พระราชนิพนธ์ ว่าด้วยลักษณะการเคารพพระรัตนไตรย
พุทฺธํ ธมฺมญฺจ สฆญฺจ อจฺ เจตํ รตนตฺตยํ
...........................
ปุญญญฺ จ อภิวฑฺเฒยฺย ทิฏฐ ธมฺ เม จ มงฺคลํ ฯ
ข้าพระพุทธเจ้าสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม เปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ที่สี่ในพระราชวงศ์ซึ่งตั้งกรุงเทพ ฯ ขอถวายอภิวันท์นอบน้อมนมัสการด้วยไตรทวาร นบนอบเคารพ แด่พระรัตนไตรยประชุมสิ่งประเสริฐสามประการนี้ คือพระพุทธผู้ตรัสรู้ หนึ่ง พระธรรม หนึ่ง พระสงฆ์หมู่เนื่องกัน หนึ่ง พระรัตนไตรยทั้งสามนี้แม้นต่าง ๆ โดยวัตถุก็ย่อมเปนอันหนึ่งอันเดียวกันโดยเนื้อความ..... จึงจะขอกล่าววิธีต่าง ๆ โดยสมควรในกิจการนมัสการ แด่พระผู้มีพระภาคย์พุทธเจ้านั้น ในที่ระฦกถึงพระองค์นั้น มีพระเจดีย์เปนต้น ด้วย ภาสาสยามพากยภาสา เปนแต่ว่าจะแสดงวิธีในคำสำหรับเปนที่ตั้งความทำในใจระฦก แลสวด สาธยาย แลประกาศอุทิศส่วนกุศลแก่เทวดาเปนต้น ด้วยมาคธิตาภาสาที่เรียกกันโดยมากว่า ภาสาบาฬี เพราะว่าภาสานั้นเปนประมาณ คือ ภาสากลางในพระพุทธศาสนธรรม เพื่อจะให้เปนแบบแผนตำราสำหรับพระเจ้าแผ่นดินฤาผู้รับสั่งพระเจ้าแผ่นดิน.....
ในภาคย์เบื้องต้นนี้ จะขอกล่าวลักษณะเคารพ นมัสการ กราบไห้ว คำนับน้อม แลลักษณะทำสักการะบูชา นับถือในพระรัตนไตรยนั้น ให้เข้าใจถนัดก่อน
อันการอ่อนน้อมคำนับในโลกย์นี้ มีกิริยาทำต่าง ๆ กัน ในประเทศต่าง ๆ อย่างนั้น ๆ ไม่ต้องกัน ไม่เหมือนกัน จนถึงขัดขวางกัน ดังหนึ่งข้างจีนถือว่า เมื่อจะคำนับไห้วพระไห้วเจ้า แลจะเข้าไปหานายต้องสอดสวมเครื่องแต่งตัว หมวก เสื้อ รองเท้า เข้าให้ครบ จึงจะไห้วเจ้าไห้วนายได้ ถ้าไม่มีเครื่องแต่งตัวเต็ม ไม่สวมหมวกสอดรองเท้าแล้วก็ว่าไม่เคารพ ฝ่ายข้างชาวยุโรป แลอเมริกา ถือว่าถ้าสวมหมวกอยู่ เป็นไม่คำนับต้องถอดออกถือออกโบก แต่งเครื่องแต่งตัวคือเสื้อชั้นนอก ที่ไม่ได้สวมอยู่โดยปรกติ แลรองเท้าแลเครื่องอื่น ๆ ตามยศ จนถึงกระบี่ซึ่งเปนเครื่องติดอยู่กับเครื่องคาดเอว ต้องแต่งเข้าพร้อมจึงเปนอันเคารพ ฯ ฝ่ายลัทธิในการเคารพของพวกชาวบ้านเมืองถือพระพุทธสาสนา แลถือข้างพราหมณ์ มักถือว่าไม่สวมหมวก ไม่โพกผ้าเปนเคารพ รองเท้าแลอาวุธห้ามเปนอันขาด ไม่ให้สอดสวม ไม่ให้คาดแต่ไกลที่เดียว จึงเปนเคารพ ฝ่ายผ้าห่มนั้นต้องให้มีจึงเปนเคารพ ถึงกระนั้นในที่เคารพ ก็บังคับให้ลดเปิดบ่าข้างขวาออก แลในชาวสยามผู้ชายเมื่อเคารพผู้มีบันดาศักดิ์ ต้องเอาผ้าห่มลงเกี้ยวพุงไว้ การเปนต่าง ๆ ขัดกันไม่ต้องกันดังนี้แล อนึ่งในกิริยาอิริยาบท ก็ถือไม่ต้องกัน ในเมืองอื่น ๆ ถือว่าผู้ซึ่งยืนเปนอันคำนับผู้ซึ่งนั่ง ถ้าผู้มีบันดาศักดิ์นั่งอยู่ ผู้มีบันดาศักดิ์น้อยต้องยืนอยู่ ต่อผู้มีบันดาศักดิ์ใหญ่ บังคับยอมให้นั่ง จึงนั่งลงได้ ถ้าผู้มีบันดาศักดิ์ยืนขึ้นแล้ว ผู้มีบันดาศักดิ์น้อยนั่งอยู่ไม่ได้เลย ต้องยืนขึ้นไม่ต้องบังคับว่าให้ยืนเลย ถึงในพระวินัยบัญญัติในพระพุทธศาสนา ก็มีบังคับว่า เมื่อผู้จะสำแดงธรรมจะยืนสำแดงธรรมให้คนที่นั่งอยู่มิได้ป่วยไข้ไม่ได้ ต้องให้คนฟังยืนขึ้นฟังธรรม แต่ในเมืองไทย เมืองเขมร เมืองลาว เหล่านี้ ถือกิริยาต่ำแก่ผู้มีบันดาศักดิ์สูง คนต่ำบันดาศักดิ์ต้องไว้กิริยาต่ำแก่ผู้มีบันดาศักดิ์สูง ถ้าผู้บันดาศักดิ์ยืนก็ต้องนั่ง ถ้านั่งก็ต้องหมอบคลาน การอย่างนี้ได้ยินว่าในลังกาเก่า แลเมืองทมิลก็ถือ เมื่อเจ้าแผ่นดินเสด็จออกไปที่ใด ๆ นอกเมืองนอกวัง ราษฎรที่พบเสด็จต้องพังพาบก้มศีศะราบกับแผ่นดิน เงยหน้าขึ้นไม่ได้ เปนแต่พนมมือยกขึ้นไว้บนศีศะ กว่าเจ้าแผ่นดินจะเสด็จล่วงไป ถ้าจะว่าถึงกิริยาต่าง ๆ ในการคำนับที่มีชื่อเรียกต่าง ๆ คือ กราบพั้งพาบทั้งตัวดังว่านั้นเรียกว่า กราบสุงสุมารนิบาต แปลว่าล้มลงเปนจรเข้ แลเบญจางคประดิษฐ์ กราบวางองค์ห้าลงดินทั้งมือสอง เท้าสอง ศีศะหนึ่ง แลกราบสามลา แลกุยอย่างญวนแลจีนคุกเข่าคำนับอย่างชาวยุโรป แลอื่น ๆ แล้ว ก็มากมายหลายอย่าง
ที่นี้จะว่าการตามที่ว่าไว้ในหนังสือที่มีในพระพุทธศาสนา ในพระบาฬี มีอยู่สี่อย่างตามชื่อ คือ อภิวาท ๑ วันทนาการ ๑ นิปัจจนาการ ๑ อัญชลีกรรม ๑ เปนสำแดงกิริยาคำนับต่อหน้าผู้มีตัวประจักษ์เฉพาะ ยังอิกสองอย่างคือ นมการ ๑ นมัศการ ๑ สองอย่างนี้ว่าด้วยการนับถือเปนพระที่ยิ่ง แลแสดงความน้อมไปแด่พระนั้นด้วยไตรยทวาร คือ กาย วาจาจิตร จะหาที่ชี้อุทาหรณ์เยี่ยงอย่างของคำที่สำแดงชื่อ ๖ อย่าง คือ อภิวาท วันทนาการ นิปัจจนาการ อัญชลีกรรม แลนมการ นมัศการนั้นก็ได้เห็นอยู่ชุกชุม คือ "ภควนฺ ตํ อภิวาทเทตนา" ในที่นั้น ๆ แล "อภิวาททนสีลิสฺส" ที่เปนคาถาแลอื่น ๆ เปนอุทาหรณ์ของอภิวาท "ภควุโต ปาเท สิรสา วนฺทหิ" ฤา "วนฺทติ" ในพระวินัยเรียกชื่อ "อวนฺทิโย ปุคฺคโล วนฺทิโย ปุคฺคโล" แลอื่น ๆ เปนอุทาหรณ์ของวันทนาการ ในพระบาฬีว่า "ภควโต ปาเทสุ สิรสา นิปติตฺวา" แล "นิปฺปการํ กโรมิ" เปนอุทาหรณ์ของนิปัจจนาการ "เยน ภควา เตนญฺ ชลิมฺปณา เมตฺวา" ฤา "อญฺชลิปคยฺห" ฤา อญฺชลิโก "อฏาฐาสิ" แลในบทสวดมนต์ว่า "อญฺชลี กรณีโย" เหล่านี้เปน อุทาหรณ์ของอัญชลีกรรม "นโม ตสฺส ภควโต นมตฺถุ นโม เต ปุริสาชญฺญ" แลอื่น ๆ เปนอุทาหรณ์ของนมการ "นมสฺสนฺติ โคตมํ นมสฺสมาโน สมฺ พุทธํ แลอื่น ๆ เปนอุทาหรณ์ของนมัศการ ก็ในชื่ออาการ ๖ อย่างที่มาในบาฬีนี้ คนทำอย่างไร จะเรียกว่าชื่อไรก็ไม่ได้ความชัด อภิวาทนั้นเห็นที่มาเปนกิริยาที่เขาใช้ต่อหน้า แลทำกับผู้สูงศักดิ์ คือพระพุทธเจ้าแลพระสาวกผู้ใหญ่ แลพระเจ้าแผ่นดิน แลมหาพราหมณ์ มีคำอรรถกถาบางอันแก้ว่า "อภิวาเทตวา สุขี โหถีติ วทาเปตฺวา" ก็มีบ้าง แต่ที่แก้ว่า อภิวาทนั้นก็คือ วันทนกิริยานั้นเองโดยมาก ถึงกระนั้น เห็นที่มาในบาฬีอภิวาทดูดี เปนการอย่างสูงแลการต่อหน้า วันนาการเปนการต่ำลงมา แลมักมีในคำสั่งฝากไว้คำนับไปอภิวาท แลสงฆ์แลคณะก็ไม่ไคร่จะมี มีแต่วันทนาการ แลอัญชลีกรรม จะชักอุทาหรณ์มาว่าให้เห็นได้ แต่จะเพ้อมากนักไป ฯ อัญชลีนั้น อรรถกถาแก้ว่า "ทสนขสโมธานํ" ฯ
หมดฉบับเพียงเท่านี้
พระราชหัตถเลขา ถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑
ฉบับหมายเลข ๙๔
ลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค,ศ, ๑๘๕๘
ฉันขึ้นไปกรุงเก่า ได้นมัสการพระแสนเมืองเชียงแตงแล้ว รูปพรรณเปนของเก่าโบราณหนักหนา แต่เหนชัดว่าอย่างเดียวกับ พระแสนมืองมหาชัยแน่แล้ว ของโบราณจะนับถือว่า พระแสนสององค์นี้ องค์ใดองค์หนึ่งจะเปนเทวดาสร้าง ฤาว่าเหมือนพระพุทธเจ้าแท้ แล้วจึงถ่ายกันข้างหนึ่งเปนแน่แล้ว แต่เมื่อดูสีทองแลชั้นเชิงลเอียดไปดูที เหนว่าพระแสนเมืองเชียงแตงจะเปนของเก่ากว่า สีทองที่พระเศียรและพระพักตร์ เปนสีนากนวโลหะ เช่นกับพระอุมาภควดีเก่าในเทวสถาน ตมูกฤาพระนาสิกก็ดูบวมมากเหมือนกันทีเดียว ที่พระองค์ พระหัตถ์ พระบาทนั้นสีทองเปนอย่างหนึ่ง ติดจะเจือทองเหลืองมากไป ที่ผ้าพาดนั้น เปนแผ่นเงินฝังทาบทับลง แต่ดูน่นหนาอยู่
พระแสนองค์นี้ฉันถวายแล้ว โปรดทรงพระดำริห์ดูเถิด จะให้ไปเชิญลงมาเมื่อไร อย่างไรก็ตามแต่จะโปรด
ยังมีพระที่มีชื่อ เอามาแต่เมืองเวียงจันทร์อิกสองพระองค์ พระอินทร์แปลง น่าตัก ๒ ศอกเศษ พระอรุณ น่าตักศอกเศษ พระสององค์นี้องค์ที่ออกชื่อก่อน ฉันจะรับประทานไปไว้เปนพระประธานในพระอุโบสถวัดมหาพฤฒาราม วัดตะเคียนที่ให้ไปสร้างขึ้นไว้ใหม่
พระอรุณนั้นฉันคิดว่าจะเชิญลงมาไว้ในพระวิหารวัดอรุณ เพราะชื่อวัดกับชื่อพระต้องกัน สมแต่จะให้จัดแจงที่ฐานให้เสร็จก่อน แล้วจึงเชิญมาต่อน่าน้ำ
ยังมีพระไม่มีชื่ออิกหลายพระองค์ องค์หนึ่งน่าตัก ๒ ศอก หย่อน แต่รูปพรรรนั้นเห็นชัดว่า ทำเอาอย่างพระแสนเมืองมหาชัยไม่สู้ผิดนัก ทั้งลาดเลาพระพักตร์แลส่วนพระหัตถ์ พระบาททุกอย่างพระองค์นี้ฉันคิดว่า จะเชิญไปไว้ที่ในพระวิหารหลวงที่พระพุทธบาท พระขัดสมาธิเพ็ชรใหญ่องค์หนึ่งฐานมีรูปสัตว์ต่าง ๆ ฉันคิดว่าจะเชิญมาไว้ในอุโบสถ วัดเขมาภิรตาราม ยังอิกองค์หนึ่งน่าตักศอกเศษ คล้ายพระแสน แต่ไม่สู้ชัดนัก ฉันคิดว่าจะเชิญไปไว้ในพระอุโบสถวัดชัยพฤกษ์มาลา
พระแสนเมืองเชียงแตงนั้น ตามแต่จะโปรดเถิด ถ้าจะเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดหงษ์ก็ดีอยู่ จะได้เปนคู่กับพระอรุณที่วัดอรุณ เหมือนดัง ๒ องค์ ที่จะเชิญลงไปที่วัดชัยพฤกษ์มาลา แลวัดเขมาภิรตารามนั้น เปนพระเกียรติยศแลส่วนพระราชกุศล ถวายทูลกระหม่อม แลสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์
แต่ถ้าจะโปรดเอาพระแสนเชียงแตงไว้ในวังแล้ว ฉันจะถวายอิกองค์หนึ่ง น่าตักศอกเศษ เปนทองสองสี เพื่อจะได้ไปไว้ที่วัดหงษ์แทน ตามแต่จะโปรด
เรือสติมเมอร "มีดีออร์" ขึ้นไปก็ไม่ถึงกรุงเก่า ไปค้างติดตื้นอยู่ที่คลองตะเคียน ต่อเวลา ๘ ทุ่ม (๒ A.M.) น้ำขึ้นมากจึงจะกลับมาได้ ต้องหยั่งน้ำหาร่องมา พึ่งมาถึงเมื่อ ๙ โอคล็อก ๒๐ A.M. ฯ
พระราชหัตถเลขา ถึงกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ
ปีชวด พ,ศ, ๒๔๐๙
จดหมายมายังกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ การเที่ยวเขาเที่ยวถ้ำเที่ยวป่า ก็เปนที่เพลิดเพลินไปอย่างหนึ่ง เพราะมีในตำนานนิทานว่า พระมหากษัตริย์เสด็จไปประพาศป่า ว่าถึงพระเจ้าแผ่นดินเมืองไทยมีธรรมเนียมสืบมา เหตุที่ให้เสด็จก็มีสามอย่าง เสด็จไปสงครามอย่างหนึ่ง เสด็จไปวังช้างอย่างหนึ่ง เสด็จไปนมัสการพระคือ พระพุทธบาทแลที่อื่น ๆ อย่างหนึ่ง ครั้งนี้ก็ถ้าจะมานมัสการพระก็ไปพระแท่น แต่ที่แท้ก็ประสงค์จะดูที่ต่าง ๆ แลหัดซ้อมเดิรทางบกไว้ ให้ข้าราชการทุกตำแหน่งเข้าใจในการที่จะใช้ช้างใช้ม้า แลบทหัดทหารเดิร พอเปนธรรมเนียมรู้จักไว้ เมื่อต้องการ ๆ สำคัญเมื่อใด ก็จะเรียกได้ สั่งได้ ทำให้ง่ายให้คล่อง ก็ซึ่งมาครั้งนี้ก็สบายดีอยู่ ที่มาด้วยกันก็ไม่มีใครป่วยไข้อะไรดอก นอกจากครางว่าเหนื่อยเมื่อยล้า ด้วยเดิรทางวันละ ๕๐๐ เส้น ๖๐๐ เส้น ไข้จับไข้พิศม์ในกรุงเทพ ฯ ว่ากันว่ามีคนเปนชุกชุมมาก แต่ในหัวเมืองเหล่านี้ ฟังดูก็ว่าน้อยไม่สู้มี
อนุมานการคิดการดูเห็นว่าในกรุงเทพ ฯ พื้นดินชื้น น่าแล้งต้นไม้ใบไม้ร่วง น่าฝน ๆ ชุก ก็เปนโคลนตมหล่มเลน ก็เมื่อฝนชุกนั้นไข้ต่าง ๆ ก็ไม่มี ถึงคราวลงรากมีฝนชุกลงมา ไข้ต่าง ๆ ก็ดี ไข้ลงรากก็ดีก็สงบน้อยถอยไป ถ้าน่าแล้งเข้าเมื่อใด ลงรากก็กลับชุมขึ้น ฤาลงรากนั้น เมื่อแรกมีมาก็มีในต้นระดูฝน ครั้นฝนชุกแล้วก็คลายไป ถึงไข้ต่าง ๆ ก็เหมือนกัน..... ก็ในป่าดงนั้น เขาว่าทุกหนทุกแห่งว่าน่าแล้งความไข้ไม่ใคร่มี ไม่สู้ต้องกลัวความไข้ แต่น่าฝนแล้วไข้ชุม.....
พิเคราะห์เถิดถึงใจผู้หญิงแทบทุกหนทุกแห่งทั้งแก่ทั้งสาว มักร่านอยู่ในที่จะใคร่ไปพระพุทธบาท..... จนเปนลัทธิติดตำรา..... แลที่พระบาทก็เปนที่เล่าฤาว่า เปนที่สิงสู่ของพระสงฆ์ใจบาปใจพาล ที่ตั้งใจจะคิดปอกลอกคนหลงตื่นทำบุญ ใครไปเปนเจ้าของคงไม่พ้นถูกนินทา ถึงพระพิมลธรรมเดี๋ยวนี้ก็ไม่พ้นถูกนินทาต่าง ๆ พระสงฆ์ที่ดีเปนปกติโดยขึ้นไปลางครั้งลางคราว ต้องไปซ่อนไปแอบอยู่ในถ้ำในเหว ใครนิมนต์เทศน์ก็ไม่รับ ด้วยกลัวเขาจะนินทาว่าเปนพวกปอกลอกหลอกสัปบุรุษไป พระองค์ไรไปพระพุทธบาททุกปีก็มีผู้นินทาว่าไปเที่ยวหากิน เพราะมีผู้หญิงตื่นไปทำบุญไม่รู้ประมาณ ผู้ช่วยพวกใดไปพระบาท ก็ถูกนินทาสองประการ นินทาว่าลุอำนาจแก่มาตุคามอย่างหนึ่ง นินทาว่าเปนผู้ร้ายไปคอยตีชิงวิ่งราวอย่างหนึ่ง ตัวฉันเองแต่ก่อนเปนพระอยู่ ขึ้นไปหลายครั้งหลายหน ก็ต้องหลบเหลื่อมไป ไม่ได้เทศน์ไม่ได้ทันเปนแต่ไปเที่ยวเล่น เมื่อมาเปนเจ้าแผ่นดินแล้วก็ได้ไปสองครั้ง ครั้งหนึ่งวังน่าชวนไปบ้านสีทา แล้วก็แวะไปดูการพระมณฑป การพระเจดีย์ที่ไปทำที่พระบาท ครั้งต้นก็ได้ไม่พาผู้หญิงไปนอกจากลูกเล็ก ๆ สี่คนเลย เพราะกลัวจะถูกนินทาว่าผู้หญิงสำออยให้ไป ครั้งหลังไปกับผู้หญิงเปนอันมาก ก็ด้วยมีที่อ้างว่าไปยกยอดพระมณฑป พระพุทธบาทแลไปรับช้างเผือก
ก็ในพระบรมมหาราชวังนั้นเปนธรรมดาได้เคยเห็นมาแต่เล็กคุ้มใหญ่ เจ้าข้างในน่าเดือน ๓ เดือน ๔ มีคนบางพวกจัดการจะไปพระบาท ฤากลับมาจากพระบาทเอาส่วนบุญมาให้ แล้วก็ร้องไห้ทุกปี ว่าตัวฉันนี้เกิดมามีกรรม ตั้งใจจะขึ้นพระบาทไปทำบุญก็ไม่ได้ไป เมื่อไรจะสิ้นกรรมเล่า ก็เมื่อไรเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ ก็พากันว่าทั้งแก่ทั้งสาวว่าคราวนี้ฉันสิ้นกรรมแล้ว ฉันจะจัดสิ่งของไว้ เดือน ๓ จะขึ้นไปพระบาทไปทำบุญให้เต็มศรัทธา..... ผู้ที่รู้แท้เขารู้พื้นเพพระบาท เพราะเรื่องต้นเกิดมาแต่เมื่อไร..... ก็คนหลอกลวงแลนักเลงแลคนพาลต่าง ๆ เกิดเปนขึ้นที่นั้น ก็เพราะมีคนหลงศรัทธาเหลือหลาม ทุ่มเทแตกตื่นทำบุญอย่างว่ามาแล้วก็ด้วยเหตุนี้ฉันได้ประกาศแล้วว่า เจ้านายผู้หญิงก็ดี ฤาเมียก็ดี ใครอยากจะไปพระบาทก็ให้บอกเถิด จะให้สนมกรมวังเขาพาไป..... ก็ผู้หญิงเมื่อเวลาเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ ที่จะไปได้รีบร้อนไป แต่ศีรษะยังโกน ครั้นไปถึงพระบาทแล้วลักโกนคิ้วบวชเปนหลวงชี.....
แต่คงคับใจอยู่เรื่องหนึ่ง ด้วยพระองค์เจ้าแลหม่อมเจ้าลูกเปนหลานของตัวเอง..... วิตกนั้นคือ เมืองสระบุรี ลาวชาวเมืองนี้อย่างไรมิรู้..... เมืองนี้เกิดสตรีรูปงามเสียงเพราะ ช่างพูด ช่างเว้า จนผู้มีบุญเข้าครอบครองเอาหมด..... แลเล่าลือว่าเมืองนั้นเปนเมืองสวรรค์ ค่ำแล้วทุกบ้านทุกเรือน มีแต่บรรเลงทำเพลงเสงการ สนุกสนานอยู่เปนนิตย์ ก็ครอบครัวลาวผู้ใหญ่บ้านนั้นเมืองนั้น ที่เปนไพร่หลวงแลสังกัดพรรค์ มีบุตรหลายแลญาติเกี่ยวข้องในท่านผู้มีบุญ แล้วก็หลุดจากไพร่หลวง เจ้าหมู่นายหมวดจะเอาไปใช้ก็ไม่ได้ แต่คนที่หลุดจากไพร่หลวงในพระบรมมหาราชวังนี้ไปสัก ๖๐ เศษ ไพร่หลวงที่อื่นแลไพร่หลวงในสังกัดพรรค์
จะหลุดจากเจ้าขุนมูลนายไปสักเท่าไรไม่ทราบเลย ทราบอยู่เปนตัว ๆ ลางคนที่แต่ก่อนสักข้อมือเปนเลขทาษเขา เดี๋ยวนี้มีบันดาศักดิ์มีชื่อตั้งชื่อแต่ง..... ก็คนบ้านแถบนั้นมันกำเริบอย่างนี้มีอยู่มาก ฝ่ายลูกเราหลานเรา ชาวบ้านชาวเมืองพวกหนึ่ง ก็เข้าใจว่าเปนลูกคนแก่หลานคนโซเปนหางคอตหางกิ่ว จะไม่มีบุญไปถึงไหน ก็อ้ายคนคิดว่าสิบเบี้ยใกล้มือฉวยได้ฉวยเอาก็ยังมี ก็อ้ายคนเหล่านี้มีมันรู้มันเห็นเจ้านายเหล่านี้ว่า เปนลูกเจ้าชีวิตหลานเจ้าชีวิตราชการอะไร ก็สิทธิขาดอยู่แก่เจ้าชีวิต ๆ คงรักลูกรักหลาน ถ้าเข้ามาเปนข้าเปนไทยให้ลูกหลาน เจ้าชีวิตโปรดปรานได้แล้ว ถึงทำผิดอะไร ๆ เจ้านายของเราที่เปนลูกเปนหลานเจ้าชีวิต ก็คงแก้ไขเพ็ดทูลให้.....
จดหมายมา ณ วันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๘ ค่ำ ปีชวดฉศก (พ.ศ. ๒๔๐๗)
พระราชหัตถเลขา ถึงกรมหมื่อมเหศวรศิววิลาศ
ปีชวด พ,ศ, ๒๔๐๙
จดหมายมายังกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ หนังสือที่เธอฝาก..... ได้รับที่พระแท่นดงรัง..... ความอ่านทราบแล้ว การที่ห้ามพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมหลวงชายหญิง ไม่ให้ลอบไม่ให้หนีไปเที่ยว ไปอยู่นอกกรุงด้วยไม่ได้ทูลลาในหลวงโปรดนั้น ไม่ผิดกฎหมายแบบแผนเยี่ยงอย่างธรรมเนียมแผ่นดินเลย การแต่ก่อนเจ้านายน้อยตัว ก็ไม่รั่วไม่ร้ำไปข้างไหนนัก ครั้นภายหลังเจ้านายมากขึ้นก็เกิดการรั่วร้ำไปต่าง ๆ เปนการข้านอกเจ้า เข้านอกหม้อ ลูกนอกพ่อหลานนอกปู่เปนขึ้น ก็ขึ้นชื่อว่าเจ้าแล้วเปนที่ของหอม.....
เมื่อปีชวดจัตวาศกล่วงมาแล้ว มีอ้ายคนหนึ่งชาวเมืองภูมิเมืองขึ้นพิศณุโลก มาลักเอาอีหม่อมหลวงคนหนึ่งไปเปนเมีย อีหม่อมหลวงคนนั้น คนก็เรียกว่าเจ้า ลูกที่เกิดด้วยอ้ายไพร่คนนั้น คนก็เรียกว่าเจ้า แลเหตุอื่น ๆ เปนหลายเรื่องคล้ายกันมีขึ้นคืออะไร ๆ เกี่ยวข้องขึ้นแล้ว ถ้ากระทบหม่อมเจ้าหม่อมหลวงแล้ว เจ้าเมือง กรมการ ขุนศาล ขุนโรง ก็ว่าเปนพระราชวงศานุวงศ์ว่าไม่ได้ การเปนดังนี้มาหลายครั้งหลายคราว จึงได้ตั้งกฎหมายแลหมายประกาศแขงแรง..... แต่เมื่อในหลวงบังคับดังนี้สั่งดังนี้ ท่านผู้เปนใหญ่เปนอธิบดีในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เดี๋ยวนี้ไม่เห็นด้วยไม่ทำตาม..... ท่านไม่ต้องกลัวต้องเกรงใจเจ้าแผ่นดิน ท่านก็ทำสบายใจ ตามตื่นฝรั่งอย่างเจ้าอังวะตื่นพระลังกา ฤาตื่นวาศนาตัวท่านเอง เห็นว่าในหลวงขัดไม่ได้คงต้องยอมตาม..... แต่พวกพระองค์เจ้า หม่อมเจ้าเล็กน้อยก็พลอยไป ไม่เกรงกลัวพระราชบัญญัติในหลวง..... แต่ยังขอบใจพระสยามเทวาธิราช เทวดาใหญ่รักษาแผ่นดินไทย แลพระเสื้อเมืองทรงเมือง พระกาฬไชยศรี บรรดาที่มีชื่ออยู่ในคำประกาศน้ำพิพัฒนสัตยานั้น ดูเหมือนยังเข้าด้วยในหลวงอยู่ หาเข้าด้วยใครไม่.....
ในหลวงบัดนี้ก็มีความเคารพแก่ผู้หลักผู้ใหญ่ในแผ่นดิน จะไปไหนนอกกรุงก็มีหนังสือไปทูลลาวังน่าทุกปีไม่ขาดเลย..... อนึ่งจะไปไหนแต่ละทีก็หาฤาคุณศรีสุริยวงศ์ก่อนทุกครั์ง ถ้าท่านทัดทาน ฉันก็ไม่เคยดึ้อดึงขัดขวางเลย ต้องยินยอมตามจริงไป แต่ที่ท่านทัดทานนั้นจำได้สองครั้ง ครั้งหนึ่งจะไปเกาะสีชังลมปีนั้นกล้านัก ท่านทัดทานไว้ว่าอย่าไปเลย คนที่ไปด้วยจะลำบากด้วยเมาคลื่น..... ครั้งหนึ่งขี้นไปเที่ยวถึงเมืองไชยนาทกับคุณศรีสุริยวงศ์ด้วยกัน ครั้งนั้นเห็นว่าเรือไฟไปคล่องอยู่ จะใคร่ไปให้ถึงเมืองนครสวรรค์ คุณศรีสุริยวงศ์ท่านห้ามไว้ว่าน้ำลดอยู่แล้ว ถ้าเรือไปเกยหาดติดอยู่จะมายาก เพราะไม่มีน้ำขึ้น มีแต่ลดลงก็ไม่ไป ฝ่ายวังน่านั้น ถ้าท่านจะไปนาน ๆ ท่านก็ให้มาลาทุกครั้ง แต่การที่มาลานั้น เหมือนกับมาปฤกษาก็หลายครั้ง.....
อนึ่งการพระราชบัญญัติใด ๆ ที่ทรงแต่งตั้งขึ้นไว้เปนแบบแผนเยี่ยงอย่างโดยยุติธรรมราชประเพณี พระราชวงศ์บางพระองค์มีประสงค์จะปิดบังไม่ให้ความนั้นทรงทราบ ถึงพระเนตรพระกรรณ..... เปนแต่มาลาอยู่บ้างแต่กรมหมื่นวิไชยชาญ ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ให้หนังสือเดิรทาง เพราะเข้าใจว่าพระบารมีวังน่าท่านมาก ถึงจะให้หนังสือเดิรทางไปก็ไม่ต้องการ.....
อิกแห่งหนึ่งกรมวงศา ฯ ออกช่องสามครั้งสี่ครั้งมาแล้ว ครั้งหนึ่งไปทัพพาเอาเจ้าศุขนักโทษไปด้วยไม่ได้บอกบาญชี ครั้งหนึ่งปล่อยให้เจ้ากลางลูกไปปฐมเจดีย์จนได้อ้ายพึ่งเปนผัว.....
อิกเรื่องหนึ่งกรมหลวงวงศา ฯ ให้เจ้าสายหนึ่ง เจ้าเจ้งหนึ่ง เรียกว่าองค์สายองค์เจ้งไปมอบเปนลูกศิษย์กงสุลอังกฤษ ครั้นกงสุลอังกฤษไปเมืองเชียงใหม่ ไปเมืองเมาลเมียนก็มอบให้ไปด้วย ไม่ให้ในหลวงรู้ครั้งนั้นข้าหลวงกรมมหาดไทยนายหนึ่ง ในหลวงให้ไปเพื่อนกงสุลอังกฤษ..... ไปปรับทุกข์กับพระยานครสวรรค์ว่า กงสุลอังกฤษเอาเจ้าลูกกรมวงศา ฯ ไปสององค์ไม่ได้ทูลลาในหลวง ก็ตัวขุนนางนายนั้นในหลวงให้กำกับกงสุลอังกฤษไป ก็การที่เปนนี้ผิดคำประกาศราชบัญญัติ มันจะมีความผิดด้วยจะทำอย่างไรดี..... ลูกจ้างกงสุลเก็บเอาความมาบอกแก่กงสุลอังกฤษว่าขุนนางนายนั้นไปนินทา กงสุลอังกฤษจึงมีหนังสือส่งถึงในหลวง ว่าตัวกงสุลอังกฤษเมื่อจะไปได้มาถามกรมวงศา ฯ..... กรมวงศา ฯ ก็ยินดียอมให้ไปด้วยต่อหน้าคุณศรีสุริยวงศ์..... บัดนี้ขุนนางผู้นั้นกลับไปนินทา..... ขอให้ในหลวงทำโทษขุนนางคนนั้น..... ในหลวงได้รู้แต่หนังสือกงสุลดังนี้ จึงได้ทราบความจากขุนนางคนนั้น ซึ่งกงสุลขอให้ทำโทษ ในหลวงได้ให้รางวัลเงินชั่งห้าฤาสามสิบแลเสื้อผ้าเปนรางวัล เพราะมันซื่อสัตย์มั่นคงซื่อตรงแด่แผ่นดินจริง ๆ ไม่ทรยศ
อนึ่งเมื่อครั้งกรมวิศณุนารถกับคุณศรีสุริยวงศ์ ลาไปเที่ยวสิงคโปร์นั้น พวกที่ไปในลำทั้งสองลำ ในหลวงก็ได้เรียกเอาบาญชีแจกเสื้อผ้าหมด ครั้งนั้นหม่อมเจ้าสององค์ในกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ แลหม่อมเจ้าแฉ่งในกรมขุนธิเบศร์บวร ตามคุณศรีสุริยวงศ์ไปด้วยในเรือท่าน ในหลวงก็ตามไปส่งถึงปากลัด หม่อมเจ้าสามองค์นั้น ก็หลบหน้าเสีย..... จึงได้ความว่า หม่อมเจ้าสามองค์นั้นหนีไปด้วย..... ในหลวงก็ไม่ห้ามหวงใครดอก ถ้าได้ลาแล้วก็ให้ไป แต่ที่จะหลบหนีไปดังนั้น จะเปนทางที่ให้แผ่นดินทลุนัก..... ก็ไพร่นอกกรุงมักตื่นเจ้านาย..... ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งเจ้าทั้งขุนนาง... เรื่องพระราชบัญญัตินี้ เห็นท่านจะไม่เห็นด้วย... ก็คงจะต้องเสียเงินปูนบำเหน็จแก่อ้ายคนที่กำกับกงสุลไปนั้น แลมันซื่อสัตว์แท้ต่อคำประกาศ..... จะเลื่อนที่มันให้เปนพระฤาเปนพระยาสุจริตรักษา ฤาวิเศษสัตยา..... เพราะมันถือยศแผ่นดินปัจจุบันนี้ รู้ยำเยงเกรงกลัว ไม่คิดล้างคิดทำลาย..... เรื่องนี้ในหลวงไม่ว่าอะไรต่อไปแล้ว..... หินหักอย่าเอามาโยนต้นโพธิเลย ในหลวงไม่ต้องการ.....
พระราชนิพนธ์ จดหมายพระศรีสุนทรโวหาร
ถึงขุนศรีสยามกิจ
ปีขาล พ,ศ, ๒๔๐๙
จดหมายถึงนายเนตร ขุนศรีสยามกิจ ผู้ช่วยราชการกงสุลฝ่ายสยาม ณ เมืองสิงคโปร์ ให้ทราบ
ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้ท่านแจ้งความแก่พระพิเทศพานิชสยามพิชิตภักดี ให้ทราบ ว่าหนังสือที่มีเข้าไปถวายโดยเรือกลไฟเจ้าพระยา ๒ ฉบับ..... กับหีบใหญ่ที่มาแต่มิศเตอร์ ด.ก. มาสอน.....
กงสุลออบาเรต เปนมนุษย์วิเศษ ถ้าทำกิริยาอะไรปลาดเปนเหตุขึ้น คนทั้งในเมืองนอกเมืองก็ตื่นกันไป..... ครั้งนี้วุ่นติดต่อกันมาถึง ๔๒ วัน..... แต่คราวนี้เห็นคนจะบ่นพึมพัมโต้กันอยู่ด้วยชื่อคนคนนี้ไปกว่าหนึ่งปีแน่แล้ว.....
แมมเนวละเวน ครูสอนหนังสือเจ้านายในนี้ เดี๋ยวนี้ซุกซนนัก เอานี่ซนนั่น เอานั่นซนนี่ แล้วก็กล้านัก ก็ให้ลูกเข้ามาเฝ้ากราบทูลว่า แมมจะขอเข้ามาเฝ้าเปนการร้อน รับสั่งว่ามาก็มาสิ ครั้นอย่างไร สืบรู้เข้าว่าท่านเสนาบดีเข้าเฝ้าอยู่ก็กระดากไปไม่เข้ามา..... แมมเนวละเวนจะเข้ามานี่ เพราะกงสุลอังกฤษให้เข้ามากราบทูลขู่ขัดขวาง จะยุให้ราชทูตสยามเสียไม่ให้ไป จะกราบทูลให้จ้าง เซอร์ ยอนโบวริง ใช้เปนราชทูต จะได้คิดเอาเงินสักพันชั่งสองพันชั่งขึ้นไป โอเจ้าชีวิตเมืองไทย พระราชทรัพย์เปนกองใหญ่ มั่งมีมาก แลมีสิทธิขาด มักอยากของปลาด แต่ขี้ขลาดขี้ตื่น บ้ายุบ้ายอ น่าพูดฬ่อเอาเงินจริง คำนี้นายเนตรอยู่เมืองสิงคโปร์นานแล้ว เห็นจะเชื่อไปบ้างดอกกระมัง.....
อนึ่งรับสั่งให้แจ้งความแก่นายห้าง เยลิผิล แลน ว่าเงินกู้กันที่สิงคโปร์ปีหนึ่งร้อยละเก้า ผิดกับที่กรุงเทพ ฯ อยู่หลายบาท ในกรุงปีหนึ่งร้อยละ ๑๕ ผิดกันถึง ๖ บาท ผู้จะกู้ในกรุงร้อยละ ๑๕ มีถมไป ห้างล้มเมื่อใดก็พลอยขาดทุนด้วย
หนังสือถวายเข้ามาเรือไฟคราวนี้ถึง ๓๒ ฉบับ ที่มีมาแต่ไกลมีชื่อกงสุล ออบาเรตด้วย..... โดยรูปความก็เปนความจงรักภักดี..... เข้าในบางกอกแพงมา ๒ ปี แล้ว พึ่งจะถูกลงปีนี้ เงินทองพึ่งจะได้มีมามากต้องแต่งทูตไปฝรั่งเศสก็ต้องเสียเงินมาก จะต้องทำการพระบรมศพด้วย จงมีอัธยาไศรยบ้างเถิด คำฤาเช่นว่าก่อนหน้านั้น ถึงว่ากันมากก็จริง จืดเสียบ้างเกิด ที่แท้ราชการสิทธิขาดคงอย่างไร ก็สุดแต่ท่านเสนาบดีเห็นพร้อมกันนั่นแหละ คำนี้เที่ยงแท้อย่าสนเทห์เลย
หมายเหตุ คำอธิบายของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์
..... หนังสือหลวงที่เกี่ยวกับคนต่างประเทศชั้นผู้ดีมียศ ก็ทรงพระราชหัตถ์ เปนภาษาอังกฤษเอง ถ้าชั้นปกติมักจะทรงดิกเตด ให้พระศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เขียน แล้วเซ็นชื่อเปนผู้รับสั่ง.....
จดหมายพระศรีสุนทรโวหาร ถึงขุนศรีสยามกิจ
ปีเถาะ พ,ศ, ๒๔๑๐
จดหมายพระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ มาถึงขุนศรีสยามกิจ ผู้ช่วยราชการกงสุลฝ่ายสยาม ให้ว่าการพระพิเทศพานิช.....
ในหนังสือพิมพ์มอนิเตอร์ใหม่ของพวกอเมริกา ก็ลงหนังสือพิมพ์ยุว่า เงินทองของแผ่นดินมีเปนนักเปนหนา ฝรั่งเศสจัดเรือรบไว้มาก เอาบ้านเอาเมืองใกล้เคียงบ้านเมืองไทยเข้ามา ทำไมผู้ครองฝ่ายไทย จึงไม่ออกเงินจ้างเรือรบเมืองอื่นมาช่วยป้องกันบ้านเมือง
อิกฉบับหนึ่งลงหนังสือพิมพ์ว่า ฯพณฯ สมุหพระกลาโหมให้เที่ยวทำแผนที่บ้านเมืองทุกหนทุกแห่ง จะสร้างเรลโรด (รถไฟ) แลเตเลแครบ (โทรเลข) เพ่นพ่านทั่วเมืองไป คราวนี้ไม่จริงดอก เปนแต่พูดฬ่อจะให้ออกเงินทำ จะได้บอกพวกพ้องให้เอาลวดมาขาย ทำสายเตเลแครบแลให้มารับจ้างเปนเอนเซเนีย กินเงินเดือน ๆ ละ ๑๐๐๐ เหรียญ แลจะได้สั่งเครื่องรถไฟแลเหล็กฟากปูทาง แลจะให้จ้างเจ๊กจีนพวกพ้องทำทาง เรือรถไฟแลเตเลแครบนี้ มีผู้มากราบทูลเซ้าซี้ฤาเขีนหนังสือมาถวายชักชวนให้ลงทำในปีหนึ่ง โดยน้อยก็กว่า ๒๐ ครั้ง..... มิศเตอร์ ด.ก. มาสอนคิดว่า จะทำทางรถไฟข้ามเมืองกระมาเมืองชุมพร ก็เลิกเปล่าไปไม่ใช่ฤา.....
แลครั้งนี้ มิศเตอร์ ริด เขียนหนังสือให้พระพิเทศกราบทูลว่า ถ้าจะโปรดให้เปนกงสุล ฤาโปลิติกอลเอเยน รับราชการเองธุระผู้ครองแผ่นดินฝ่ายสยามอยู่ ณ เมืองลอนดอนแล้ว จะขอเอาเงินเบี้ยหวัดปีละ ๑๐๐๐ ปอนด์ จะช่วยราชการฝ่ายสยามที่เกี่ยวข้องทุกบ้านทุกเมืองให้เต็มกำลัง ก็การฝ่ายเมืองสยามนี้ เปนบ้านเมืองมีเงินทองน้อย การที่เสื่อมเสียไปครั้งนี้ ก็มีแต่เรื่องเมืองเขมร เดิมเปนเมืองส่งส่วยบรรณาการอยู่ บัดนี้ฝรั่งเศสเอาไปเสียส่วยแลบรรณาการก็ตกไป ถ้ามิศเตอร์ ริด จะคิดเอาอำนาจอังกฤษไปกดฝรั่งเศส คืนเมืองเขมรมาขึ้นแก่ไทยตามเดิมได้ ส่วยแลบรรณาการจะได้แก่เมืองเขมร อย่างก่อนเต็มตัวทีเดียวไม่ขาดเลย ราคาจะไม่ถึง ๑๐๐๐ ปอนด์ ว่าตามจริงส่วยเมืองเขมรเปนกระวาน ๕๕ หาบ คิดราคาหาบละชั่งเศษ แลเร่วบ้าง รงบ้าง ขี้ผึ้งบ้าง น้ำรักบ้าง พอเปนตัวอย่างสินค้า ผ้าขาวแพรขาวบ้าง รวมราคาทั้งหมดประมาณ ๗๐ ชั่ง ฤาใกล้กับ ๗๐๐ ปอนด์ ต้องเสียของพระราชทานตอบแทน เปนราคา ๒๔ ชั่ง ๒๕ ชั่ง คงได้แต่เมืองเขมรอยู่ใน ๗๐ ชั่งเศษ ฤา ๔๐๐ ปอนด์ เศษ.....
............................
ชาวยุโรปแท้ก็ดี คนมิใช่ชาวยุโรปแต่สะสมวิชาการความรู้ข้างยุโรปมากก็ดี ดูก็เปนผู้สำคัญพระบารมี เพียงเปนขุนหลวงเถื่อน ขุนหลวงป่า สำหรับที่จะฬ่อบ้างขู่บ้าง แล้วก็ยุชักโยงให้ทำไปต่าง ๆ ตามชอบใจตัว..... จะทรงเชื่อถือทำตามไปก็จะได้เปนอันยากเข้า ๆ กันเข้าเองแล้วก็ขวิดกันขึ้นเองด้วยยากที่จะเชื่อ หลายครั้งเข้าก็จับได้จริง ๆ เหมือนอย่างว่ามานี่แล ฯ
พระราชหัตถเลขา ถึงพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์
ปีเถาะ พ,ศ, ๒๔๑๐
จดหมายมายังพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ราชทูต พระราชเสนาอุปทูตได้ทราบ
จดหมายของท่านสองฉบับ..... ฯข้าฯ ได้อ่านแล้วด้วยความยินดี..... ที่อาการกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศนั้น ทรุดลงทุกวันทุกเวลา บัดนี้สิ้นขีดแล้ว..... ฯข้าฯ คิดว่าจะได้ทำการศพที่ท้องสนามหลวง..... กงสุลออบาเรตได้เอากระบี่ แลมีดเหน็บบรรณาการกรุงฝรั่งเศสมามอบให้ ฯข้าฯ แลลูกชายจุฬาลงกรณ์..... อ้ายพวกผู้ร้ายปล้นจีน..... บัดนี้จับตัวได้ชำระเปนสัตย์ได้บ้างแล้ว อ้ายจีนหัวหน้าเปนคนต้มฝิ่นเถื่อนขายของพระยาบุรุษ แลว่าเปนหลานจีนเถ้าแก่ชัง ซึ่งพระยาบุรุษขอ ฯข้าฯ ตั้งเปนขุนราชการพยาพัฒ แลว่าเปนจีนเข้ารีดโรมันกาทอลิก บัดนี้พระรองเมืองจับตัวแลเครื่องมือ แลรูปพรรณได้เปนแน่เถียงไม่ได้ ชำระได้ความจริงแล้ว พระยาบุรุษแต่ก่อน ก็มักกระซิบ ฯข้าฯ ว่ากงสุลออบาเรต เขานับถือสรรเสริญในหลวงแลเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์มาก ไม่ชอบแต่ขุนนางผู้ใหญ่ดอก..... ครั้งนี้อ้างโจรผู้ร้ายปล้น ก็เข้าเดินทางกงสุลออบาเรต ๆ รับเอาลูกเมียอ้ายผู้ร้ายไว้ในบ้าน แล้วมีหนังสือมาขอโทษว่าเปนคนถือศาสนาเอมเปเรอ..... ขอให้เมียอ้ายผู้ร้ายไปอยู่บ้านอย่าให้จับ แลขอให้ตั้งกฎหมายใหม่ว่า คนถือศาสนาของเอมเปเรอ ถึงผิดโทษถึงตายอย่าให้ฆ่าเสีย ให้เนรเทศไปเสียจากเมือง ความคิดนี้จะเปนความคิดพระยาบุรุษฤาอย่างไรไม่ทราบ อย่าลงเอา ฯข้าฯ ด้วย ฯข้าฯ เปนคนซื่อตรงต่อแผ่นดินแลยุติธรรม พระยาบุรุษ ฯข้าฯ เลี้ยงมาก็จริง แต่เดี๋ยวนี้กินลูกยออ้ายเจ๊กจีนมาก เปนลูกศิษย์พวกข้าเจ้าบ่าวนาย ถนนบ้านหม้อ สวรรค์ฝิ่นเก่า มั่งมีมากขึ้นกำเริบใจ..... กงสุลออบาเรตออกมาว่า จะพักอยู่สิงคโปร์เดือนหนึ่งแล้วจึงจะไป จะว่าอะไรแก่ท่าน ๆ จะได้รู้คิดอ่านตอบ ฯข้าฯ เห็นว่า ถ้าว่าอะไรด้วยเรื่อง อ้ายจีนผู้ร้ายปล้นถือศาสนาเอมเปเรอ ก็ควรตอบแต่ว่า การก็คงสุดแต่ความในหนังสือสัญญา ว่าแต่เท่านี้ดีแล้ว อย่าว่ามากไป
....................
จดหมายมา ณ วันเสาร์ เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ปีเถาะ นพศก ฯ
พระราชปรารถเรื่องพัดรองที่พระสงฆ์ใช้
มีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ดำรัสสั่งให้เล่าความหลังให้ท่านทั้งปวงฟัง แลเตือนสติให้ท่านทั้งปวง รำพึงดูแต่ก่อนมาคุมบัดนี้ ก็เปนอย่างประเพณีผู้มียศในพระสงฆ์ ท่านองค์ใดรูปใด เปนราชาคณะถานานุกรม แลเจ้าอธิการแล้ว ก็ไม่ได้ถือตาลปัตใบตาลตามธรรมเนียม ถือพัชนีแทนตาลปัตทุกแห่งทุกตำบลสืบ ๆ มา ก็ฝ่ายคฤหัสถ์นั้น แต่ก่อนนับถือพัชนีเปนเครื่องยศ..... ว่าด้วยเจ้านายทั้งปวงก็ใช้พัชนีเปนเครื่องยศ..... เพราะแต่เดิมพัชนีเปนเครื่องยศอย่างนี้แล้ว บางทีผู้มียศเปนเจ้าของพัชนีล้มตายหายจากไป ก็เก็บเอาพัชนีที่ใช้เปนเครื่องยศนั้นถวายสงฆ์ไปใช้เปนตาลปัต..... ฝ่ายพระสงฆ์..... ก็ให้ลูกศิษย์พัดวีปฎิบัติตัวตามยศบ้าง ถือเปนตาลปัตบ้าง นับถือกันว่าเปนพระสงฆ์มีบันดาศักดิ์จึงใช้พัชนี ความนี้เปรียบเหมือนเครื่องลำยอง ฉ้อฟ้าใบรกานาค ฤา นาคเลี้ยวหางหงส์ เครื่องประดับหลังคาแลซุ้มจรนำคูหา เครื่องเหล่านี้เดิมก็เปนเครื่องประดับสำหรับราชอิศริยยศ..... ภายหลังในหลวงทรงพระราชศรัทธา ให้ไปทำถวายในพระศาสนา..... ก็ผู้ที่จะปฎิบัติพระสงฆ์ให้ชอบใจแลจะทำบุญให้มากก็ทำถวายขึ้น สร้างขึ้นชุกชุมมาก..... อย่างพัชนี..... ผู้จะทำบญเห็นว่าพระสงฆ์ชอบใจมากอยากถืออยากจะใช้ ก็ทำขึ้นถวายเปนการบุญไป จนถึงมีผู้ทำพัชนีเจ็ดก้านเจ็ดซี่ไม่ครบเก้าอย่างธรรมเนียมหลวง..... ถึงพัชนีข้างชาวบ้านก็เกลียดอายหายนับถือไปนานแล้ว เพราะเหตุที่เห็นพระสงฆ์ผู้มียศเอาไปถือเปนตาลปัตทุกหนทุกแห่งไปมากกว่าผู้ใช้ในบ้าน แต่ครั้งปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย เจ้านายเปนอันมากหลายแห่งด้วยกันเลิกพัชนีเสียไม่ใช้ ใช้พัดขนนกเปนเครื่องอยู่งาน ยังคงใช้อยู่แต่ในหลวง ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพัดอยู่งานก็ใช้พัดขนนกทั้งสิ้น..... มาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ พัชนีเลิกหลุดทีเดียว..... พระญาณสมโพธิ (ด้วง) วัดนาคกลาง ท่านนั้นแม้นเปนพระราชาคณะแล้วไม่ถือพัชนีเลย คงถืออยู่แต่ตาลปัตใบตาล..... เมื่อมีผู้ทักถาม..... ท่านตอบว่า พัชนีนั้นท่านคิดไปดูรูปร่างเห็นเปนน่าบัดสี..... เอามาถือบังหน้าบังตาครอบหัวครอบหูอย่างไรมิรู้อยู่น่ารำคาญใจ คิดดูเถิดบ้านอื่นเมืองอื่นพระสงฆ์ที่มีตาลปัตก็ยักย้ายไปต่าง ๆ อย่างตาลปัตพม่าก็เปนใบตาลก้านขด อย่างลังกาก็ดีเปนพัดด้ามงา วงพัดเปรรูปไข่มน ๆ เปนพัดจีนเปนอันมากหลายอย่างทั้งของดีของเลว..... พัชนีของไทยนี้รูปร่างน่ารังเกียจน่าบัดสี ผู้ที่ทำที่ใช้ไม่คิดดูบ้างเลยว่ารูปร่างไม่สู้ชอบกล
....................
ซึ่งท่านว่าดังนี้ก็จริงของท่าน..... ก็ครั้งนี้ทางพระราชดำริห์จะใคร่ให้พระสงฆ์เลิกใช้พัชนีเสีย จะกลับทำพัดโครงไม้ไผ่ขึง ๆ ปิดแพรปิดโหมดถวายให้ใช้เปนอย่าง พระสงฆ์ยอมฤาไม่ยอมไม่ทราบเลย การก็เคยมานานแล้ว ถ้าพระสงฆ์ยังชอบใจจะคงให้อยู่ก็ตาม
|