พระราชหัตถเลขา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 
 
 

 

พระราชหัตถเลขา ถึงพระองค์เจ้าปัทมราช


จดหมายถวายมายังพระองค์ปัทมราช เจ้าอาว์เจ้าน้าของกระหม่อมฉัน ให้ทราบพระหฤทัยว่า.....
ในเดือนห้าข้างขึ้นที่ในกรุงเทพ ฯ แขวงกรุงเทพ ฯ แลหัวเมืองใกล้เคียงมีความเปนไข้ป่วงใหญ่ลงรากเกิดขึ้น.....
....................
แลการพระเมรุพระศพ กรมสมเด็จพระเดชาดิศรนั้น กระหม่อมฉันก็ได้ให้ทำมาแต่เดือนยี่..... เร่งทำให้ทันแล้ง..... ครั้ง ณ วันศุกร์..... จึงได้ให้เชิญพระโกษฐพระศพกรมสมเด็จพระเดชาดิศร มาขึ้นมหาพิไชยราชรถ ตั้งขบวนแห่เข้าเมรุท้องสนามหลวง มีการมหรศพต่าง ๆ สี่วันสี่คืน ตามอย่างการพระศพกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ครั้งก่อน.....
....................
กระหม่อมฉันได้บุตรชายคนหนึ่ง..... กระหม่อมฉันให้ชื่อมนุษย์นาคมานพ.....
....................
กระหม่อมฉันเห็นอาการเจ้าพระยานคร เปนอันน่ากลัวนักไว้ใจไม่ได้.....
....................
ที่ผู้สำเร็จราชการเมืองพังงานั้น จะให้พระยาเสนานุชิต เปนนายขำ ซึ่งเปนพระภักดีนุชิตผู้ช่วยนั้น จะให้ไปเปนพระยาตะกั่วป่า แทนพระยาเสนานุชิต นายสิงห์บุตรพระยาเสนานุชิตจะให้เปนที่พระภักดีนุชิต ผู้ช่วยราชการเมืองพังงา.....
จดหมายถวายมา ณ วันจันทร์ แรม หนึ่ง ค่ำ เดือน เจ็ด ปีวอกโทศก ฯ

พระราชหัตถเลขา ถึงพระองค์เจ้าปัทมราช

จดหมายถวายมายังพระองค์เจ้าปัทมราช.....
ป้านุ้ยละทิ้งเสดจเสีย ออกไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช..... นับได้ถึง ๔๒ ปีมาแล้ว ไม่ได้พบกับเสดจเลย กระหม่อมฉันคิดสงสารเสดจด้วยคิดไปตามสามัญวิตก ว่าบุตรเดียวกับมารดา เมื่อบ้านเมืองเปนปรกติ ไม่มีศึกเสือเหนือใต้ มีไภยต้องแตกแตนกระจัดพรัดพรายดังครั้งกรุงเก่าเสียแก่พม่านั้นแล้ว ไม่ควรจะแพลงพลัดพรัดพรากจากกับนานดังนี้เลย..... ครั้งนั้นเปนครั้งคราวที่ควรอยู่แล้ว ที่จะเชิญเสดจออกไปพบป้านุ้ย อย่าให้เสียทีที่ป้านุ้ยยังมีชีวิตอยู่ จนเสดจก็เจริญพระชนม์ถึง ๗๒ แล้วนั้น จึ่งได้ทูลชวนเชิญเสดจแล้วรับเสดจไปด้วย แล้วยอมให้เสดจอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ไปกว่าป้านุ้ยจะสิ้นอายุ.....
....................
ตัวเลขสักเปนข้าในเสดจก็มีจำนวนหลายร้อยอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช.....
สินเดิมของป้านุ้ย เปนสิ่งของทองรูปพรรณแลเงินตราที่เปนเงินเดิมแลทำมาหาได้ใหม่..... ถ้าป้านุ้ยสิ้นอายุลง ใครเล่าจะควรได้มรฎก.....
เบี้ยหวัดแลเงินเดือนของเสดจ แลเบี้หวัดของป้านุ้ย จำนวนปีวอกโทศก ได้ถวายออกไปเสร็จแล้ว..... สิบสามเดือนเปนเงินชั่งหกตำลึง เบี้ยหวัดห้าชั่งเปนส่วนของเสดจ เบี้ยหวัดป้านุ้ยสองชั่ง.....
จดหมาย ณ วันพุธ แรม สิบสอง ค่ำ เดือน เจ็ด ปีรกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓

พระราชหัตถเลขา ถึงพระองค์เจ้าปัทมราช

จดหมายถวายมายังพระองค์เจ้าปัทมราช.....
....................
ราชการในกรุงเทพ ฯ ทุกวันนี้มีแต่ด้วยเรื่องเมืองเขมร เกิดรบพุ่งยุ่งยิ่งกันมาก เปนเหตุด้วยบุตรชายหญิงขององค์สมเด็จพระหริรักษ์ ฯ ที่ถึงแก่พิราลัยไปนั้น ไม่มีความสมัครสโมสรแก่กัน ต่างคนต่างจะชิงกันเปนเจ้าเมืองเขมรต่อไป แต่งพวกออกไปหัวเมือง เกลี้ยกล่อมคนเปนกองทัพแล้วรบกันหลายแห่งหลายตำบล นักองค์วีถา นักองค์ศิริวงค์ ๆ เปนผู้ก่อเหตุเดิม แล้วบัดนี้หนีเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ ฯ องค์พระนโรดม ฯ มหาอุปราชกับพระยาเขมรก็อพยพครอบครัว หนีเข้ามาอยู่ที่เมืองพัตบองเมืองอุดงมีไชย ยังอยู่แต่พระหริราชดนัย ฯ กับเจ้าผู้หญิง บัดนี้ที่กรุงเทพ ฯ ได้แต่งตั้งเจ้าพระยามุขมนตรี แลพระยาสีหราชฤทธิไกร ยกออกไปทางบก โดยทางเมืองพัตบอง แลให้พระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ กับ พระ (ราช) เสนา ยกออกไปทางเรือ ขึ้นเมืองกำปอด เพื่อจะให้รงับการเมืองเขมรให้สงบ บัดนี้การเรื่องนั้นก็ยังไม่จบลง
พระยาเสนหามนตรี นำแขกเมืองขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช คุมดอกไม้ทองเงินเข้ามาส่งตามกำหนด หนังสือของเสดจฝากมาถึงกระหม่อมฉันนั้น ก็ได้รับทราบความแล้ว..... ด้วยปีนี้ราชตระกูลนี้มีเคราะห์ร้าย..... ผู้มีบันดาศักดิ์ตายมากนัก ผ่อนปรนไม่ทันเปนความจนใจ
....................
วังน่าเดี๋ยวนี้ท่านประชวนมาแต่เดือนเก้า..... กระหม่อมฉันจะขอไปเยี่ยมก็ให้มาห้ามเสียว่าอย่าให้ไป กลัวคนจะฤาว่าประชวรมาก.....
อนึ่งกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ก็ป่วยโรคคล้ายกับเจ้าพระยานคร.....
....................
จดหมายมา ณ วันพุธ..... ศักราช ๑๒๒๓ เปนวันที่ ๓๘๔๓ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ ฯ

 



พระราชหัตถเลขา ภาษาอังกฤษ

พระราชทานไปยัง เสอร ชยอน เบาว์ริง ราชทูตอังกฤษ
ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘
กรมพระสวัสดี แปลถวายใหม่
จากสำเนาในสมุดซึ่ง เสอร ชยอน เบาว์ริง ให้พิมพ์
พระที่นั่งราชฤดี พระบรมมหาราชวัง
วันที่ ๓ เมษายน ค.ศ. ๑๘๕๕ เวลา ๔ ทุ่ม
ข้าแต่ท่านผู้เป็นไมตรี
ตามความที่ท่านได้บอกมาแก่จางวางมหาดเล็กทั้งสองวันนี้ ด้วยการยิงสลุต ๒๑ นัด แต่เรือแรตตเลอร์ ซึ่งจะได้ขึ้นมาถึงป้อมใหม่ใต้พระนครในวันพรุ่งนี้ และเขาทั้งสองได้ชี้แจง ประเพณีนิยมฝ่ายไทย ว่าห้ามมิให้ยิงสลุตแม้แต่ที่หนึ่งใน ๒๑ นัดนั้น บัดนี้ข้าพเจ้าตกลงใจ ยินยอมอนุญาตให้เป็นไปตามประเพณีนิยมข้างฝ่ายท่าน และตามจำนงของท่านที่จะแสดงความเคารพ ต่อข้าพเจ้าอย่างยิ่งนั้นด้วย แลเพื่อจะให้ชอบแก่ความประสงค์ของท่าน ข้าพเจ้าจึงได้ออกประกาศห้ามมิให้ประชาชนพลเมือง ตระหนกตกตื่นไป ข้าพเจ้าขอยินยอมตกลงให้เรือไฟแรตตเลอร์ยิงสลุต ๒๑ นัดได้ ในเวลามาถึงที่ทอดสมอ ซึ่งกำหนดไว้ให้ที่ป้อมใหม่นั้น ครั้นเมื่อยิงนัดที่ ๒๑ เสร็จแล้ว ทหารฝ่ายเราในป้อมจะยิงสลุตตอบโดยจำนวลเดียวกัน ขอท่านได้สั่งนัติหมายแก่นายเรือกลไฟของท่าน ให้ยิงสลุตตามประเพณีอังกฤษนั้นเถิด ฯ
(ลิขิต) นี้แต่มิตรของท่าน
(พระปรมาภิไธย) ส.พ.ป.ม. มงกุฎ
พระเจ้าแผ่นดินสยาม
มายังท่านราชทูต เสอร ชยอน เบาว์ริง
ก.ลล.ดง ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

 

พระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษ

พระราชทานไปยัง เสอร ชยอน เบาว์ริง ราชทูตอังกฤษ
ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘
กรมพระสวัสดี แปลถวายใหม่

พระที่นั่งราชฤดี พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพ ฯ
วันที่ ๑๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๕๕
ซึ่งเปนปีที่ ๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
ท่านผู้เปนที่นับถือ
ข้าพเจ้าได้มีโอกาศเขียนหนังสือมายังท่าน ๒ ครั้ง.... บัดนี้แลข้าพเจ้าถือโอกาศขอนอบน้อมส่งมายังท่าน ซึ่งหนังสือไวยากรณ์ ภาษาลาตินกับภาษาไท อันสาธุครูเจ้า ชยอน บัปฺติสตฺ ปัลลกัวซ์ เปนผู้ประพันธ์วรรณการได้พิมพ์ขึ้นที่นี่เมื่อสี่ปีล่วงมาแล้ว ในหนังสือเล่มนี้ มีจดหมายเหตุ แลตำนาลพงศาวดารสยามแต่ย่อ ๆ เปนภาษาละติน แต่ข้าพเจ้าเสียใจที่จะต้องกล่าวว่า มีถ้อยคำคลาดเคลื่อนมากในกระบวนชื่อบ้านเมืองภูมิประเทศ.....
อนึ่งข้าพเจ้าของส่งสำเนาอักษรไทยโบราณ อันแรกเริ่มประดิษฐ์คิดเขียนขึ้นในเมืองไทฝ่ายเหนือ เมื่อปีคริสตศักราช ๑๒๔๒ นั้น มาให้ท่าน ๒ ฉบับ อักษรเหล่านี้คัดมาจากหลักศิลาอันจารึกอักษรนั้น ๆ ไว้ ข้าพเจ้าเริ่มแปลเปนภาษาอังกฤษ เพื่อให้แก่ท่าน แต่ยังทำไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ในคราวนี้.....
..... ข้าพเจ้ากับน้องชายข้าพเจ้าคือกรมหลวงวงศาธิราชสนิธ..... กำลังพยายามตระเตรียมแต่งตำนาลกรุงสยามอันถูกต้อง จำเดิมแต่สร้างกรุงศรีอยุธยาโบราณเปนราชธานี เมื่อปี ค.ศ. ๑๓๐๕ นั้น กับทั้งพงศาวดารราชวงศ์ของเรา
ให้พิสดารยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงมาให้ท่านคราวนี้
เราได้เริ่มเรียบเรียงอยู่เปนภาษาไทก่อน ในเบื้องต้นเราจะเลือกคัดเอาเหตุการณ์อันพอฟังเปนจริงได้ จากหนังสือกฎหมายไทโบราณ แลพงศาวดารเขมรทั้งหลาย กับทั้งคำบอกเล่าแต่ท่านผู้เฒ่าอันเปนที่เคารพและควรเชื่อถือได้.....
....................
ขอวางตนเปนฉันท์มิตรอันซื่อสัตย์ของท่าน
(พระปรมาภิไธย) ส.พ.ป.ม. มงกุฎ
พระเจ้าแผ่นดินสยาม
มายังท่าน เสอร ชยอน เบาว์ริง
ก.กล.ด. ผู้ดูแลการค้าขายในประเทศจีน
และผู้ว่าราชการเมืองฮ่องกงกับเมืองขึ้นทั้งหลาย
ฯลฯ

 

พระราชหัตถเลขา ถึงเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์

ครั้งไปเมืองสิงคโปร์
ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔

จดหมายมายังคุณศรีสุริยวงษ์ ให้ทราบ..... ข่าวราชการทางเมืองเขมรก็ยังหามีบอกเข้ามาไม่ วันนั้นเวลาตึกวังน่าท่านเสดจลงไปตามส่ง..... ท่านกลับมาแล้วเขียนจดหมายมาบอกแก่ฉันว่า ท่านลงไปตามหาทันคุณศรีสุริยวงษ์ไม่..... แลว่าพบเรือสุลต่านมหหมัดที่ปากคลองบางปลากด ในกลางคืนวันนั้น..... สุลต่านมหหมัดก็มาหากรมวงษา ยื่นหนังสือไว้เปนความกล่าวโทษพระยาตรังกานู จะขอว่าความให้เงียบ ๆ อยู่ก่อน หนังสือนั้นฉันได้สั่งกรมวงษา ให้คัดฝากออกมาให้ดูในครั้งนี้ด้วยแล้ว ต่อมาวันแรม ๔ ค่ำ จึงได้กำหนดนัดประชุมรับแขกเมือง จึงสั่งให้สุลต่านมหหมัด ฯ เมืองตรังกานูมาเข้าเฝ้าพร้อมกัน สุลต่านมหหมัดสั่งกรมวงษามาว่า ถ้าจะให้เฝ้าพร้อมพวกตรังกานูแล้ว ขอเสียอย่าให้ถามเรื่องที่ว่ามาด้วยเหตุไรต่อหน้าพวกตรังกานู ต่อเวลาว่าง ๆ มื้ออื่นจึงจะขอเข้าเฝ้า แลจึงให้ถาม ครั้นเมื่อวัน ๔ ค่ำ เวลาบ่าย สุลต่านมหหมัดกับบุตร แลญาติพี่น้องที่เปนตองกูเมืองลิงคา ๙ คนด้วยกัน กับทั้งพวกตรังกานูก็เข้ามาหา ฉันเรียกให้นั่งขึ้นมาเสมอเสนาบดี ให้ขึ้นนั่งบนเบาะก็หาขึ้นไม่ หมอบอยู่แต่ริมเบาะ ฉันจึงได้ปราไสว่า เมืองลิงคานั้นได้ยินแต่เขาออกชื่อ แลฤาว่าเดิมเปนเมืองใหญ่ มีเมืองขึ้นเมืองออกหลายเมือง เปนที่อยู่ของผู้ครองแผ่นดินที่แขกมลายูนับถือว่าเปนเจ้านายมีสกุลสูง แลได้เหนในแผนที่เขียนไว้เปนเกาะหนึ่ง เนื่องกับแผ่นดินสุมาตรา แต่คนในเมืองนั้นแต่โบราณมา จนครั้งนี้ไม่ได้ยินว่าใครมายังเมืองไทยนี้ แลฝ่ายไทยก็ไม่มีใครไปเมืองลิงคา..... ธรรมเนียมราชสกุลในไทยนี้ เมื่อรู้เปนแน่ว่าผู้นั้นเปนบุตรหลานเชื้อวงษ์ของสกุล ที่ชนเปนอันมักนับถือแล้ว ก็ไม่ดูถูกดูหมิ่นรังเกียจรังงอน..... สุลต่านมหหมัดจึงตอบว่า ซึ่งต้อนรับเปนการนับถือดังนี้นั้น ขอบพระเดชพระคุณนักหนา..... ฉันจึงได้ถามว่า ได้ยินว่าเปนญาติกันกับพระยาตรังกานูนั้น เปนญาติกันอย่างไร สุลต่านมหหมัดตอบว่า พระยาตรังกานูนั้นเปนน้า ฉันจึงว่าสุลต่านมหหมัดก็ไม่ได้เปนผู้ขึ้นแก่ไทยดอก..... สุลต่านมหหมัดจึงว่าซึ่งเข้ามาครั้งนี้ด้วยคิดเหนว่า ตัวไม่มีที่พึ่งแล้ว มาถวายตัวเปนข้าตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรด เมื่อพูดกับสุลต่านมหหมัดเท่านี้แล้ว ฉันก็ปราไสพวกเมืองตรังกานูตามธรรมเนียม แลไต่ถามถึงข่าวพระยาตรังกานูที่ไปแลมา เมื่ออุรังกายอแดหวามานั้น ทั้งความว่าของเครื่องนอกราชบรรณาการนั้น พระยาตรังกานูที่ไปแลมา เมื่ออุรังกายอหวามานั้น พระยาตรังกานูเอามากับตัว..... ครั้นแล้วฉันก็สั่งว่า มาพบกันวันนี้เปนปฐม เปนการมงคลให้เชิญไปกินเลียงกันเถิด ฉันก็ลงมาจากที่นั่งเสวตรฉัตร ลงมาจับมือกับสุลต่าลมหหมัดกับบุตรเปนปราไสอย่างอังกฤษ แล้วจึงกลับเข้าข้างใน สุลต่านมหหมัดกับบุตรแลพี่น้อง ๙ คน เชิญไปกินเลี้ยงที่หอโภชนลีลาศ แต่พวกตรังกานูแลบ่าวไพร่ให้ไปเลี้ยงที่ศาลาลูกขุนตามอย่างเดิม..... ครั้นล่วงวันมา ท่านกรมท่าเอาจดหมายของกงสุลอังกฤษยื่นมาให้ดูสองฉบับ ฉบับหนึ่งว่า อังกฤษที่เมืองทวายฟ้องเข้ามาว่าผู้ร้าย อนึ่งหาฤามาว่าอย่างธรรมเนียมข้างอังกฤษ สัตว์ของเลี้ยงต้องตีตราเสียเปนสำคัญจะดี เปนที่ชำระโจรผู้ร้ายง่าย ถ้าผู้ครองฝ่ายไทยเห็นด้วยจะคิดตีตราแล้ว กงสุลจะมีหนังสือไปถึงควอเวอนอร์ เยเนราล ผู้สำเร็จราชการอินเดีย ณ เมืองกลักตาให้คิดอ่าน
อีกฉบับหนึ่งแจ้งความว่า ในคราวเรือเจ้าพระยาเข้ามานี้ มีหนังสือเจ้าเมืองสิงคโปร์ส่งเข้ามาให้กงสุลผู้ครองฝ่ายไทย ว่าสิงคโปร์นั้นมีข่าวฤาออกไปว่า ผู้ครองฝ่ายไทยจะถอดพระยาตรังกานูเสียจากที่ แล้วจะต้องอาเกษสุลต่านมหหมัด เจ้าเมืองลิงคาคนเก่าซึ่งเปนบุตรเขย ของพระยาตรังกานูนั้น จริงฤา ได้คิดกันเขียนคำตอบจดหมายฉบับหลังให้ลงไปแล้ว ร่างคำตอบนั้นฉันได้สั่งท่านกรมท่าให้คัดส่งออกมาให้ดูแล้ว แต่เรื่องที่จะให้ตีตราสัตว์นั้น ได้ผัดไปว่าจะปฤกษากันดูก่อน
....................
ญาติพี่น้องบุตรภรรยาในบ้านคุณศรีสุริยวงษ์ แลบ้านอื่นบัดนี้ก็อยู่เยนเปนศุขดีอยู่หมด
จดหมาย ณ วัน .......... ศักราช ๑๒๒๓ ฯ

 

พระราชหัตถเลขา ถึงพระยาวิชิตชลธี ฯ

ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔

จดหมายมาถึงพระยาวิชิตชลธี ฯ ผู้สำเร็จราชการเมืองตาก ว่านายจุ้ย..... ไปยื่นเรื่องราวร้องฎีกาฟ้องกล่าวโทษพระยาตากว่า เจรจาหยาบช้าต่อแผ่นดิน ก็ความหยาบช้านั้นมีธรรมเนียมให้ยกเสียไม่ชำระ เพราะหาต้องการจะพังไม่ก็เปนอันยกความเสียแล้ว
แต่ยังสงสัยอยู่บ้างเล็กน้อย จึงว่าหารือมา ในคำหยาบช้านั้นนายจุ้ยกล่าวว่า พระยาตากว่าแผ่นดินทุกวันนี้ไม่เหมือนแผ่นดินก่อน ๆ ..... ก็คำโบราณว่าออกจากปากเข้าหูคนออกจากก้นก็เหม็น คำนั้นชรอยจะมีผู้พูดให้นายจุ้ยได้ยิน..... พระยาตากเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มาจนถึงเวลาที่กองทัพที่ไปรบเมืองเชียงตุงกลับมา ก็ยังเปนพระยาไชยนาทอยู่..... พระยากำแพงเพ็ชร์เกิดนั้น เดิมเปนผู้ช่วยราชการเมืองกำแพงเพ็ชร์ ครั้งพระยากำแพงเพ็ชร์เถื่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เปนพระยาตาก ครั้นเมื่อปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพลสงครามลาวที่เปนพระยาสยามสิมานุรักษ์เดี๋ยวนี้ ฟ้องกล่าวโทษด้วยความต่าง ๆ เพื่อจะชิงเอาที่พระยาตาก ครั้งนั้นพระพลสงครามไม่ฟ้องแต่พระยาตาก ฟ้องเอาตัวข้าพเจ้าด้วยว่าข้าพเจ้าร่วมคิดกลับพระยาตาก ลอบลักสมคบกับฝรั่งอังกฤษเมืองเมาลแมน ให้หนังสือให้พระยาตากคุมไป แลรับหนังสือตอบมา ด้วยเห็นว่าครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชังฝรั่งอังกฤษนัก เขาจะเอาความชอบแก่ตัวให้มาก จะได้เปนที่พระยาตาก จะฟ้องแต่พระยาตากกลัวกลัวจะได้ความชอบน้อยไป เขาเหนข้าพเจ้าเปนคนโตชื่อใหญ่ ครั้งนั้นชาวบ้านชาวเมืองเล่าลือว่า กีดพระเนตรพระกรรณพระเจ้าอยู่หัว เขาจะเอาความชอบให้มาก เขาจึงเอาชื่อข้าพเจ้าใส่เข้าว่าสมคบกับพระยาตากเกิด คิดกันให้กันให้หนังสือลับไปคบฝรั่งอังกฤษเหมือนเปนขบถ เขามายื่นฟ้องไว้แล้วที่กรมมหาดไทย ผู้น้อยผู้ใหญ่ได้รับเรื่องราวไว้ทราบอยู่สิ้น พอพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร เสนาบดีผู้ใหญ่พร้อมกันเลือกข้าพเจ้า ให้เปนผู้รักษาแผ่นดินอยู่ครั้งนั้น พระพลสงครามลาวจึงตกใจกลัวข้าพเจ้าจะเปนใหญ่ขึ้นจะตัดหัวเสีย จึงรีบมาขอถอนฟ้องลบชื่อข้าพเจ้า..... แล้วจึงไปหาไปฝากตัวแก่ข้าพเจ้าตาลนตาลาน ข้าพเจ้าพึ่งรู้จักเข้าภายหลังพระยาตากเกิดดอก แต่ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดูตามการที่จริงนั้น ความต่าง ๆ ในเมืองตาก พระพลสงครามลาวฟ้องพระยาตากเกิดนั้นเป็นความจริงโดยมาก พยศพระยาตากเกิดนั้นอย่างไร ฯข้าฯ ก็รู้อยู่เต็มอกเต็มใจ..... เมื่อชำระความเข้าด้วยข้อคดีกล่าวฟ้องหากันนั้น พระยาตากก็แพ้แก่คดีหลายข้อ ควรที่จะถอดพระยาตากเกิดออกเสียแล้ว แลตั้งพระพลสงครามลาวให้เปนพระยาตาก ให้ต้องตามความประสงค์ แต่ครั้นจะทำดังนั้น ข้าพเจ้านึกว่าพระพลสงครามลาวจะสำคัญว่า การซึ่งฟ้องข้าพเจ้าเปนข้อความใหญ่โตขึ้นนั้น ข้าพเจ้าเปนคนงมงายนักไม่รู้ตัวเลย จึงยกยอขอให้พระพลสงครามนั้นเปนพระยาตาก พระพลสงครามจะกำเริบใจไปนัก จึงเอาทานบลพระยาตากเกิดแล้วภาคทัณฑ์ไว้ ให้ว่าราชการเมืองต่อไปจนพระยากำแพงเพ็ชร์น้อยพี่ชายถึงแก่กรรมแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ยกพระยาตากเกิดมาเปนพระยากำแพงเพ็ชร์เสียด้วย เหนว่าเมืองตากเปนเมืองสำคัญต่อเขตแดนกับลาว แลเมืองเมาะลำเยิงราชการสำคัญ ๆ มากอยู่จะให้พระพลสงครามลาวเปนพระยาตาก เหนว่าความปราถนาของท่านจะเกิน ๆ ดังว่ามาแล้ว เมืองก็จะเปนเมืองลาวแท้ไป ไหน ๆ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านก็ได้ทรงพระราชดำริห์ตั้งผู้สำเร็จราชการเมืองเปนไทยไว้แล้ว จึงตั้งพระศักดาเรืองฤทธิ์ปลัดไทยนายหนึ่ง พระวิชิตรักษาปลัดลาวนายหนึ่ง ให้กำกับกันว่าราชการบ้านเมือง รักษาเขตรแดนพระราชอาณาจักรในหัวเมืองสำคัญ ที่ต่อกันกับเมืองลาวเมืองญวนนั้น..... กรมหลวงวงษาธิราชสนิทบอกแก่ข้าพเจ้าว่า พระยาไชยนาทคือตัวท่าน เปนผู้มีปรกติเรียบร้อยดี..... เห็นควรที่จะวางใจให้ไปเปนที่พระยาตากได้ ข้าพเจ้าจึงได้ตั้งท่านไปให้เปนพระยาตาก พระพลสงครามลาวนั้น ครั้งจะไม่เลื่อนที่ให้มียศขึ้นไปสมแก่ใจประสงค์บ้าง ก็จะเปนที่เสียใจ เหนไปว่าข้าพเจ้าอาฆาฏ ๆ ข้าพเจ้าจึงได้เลื่อนที่ตั้งให้เปนพระยาสยามสิมานุรักษ์ มีบันดาศักดิ์สูงขึ้น แล้วตั้งบุตรพระยาสยามสิมานุรักษ์นั้นเปนที่พระพลสงคราม..... ก็ที่พระยาสิมานุรักษ์ทำแก่ข้าพเจ้าครั้งนั้น ก็เปนความผิดทำไปตามภาษาใจลาวชาวบ้านนอกไม่รู้จักผิดชอบใหญ่น้อยตื้นลึกหนาบางอะไร การไม่ควรที่ข้าพเจ้าจะถือโทษเลยจริง ๆ ทีเดียวอย่าว่าถึงเวลาโน้นเลย ถึงเวลากาลบัดนี้คนนอกกรุงที่ไม่ใคร่ได้ไปมาที่ในกรุงเทพ ฯ นี้ จะรู้ที่ใหญ่ที่น้อยเปนดวงใจแผ่นดินสิทธิ์ขาด ในราชการทั้งปวงนั้น จะอยู่ที่ไหนแห่งไหนเหนจะรู้ต้องกัน ก็คำที่นายจุ้ย..... ที่ว่าแผ่นดินทุกวันนี้ไม่เหมือนแผ่นดินก่อน ๆ พูดกลับไปกลับมาเอาจริงไม่ได้นั้น คำนี้ก็เปนกลาง ๆ อยู่หารู้ว่าใครไม่ ก็แผ่นดินเปนดินพูดไม่ได้ ก็เหนว่าเจ้าแผ่นดินผู้สิทธิขาดในแผ่นดินกระมัง ก็ผู้ที่กล่าวคำนี้นั้นจะสำคัญว่าตัวข้าพเจ้าเปนเจ้าแผ่นดิน ผู้ว่าราชการแผ่นดินฤา จะรู้ว่าราชการแผ่นดินสิทธิขาดอยู่แก่ท่านผู้อื่น ๆ เปนเจ้าของแผ่นดินประการใด..... ท่านก็อยู่ไกลไม่ใคร่ได้ไปมาหาคุ้นเคยกับข้าพเจ้า เปนแต่ได้ฟังคำลือคำเล่า แลฟังจากท้องบัตรใบตราที่มีไป ลางเรื่องเขาก็ให้ข้าพเจ้ารู้ ข้าพเจ้าจะได้รู้ก็แต่เรื่องการสลักสำคัญเปนการใหญ่ ๆ ..... ถึงเรื่องส่วยไร่ก็เหมือนกัน การนั้น ๆ ก็สุดแต่เสนาบดี ก็เมื่อมีดวงตราพระราชสีห์ประทับอ้างพระราชโองการไปแล้ว หัวเมืองก็สำคัญเสียว่าตัวข้าพเจ้าฤาท่านผู้ใด ที่เขาว่าเปนเจ้าแผ่นดินนั้นแล มาจู้จี้สั่งเสียกะเกณฑ์เร่งรัดไปทุกสิ่งทุกอัน..... ฉบับหนึ่งว่าอย่างหนึ่ง ฉบับหนึ่งว่าอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าคนเดียวจะระวังตรวจตราไปให้ทั่วถึงก็เปนอันยาก.....
....................
ความที่ทีมาในจดหมายท่านแล้ว จะว่ากระไรก็ขอท่านจงหมายให้ ขุน เสนีถือมา
ณ วันจันทร์..........ศักราช ๑๒๒๓..........

พระราชหัตถเลขา ถึงพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าคัคณางคยุคล

ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔

จดหมายมายังชายคัคณางคยุคลของพ่อให้ทราบ บัดนี้ราชทูตเมืองปรุสเซีย ออกมาดูเมืองเพ็ชรบุรี ถ้าเขามาถึงแล้วจะต้องรับจับมือเขาให้ยินดี แล้วชวนพาเขาขึ้นไปเที่ยวดูบนพระนครคีรี แล้วจงพาเขาเข้าไปดูห้องนี้โดยสมควรเถิด แต่จงกราบเรียนคุณศรีสุริยวงษ์ให้ท่านบังคับให้เฝ้าที่ แลชาวที่มหาดเล็กเด็กชาไปกวาดแผ้วเสียก่อนอย่าให้รกรุงรัง แล้วให้มีผู้รักษาอย่าให้เงียบเหงาไป แลพาเขาไปเที่ยวตามทางบนเขาจนถึงพระเจดีย์พระนอนก็ได้
อนึ่งถ้าเขาจะไปเขาหลวงเขากระไดอิฐแลในเมือง ถ้ารถมีอยู่ใช้ได้ก็จงเอารถรับเขาไปเถิด
อนึ่งจงกราบเรียนคุณศรีสุริยวงษ์ว่า อาการพระยาพิศาลนั้นป่วยมาก.....
อนึ่งจงกราบเรียนว่า จมื่นทิพรักษากลับมาถึงแล้ว ถือหนังสือบอกข้อราชการมาหลายฉบับ พ่อได้ส่งให้พระยาราชเสนาคัดส่งออกมาให้ท่านแล้ว
ที่ในวังนี้พ่อแม่แลญาติพี่น้องของคัคณางค์ ก็อยู่ดีอยู่หมด.....
กรมหมื่นเชษฐาธิเบนทรตายเสียแล้ว...... พระองค์เจ้าสว่างในวังน่าพระนั่งเกล้าก็ป่วยหนัก.....
จดหมายมา ณ วัน.......... ปีระกา ตรีศก..........

 

พระราชหัตถเลขา ถึงพระยาราชวรานุกูล

ปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕

ถึงพระยาราชวรานุกูล.......... ณ เมืองอุดงมีไชย
จดหมายมายังพระยาราชวรานุกูล พระยาปราจิณบูรีให้ทราบ ด้วยการที่เมืองเขมรข้าพเจ้าคอยฟังอยู่.....
ราชการในกรุงเทพ ฯ อื่น ๆ เปนสำคัญไม่มี..... พระศรีเสนาบอกมาว่า จะมีหนังสือถึงองค์พระหริราชดไนยไกรแก้วฟ้า แลองค์ศรีวรกษัตริย์..... ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะต้องมีหนังสือไปถึงพระนโรดมด้วยจึงจะชอบ.....
วังน่านั้นท่านก็ยังบอกประชวรอยู่ดังเก่า ไม่เสด็จไปไหนได้จนบัดนี้.....
....................
จดหมายเพิ่มเติมมาว่าพระยาราชวรานุกูล พระยาปราจิณบูรี เมื่อไปอยู่เมืองอุดงมีไชย ถ้าราชการช้าอยู่ไม่สู้มีอะไรนัก คิดอ่านทำเครื่องศิลาเขมร..... ที่ควรถวายพระได้ฝากมาบ้าง.....

 

พระราชหัตถเลขา ถึงพระยาราชวรานุกูล

ปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕

จดหมายมายังพระราชวรานุกูล พระยาปราจิณบูรีให้ทราบ..... หนังสือแลสิ่งของซึ่งข้าพเจ้าจะให้ออกไปถึงท่านทั้งสอง มอบให้จมื่นไชยาภรณ์ลงเรือไปแล้ว..... หนังสือจำพวกที่มากับใบบอกจึงได้มาถึง แต่พระยาเขมรที่ว่าคุมเครื่องราชบรรณาการมานั้น ก็ยังหามาถึงไม่ ข้าพเจ้าได้ฟังความใบบอก แลจดหมายทั้งปวงนี้ข้าพเจ้าแลกรมหลวงวงษาธิราชสนิท แลคุณศรีสุริยวงษ์ ก็เห็นพร้อมกันว่า ท่านประพฤติถูกต้องแก่เหตุการณ์ดีอยู่แล้ว ไม่ติเตียนอะไร แต่หนังสือซึ่งพระยาธรมาเดโชเมืองบาพนม แต่งให้ไปถึงนายทัพฝรั่งเสศค่ายโรงดำรินั้น เมื่อตั้งเค้าเงื่อนขึ้นก็ดีอยู่แล้ว แต่ซึ่งหยิบยกข้อหนึ่งในหนังสือสัญญาว่าไปนั้น ความก็หาถนัดสนิทไม่ เพราะข้อสัญญานั้นว่ากันแต่ด้วย การที่เรือฝรั่งเสศเข้ามาทอดอยู่แลคนฝรั่งเสศมาตั้งอยู่ในบ้านเมืองฝ่ายเราย่างเดียว ไม่ได้ว่าด้วยเรื่องเขตรแดนต่อกัน ข้างฝ่ายอัดมิราล แม่ทัพฝรั่งเสศ เขาว่ามาในหนังสือที่มีมาในกรุงเทพ ฯ นั้นว่าไปข้างกฎหมายบ้านเมืองต่าง ๆ ที่เรียกว่า อินเตอร์แนชินานลอ จะต้องมีหนังสือเจ้าพระยาพระคลังไปว่าแก่ตัวอัดมิราลเอง จึงจะตกลงเปนแน่ได้ ด้วยนายทัพที่ไปรับพวกสนองโสไว้ เราได้บอกไปถึงอัดมิราลนายเขาแล้ว เขาคงคอยฟังบังคับบัญชานายเขา ข้าพเจ้าเหนว่าถ้าได้เพียงว่า ให้ฝรั่งเสศส่งตัวสนองโสกับคนสนิทร่วมชมร่วมอ่าน ให้เข้ามากรุงเทพ ฯ อยู่กับองค์วรรดถาเสียในกรุงเทพ ฯ..... ครอบครัวที่ตามสนองโสไปเหล่านั้น จึงค่อยติตไปเกลี้ยกล่อมให้กลับคืนมาเมืองเขมร
การที่ว่าได้ไกล่เกลี่ยเจ้าเขมรให้เรียบร้อยกัน แลว่าค่อยเรียบร้อยลงทุกทีนั้น ข้าพเจ้าเหนว่า ถ้าพระยาราชวรานุกูลยังตั้งอยู่ที่เมืองเขมรกราบใด ก็เหนว่าจะเรียบร้อยไปได้กราบนั้น..... แต่ข้าพเจ้ายังวิตกอยู่ว่า พวกที่ไม่ชอบองค์พระนโรดมนั้น..... มักจะคิดก่อเหตุเมื่อยามประมาท ให้ผู้หนึ่งฤาผู้สองซึ่งเขาสำคัญว่า เปนผู้คิดขวางความประสงค์เขานั้น เปนอันตรายไปก่อน แล้วจึงเขาไปทำตามความคิด ด้วยเข้าใจว่ามีเวลาเปนช่องโอกาสมาก เพราะเหนว่าเหตุนั้นกว่าจะทราบถึงกรุงเทพ ฯ ก็จะช้าวันช้าเวลา..... กว่าถั่วจะสุก งาก็จะไหม้ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอกำชับมาว่า ตัวของพระยาราชวรานุกูลต้องคิดระวังตัวให้มาก อย่าไว้ใจคนง่าย ๆ..... อนึ่งถึงองคพระนโรดม ถ้าจะทำนุบำรุงเขาแล้ว ต้องให้สติให้ระวังตัวให้มากก่อนเหมือนกัน ในเวลานี้เมื่อเหนว่าเรียบดีแล้ว พระราชวรานุกูลแลกองทัพไทยจะกลับเข้ามาเสีย แล้วคิดไปก็ไว้ใจยากอยู่ เพราะต้องคำโบราณว่า

ถ้วยโถแตกร้าวเอากาวติด ถึงสนิทก็คงเปนอันเหนแผล
เมื่อใครพิจารณาเอาตาแล คงเหนแท้ว่าแศกแยกที่กัน
เพราะฉะนั้น เมื่อไรการสงบเงียบเรียบร้อยแล้ว กองทัพฝ่ายเราคิดจะเลิกกลับมา จะต้องหยั่งจิตรหยั่งใจ แลพูดจาเอาความจริงใจของเจ้านายทั้งสองฝ่าย แยกย้ายปฤษาข้างละทีหาฤาดูก่อน จะต้องคิดติดผันผ่อนเสียให้จนเราไว้ใจได้เปนแท้ ว่าความวุ่นวายกันในอนาคต จะไม่มีเปนแน่แท้แล้ว จึงจะเลิกทัพกลับมาได้.....
อนึ่งข้าพเจ้าก็ดีใจนักที่ได้ฟังข่าวมาแต่เมืองพระตะบองว่า พระยาสิงหราชฤทธิไกร แลพระยากัมพุธภักดีป่วยนั้นค่อยคลายขึ้นแล้ว จะใดเปนราชการต่อไป ข้าพเจ้าได้จัดเงินค่านาส่งออกไปให้พระยาสิงหราชฤทธิไกรสิบห้าชั่ง ให้จัดซื้อเข้าเสบียงสีซ้อมส่งกองทัพเมืองอุดงมีไชยทางทเลสาบด้วยแล้ว
จดหมายมา ณ วัน.......... ปีจอ จัตวาศก

พระราชหัตถเลขา ถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา

จดหมายมายังพ่อกลาง เจ้าฟ้ามหามาลาให้ทราบ..... ราชการที่กรุงเทพ ฯ ไม่มีเหตุการณ์อันใด มีแต่ข่าวเมืองเขมรว่า ฝรั่งเศสมาตั้งการอภิเศกองศ์พระนโรดมเปนเจ้า ก่อนพระยาราชวรานุกูลออกไปถึงครั้นพระยาราชวรานุกูลออกไปถึง ว่ากล่าวกดจะให้มาในกรุงเทพ ฯ องค์พระนโรดมอีดออดไป ภายหลังซึ่งรับว่าจะมา เอาสิ่งของบันทุกเกวียนลงมาถึงเมืองกำปอด ๖๐ เล่ม แล้ว องค์พระนโรดมออกจากเมืองได้สองวัน ฝรั่งเศสขึ้นมาขอ (ให้) พระยาราชวรานุกูล เรียกตัวองค์พระนโรดมกลับ แลภายหลังได้ข่าวว่า องค์พระนโรดม ฝรั่งเศสเอาตัวไปขังไว้ในเรือ การจะหมองหมางกับพระยาราชวรานุกูลอย่างไรไม่ทราบเลย ข่าวนี้เปนข่าวเล่าลือแต่ปากคนไปมาต่าง ๆ ใบบอกพระยาราชวรานุกูล ฤาใบบอกเมืองเขมรก็ยังไม่มีมาถึง
อนึ่งได้ยินข่าวว่าที่แขวงเมืองกรังเกรยกาดใกล้เมืองกำปอด เขมรเปนขบถลุกขึ้นวุ่นวายมาก พระยาจักรีลงมาแต่เมืองอุดงมีไชย กับกองทัพคนสามพันเสศ มาตั้งอยู่ใกล้เมืองกรังเกรยกาดแล้ว ให้หาตัวนายขบถออกมาว่ากล่าว เกลี้ยกล่อมจะให้การสงบโดยน้ำเย็น พวกขบถก็รับออกมาหา พระยาจักรีไม่ทันรู้ตัว พวกขบถกันโชกเข้ามาฆ่าพระยาจักรีตายกับบ่าวที่เจ้ามาช่วยก็ตายด้วยหลายคน กองทัพก็แตกไปหมด คนขบถพวกนี้พระแก้วฟ้าก็ว่าย้ำ ๆ อยู่ ว่าทีจะเปนพวกพระแก้วฟ้า เหนว่าองค์พระนโรดมนับถือข้างฝรั่งเสศเสียแล้วจึงลุกขึ้น แลมีกิติศรัพท์มาอีกว่า ที่อุดงมีไชยนั้น มีผู้เหนด้วยองค์พระนโรดมที่จะรับอภิเศกข้างฝรั่งเสศนั้นก็น้อยตัวดอก ผู้ที่ไม่เห็นด้วยนั้นมาก แต่ร้องอยู่ว่าถ้าในกรุงเทพ ฯ ให้พระแก้วฟ้ากลับออกไปอยู่เมืองปัตบอง จะพากันหนีเข้ามาหาองค์พระแก้วฟ้าเสีย ราชการครั้งนี้ก็วุ่นวายยืดยาดอยู่ เดี๋ยวนี้ในกรุงคิดจะให้พระยาฤทธิไกรเกรียงหาร ยกออกไปตั้งฟังราชการเมืองปัตบอง พระยาฤทธิไกรเกรียงหารจะได้ออกจากกรุงเทพ ฯ ในวัน..... ก็การจับจ่ายช้างคนอย่างไร ถ้าท่านผู้ใหญ่ท่านขอกะเกณฑ์ไป พ่อกลางจงจัดให้สมควรทันราชการด้วย
....................
ฉันได้มีงานฉลองถนนแลโรงธรรมวัดสุทัศน์ ฯ..... การศพเจ้าพระยานิกรบดินทรนั้น กำหนดจะได้ทำในวัน.....
ของที่ตอบแทนบรรณาการเมืองอุดงมีไชยนั้น ก็ได้ให้พระยาราชสิทธิ์จัดส่งไปตามเคย.....
....................
วาจาของคนบางพวกพูดกันว่า เมืองลาวเหมือนเมืองสวรรค์ ทั้งหญิงทั้งชายตั้งแต่บ่ายจนดึกมีแต่สนุก ร้องรำทำเพลงรื่นเริงอยู่เปนนิตย์ อีกพวกหนึ่งนักเลงพูดกันว่า ต้องการอะไรที่จะทำบุญไปสวรรค์ เมืองไทยของเราก็เปนสวรรค์อยู่แล้ว เพราะมีน้ำทิพย์คือเล่ากิน เพราะมีอาหารทิพย์ คือฝิ่นสูบสบายดี แลมีต้นกัลปพฤกคือบ่อนโป เปนที่สำราญรื่นชื่นบานได้ลาภผล รายอยู่รอบบ้านรอบเมือง ทั้งทางบกทางเรือ คำนักเลงพูดอย่างนี้นั้นไม่เห็นด้วยเลย ถ้าเมืองไทยเมืองลาวเปนเมืองสวรรค์ ก็สวรรค์วิมานรุงรังนัก ไฟไหม้วิมานฉิบหายบ่อย ๆ ฯ
จดหมายมา ณ วัน.......... ปีกุน เบญจศก ศักราช ๑๒๒๕

 

พระราชหัตถเลขา ถึงเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์

ปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗

จดหมายมายังคุณศรีสุริยวงษ์ ให้ทราบ..... หนังสือที่คิดตอบมิสเตอร์ น๊อกไปนั้นก็ชอบราชการอยู่แล้ว แต่จะต้องว่าให้เลอียดหน่อยหนึ่ง ว่าซึ่งแบ่งเขตรแดนในดินดอนด้วยยอดเขาที่เปนแนวยืดไป มีลำน้ำแต่ยอดเขาข้างโน้นตกไปข้างโน้น ข้างนี้ตกมาข้างนี้ ดังว่ามานั้นก็สมควรอยู่แล้ว เพราะแนวเขาเปนนาจจูราลดว่าย แปลว่าแบ่งปันโดยธรรมดาเปนเอง เหมือนกับกำแพงกั้น แต่ที่แท้นั้นแนวเขาก็ไม่เปนแนวไปแท้ ลางทีก็ไข้วเขว แตกแยก เปนสองแนวสามแนว ค่อนข้างโน้นก็มีค่อนข้างนี้ก็มี จะชี้ลงไปว่าที่ให้แบ่งกันนี้ จะเอาแนวไหนในเขาที่ซับซ้อนกัน เปนสองแนวสามแนวไข้วไปเขวมาอยู่นั้น พวกข้าหลวงที่ออกไปครั้งนี้ ก็ยังไม่ได้เหนแลชี้แนวเขาให้ตกลงกัน คอแวนแมนต์ไทยจะว่าเปนอันยอมแล้วก็ยังไม่ได้ กลัวจะเปนที่สงไสยเถียงกันสืบไปภายหน้า ด้วยว่าถึงที่ลางแห่งที่ มีแนวเขาลูกเขาไพล่เผลเขวไข้วกันอยู่นั้น ถ้าคิดอ่านหน้าแล้งแต่งผู้รับบังคับมา ทั้งสองฝ่ายพร้อมกัน เดินด้นป่าตรวจแนวเขาดูให้รู้ตลอดได้จะเปนดี ซึ่งว่าดังนี้ก็เหนเปนยากไป ก็ในป่าซึ่งไม่เปนที่ตัดฝางตัดไม้ขอนสักนั้นก็ไม่สำคัญนัก แต่ในป่าที่เปนที่ตัดฝางแลไม้ขอนสัก แลที่ตั้งบ้านผู้เมืองคน ตั้งแต่ชาวปากใต้ไปจนพวกกะเหรี่ยง ลว้า จะต้องดูให้เห็นพร้อมกันทั้งสองฝ่ายเปนแน่ก่อน จึงจะยอมเปนอันขาดได้ ซึ่งควอแวนแมนต์ฝ่ายไทยจะยอมโครมโครมฝ่ายเดียว ตามแผนที่อังกฤษทำมานั้น ยังวิตกอยู่..... เมื่อได้ยอมกันแล้ว อย่างไรในที่จะต้องมีความสงไสย ก็จะได้กำหนดออกชื่อเขาออกชื่อป่า ทำหนังสือพิทพ์ประกาศราษฎร ที่จะตัดไม้ตัดฝางให้รู้ทั่วกันว่า เขตรแดนอยู่เพียงนี้เพียงนั้น แต่ที่พระเจดีย์สามองค์แห่งเดียวเท่านั้น เปนตำบลวิเศษอยู่ กับทางรู้เปนแน่ด้วยกันมาแต่ก่อนว่า พ้นพระเจดีย์สามองค์มาข้างตะวันออกเปนของไทย พ้นพระเจดีย์สามองค์ไปข้างตะวันตกเปนของพม่า.....
คำเท่านี้ฉันว่ามาแต่ความรู้ฉันเอง ก็ควรจะต้องซ่อมแซมกันอีกยังมีอยู่ แต่ฉันไม่รู้ว่าลงไม่ได้ เหมือนอย่างในที่รู้กันว่าแบ่งเขตรแดนพม่า กับไทยมาแต่เดิม คือที่พระเจดีย์สามองค์ ฉันจำได้แห่งเดียวเท่านั้น แต่ในใจว่า ที่เชิงเขาที่สังเกตคนเปนอันมากเช่นนั้น ก็คงจะมีอยู่ทุกทาง คือทางเขาคั่นกระไดบางนางรมย์ ทางด่านยางโอน ทางด่านเจ้าเขว้าทางอุทัยธานี ทางเมืองตากบ้านระแหง คงจะมีที่แบ่งเช่นนั้น รู้กันมาแต่ก่อนตามทางเดิม ควรจะต้องออกชื่อให้หมด..... เหมือนอย่างที่เห็นอยู่ที่เพ็ชรบุรี พวกเขาเด่นเห็นไม้อยู่นั้น ก็เปนแนวหนึ่งเขาที่แลไม่เหนไม้ เปนแต่เหนเขียวอยู่ก็แนวหนึ่ง เมื่อถามชาวด่านเพ็ชรบุรีเขาก็ว่าเขาทั้งสองแนวนั้นอยู่ในแดนเรา แนวเขาที่แบ่งแดนพม่ากับไทย อยู่ไกลออกไปแลไม่เหน..... การที่ว่าด้วยแนวเขาคงจะต้องชี้ชัดจงได้จึงจะควร
คำเท่านี้เลือกเอาแต่เล็กน้อย คือชื่อที่ต่าง ๆ ที่รู้จักชัด ไปซ่อมแซมคำในข้างต้นจึงจะดี.....
คำข้างต้นนั้นฉันก็รักให้เรียงลงอีกฉบับหนึ่ง..... ถ้าจะให้ฉันลงตราไปก็โปรดเรียงซ่อมแซมเสียให้ถี่ถ้วน..... ฤาอย่างหนึ่ง จะทำเปนคำคอแวนแมนต์ปฤกษาว่าเลอียด แล้วให้ไปแก่มิศเตอร์น๊อกอีกฉบับหนึ่ง เริ่มความขึ้นว่า หนังสือที่ตอบมิศเตอร์น๊อกไปครั้งก่อนนั้นยังสังเขปอยู่..... ดูความในหนังสือที่ให้ไปก่อนนั้น ดูเหมือนไทยอยากจะแบ่งเขตรแดน แกล้งประวิงเวลาไป ที่จริงนั้น ไทยอยากจะแบ่งให้สิ้นสงไสยไม่ให้มีวิวาท ด้วยอธิบายดังนี้ ๆ จึงว่าในที่ป่าดอนยังยอมไม่ได้ เพราะยังไม่ได้เหนด้วยกัน อีกอย่างหนึ่งคำที่จะยื่นไปใหม่นี้ มิศเตอร์น๊อกจะรับก็ดีไม่รับเถียงว่า ได้ส่งฉบับก่อนออกไปแล้วก็ดี ควรที่จะมีหนังสือเสนาบดีออกไปถึงกอลอเนลพิศด้วย เมื่อจะมีออกไปจะให้ฉันให้โน๊ตนำก็ได้..... สิ้นคำสั่งการเท่านี้
แต่นี้จะว่าด้วยความวิตก แลความเหนของฉันเองมาให้รำพึงการที่ควร แลการซึ่งอังกฤษมานัดหมายว่าชี้เขตรแดนดังนี้ ก็ได้ยินมาเปนหลายครั้งหลายหนแล้ว ตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว..... คราวนี้กงสุลจอมเบิกมาเร่งรัดแขงแรง ครั้นให้ออกไปแล้วก็ว่าล่อมแล่มขลุม ๆ จบกันในเวลาเดียว แลความที่ว่าเข้ามานั้นเปนแบบอยู่ คือที่ว่าแบ่งเขตรด้วยยอดเขาเปนแนว ไม่ชี้ชัดว่าแนวไหน ที่เคยสังเกตมาว่า แดนต่อแดนแต่ก่อนตั้งแต่บางนางรมย์ ขึ้นไปจนระแหง ควรจะออกชื่อเปนกรุยขึ้นไป ก็ออกชื่อแต่พระเจดีย์สามองค์แต่แห่งเดียว พอล่อใจไทยไว้ว่าห่างดอก แล้วก็มาเกี่ยวให้เจ้าแผ่นดิน แลเสนาบดีลงยอมว่าเอาเถิดง่าย ๆ อย่างนี้ ดูท่าคิดไปเหนเปนแยบอยู่..... เขาจะมาคิดขลุมเอาในภายหน้า ด้วยการล่อไล่หนีให้เราลั่นวาจาเสียง่าย ๆ ในคราวนี้ กลัวการจะเปนเช่นนี้ เขาเล่าว่าศรีทนนไชยขอที่เท่าแมวดิ้นตายนั้นก็ดี ฤาว่าโปรตุเกดขอที่ในเกาะมาเกาแก่จีน (เท่าผืนหนังวัว) ครั้นจีนยอมแล้วหั่นหนังวัวไปรอบผืน ปิดให้เล็กเท่าสายพานวงไปรอบเกาะมาเกา เถียงเอาเกาะเสียก็ดี ดูเหมือนจะเปนแยบอยู่อย่างนี้กระมัง จึงว่าพล่อย ๆ นัก
ว่าตามความเหนประโยชน์การที่แบ่งเขตรแดนด้วยฝั่งแม่น้ำนั้น ไม่สู้ดี ถ้าแม่น้ำนั้นไม่เปนที่บ้านผู้เมืองคนก็ค่อยยังชั่ว.....
ซึ่งว่าด้วยประโยชน์อย่างนี้ จะไปเถียงเอาให้ได้ดังว่าจะไม่ได้ คงอยู่ตามที่เปนเมื่อคราวพม่ากับไทยต่อแดนกัน ที่เท่าไร คนทั้งปวงเปนอันมากรู้ว่าเปนของข้างไหน ก็คงตามอย่างนั้น เหมือนเช่นพระเจดีย์สามองค์นั้น ตลอดไปได้จะเปนดี..... พึงดูให้รอบคอบเถิด
ฉันมาอยู่กรุงเก่าดูเหมือนค่อยเย็นกว่ากรุงเทพ ฯ สักหน่อย ฉันอยากใคร่ลาอยู่หลาย ๆ วัน.....
การอะไร ๆ จะมีในกรุงเทพ ฯ จะมีอะไร จะสั่งอะไรก็ทำเถิด อย่าคอยให้ฉันกลับก่อนเลย..... จะใช้ให้ฉันแก้แลชำระท้องบัตรใบตราอะไร ๆ ก็ส่งขึ้นมาให้ฉันทำเถิด จะทำให้ลงไป..... เดี๋ยวนี้ค่อยว่างแล้ว ใช้อะไรก็ใช้ได้ ขอรับประทานให้อยู่เย็น ๆ หลาย ๆ วัน.....
จดหมายมา ณ วัน.......... ปีชวด ฉอศก ศักราช ๑๒๒๖
....................

พระราชหัตถเลขา ถึงเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์

ปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗

จดหมายมายังคุณศรีสุริยวงษ์ ให้ทราบว่า วัน..... พระยาชุมพรกับพระยาสุรินทรามาตย์ เอาแผนที่เมืองกระมาให้ดู แผนที่ที่ทำนั้นก็จะไม่ถูกกับที่ เปนแต่ทำไปตามวิไสยไทย..... ถึงกระนั้นภอเข้าใจได้ว่า ความรู้ในแผนที่นั้น แนวเขาที่เขียนไว้ในแผนที่ เหนเปนอันปันเขตรแดนชัด แลปลายแนวเขาข้างตะวันตก ก็ตกทะเลเบงกอลเบ ถ้าแม้นตกลงกัน เอาแนวเขานั้นเปนที่ปันแดนได้จะดี ที่แหลมฝั่งแม่น้ำปากจั่นด้านตะวันตก ถ้าตกมาเปนของไทยได้จะพ้นโทษ ที่ฉันว่าเพราะเอาแม่น้ำเปนที่ปันเขตรแดน มักเกิดถ้อยความที่วิวาทต่าง ๆ ต่อไปภายน่า ตัวอย่างความก็มีเหมือนครั้งแผ่นดินเจ้า บำดงมินคงรายี เมืองพม่า ครั้งนั้นเมืองส่วนใหญ่ใต้แม่น้ำจิตคองเปนของพม่า ส่วนเล็กน้อยในฝั่งเหนือแม่น้ำจิตคองเปนของอังกฤษ ก็เกิดวิวาทกันด้วยโจรผู้ร้ายข้างโน้นข้างนี้ ข้ามแม่น้ำไปข้ามแม่น้ำมา..... ก็แต่ที่นี้ถ้าเราจะไปว่ากล่าว เอาฝั่งแม่น้ำปากจั่นนั้นเปนฝ่ายข้างเรา ให้เขตแดนอังกฤษหยุดอยู่เพียงแนวเขา เหนการจะไม่ตลอดไป เพราะด้วยมลิวันนี้ ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ให้เจ้าพระยายมราชสุกจ๋อเปนพระยาเพชรบุรี ออกไปคิดว่ากล่าวคราวหนึ่งการก็ไม่สำเร็จ..... เหมือนกับเรื่องปเหลียนกิตานั้นก็เหมือนกัน เขาจึงได้ปักธงที่มลิวันเปนของเขา แห่งหนึ่ง ๓๖ ปีมาแล้ว แห่งหนึ่ง ๑๘ ปีมาแล้ว แลตามสำนวนฝีปากอังกฤษ พูดฮึกอยู่โดยมากนั้นว่า อังกฤษได้ตั้งเสาธงปักลงในบ้านไรเมืองไร ที่จะถอนเสาธงไปไม่ได้ พระอาทิตย์ขึ้นธงก็ชักขึ้น พระอาทิตย์ตกธงก็ชักลง เมื่อใดพระอาทิตย์ไม่มีขึ้นแล้ว จึงจะเลิกธงอังกฤษ ผู้คนในฝั่งข้างโน้นเคยอยู่ในอำนาจอังกฤษมานานแล้ว โดยว่าอังกฤษที่มาว่ากับเรา จะยอมลงว่าสุดแต่ใจราษฎรอยู่ในฝั่งนั้น เมื่อถามราษฎรก็เหนจะสมัคข้างอังกฤษ จะไม่สมัคเปลี่ยนกอแวนแมนต์มาเปนของไทย เหตุนี้แลจะโต้ต้านไป ก็เหนจะไม่ตลอด แต่ว่าถ้าจะแบ่งเขตรแดนกันด้วยแม่น้ำดังนี้ ฉันรักให้เรียงเปนข้อสัญญาวิเสศต่าง ๆ ซึ่งจะเปนที่กันวิวาทบาดหมาง แล้วส่งออกไปขอสัญญาแก่กอลอเนลฟิศ ให้ยินยอมกันเสียให้เรียบร้อย แล้วประกาศราษฎรแลผู้รักษาเมือง กำนัน จ่าบ้านทั้งสองฝ่าย ให้รู้ขนบธรรมเนียมตามสัญญาได้จะเปนดี โดยการจะไม่สำเร็จดังประสงค์ ถ้ามีช่องอันควรจะให้กงสุลของเราในเมืองลอนดอน ช่วยต่อว่าต่อกล่าวบ้าง ก็ฉันได้ดูแผนที่เข้าครั้งหนึ่งก็ผิด เหนว่ากอลอเนลฟิศเข้ามาครั้งนี้ ก็เพื่อจะให้เดดขาด ด้วยฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปากจั่นนั้น เปนประสงค์ซึ่งว่าขึ้นไปด้วยแนวเขา แลออกชื่อพระเจดีย์สามองค์นั้น ก็เปนแต่พูดไปโดยการที่คนทุกวันว่าที่คดไปเคี้ยวมา แลแตกเปนสองแนวสามแนว ฤาที่สำคัญๆ ที่รู้กันว่าแดนต่อแดนมาแต่ก่อน กอลอเนลพิศดูทีก็จะไม่รู้ เพราะฉนั้นการที่โต้ไปตามคำฉันว่านั้นชอบอยู่แล้ว
....................
อนึ่งกรมวงษาฉันให้ลงไปเมื่อวานนี้ ไปคิดอ่านอย่างไรว่ากระไรด้วยพระอาการวังน่า ฉันก็ยังหาได้ฟังไม่ แต่คนต่างๆพูดกันว่าพระอาการครั้งนี้นั้น เปนเหตุสองอย่าง ๆ หนึ่งนั้นได้ยินว่าท่านประสงค์จะลงไปเมืองสิงคโปร์..... อย่างหนึ่งได้ยินว่าพวกอังกฤษที่นอกฤาที่ในกรุงไม่รู้ มาเดินเหิรให้ตั้งกงซุลไทยที่สิงคโปร์ใหม่ เมื่อเวลาเสดจไปที่นั้น ครั้นมีผู้รบกวนดังนี้ ไม่ทรงไปดังเขารบกวน ก็เกรงจะเปนที่เสียพระเกียรติยศ จึงต้องรั้งรอ.....
จดหมายมา ณ วัน.......... ปีชวดฉศก ศักราช ๑๒๒๖

พระราชหัตถเลขา พระราชทานไปยังที่ประชุม

ปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗

ขอหาฤาเรื่องอ้ายดั่น อ้ายมณี อ้ายฉาย ๓ คน ซึ่งเปนหม่อมราชวงษ
ขอแจ้งความหาฤามายังท่านผู้เปนประธาน ผู้เปนใหญ่ในแผ่นดิน คือกรมหลวงวงษาธิราชสนิท กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ เจ้าฟ้ามหามาลา แล ฯพณฯ สมุหพระกลาโหม ฯพฯ สมุหนายก ฯพฯ กรมท่า ฯพณฯ กรมพระนครบาล ว่าด้วยอ้ายหัวไม้ พวกหม่อมเจ้าปรีดาในกรมขุนธิเบศบวร แลอ้ายดั่น อ้ายโมรา อ้ายมณี อ้ายฉาย อ้ายอะไร ๆ อีก ซึ่งเปนหม่อมราชวงษ์..... แลอ้ายอะไร ๆ อีกสังกัดต่าง ๆ กัน ในพระบรมมหาราชวังบ้าง ในพระบวรราชวังบ้าง เมื่อวัน.......... ค่ำ ราษฎรมีเทศมหาชาติ ที่วัดแก้ว บางขุนศรี อ้ายพวกนี้เมาสุรา ถือสาตราวุธต่าง ๆ เข้าแย่งชิงคนฟังเทศ แลทุบตีฟันแทงคนที่ฟังเทศ มีบาดเจบเปนหลายคน..... แล้วตามไปจับจีนเกิด..... ส่งอายัดมอบนายสอนพธำมรง กรมพระนครบาลไว้..... เมื่อจับทำประหลาดมาดังนี้ ก็หามีใครว่าประการใดไม่ ฝ่ายราษฎรที่ถูกเจบเข้าชื่อกันเปนอันมาก แต่มาได้บ้างมาไม่ได้บ้าง มีหัวหมื่นในกรมพระตำรวจ เปนหัวหน้าอยู่สองนายสามนาย ทำเรื่องราวมายื่นร้องฎีกาแก่ในหลวง..... กล่าวโทษ..... ว่าคุมสมัคพรรคพวกประมาณ ๔๐ คน เสศไปทำการดังว่าแล้วนั้น แล้วพวกราษฎรที่ถูกเจบแลเสียสิ่งของ ได้เชิญนายอำเภอมาชันสูตบาดแผล แลทำคำกฎหมายตราสินสิ่งของหายไว้ แล้วจึงได้ทำเรื่องราวมายื่นแก่พระยาเพชรชฎา ๆ ว่ารับไม่ได้ ให้ใบเรียนแก่เจ้าพระยายมราชเถิด
ครั้งนั้น เจ้าพระยาภูธราภัยยังไม่ได้เลื่อนที่ ยังเปนเจ้าพระยายมราชอยู่ คืนเรื่องราวเสีย ว่าเปนความในพระบรมราชวงษานุวงษ์ รับชำระไม่ได้ด้วยเหตุนี้ ราษฎรสิ้นที่พึ่ง จึงได้พร้อมใจกันทำเรื่องราวเข้ามาร้องแก่ในหลวง เมื่อในหลวงได้ฟังเรื่องราวอย่างนี้ ก็ตามทางตรงที่ควร ควรจะต่อว่าพระยาเพชรชฎา ควรจะต่อว่าเจ้าพระยาภูธราภัย ว่าความตีรันฟันเปนความฉกรรจ์ อย่างธรรมเนียมเก่า
...... การตีรันฟันแทงกันเปนความใหญ่ กรมพระนครบาลเปนเจ้ากระทรวง ควรจะนำความขึ้นทูลฉลอง ไม่ควรจะเสือกไสผู้ร้องให้ไปเสียให้พ้น.... ก็ความพระราชวงษานุวงษ์ชำระไม่ได้ คำนี้พิเคราะห์ไปเปนอันทำลายล้างยศศักดิ์แผ่นดินนัก ดูเหมือนเมืองไทย ไม่มีเจ้านายที่เปนเชื้อสายสืบราชตระกูล ครอบครองอาณาจักรโดยยุติธรรมเที่ยงแท้ดังนี้เลย..... ก็เมื่อผู้ใดว่าอย่างนี้.... ก็เปนอันลบล้างเกียรติยศแผ่นดิน ทำให้เปนเหมือนอาณาจักรโจร.....
....................
พระวินัยกิจการีเถร เปนพระราชาคณะอยู่ในวัดรัชฎาธิฐานคลองบางพรม ท่านเล่าแก่ในหลวงว่า สวนตำบลคลองนั้น แต่ก่อนไม่สู้วุ่นวายนัก..... บรรดาอารามที่มีโรงธรรมใหญ่ ๆ ถึงน่าเดือน ๑๑-๑๒ แล้วก็มีพระมหาชาติ เปลี่ยน ๆ กันไปแทบทุกโรงธรรม..... ครั้นเกิดความตีรันวุ่นวายกันขึ้นที่วัดแก้วแล้ว พวกผู้ไปตีรันก็หามีใครว่ากล่าวประการใดไม่..... ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์แลคฤหัฐที่ติดกันจะมีมหาชาติที่อื่น ๆ ต่อไป ก็ภากันย่อท้อกลัวพวกหัวไม้เสียหมด ปีนี้ไม่ได้มีพระมหาชาติเลยสักแห่ง..... ความเรื่องนี้ได้มอบให้กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร พระยาอัพภันตริกามาตยชำระ แล้วในหลวงก็ไปเพชรบุรี..... ก็ซึ่งกรมหลวงเทเวศรวัชรินทรชำระได้ความจริงมา ไม่ยั่นย่อท้อไปอย่างกรมหลวงวงษานั้น ก็เปนความชอบของกรมหลวงเทเวศรวัชรินทรอยู่นักหนาแล้ว.....

พระราชหัตถเลขา ถึงหลวงเดชานายเวร

ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘

จดหมายมายังหลวงนายเดช.....
การที่พูดด้วยแบ่งเขตรแดนนั้น คงจะต้องชักลงตามการที่เคยมาก่อน หลวงสยามานุเคราะห์นั้น กอลอเนลฟิศมีหนังสือเข้ามาในกรุงเทพ ฯ แต่ก่อนเธอออกไป ว่าขอเสียอย่าให้ตั้งให้อำนาจแก่หลวงสยามานุเคราะห์ เปนผู้รับสั่งไปปฤกษาแบ่งเขตรแดน ขอให้ตั้งขุนนางไทยแท้ออกไปเปนผู้รับสั่ง..... หลวงสยามานุเคราะห์เปนอังกฤษด้วยกัน ตั้งไปเปนผู้รับสั่งแล้วไปคิดอ่านล้มกัน เกียจกันเอาเขตรแดนของไทยไปเปนของอังกฤษเสียมาก จะเปนที่สงสัยไปในภายน่า แต่ตัวหลวงสยามานุเคราะห์ได้ฟังเรื่องนี้ ก็ได้ช่องได้ทีพูดยกตัวเปนคนดี เอาความชอบข้างไทยมากทีเดียว ว่ามาแก่ข้าว่า หลวงสยามานุเคราะห์เปนพวกไทยแท้มาแต่ครั้งไทยไปเมืองลอนดอน กอลอเนลฟีศรู้ว่าสวามิภักดิ์จงรักภักดีซื่อสัตย์ต่อไทยจริง ๆ นักแล้ว เปนผู้รู้เท่าทันอัธยาไศรย์ข้างอังกฤษ ผู้รับบังคับอังกฤษจะมาขู่เขน ให้ยอมเขตรแดนฝ่ายไทยไปมากก็จะไม่กลัว และจะยุยงฝ่ายไทยไม่ให้เสียเปรียบ จึ่งว่ากันหลวงสยามานุเคราะห์เสียให้ห่าง เพื่อพวกตัวจะได้มาขู่เขนฤาหลอกลวง ข้าหลวงฝ่ายไทยแท้ให้กลัว แล้วจะได้ไปกันเอาเขตรแดนที่มีผลประโยชน์ฝ่ายไทยไปเสียให้มาก การซึ่งหลวงสยามานุเคราะห์พูดดังนี้ก็จริง แต่ตัวข้ากับเสนาบดี ก็ไม่มีความรังเกียจสงไสยในเธอแลข้าหลวงฝ่ายไทย ว่าจะเปนดังหลวงสยามานุเคราะห์ว่านั้น ถึงฝ่ายไทยก็ไม่ได้คิดว่าจะเอาหลวงสยามานุเคราะห์ มาเปนผู้รับสั่งไปว่ากล่าวแบ่งปันเขตรแดนอะไรดอก ไม่ได้ไว้ใจหลวงสยามานุเคราะห์ คงเหนว่าเขาเปนอังกฤษด้วยกัน แลการที่ว่าแบ่งปันเขตรแดนเจราที่พระเจดีย์สามองค์ เปนที่ชอบใจดีอยู่แล้ว..... ในกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่ปิดเข้าไม่ให้ไปขายต่างประเทศ ก็มีเข้าซื้อขายกันอยู่เสมอ แต่ราคาเข้าก็ยังคงแพงอยู่..... เข้าสารคงขายกัน (ถังละ) ๕ สลึงเสศอยู่อย่างก่อน แต่ฝนยังแล้งนัก ฝนชะลานก็ไม่มี อากาศไม่เปนเมฆก้อนเลย.....
จดหมายมา ณ วัน.......... ปีฉลู ยังเปนฉศก

 

พระราชหัตถเลขาถึงองค์หริราชดไนยไกรแก้วฟ้า

จดหมายมายังองค์หริราชดไนยไกรแก้วฟ้า เมื่อวัน ค่ำ เธอเข้ามาลาไม่พบข้าพเจ้านั้น เปนเพราะท่านขุนนางกับข้าพเจ้าไม่ได้นัดหมายกัน..... ข้าพเจ้าแน่ใจว่าเธอคงต้องมาลา จึงได้หาผ้านุ่งห่มสิ่งของเตรียมไว้พร้อมอยู่ข้างใน ด้วยนึกว่าเธอมาลาเมื่อใดก็่จะเรียกเอาออกมาให้ จะไม่ให้เจ้าพนักงานคลังวิเศสมายื่น เหมือนกับของพระราชทานพวกลาวแลอื่น ๆ ข้าพเจ้าสังเกตว่าเจ้านายฝ่ายเขมรเคยอย่างนี้..... ครั้นมาเมื่อวัน.......... ค่ำ ข้าพเจ้ามีที่ไปเผาศพท่านอินสวริยาที่ป่าช้าวัดอรุณ..... ครั้นกลับมาเวลาค่ำ ก็มาแจกผลกัลปพฤกษ์แลผลฉลาก ที่ได้มาแต่การศพนั้นอยู่จนสองทุ่มเสส แล้วก็นอนหลับไป ตื่นต่อเวลาเจดทุ่มเสส ลุกขึ้นกินเข้าแล้ว จึงได้ออกขุนนาง พบเจ้าพระยาภูธราภัย พระยาศรีสิงหเทพ จึงแจ้งความว่า เธอหาดอกไม้ธูปเทียร
เข้ามาจะลาข้าพเจ้าก่อนเวลานั้นไปสักครู่หนึ่ง แต่ขุนนางทั้งสองเหนว่าเปนกลางคืน พนักงานคลังวิเสสก็ไม่ได้เข้ามา..... กลัวจะเปล่าไปเรียกไม่ได้ก็จะมีความผิดขึ้น จึงนัดว่าให้เธอมาหาต่อวัน.......... ค่ำ.......... ข้าพเจ้าจึงได้คอยอยู่ ครั้นวัน.......... ค่ำนั้น กงสุลฝรั่งเศสให้หลวงอุปเทศทวยหาร เอาจดหมายมาให้ข้าพเจ้ากล่าวโทษ เจ้าพระยาภูธราภัย แล พระยาศรีหเทพโกรธแค้นชิงชังเธอ ว่าไปกับฝรั่งเศสเกียจกันเสียไม่ให้เข้ามาลา เธอก็มีความเสียใจนัก ว่าไม่ได้เข้ามาลาข้าพเจ้า แต่เรือไฟถึงเวลากำหนดไว้ว่า จะใช้จักรไปจะรั้งรอด้วยเหตุเล็กน้อยเสียเวลาก็ไม่ได้ จึงต้องพาเธอไปด้วยไม่ได้ลาข้าพเจ้า..... ข้าพเจ้าไม่โกรธถือโทษอะไรเธอดอก เพราะรู้ธรรมเนียมเรือกลไฟอยู่แล้ว.....
ว่าถึงการในเมืองเขมร ถิ่นฐานบ้านเมืองแลผู้คนส่วยไร่สิ่งใด ๆ เปนที่ได้เปนลาภเปนผล ซึ่งองค์สมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดียกให้แล้ว ฤาคิดไว้จะให้แก่เธอ ข้าพเจ้าไม่อยากให้สิ่งทั้งปวงนั้นคลาดแคล้วไปจากเธอ ไปได้แก่ผู้อื่นเลย..... ก็เมื่อเธอกับพี่น้องของเธอไม่ชอบกันเปนอย่างไร ๆ ไปต่าง ๆ ข้าพเจ้าเปนคนกลาง ก็ต้องทำตามเพียงอย่างที่รู้ที่เหนเปนแน่ ..... ถ้าเธอตกอยู่ในฝ่ายที่ข้าพเจ้าถือท้ายถือหางแล้ว ก็เหนจะมีแต่เปนพิศมเปนสงมากไป ก็บัดนี้เธอคิดเข้าพึ่งฝรั่งเศส เขาก็รับว่าจะช่วยทำนุบำรุงให้ได้ความสุขนั้น ก็ถูกต้องอยู่แล้ว ด้วยอำนาจเขามาก เขาจัดได้ถนัด เมื่อเขาจะให้เปนอย่างไร องค์สมเดจพระนโรดมก็คงจะยอมให้เปนอย่างนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้หึงหวงเกียจกันอะไรเธอเลย......
.....................
จดหมายมา ณ วัน........ ปีฉลู สัปตศก