพ ฯ จะแต่งกองทัพ ให้แม่ทัพมีกำลังเปนที่ยำเกรงกลัว ของพวกเขมรที่วุ่นวาย คุมไพร่ไปอยู่ที่เมืองพระตะบอง แล้วส่งตัววัตถากับศิริวงษ์เข้ามา แลกำราบพวกเมืองพระตะบองเสีย ให้คงอยู่ในการสำหรับเมืองพระตะบองโดยปรกติ อย่าให้อ้อแอ้ด้วยวัตถาไป แต่เพราะไม่ได้ให้เธอทั้ง ๒ รู้ก่อน ว่าจะให้กองทัพออกไปนั้น ด้วยความประสงค์ดังว่านี้..... เกลือกพวกเธอเห็นไปว่า ที่กรุงเทพ ฯ ก็เข้าด้วยวัตถา ให้กองทัพออกไปช่วยวัตถา..... พระยามหาเทพซึ่งมาทางทะเล พระยามหามนตรีซึ่งมาทางบกก็ได้มาถึงพร้อมกัน ได้เอาศุภอักษรใบบอกของเธอมาแจ้งความทราบแล้ว..... ขอกองทัพไทยไปช่วย เมื่อได้ทราบดังนี้ แล้วก็มีความยินดี จึงได้จัดให้เจ้าพระยามุขมนตรี ฯ ที่สมุหนายกในพระบวรราชวัง กับพระยาสิงหราชฤทธิไกร ฯ ผู้รักษากรุงเก่าคุมไพร่พลพอสมควรเปนกำลัง พอให้วัตถาแลศิริวงษ์ แลเขมรที่เข้าพวก แลพวกเมืองพระตะบองรู้จักยำเกรงกลัว ไม่น้อยตัวให้เขมรดูแคลนได้เหมือนพระยาอนุชิต จะให้ยกออกไปตั้งฟังราชการอยู่ที่เมืองพระตะบอง..... ว่ามาทั้งนี้ก็ด้วยเปนการคะเน โดยใจหวังที่จะทำแผ่นดินเมืองเขมรให้ราบคาบเปนปรกติ โดยไม่ได้ใช้ศาสตราวุธรบพุ่งกัน.....
อนึ่งที่เมืองกำปอดนั้นเปนเมืองท่า ลูกค้าต่างประเทศจอดเรือค้าขาย แลมีฝรั่งอังกฤษขึ้นตั้งห้างค้าขายอยู่ก็มาก ข้าพเจ้ามีความวิตกอยู่ว่า เมื่อเขมรเมืองดอนกระด้างกระเดื่องแก่เธอทั้ง ๒ ดังนี้ เกรงจะมีผู้ร้ายใจกำเริบ เข้าปล้นฤาแย่งชิง ลูกค้าวานิชที่เข้ามาจอดเรือค้าขาย.....เจ้าของทรัพย์เธอจะไปร้องแก่เมืองเดิมของเขา ให้แต่งผู้รับบังคับมาต่อว่าที่กรุงเทพ ฯ แลให้พามาต่อว่าให้เธอทั้ง ๒ เสียเงินใช้ให้ ก็จะเปนการลำบากยากนัก เพราะวิตกอยู่ดังนี้ จึงได้จัดให้พระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ เจ้ากรมอาสาฝ่ายซ้าย คุมเรือกันโบ๊ต ๒ ลำ ออกมาช่วยรักษาเมืองกำปอด..... การจะควรฉันใดก็ให้รีบมีใบบอกมา
อนึ่งมองสิเออไวกวน ฯ ผู้บุตรกงสุลฝรั่งเศสที่กรุงเทพ ฯ แจ้งความว่า..... ได้รับบังคับมาแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ว่าให้กงสุลนั้นไปราชการที่เมืองจีนทางหนึ่ง ครั้นเสร็จการที่เมืองจีนแล้วให้กลับมาที่กรุงเทพ ฯ ขอขุนนางฝ่ายไทยเปนเพื่อนแล้ว ให้พามาเมืองเขมร ขอทำสัญญาทางไมตรีแลการค้าขายกับเมืองเขมร เพราะเขตแดนเมืองญวนที่ฝรั่งเศสได้นั้น จะต่อกันเข้ากับเขตแดนเมืองเขมร การที่พวกเขมรขัแข็งต่อเธอทั้ง ๒ แลพระยาพระเขมรผู้ใหญ่เมืองอุดงมีไชยครั้งนี้นั้น ข้าพเจ้าวิตดนัก..... แลซึ่งว่าวัตถากับสนองโส เที่ยวพูดว่าใครเข้าเกลี้ยกล่อมด้วย ถ้าเปนโขลนไพร่หลวงแลเปนทาษท่าผู้อื่น เมื่อวัตถาได้เปนโตเปนใหญ่แล้ว จะโปรดเสียให้หมดนั้น คำเกลี้ยกล่อมดังนี้ก็ไม่น่าเห็นจริงด้วย..... เจ้านายฝ่ายเขมรองค์อื่น พระยาพระเขมรพวกอื่น ถ้าได้เปนใหญ่ในเขมรเหมือนอย่างเธอทั้ง ๒ แลพระยาพระเขมรพวกนี้ ก็คงจะต้องเห็นว่าจะทำไม่ได้อย่างนั้นเหมือนกัน เว้นไว้แต่เขาที่มาแต่บ้านเมืองอื่นเมืองไกล ๆ บ้านใหญ่เมืองโต มีทุนรอนมากมายมาลงทุนจ้างคนใช้ แล้วตั้งขนบธรรมเนียมบ้านเมืองเสียใหม่ พลิกหน้ามือเปนหลังมือทีเดียว จึงจะทำได้
อนึ่ง ธรรมเนียมมนุษย์ทุกวันนี้ ในเมืองใดปืนใหญ่น้อยกระสุนดินดำรวบรวมมีอยู่มาก เปนกำลังใหญ่แล้ว เมืองนั้นก็เปนเมืองหลวง มีอำนาจแผ่ทั่วทิศ..... ครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้จัดกระสุนปืนคาบศิลา ๑๐๐๐๐ ศิลาปากนก ๑๐๐๐ ชนวนปืนใหญ่ ๒๐๐ แก๊ป ๓๐๐๐ ดินดำเม็ดใหญ่ ๒ หีบ ดินดำเล็ก ๑ หีบ รวม ๓ หีบ ฝากออกมาให้เปนกำลังแก่เธอ.....
จดหมายนี้ข้าพเจ้าให้มาถึงเธอทั้ง ๒ ก็เปนการนอกธรรมเนียม เหมือนกับลุงป้าอาว์น้าให้มาถึงหลาน เพราะเห็นแก่องค์สมเด็จพระหริรักษ์ ฯ ผู้บิดา เคยรักใคร่สนิทกันมาแต่ก่อน มิใช่เปนแต่นับถือสามัญ ว่าเปนเจ้าประเทศราชเมืองขึ้นเท่านั้น.....
อนึ่งข้าพเจ้าให้ทำคำประกาศแก่คนทั้งปวงเปนกลาง ห้ามไม่ให้ตื่นตกใจด้วยสำคัญไปผิด ๆ ..... คำประกาศจะเชื่อฤามิเชื่อ จะทำตามฤามิทำตาม ก็ตามบุญตามกรรม.....
จดหมาย ณ วัน..........ค่ำ ปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓
พระราชหัตถเลขา ถึงกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ
จดหมายมายังกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ให้ทราบ
อาการกรมหมื่นวิศณุนารถป่วยเรื้อรังมาแต่ก่อนก็หลายครั้ง..... หมอได้วางยารุนด้วยดีเกลือ ในวันแรกรุนนั้นอาการค่อยสบาย..... หมอแคลงว่าจะไปใกล้อติสาร โรคอย่างนี้หมอไทยว่าไม่เคยเห็น..... แต่หมออังกฤษว่าเปนโรคในลำใส้พอง แตกเปนโลหิต..... แต่ไม่รับรักษา แต่ชีพจรมือเท้ายังดีอยู่ ไม่พักไม่อ่อนเปนแต่เดินเร็วมินิตละ ๑๑๖ ได้หาหลวงประเทศแพทยาหมอจีนในพระบวรราชวังมาดู หมอนั้นไปจับแมะเห็นชีพจรดีอยู่ ก็รับว่าจะให้ยา ๓ วัน ให้คลายได้ ครั้นมาดูอุจจาระ..... ก็กลับตกใจหันเหไปว่าเปนป้างโลหิต หาเคยรักษาไม่ ถ้าจะยอมให้รักษาก็จะวางยาลองดู.....
ราชการในกรุงนี้ ไม่มีเรื่องอะไรสำคัญ มีแต่เรื่องว่าอังกฤษ เมืองสิงคโปร์ เอาเรือรบขึ้นมาต่อว่าเมืองตรังกานู ด้วยเรื่องสุลต่านมหหมุด อยู่ที่เมืองตรังกานู ยุยงให้พวกเมืองปาหังรบกัน..... อังกฤษโกรธ เอาปืนใหญ่ในเรือรบ ยิงเอาเมืองตรังกานูมากมายหลายนัด แล้วก็กลับไป บัดนี้เสนาบดีเมืองไทย ก็ได้จดหมายเหตุการณ์ทั้งปวง ส่งให้กงสุลไปแจ้งความเมืองลอนดอนแล้ว ความเรื่องนี้ใครกราบทูล ท่านทรงทราบแล้วฤายัง..... ถ้าท่านจะใคร่ทราบให้วิตถารตลอดต้นปลาย ก็จงสั่งพนักงานกลาโหม แลกรมท่าในพระบวรราชวัง มาลอกต้นหนังสือที่โต้ตอบไปมาทั้งปวง ไปแต่กรมพระกลาโหม แลกรมท่าที่ล่าง แล้วกราบทูลถวายเถิด
อนึ่งพวกกรมช้างกับตำรวจ ซึ่งเข้าไปสืบข่าวช้างเผือกเดินกลับลงมา เขาได้แวะเข้าแต้งความ ณ ที่ประทับบ้านสีทาฤาหาไม่..... มีใบบอกมาแต่เมืองสุวรรณภูมิ ว่าได้ช้างเผือกพัง..... แลว่าที่เมืองศีษะเกษได้ช้างสีปลาดใหม่มาอีกช้างหนึ่ง.....
จดหมายมาวัน..........ปีจอ จัตวาศก ศักราช ๑๒๒๔ เปนวันที่ ๔๒๑๗ ในรัชกาลปัจจุบันนี้
พระราชหัตถเลขา ถึงกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ
จดหมายมายังกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ให้ทราบ
อาการกรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธรป่วยหนักลงไป..... จนซุดโซมสิ้นกำลังขาดใจ เมื่อ วัน.........ค่ำ เวลา ๘ นาฬิกา ใกล้เที่ยงที่เรียกกันว่า ๒ ทุ่ม..... ได้จัดดอกไม้จีนกับธูปเทียน มอบให้พระยามณเฑียรบาลส่งขึ้นมาถวาย กราบทูลถวายบังคมลา ก็ข่าวนี้แลดอกไม้ธูปเทียนนั้นจะควรกราบทูลถวาย ฤาไม่ควร ก็สุดแต่สติปัญญาอัธยาไศรยกรมบวรวิไชยชาญเถิด.....
อนึ่งการโกนจุกนั้น กำหนดไว้ว่าวัน.......... ค่ำ แลวัน......... ค่ำ จะทำการมงคลตั้งนามให้สุพรรณบัตร ก่อนครั้งหนึ่ง.....
จดหมายมาวันที่.........ค่ำ ปีจอ จัตวาศก ศักราช ๑๒๒๔
พระราชหัตถเลขา ถึงกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ
จดหมายมาถึงยัง กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ให้ทราบ
เมื่อวัน..........ค่ำ มีใบบอกเมืองสมุทรปราการขึ้นมาว่า มีเรือกลไฟอังกฤษ ๒ ลำ มาทอดอยู่นอกสันดอน แล้วกัปตันกับลูกเรือโดยสารเรือนำร่องเข้ามาแจ้งความที่ด่าน ว่าเรือรบ ๒ ลำนี้ คือเรือที่ได้ยิงเมืองตรังกานู ๒๐๐ นัด แล้วการประสงค์ไม่สำเร็จ จึงกลับไปเมืองสิงคโปร์ แล้วกอมมอโดร์ชื่อ เลอร์ด ยอน เฮ ลงในเรือคุมเรือรบเข้ามา จะต่อว่าความที่ตรังกานูนั้น ให้สำเร็จที่กรุงเทพ ฯ บัดนี้กอมมอร์โดร์ เลอร์ด ยอน เฮ ใช้ให้ถือหนังสือมาแจ้งความแก่กงสุลอังกฤษ ให้ทราบก่อน ฝ่ายกงสุลอังกฤษก็เสลือกสลนเขียนหนังสือบอกมายังเวรกรมท่าว่า เลอร์ด ยอน เฮ เปนใหญ่ในเรือรบหลายลำ ที่ประจำราชการในทเลอินเดีย..... ตัวเลอร์ด ยอน เฮ จะขอเอาเรือรบขึ้นมาที่กรุงเทพ ฯ นี้ลำหนึ่ง การอย่างไรไม่ทราบ สุดแต่เสนาบดีฝ่ายไทยจะคิดเถิด กงสุลเพียงแต่บอกให้รู้ตามคำ เลอร์ด ยอน เฮ สั่งมา เสนาบดีได้ฟังใบบอกเมืองสมุทรปราการ แลคำกงสุล ก็ที่จะตกใจอยู่บ้างว่าจะเกิดความ รีบร้อน ถามกันไป ๆ มา ๆ อยู่ อนึ่งได้ข่าวว่า กงสุลอังกฤษก็เที่ยวกระซิบกระซาบตามนายห้างนายร้านต่าง ๆ เปนหลายแห่งว่า เลอร์ด ยอน เฮ เปนผู้มีบันดาศักดิ์อำนาจมาก เปนขุนนางผู้ใหญ่ ได้บังคับเรือรบในอินเดียหลายลำ วาศนาบันดาศักดิ์อำนาจสูงกว่ากงสุล เข้ามาครั้งนี้หาบอกความว่าจะมาว่าเรื่องอะไรไม่ เปนแต่ว่าจะขอเอาเรือรบขึ้นมาที่กรุงเทพ ฯ ให้ได้ ก็จะมาคิดทำอะไรแก่กรุงเทพ ฯ ดังทำแก่เมืองตรังกานูนั้นฤา อย่างไรก็ไม่รู้เลย ก็ถ้าแม้นเรือรบยิงเอาบ้านเมืองฝ่ายไทย ไพร่บ้านพลเมืองก็จะแตกตื่นวุ่นวาย ให้นายห้างนายร้านทั้งปวง คิดอ่านรักษาตัวรักษาสิ่งของ ๆ ตัวไว้ให้ดี เพราะการเปนดังนี้ก็ซุบซิบกันอยู่บ้างในชายแลหญิง ชาวเมืองนี้หูไวใจเบา แต่ไม่สู้เปนมากนักดอก เพราะ ฯข้าฯ ขึงแขงอยู่ปรกติไม่ตื่นไปตาม ได้แต่งคนให้ไปสืบความตามกงสุลแลนายห้าง มิศเตอร์น๊อกคนเดียวไม่สทกสท้าน ขันว่าเลอร์ด ยอน เฮ จะมาว่ากล่าวกดขี่คุมเหงไทยอย่างไร จะไม่ยอมให้ทำ เพราะการจะเกี่ยวข้องอย่างไร กงสุลจะได้ว่าก่อน ไม่ใช่ธุระของพวกเรือรบ จะมาล่วงบังคับบัญชา ถ้าพวกเรือรบจะขืนว่ากล่าวอย่างไรแก่ผู้ครองฝ่ายไทย มิศเตอร์น๊อกจะทำปรอเตศกล่าวโทษ ว่าข้ามล่วงเกินวิไศรย อำนาจกงสุลไป มีความผิดอยู่
ในการเรื่องนี้ ฯข้าฯ ได้จดหมายชี้แจงให้เสนาบดีว่า เลอร์ด ยอน เฮ เข้ามาครั้งนี้ ถ้าจะเข้ามาว่าด้วยเรื่องเมืองตรังกานู คงจะว่าการห้าอย่าง แต่อย่างหนึ่งฤา สองอย่างเปนแน่ เห็นว่าชรอยสุลต่านมหมุด ฤาตัวพระยาตรังกานู เมื่อเมืองตรังกานูถูกอังกฤษยิงแล้ว จะพากันหนีขึ้นไปปลายน้ำ แล้วจะไปอาศัยมือกันกับหวันอาหมัด แล้วรบกับบันดาราเจ้าเมืองปาหังมากไป เพราะโกรธแค้นว่า บันดาราก่อเหตุให้อังกฤษมายิงเอาเมือง เรือไทยที่ให้ไปเอาตัวสุลต่านมหมุดนั้น ยังไม่ได้ตัวสุลต่านมหมุด ก็ไปทอดคอยอยู่ อังกฤษจะสืบรู้แล้วจึงเข้ามาครั้งนี้ จะมาเร่งให้ไทยแต่งกองทัพไปปราบปรามเมืองตรังกานู แลให้จับตัวสุลต่าน ฤา พระยาตรังกานูมาเสียให้ได้นั้น เปนอย่างที่ ๑
ถ้าอังกฤษไม่ไว้ใจไทย กลัวจะเข้าด้วยพระยาตรังกานู ก็จะขอให้ไทยทำหนังสือยอมให้อังกฤษตีเมืองตรังกานู อย่าให้ว่าล่วงเกิน เปนอย่างที่ ๒
อีกอย่างหนึ่งจะมาลวงให้ไทยใช้เงินค่าเรือรบ ที่ทำมาแก่เมืองตรังกานู เพราะเหตุที่ไทยปล่อยสุลต่านมหมุดไป จึงเกิดเหตุแก่เมืองปาหังนั้น เปนอย่างที่ ๓
จะมาว่าให้ไทยบังคับพระยาตรังกานู ให้ใช้เงินแก่นายห้างที่ไปทำแร่ดีบุกขาดทุน เพราะเมืองปาหังเกิดรบกันนั้น เปนอย่างที่ ๔ เลอร์ด ยอน เฮ มาครั้งนี้จะมาออกตัว ว่าตัวไม่ได้เข้าวกเข้าสองด้วยในการรบที่เมืองตรังกานู เปนแต่เจ้าเมืองสิงคโปร์ให้ทำก็ทำตาม เพราะการบ้านการเมืองจะเกี่ยวข้องกันอย่างไร เปนธุระของผู้รักษาเมือง เรือรบเปนแต่ผู้มาช่วย เหมือนมาคอยให้ผู้รักษาเมืองเขาใช้ ๆ อย่างไรก็ทำอย่างนั้น ความผิดชอบขาดเกินคงตกอยู่แก่ผู้บังคับ อย่างนี้เปนที่ ๕
ฤาอีกอย่างหนึ่งก็จะไม่ว่าอะไรเลย เปนแต่จะมาชิมลางลองใจไทยดู ว่าจะตื่นฤาไม่ตื่น จะตกใจฤาไม่ตกใจ จะถือโกรธฤาจะดีอยู่ ในเรื่องที่ทำไปแก่เมืองตรังกานูนั้น
ใน ๖ อย่างที่เห็นว่าอย่างที่ ๕ - ๖ นั้นจะเปนถูก จึงได้เขียนเรื่องราวทั้งปวงตามเหตุถ้วนถี่ไปหารือกงสุลอังกฤษ..... ให้กงสุลอังกฤษคิดกับเสนาบดีฝ่ายไทย..... ต่อเมื่อได้มาแต่เมืองลอนดอน จึงจะยอมเปนเสร็จตามที่ปฏิญาณไว้..... เพราะกงสุลเปนธุระ เปนพนักงานที่จะว่ากล่าวอะไร ๆ กับไทย ด้วยราชการทั้งปวง ที่จะให้พูดกับผู้อื่นมิใช่กงสุลก็ดี มิใช่ผู้รับสั่งมาแต่ลอนดอนก็ดี ไม่ต้องกับหนังสือสัญญา..... ท่านเสนาบดีเห็นว่าชอบแล้ว จึงได้คิดเห็นพร้อมกันว่า ถ้าจะไม่ยอมให้เรือรบขึ้นมา จะเอาเรือกลไฟเล็กไปรับตัว เลอรด์ ยอน เฮ ขึ้นมาดังครั้ง เซอร์เยมสบรุก ก็จะเปนที่ก่อเหตุให้เกิดวิวาทนอกเรื่องขึ้น ก็เมื่อเขาจะเข้ามาให้ได้แล้ว ป้อมปากน้ำปากลัดจะจัดการต่อสู้ก็ไม่ทัน..... เขาจะขัดขืนเข้ามาให้ได้โดยความขัดใจแล้ว เมื่อมาถึงป้อมใด ๆ เขาก็จะให้ทหารขึ้นเอาเหล็กตะปูอุดชนวนปืน แลคัดปืนลงจากราง ทำการต่าง ๆ อย่างเช่นทำที่เมืองจีน แลอื่น ๆ ไปไม่เข้าเรื่อง จึงเห็นพร้อมว่า ให้ทำหนังสือยอมลงไปให้ขึ้นมาโดยดี เมื่อมีเหตุอะไรก็ให้พูดกันฉัน เมืองเปนไมตรี ได้แต่งให้พระยาพิพัฒนโกษา กับหม่อมราโชทัย รีบลงไปคอยรับอยู่ที่ด่านปากน้ำ เพื่อจะให้ไกล่เกลี่ยเกลี้ยกล่อมเสียให้ดี.....
ครั้งเช้าขึ้นวัน......... เรือนำร่องออกไปจะนำเรือรบเข้ามา เลอร์ด ยอน เฮ ยังไม่เข้ามาว่าจะคอยฟังหนังสือตอบกงสุลก่อน รออยู่อีกวันหนึ่ง..... จึงใช้จักรเรือรบลำย่อมชื่อ กอเกวด ซึ่งไปยิงเมืองตรังกานูนั้น มีปืนใหญ่ ๔ กระบอก เปนปืนอามสตรองอย่างใหม่ประจุท้ายกระบอก ๑ เปนปืนใหญ่ตามธรรมเนียม กระสุน ๑๒ นิ้ว ๓ กระบอก เข้ามาถึงปากน้ำเวลาเช้า ๒ โมง รอจักรอยู่ที่หน้าด่าน พระยาพิพัฒน์โกษาหม่อมราโชทัย พระยามหาอรรคนิกร พระยาสมุทบุรานุรักษ์ พระอมรมหาเดชลงไปในเรือ เลอร์ด ยอน เฮ ก็ขึ้นมาต้อนรับเชิญลงไปในห้อง แต่สิ่งของซึ่งหัวเมืองจัดลงไปทักตามธรรมเนียมนั้นไม่รับไว้ ว่าอย่างธรรมเนียมไม่มี..... เมื่อปราไสกันแล้ว เลอร์ด ยอน เฮ ก็ให้ใช้จักรขึ้นมาถึงกรุงเทพ ฯ..... ทอดสมออยู่ใต้บ้านกงสุลอังกฤษลงไป แล้วแจ้งความแก่เจ้าพนักงานว่า ซึ่งเข้ามาทั้งนี้ไม่มีธุระอะไร เปนแต่ตัวเลอร์ด ยอน เฮ มารับราชการอยู่ในทะเลถึง ๓ ปี บัดนี้ใกล้ถึงคราวจะกลับไป เมืองไหน ๆ ได้เที่ยวไปหมด แต่เมืองไทยยังไม่ได้เห็น จึงเข้ามาจะขอเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินสยาม.....
ครั้นวัน..........ค่ำ เลอร์ด ยอน เฮ กับขุนนางเรือรบ ๘ นาย กับกงสุลอังกฤษ พากันลงเรือเที่ยวไปรอบพระนคร..... ครั้นวัน.......... ค่ำ เลอร์ด ยอน เฮ กัปตัน อาเลกแษนเดอร์ กับขุนนางมียศเปนเซอ แลหมอรวมกัน ๙ นาย เข้ามาหา ฯข้าฯ ในท่ามกลางขุนนาง ฯข้าฯ ปราไสว่า ท่านมานี้ด้วยธุระประสงค์สิ่งใด ก็ว่าไม่มีธุระอันใด เปนแต่ได้ฟังกิติศัพท์ว่า พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายไทยโปรดอังกฤษมาก..... แลว่าเวรที่จะต้องอยู่ในทเลยังเหลืออิก ๕ เดือน แล้วจะกลับไปลอนดอน จะได้ไปกราบทูลควินวิกตอเรียว่า ได้เข้ามาเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินไทย ก็จะเปนอันบำรุงรักษาทางพระราชไมตรี..... แล้วก็ไม่ได้ออกหาญพานชื่อเรื่องความที่เมืองตรังกานูเลย การที่เรือรบมาครั้งนี้ก็สมกับความในใบบอก พระพิเทศพานิชเมืองสิงคโปร์..... ความในหนังสือนั้นว่า เรือรบอังกฤษลำหนึ่งชื่อ สก๊อด ได้เที่ยวไปเยี่ยมเยียนบ้านเมืองต่าง ๆ ที่ไปตั้งอยู่เปนกอลอนีก็ดี เปนเมืองกงสุลอังกฤษไปตั้งอยู่ก็ดี หลายแห่งมาแล้ว..... ได้ยินว่าเรือรบลำนั้นจะขึ้นไปเยี่ยมเมืองไทยในเดือนเดเสมเบอร์เปนแน่ เสอริฉาด แมกเกาสแลน ซึ่งเปนผู้กำกับความเมืองสิงคโปร์ ว่าอยู่ถ้าเวลานั้นว่างการอยู่ จะโดยสานเรือรบนั้นเข้ามาเฝ้าเฉพาะพระภักตร์สักครั้งหนึ่งให้ได้
เซอริฉาดแมกเกาสแลนนั้น เปนผู้รู้จักชอบพอกับ ฯ ข้า ฯ มีหนังสือไปมากันเนือง ๆ เมื่อมีอะไรก็ลอบให้เล่ห์ ให้นัย ให้สติปัญญาแก่ ฯ ข้า ฯ มานานแล้ว ถึงในเรื่องเจ้าเมืองสิงคโปร์ คิดการวุ่นวายที่เมืองตรังกานูครั้งนี้ก็ไม่เห็นด้วย ไม่เข้าด้วย ท่านคนนั้นดูเหมือนจะเปนคนดีอยู่
เลอร์ด ยอน เฮ บอกแก่ ฯข้าฯ ว่าวัน.......... จะลากลับไป การที่ตื่นตกใจซุบซิบกันอยู่เล็กน้อยเดี๋ยวนี้สงบแล้ว.....
แลเมื่อข่าวว่าเรือรบเข้ามา ตกใจกันอยู่นั้น ฯข้าฯ ได้แต่งคนเข้าไปสืบตามบ้านกงสุลบ้าง ในเรือรบที่เขามานั้นบ้าง.... คำของคนไปสืบเขา จดหมายเขียนมาให้ ฯ ข้า ฯ ..... ข้อความในจดหมายเหล่านั้นก็ต้องกันกับเหตุที่เปนจริง......
ที่กรุงเทพ ฯ เดี่ยวนี้ร้อนนัก ลมไม่พัดเลย เวลา บ่าย ๒ โมง ปรอทขึ้น ๘๙ บ้าง เวลากลางคืนลดลงมาเพียง ๘๖-๘๕ เวลาจวนรุ่งลดลงเพียง ๘๒ เปนที่สุด
จดหมายมา ณ วัน..........ค่ำ ปีจอจัตวาศก ศักราช ๑๒๒๔
พระราชหัตถเลขา ถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัน.......... ค่ำ (ปีกุน จุลศักราช ๑๒๒๕) หนูตุ้ยมาแจ้งความว่า ท่านรับสั่งให้ลงมาว่าแก่ฉัน ด้วยเรื่องอ้ายสีบ่าวจุฬาลงกรณ์ ร้องกล่าวโทษพระยาอัษฎา แลหนูตุ้ยว่า ทรงพระวิตกไปว่าฉันจะไม่ทราบความเดิม..... อ้ายสีคนนี้เดิมเปนตำรวจในพระบวรราชวัง.....
ความเรื่องนี้ฉันจะเล่าถวายท่านตามสัตย์ตามจริง แลตามที่ได้ชำระไต่สวน ครั้นจะสั่งให้ผู้ไปกราบทูล แต่ด้วยปากเปล่าก็จะไม่ถ้วนถี่.....
เมื่อวัน.......... อ้ายสีเอาเรื่องราวมาร้องฎีกาแก่ฉันที่ประตูเทวาพิทักษ์... ฉันได้รับเรื่องราวไว้ แล้วสั่งให้ตำรวจคุมตัวอ้ายสีไว้..... ฉันจึงสืบถามตามเรื่องราวอ้ายสีอ้าง อ้ายสีได้จับตัวอ้ายชื่นว่าสูบฝิ่นมาส่งจริงฤา อ้ายชื่นนั้นชำระได้ความเปนสัตย์สูบฝิ่นจริงฤา พระพรหมบริรักษ์ว่าจริงทั้งสองอย่าง พระยาอัษฎานั้นฉันก็ไม่ได้ถือว่าเปนข้าแต่ที่บนมิใช่ที่ล่าง..... ฉันคิดว่าพระยาอัษฎาเปนผู้กว้างขวาง เคยสืบสวนรู้จักที่ดีที่ร้าย..... อนึ่งขุนหมื่นแลตำรวจเลวเก่า ๆ ที่ชำนาญในถ้อยความ แลจับผู้คุมคนตามพระยาอัษฎาขึ้นไป ฤาขึ้นไปก่อนนั้นก็มาก ก็ถ้าท่านไม่ได้ทรงใช้สอย ฤาใช้สอยแต่น้อยในการที่เขาชำนาญ ความฉลาดอาจหาญของพวกนั้น ก็จะไปอับนิ่งอยู่ ไม่เปนคุณแก่แผ่นดินทั่วไป แลไม่เปนผลประโยชน์แก่ตัวเขาบ้าง..... ฉันคิดเห็นดังนี้ จึงได้สั่งไว้แก่พระยาอัษฎาเปนคำขาดว่า อย่าคิดว่าเปนข้าวังหลวงฤาวังน่าเลย ทั้งบ้านทั้งเมืองแล ถ้าที่แห่งไหนเกิดความวิวาทตีรันฟันแทง ปล้นตีชิงวิ่งราวสดมกัน มีผู้ฟ้องร้องบอกเล่าก็ดี สืบรู้ก็ดี ถ้าสืบรู้ว่าพวกไทยสูบฝิ่นก็ดี ใคร ๆ ทำเงินแดงก็ดี อย่าให้เสียทีเสียเวลาเลย จงให้ตำรวจในพระบวรราชวังที่เคยใช้สอยฤาใช้สอยได้ ให้ไปเกาะครองจับกุมมาว่ากล่าวชำระเอาเถิด จะเปนศาลรับสั่งของฉันศาลหนึ่งด้วย ช่วยรักษาแผ่นดินให้ราบคาบเถิด..... ก็ด้วยการที่ฉันสั่งให้พระยาอัษฎาชำระความ แลคอยจับผู้ร้ายผู้ผิดดังว่ามานี้ ฉันจึงได้ให้เปนเบี้ยหวัดพระยาอัษฎา เปนเงินเพิ่มเบี้ยหวัดแก่ที่ท่านพระราชทานนั้นอิก ๘๐ บาทบ้าง ๑๐๐ บาทบ้าง ทุกปีมาหลายปีแล้ว
ก็เมื่ออ้ายสีร้องฎีกาครั้งนี้ ฉันได้ทราบความแล้ว ฉันจะได้คิดเห็นไปว่า ท่านรับสั่งให้พระยาอัษฎา มาเกาะครองเอามารดาอ้ายสีไปของจำเร่งเอาตัวอ้ายสี เปนการคุมเหงจุฬาลงกรณ์หามิได้เลย..... ฝ่ายสมุหบาญชีของจุฬาลงกรณ์ซึ่งไปต่อว่าท้าทายพระยาอัษฎา ว่าให้ทอดโฉนดบาดหมายนั้น ฉันก็เห็นว่าไม่ชอบ..... ซึ่งพระยาอัษฎาไม่เชื่อถือถ้าเจ้าบ่าวนายบ่าวนายเล็กน้อย ไม่ปล่อยจำนำผู้ร้ายดังนี้นั้น ชอบด้วยราชการ ฉันไม่ว่าไร..... ฉันจึงได้สั่งพระพรหมบริรักษ์ว่า อ้ายสีเปนผู้มีความชอบ จับคนสูบฝิ่นได้พิจารณาได้ความจริง แลเปนบ่าวเกี่ยวดองของจุฬาลงกรณ์ ต้องลักษณะที่ได้ว่าไว้แก่พระยาอัษฎาแต่ก่อนว่า เกี่ยวข้องกับบ่าวไพร่ของบุตรภรรยาของฉันแล้ว จะขอถอนเอาความไปว่านั้น อนึ่งโจทย์อ้ายสี ที่ไปฟ้องแก่พระยาอัษฎาในคำร้องก็ว่าสูบฝิ่น แลไปฟ้องพระยาอัษฎาโดยความสาเหตุ เมื่อเปนดังนี้ จึงควรจะต้องพิจรณาโจทย์อ้ายสีนั้นก่อน ว่าสูบฝิ่นฤาไม่ ถ้าสูบฝิ่นจริง จะเอาเปนโจทย์ไม่ได้ เพราะได้ประกาศห้ามไว้แต่ก่อนแล้ว ว่าไทยสูบฝิ่นไม่ควรจะเปนโจทย์กล่าวคดีขึ้นโรงศาล ไม่ควรจะเปนพยานในคดีทั้งปวง..... พระยาอัษฎาแจ้งความว่าอ้ายสีเปนตำรวจในกรมพระฤทธิเดชะ มีฉายาว่าอ้ายสีฟันขาว หลบหลีกหนีราชการอยู่..... พระฤทธิเดชะตั้งจำหน่ายว่าอ้ายสีเปนหัวไม้ ทำความบ่อย ๆ พระฤทธิเดชะได้ขับไล่อ้ายสีเสีย ไม่ให้เปนตำรวจอยู่ในกรม แลคืนเอาหนังสือคุ้มสักเสียให้อ้ายสีขาดหมู่ไป พระยาอัษฎาจะเร่งเอาตัวแต่พระฤทธิเดชะไม่ได้.....
ความเรื่องนี้ฉันเห็นว่า ถ้าอ้ายสีเข้าไปเปนตำรวจในพระบวรราชวัง..... เมื่อมีหนังสือคุ้มสักว่า เปนตำรวจในพระบวรราชวัง บาญชีสัสดีเขาก็จะตั้งว่าเปนตำรวจในพระบวรราชวัง..... แต่ในเรื่องนี้นายก็คืนหนังสือคุ้มสักไปแล้ว ก็เมื่อไม่เอาไปตั้งจำหน่ายต่อสุรัสวดี ก็คงไปหาคนที่มีสัณฐาน ตำบลบ้านคล้ายคลึง แล้วก็ซ้อมชื่อคนตำบลบ้านให้ต้องกับหนังสือคุ้มสัก ให้คุ้มสักผู้อื่นต่อไปเปนแน่ อ้ายสีก็คงตกเปนคนเลื่อนลอยจับพลัด เมื่อจะต้องตัดสินควรตัดสินเอาหมู่บิดาเดิม เพราะหนังสือคุ้มสักเช่นนี้จะแม่นยำ เหมือนลงเหล็กสักไม่ได้.....
ก็ซึ่งท่านโปรดให้พระพรหมภิบาลชำระ เมื่อท่านเสด็จไปอยู่ประทับบ้านสีทานั้น ก็ชอบด้วยราชการอยู่..... โดยบัดนี้ฉันจะส่งอ้ายสีขึ้นไปชำระที่บน ความที่มีผู้ไปฟ้องต่อพระยาอัษฎากล่าวโทษอ้ายสีนั้น จะว่ากะไรก็หาได้ในความในเรื่องราวของอ้ายสีไม่ แต่ฉันคาดดูก็เห็นจะฟ้องในความที่เปนน่าที่ของพระยาอัษฎา ที่ฉันได้สั่งไว้ให้ชำระสักอย่างหนึ่ง ท่านก็จะหาได้ทรงฟังด้วยไม่ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด ฯ
จดหมายมา ณ วัน..........ค่ำ ปีกุน เบญจศก ๑๒๒๕
พระราชหัตถเลขา ถึงองค์พระนโรดม ณ กรุงกัมพูชา
จดหมายมายังพระองค์พระนโรดม ฯ ผู้ว่าราชการกรุงกัมพูชา ให้ทราบ
หนังสือของเธอลงวันที่.......... ค่ำ มอบให้นายราชสารถือมากับหนังสือที่พวกฝรั่งเศส มาอ่านเมื่อวันทำบุญยกฉัตรนั้นได้รับแล้ว แลได้อ่านหนังสือใบบอกจากพระยาราชวรานุกูล แลต้นหนังสือต่าง ๆ ของพระยาพระเขมรบ้าง ของฝรั่งเศสบ้าง ได้ความถ้วนถี่แล้ว..... เห็นเงียบไปถึง ๒ เดือน ๓ เดือน ไม่ได้ข่าวมา จึงได้ให้จมื่นทิพรักษาออกไปสืบราชการ ความแจ้งอยู่ในท้องตราที่จมื่นทิพรักษาถือออกไปนั้นแล้ว
พวกพระยาพระเขมรซึ่งเข้ามาบรรณาการ เมื่อใด้ข่าวเข้ามาว่าพวกขบถไล่พระยาเสนาอันขิตเสีย เขายึดเอาเมืองกำปอดไว้ ข้าพเจ้าก็ให้หาตัวมาหารือว่าจะไปทางไร ถ้าจะยกไปทางบกก็จะส่งไปทางบก ถ้าจะไปทางเรือจะไปขึ้นที่เมืองกำปอด..... ข้าพเจ้าเห็นว่าเวลาล่าแล้ว ของตอบแทนบรรณาการจะข้ามปีไปผิดธรรมเนียม จึงได้จัดของตอบแทนบรรณาการตามเคย บ้างเพิ่มเติมตามต้องการบ้างมอบให้ไป..... การเกิดขบถครั้งนี้ ข้าพเจ้าก็ควรจะร้อนใจเร่งช่วยเธอนักหนา แต่ครั์งนี้ได้ยินว่า พวกฝรั่งเศสยกขึ้นมาอยู่ที่เมืองอุดงมีไชย เขาจะว่ากะไรก็ยังไม่รู้ ครั้นจะให้กองทัพรีบจู่โจมออกไป ก็กลัวจะเปนเหตุทุ่มเถียงเปนที่เข้าใจผิดกัน แลการที่เมืองอุดงมีไชยนั้นอย่างไร ก็ไม่ทราบถนัดจะคิดการจัดการไปก็ไม่ถูก ถึงกระนั้นก็ได้ให้พระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ คุมกองทัพออกมาที่เมืองพระตะบอง ฟังราชการดูให้รู้แน่.....
ว่าถึงเรื่องที่จะตั้งการอภิเศกเธอนั้น.....ข้าพเจ้าได้สั่งการออกไปเปนแต่สังเขป....ก็เมื่อเดือนเก้าต่อเดือนสิบปีกุนเบญจศก
ข้าพเจ้าได้ลงเรือไปเที่ยวฝั่งตะวันตก จนถึงเมืองตานี ครั้นกลับมาพบพระยาราชวรานุกูล ข้าพเจ้าจึงได้พูดเล่นว่า น่าลมตะวันออก จะลงเรือไปเที่ยวฝั่งตะวันออกจนถึงเมืองกำปอด เมืองบันไทยมาศจะได้ฤาไม่ ถ้าไปถึงเมืองบันไทยมาศ ญวนจะออกมาหาเราฤาไม่ โดยญวนจะว่าเปนศัตรู จะเอาเรือแล่นใบเรือแจวมาไล่ก็จะไม่ทัน พระยาราชวรานุกูลว่าไม่เปนไร ถ้าข้าพเจ้าออกไปถึงเมืองบันไทยมาศ ญวนก็จะออกมาหา ฝ่ายเธอกับพระยาพระเขมร ถ้าทราบก็คงจะลงมารับที่เมืองกำปอด..... ก็ที่จริงในปีนี้นั้น ข้าพเจ้าได้กำหนดไว้ว่าจะทำบุญฉลองพระอัฐิ พระเจ้าอยู่หัวที่ล่วงแล้วทั้ง ๓ พระองค์..... ตามอย่างการที่เคยมีในแผ่นดินพระะบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เมื่อเวลาพระชนมายุท่านครบ ๖๐ ปี ได้มีการฉลองพระบรมอัฐิเดิมเปนอย่างมา บัดนี้ข้าพเจ้าอายุครบ ๖๐ ปี จึงได้คิดศรัทธาจะทำบุญฉลองพระอัฐิ เปนการใหญ่อย่างครั้งนั้น..... ข้าพเจ้าจึงได้สั่งให้รีบจัดการปลูกเขาปลูกเมรุขึ้นแต่เดือน ๑๒ เมื่อนาท้องสนามเลิกแล้ว แลพระยาราชวรานุกูล เมื่อจะไปในเดือน ๑๑ นั้น เห็นจะไม่รู้ว่าจะมีการใหญ่ในเดือนยี่ จะสำคัญเสียว่า เห็นจะมีต่อเดือน ๔ เดือน ๕ ตามเคยอย่างแต่ก่อน จึงไปคิดอ่านนัดหมายกับเธอ ให้ลงมารับสุพรรณบัตรที่เมืองกำปอด เมื่อเดือนยี่ ขึ้น ๑๓ ค่ำ แล้วจะกลับขึ้นไปอภิเศกที่เมืองอุดงมีไชย เมื่อเดือนยี่ แรม ๑๓ ค่ำ..... ครั้นพระยาราชวรานุกูลกลับเข้ามาถึงจะมารุกเร้า เร่งให้ข้าพเจ้าไปเมืองกำปอดในเดือนยี่ให้ได้ ก็กำลังทำการใหญ่วุ่นอยู่พร้อมกัน ข้าพเจ้าจะทิ้งการเสียไปอย่างไรได้..... ไม่มีช่องที่จะไปเลย จึงได้มีตราให้ขุนเพ็ชรอินทราถือออกไป อนึ่งข้าพเจ้าก็ยังสงสัยไม่สู้เข้าใจ ด้วยการรับสั่งที่เรียกพระกรุณาวิเศษแลอื่น ๆ ด้วยเห็นในพงศาวดารเปนการเปลี่ยน ๆ ไป แลการจะตั้งชื่อยืนอยู่ว่า องค์พระนโรดมเปลี่ยนแต่สร้อยชื่อ กลัวเธอจะไม่ชอบใจ จะเห็นไปว่าไม่เลื่อนที่ให้มียศสูงขึ้น แต่ความคิดข้าพเจ้าเห็นว่า จะยืนชื่อนั้นอยู่เปนดี เหมือนตัวข้าพเจ้าเอง ถึงเปนพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ได้เปลี่ยนชื่อเก่าเลย เพราะว่าเคยสบายมาแล้ว จะใคร่ชี้แจงให้เธอทราบเสียก่อน จึงจะลงสุพรรณบัตรได้....... ก็จะจัดให้พระยามนตรีสุริยวงษ์ คุมสุพรรณบัตรกับเครื่องยศทุกอย่าง ตลอดไปจนยานุมาศเครื่องสูงให้พร้อมกัน ไปทำอภิเศกให้ทันฤกษ์ก่อน จะรอไว้แต่ดอกจันทน์นพเก้าซึ่งเปนเครื่องประดับกับเสื้อ ต่อเมื่อใดข้าพเจ้าออกไปพบกับเธอได้ที่เมืองกำปอด จึงจะประดับให้เธอเองเปนศิริสวัสดิมงคล..... แลการที่จะให้หาตัวเธอเข้ามารับสุพรรณบัตร แลอภิเศกในกรุงเทพ ฯ นี้ ข้าพเจ้าไม่ได้ว่าเลย เพราะรู้อยู่ว่าบ้านเมืองพึ่งราบคาบลงใหม่ เธอจะมาได้ฤามาไม่ได้ก็ไม่ทราบแน่ เห็นแต่ตามอย่างครั้งองค์สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีพระองค์เอง แลองค์สมเด็จพระอุไทยราชาธิราช พระองค์จันนั้น มีจดหมายเหตุว่ารับในกรุงเทพ ฯ แต่ครั้งองค์สมเด็จพระหริรักษ์นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ พระยาเพ็ชรพิไชยเชิญสุพรรณบัตร ออกไปพระราชทานที่เมืองอุดงมีไชย เพราะการครั้งนั้น ยังรบพุ่งวุ่นวายกับญวนอยู่ ก็ครั้งนี้ข้าพเจ้าจะอย่างไรก็ไม่สนัด ข้าพเจ้าก็ไม่บังอาจบังคับลง ว่าได้แต่ที่ว่า จะให้ตัวข้าพเจ้าไปส่งสุพรรณบัตรให้เธอ ที่เมืองกำปอดในเดือนยี่นั้น ไปไม่ได้ เพราะติดการใหญ่อยู่ ถ้าเดือน ๔ จะไปได้.... ถ้าพอเธอจะเข้ามารับในกรุงนี้เสียได้ ข้าพเจ้าก็จะไม่ต้องลำบาก การอภิเศกก็จะได้ทำเปนการใหญ่ให้สนุกสนาน ปรากฏแก่คนเปนอันมาก...... เมื่อจะยอมกันอย่างไร ข้าพเจ้าก็จะยอมอย่างนั้น....... ในส่วนของข้าพเจ้า คือ จารึกสุพรรณบัตร แลจัดเครื่องอิศริยยศทั้งปวง..... ว่าถึงการฝ่ายฝรั่งเศส เมื่อมาเปนเข้าเช่นนี้ ข้าพเจ้าจะคิดยกโทษผู้ใดในเมืองเขมร ว่าเพราะผู้นั้นทำอย่างนี้จึงเปนอย่างนั้น.... ก็เมื่อเจ้าเวียดนามก่อความให้เปนเหตุ จนฝรั่งเศสได้เมืองญวนฝ่ายใต้ตกเปนของพระเจ้าเอมเปรอ ซึ่งมีอำนาจโตใหญ่ขึ้นกว่าเจ้านายฝ่ายฝรั่งเศสแต่ก่อนอย่างนี้แล้ว เมืองเขมรก็มีทางที่ค้าท่าที่ขาย ก็ซึ่งจะปิดอยู่ ไม่ให้ฝรั่งเศสเข้ามาทักมาทาย แสวงหาทางที่จะเปนผล เปนประโยชน์แก่เขานั้น จะให้ไม่รู้จักกันเหมือนอย่างแต่ก่อนทีเดียว จะเปนได้ฤา แต่ในกรุงเทพ ฯ นี้ แต่ก่อนฝรั่งเศสนอกจากบาดหลวงก็ไม่มี ก็บัดนี้ฝรั่งเศสก็เข้ามาทำไมตรีมีกงสุลมาตั้ง มีลูกค้าฝ่ายฝรั่งเศสเข้ามาค้าขายแลตั้งอยู่ทีเดียวเปนอันมาก แต่หากว่าที่กรุงเทพ ฯ ยอมรับเปนไมตรีเสียด้วยโดยง่าย ก็ไม่ต้องเคืองขุ่นวุ่นวายเหมือนกับเมืองญวน ประการหนึ่งในกรุงเทพ ฯ นี้ ได้รับเปนไมตรีกับเมืองอังกฤษ เมืองอเมริกา เมืองวิลันดา เมืองเดนมาร์ค เมืองโปรตุเกศ เมืองหันเสียติก แลเมืองปรุซเซีย ซึ่งทำสัญญาแทนเมืองอื่นอีกถึง ๒๑ เมือง แต่กงสุลเข้ามาตั้งอยู่ ถึง ๘ กงสุล แลในกรุงปารีศของพระเจ้าเอมเปรอฝรั่งเศส แลกรุงลอนดอนของสมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษ ก็ยอมให้ฝ่ายไทยตั้งขุนนางไปอยู่คอยฟังราชการ แลปฤกษาหารือการต่างๆ ไทยได้มีกงสุลอยู่ในกรุงปารีศชื่อพระสยามธุรานุรักษ์ อยู่ในกรุงลอนดอนชื่อพระสยามธุระพาหะ ก็ในกรุงเทพฯ นี้มีกงสุลอยู่ ๘ บ้าน ๘ เมือง เมื่อมีการเกี่ยวข้องต้องถุ้งเถียงกันประการใดบ้าง กงสุลเมืองอื่นก็เปนพยานรู้เห็นอยู่หมด ใครจะมาทำเกินๆ ผิดกฏหมายแลยุติธรรมไปก็ลอายกันอยู่ การก็ค่อยยังชั่ว ก็การข้างเมืองญวนนั้น เพราะทำศึกสงครามขึ้นกับฝรั่งเศส แล้วภายหลังต้องยอมแพ้แก่ฝรั่งเศส ให้ทำสัญญาไม่ให้คบค้ากับบ้านอื่นเมืองใด ญวนก็ยอมตาม ยกเมืองญวนฝ่ายใต้ให้แก่ฝรั่งเศส ก็เมื่อฝรั่งเศสมาอยู่ในเมืองญวนฝ่ายใต้ ก็เปนฟันเปนลิ้นกับเมืองเขมร จะไม่ให้ไปมาถึงกันอย่างไรได้ การจะเปนอย่างไรในข้างหน้าโน้นก็เปนได้ทุกประการ..... เขมรมีกำลังน้อยจะรู้ที่ทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าคาดจิตรเห็นใจเธอ แลพระยาพระเขมรผู้ใหญ่อยู่หมดจริงๆ ไม่ได้ขุ่นข้องหมองหมางอันใดด้วยเหตุนั้นดอก
ก็บัดนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส มีรับสั่งให้มองสิเออร์โอบาเรต์ เชิญพระราชสาส์นเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี แลถือคำสั่ง รับคำเสนาบดีมาว่า พระราชอาณาจักรฝรั่งเศสได้มาตั้งอยู่ในเมืองญวนฝ่ายใต้ อยู่ใกล้เมืองเขมรๆ เปนเพื่อนบ้าน อัลมิราลจึงได้มาทำสัญญาๆ นั้น จะขอให้ตั้งอยู่ แลให้เปนไปตามที่เธอได้รับยอมทำทุกประการ ก็การที่เมืองเขมรปดิพัทธติดพันกับกรุงเทพ ฯ นี้ อยู่อย่างไรก็ให้คงเปนไปอยู่อย่างก่อน ไม่ขัดขวางอันใดเลย...... ก็การที่เมืองเขมรปดิพัทธติดพันกับไทยอยู่อย่างไรแต่ก่อนมานั้น เปนแต่รู้อยู่ด้วยกันตามการที่เคย ครั้นนานไปภายน่าสืบๆ ชั่วอายุคนไป จะเกิดพูดผิดสำคัญผิดกันขึ้น จะไม่มีสิ่งใดเปนที่อ้าง ข้าพเจ้าจึงได้ให้พระยาราชวรานุกูลไปจดหมายไว้ วางการซึ่งปดิพัทธติดพันกันนั้นลงเปนหนังสือสัญญา เมื่อทำมาแล้วข้าพเจ้าได้ตรวจดูเห็นว่าถูกต้องตามการที่เคยมาแล้ว จึงลงตราให้ไปแก่เธอฉบับหนึ่ง เก็บไว้ฉบับหนึ่ง เปนสำคัญก็ซึ่งทำสัญญานี้ จะทำด้วยรังเกียจอะไรกับเธอก็หาไม่ เปนแต่จะให้มีแบบแผนยั่งยืนไว้ เพื่อจะให้เปนไปในกาลภายน่า เกลือกว่าจะมีความเข้าใจผิดกันไป
ก็แลเรื่องที่เกิดขบถนั้น มองสิเออร์โอบาเรต์ กงสุลฝรั่งเศส ก็ได้มาคิดกันกับท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ จะให้ฝ่ายไทยแลฝ่ายฝรั่งเศสไปให้พร้อมกัน อภิเศกเธอให้เปนเจ้ากรุงกัมโพชา ต่ายตามอย่าง อ้างว่าครั้งสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชพระองค์จันนั้น ได้รับสุพรรณบัตรตั้งไปแต่กรุงเทพ ฯ นี้แล้ว ภายหลังก็ไปรับหองตั้งมาแต่เมืองเวียดนามเปนสองฝ่าย ถึงองค์สมเด็จพระหริรักษ์ ฯ ก็เหมือนกัน ได้รับสุพรรณบัตรไปแต่กรุงเทพ ฯ แล้ว ก็ไปรับหองข้างกรุงเวียดนาม มีนามว่าตึกพัดเวือง ในสองคราวเจ้าแผ่นดินเขมรนั้น เมื่อมีหนังสือมาถึงไทยก็ใช้ชื่อไทย เมื่อมีหนังสือไปถึงญวนก็ใช้ชื่อญวน ญวนกับไทยไม่ชอบกันจึงแยกย้ายกันตั้ง ต่างคนต่างว่าเมืองเขมรเปนของตัว ก็ในที่ไทยญวนว่าเมืองเขมรเปนของตัวในคราวเดียวกันดังนี้นั้น ฝรั่งเศสไม่ตัดสิน ฝรั่งเศสเปนมิตรสนิทกับไทยก่อนญวนจึงชิงชัง ไปขอทำสัญญาไม่ให้ทำจึงต้องเกิดรบกัน จนฝรั่งเศสได้เมืองญวนฝ่ายใต้เปนของฝรั่งเศสแล้ว เมืองเขมรเปนเพื่อนบ้านอยู่ใกล้ จึงมาทำสัญญาช่วยทำนุบำรุงเมืองเขมรแทนที่ญวนแต่ก่อน เพราะเปนไมตรีกับไทย การปดิพัทธอันใดของไทยที่มีอยู่ในเมืองเขมรก็ให้คงที่ มีอำนาจในเมืองเขมรเท่ากัน ขอให้กรุงเทพ ฯ แต่งขุนนางเชิญสุพรรณบัตร แลเครื่องยศตามเคย ออกไปพร้อมกันกับฝรั่งเศส อภิเศก แล้วประกาศให้รู้ทั่วกันว่าเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส กับเจ้าแผ่นดินสยามเปนไมตรีกัน พร้อมใจกันไปอภิเศกเธอให้เปนเจ้าแผ่นดินเมืองเขมร.... การทั้งปวงก็สุดแต่เธอกับพระยาราชวรานุกูล จะปฤกษาหารือกันตามเห็นควรนั้นเถิด ฯ
......................
จดหมายมา ณ วัน.......... ปีชวดฉศก ศักราช ๑๒๒๖ เปนวันที่ ๔๗๓๐ ในราชกาลปัจจุบันนี้
พระราชหัตถเลขา ถึงเจ้าไชยลังการเจ้านครลำพูน
จดหมายมายังเจ้าไชยลังการ ฯ เจ้านครลำพูน ให้ทราบ
ข้าพเจ้าได้ฟังข่าวช้างงาสั้นที่บอกที่บอกลงไปนั้น ได้ให้กรมช้างไล่เลียงผู้ถือหนังสือดูแล้ว กรมช้างคิดว่าเปนช้างเนียมแท้ เพราะมีสนับงาใหญ่กว่าปลายงา แต่ปลายงาจะมีไส้งาปรากฏออกมาฤาไม่ ถ้ามีไส้งาเห็นออกมาก็เปนที่สงไสยว่า ช้างงากำจัดมีผู้ตัดแต่งให้งามเปนช้างเนียมไป ถ้าไม่มีไส้งา แต่ถ้าสนับงาไม่ใหญ่กว่าปลายเปนเหมือนขนาย แลเปนงาไล่งวงก็เปนที่สงไสยว่า จะเปนช้างสีดอ ถ้ามีสนับใหญ่กว่าปลายงาไม่มีไส้งาให้เห็น ก็เปนอันรู้แน่ว่าเปนช้างเนียมแท้ ถ้างาสั้นเพียง ๒ นิ้วเข้าไป จนต่อยกงวงจึงเห็นงา ก็เปนช้างเนียมอย่างเอก ถ้างายาวยาวกว่า ๒ นิ้ว สั้นกว่า ๕ นิ้วก็เปนโท ถึง ๕ นิ้วไม่เกิน ๖ นิ้ว ก็เปนตรี
ถ้าช้างนี้เปนช้างเนียมจริง ข้าพเจ้าก็มีความยินดีมาก เพราะช้างเนียมงาสั้นแท้ ได้ยินว่ามีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่ายังตั้งอยู่เปนกรุงเทพฯ ได้ยินชื่ออยู่ ๔ ช้าง.... ในกรุงเทพ ฯ ช้างเนียมที่แท้ไม่เปนที่สงไสยยังไม่มีเลย....
บัดนี้เข้าฤดูฝนฤดูน้ำทางเดินยาก จะรอไว้ต่อแล้งน่า เดือนยี่เดือนสามจึงจะพาเดินมาดีฤา..... ถ้าพอจะพาเดินมาส่งที่เมืองตากได้ในต้นฤดูน้ำ ก็ให้พระยาตากต่อแพลอยลงมาส่งที่พเนียดได้ก็จะดี...... ในปีชวด ฉศกนี้ ที่กรุงเทพ ฯ ก็คล้องได้ช้างพังเผือกอย่างเอกช้างหนึ่ง พบในโขลงเที่ยวอยู่ในทุ่งแขวงกรุงเทพ ฯ นี้เอง แต่พวกกรมโขลนเขาต้อนไปจับคล้องที่คอกบ้านนา แขวงเมืองนครนายก........ ช้างตัวนี้สีตัว แลขน แลเล็บ ขาวกว่าพระยาเศวตไอยราที่ส่งมาแต่เมืองเชียงใหม่...... ช้างนี้เผือกสีตัวขาวมาก แลขนตัวขนหางเหมือนสีขนจามรีทั้งสิ้น เสมอดีไม่มีสีอื่นปะปนเลย.......
จดหมายมาปีชวด ฉศก (จุลศักราช ๑๒๒๖)
พระราชหัตถเลขา ถึงองค์พระนโรดมเจ้ากรุงกัมพูชา
จดหมายมายังถึงองค์สมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร เจ้ากรุงกัมพูชาให้ทราบ
บัดนี้ข้าพเจ้าขอหารือชี้แจงโวหาร คำไทยที่ใช้หนังสือ แลพูดกันเปนหลายอย่าง เธอก็จะทราบอยู่แล้ว.....
ก็คำพูดเรียกตัวว่าฉัน เรียกผู้ฟังว่าท่าน เปนคำในผู้ที่มียศเสมอกัน ผู้อ่อนพูดกับผู้มีอายุแก่ คำเรียกตัวว่าข้าพเจ้า เรียกผู้ฟังว่าเธอ เปนคำผู้มียศเสมอกัน แต่เปนคำผู้อายุมากพูดกับผู้อายุน้อย การนั้นก็หาเปนปรกตินักไม่ บางทีผู้อายุมากทำถ่อมตัวแก่ผู้อายุน้อย พูดว่าฉันว่าท่านก็มี ฤาผู้พูดมียศสูงพูดแก่ผู้ยศต่ำ ว่าท่านว่าฉันเคารพตามอายุบ้าง ว่าเธอว่าข้าพเจ้าทำดังให้มียศเสมอบ้าง เอาเปนประมาณนักไม่ได้ ถ้าจะมีผู้ถามว่าสิ่งไรเปนประมาณ ก็จะต้องตอบว่า การที่มันเคยกันมานั้นเปนประมาณ ไม่มีกระดาก ฯ
ก็จะว่าในเจ้านายฝ่ายเขมร เคยพูดกันมากับข้าพเจ้าว่า อย่างนักพระองค์สงวน นักพระองค์อิ่ม แลองค์สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี แต่อยู่ในกรุงเทพ ฯ นี้ อายุแก่กว่าข้าพเจ้า ฯ เคยพูดว่าท่านว่าฉันแต่เดิมมา แลข้าพเจ้าก็นับถือท่านทั้งสามนั้นว่า เปนเจ้าเหมือนกับตัว แลไว้ตัวข้าพเจ้าเหมือนเปนน้องของท่านทั้งสามนั้นตามอายุ จึงพูดอย่างนั้น ครั้นเมื่อเธอแลพี่น้องของเธอเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ ฯ ข้าพเจ้าก็นับถือว่าเปนเจ้าเสมอตัว แลไว้ตัวเหมือนดังเปนอาว์ของเธอ จึงใช้โวหารพูดว่าข้าพเจ้าว่าเธอไม่ใช่ว่าท่านว่าฉัน อย่างพูดนักพระองค์สงวน นักพระองค์อิ่ม แลองค์สมเด็จพระหริรักษ์ ฯ แลโดยคำนึงเอาเองว่าอย่างนี้สมควรอยู่แล้ว โวหารที่ใช้อย่างนี้ ก็เหมือนกันกับคำที่ข้าพเจ้าพูดกับเจ้านายพี่น้องของข้าพเจ้า ที่แก่กว่าไม่มากนักแลอ่อนกว่า เธอจะทราบอยู่แล้ว ว่าเจ้านายฝ่ายไทยที่แก่กว่ามาก เจ้านายผู้น้อยไว้ตัวอ่อนน้อมแก่เจ้าผู้ใหญ่ คล้ายกับไพร่อ่อนน้อมแก่ผู้ดี ก็ถ้าแก่กว่าไม่มากนัก ฤาถึงแก่กว่ามาก วาสนาต่ำหน่อยหนึ่ง ไม่ต้องกราบกรานคลานหมอบ จึงใช้ท่านใช้ฉัน ที่อ่อนกว่าก็ใช้เธอแลข้าพเจ้า ก็ในครั้งนี้ เธอได้อภิเศกเปนเจ้ากรุงกัมพูชา มียศเสมอด้วยองค์สมเด็จพระหริรักษ์ ฯ แล้ว ฤาจะวิเศษไปอีก ฝรั่งเศสเขามาทำสัญญาว่า เอมเปเรอ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสรับอุประถัมภ์เธอ ให้เปนเอกราช ไม่ขึ้นเมืองใด ฝ่ายไทยก็ได้ยอมรับสัญญานั้นแล้ว ก็ข้าพเจ้าจะมีหนังสือไปมาถึงเธอ จะกลับใช้คำว่าท่านว่าฉันดังพูดกับองค์สมเด็จพระหริรักษ์ ฯ ตามยศที่เธอเปนเจ้ากรุงกัมพูชาแล้วนั้น ก็ควรแท้จริง ฤาถ้าจะคิดด้วยยอมให้เปนเอกราช แล้วจะใช้โวหารเช่นพระราชสาส์นไปเมืองอื่น ๆ ที่เปนเอกราช คือในคำที่ควรจะว่าข้าพเจ้าก็ว่ากรุงสยาม ในคำที่ควรจะว่าท่านก็ว่ากรุงนั้น ๆ คือกรุงฝรั่งเศส กรุงอังกฤษ กรุงเวียดนามแลอื่น ๆ นั้น ฉันใดจะใช้ว่า กรุงสยาม กรุงกัมพูชา เหมือนอย่างราชสาส์นไปเมืองเอกราชก็ควร ข้าพเจ้าก็ไม่มีความรังเกียจเลย จะยอมใช้ทั้งสองอย่าง แต่ว่าจะใช้มาเองไม่หารือก่อนก็ยังอางขนางอยู่ ด้วยผิดการที่เคยมาแต่ก่อน เกลือกเธอจะสำคัญไปว่าข้าพเจ้าละวางการที่คุ้นเคยกับเธอเสีย แล้วมายักโวหารเปนดังแดกดันประชันประชดไป ถ้าเธอจะกลับคิดเห็นเปนไปดังนี้ ก็จะเปนที่ข้าพเจ้าเสียใจนัก ก็แต่เมื่อจะลูดยืนอยู่ไม่ย้ายไม่ยักคงอยู่อย่างก่อน ก็ยังวิตกไปว่าเกลือกเธอจะคิดเห็นว่า ข้าพเจ้าไม่นับไม่ถือ จึงพูดยืนอยู่อย่างก่อน ไม่ใช้โวหารให้สมควร สมแก่ยศที่เจริญยิ่งขึ้นไปเธอได้ในบัดนี้ จึงต้องมีคำหารืออันนี้ชี้แจงออกมา ความใจจริงของข้าพเจ้า คิดเห็นว่าตัวเธอไม่เหมือนผู้อื่น ข้าพเจ้าเคยนับถือเหมือนลูกหลานของข้าพเจ้ามานาน จึงใช้โวหารอยู่อย่างเดิม ด้วยเข้าใจว่าถ้าเธอจะขัดเคืองข้าพเจ้าว่าไม่ยักโวหารสมควรแก่ยศใหญ่ของเธอในบัดนี้ เปนที่เห็นว่าดูถูกดูหมิ่น ไม่นับถือฤาอย่างไรไปนั้น ๆ จะเปนอันดีกว่าที่หากว่าเธอจะคิดเห็นว่าข้าพเจ้าละทิ้งความคุ้นเคยอย่างก่อนเสีย แล้วแลประชดประชันแดกดันแก่เธอ เพราะพึ่งอำนาจอื่นฤาอย่างไรไป จึงได้ใช้ยื่นอยู่อย่างก่อน เปนโวหารผู้แก่พูดกับผู้อ่อนในตระกูลเจ้านายไม่ย้ายยัก การที่หารือมานี้เธอจะเห็นชอบอย่างไร ขอตอบมาให้ทราบโดยตรงสุจริตใจ อย่างเปนชั้นเชิง ข้าพเจ้าอยากแต่จะรักษาสุจริตใจกับเธอ ไม่ให้มีขุ่นข้องหมองหมางด้วยเหตุต่าง ๆ มาแต่ข้างโน้นข้างนี้ ข้าพเจ้าไม่มีทิฐิมานะ ถือสูงถือต่ำถือยศถือศักดิ์อย่างท่านแต่ก่อน เธอพิเคราะห์ดูการที่เคยเห็นกิริยาข้าพเจ้าในกรุงเทพ ฯ นี้ ก็จะเห็นจริงดังเจ้าว่า หารือมาครั้งนี้โดยสัตย์สุจริต อย่าคิดไปว่าล้อเลียนอะไรเลย ฯ
จดหมานมา ณ วัน.......... ปีกุนสัปตศก ๑๒๒๗
พระราชหัตถเลขา ถึงพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์
จดหมายมายัง พระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ราชทูต พระยาราชเสนา อุปทูต ให้ทราบ
หนังสือของท่าน.....ได้อ่านแล้ว ด้วยความยินดี อนึ่งหนังสือฉบับเล็ก..... ข้าพเจ้าดูด้วยแล้ว แลภายหลัง
เมื่อถึงวันเอมเปรอ เสด็จออกทูตสยาม วัน.......... พระสยามธุรานุรักษ์บอกมาทาง เตเลแดรบ ถึงปอนด์ดิคอล บอกมาถึงเมืองสิงคโปร์.....
หนังสือบอกมาแต่สิงคโปร์ถึงกรุงเทพ ฯ ...... แต่การที่พวกท่านได้เฝ้าเอมเปรอถวายพระราชสาส์นได้ดังนี้ ข้าพเจ้าก็เปนสบายใจอยู่แล้ว การจะได้ดังประสงค์ฤาไม่ได้ดังประสงค์ ก็สุดแต่ปัญญาเอมเปรอ จะว่าผิด ๆ ไป โกง ๆ ไป ข้าพเจ้าเข้าใจว่าความอายไม่ตกอยู่แก่ข้าพเจ้า จะต้องเก้ออยู่แก่เอมเปรอเอง เพราะเมืองเราเปนเมืองน้อย จะรู้ที่ทำอย่างไร แต่การทูตไปว่ากระไรก็เซงแซ่มีฉาวแล้ว ใคร ๆ เขาก็รู้ ดูที่ความคิดเดิมของมินิศเตอร์จะทำตามกงสุลโอบาเรต์ยุยงว่า อย่าให้รับทูตสยาม เพราะไปผิดธรรมเนียม ไม่ได้บอกกล่าวล่วงน่าไปขอให้ยอมรับก่อน ให้ทำเฉยเสีย ก็ความคิดนี้เปนสู้โกง ๆ นอกเรื่อง สำนวนไทยเขาเรียกเอาสีข้างเข้าดัน เห็นจะถูกนินทามากเขาจึงกลับใจรับ ฝ่ายท่านผู้ใหญ่ที่กรุงเทพ ฯ ท่านวิตกนัก ว่าถึงรับทูตแล้วความก็คงจะไม่จบ กรุงฝรั่งเศสจะให้ผู้รับสั่งเข้ามาเจรจาความ เมื่อนั้นกลัวกงสุลโอบาเรต์จะเข้าให้ท้ายถือหางทำวุ่นไป ฝ่ายสยามจะได้ความลำบากมาก แต่ข่าวกับตันดานีเยลวินเซอร์ บอกมาว่าได้ยินฝรั่งเศสพูดกันว่า คอเวอนแมน ฝรั่งเศสจะมาเรียกตัวกงสุลโอบาเรต์ให้กลับไปก่อนสิ้นเดือนออคัสต์ เพราะเขารู้ว่า กงสุลโอบาเรต์มาทำการเกินเขาสั่งมา ลางคนว่ากงสุลโอบาเรต์ไปเพราะเจ็บตา ความนี้ถึงกรุงเทพ ฯ ก็ได้ยินว่ากงสุลโอบาเรต์ว่าจะกลับไปในเดือนออคัสต์ เหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้ากลัวกงสุลโอบาเรต์จะอยู่ที่นี่ทีเดียว จะไม่ได้ไป ถึงมีทูตมาก็จะพูดอะไรไม่ได้ จะไม่ได้เห็นไม่ได้ยินเลย ข้าพเจ้ากลัวการจะเปนอย่างนี้ไป ผิดถูกไม่รู้ เพราะชตาเมืองไทยเปนอย่างนี้ คนต่างประเทศใครดุเกะกะนักก็มาเปน (กงสุล) อย่างนี้มาหลายคนแล้ว จะว่าอะไรสั่งอะไรด้วยราชการ ก็เห็นว่าหนังสือนี้จะไปถึงยุโรปก็ต่อเดือน ๘ กลางเดือนท่านก็จะกลับเสียแล้ว หนังสือก็จะต้องคืนมา ข้าพเจ้าไม่ว่าอะไรไปแล้ว เปนแต่ตอบไปตามธรรมเนียม ฯ
พระราชนิพนธ์ทรงขมาพระสงฆ์ เมื่อจะสวรรคต
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงพระประชวรหนัก มาถึง ณ วันพฤหัศบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง (พ.ศ. ๒๔๑๑) ทรงพระราชดำริเห็นว่าคงจะเสด็จสวรรคตในวันนั้นแน่แล้ว จึงทรงพระราชนิพนธ์คำขอขมาพระสงฆ์โดยภาษาบาลี แล้วทรงพระปริวิตกว่า พระองค์ทรงพระประชวรพระอาการมาก ถึงเพียงนั้น พระสติสัมปชัญญะจะฟั่นเฟือนไป จึงมีรับสั่งให้หา พระศรีสุนทรโวหาร ฟัก เปรียญ เข้าไปเฝ้าที่ข้างที่พระบรรธมทรงท่องพระราชนิพนธ์ให้ฟัง แล้วตรัสถามว่า ยังทรงภาษาบาฬีถูกต้องอยู่ฤาประการใด พระศรีสุนทรกราบทูล ฯ ว่ายังถูกต้อง จะหาวิปลาศแต่แห่งใดนั้นมิได้ จึงรับสั่งบอกให้ พระศรีสุนทรโวหาร จดพระราชนิพนธ์แต่ต้นจนจบ แล้วโปรดให้จัดเครื่องสักการะบูชา ให้เชิญไปกับหนังสือพระราชนิพนธ์นี้ ไปยังที่ประชุมพระสงฆ์ราชาคณะ มีสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ แต่ยังเสด็จดำรงพระยศเปน กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์เปนประธาน ซึ่งมาประชุมกันอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ ฯ ในเวลาที่ทรงพระประชวรนั้น ทราบว่าสมเด็จพระสังฆราช แต่ยังเปนที่พระสาสนโสภณ เปนผู้อ่านในท่ามกลางสงฆ์ที่ในพระวิหารหลวง ครั้งถึงเวลายาม ๑ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ก็เสด็จสวรรคต พระราชนิพนธ์ภาษาบาลี
ยกฺเฆ ภนฺเต สํโฆ ชานาตุ มยฺหํ ภิกขุกาเล ปุนปฺปุนํ เอสา วาจา ภาษิตา ยโตหํ มหาปวารณาย ชาโต กาลํ กุรุมาโน สเจ มหาปวารณาทิวเส พาฬฺหคิลาโน อุโปสถาคาเร มหาปวารณา สนฺนิปาตํ นีโต ตถารูเปน พเลน สมนฺราคโต ยถารูเปน พเลน เตวาจิกํ ปวาเรตฺวา สํฆสฺส สมฺมุขา กาล กเรยยํ ตํ สาธุวตสฺส ตฺ เม อนุรูปํ อสฺส อิติ เอวรูปี วาจา ปุนปฺปุนํ ภิกขุกาเล ภาสิตา อิทานมฺหิ คหฏฺโฐ กฺยาหํ กาหามิ เตนาหํ อิเม สกฺกาเร วิหารํ ปหินามิ อิเมหิ สกฺกาเรหิ ปวารณากมฺมํ กโรนฺตํ สํฆํ ธมฺมเมว ปูเชมิ อตฺตานํ วิย กตฺวา อยํ มหาปวารณา คุรุวาริกา ยถา มม ชาตทิวโส อาพาโธ เม อภิวฑฺฒติ เอวํ ภายามิ อชฺช กาลํ กเรยฺยํ อาปุจฺฉามหํ ภนฺเต สํฆํ จิรปรินิพฺพุตมฺปิ ตํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ อรหนฺตํ
|